วิว – ชนัญญา เตชจักรเสมา หรือ วิว Point of View
เป็นยูทูปเบอร์สาว ที่มีผลงานทางด้านการเล่าเรื่องต่างๆ
รอบตัวมาถ่ายทอดผ่านทาง Youtube ได้อย่างน่าสนใจ
โดยช่องของเธอชอบที่จะเล่าเกี่ยวกับวรรณกรรม วรรณคดี นิทานพื้นบ้าน ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ
วิว – ชนัญญา เตชจักรเสมา หรือ วิว Point of View
เป็นยูทูปเบอร์สาว ที่มีผลงานทางด้านการเล่าเรื่องต่างๆ
รอบตัวมาถ่ายทอดผ่านทาง Youtube ได้อย่างน่าสนใจ
โดยช่องของเธอชอบที่จะเล่าเกี่ยวกับวรรณกรรม วรรณคดี นิทานพื้นบ้าน ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ
๒๖ มกราคม “วันพ่อขุนมังราย” มหาราชแห่งล้านนา!
ผู้ทรงใช้นโยบายไส้ศึกเช่น “วัสสการพราหมณ์”!!
...
วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ.๑๘๐๕ เมื่อ ๗๖๐ ปีก่อน พ่อขุนมังราย มหาราชองค์แรกของล้านนา ได้ทรงสร้างเมืองเชียงรายขึ้น
หลังจากที่ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๒๕ ของหิรัญนครเงินยางเชียงลาว ขณะมีพระชนมายุ ๒๑ พรรษา
ทรงมีพระราชดำริที่จะรวบรวมแคว้นน้อยใหญ่ในล้านนาให้เป็นปึกแผ่น และประทับที่เชียงรายเป็นราชธานี
ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา
จากนั้นใน พ.ศ.๑๘๑๖ ก็ทรงสร้างเมืองฝาง ต่อมาใน พ.ศ.๑๘๒๔ หลังจากที่ทรงยึดเมืองหริภุญไชย
หรือลำพูนในปัจจุบันได้แล้ว ทรงสร้างเมืองชะแวขึ้นที่ทางเหนือของหริภุญไชยราว ๔ กิโลเมตร
แต่เป็นที่ลุ่มถูกน้ำท่วมเป็นประจำ จึงขยับไปสร้างเวียงกุมกามเป็นราชธานี ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
ประทับอยู่ ๑๒ ปีก็ต้องผจญกับน้ำท่วมอีก จึงทรงหาทำเลใหม่อีกครั้ง และพบที่ราบเชิงดอยสุเทพ
ห่างจากเวียงกุมกามเพียง ๔ กิโลเมตร เป็นที่ดอน จึงทรงสร้าง
เมืองใหม่ขึ้นอีกแห่งหนึ่งใน พ.ศ.๑๘๓๘ พระราชทานนามว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่
ปัจจุบัน นอกจากจะมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพ่อขุนมังรายอยู่ที่จังหวัดเชียงราย เมืองที่พระองค์ทรงสร้างเป็นแห่งแรกแล้ว
ยังมีอยู่ที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ด้วย เป็นอนุสาวรีย์ ๓ กษัตริย์ที่เป็นพระสหายกัน
ทั้งนี้เมื่อตอนที่พ่อขุนมังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ ได้เชิญ ๒ พระสหายมาปรึกษาหา คือ พ่อขุนรามคำแหง แห่งสุโขทัย
และพ่อขุนงำเมือง แห่งภูกามยาวหรือพะเยา ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า พ่อขุนมังรายคิดจะสร้างเมือง
เป็นรูปสี่เหลี่ยม ยาวด้านละ ๒,๐๐๐ วา
แต่พ่อขุนรามคำแหงและพ่อขุนงำเมืองค้านว่า ต่อไปถ้ามีศึกมาประชิดเมืองอาจจะไม่มีคนพอจะรักษาเมืองไว้ได้
ควรจะลดลงให้เหลือเพียงด้านละ ๕๐๐ วา ในที่สุดพ่อขุมมังรายก็ยอมลดลงเหลือยาว ๑,๐๐๐ วา กว้าง ๙๐๐ วา
พ่อขุนรามคำแหงและพ่อขุนงำเมือง เป็นศิษย์ร่วมสำนักพระสุกทันตฤาษี ณ กรุงละโว้เมื่อครั้งมีพระชนม์ ๑๖ พรรษา
จึงสนิทแนบแน่นกันมาตั้งแต่ครั้งนั้น ส่วนความสัมพันธ์ของพ่อขุนมังรายกับพ่อขุนงำเมืองเกิดขึ้นเมื่อพ่อขุนมังรายทรงเห็นว่า
อาณาจักรล้านนายังมีเท้าพระยาแยกกันปกครองหลายองค์
และมักจะขัดแย้งวิวาทกันสร้างความเดือดร้อนให้อาณาประชาราษฎร์อยู่เสมอ
หนึ่งในเมืองที่จะต้องรวบรวมเข้ามาก็คือภูกามยาว จึงทรงยกทัพไป แต่พ่อขุนงำเมืองนั้นทรงทศพิพิธราชธรรม
แทนที่จะยกทัพออกไปรบ กลับออกไปจัดแต่งที่คอยต้อนรับ พ่อขุนมังรายเจอแผนธรรมยุทธ์แบบนี้เลยต้องยอมเป็นมิตร
จากนั้นสองกษัตริย์ก็ปฏิญาณเป็นไมตรีกัน
สำหรับความสัมพันธ์ของพ่อขุนรามคำแหงกับพ่อขุนมังราย พงศาวดารโยนกได้บันทึกไว้ว่า
“...อยู่มาครั้งหนึ่ง สมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จมาสู่หาพระยางำเมือง ณ เมืองพะเยา ได้เห็นนางอั้วเชียงแสน
ราชเทวีของพระยางำเมือง มีรูปโฉมอันงาม ก็บังเกิดความกำหนัดในนาง นางนั้นก็มีจิตปฏิพัทธ์ต่อพระร่วง
จึงลอบสมัครสังวาสกัน พระยางำเมืองทราบเหตุก็กุมเอาตัวพระร่วงไว้ แล้วจึงใช้ให้ไปเชิญพระยาเม็งรายเจ้านครเชียงรายมาตัดสิน”
เมื่อพ่อขุนมังรายมาถึง พ่อขุนงำเมืองได้เล่าโทษของพ่อขุนรามคำแหงให้ทราบแล้ว พ่อขุนมังรายจึงกล่าวว่า
“ดูราสหายเจ้า เรานี้เป็นท้าวพระยาใหญ่ได้น้ำมุรธาภิเษกสรงเกศ มีบุญสมภารยศบริวารทุกคน ดังพระยาร่วงนี้เล่า
เขาก็ได้มุรธาภิเษกในเมืองสุโขทัยโพ้นแล้ว แม้นท้าวร่วงได้กระทำผิดสหายได้รักษาไว้ บัดนี้สหายจุ่งเอาพระยาร่วงมา
เราจะพิจารณาตามครองคุณแลโทษ พระยางำเมืองก็หื้อเอาพระยาร่วงมาถาม พระยาร่วงก็ปลงปฏิญาณว่าตนมักเมียพระยางำเมืองแท้
ทีนั้นพระยาเม็งรายก็กระทำปริยายชักชวนให้พระยาร่วงกับพระยางำเมืองยินดีซึ่งกันด้วยปริยายหลายประการต่างๆ
แล้วพระยาเม็งรายจึงแต่งหื้อพระยาร่วงขมาพระยางำเมืองสหายตน เป็นเบี้ยเก้าลุนเก้าลวง คือเก้าแสนเก้าหมื่นเบี้ย
พระยาร่วงเจ้าก็กระทำตามคำพระยาเม็งรายตัดแต่งให้ขอขมาโทษต่อพระยางำเมืองนั้นเพื่อให้หายเวรนั้นแล
พระยาเม็งรายก็ชักนำกระทำให้พระยาทั้งสองมีราชไมตรีสนิทติดต่อกันยิ่งกว่าเก่าด้วยเดชะไมตรีแห่งเจ้าพระยาเม็งรายนั้นแล”
เรื่องประหลาดในพงศาวดารนี้ นักประวัติศาสตร์หลายท่านได้ให้ความเห็นไว้ว่า อาจเป็นการเขียนขึ้นเพื่อเสริมบารมีพ่อขุนมังราย
บางท่านก็ว่าเป็นการสร้างเรื่องเพื่อปิดบังอำพรางการพบปะทางการเมือง เพื่อจะทำงานสำคัญอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้
การเป็นมหาราชที่จะรวมแคว้นต่างๆในล้านนาให้เข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
เมื่อพ่อขุนมังรายมีพระราชประสงค์ต้องการได้เมืองหริภุญไชย หรือลำพูนในปัจจุบัน เพราะเป็นเมืองที่มั่งคั่ง
มีเส้นทางน้ำติดต่อกับกรุงละโว้และอโยธยา เป็นศูนย์กลางการค้า และมีกำลังที่เข้มแข็ง
จึงต้องใช้นโยบายทำให้อ่อนเปลี้ยลงเสียก่อน ทรงวางแผนให้ข้าหลวงคนหนึ่งชื่อ อ้ายฟ้า เข้าไปเป็นไส้ศึกอยู่ในวงราชการของ
พญาญี่บา ผู้ครองเมือง แล้วเกณฑ์คนไปทำงานหนักในหน้าร้อน ให้ลากซุงผ่านที่นาของชาวบ้านในฤดูทำนา ทำให้ต้นข้าวเสียหาย
อ้างว่าพญาญี่บาจะสร้างวังใหม่ ทำให้ผู้คนพากันโกรธแค้นพญาญี่บา อ้ายฟ้าบ่อนทำลายการเมืองหริภุญไชยอยู่ราว ๗ ปี
ความแตกแยกก็เกิดขึ้นในเมืองหริภุญไชย เมื่อพ่อขุนมังรายยกทัพไปใน พ.ศ.๑๘๒๔ จึงได้เมืองหริภุญไชยโดยไม่ยาก
แผนใช้ไส้ศึกบ่อนทำลายให้อ่อนกำลังลงนี้ ยังปรากฏต่อมาในนิทานเรื่อง “วัสสการพราหมณ์”
ในสามัคคีเภทคำฉันท์ ที่ประพันธ์โดย ชิต บุรทัต
ใน พ.ศ.๒๔๕๗ กล่าวถึง พระเจ้าอชาตศัตรู แห่งกรุงราชคฤห์ ในแคว้นมคธ ได้ส่งปุโรหิตชื่อ วัสสการพราหมณ์
เข้าไปบ่อนทำลายความสามัคคีกรุงเวสาลี ของกษัตริย์ลิจฉวี แห่งแคว้นวัชชี
โดยแกล้งลงโทษให้เฆี่ยนจนปางตายแล้วไล่ออกจากเมือง
วัสสการพราหมณ์ก็ไปขออาศัยพึ่งพิงกษัตริย์ลิจฉวี จากนั้นก็บ่อนทำลายจนเสียเมือง
แผนนี้ถ้าจะนำมาใช้ในปัจจุบัน ก็ยังใช้ได้นะครับ
อาณาจักรล้านนาในสมัยพ่อขุนมังราย ทิศเหนือครอบครองถึงเชียงรุ่ง จรดสิบสองปันนา
ทิศใต้ครอบครองลำปาง จรดสุโขทัย ทิศตะวันออกถึงแม่น้ำโขง จรดแคว้นลาว ทิศตะวันตกจรดแม่น้ำสาละวิน
นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการรวมแว่นแคว้นต่างๆขึ้นเป็นอาณาจักรล้านนา ของมหาราชพระองค์หนึ่ง
ก่อนจะมารวมกันเป็นประเทศไทยในวันนี้
Thích Nhất Hạnh
นะโม พระศากยมุนีพุทธเจ้า
นมัสการพระเถรานุเถระ คณะภิกษุภิกษุณี
ธรรมสวัสดีเพื่อนที่รักทุกท่านในทั่วโลก
หลังจากที่ได้เดินทางมาพำนัก ณ วัดต้นสายธารตื่อเฮี้ยว
ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2565
พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ เจ้าอาวาสวัดตื่อเฮี้ยว
ได้ละสังขารอย่างสงบในวัดต้นสายธาร
สถานที่ที่ท่านออกบวชเมื่อ 80 ปีที่แล้ว สิริอายุ 95 ปี
พรรษา 70
พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ หลวงปู่แห่งหมู่บ้านพลัม
เป็นครูทางจิตวิญญาณผู้เผยแผ่ธรรมอย่างกว้างขวาง
และลึกซึ้งไปทั่วโลก ท่านเป็นทั้งพระภิกษุ ผู้สอนธรรมะ
นักเขียน กวี นักวิชาการ
นักประวัติศาสตร์ และนักกิจกรรมเพื่อสันติภาพ
เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางผ่านการแสดงธรรม
ต่อสาธารณชนนับหมื่นและมีผลงานเป็นหนังสือที่
ทรงคุณค่ากว่า 120 เล่ม
ท่านได้เปิดทางสู่มิติใหม่ในการพัฒนาวิถีแห่งการปฏิบัติธรรม
จัดงานภาวนาสำหรับบุคลากรที่หลากหลาย
ทั้งครูอาจารย์ เด็ก วัยรุ่น ศิลปิน นักธุรกิจ นักการเมือง
แพทย์พยาบาล ฯลฯ
นอกจากนั้นท่านยังได้จัดพิธีการบรรพชาอุปสมบท
และมอบตะเกียงสืบธรรมหลายวาระโอกาส
ทำการปรับปรุงรูปแบบพิธีกรรมให้สอดคล้องกับยุคสมัย
มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.)
ได้กล่าวถึงท่านว่าเป็น
"ผู้สื่อสารศักดิ์สิทธิ์แห่งสันติภาพและการไม่ใช้ความรุนแรง"
ในการเสนอชื่อท่านเพื่อเข้ารับรางวัลโนเบลเพื่อสันติภาพ
ในปี 1967 (พ.ศ. 2510)
ตลอดช่วงเวลา 40 ปีที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอน
พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์
นับได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มนำพุทธศาสนา
โดยเฉพาะวิถีการเจริญสติเข้าสู่โลกตะวันตกและ
มีส่วนร่วมสร้างชุมชนแห่งพุทธศาสนาที่เข้าสู่วิถีชีวิต
(Engaged Buddhism)
แห่งศตวรรษที่ 21 พร้อมด้วยลูกศิษย์นักบวชจำนวนร่วม 1250 รูป
และศิษย์ฆราวาสจำนวนนับล้าน
และผู้อ่านผลงานจำนวนนับร้อยล้านในทุกทวีปทั่วโลก
ศิษย์จำนวนมากของท่านได้รับดอกผลจากการปฏิบัติและสืบเนื่องภาระงาน
แห่งการเผยแผ่ธรรมที่ท่านได้สืบทอดและสั่งสอนตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา
-------------------------------
ประวัติโดยสังเขป
พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ (Thích Nhất Hạnh)
มีชื่อทางโลกว่า เหงวียน ซวน บ๋าว (Nguyễn Xuân Bảo)
ถือกำเนิดเมื่อปี 1926 (พ.ศ. 2469) ณ หมู่บ้านถั่ญจรุง
อำเภอกว๋างเดี่ยน จังหวัดเถื่อเทียน-เว้ ประเทศเวียดนาม
เป็นบุตรคนรองสุดท้องในครอบครัวที่ประกอบไปด้วย
พี่น้องชายหญิง 6 คน บิดามีนามว่า เหงวียน ดิ่ญ ฟุก
(Nguyễn Đình Phúc)
มารดามีนามว่า เจิ่น ถิ หยี (Trần Thị Dĩ)
ปี 1942 (พ.ศ. 2485) ออกบวช ณ วัดตื่อเฮี้ยว (Từ Hiếu)
กับพระอาจารย์เซน ทัญกุ๊ย เจินเถิด (Thanh Quý Chân Thật)
ได้รับนามตามสายธรรมว่า จรึ่งกวาง (Trừng Quang)
กันยายน ปี 1945 (พ.ศ. 2488)ได้บรรพชารับศีลเป็นสามเณร
กับพระอุปัชฌาย์พร้อมนามทางธรรมว่า ฝุ่งซวน (Phùng Xuân)
ปี 1947 (พ.ศ. 2490) เข้าศึกษา ณ
สถาบันการศึกษาสงฆ์บ๊าวก๊วก (Báo Quốc) เมืองเว้
ปี 1949 (พ.ศ. 2492) ออกจากเมืองเว้ เข้าสู่ไซ่ง่อน
เพื่อหาหนทางการศึกษาและปฏิบัติในวิถีใหม่
เริ่มพันธกิจที่ได้ก่อตั้งขึ้น พร้อมสมัญญาทางธรรมว่า
ติช นัท ฮันห์ (Thích Nhất Hạnh)
หมายถึง "การกระทำเพียงหนึ่ง"
ซึ่งได้กลายเป็นหนึ่งในหลายนามปากกาของท่าน
ได้ก่อตั้งวัดอั๊นกวาง (Ấn Quang)
และเป็นพระธรรมาจารย์ในการศึกษาพุทธศาสตร์ของ
วิทยาลัยสงฆ์นามเหวียด (Nam Việt)
ตุลาคม ปี 1951 (พ.ศ. 2494) อุปสมบทเป็นภิกษุโดยสมบูรณ์
ณ วัดอั๊นกวาง เมืองไซ่ง่อน
กับพระมหาเถระทิจ โดน เฮ่า (Thích Đôn Hậu)
ปี 1954 (พ.ศ. 2497) สมาพันธ์คณะสงฆ์พุทธศาสนา
ได้มอบหมายให้ท่านทำการปฏิรูปการศึกษา
และเป็นผู้อำนวยการด้านการศึกษา ณ วิทยาลัยสงฆ์นามเหวียด
ปี 1955 (พ.ศ. 2498)
เป็นบรรณาธิการนิตยสารพุทธศาสนาเวียดนาม
กระบอกเสียงของสมาพันธ์คณะสงฆ์พุทธศาสนา
ปี 1957 (พ.ศ. 2500) ก่อตั้งอาศรมเฟืองโบ๊ย
(Phương Bối Am) ณ จังหวัดบ๋าวหล็อก
เป็นที่พักฟื้นฟูจิตใจและภาวนาในความสงบเงียบ
ระหว่างการทำกิจกรรมเพื่อสังคม
ปี 1961 – 1963 (พ.ศ. 2504-2506)
ศึกษาวิจัยและทำการสอน ณ
มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton)
และโคลัมเบีย (Columbia) สหรัฐอเมริกา เขียนหนังสือ
"กุหลาบประดับดวงใจ"
ปี 1964 (พ.ศ. 2507) ได้รับนิมนต์ให้กลับคืนเวียดนาม
เพื่อร่วมช่วยงานในฐานะผู้นำ
ขององค์กรคณะสงฆ์เอกภาพแห่งเวียดนาม
และได้ก่อตั้งสถาบันการศึกษาพุทธศาสตร์ชั้นสูงในไซ่ง่อน
ณ วัดฟ๊าบโห่ย (Pháp Hội)
ต่อมาได้พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยหว่านหั่ญ (Vạn Hạnh)
และก่อตั้งสำนักพิมพ์ล้าโบ๊ย (Lá Bối "ใบตาล")
เป็นบรรณาธิการวารสารรายปักษ์ "เสียงกระแสน้ำขึ้น"
ปี1965 (พ.ศ. 2508) ก่อตั้งโรงเรียนเยาวชนเพื่อการรับใช้สังคม
ปี 1966 (พ.ศ. 2509) ก่อตั้งคณะดั่งกันและกัน
(The Order of Interbeing) หรือ เตี๊ยบเหี่ยน (Tiếp Hiện)
วันที่ 1 พฤษภาคม1966 (พ.ศ. 2509)
ได้รับการสืบทอดตะเกียงธรรมโดยพระอาจารย์อุปัชฌาย์
ณ วัดต้นสายธารตื่อเฮี้ยว และได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าอาวาส
แห่งวัดตื่อเฮี้ยวองค์ต่อไปภายหลังจากพระอุปัชฌาย์มรณภาพ
วันที่ 11 พฤษภาคม 1966 เดินทางออกจากเวียดนามเพื่อเรียกร้องสันติภาพ
และเริ่มต้นระยะกาลลี้ภัยที่ยาวนาน 39 ปี
ปี 1967 (พ.ศ. 2510) ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์
ปี 1968 – 1973 (พ.ศ. 2511-2516)
ทำงานเรียกร้องสันติภาพโดยเป็นตัวแทนของสมาคมสันติภาพปารีส (1968-1973)
ในช่วงระยะเวลานี้ได้รับนิมนต์ให้สอนในวิชา “ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเวียดนาม”
ณ มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (Sorbonne) ประเทศฝรั่งเศส
และรวบรวมหนังสือประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเวียดนาม
ใช้นามปากกว่า เหงวียน ลาง (Nguyễn Lang)
กันยายน ปี1970 (พ.ศ. 2513) ได้รับนิมนต์โดยองค์กรคณะสงฆ์เอกภาพแห่งเวียดนาม
เพื่อเป็นผู้แทนของคณะพุทธศาสนิกเพื่อสันติภาพในการประชุม ณ ปารีส
พฤษภาคม 1970 (พ.ศ. 2513) เข้าร่วมร่างประกาศแถลงการณ์เมนตัน (Menton)
ว่าด้วยการทำลายระบบนิเวศ มลภาวะทางสิ่งแวดล้อม และการเพิ่่มจำนวนประชากร ได้เข้าพบอูถั่น (U Thant)
เลขาธิการสหประชาชาติพร้อมกับเพื่อนร่วมงาน และได้รับคำมั่นสัญญาที่จะให้การสนับสนุน
ปี 1972 (พ.ศ. 2515) เป็นผู้นำของสมาคมเพื่อสิ่งแวดล้อมมีชื่อว่า The Fellowship of Reconciliation
โดยมีพันธกิจว่าด้วยระบบนิเวศเชิงลึก ความเป็นดั่งกันและกัน (ความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง)
และความสำคัญของการปกป้องผืนโลก
ปี 1971 (พ.ศ. 2514) ก่อตั้งอาศรมเมฆหอม (ฟงต์วานส์) ใกล้เมืองปารีส
ปี1976 (พ.ศ. 2519) ดำเนินงานช่วยเหลือมนุษย์เรือผู้ประสบภัยกลางท้องทะเล
ในการพยายามลี้ภัยทางเรือออกนอกประเทศหลังสงครามเวียดนาม
ปี 1982 (พ.ศ. 2525) ก่อตั้งหมู่บ้านพลัม ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส
ปี 1998 (พ.ศ. 2540) ก่อตั้งวัด Green Mountain ในสหรัฐฯ
ปี 2000 ก่อตั้งวัด Deer Park ในสหรัฐฯ
ปี 1999 (พ.ศ. 2542) เขียนประกาศแถลงการณ์มานิเฟสโต 2000 (Manifesto 2000)
ร่วมกับเหล่าผู้ได้รับรางวัลโนเบล เพื่อมุ่งสู่สันติภาพและการไม่ใช้ความรุนแรงสำหรับสหัสวรรษใหม่
ปี 2005 (พ.ศ. 2548) กลับเวียดนามครั้งแรกและก่อตั้งวัดปรัชญา
หรือ บ๊าดหญา (Bát Nhã) ที่จังหวัดบ๋าวหล็อก
ปี 2007 (พ.ศ. 2550) กลับคืนเวียดนามครั้งที่ 2 และจัดพิธีทำบุญอุทิศ
แด่ผู้ประสบทุกข์ภัยระหว่างสงครามเวียดนามตลอดทั้งสามภาค
ปี 2008 (พ.ศ. 2551) กลับคืนเวียดนามครั้งที่ 3
และเป็นองค์ปาฐกถาในพิธีวิสาขบูชานานาชาติ
ปี 2008 (พ.ศ. 2551) ก่อตั้งสถาบันพุทธศาสนาประยุกต์
แห่งยุโรป (European Insitute of Applied Buddhism)
ณ เยอรมนี, วัด Blue Cliff และ Magnolia สหรัฐฯ, อาศรมแห่งลมหายใจ ณ ปารีส,
หมู่บ้านพลัมประเทศไทย,
สถาบันพุทธศาสนาประยุกต์แห่งเอเชีย
(Asian Insitute of Applied Buddhism)
ณ ฮ่องกง, วัดเข้าสู่กระแส (Stream Entering) ออสเตรเลีย,
วัดภิกษุณีเหยี่ยวจ่าม (Diệu Trạm),
จ่ามติจ (Trạm Tịch) ในเวียดนาม ทำการสืบเนื่องและขยายกว้าง
ในงานการเผยแผ่ธรรมะและสร้างสังฆะไปทั่วโลก
พฤศจิกายน 2014 (พ.ศ.2557) อาพาธด้วยอาการเลือดออก
ในสมอง
ตุลาคม 2018 (พ.ศ. 2561)
กลับมาพำนักยังวัดต้นสายธารตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม
วันที่ 22 มกราคม 2022 (พ.ศ. 2565) มรณภาพอย่างสงบ
ณ กุฏิ"รับฟัง" วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม
-------------------------------
จิตเป็นหนึ่งขอน้อมกราบสักการะจิตวิญญาณอันตื่นรู้แห่งพระอาจารย์เจ้าอาวาสวัดต้นสายธรรมตื่อเฮี้ยว
ผู้ก่อตั้งสถานปฏิบัติธรรมหมู่บ้านพลัม ผู้สืบสายนิกายหลินจี้รุ่นที่ 42 และสายธรรมเหลียวกว๊านรุ่นที่ 8
ผู้มีนามตามสายธรรมว่า จรึ่งกวาง, นามทางธรรม ฝุ่งซวน,
สมัญญาทางธรรม นัท ฮันห์ พระมหาเถระ พระอาจารย์เซน
ที่มา : https://www.tnnthailand.com/news/social/102116/
วันนี้ (16 ม.ค.65) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
มอบสารถึงครูทุกคนทั่วประเทศ โดยมีข้อความว่า เนื่องในโอกาสวันครู
ครั้งที่ 66 วันที่ 16 มกราคม 2565 เพื่อระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ตลอดจน
ยกย่องเชิดชูเกียรติครูและพัฒนาวิชาชีพครู โดยนายกรัฐมนตรีขอน้อมมุทิตาจิต
และแสดงกตเวทิตาคุณแด่ครูผู้การุณย์แก่ศิษย์เสมอมา
พร้อมทั้งขอส่งความระลึกถึงและความปรารถนาดี
มายังครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนทั่วประเทศ
นายกรัฐมนตรีย้ำว่าครูเป็นผู้จุดประกายความคิด อบรมสั่งสอนวิชาความรู้
เพื่อให้ศิษย์เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ คุณธรรม และมีจิตสาธารณะ
รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญ
ของการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ
โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาขับเคลื่อนโดยภูมิปัญญา
และนวัตกรรมตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี โดยเฉพาะการพัฒนาการศึกษาของชาติแบบองค์รวม
เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21
ที่มุ่งเน้นการสร้างครูยุคใหม่และผู้เรียนที่ใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
รวมทั้งพัฒนาในด้านต่าง ๆ เพื่อให้มีความพร้อมในการดำเนินชีวิตในโลกยุควิถีใหม่
นายกรัฐมนตรี ยังได้มอบคำขวัญ "วันครู" ครั้งที่ 66 ในปีพุทธศักราช 2565 นี้ ว่า
"พัฒนาครู พัฒนาเด็ก เรียนรู้สู่อนาคต" ด้วยตระหนักถึงการพัฒนาครูซึ่งเป็นหัวใจ
หลักของการพัฒนาการศึกษาของชาติให้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะที่เหมาะสม
สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนการสอนในยุคปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
สามารถถ่ายทอดให้ศิษย์มีความรู้และทักษะที่จำเป็น เกิดการเรียนรู้ คิดริเริ่ม สร้างสรรค์ พัฒนาสิ่งใหม่
โดยนายกรัฐมนตรีขอเป็นกำลังใจให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนที่มุ่งมั่น
ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ในการทำหน้าที่อำนวยความรู้แก่ศิษย์
เพื่อให้ศิษย์เติบโตเป็นอนาคตของชาติที่มีคุณภาพ คุณธรรม
และเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมและประเทศชาติต่อไป
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้อาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และอำนาจสรรพ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ทุกคนนับถือ ตลอดจนเดชะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี โปรดอภิบาลประทานพรให้ครู
และบุคลากรทางการศึกษาทุกคนประสบแด่ความสุข สวัสดี มีความเจริญ
มีพลังกาย พลังใจที่เข้มแข็ง มีความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ
และสัมฤทธิผลในสิ่งที่พึงปรารถนาทุกประการโดยทั่วกัน
ตรงกับวันที่8 มกราคม วันประสูติในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นดีเสมอ
พศิน อินทรวงค์
บางสิ่งที่เราคิดว่าเลวร้ายในวันนี้
ที่จริงแล้ว...
สิ่งนั้นกำลังสร้างสรรค์อะไรบางอย่าง
เพื่อให้ชีวิตของเราได้เติบโต งอกงาม
แน่นอนว่า...
ในช่วงเวลาที่ยังไม่อาจข้ามผ่าน
มันย่อมสร้างความเจ็บปวดร้าวลึกให้เรา
อาจฝากบาดแผล ฝากแผลเป็น
ฝากรอยทางของความทรงจำหนาวเหน็บ
ทว่า สิ่งเหล่านี้...
จะแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งล้ำเมื่อเวลาผ่านไป
เพชรทุกเม็ดถูกเจียระไนด้วยความร้อนสูงสุด
ท่อนไม้ธรรมดา
กลับกลายเป็นงานศิลปะชั้นครู
เพราะถูกสกัด ขูดเกลา ตัดทอนบางสิ่งออกไป
ชีวิตของเรา ไม่อาจงดงามและน่าจดจำ
หากปราศจากการต่อสู้ ฟันฝ่า เคี่ยวกรำตนเอง
เพียงแต่เรายังไม่เข้าใจเท่านั้น
เพียงแต่ยังไม่ถึงเวลาที่เราจะเข้าใจเท่านั้น
บางบทเรียนจึงดูโหดร้าย
ดูใจร้ายใจดำกับชีวิตของเราเกินไป
แต่ขอจงเชื่อมั่น ศรัทธา
ตระหนักรู้อย่างแรงกล้า
ว่า สุดท้ายแล้ว ทุกสิ่งที่เราพบเจอ
ทุกเรื่องราวที่เรากำลังเผชิญอยู่
ย่อมนำบทเรียนล้ำค่าสูงสุดมาให้
นำพาชีวิต... ไปสู่เส้นทางชีวิต...
ที่งดงามกว่าเคย...
***ติดต่อ พศิน อินทรวงค์***
วิทยากร/บรรยาย/หนังสือ/บทความ
https://www.facebook.com/talktopasin2013
***ติดตามช่องยูทูป***
พศิน อินทรวงค์ - Pasin Intarawong
https://www.youtube.com/channel/UCccGJ9suemcJiF6WQqxUuGQ