Custom Search

Feb 28, 2009

Architects 49 : 25th Anniversary




  1. Nithi Sthapitanonda
  2. Kiattisak Veteewootacharn
  3. Kritsana Tanatanit



15 กันยายน พ.ศ. 2551
วันที่ 5-9 พฤศจิกายนนี้จะเป็น ครั้งแรกที่ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด
หรือที่เรียกขานกันทั่วไปว่า A49
บริษัทสถาปนิกแถวหน้าของไทยที่ก้าวออกไปรับงานในระดับสากลจะจัดงานใหญ่
โดยเช่าพื้นที่ส่วนหนึ่งภายใน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์จัดอีเวนต์
เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี
ความน่าสนใจของงานนี้มี 2 ส่วนด้วยกัน คือ
1) การแสดงผลงานที่ผ่านมา ของบริษัทผ่านโมเดลจำลอง
ที่คัดเลือกมาจัดแสดงจำนวน 49 ชิ้น เพื่อฉายภาพคร่าวๆ
ถึงทุกย่างก้าวบนเส้นทางสายนี้ตลอดช่วง 25 ปี
จนสามารถสร้างชื่อและผลงานเป็นที่ยอมรับในวงกว้างทั้งในประเทศและต่างประเทศ
และ
2) การ แสดงผลงาน 6 ชิ้นที่ได้รับรางวัลจากโครงการประกวดแบบ
ป้อมตำรวจ ที่ A49 อาสาเป็นแม่งานจัดโครงการเพื่อ
ส่งมอบแบบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
นำไปใช้เป็นโมเดลก่อสร้างป้อมตำรวจ
ซึ่งกำหนดผู้สนใจส่งแบบภายในวันที่ 20 กันยายนนี้
ให้การสนับสนุนโครงการประกวดแบบป้อมตำรวจ
เป็นอีกไอเดียหนึ่งของการสร้างสรรค์ผลงานเช่นเดียวกัน
โดย ประภากร วทานยกุล กรรมการผู้จัดการของ A49 มองว่า
ป้อมตำรวจก็เปรียบเสมือน สตรีตเฟอร์นิเจอร์ ที่มีผลต่อความสวยงามของเมือง
ถ้าป้อมตำรวจหน้าตาดีก็มีส่วนช่วยให้ภูมิทัศน์สวยงามขึ้นได้
ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ป้อมตำรวจในปัจจุบันมี 3 ขนาด
คือ ป้อมขนาดเล็กตามสี่แยก
ป้อม ขนาดกลางที่มีห้องน้ำในตัว
และป้อม ขนาดใหญ่ตามต่างจังหวัดมีห้องน้ำ
และที่พักรองรับได้ 2 คน แต่ในแง่รูปแบบมีหลากหลายมากขึ้น
อยู่กับสปอนเซอร์ ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้าง
นอกจากจะจัดอีเวนต์ใหญ่เป็นครั้งแรกแล้ว ที่น่าสนใจคือสเต็ปถัดไปที่
A49
บริษัทออกแบบที่เข้าสู่วัยเบญจเพส
จะระดมสรรพกำลังทีมงานสร้างสรรค์ ออกมาเป็นงานออกแบบหลายๆ
โครงการ อาทิ อาคารเอนเนอร์ยี่คอมเพลกซ์
อาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ
ขณะเดียวกัน ก็กำลังไปได้สวยกับการขยายตลาดงานออกแบบในต่างประเทศ
โดยเฉพาะประเทศ UAE (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ที่ล่าสุด
ได้ลงทุนจัดตั้งบริษัท Architects 49 limited-Abu Dhabi
ในเมืองอาบูดาบีอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพื่อรุกตลาดเต็มตัว
ปัจจุบันบริษัทในเครือที่ตั้งขึ้นใหม่มีพอร์ตงานออกแบบใน UAE ประมาณ 20 โครงการ
รวมมูลค่าโครงการ 2-3 หมื่นล้านบาท หนึ่งในโครงการที่ถือเป็น
ผลงานชิ้นโบแดง คืองานออกแบบโครงการและภูมิทัศน์ ดอลฟิน ไอร์แลนด์
มูลค่าโครงการ 8,000 ล้านบาท โครงการ ถมทะเลเพื่อก่อสร้างโรงแรมรีสอร์ตสปา
ระดับหรู เมื่อมองจากด้านบนจะเห็นแลนด์สเคป
โครงการเป็นรูปปลาโลมา 4 ตัว
เกาะเกี่ยวกันอยู่คล้ายกับปลาโลมากำลังเล่นน้ำอยู่กลางทะเล
ในมุมมองของ A49 เห็นว่า UAE ไม่ได้กำลังสร้างเมือง แต่กำลังสร้าง
โลกใหม่ในประเทศของตัวเอง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ UAE
มีรายได้จากการขายน้ำมันเฉลี่ยถึงวันละ 1,000 ล้านบาท
จึงนำเงินที่ได้มาก่อสร้างประเทศให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจการเงิน
และเอ็นเตอร์เทน เมนต์ในอนาคต
ด้วยเหตุนี้เองทำให้ A49 เตรียมขยายบริษัทในอาบูดาบีให้
สามารถรองรับงานโครงการขนาดใหญ่ได้มากขึ้น
จากปัจจุบันมีพนักงานประจำ 4-5 คน ตั้งเป้าจะขยายงานเต็มที่
โดยเพิ่มทีมงานเป็น 25-30 คน เพื่อให้เพียงพอกับปริมาณงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต
รวมถึงการขยายเข้าไปรับงานในเมืองดูไบ
เพราะตลาดที่นั่นยังเปิดกว้างโดยมีคู่แข่งเป็นสถาปนิกต่างชาติจากมาเลเซียและสิงคโปร์
แน่นอนว่าการรุกไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศย่อมมีอุปสรรค
ไล่ไปตั้งแต่บุคลากรที่ตามสเป็กจะต้องสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี สามารถ
ที่จะสร้างผลงานด้านการออกแบบแข่งขันกับสถาปนิกทั่วโลกได้
และต้องมีความพร้อมที่จะรับงานและทำงานในต่างประเทศ เป็นต้น
ทุกอย่างรอแค่เวลาเท่านั้น !
หน้า 7
All photos by iDoi* Marter'.
(http://coffee-m.exteen.com/20081110/49-25-25-49-group) [not active]



การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม


หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน : หนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศ


หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน : หนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศ

คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน
วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2552

สูตรแห่งความสำเร็จในชีวิตข้อต่อไปนี้คือ การอยู่ในปฏิรูปเทส
ปฏิรูปเทส ไม่ได้แปลว่า ประเทศที่มีการปฏิรูปปฏิวัติเลื่อนรถถังออกมายิงกันเปรี้ยงปร้างๆ

นะครับ หมายถึง ถิ่นหรือทำเลที่เหมาะ
อาแปะลิ้มแกคิดจะตั้งร้านขายก๋วยเตี๋ยว บังเอิญแกไปตั้งร้านอยู่ใน

หมู่บ้านโคกขี้แร้งห่างไกลปืนเที่ยง ชาวบ้านโคกขี้แร้งเขากินปลาร้าปลาเจ่ากัน
ร้านก๋วยเตี๋ยวของอาแปะตั้งได้ไม่ถึงเดือนก็เจ๊ง ถามว่าทำไมถึงเจ๊ง ตอบว่า
เพราะบ้านโคกขี้แร้งมิใช่ "ปฏิรูปเทส" หรือทำเลที่เหมาะแก่การขายก๋วยเตี๋ยว
เหมาะสำหรับขายไก่ย่าง ส้มตำหรือลาบน้ำตกมากกว่า
ถ้าแปะลิ้มอยากทำมาค้าขึ้น แกต้องไปตั้งร้านในเมืองที่คนเขากินก๋วยเตี๋ยวกัน
แม้ในเมืองก็ต้องดูด้วยว่า จะตั้งย่านไหน มิใช่ตั้งส่งเดชที่ไหนก็ได้
จะเห็นว่าสถานที่อยู่เหมาะหรือไม่เหมาะ
เป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในชีวิต
ต้นไม้ใหญ่ๆ เช่น ต้นสัก ต้นตะเคียน ถ้าเอามาปลูกใส่กระถาง มันก็โตไม่ได้ฉันใด
คนที่แม้มี "แวว" ดี ถ้าไปอยู่ในถิ่นที่มิใช่ปฏิรูปเทสก็เจริญไม่ได้ฉันนั้น
พระพุทธเจ้าตรัสให้เลือกอยู่ในถิ่นที่เหมาะสมกับตนวิธีเลือกก็ต้องดูทั้ง 3 ด้าน
คือ ถิ่นที่จะไปอยู่นั้น -ทรัพย์จะเจริญหรือไม่
คือ ทำมาหากินตั้งเนื้อตั้งตัวได้ไหม -ชีวิตจะเจริญหรือไม่
คือ ปลอดภัยต่อทรัพย์สิน สุขภาพ ร่างกายและชีวิตไหม -คุณความดีจะเจริญหรือไม่
คือ ห่างไกลสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ชักพาให้เสียหายไหม
ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องเลือกให้เหมาะทั้งนั้นแหละครับ จะเข้าโรงเรียนที่ไหน
จะบวชที่วัดไหน จะทำงานที่ไหน จะซื้อบ้านจัดสรรหมู่บ้านไหน
ที่สุดแม้จะสมัครรับเลือกตั้งพรรคไหน ฯลฯ ถ้าเลือกผิดชีวิตก็ไม่เจริญก้าวหน้า
ที่พูดมาเรื่องพื้นๆ แต่ความหมายจริงๆ ของปฏิรูปเทส
พระอรรถกถาจารย์ (อาจารย์ผู้แต่งหนังสืออธิบายพระไตรปิฎก)
ท่านให้คำจำกัดความไว้ว่า
"ปฏิรูปเทส หมายถึง ถิ่นที่มีพุทธบริษัท 4 ถิ่นที่มีบุญกิริยาวัตถุมีทาน เป็นต้น
(หมายถึง ถิ่นที่มีคนดีเขาทำดีกัน ไม่ใช่ถิ่นที่มีแต่คนชั่วก่อกรรมทำเข็ญ)
ถิ่นที่มีคำสอนของพระพุทธเจ้ารุ่งเรือง" ใครได้อยู่ในถิ่นที่มีสิ่งเหล่านี้
ย่อมมีโอกาสประสบความเจริญในชีวิต
เพราะจะได้ "สิ่งดีเยี่ยม" 6 ประการ คือ
ได้พบเห็นสิ่งดีเยี่ยม
ได้ยินได้ฟังสิ่งดีเยี่ยม
ได้ลาภอันดีเยี่ยม
ได้การศึกษาที่ดีเยี่ยม
ได้อุปถัมภ์บำรุงที่ดีเยี่ยม
และได้รำลึกถึงสิ่งที่ดีเยี่ยม
สิ่งที่ดีเยี่ยมที่ว่านี้คือ พระรัตนตรัย แก้วประเสริฐทั้งสามประการนั้นแล
สรุปแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ตราบใดยังมีพระรัตนตรัยให้กราบไหว้อยู่
ก็การันตีได้ว่าชีวิตประสบความเจริญก้าวหน้าแน่นอน
เมืองไทยเราก็เป็น "ปฏิรูปเทส" มาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวด
ช่วยกันรักษาไว้ก็แล้วกัน อย่าปล่อยให้เดียรถีย์มิจฉาทิฐิมันย่ำยีไปมากกว่านี้จนกลายเป็น
"อปฏิรูปเทส" เสียละครับ เดี๋ยวปู่ย่าตาทวดท่านจะลุกขึ้นมาชี้หน้าว่า
ไอ้ลูกหลานจัญไร

สูตรความสำเร็จในชีวิตอีกข้อหนึ่งคือ
อัตตสัมมาปณิธิ แปลกันว่า การตั้งตนไว้ชอบ
ถ้าแปลไทยเป็นไทยอีกทีก็คือ การตั้งตัวถูกนั่นเอง ตัว หรือตน
ในที่นี้หมายถึง ตัวหรือตนโดยสมมุติตามที่เรารับรู้กัน
มิใช่ตัวหรือตนในแง่ปรมัตถ์ เพราะถ้าว่าโดยปรมัตถ์ (ความจริงสูงสุด) แล้ว
ไม่มี "ตัวตน" ทุกอย่างเป็นอนัตตาหมด เดี๋ยวจะสงสัยว่า
เมื่อหาตัวตนไม่ได้ แล้วจะมาสอนให้ตั้งตัวทำไมกัน
ที่เขาสอนให้ตั้งตัว หมายเอาตั้งตัวที่เราเห็นๆ อยู่นี่แหละครับ
ตัวตนที่เดินได้ พูดได้ กินได้ ทะเลาะกันได้มาหลายสิบปีแล้ว
และจะทะเลาะต่อไปอีกนี่แหละ พอพูดถึงการตั้งตัว
หลายคนอาจนึกออกไปข้างนอกตัว
เช่นนึกไปถึงการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ นึกถึงหน้าที่การงานมั่นคง
ดังพูดว่า ขอตั้งเนื้อตั้งตัวให้ได้เสียก่อนจึงจะขอแต่งงานอะไรทำนองนี้
แต่การตั้งตัวที่ถูกต้องหมายถึงการตั้ง "จิต" ไว้ชอบดังพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า
จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมก่อความเสียหายให้ ยิ่งกว่าศัตรูทำกับศัตรู
คนจองเวรต่อคนจองเวรเสียอีก จิตที่ตั้งไว้ชอบ
ย่อมทำสิ่งที่พ่อ แม่ พี่ น้อง ทำให้ไม่ได้ และทำให้ได้อย่างดีด้วย
จะเห็นว่าจุดเริ่มอยู่ที่จิต ถ้าตั้งจิตถูก ชีวิตก็จะเจริญก้าวหน้า
ถ้าตั้งจิตผิดก็จะประสบความเสื่อม ถ้าถามว่าตั้งจิตไว้ถูกนั้นตั้งอย่างไร
คำตอบก็คือตั้งไว้ให้ดีนั่นแหละ เช่นแต่ก่อนเป็นคนงกเห็นแก่ได้
กอบโกยเอาไว้มากมายยังกับไม่คิดตาย
ก็กลับเนื้อกลับตัวกลายเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ
แต่ก่อนเป็นคนไม่มีศรัทธาในพระรัตนตรัย ก็กลับเป็นคนมีศรัทธามั่นคง
นับถือพระนับถือเจ้า แต่ก่อนเป็นคนหูเบาเชื่อคนง่าย
ใครจะมาเบาหูก็รีบเชื่อทันที ต่อมากลับเป็นคนหนักแน่นมีเหตุมีผล
ไม่โดนล้างสมองง่ายๆ เหล่านี้เป็นต้น เรียกว่า
ตั้งจิตไว้ถูกตั้งจิตไว้ดี ถ้าคนเราตั้งจิตไว้ถูกและดีไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว
จะทำอะไรก็เจริญก้าวหน้า แต่ตรงกันข้ามก็จะได้ผลตรงกันข้าม
ขอยกตัวอย่างคนตั้งจิตไว้ผิดทางว่ามีผลลัพธ์อย่างไรสักเรื่อง
สองคนพ่อกับลูกไปทอดแห ขณะพ่อทอดแหลงไป
แหไปติดตอไม้ใต้น้ำดึงไม่ขึ้น
พ่อนึกว่าปลาตัวใหญ่ติดแห ความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นทันที
นึกไปไกลถึงว่า
ถ้าบ้านข้างเรือนเคียงรู้ว่าเราได้ปลาตัวใหญ่จะแห่มาขอแบ่งปันไปกิน
จึงสั่งลูกให้กลับบ้าน ไปบอกให้ภรรยา คือ
แม่ของลูกหาเรื่องทะเลาะกับชาวบ้าน ข้างฝ่ายภรรยาก็ดีใจหาย
ทำตามสามีบอกทุกอย่าง ไปด่าทอชาวบ้านทุกหลังคาเรือนโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย
ชาวบ้านชักยัวะพากันรุมสกรัมสะบักสะบอม
สามีกระโดดน้ำลงไปหมายจับปลาตัวใหญ่
ตาข้างหนึ่งไปกระทบกับตอไม้ใต้น้ำ เลือดแดงฉาน
ได้รับความเจ็บปวดมาก เอามือกุมตา อีกมือหนึ่งถือแหกลับบ้าน
มาถึงบ้านก็เห็นภรรยาถูกชาวบ้านทำร้ายบาดเจ็บอีกคน ตาก็บอด ปลาก็ไม่ได้กิน
แถมยังผิดพ้องหมองใจกับเพื่อนบ้านอีก สมน้ำหน้า
นี่คือผลของการตั้งจิตไว้ผิดคิดผิดตั้งแต่แรก
จึงต้องประสบหายนะปานฉะนี้

หน้า 6

Feb 27, 2009

ความรู้ที่มาจากอนาคต



คอลัมน์ จิตวิวัฒน์
นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
มติชน
28 กพ.52
www.thaissf.org
แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ในการสัมมนาหรืออบรมทั่วๆ ไปนั้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมักจะคิดว่า
เพียงเข้าไปนั่งฟังผู้บรรยายก็จะได้รับความรู้จากการสัมมนาครั้งนั้นๆ แล้ว
หรืออย่างน้อยๆ ที่สุดก็เข้าไปเซ็นชื่อรับเอกสารประกอบคำบรรยาย
แล้วบางท่านก็อาจจะ "กระโดด" การประชุมไปเที่ยวเล่นหรือไปทำธุระอย่างอื่น
ประชุมกันประมาณนี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการได้มาซึ่ง "ความรู้"

ชอบใจที่ ออตโต ชาร์มเมอร์ ผู้เขียนหนังสือ "ทฤษฎีตัวยู"
ได้พูดถึงเรื่องราวของ "ความรู้" ไว้อย่างน่าสนใจมาก
ชาร์มเมอร์ได้แบ่งความรู้ออกเป็นสองแบบเท่านั้น คือ
"ความรู้ที่มาจากอดีต" กับ "ความรู้ที่มาจากอนาคต"

"ความรู้" ที่ได้มาจากคนอื่นๆ ไม่ว่าจะมาจากการบรรยายหรือจากการอ่านหนังสือ
รวมถึงท่านผู้อ่านที่กำลังอ่านบทความชิ้นนี้ก็ตาม กำลังอยู่กับ "ความรู้ในอดีต" ทั้งสิ้น
อาจจะเรียกว่าเป็น "ความรู้มือสอง" หรือ "ความรู้มือสามมือสี่มือห้ามือหก" ก็ได้

ส่วนความรู้อีกแบบนั้น เป็นความรู้แบบที่เราปิ๊งขึ้นมาเอง
เป็นความรู้ "ที่ก่อเกิดขึ้นมาใหม่" ชาร์มเมอร์เรียกว่า เป็น "ความรู้ที่มาจากอนาคต"
เพราะจะต้องถึงเวลานั้นจริงๆ เราถึงจะคิดขึ้นมาได้ เป็น "ความรู้มือหนึ่ง"
หรือผมอยากจะเรียกว่าเป็น "ความรู้ไพรมารี่" (Primary Knowledge)
ความรู้ชนิดนี้จะเป็นความรู้ที่มีความยั่งยืน
คนที่คิดจะรู้สึกภาคภูมิใจกับสิ่งที่ตัวเองคิดค้นขึ้นมาได้อย่างแท้จริง
และไม่มีวันลืมความรู้ชนิดนี้
นักวิทยาศาสตร์ชื่อเสียงโด่งดังทั้งหลายที่คิดค้นทฤษฎีหรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ
ขึ้นมาเอื้อประโยชน์ให้กับโลกใบนี้ ต่างก็ใช้ "ความรู้ที่มาจากอนาคต" นี้เองทั้งสิ้น

แต่คนส่วนใหญ่มักจะ "ไม่ได้ไว้วางใจตัวเอง" มากเพียงพอที่จะเชื่อว่า
"ตัวเองมีความรู้ชนิดนี้" ได้ และประเด็นสำคัญของบทความชิ้นนี้ก็คือ
อยากจะเรียนว่า "ความรู้ที่มาจากอนาคต" นี้ สามารถสร้างขึ้นมาได้เสมอๆ
และต่อเนื่องไม่รู้จบ
วิธีการแรก คือการสร้างจากความรู้ในอดีต
หรือเรียนรู้จากความรู้มือสอง ซึ่งเป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่ชอบใช้
ตัวอย่างเช่น การไปนั่งฟังบรรยาย ถ้าเราสนใจกับการรับฟังและเรียนรู้อย่างแท้จริง
เราก็ "อาจจะ" ก่อเกิดความคิดอะไรบางอย่างขึ้นมาในตัวเรา
เช่น คำพูดบางคำของผู้บรรยาย "อาจจะ" มาโดนใจเรา
ทำให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ

ถ้าเรามั่นใจและลองเชื่อ "ความรู้ที่เกิดใหม่" นี้ ก็นับได้ว่า
ความรู้มือสองที่ได้ยินได้ฟังมานั้นได้กลับมา "ก่อรูป"
ในตัวเรากลายมาเป็นความรู้แบบไพรมารี่ได้
ตัวอย่างเช่น
พยาบาลคนหนึ่งเมื่อเรียนวิชาแทงน้ำเกลือไปสักพักหนึ่ง
ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องอาศัยความรู้แบบมือสองมือสามจากอาจารย์ของเธอก่อน
ในจังหวะนี้เธอมีทางเลือกสองทางคือ
เลือกที่จะเลียนแบบความรู้มือสองมือสามที่ได้รับมาไปตลอดชีวิต
หรือเมื่อเธอฝึกฝนไปเรื่อยๆ หรือให้ความสนใจในเรื่องการแทงน้ำเกลืออย่างต่อเนื่อง
ในที่สุดเธอก็จะ "ก่อเกิดทักษะ" การแทงน้ำเกลือบางอย่างที่เป็น "วิธีการของเธอเอง"
เป็นสไตล์ของเธอเองที่ไม่เหมือนใคร
สิ่งที่เกิดใหม่นี้ก็นับได้ว่าเป็น
"ความรู้แบบไพรมารี่" หรือ "ความรู้ที่มาจากอนาคต" ได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม วิธีการแรกที่เรียนรู้การสร้างความรู้จากความรู้มือสองมือสามนั้น
เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเรามีความตั้งอกตั้งใจสนใจกับเรื่องราวนั้นๆ
จริงๆ ออกจะต้องใช้ "ความพยายามสูง" ในการเข้าไปได้มาซึ่ง "ความรู้ไพรมารี่"
จาก "ความรู้มือสอง" เหล่านั้น
คนส่วนใหญ่จึงเลือกเพียงแค่
"เลียนแบบความรู้เก่าๆ เหล่านั้น"
ออตโต ชาร์มเมอร์
เสนอวิธีการ "สร้างความรู้ไพรมารี่" ในอีกรูปแบบที่น่าสนใจมาก
ในทฤษฎีตัวยูของเขา ชาร์มเมอร์เชื่อว่า "ความรู้แบบไพรมารี่หรือความรู้ที่มาจากอนาคต"
นั้น สามารถสร้างขึ้นด้วยการเริ่มฝึกฝน "ทักษะ" ง่ายๆ ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์เราอยู่แล้ว
ด้วยการ "ช้าลง" และลองกล้าที่จะหยุดการใช้ความรู้เก่า

ชุดความรู้เก่าแบบเดิมๆ ก็เปรียบเหมือนกับการเดินทางจากจุด ก. ไปยังจุด ข.
ระยะทางที่รวดเร็วที่สุดก็คือ "เส้นตรง" จาก ก. ไปยัง ข.
ความรู้ที่รวดเร็วแบบนี้เป็นความรู้เก่าๆ ที่เก็บเอาไว้ในสมองของเรา
และออกมาเป็นอัตโนมัติอย่างรวดเร็ว ไม่มีอะไรใหม่

หากว่าเราจะลองยืดระยะระหว่าง ก. ถึง ข. ให้ยาวขึ้น เราอาจจะได้ "อะไรใหม่ๆ"
เพราะเป็นเส้นทางใหม่ และเมื่อหน่วงระยะ ก. ถึง ข. ให้ยาวขึ้นเรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ
กลายเป็น "ตัวยู" ในภาษาอังกฤษ
ซึ่งถ้าเราดูตัวอักษรยู ในภาษาอังกฤษ
เราจะเห็นได้ว่า ตัวยูจะประกอบด้วย "ขาลง" "ก้นตัวยู" และ "ขาขึ้น" ของตัวยู
ที่ "ก้นตัวยู" หรือ ที่ซึ่ง "ความรู้ในอนาคตจะปรากฏ"
เราต้องนำพาตัวเราลงไปตาม "ขาลง" ของตัวยู เพื่อที่จะเดินทางไปถึง "ก้นตัวยู"
น่าสนใจมากว่า ขาลงของตัวยูจะเริ่มต้นด้วย
"การฝึกทักษะการสังเกต" และ "รับรู้" สิ่งที่เห็นสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง
โดยที่ยังไม่ด่วนตัดสินว่าเรื่องราวจะดีจะเลวจะถูกจะผิด
เมื่อใจของเรา "นิ่งพอ" และ
"เริ่มเปิดหัวใจออก" เราจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่อยู่รอบตัวได้อย่างเป็นเนื้อเนียนเนื้อเดียวกัน
เรากับสรรพสิ่งรอบตัวนั้นเชื่อมโยงเป็นสิ่งเดียวกัน "การรับรู้" ของเราแจ่มชัดมากขึ้นเรื่อยๆ
จนกลายเป็น "ความรู้สึกที่ใสกระจ่าง" ต่อทุกสิ่งทุกอย่างรอบๆ ตัวเรา

และเมื่อสภาวะดำเนินไปถึง "ก้นตัวยู" ได้ ณ ที่ตรงนั้น
ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้กรุณาช่วยแปลความหมายว่าเป็น
"มหาสติแห่งการดำรงอยู่" ของเราก็จะค่อยๆ เผยให้เห็นถึง "สิ่งที่เป็นไปได้"
ในอนาคตอันใกล้นั้นได้เอง
ณ ตรงก้นตัวยูนี้เองที่ "ความรู้แบบไพรมารี่"
สามารถ "ก่อเกิดขึ้นได้เอง" จากอนาคตที่อยู่ตรงข้างหน้าของเรานั่นเอง

ในวงจิตวิวัฒน์ครั้งหนึ่ง ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ เคยนำคลิบวิดีโอเรื่อง "The Shift"
ที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากขององค์ความรู้ต่างๆ ในโลกปัจจุบัน
ยิ่งตอกย้ำให้ความสำคัญของ "วิธีการ" หา "ความรู้ที่มาจากอนาคต"
จะไปรอความรู้มือสองมือสาม ย่อมไม่ทันการณ์แล้ว
"การช้าลงบ้าง"
เพื่อมองหา "ความรู้มือหนึ่ง" แบบนี้จึงน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ
ที่จะสามารถช่วยให้เราสามารถก้าวทัน "การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว"
เหล่านั้นได้กระมัง

หน้า 9

Feb 26, 2009

สลัมด็อก มิลเลี่ยนแนร์ : เกมชีวิต (จริง) "Who wants to be a millionaire?"



แป้งร่ำ

คอลัมน์ บันเทิงต่างประเทศ

มติชน

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552


คำตอบที่ได้รับจากประโยคคำถามข้างต้น ไม่น่าแตกต่างกันมากนัก
เพราะคงมีไม่กี่คนในโลก
ที่หลุดพ้นจากความอยากมี อยากเป็น อยากได้ จนพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า

"ฉันไม่อยากเป็นเศรษฐี"
และประโยคนั้นได้ดึงดูดเด็กชายจากสลัมเมืองมุมไบ

"จามาล มาลิก" ให้ก้าวสู่รายการฮิตอย่างเกมเศรษฐี
ที่จะทำให้เขากลายเป็นเด็กสลัมเงินล้านในชั่วพริบตา
ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า...เขาจะต้องตอบถูกทุกคำถาม
"โกงแน่ๆ จะเป็นไปได้ยังไง ที่เด็กสลัมไร้การศึกษาอย่างจามาล
จะตอบถูกหมด ยังไม่เคยมีใครทำได้ แม้แต่หมอหรือศาสตราจารย์"
เป็นเหตุผลที่ทางรายการอธิบายให้ตำรวจฟัง

หลังจากยัดจามาลเข้าห้องสอบสวนก่อนที่จะตอบคำถามสุดท้ายแต่ในเมื่อคำตอบสุดท้ายคือรู้กับไม่รู้ แล้วมันจะแปลกอะไร

ถ้าจามาล "รู้" เพราะทุกคำถามบนเวทีอาบสปอตไลท์ล้วนเชื่อมโยงกับชีวิตจริงซึ่งเริ่มต้นจากสลัมใหญ่ที่สุดในเอเชียจะว่าไปแล้วชีวิตของจามาลก็ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่จากสิ่งที่เคยรับรู้ผ่านสื่อต่างๆ

โดยเฉพาะข่าวหน้าอาชญากรรมและสังคมตั้งแต่กรอบเล็กถึงกรอบระดับนานาชาติทั้งปัญหาความยากจน โสเภณีเด็ก ความขัดแย้งทางศาสนา อิทธิพลมืด แก๊งขอทาน การค้ามนุษย์ความรักที่ต้องพลัดพรากเพราะนางเอกที่เคยมีอดีตเป็นโสเภณีดันมีปัจจุบันเป็นเด็กของเจ้าพ่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็กๆ ที่ขาดปัจจัยหลักอย่างเงินรวมถึงความพยายามในการพัฒนาประเทศสู่ความเจริญที่ไม่ต่างกับฟองสบู่ จนหลงลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรม
เป็นปัญหาที่วิ่งวนอย่างไร้ทางออกมานาน

แม้ยุคสมัยและฉากหลังจะไม่เคยเหมือนเดิมแต่สลัมด็อก มิลเลี่ยนแนร์ กลับกลายเป็นความสดใหม่ และสามารถกระชากใจคนดูได้ในเรื่องราวซ้ำๆ เป็นความสำเร็จที่มาจากกลวิธีการเล่าเรื่องและการตัดต่อผ่านการเล่าย้อนประวัติที่ทั้งโชกโชนและโชกเลือดของจามาลผู้กำกับฯอย่าง "แดนนี่ บอยล์" ทำให้เรื่องราวเรียบเรื่อยกระจายเป็นหลากมิติได้อย่างน่าอัศจรรย์เสมอ งานชิ้นเอกนี้ก็เช่นกัน เขาสามารถหยิบยกโครงร่างคร่าวๆทั้งหมดมาใส่ไว้ในหนังที่มีเวลาแค่สองชั่วโมงได้อย่างครบถ้วน และกระแทกใจด้วยการถ่ายภาพแบบเหวี่ยงกล้องแต่เก็บความเคลื่อนไหวของตัวละครได้คมชัดและงดงาม รวมถึงการตัดภาพและตัดต่อแบบฉับไว คล้ายจะแสดงให้เห็นถึงความไม่มีเท่าเทียมกันในสังคม เป็นกลวิธีที่สอดคล้องกับเรื่องราวหลักอย่างน่าสนใจ ซึ่งเขาสามารถเรียงร้อยเรื่องราวหลากอารมณ์ได้อย่างลงตัว

ท่ามกลางเพลงที่เท่ได้ใจในบรรยากาศหลากหลายของอินเดียทั้งหมดเป็นลูกเล่นที่แพรวพราวไม่แพ้ต้นฉบับนิยายขายดีเรื่อง Q and A ฝีมือการเขียนของ วิกาส สวารัป นักการทูต-นักเขียนชาวอินเดีย ด้วยสายตาของคนในที่มองคนในด้วยกัน เขากล้าวิพากษ์มาตุภูมิของตัวเอง ซึ่งถ้าดูเผินๆ แล้วคล้ายกับว่าเขากำลังสาวไส้ครอบครัวตัวเองให้ชาวบ้านฟัง แต่ในระหว่างบรรทัดนั่นคือความหวังดีที่อยากเห็นอินเดียยังคงรากของตัวเองไว้ และเดินไปอย่างถูกทางแม้ว่าเนื้อหาในหนังจะไม่ได้ยึดตามหนังสือซะทีเดียว แต่เมื่อมองอีกสารหลักที่ต้องการจะสื่อของหนังแล้ว ก็พอเข้าใจได้ถึงเหตุผลของการปรับเปลี่ยนและตัดตัวละครอย่างพระนิกายคาทอลิกหรือสายลับออสเตรเลียออกไป โดยเฉพาะความพยายามที่ว่านี่คือเรื่องของชาวอินเดียในอินเดียในโลกตะวันออก ไม่เกี่ยวข้องกับตะวันตกสลัมด็อก มิลเลี่ยนแนร์กัดจิกสังคมได้อย่างแสบสันต์ และก็ไม่ใช่แค่สังคมของอินเดียเท่านั้น

แต่เป็นทุกสังคมที่ยังคงมีสภาวะเหล่านี้ไมว่าจะเป็นการสร้างเปลือกนอกที่หรูหรางดงามครอบความเสื่อมทรามภายในไว้ เปลือกที่เห็นชัดสุดในหนังคือทัชมาฮาล หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ความยิ่งใหญ่และงดงามราวกับเทพสร้างสรรค์ของทัชมาฮาลดึงดูดใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ถึงกับมีคำพูดว่าถ้าไม่ได้เห็นทัชมาฮาล แปลว่ายังมาไม่ถึงอินเดียนั่นคือเปลือกที่ขายคนข้างนอก นักท่องเที่ยวแย่งมุมที่ดีที่สุดเพื่อถ่ายรูปกับทัชมาฮาล

ส่วนย่านเสื่อมโทรมอันกว้างใหญ่ที่สามารถสะท้อนวิถีชีวิตส่วนใหญ่ที่อยู่ใต้เปลือกนั้น ไม่มีใครอยากถ่ายรูปเก็บไว้สักคน ทั้งที่นั่นคือ "การมาถึงจริงๆ" และความพยายามปกปิด ก็ค่อยๆ กลายเป็นปฏิเสธสิ่งที่มีอยู่อย่างไม่รู้ตัวหรือระบบทุนนิยมที่หลอกล่อสังคมของประเทศโลกที่สาม ให้มีระบบคิดที่ชื่นชอบและชื่มชมในสิ่งที่ตะวันตกเห็นว่าดีงาม แบ่งแยกความทันสมัยและล้าสมัยอย่างชัดเจน จนละเลยรากที่เคยมีมา โค้กเย็นๆ ซ่าๆ ขวดเดียว

ก็ทำให้ทั้งจามาลและพี่ชายอย่างซาลิมที่เคยแอบดูลูกของชนชั้นกลางดื่มโค้กแบบทิ้งขว้าง เดินตามหัวหน้าแก๊งขอทานไปขึ้นรถด้วยความมั่นใจว่าผู้ชายคนนี้เป็นคนดี หรือเด็กวัยรุ่นที่แห่กันเข้าร้านฟาสต์ฟู้ดโดยไม่รู้เลยว่าน้ำแร่ที่ดื่มๆ กันน่ะคือน้ำประปาที่เพิ่งเปิดจากก๊อก ส่วนกระแสร้อนๆ อย่างความขัดแย้งทางศาสนา ก็เจอการนำเสนอที่ร้อนไม่แพ้กัน เมื่อแม่ของจามาลและซาลิมเป็น "เหยื่อ" ที่ถูกฆ่าตาย

ในเหตุการณ์ที่ชาวฮินดูบุกทำลายบ้านเรือนและฆ่าชาวมุสลิมจำนวนมาก เป็นความตายด้วยสาเหตุที่ว่า "นับถือพระเจ้าคนละองค์กัน" และเป็นเหตุการณ์จุดเปลี่ยนของเรื่อง

เพราะทำให้คนเล็กๆ กลายเป็นเด็กกำพร้าที่ต้องพยายามมีชีวิตและการเหน็บที่จี๊ดสุดคือ

สังคมที่บูชาเงินไม่ต่างกับเทพเจ้าและใช้วิธีคิดแบบอเมริกาคือแก้ปัญหาด้วยเงิน ไม่ว่าใครก็พร้อมที่จะก้าวข้ามพรมแดนของบทบัญญัติทางศาสนาเพื่อให้ได้เงินความต้องการเงินจนเกินพอดีนั่นเอง

ที่เป็นสาเหตุของทุกสภาวะในบรรทัดข้างต้นและทั้งหมดทำให้ไม่แปลกใจเลยที่นอกจากจะคว้ารางวัลมาเพียบจากทุกเวทีแล้ว เสียงปรบมือยังดังกึกก้องในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ เมื่อสิ้นคำว่า สลัมด็อก มิลเลียนแนร์ คือ "ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม" ของปีนี้

หน้า 24





เปิดตำนาน'สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์'ผู้สร้าง"โอสถสภา" ดันแบรนด์ไทยผงาดในตลาดโลก

นันทนา แสงมิตร
มติชน
วันที่ 10 พฤษภาคม 2551 "... ชีวิตคนไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีใครหลีกหนีความตายได้พ้น คือสัจธรรมดำรงอยู่คู่กับโลกมาตั้งแต่เริ่มแรก " เรื่องนี้เกิดขึ้นกับ "สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์" ประธานกรรมการ บริษัทโอสถสภา เจ้าของเครื่องดื่มชูกำลังเอ็ม 150 และอดีตรองหัวหน้าพรรคกิจสังคม ในยุค ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช หลังจากเข้ารับการรักษาอาการปวดขา ขาบวม ที่โรงพยาบาลสมิติเวช เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา และอีก 3 วันถัดมา สุรัตน์เสียชีวิตอย่างสงบด้วยการติดเชื้อในกระแสเลือด เวลา 15.20 น. ของวันที่ 8 พฤษภาคม รวมอายุได้ 79 ปีเต็ม ไม่ใช่เรื่องของการปิดตำนาน แต่การจากไปของ สุรัตน์ ยิ่งจะทำให้ เรื่องราวตำนานผู้สร้าง โอสถสภา และปั้นแบรนด์ ลิโพวิตัน ดี และแบรนด์ชูกำลังเอ็ม 150 จนกลายเป็นแบรนด์แข็งแกร่ง ในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังของเมืองไทย ชนิดที่เรียกว่า ยากจะหาคู่แข่งรายใดทัดเทียมได้ ถูกนำมาพูดถึงกันอีกครั้งย้อนตำนานก่อตั้งโอสถสภา โอสถสภาซึ่งมียอดขายรวมถึง 20,000 ล้านบาทต่อปี มีการจัดแบ่งโครงสร้างออกเป็น 3 กลุ่มหลักในปัจจุบัน คือ 1.คอนซูเมอร์ โปรดักส์ หรือสินค้าของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน มีผลิตภัณฑ์หลักประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์โคโลญจ์ระงับกลิ่นกาย ทเวลฟ์พลัส, แอ็กซิส แป้ง และผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กตราเบบี้ มายด์ 2.กลุ่มยา ประกอบด้วยยาทัมใจ ยากฤษณากลั่นตรากิเลน และ 3.กลุ่มเครื่องดื่มประกอบด้วย เครื่องดื่มลิโพวิตัน ดี, ฉลาม, SHARK, และ .357 เริ่มต้นขึ้นในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อนาย แป๊ะ โอสถานุเคราะห์ พ่อค้ายา ได้ริเริ่มนำยากฤษณากลั่น แก้ปวดท้อง เข้ามาในประเทศไทย และเลือกใช้กิเลน สัตว์ซึ่งมาจากสวรรค์ตามความเชื่อของคนจีน เป็นเครื่องหมายทางการค้า ครั้นเมื่อนายแป๊ะถึงแก่กรรม บุตรชายคือนายสวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ ได้รับช่วงบริหารงานต่อ โดยอาศัยความรู้พื้นฐานทางด้านแพทย์ ซึ่งสำเร็จจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาใช้ในการบริหารงานกิจการมีความเจริญก้าวหน้าตามลำดับ ได้ตั้งเป็นบริษัทขึ้นมาภายใต้ชื่อ บริษัทโอสถสภา เต๊กเฮงหยู ในปี พ.ศ. 2475 พร้อมทั้งขยายไลน์ เพิ่มตัวสินค้า อาทิ ยาธาตุ 4 ยาแก้ไอ ยาระบาย ยาอมโบตัน ยาทันใจ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นทัมใจ) ยาหอมชนะลม และสินค้าแต่ละชนิดได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี หลังจากนั้น มีทายาทของนายสวัสดิ์
ในฐานะผู้บริหารรุ่นสอง
ซึ่งประกอบด้วยนายสุวิทย์, สุรินท์,
และสุรัตน์เข้ามีบทบาทใน
การบริหารจัดการกิจการจึง
ขยายตัวต่อเนื่อง
เข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
การศึกษา (มหาวิทยาลัยกรุงเทพ)
รวมทั้งธุรกิจกลุ่มเครื่องดื่มสุรัตน์
ได้นำผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มตราลิโพวิตัน ดี เครื่องดื่มโด่งดังสุดจากญี่ปุ่นเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย ในปี พ.ศ. 2508 และได้รับลิขสิทธิ์จากบริษัทไทโช เจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ทางบริษัทโอสถสภาเป็นผู้ผลิตสินค้าในประเทศในอีก 7 ปีถัดมา ด้วยกลยุทธ์การตลาดผ่านกลยุทธ์ สปอต และมิวสิคมาร์เก็ตติ้ง บวกกับความแข็งแกร่งของช่องทางจำหน่ายผลักดันให้เอ็ม 150 กลายเป็นเครื่องดื่มชูกำลังที่มียอดจำหน่ายสูงสุดด้วยส่วนแบ่งมากกว่า 50% และหากรวมแบรนด์อื่นภายใต้ร่มของโอสถสภา ฉลาม, .357, เอ็ม-แม็กซ์ และลิโพวิตัน ดี โอสถสภามีส่วนแบ่งในตลาดชูกำลังสูงถึง 65% ของตลาดชูกำลังรวม มูลค่า 14,000 ล้านบาท ไม่เพียงแต่เฉพาะในประเทศ ยังได้ผลักดันสินค้าเอ็ม 150 ออกสู่ตลาดโลก หวังผลักดันให้กลายเป็นเครื่องดื่มเทียบชั้นกับเครื่องดื่มระดับโลก "เรดบลู" โดยเริ่มสยายปีกเข้าไปทำตลาดในประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา ภายใต้การกุมบังเหียนของ "รัตน์ โอสถานุเคราะห์" บุตรชายคนที่สอง ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัทโอสถสภา จำกัด (OSI) และสุนทร เก่งวิบูลย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โอสถสภา อินเตอร์เนชั่นแนล มาอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ที่ผ่านมา ช่วง 3 ปีที่เข้าไปทำตลาด มีรายได้จากตลาดต่างประเทศแล้วราว 3,000 ล้านบาท และตั้งเป้าขยายตลาดเข้าไปยังตลาดใหม่ๆ เช่น อินโดนีเซีย ประเทศซึ่งมีประชากร จำนวนมากพร้อมปรับดันยอดขายให้เพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2553 บทบาททางการเมือง-สังคม นอกเหนือจากความสำเร็จในฐานะผู้ปลุกปั้นแบรนด์ ลิโพวิตัน ดี เอ็ม 150 และต่อยอดไปทำตลาดต่างประเทศโดยเจเนอเรชั่นที่ 3 บุตรชาย สุรัตน์ ยังมีบทบาททางด้านคุณูปการ ทางด้านสังคมให้พูดถึงหลายด้าน ไล่เรียงมาตั้งแต่ อดีตรองหัวหน้าพรรคกิจสังคม สมัย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในปี พ.ศ. 2518
และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในปีเดียวกัน ถัดมาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. 2526 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2528 และตำแหน่งการเมืองล่าสุด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2539-2540 ก่อนจะหันมาทุ่มเทใหักับงานสังคมในฐานะผู้ก่อตั้ง และประธานมูลนิธิมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มูลนิธิโอสถสภา และมูลนิธิสวัสดี พร้อมกับทุ่มเทให้กับงานถ่ายภาพความสนใจพื้นฐานอย่างจริงจัง จนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ผลงานถ่ายรูปเกี่ยวกับมุมมองเรื่องกรุงเทพฯของเขา ยังได้เปิดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายขาว-ดำในชื่อ กรุงเทพฯเลือนหาย (Vanishing Bangkok) โดยแสดงที่หอศิลป์แห่งชาติ การจากไปของ สุรัตน์ แม้ สุรัตน์ จะจากไปแล้ว แต่ไม่มีผลกระทบกับธุรกิจ เพราะมีคนรุ่น 4 อย่าง รัตน์ โอสถานุเคราะห์ เข้ามาสานต่อธุรกิจมาหลายปีแล้ว ส่วน สุรัตน์ อยู่ในฐานะของประธานกรรมการ สำหรับงานในบทบาททางสังคม เรื่องถ่ายรูป และกล้องถ่ายรูป ล้ำค่า ซึ่ง สุรัตน์สะสมเอาไว้เป็นจำนวนมาก ทางทายาทจะมีการหารือกันอีกครั้งว่า จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร ประวัติ สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เกิด : 11 พฤษภาคม 2473 การศึกษา: -มัธยมศึกษา WILBRAHAM & MONSON ACADEMY ที่
MASSACHUSETTS, U.S.A. - ปริญญาตรี สาขา BUSINESS ADMINISTRATION จาก UNIVERSITY OF COLORADO, U.S.A. รางวัลอันเป็นเกียรติประวัติ - กรกฎาคม 2538 ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การจัดการ) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ - มกราคม 2539 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง - เมษายน 2544 รางวัลเกียรติคุณนักการตลาดไทย (Marketing Hall of Fame) ผลงานภาพถ่ายได้รับรางวัล - ธันวาคม 2545 ศิลปินนักถ่ายภาพไทยประจำปี 2545 (รับจากสมาพันธ์การถ่ายภาพไทย) - กุมภาพันธ์ 2548 The XI Triennale จัดโดย Lalit Kala Akademi, New Delhi - ตุลาคม 2549 รางวัล โฟโต้ ซิตี้ ซากามิฮาร่า สาขา เอเชียจากเมืองซากามิฮาร่า ประเทศญี่ปุ่น มอบให้ในงานเทศกาลภาพถ่าย ครั้งที่ 6 ตำแหน่งก่อนเสียชีวิต : ประธานกรรมการ บริษัท โอสถสภา จำกัด กลุ่มบริษัทในเครือโอสถสภาบริษัท โอสถสภา ไทโช จำกัด กรรมการ บริษัท โอสถสภา ประกันภัย จำกัด บริษัท ชิเซโด้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อิเซตัน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไท ฮาคูโฮโด จำกัด บริษัท ฮาคูโฮโด (กรุงเทพฯ) จำกัด กิจกรรมทางการเมือง: 2518 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 2526 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 2528 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 2530 - 2531 ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศ 2535 - 2539 รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา 2539 - 2540 ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กิจกรรมทางการศึกษาและสังคม: - นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ - ผู้ก่อตั้งและอุปนายกสภามหาวิทยาลัยกรุงเทพ - ผู้ก่อตั้ง และประธานมูลนิธิมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มูลนิธิโอสถสภา และมูลนิธิสวัสดี - กรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง - กรรมการสภาธุรกิจไทย-ฝรั่งเศส (ฝ่ายไทย) เครื่องราชอิสริยาภรณ์ (ตามลำดับสูงไปต่ำ) มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.) ตติยจุลจอมเกล้า (สืบตระกูลจากบิดา) (ต.จ.)

Feb 25, 2009

"ผมฝันอยากกินมาม่าไม่ใส่ข้าว"



วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552


"ผมฝันอยากกินมาม่าไม่ใส่ข้าว" ออกมาจากปากของเด็กนักเรียนคนหนึ่งแถบอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ก็เพราะหลายมื้อของครอบครัวซึ่งประกอบด้วยพ่อแม่และลูกรวมสี่คน บริโภคบะหมี่สำเร็จรูปหนึ่งซองพร้อมเครื่องประกอบและเอาข้าวสุกใส่ลงไปผสมด้วยอีกหม้อใหญ่ คำพูดนี้เตือนให้รู้ว่ายังมีครอบครัวที่ยากจนอีกมากมายอยู่ในแผ่นดินนี้

ตัวอำเภอสะเมิงไกลจากเมืองเชียงใหม่ประมาณ 100 กิโลเมตรเศษๆ แต่ก็ต้องใช้เวลาเดินทางกว่า 2 ชั่วโมงในฤดูปกติ ถ้าขึ้นไปถึงตำบลบ่อแก้วในฤดูฝนอาจใช้เวลาอีกหนึ่งเท่าตัวเนื่องจากหนทางคดเคี้ยวขึ้นเขาหลายลูก ในบริเวณนี้มีประชา
ชนอาศัยอยู่นับแสนคน จำนวนไม่น้อยเป็นชาวกะเหรี่ยง

กลุ่มที่มีความยากจนขาดแคลนเป็นพิเศษก็คือครอบครัวของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ซึ่งก็เป็นคนไทยทั้งนั้น พ่อแม่จำนวนมากและลูกหลานเกิดในแผ่นดินไทย ไม่ได้
มีความเป็นไทยน้อยไปกว่าคนเมืองเลย เพียงแต่พวกเขาเดินทางมาอาศัยอยู่ในแผ่นดินนี้ช้ากว่าบรรพบุรุษของพวกเราเท่านั้น

โรงเรียนใหญ่ระดับมัธยมประจำอำเภอหลายแห่ง (หรือแม้แต่โรงเรียนระดับประถมศึกษาบางแห่ง) ในประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคเหนือ นักเรียนส่วนหนึ่งอาศัยหอพักของโรงเรียนและหอพักเอกชนใกล้โรงเรียนเพื่อมาเรียนหนังสือเนื่องจากบ้านอยู่บนดอยบนเขาไกลออกไปมาก พวกเขาต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ญาติพี่น้องมาเรียนหนังสือในลักษณะนี้ บางคนอยู่เป็นเดือนๆ กว่าจะได้กลับบ้านครั้งหนึ่งเพราะไม่มีค่ารถและต้องเดินทางไกลมาก


พ่อแม่เด็กหลายคนให้ลูกขนข้าวปลาอาหารมาแบ่งกินกับเพื่อนที่หอพัก อาหารมีพอควรแต่ที่ขาดก็คือเงินสด เงินสิบบาทยี่สิบบาทมีค่าสำหรับพ่อแม่และเด็กนักเรียนเหล่านี้มาก ค่ำลงเด็กก็ดูโทรทัศน์สนุกสนานกับเพื่อน แต่ก็ไม่วายคิดถึงบ้าน โรงเรียนที่มีหอพักเหล่านี้มีคุณภาพแตกต่างกันออกไป บ้างก็เป็นบ้านใกล้ผุพัง บ้างก็เป็นอาคารถาวร แต่ทุกโรงเรียนจะมีครูอาจารย์พักอยู่ด้วย

นักเรียนกรุงเทพฯ ที่ใช้เงินมาโรงเรียนวันละเหยียบร้อยบาท เดินทางมาโรงเรียนอย่างสะดวกสบาย อาหารการกินพร้อม ถ้าเห็นความลำบากของเพื่อนนักเรียนและครูอาจารย์เหล่านี้แล้วอาจตั้งใจเรียนหนังสือมากขึ้นกว่าเดิม คนเหล่านี้ยอมทนลำบาก บางคนเดินทางวันละ 4-5 กิโลเมตร ดั้นด้นมาเรียนหนังสือก็เพราะต้องการมีความรู้ได้เรียนสูงๆ เพื่อฝันว่าจะมีฐานะครอบครัวและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

ผู้เขียนได้มีโอกาสทำงานให้มูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจนซี
ซีเอฟ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หลายปี ภายใต้การนำของท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวนิช และร่วมกับเพื่อนๆ กรรมการอีกหลายคนเพื่อช่วยเหลือเด็กที่เลือกเกิดไม่ได้ โดยมูลนิธิได้รับเงินบริจาคสนับสนุนจากพี่น้องคนไทยและจากชาวอเมริกันเป็นอย่างดียิ่ง

มูลนิธิมีอายุเกือบครบ 30 ปี ได้ทำโครงการทุกลักษณะไม่
ว่าจะเป็นการให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้ปกครองและเด็กโดยตรง (ได้ทำในระยะแรกๆ) ช่วยเหลือผู้ใหญ่ในการประกอบอาชีพ โครงการรักการอ่าน จัดหาหนังสือให้โรงเรียนที่ขาดแคลน จัดหารถยนต์ให้บริการรับส่งนักเรียนในบางพื้นที่ที่ยากลำบาก จัดหาสัตว์เศรษฐกิจให้แก่ครอบครัว จัดการสอนเพิ่มพิเศษแก่นักเรียน จัดหาเสื้อผ้าเครื่องกันหนาว จักรยาน เครื่องกรองน้ำดื่มให้โรงเรียน จัดหาอุปกรณ์กีฬา สนับสนุนสื่อการเรียนการสอน สนับสนุนอาหารกลางวัน จัดหาเครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ฯลฯ

สิ่งที่มูลนิธิเน้นมากที่สุดคือสร้างคุณภาพชีวิตและโอกาสในการศึกษาของเด็กยากจน ปัจจุบันกิจกรรมของมูลนิธิ ครอบคลุมเด็กกว่า 40,000
คน ใน 30 จังหวัดทั่วประเทศไทย

ในชนบทที่ห่างไกลของไทย ถ้าท่านไปเยี่ยมโรงเรียนชั้นประถม ท่านจะพบเด็กนักเรียนใส่ชุดนักเรียนปักอักษรย่อหลายโรงเรียนดังๆ ของประเทศ ที่ใส่เครื่องแบบเช่นนี้ไม่ใช่เพราะมีพี่ชายหรือพี่สาวเรียนอยู่โรงเรียนเหล่านี้ หากเป็นเสื้อบริจาคมาจากกรุงเทพฯ และหลายโรงเรียนของเด็กเล็กก็ไม่ใส่เครื่องแบบนักเรียนเพราะไม่มีเงินซื้อ รองเท้าส่วนใหญ่ก็เป็นรองเท้าแตะ


การที่รัฐบาลให้เงินสดแก่พ่อแม่เด็กเพื่อซื้อเครื่องแบบนักเรียน 2 ชุดต่อปีต่อคน (ชั้นประถมคนละ 360 บาท มัธยมศึกษาตอนต้น 450 บาท และตอนปลาย 500 บาทต่อปี) และยอมให้
เปลี่ยนเป็นอุปกรณ์การเรียนอื่นได้หากมีชุดนักเรียนอยู่แล้ว จึงนับว่าเป็นผลดีต่อนักเรียนขาดแคลนเพราะยังสามารถใช้เครื่องแบบที่ได้รับบริจาคมาจากโรงเรียนอื่นและเอาเงินค่าเครื่องแบบที่ได้รับใหม่นี้ไปซื้ออุปกรณ์การเรียนอื่นที่ยังขาดอยู่อีกมาก

การ "เรียนฟรี" เช่นนี้น่าจะทำให้จำนวนปีที่อยู่ในโรงเรียนของเด็กไทยซึ่งปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 8.5-9 ปี เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีแต่สิ่งที่กระทำไปนี้อยู่ในด้าน "ดีมานด์" การปรับปรุงด้าน "สัพพลาย" คือคุณภาพการศึกษาจะต้องกระทำไปพร้อมกันด้วย มิฉะนั้นจำนวนปีอยู่ในโรงเรียนที่เพิ่มขึ้นจะไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด


สิ่งที่มูลนิธิซีซีเอฟได้ทำไปนี้หลายองค์กรก็ได้ทำอยู่เช่นเดียวกับภาครัฐ แต่ปัญหามันก็มีมากมายให้แก้ไขไม่รู้จบ เรียกได้ว่าทุกองค์กรอยู่ฐานะ "ช่วยกันคนละไม้คนละมือ"

สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการศึกษาและการช่วยเหลือเด็กขาดแคลนและอยู่ภายใต้สภาวะ "ช่วยกันคนละไม้คนละมือ" ดังกล่าว มีแสงสว่างหนึ่งที่เจิดจ้าฉายลงมาเป็นกำลังใจให้แก่พวกเราอย่างน่าชื่นใจตลอดมา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงอุทิศพระวรกาย พระปัญญา พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้วยพระทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาแก่เยาวชน จนเป็นแรงบันดาลใจผลักดันให้พวกเราช่วยกันทำงานเพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่
เยาวชนที่ขาดแคลน

ไม่ว่าคนผิวสีใดหรือเสื้อสีใดก็ตาม หากได้รู้ว่าพระองค์ท่านได้ทรงมีพระเมตตาแก่เยาวชนของเราในทุกแห่งหนบนแผ่นดินไทยมากมายเพียงใดแล้ว ผมมั่นใจว่าทุกสีจะหลอมรวมเหลือเพียงสีเดียวเท่านั้นคือ.......สีม่วง

หน้า 6

ไชยวัฒน์ อนุตระกูลชัย พิธีกรเปรียบเหมือนพ่อครัว


กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 10 มกราคม 2552
มโนมัย มโนภาพ
ภาพ : วันชัย ไกรสรขจิต




“ที่บอกว่าคนทีวีหลีกเลี่ยงการแสดงความเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์นั้น
ผมมองว่าอยู่ตรงที่พูดไปแล้วมีประโยชน์หรือไม่มากกว่า ...
วิพากษ์วิจารณ์ไปแล้วได้อะไรขึ้นมา ถ้าวิพากษ์วิจารณ์ไปแล้ว
ไม่ต่างจากการไปว่าคนอื่น ทำให้คนอื่นเสียใจ เจ็บช้ำน้ำใจ ก็ไม่รู้จะพูดไปทำไม”
ไชยวัฒน์ อนุตระกูลชัย ศิษย์เก่าจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รั้วจามจุรี
เจ้าของรางวัลโทรทัศน์ทองคำ เริ่มต้นหัวข้อสนทนาในบ่ายวันหนึ่งอย่างจริงจัง
เมื่อคราวนี้เป็นฝ่ายถูกตั้งคำถามบ้าง
“...แต่ถ้าวิจารณ์ไปแล้ว มันมีส่วนดีเกิดขึ้น อาจจะมีคนบางส่วนที่เสียอะไรบางอย่างไป
ถ้ามันเกิดประโยชน์ ทางธรรมะก็บอกให้พูดนะ (หัวเราะ)
แต่มันก็ต้องเหมาะกับเวลาและสถานที่ด้วย”
รับหน้าที่พิธีกรหลายรายการ จนเป็นที่คุ้นเคยในหมู่ผู้ชมจอแก้วทุกเพศทุกวัย
ที่มองหารายการทีวีที่แตกต่าง ตั้งแต่ บ้านเลขที่ 5 ที่นี่ประเทศไทย
จนถึงรายการ ไทยมุง , วิกสยาม ทางทีวีไทย และ เก้าร่วมใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน
ทางโมเดิร์นไนน์ วันนี้ หนุ่มวัย 40 กะรัตต้นๆ
เจียดเวลามาแลกเปลี่ยนมุมมองการทำงานในแวดวงทีวี
พร้อมบอกเล่าถึงความคิดส่วนตัวของเขา ที่ไม่ค่อยได้พูดคุยที่ไหน
คุณอยู่ในวงการทีวีมานาน พบเห็นการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ
คิดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่
จริงๆ ยังไม่เห็นสัญญาณที่ดีนะ ตั้งแต่เด็กเป็นต้นมา
เราจะเห็นปรากฏการณ์ของทีวีเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ
บางครั้งมีรายการแปลกใหม่ขึ้นมา แล้วคนก็ติด ดังมาก
แล้วก็จะมีรูปแบบใหม่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างเกมโชว์
ตอนนั้นมีเกมโชว์อย่าง พลิกล็อก หรือ มาตามนัด รายการอย่าง ซูโม่สำอาง
หรือยุทธการขยับเหงือก
แต่ยุคนี้ ยังไม่ค่อยเห็นว่ามีอะไรแปลกใหม่หรือโดดเด่นขึ้นมา
อาจจะแปลว่า คนเริ่มทำอะไร ก็ทำกันตามๆ กัน ซ้ำแพทเทิร์นเดิมๆ
ที่ประสบความสำเร็จ ทุกวันนี้เราจะเห็นรายการสดทุกวัน 5 วัน จันทร์ถึงศุกร์
หรือรายการเล่าข่าว เอาหนังสือพิมพ์มาเล่าข่าวเยอะมาก ซึ่งแต่ก่อนไม่มี
พอยุคหนึ่งมีแล้วดัง ขายได้ แล้วใช้เวลาในการทำไม่มากนัก
ไม่เปลืองคนทำมาก ก็เกิดขึ้นเยอะ ผมไม่แน่ใจว่าเป็นสัญญาณที่ดี
หรือสัญญาณอันตรายกันแน่
ผมนึกย้อนถึงตอนทำรายการที่นี่ประเทศไทย
ก็ยังไม่มีรายการเล่าข่าวชัดเจน ยังเป็นรายการข่าวปกติ
หรือในแง่ของรายการว่าด้วยความเป็นไทย เดิมทีนั้นก็ยังไม่มี
แต่หลังจากนั้น ก็จะมีรายการที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทย
หรือสยามเกิดขึ้นเยอะมาก มันเหมือนกับว่าอะไรที่เกิดขึ้น อยู่ได้
ก็จะมีคนตามๆ กันมา
จริงๆ ผมอยากให้มีรายการที่มีเนื้อหาต่างจากชาวบ้านเกิดขึ้นมา
อาจจะไม่ต้องมีเนื้อหาดังมาก แต่พออยู่ได้ ผมคิดว่ารายการแบบนี้จะดี
เพราะทำให้คนได้คิดอะไรใหม่ เพราะถ้าไม่คิดอะไรใหม่ๆ มันก็รอวันตาย
พูดถึงรายการที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทย ถัดจากที่นี่ประเทศไทย
มาถึงวิกสยาม ที่คุณทำหน้าที่พิธีกร ?
วิกสยาม ถึงที่สุดแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของ ที่นี่ประเทศไทย
แต่ก่อนเรามีช่วง ประเทศไทยในอดีต ตอนที่ที่นี่ประเทศไทยจะหยุดทำ
ก็มีการเอาแต่ละช่วงของรายการที่นี่ประเทศไทยมาทำเป็นรายการใหม่
แล้วก็ทำเป็นเดโมเสนอช่อง แต่ไม่มีโอกาสได้ทำ จนกระทั่งได้มาทำที่ ทีวีไทย
แล้วได้ฟีดแบ็คที่ดี
ฟีดแบ็คในที่นี้ ผมไม่ได้หมายถึงเรทติ้ง แต่วัดจากกล่องด้วย
จากคนที่เราเจอ บางคนบอกว่าเพิ่งรู้ว่ามีรายการนี้ ได้ดูแล้ว ก็ชวนคนอื่นๆ ดูด้วย
แล้วเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้ที่ทำงานฟังตอนเช้าวันจันทร์ ก็ดีเหมือนกัน
คนทำงานทีวีอยู่ภายใต้ความกดดันหลายๆ อย่าง
เรทติ้งเป็นส่วนสำคัญมั้ย
เป็นส่วนสำคัญของคนขายโฆษณามากกว่า หรือของคนที่ลงทุน ...
ผมเฉยๆ นะ ในเรื่องของโฆษณา ผมไม่ได้เอาสติอะไรไปอยู่เรื่องนั้นมาก
เปรียบเทียบกับอะไรดี มันเหมือนเราเลือกแล้วที่จะเป็นพ่อครัว
มันเหมือนคนผัดข้าว ผัดอาหาร เพราะฉะนั้น ใครจะไปซื้ออะไรมาจากไหน
ยากแค่ไหน เราไม่รู้ ร้านจะเปิด วันนี้คนจะเข้ามั้ย เราไม่รู้
ขอให้วัตถุดิบมาสด เราหั่นเตรียมไว้อย่างดี แล้วเราแน่ใจว่าจานนี้อร่อยแน่ๆ
แต่อย่างหนึ่งที่จะมีผล คือเมื่อทำไปแล้วเริ่มมีคนดู จาก 5 คนเป็น 10 คน เป็น 20 คน
นั่นแสดงว่าเรามาถูกทางแล้ว เพราะเราทำรายการให้คนดู
เราไม่ได้ทำรายการให้เรทติ้งโฆษณาขึ้น เหมือนตอนทำรายการที่นี่ประเทศไทย
เรทติ้งรายการขึ้นน้อยมาก แต่เราบอกตัวเองว่ามีคนดู แล้วคนดูมากขึ้นเรื่อยๆ
จากฟีดแบ็คที่เข้ามา สมัยก่อน sms ไม่มี ก็จะมีจดหมาย โทรศัพท์
หมายความว่า บางรายการไม่สามารถวัดเรทติ้งได้ในระยะเวลาอันสั้น
บางรายการต้องใช้เวลายาวนานกว่านั้น
ประมาณ 3 เดือนต้องรู้แล้ว อันนี้ผมไม่ได้หมายถึงเรทติ้งที่เอาไปขายโฆษณาที่เขาวัดกัน
แต่หมายถึงเรทติ้งจากคนดูหนึ่ง-อย่างที่บอก หรือจากสอง-บางครั้งเอเยนซีไม่ซื้อรายการนี้
แต่เจ้าของรายการต้องการซื้อรายการนี้ มันก็มีปรากฏการณ์แบบนี้
อย่างรายการที่นี่ประเทศไทย ก็เคยเกิดปรากฏการณ์นี้ ถึงอยู่ได้
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เหมือนเราทำรายการที่มาถูกทาง
ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนเราผัดข้าวผัดให้คนไทยกิน
ไม่ใช่ทำข้าวผัดหรือข้าวกะเพราให้ฝรั่งที่กินกะเพราไม่เป็น
เจ้าของสินค้าที่เป็นเจ้าของเงิน ก็รู้จักรายการดีพอ
หนึ่ง-เขาอาจจะชอบ
สอง-เป็นกลุ่มลูกค้าที่ซื้อสินค้าของเขา
เขาคงไม่เอาเงินมาลงในรายการที่ไม่มีผลตอบกลับ
กรณีของ วิกสยาม ที่อยู่ในทีวีไทย ไม่ต้องห่วงเรื่องโฆษณา ?
อันนี้ดีมาก เปิดกว้างมาก แล้วเป็นการทำให้เราอยากคิดทำอะไร
แล้วอยู่ในงบที่เราทำได้ ก็สามารถทำได้เลย แล้วอย่างวิกสยาม
ทีมก็มีไอเดียทำเป็นหนังสือเพื่อแจกช่วงปีใหม่ เป็นหนังสือที่เอาคนรุ่นใหม่มาทำ
อาร์ตเวิร์ก รูปแบบใหม่หมด แต่เนื้อหาจะเป็นเรื่องเก่าที่มาอยู่ในเวลาปัจจุบัน
เช่น ร้านขายก๋วยเตี๋ยวโบราณอยู่ไหน ร้านขายเครื่องดื่มเก่าๆ ที่ยังขายอยู่
ก็จะเป็นเรื่องของวิถีชีวิตปัจจุบัน กิน เที่ยว หาความรู้
บันเทิงในแบบร่วมสมัย เพราะเก่าอย่างเดียวคงไม่ได้
ทำอย่างไรจึงจะลดช่องว่างของวัย ซึ่งคนทุกรุ่นอ่านได้ เข้าใจได้
ผมคิดว่ารายการทุกรายการควรเป็นอย่างนี้
นอกจากฟรีทีวี ปัจจุบันทำรายการที่ทีวีไทย
คุณคิดว่ารายการลักษณะนี้ควรมีอีกเพียงใดในสังคมไทย
ตอนนี้ผมทำ 2 รายการ คือ วิกสยาม และไทยมุง โดยรายการหลังเป็นรายการสด
วันละหนึ่งชั่วโมง ว่าด้วยเรื่องอะไรก็ได้ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา
ความสนุกของการทำรายการที่ไม่มีโฆษณา
ยกตัวอย่างก็เหมือนพ่อครัวที่ไม่ต้องหยิบซอสยี่ห้อนี้มาใส่ ไม่ต้องหยิบกะปิน้ำ
ปลายี่ห้อนั้น เราเลือกได้ว่าน้ำปลาเจ้าน้อยอร่อย ส่วนน้ำมันหอยต้องเป็นอีกเจ้านึง ...
ทำให้เราหยิบอะไรก็ได้ที่คิดว่าดี และคัดมาแล้ว เพราะฉะนั้น
โดยคอนเซปต์มันก็ควรจะดี
ต้องยอมรับว่า รายการทีวีโดยปกติ ต้องมีเงิน เงินมาจากไหน ก็มาจากโฆษณา
หรือมาจากเงินสนับสนุนทางใดทางหนึ่ง บางทีก็แฝงมา
ซึ่งอาจจะน่าเกลียดน่ากลัวกว่าด้วยซ้ำ (หัวเราะ) แต่ถ้ามีช่องที่ไม่ต้องห่วงเรื่องนี้
คนทำงานที่มีใจ อยากทำงานที่ดี เขาจะมีความสุขมาก เราสัมผัสได้เลย ทั้ง 2 ทีม
ทั้งทีมไทยมุง และวิกสยาม ทุกคนมีความสุขในการทำงาน
รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้ทำรายการแบบนี้
ตัวคุณในฐานะพิธีกรถนัดกับอะไรเป็นพิเศษ
และต้องการทำอะไร
ที่แตกต่างไปจากที่ผ่านมา

ก็มีเรามีรายการที่อยากทำ
และเป็นตัวเราจริงๆ แต่ยังไม่เกิด

เคยเสนอขอเวลาจากช่องฟรีทีวี ที่ต้องจ่ายค่าเวลา ต้องหาโฆษณา
แต่มันยังไม่ลงตัว บางทีได้เวลา แต่ไม่เหมาะกับรายการ ห่วงว่าทำแล้วเจ๊งหรือเปล่า
เมื่อเราเป็นพ่อครัว หากมาห่วงเรื่องว่าจะมีลูกค้ามามั้ย มันคงผัดแล้วไม่อร่อย
หากใส่เห็ดน้อยกว่านี้จะดีมั้ย เพราะตอนนี้เห็ดแพง ใส่หมูน้อยหน่อย
อาหารจะไม่อร่อย เพราะเราห่วงเรื่องกำไรขาดทุน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า
นี่คือส่วนสำคัญ ถ้าจะทำรายการในฟากของฟรีทีวี นี่คือโจทย์
เราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องของธุรกิจ แต่ทำอย่างไรให้เนียน อร่อยด้วย
ไม่ขาดทุนด้วย โจทย์ก็จะเพิ่มเข้ามาอีก 2-3 ข้อ
รายการที่ผมอยากทำ อยากให้เป็นแบบตัวเรา ถ้าถามว่าตัวตนจริงๆ
เราเป็นอย่างไร หนึ่ง-เป็นคนต่างจังหวัด เป็นคนขอนแก่น
เห็นทั้งสังคมต่างจังหวัด ทั้งสังคมในเมือง สนใจเรื่องธรรมะ
ปฏิบัติธรรม เรียนสถาปัตย์ เรียนออกแบบมา มันก็จะมีวิธีคิดที่เป็นกิมมิค
เดาได้ไม่หมด ต้องมีอะไรเก็บไว้สักชั้น เรื่องสนใจผมเยอะ
อย่างกีฬาก็ชอบ ทีนี้ พอนำมาประมวลกัน หากเป็นทอล์คโชว์
ก็คงไม่เชิญแขกมานั่งคุยเฉยๆ แต่กว่าแขกจะนั่งลงได้
อาจจะต้องทำอะไรสักหน่อยมั้ย ปูเรื่องก่อนจะมานั่งคุย
การเล่าเรื่องอาจจะไม่ต้องเป็นแพทเทิร์น เหมือนกันทุกวัน
มันน่าเบื่อ วันนี้ดีไซน์ให้คุยกับคนนี้เป็นอีกแบบนึงได้มั้ย
ไม่นั่งคุย ยืนคุยหรือเดินคุยดี หรือจะนั่งคุยบนเครื่องบิน
ผมไม่ชอบอะไรที่เป็นแพทเทิร์น เพราะความสนุกจะหายไป
ทั้งที่ทีมงานโปรดักชั่นเอง มีธรรมชาติชอบอะไรที่เป็นแพทเทิร์น
อาจเป็นเพราะทำให้เขาทำงานง่ายขึ้น
อันนี้คือปัญหา การทำงานด้วยความเคยชินไปเรื่อยๆ 1-2-3-4 1-2-3-4 วันหนึ่ง
พลังของเราก็จะเหลือน้อยลง เพราะสมองเราไม่ต้องคิด มันจะ 1-2-3-4 1-2-3-4
จนวันหนึ่งรู้สึกตัวขึ้นมา เฮ้ย เขาไป 4-1-2-3 แล้วว่ะ
แต่เรายัง 1-2-3-4 อยู่เลย ตกยุค ดังนั้น อันนี้ต้องคอยระวัง
อย่างต้นปี 51 ที่ผ่านมา ผมเลือกที่จะทำอะไรด้วยความเคยชิน
แล้วมาตกงานอยู่พักหนึ่ง (หัวเราะ) มันเป็นช่วงที่ไม่ทุกข์
แต่ลองดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต เหมือนเราเลือกที่จะลองไปเจอสิ่งอื่นดูบ้าง
โดยที่ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร คนมักจะกลัวการเปลี่ยนแปลง
แต่ถ้าเราต้องการทำอะไรใหม่ๆ ขึ้น ก็ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง
เพราะคนกลัวว่าเปลี่ยนแล้วอาจจะแย่ลง
แต่คนไม่คิดว่าเปลี่ยนแล้วอาจจะดีขึ้นก็ได้ ดังนั้น เราเลือก ก็ตัดสินใจ
พอว่างก็จะมีอะไรเข้ามา อย่างได้ทำวิกสยาม ได้ทำไทยมุง ทำ เก้าร่วมใจ ของช่อง 9
ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของชีวิต

แต่ยังไม่มีโอกาสกลับไปเล่นละคร ?

ยังเลย จริงๆ เล่นละครสนุกมากนะ คือพื้นฐานผมมาจากละครเวที
เริ่มต้นจากที่ผมอยากเรียนกับครูคนหนึ่ง อาจารย์สดใส พันธุมโกมล
ตอนเข้าปี 1 ในงานจุฬาฯวิชาการ รุ่นพี่พูดถึงอาจารย์สดใสว่าเก่งมาก
เป็นคนที่อ่านใจคนออก วิชาละครจบไปไม่ต้องเล่นละคร แต่รู้จักอ่านใจคนอื่น
คุยกับเขา แล้วต้องรู้จักตัวเองด้วย เพราะต้องค้นตัวเองก่อน ก่อนไปเจอคนอื่น
ต้องอ่านบท ตีบท สร้างคนขึ้นมาจากบทละคร
มันเหมือนสถาปัตย์ตรงที่ต้องสร้างตึกสร้างบ้านขึ้นมาจากแบบกระดาษเปล่าๆ
ก็มีความคล้ายกันอยู่
อันนี้เป็นจุดเริ่ม จนได้มาเรียนพื้นฐานละคร ที่เป็นวิชาจริงๆ แล้วได้ทำละครสถาปัตย์
ซึ่งจะเป็นแบบเฉพาะของมันที่ไม่เหมือนละครที่ไหนในโลกนี้
ช่วงปี 2 ปี 3 ต้องนำเสนอแบบให้อาจารย์ มันเหมือนกับว่า
เราเอาวิชาละครมาใช้ได้ พอพรีเซ้นต์จบได้ A เพื่อนๆ บอกว่า
“แอ๊ด มึงเล่นละครให้อาจารย์ดู” (หัวเราะ) แต่จริงๆ แล้ว เราทำไป เราจะรู้ว่า
อาจารย์ต้องถามตรงนี้ ต้องถามตรงทางเข้า เราก็พูดทุกอย่าง ยกเว้นตรงทางเข้า
ยังไม่พูด อาจารย์ก็จะถามว่า “ทำไมทางเข้าคุณทำแบบนี้”
อ๋อ แบบนี้ครับ เราเตรียมมาแล้ว ที่ผมทำให้มุมมันแคบเข้ามาเพื่อเชื้อเชิญ
บางทีมันเป็นเรื่องของจิตวิทยาที่ได้มาจากละคร ทุกอย่างมันเกี่ยวกัน

อาชีพของคุณต้องสัมภาษณ์ผู้คนหลากหลาย
เคยมีความลำบากใจในการพบปะกับคนบางกลุ่มมั้ย

ถ้าหนักใจ ก็มักจะเป็นกลุ่มที่เราถามไม่ตรงคำตอบของเขา
ไม่ใช่เขาตอบไม่ตรงคำถามเรานะ คือเราถามเขาไปอย่างนึง เขาเลี่ยงตอบ
เราก็พยายามต้อนเขากลับมาให้ตอบ
ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกนักการเมืองที่เขามาเพื่อพูดในสิ่งที่เขาอยากพูดเท่านั้น
แต่เราก็ต้องพยายามให้ได้ในสิ่งที่เราอยากได้ เพราะเราเชิญเขามาเพื่อสิ่งนี้
ส่วนชาวบ้านก็จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเขามักจะอายจะเขิน จะยังปิดตัว
จะไม่เปิดใจกับเรา ก็ต้องมีวิธีการละลายพฤติกรรม ให้เขาสบายใจและเล่าออกมา

จา
กวิกสยาม ไทยมุง เก้าร่วมใจคนไทยไม่ทิ้งกัน ยังพอมีเวลาทำรายการอื่นอีกหรือไม่

กำลังดีนะ ยังพอมีเวลาว่างได้บ้าง บางเสาร์อาทิตย์อาจจะติด บางอาทิตย์อาจจะว่าง
แต่เราไม่รู้ บางทีปีหน้าอาจจะไม่เหลือสักรายการก็ได้ คือมันไม่แน่นอน
ในแง่การรับงาน บางอย่างทำเพราะอยากทำ บางอย่างทำเพราะสงสัยว่าจะทำได้มั้ย
มันเป็นความท้าทาย บางอย่างทำเพราะศรัทธา บางอย่างทำเพราะช่วยกัน
เพียงแต่เราต้องรู้ว่าทำอะไรเพราะอะไร มันต้องมีสติในการเลือก





















Feb 21, 2009

บูชาคนที่ควรบูชา




คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน
(ภาพ/เรื่อง)
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สูตรสำเร็จในชีวิตข้อต่อไปนี้คือ
การบูชาคนที่ควรบูชาพอได้ยินคำว่า "บูชา"
ก็คงนึกถึงดอกไม้ธูปเทียนขึ้นมาทันทีใช่ไหมครับ
เราเคยไปวัดกับคุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่า
คุณตาคุณยาย เห็นท่านเอาดอกไม้ไปประดับที่แท่นพระ
จุดเทียนสองเล่มธูปสามดอกยกจบศีรษะ แล้วทำปากขมุบขมิบว่าอะไรไม่รู้
แล้วท่านก็หันมาบอกเราว่า
เอ้าบูชาพระเสียลูกนี่คือความหมายของการบูชาที่เราได้ทราบ
การบูชาคนที่ควรบูชา ก็คงหมายถึงเอาดอกไม้ธูปเทียนไปไหว้ท่านเหล่านั้น
ไม่น่าจะเป็นอย่างอื่นช้าก่อนโยม การบูชานั้นมีหลายอย่าง
อย่างที่ว่ามานั้นก็ใช่แต่ยังไม่หมด
การบูชาสามารถแสดงออกได้ 3 ทาง คือยกย่อง
เช่น เรายกย่องคนดี (ปัคคหะ) เป็นการบูชาอย่างหนึ่ง
บูชาด้วยสิ่งของ (สักการะ) ก็เป็นการบูชาอีกอย่างหนึ่ง
นับถือ (สัมมานะ) ก็เป็นการบูชาอีกอย่างหนึ่ง
จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนี้เรียกว่า "บูชา" เหมือนกันหมด
แต่ละอย่างต้องใช้ให้ถูกต้อง เช่น
ติ่งพูดกับต้อยว่า "ต้อยสุดบูชาของพี่" หมายความว่า
ติ่งยกย่องให้เกียรติ (ปัคคหะ) สาวคู่รัก
ไม่ใช่จุดธูปเทียนบูชานายเหลี่ยมบูชาพระรัตนตรัย
หมายความว่า นายเหลี่ยมจุดธูปเทียนสักการะพระรัตนตรัย (สักการะ)
นายเหลี่ยมเป็นคนบูชาตัวเอง หมายความว่า เขานับถือตัวเอง (สัมมานะ)
เพราะฉะนั้น การบูชาคนที่ควรบูชา ก็หมายถึง ยกย่อง เชิดชู
คนที่ควรบูชานั้นแลแจ้งจางปางแล้วใช่ไหมครับ
บุคคลที่ควรบูชาระดับสูง
คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอริยะสงฆ์
รองลงมาคือ อุปัชฌาย์ อาจารย์ บิดา มารดา พระมหากษัตริย์
วัตถุที่ควรบูชา คือ ธาตุเจดีย์ (พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุของพระสาวก)
บริโภคเจดีย์ (สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา ปรินิพพาน และต้นพระศรีมหาโพธิ)
ธรรมเจดีย์ (คัมภีร์พระไตรปิฎกและคำสอนที่จารึกในใบลานหรือจารึกในแผ่นศิลา เป็นต้น)
และอุทเทสิกเจดีย์ (พระพุทธรูป รอยพระพุทธบาท และรูปอรหันต์สาวก)
การที่ใครๆ ยกย่องบูชาคนดีคนที่ควรเคารพนับถือบูชาบ่อยๆ

เป็นการถ่ายเทหรือซึมซับเอาความดีของบุคคลนั้นมาไว้ในตนโดยไม่รู้ตัว
อย่างเช่นเด็กที่นิยมความกล้าหาญบูชานักรบผู้กล้า
เช่น พระนเรศวรมหาราช ก็อาจรับมรดกความกล้าหาญมาสู่ตัวโดยอัตโนมัติน่าอัศจรรย์
บางทีกิริยาท่าทาง หรือคำพูดละม้ายคล้ายคนที่เขายกย่องบูชาสุดชีวิตจิตใจก็มี
เพราะฉะนั้นจึงควรยกย่องบูชาคนดีๆ เถอะครับ
แล้วสักวันหนึ่งเราจะกลายเป็นคนดีไปกับเขาด้วยข้อสำคัญขอให้ดูดีๆ
อย่าหลงยกย่องบูชาคนดีเทียมเข้าก็แล้วกัน
ในหนังสือ มังคลัตถทีปนี (หนังสือแต่งอธิบายมงคล 38)
พระสิริมังคลาจารย์ท่านเล่านิทาน คนบูชาผิดกาละเทศะ
แทนที่จะได้คุณกลับได้รับโทษถึงตาย อ่านแล้วขำดี ขอนำมาขยายให้ฟัง
เรียบเรียงสำนวนให้ฟังง่ายๆ สักสองสามเรื่อง

เรื่องที่หนึ่ง
สัญชีวมาณพเรียนมนต์เสกสัตว์ตายให้ฟื้นคืนชีพ
จากสำนักอาจารย์ดังแห่งหนึ่งมา
วันหนึ่งเดินผ่านป่าพร้อมเพื่อนๆ หลายคน
เห็นเสือโคร่งนอนตายอยู่ตัวหนึ่ง สัญชีวะบอกเพื่อนๆ ว่า
"ข้าจะเสกมนต์ให้เสือตัวนี้ฟื้น"
"ลูกพี่เก่งขนาดนั้นเชียวเรอะ"
เพื่อนอีกคนพูดเยาะ"ไม่ได้พูดเล่นนะ
ข้าเรียนมนต์นี้มาจริงๆ
ไม่เชื่อจะทำให้ดู" เขาพูดขึงขังจริงหรือไม่
"ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า"
พรรคพวกคิดแล้วก็ปีนขึ้นต้นไม้กันหมด
เหลือแต่มาณพคนเก่งคนเดียวบนพื้น
แกร่ายมนต์เป่าพรวดเข้าที่ร่างเสือพยัคฆ์ร้ายฟื้นคืนชีพขึ้นมา
ลืมตาขึ้นเห็นคนอยู่ข้างๆ จึงตะปบก้านคอล้มลงสิ้นชีวิตตรงนั้นทันที

เรื่องที่สอง
ปริพาชกคนหนึ่ง เป็นประเภทคนดีโง่บริสุทธิ์
เดินผ่านไปยังสถานชนแพะ
(คงคล้ายๆ ที่ชนวัว ตีไก่ อะไรทำนองนั้น)
ที่เมืองพาราณสี ที่มีคนสัญจรไปมาพลุกพล่านแพะตัวหนึ่ง
เห็นปริพาชกหัวเกรียน
ต้องการขวิดให้ถนัดจึงย่อตัวลง
"แหม! แพะตัวนี้ฉลาดจริง คนในที่นี้มากมายไม่รู้จักว่าข้าเป็นใคร
มีแพะตัวนี้ตัวเดียวรู้จักเคารพผู้ทรงศีลอย่างข้า"
ปริพาชกพูดพลางยิ้มปากกว้าง
"พระคุณเจ้า นั่นแพะจะขวิดท่าน รีบหนีไปเถอะ"
พ่อค้าคนหนึ่งเห็นเข้าตะโกนบอกเสียงดัง
"ไม่ใช่หรอกโยม แพะมันเคารพอาตมาต่างหาก"
ยังโอ่สำแดงความโง่ต่อไป
"สัตว์หน้าขนไว้ใจได้ที่ไหนท่าน รีบหลบๆ ไปเถอะน่า"
โยมผู้ปรารถนาดีเตือนซ้ำ คนเราลองให้มีมิจฉาทิฐิแล้ว
ใครจะบอกจะเตือนไม่สนใจทั้งนั้น
ปริพาชกแกก็ประคองอัญชลี (ประนมมือ) รับไหว้ตามธรรมเนียมที่ว่า
"ผู้ไหว้ย่อมได้รับการไหว้ตอบ"
จริงดังที่พ่อค้าคนนั้นบอก
แพะตัวนั้นวิ่งมาโดยเร็วเอาเขาเสยปริพาชกล้มทั้งยืน
แกครวญครางก่อนตายอย่างน่าเวทนา
"ใครก็ตามบูชาคนที่ไม่ควรบูชา ผู้นั้นจะถูกคนชั่วร้ายนั้นทำร้ายเอา
เหมือนเราผู้โง่เขลา ยกมือไหว้แพะ
โดนแพะขวิดเอา นอนรอความตายอยู่บัดนี้"
กว่าจะรู้ว่ายกย่องบูชาคน (ความจริงสัตว์)
ผิดก็สายเสียแล้วครับ
หน้า 6