Custom Search

Dec 22, 2006

วิกฤติเงินบาทแข็งผลกรรมไม่พอเพียง

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ออนไลน์

[23 ธ.ค. 49 - 17:15]

วิกฤตการณ์เงินบาทแข็งค่า...มีหลายเสียงร้อง สัญญาณของวิกฤติ เศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2540 เริ่มโชยกลิ่นให้ได้ดมชิมรสกันแล้ว

10 ปีที่ผ่านไป ประเทศไทย คนไทยลืมไปแล้วหรือ?

ได้ประสบการณ์ที่เจ็บปวดมาไม่มากพอหรือ?

วิกฤตการณ์ค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นตอนนี้ เป็นหลักฐานอย่างดีที่ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ นักเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศของเราไม่ได้มีการปรับตัว เตรียมพร้อมที่จะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ เช่นนั้นหวนกลับ

“เรายังคงหลงระเริงกับแฟชั่นการค้าเสรี ตามกระแสโลกาภิวัตน์มากเกินไป ระบบเศรษฐกิจของเราหวังพึ่งเงิน พึ่งจมูกคนอื่นหายใจมากเกินไป

พูดง่ายๆ เราไม่รู้จักพอเพียง ไม่รู้จักพึ่งตนเอง และไม่รู้จักประมาณตน”

บทสรุปสั้นๆ ง่ายๆ ของ ดร.สมภพ ฟังแล้วเข้าใจยาก วิกฤติเงินบาทแข็งค่า เกี่ยวข้องอะไรกับเศรษฐกิจแบบพอเพียง และเกี่ยวอะไรกับการไม่รู้จักประมาณตน

แต่ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน และวิกฤติที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่นอกเหนือความคาดหมาย ของนักเศรษฐศาสตร์แต่อย่างใด

วิกฤติไม่ได้ตั้งเค้าแสดงอาการมาแค่วันสองวัน...ตั้งเค้าให้เห็นมาหลายปีแล้ว

ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งรัฐบาลชุดที่ผ่านมารู้จักประมาณตน ปัญหานี้จะไม่รุนแรงเท่าทุกวันนี้

เพราะต้นสายปลายเหตุของวิกฤติค่าเงินที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจาก...ระบบเศรษฐกิจของโลกได้สร้างเงินดอลลาร์ขึ้นมามากมายจนเกินไป

สงครามการค้ายุคนี้ เงินมีสถานะไม่ต่างอะไรกับสินค้า...สามารถซื้อขายเก็งกำไรกันได้

และเป็นธรรมดา สินค้าอะไรก็ตาม ถ้าผลิตออกมามาก...ราคาก็ต้องตก

เงินดอลลาร์ก็เหมือนกัน มีมากราคาก็ตก...เป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์คาดหมายได้ล่วงหน้า

ส่วนตัวการที่ทำให้โลกสร้างเงินดอลลาร์มากจนล้นเกินความพอดี ดร.สมภพ อธิบายว่า มีสาเหตุมาจาก 5-6 ปัจจัย

ปัจจัยแรก เปโตรดอลลาร์หรือเงินดอลลาร์ที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันหรือโอเปกได้จากการขายน้ำมัน ยิ่งน้ำมันแพง ยิ่งมีดอลลาร์เก็บตุนไว้มาก โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติราคาน้ำมันที่ผ่านมา โอเปกได้เงินดอลลาร์มาตุนสูงกว่าปกติถึง 3-4 เท่าตัว

ปัจจัยที่สอง ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีการเพิ่มทุนสำรองจาก 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาเป็น 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในจำนวนนี้เป็นเงินทุนสำรองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯถึง 2 ใน 3

ปัจจัยที่สาม สหรัฐฯจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล มีการปั๊มเงินสกุลดอลลาร์ออกไปใช้จ่าย ในการทำสงครามในอัฟกานิสถานและอิรักมากมายมหาศาล

ปัจจัยที่สี่ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกได้เอาเงินดอลลาร์ไปกว้านซื้อ และปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เงินดอลลาร์มีปริมาณเพิ่มขึ้นไปทั่วโลก

ปัจจัยที่ห้า ผลจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ราคาสินค้าที่ต้นทุนในการผลิตไม่ว่าจะเป็น เหล็ก ทองแดง ยาง ฯลฯ แพงขึ้น มูลค่าการใช้เงินดอลลาร์ซื้อสินค้าก็มีมากขึ้น

ปัจจัยที่หก มาจากสหรัฐฯขาดดุลการค้าต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

ขาดดุลปีละ 7-8 แสนล้านเหรียญ ติดต่อกันมาหลายปี สหรัฐฯก็ต้องปั๊มเงินดอลลาร์ออกมาใช้มากขึ้น

ระบบเงินตราของสหรัฐฯไม่เหมือนประเทศอื่น สามารถปั๊มเงินขึ้นมาใช้ได้โดยไม่ต้องมีทุนสำรองมาค้ำประกัน ใช้เครดิตและชื่อเสียงของประเทศค้ำประกันแทน

ปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงนี่แหละที่ทำให้เงินดอลลาร์มีมากจนท่วมโลก

“เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลการค้า ดุลการเงิน และทำให้เงินที่ไหลออกไปมากไหลกลับ รัฐบาลสหรัฐฯจึงต้องใช้นโยบายทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัว พวกที่เก็บตุนดอลลาร์จะได้เอาออกเทขาย เพราะเก็บไว้มีแต่ขาดทุน”

วิธีนี้นอกจากจะได้เงินกลับคืน ยังเป็นการลงโทษ แก้แค้นพวกที่เคยได้ประโยชน์ ได้กำไรจากการค้ากับสหรัฐฯ เอาเงินดอลลาร์ไปกอดเก็บไว้จะได้เจ็บตัว

สหรัฐฯได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ปล่อยเงินให้คนอื่นไปถือไว้ในราคาสูง... แต่พอจะเอาคืน กลับซื้อได้ในราคาถูก

แสบสันแบบไร้ที่ติ

วิกฤติค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวไม่ได้สร้างผลกระทบต่อประเทศไทยประเทศเดียว ทั่วทั้งโลกเจอปัญหาเหมือนกันหมด ประเทศที่เคยเจอวิกฤติต้มยำกุ้งเล่นงาน เจอด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น

“แต่ทำไมปัญหาของเขา ถึงไม่รุนแรงเหมือนเรา นั่นเป็นเพราะระบบเศรษฐกิจของเขาได้วางทิศทางในการพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก ไม่หวังพึ่งเงินตราของต่างชาติมากเกินไปเหมือนกับเรา

เมื่อปี 2540 เราก็ประสบปัญหาแบบเดียวกันนี้ แทนที่จะเป็นบทเรียน แต่ รัฐบาลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลับผลักประเทศเข้าไปในเส้นทางเดิม ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบหวังพึ่งเงินจากต่างชาติเป็นหลัก ไม่หวังพึ่งพาตนเองเลย”

สิ่งที่เห็นได้ชัด ดร.สมภพ ให้ดูปัญหาจากค่าเงินดอลลาร์อ่อน ค่าเงินบาทแข็ง กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ การค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคการค้าส่งออก

ขายสินค้าได้เงินดอลลาร์มา แลกเป็นเงินไทยได้เงินน้อยลง

“ถ้ามองง่ายๆ ขาดทุนบ้างไม่เห็นเป็นไร แต่ปัญหาภาคการส่งออกขาดทุนสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศมาก เพราะเราพัฒนาประเทศแบบพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก

ตอนนี้มูลค่าการส่งออกมีสูงถึง 70% ของจีดีพีและยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาล

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังตั้งเป้าไว้ว่า ภายในสิ้นปีสมัยที่สองมูลค่าการส่งออกจะต้องทำให้ได้ 100% ของจีดีพี

สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศจะยืนได้ ไปรอดหรือไม่ขึ้นอยู่ กับเราค้าขายได้เงินดอลลาร์มากแค่ไหน หรือขึ้นอยู่กับเงินของคนอื่น ไม่ใช่ เงินของเรา”

เมื่อเงินของเขาทรุด เราก็ต้องซวยตาม...และซวยหนัก

และทั้งที่ปัญหาเงินบาทแข็งค่า ดอลลาร์อ่อน แสดงอาการให้เห็นเป็นระยะๆ มาตลอด แต่แทนที่จะหาทางแก้ไข รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ กลับใช้ นโยบายอุ้มพ่อค้าส่งออก แทรกแซงค่าเงิน ทำให้เงินบาทอ่อน สวนกระแสความเป็นจริงของค่าเงิน

“แทนที่จะปล่อยให้เป็นธรรมชาติ ให้พ่อค้าส่งออกได้รับบาดเจ็บบ้างเล็กน้อย เพื่อจะได้เป็นบทเรียนในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะความเป็นจริง วันนี้ เมื่ออุ้มไม่อยู่ แทรกแซงไม่ไหว พ่อค้าส่งออกเลยปรับตัวไม่ทัน”

สำหรับหนทางแก้ไขที่จะป้องกันปัญหาค่าเงินผันผวน เงินบาทอ่อนแข็ง ระบบเศรษฐกิจประเทศไทยถึงจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็บาดเจ็บไม่มาก ดร.สมภพ ชี้ว่า เราต้องยึดหลักเศรษฐกิจแบบพอเพียง

พึ่งพาตัวเองเป็นหลัก อย่าไปหวังพึ่งความร่ำรวยจากเงินตราจากต่างชาติ ให้มากนัก

พึ่งพาตัวเอง รวยและอยู่ได้ด้วยเงินของตัวเอง

นั่นคือ พัฒนาเศรษฐกิจแบบสมดุล ไม่เน้นด้านใดด้านหนึ่งหรือพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลัก

ต้องหันมาพัฒนาตลาดเศรษฐกิจภายในประเทศควบคู่ไปด้วย... ให้เศรษฐกิจไทยสามารถยืนอยู่ได้เพราะเราผลิตเอง ขายเอง ซื้อกันเองในประเทศ

ด้วยการสร้างงาน สร้างเงิน ให้คนในประเทศมีรายได้มากขึ้น ซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศได้มากขึ้น...ระบบเศรษฐกิจของประเทศพึ่งเงินบาทของตัวเองได้

เงินดอลลาร์จะถูกจะแพง...คนไทย เศรษฐกิจไทยไม่เดือดร้อน

แต่การสร้างงานสร้างเงิน เพิ่มอำนาจซื้อของคนในประเทศ ต้องเป็นไปแบบยั่งยืน ได้เงินเพราะทำงาน

ไม่ใช่ได้เงินเพราะนโยบายประชานิยม รัฐบาลหว่านเงินเพื่อหาเสียง เหมือนที่ผ่านมา แล้วซุกปัญหาให้ประเทศ

Dec 20, 2006

เรียนให้ดี เรียนอย่างไร


การเรียนให้ได้ผลดี นอกจากขึ้นอยู่กับอาจารย์ผู้สอน สภาพแวดล้อมแล้ว
ตัวเอง
สำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นเราต้องปรับปรุงตัวเองให้มีคุณภาพสูงสุด
เท่าที่จะทำได้
สาเหตุที่นักศึกษาสอบได้เกรดไม่ดีเพราะ

-การแบ่งเวลา
เที่ยวมากไป
ขี้เกียจ
ตามใจเพื่อน
-การจัดระบบตัวเอง
ไม่รู้จะทำอะไรก่อนหลัง
ทำที่ไม่สำคัญก่อน
เน้นรายละเอียดมากเกินไป
ทำงานไม่เสร็จตามเวลา

-ไม่รู้วิธีเรียน
ไม่อ่านหนังสือ

-รู้แต่ไม่ทำ
ประยุกต์ทฤษฎีไม่เป็น
ประมาทวิชามากไป
ไม่เข้าเรียน
จดงานไม่ทัน

-แรงจูงใจ
ไม่รู้จะเรียนไปทำไม
ไม่มีเป้าหมาย
ไม่ได้เลือกอนาคต อาชีพไว้ก่อน

-ปัญหาส่วนตัว
ตกใจกลัวการสอบ

-อารมณ์
เอาแต่เศร้า

-สังคม
ฟังบรรยายไม่รู้เรื่อง
ขาดความเชื่อมั่น



หลักการเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนหนังสือ

-สะสม
เรียนอย่างค่อยเป็นค่อยไป
สะสมวันละนิด
ไม่ใช้หักโหมก่อนสอบ

-ทำซ้ำ
การลืมเกิดขึ้นง่ายดายนัก
ควรป้องกันด้วยการท่องและอ่านซ้ำ ๆ

-ย้ำรางวัล
เพื่อให้ขยันขึ้น

-ขยันคิด
อย่าอ่านหรือฟังผ่านๆ ไปเรื่อยเปื่อย
ต้องใส่ใจติดตามเสมอ

-ฟิตปฏิบัติ
ศึกษาแต่ทฤษฎียังไม่พอ
ต้องลงมือทำด้วยจะช่วยให้ชำนาญและจำแม่น
เพราะเกิดการถ่ายโยงความจำระยะสั้นเป็นระยะยาว

-หาทางบังคับตัวเอง
โดยอาศัยการจัดสภาพแวดล้อมเข้าช่วยเป็นตัวเร่ง
และตัวกระตุ้นด้วย


Dec 10, 2006

ความสำคัญของเทศน์มหาชาติ

ศาสตราจารย์กิตติคุณวัฒนะ จูฑะวิภาต










การเทศน์มหาชาติเป็นประเพณีไทยโบราณ
ที่ดำรงมาช้านานตั้งแต่ก่อนตั้งกรุงศรีอยุทธยา
ไม่ต่ำกว่า 570 ปี จนถึงปัจจุบัน
เป็นประเพณีที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรือง
ความอุดมสมบูรณ์ บ้านเมืองร่มเย็น
พุทธศาสนาในประเทศไทยรุ่งเรือง
พุทธศาสนิกชนมีกุศลจิตเห็น
คุณค่าของการเทศน์มหาชาติว่าเป็น “พุทธวัจนะ”
ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าตรัสประทานแด่
พระภิกษุสงฆ์และพุทธบริษัท ณ นิโครธาราม
ผู้ใดสดับก็ย่อมเกิดสิริสวัสดิมงคล
หากได้ฟังเทศน์มหาชาติอันสดับด้วยพระคาถา
ถึงพันในวันและเดือนเดียวให้จบจะมีอานิสงฆ์
ทำให้พบพระศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตร
ผู้ฟังก็จะมีความสุขความเจริญ มหาชาติคำหลวง
กาพย์มหาชาติ กลอนเทศน์ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
เป็นวรรณคดีล้ำค่าของไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรม
ผู้อ่านจะได้รับความเพลิดเพลิน
และคุณค่าจากถ้อยความที่เรียงร้อย
พระยาอนุมานราชธน กล่าวไว้ใน
หนังสือศึกษาวรรณคดีและวรรณศิลป์ว่า
วรรณคดีมีความหมายแบ่งอย่างกว้างๆ ได้สองนัย
คือ วรรณคดีทั่วไป และ วรรณคดีวรรณศิลป์
วรรณคดีจึงเปรียบเสมือนกระจกเงาสะท้อนให้
เห็นสภาพความเป็นอยู่ของบุคคลในสังคม
แต่ละยุคสมัยผู้ศึกษาวรรคดี
จะได้เรียนรู้ เข้าใจสิ่งที่กวีถ่ายทอดเป็นลายลักษณ์อักษร
เนื้อเรื่องในวรรณคดีมุ่งสอนให้เห็นผลของการกระทำ
เช่น ทำดีย่อมได้รับผลแห่งการทำดี อันเป็นหลักพุทธศาสนา
แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพุทศาสนาที่มีต่อสังคมไทย
คุณค่าของมหาชาติประการสำคัญนั้น
เป็นรากฐานของการดำเนินชีวิต คือ พุทธปรัชญา
พุทธปรัชญาที่ปรากฏในมหาชาติเน้นอย่างง่ายที่
คนในสังคมจะเข้าใจได้ เช่น ความเชื่อในความไม่เที่ยวแท้ของชีวิต
เชื่อว่ามนุษย์จะพบความสุขที่แท้จริง คือ การออกบวช
การบริจาคทาน ดังเช่น พระเวสสันดรบริจาคบุตรทารทาน
และปฏิบัติธรรม เพื่อหวังผลพระสัมโพธิญาณ
ซึ่งเป็นความศรัทธาและอุดมคติของพระพุทธศาสนิกชน
ดังตัวอย่างที่พระเวสสันดรพรรณนาถึงพระโพธิญาณ
เมื่อทรงขอให้สองกุมารไปกับชูชกตามที่ชูชกทูลขอ
ชาวพุทธมีความเชื่อว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์
การดำเนินชีวิตในปัจจุบันเป็นไปตามกฎแห่งกรรม
รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส สิ่งเหล่านี้ไม่จีรัง
และเป็นเครื่องทำให้คนหลงผิด
พุทธปรัชญาดังกล่าวจะพบในวรรณกรรมไทย
กวีผู้รจนามักจะแฝงปรัชญาโดยมิได้แจกแจงอย่างแจ่มชัด
แต่ผู้อ่านจะได้รับโดยวิจารณญาณ เพื่อยึดเป็นสรณะ
มหาชาติมีคุณค่าอยู่ในเรื่อง
เพราะกวีได้ถ่ายทอดประสบการณ์ของตนไปสู่ผู้อื่น
และมีลักษณะร่วมที่ผู้อื่นจะเข้าใจได้ เช่น
ความศรัทธา ความเชื่อในรสพระธรรม วิธีการปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติตนเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงหรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า
ผู้บรรลุโสดาบัน อันเป็นจุดมุ่งหมาย ของศาสนาพุทธ
ความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการีเป็น
คุณค่าอันสูงส่งประการหนึ่งที่บุคคลในวัฒนธรรมไทย
ยึดถือปฏิบัติกันอย่างจริงจัง
พ่อ แม่ ครู อาจารย์เป็นปูชนียบุคคล
ซึ่งต้องแสดงความกตัญญูตอบสนองพระคุณท่านในโอกาส
นางอมิตดา ยอมเป็นภรรยาชูชกก็ด้วยเหตุผลที่ว่า
“เป็นลูกเหล่าตระกูลไม่เสียชาติไม่คิดว่าตัวเป็นสาวได้ผัวแก่
แล้วเป็นเมียทาส คิดว่าเป็นทุกข์ของพ่อ แม่ กรรมแล้วก็ตามกรรม ”
จึงเป็นความคิดที่ยังอยู่ในใจของบุคคลในสังคมไทยเสมอมา
พระชาลี พระกัณหา ยอมเป็นทาสของชูชกด้วยเหตุดุจเดียวนี้
ดังได้ทราบมาแล้วว่ามหาชาติ เป็นวรรณกรรมพุทธศาสนา
ที่แฝงไว้ด้วยพุทธปรัชญาหลายประการ
ถ้าพิจารณาอย่างดีจะพบว่า กวีได้สร้างตัวละครให้แสดงพฤติกรรมของปุถุชน
เช่น พระเวสสันดรเป็นผู้แสวงธรรมปรมัตถ์
เบื้องแรกนั้นยังไม่สามารถจะดับกิเลสได้ ยังมีความโกรธ
ความรักความสงสารสองกุมาร ความเชื่อเรื่องโชคลาง
เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ปรากฏอยู่ในมหาชาติเป็นเรื่อง
ของวิธีดำเนินชีวิตของคนไทย
เช่น ชูชกจะเดินทางออกจากบ้าน จะทำพิธี
“ประทักษิณวนเวียนวงได้สามรอบ ตามฉบับระบอบไสยศาสตร์เพทว่า
ทั้งผู้อยู่ก็จะไม่มีภัย ทั้งผู้ไปก็จะไม่มีเหตุ
อยากให้สวัสดิเจริญทั้งสองข้าง ก็เป็นจารีตเยี่ยงอย่างว่าเกิดคุณ”
ชูชกจะแต่งกายด้วยสีขาว
เพราะผู้ที่ได้พบเห็นจะคิดว่าเป็นชีปะขาวหรือดาบส
นักบวชนั้นบุคคลทั่วไปย่อมเกรงขาม
ผู้ศึกษามหาชาติจะพบว่า มหาชาติมีคุณค่านานาประการ
ปรากฏในวัฒนธรรมของสังคมไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมชนบทยังคงปฏิบัติกันอยู่
ส่วนสังคมเมืองนั้นได้รับอิทธิพลทางวิทยาศาสตร์
ความเชื่อถือโชคลางจึงลดน้อยลง
แต่พุทธปรัชญาในมหาชาติยังให้คุณประโยชน์
แก่ผู้ปฏิบัติทุกยุคทุกสมัย
สรุปความได้ว่า การฟังเทศน์มหาชาติที่กล่าวถึง
บารมีทั้งสิบชาติของพระพุทธองค์นั้นเป็นสิ่งจำเป็นในการทำชีวิต
และโลกของมนุษย์ให้น่าอยู่ คือ
ถ้ามนุษย์ไม่สามารถทำใจให้วางเฉย อุเบกขา
และวางเรื่องทางโลก เนกขัมมะ
มนุษย์ก็หาความสงบทางใจได้อยาก ถ้าขาดความเมตตา
และความคิดที่จะแบ่งปันทาน ก็คงต้องใช้ชีวิตแบบตัวใครตัวมัน
ถ้ามนุษย์ไม่มีศีล และสัจจะ
ทุกคนก็ต้องอยู่ร่วมกันด้วยความหวาดระแวง ไม่ไว้ใจกัน
ถ้ามนุษย์ไม่มีความตั้งใจที่แน่วแน่อธิฐาน
ขาดความเพียร วิริยะ และความอดทน ขันติ
มนุษย์ไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆได้สำเร็จ
และถ้ามนุษย์ขาดปัญญา
มนุษย์ก็ไม่สามารถรู้เท่าทันกิเลสได้พอที่จะรู้คิดถึงคุณ
และโทษรู้วินิจฉัยว่าอะไรดีหรือเลวและรู้จักการให้สำเร็จ
ได้ด้วยวิธีการที่ถูกทำนองครองธรรม
คนโบราณจึงเชื่อว่าการท่องชื่อของทศชาติ
(เต ช สุ เน ม ภู จ นา วิ เว)
วันละ หลาย ๆ จบ จะช่วยให้เกิดสิริมงคล
และสามารถคุ้มครองป้องกันภัยได้
ความเชื่อเช่นนี้เป็นจริงได้หรือเปล่า
ก็อยู่ที่การประพฤติและปฏิบัติธรรม
ถ้ามนุษย์อยากมีชีวิตที่มีความสุขอยากให้โลกของเราน่าอยู่
ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารประเทศ หรือประชาชนทั่วไป
ก็คงต้องหันมาสนใจคุณธรรมทั้งสิบ
ที่รวมเรียกว่า “ทศบารมี” ก็จะทำให้โลกนี้มีแต่สันติสุข
















คำอธิษฐาน 10 ประการ

อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
".......ข้าพเจ้ามีคำอธิษฐาน 10 ประการดังต่อไปนี้

1. ขออย่าให้ข้าพเจ้าเป็นคนคิดจะได้ดีอะไรอย่างลอย ๆ นั่งนอนคอยแต่โชควาสนา โดยไม่ลงมือทำความดีหรือไม่เพียรพยายามสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตน ถ้าข้าพเจ้าจะได้ดีอะไรก็ขอให้ได้เพราะได้ทำความดีอย่างสมเหตุผลเถิด

2. ขออย่าให้ข้าพเจ้าเป็นคนลืมตนดูหมิ่นเหยียดหยามใคร ๆ ซึ่งอาจ ด้อยกว่าในทางตำแหน่ง ฐานะการเงิน หรือในทางวิชาความรู้ ขอให้ข้าพเจ้ามีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ให้เกียรติแก่เขาตามความเหมาะสมในการติดต่อเกี่ยวข้องกันเถิด อย่าแสดงอาการข่มขู่เยาะเย้ยใคร ๆ ด้วยประการใด ๆ เลย ก็ขอให้มีความอ่อนโยน นุ่มนวล สุภาพเรียบร้อยเถิด

3. ถ้าใครพลาดพลั้งลงในการครองชีวิตหรือต้องประสบความทุกข์ ความเดือดร้อนเพราะ
เหตุใด ๆ ก็ตาม ขออย่าให้ข้าพเจ้าเหยียบย่ำซ้ำเติมคนเหล่านั้น แต่จงมีความกรุณาหาทางช่วยเขาลุกขึ้น ช่วยผ่อนคลายความทุกข์ร้อนแก่เขาเท่าที่จะสามารถทำได้

4. ใครก็ตามที่มีความรู้ความสามารถขึ้นมาเท่าเทียมหรือเกือบเท่าเทียมข้าพเจ้า ก็ดี มีความรู้ความสามารถหรือมีผลงานอันปรากฏดีเด่น สูงส่งอย่างน่านิยมยกย่องยิ่งกว่าข้าพเจ้า ขออย่าให้ข้าพเจ้ารู้สึกริษยาหรือกังวลใจในความเจริญของผู้นั้นเลยแม้แต่น้อย ขอให้ข้าพเจ้าพลอยยินดีในความดี ความรู้ความสามารถของบุคคลเหล่านั้นด้วยใจจริง ช่วยส่งเสริมสนับสนุนและให้กำลังใจแก่คนเหล่านั้น อันเข้าลักษณะการมีมุทิตาจิต ในพระพุทธศาสนา ซึ่งตรงกันข้ามกับความริษยา ขออย่าให้เป็นอย่างบางคน ที่เกรงนักหนาว่าคนอื่นจะดีเท่าเทียมหรือดียิ่งกว่าตน คอยหาทางพูดจาติเตียน ใส่ไคล้ให้คนทั้งหลายเห็นว่าผู้นั้นยังบกพร่องอย่างนั้นอย่างนี้ ขอให้ข้าพเจ้ามีน้ำใจสะอาด พูดส่งเสริมยกย่องผู้อื่นที่ควรยกย่องเถิด

5. ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีน้ำใจเข็มแข็งอดทน อย่าเป็นคนขี้บ่นในเมื่อมีความยากลำบากอะไรเกิดขึ้น ขอให้มีกำลังใจต่อสู้กับความยากลำบากนั้น ๆ โดยไม่ต้องอ้อนวอนให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วย ขออย่าเป็นคนอ่อนแอเหลียวหาที่พึ่ง เพราะไม่รู้จักทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนเลย ขออย่าให้ข้าพเจ้าเป็นคนชอบได้อภิสิทธิ์ คือสิทธิเหนือคนอื่น เช่น ไปตรวจที่โรงพยาบาลก็ขอให้พอใจนั่งคอยตามลำดับ อย่าวุ่นวายจะเข้าตรวจก่อนทั้งที่ตนไปถึงทีหลัง ในการสอบแข่งขันเพื่อคัดเลือกใด ๆ ขออย่าให้ข้าพเจ้าคิดหาวิธีลัดหรือวิธีทุจริตใด ๆ รวมทั้ง ขออย่าได้วิ่งเต้นเข้าหาคนนั้นคนนี้เพื่อให้เขาช่วยให้ได้ผลดีกว่าคนอื่น ทั้ง ๆ ที่ข้าพเจ้าอาจมีคะแนนสู้คนอื่นไม่ได้เถิด

6. ข้าพเจ้าทำงานที่ใด ขออย่าให้ข้าพเจ้าคิดเอาเปรียบหรือคิดเอาแต่ได้ในทางส่วนตัว เช่น เถลไถลไม่ทำงาน รีบเลิกงานก่อนกำหนดเวลา ขอจงมีความขยันหมั่นเพียร พอใจในการทำงานให้ได้ผลดีด้วยความตั้งใจและเต็มใจ เพื่อประโยชน์ของตนเอง ฉะนั้นเถิด อันเนื่องมาแต่ความไม่คิดเอาเปรียบในข้อนี้ ถ้าข้าพเจ้าบังเอิญก้ำเกินข้าวของ ของที่ทำงานไปในทางส่วนตัวได้บ้าง เช่น กระดาษ ซอง หรือ เครื่องใช้ใด ๆ ขอให้ข้าพเจ้าระลึกอยู่เสมอว่าเป็นหนี้อยู่ และพยายามใช้หนี้คืนด้วยการซื้อใช้ หรือทำงานให้มากกว่าที่กำหนด เพื่อเป็นการชดเชยความก้ำเกินนั้น ข้อนี้รวมทั้ง ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเอาเปรียบชาติบ้านเมือง เช่น ในเรื่องการเสียภาษีอากร ถ้ารู้ว่ายังเสียน้อยไปกว่าที่ควร หรือตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ขอให้ข้าพเจ้ามีความตั้งใจที่จะชดใช้แก่ชาติบ้านเมืองอยู่เสมอ เมื่อมีโอกาสตอบแทนเมื่อไรขอให้รีบตอบแทนโดยทันที เช่น ในรูปแห่งการบริจาคบำรุงโรงพยาบาล บำรุงการศึกษา หรือบริจาคเพื่อสาธารณะประโยชน์อื่น ๆ แบบบริจาคให้มากกว่าที่รู้สึกว่ายังเป็นหนี้ชาติบ้านเมืองอยู่เสมอ และในข้อนี้ขอให้ข้าพเจ้าปฏิบัติแม้ต่อเอกชนใด ๆ ขออย่าให้ข้าพเจ้าคิดเอาเปรียบหรือโกงใครเลยแม้แต่น้อย แม้แต่จะซื้อของถ้าเขาถอนเงินเกินมา ก็ขอให้ข้าพเจ้ายินดีคืนให้เขากลับไปเถิด อย่ายินดีว่ามีลาภเพราะเขาทอนเงินเกินมาให้เลย

7. ขออย่าให้ข้าพเจ้ามักใหญ่ใฝ่สูง อยากมีหน้ามีตา อยากมีอำนาจ อยากเป็นใหญ่เป็นโต
ขอให้ข้าพเจ้าใฝ่สงบ มีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ ไม่ต้องเดือดร้อนในเรื่องการแข่งดีกับใคร ๆ ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้าพอจะเดาได้ว่า ความมักใหญ่ใฝ่สูง ความอยากมีหน้ามีตา ความอยากมีอำนาจ และอยากเป็นใหญ่เป็นโตนั้น มันเผาให้เร่าร้อน ยิ่งต้องแข่งดีกับใคร ๆ ด้วยก็ยิ่งทำให้เกิดความคิดริษยา คิดให้ร้ายคู่แข่งขัน ถ้าอยู่อย่างใฝ่สงบมีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ ก็จะเย็นอกเย็นใจ ไม่ต้องนอนก่ายหน้าผากถอนใจเพราะเกรงคู่แข่ง จะชนะ ไม่ต้องทอดถอนใจเพราะไม่สมหวัง ขอให้ข้าพเจ้ามีความเข้าใจซาบซึ้งใน พระพุทธภาษิตว่า "ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ละความชนะความแพ้เสียได้ ย่อมอยู่เป็นสุข" ดังนี้เถิด แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าเมื่อใฝ่สงบแล้ว ข้าพเจ้าจะต้องอยู่อย่างเกียจคร้านไม่สร้างความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม ข้าพเจ้าทราบดีว่าพระพุทธศาสนามิได้สอนให้คนเกียจคร้านงอมืองอเท้า แต่สอนให้มีความบากบั่นก้าวหน้าในทางที่ดีไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม และความบากบั่นก้าวหน้าดังกล่าวนั้น ไม่จำเป็นต้องผูกพันอยู่กับความทะยานอยากหรือความมักใหญ่ใฝ่สูงใด ๆ คงทำงานไปตามหน้าที่ให้ดีที่สุด ผลดีก็จะเกิดตามมาเอง

8. ขอให้ข้าพเจ้าหมั่นปลูกฝังความรู้สึกมีเมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่น และมีกรุณาคิดจะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ซึ่งพระพุทธเจ้าแนะนำให้ปูพื้นจิตใจด้วยเมตตากรุณาดังกล่าวนี้อยู่เสมอ จนกระทั่งไม่รู้สึกว่ามีใครเป็นศัตรูที่จะต้องคิดกำจัดตัดรอนเข้าให้ถึงความพินาศ ใครไม่ดี ใครทำชั่วทำผิดขอให้เขาคิดได้กลับตัวได้เสียเถิด อย่าทำผิดทำชั่ว อีกเลย ถ้ายังขืนทำต่อไปก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เขาจะต้องรับผลแห่งกรรมชั่วของเขาเอง เราไม่ต้องคิดแช่งชักให้เขาพินาศ เขาก็จะต้องถึงความพินาศของเขาอยู่แล้ว จะต้องแช่งให้ใจเราเดือดร้อนทำไม ขอให้ความเมตตาคิดจะให้เป็นสุข และกรุณาคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ซึ่งข้าพเจ้าปลูกฝังขึ้นในจิตใจนั้น จงอย่าเป็นไปในวงแคบและวงจำกัด ขอจงเป็นไปทั้งในมนุษย์และสัตว์ทุกประเภท รวมทั้งสัตว์ดิรัจฉานด้วย เพราะไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์เหล่านั้น ต่างก็รักสุขเกลียดทุกข์ รู้จักรักตนเองปรารถนาดีต่อตนเองด้วยกันทั้งสิ้น

9. ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเป็นคนโกรธง่าย ต่างว่าจะโกรธบ้าง ก็ขอให้มีสติรู้ตัวโดยเร็วว่ากำลังโกรธ จะได้สอนใจตนเองให้บรรเทาความโกรธลง หรือถ้าห้ามใจให้โกรธไม่ได้ ก็ขออย่าให้ถึงกับคิดประทุษร้ายผู้อื่น หรือคิดอยากให้เขาถึงความพินาศ ซึ่งนับเป็นมโนทุจริตเลย ขอจงสามารถควบคุมจิตใจให้เป็นปรกติได้โดยรวดเร็วเมื่อมีความไม่พอใจหรือความโกรธเกิดขึ้นเถิด และเนื่องมาจากความปรารถนาข้อนี้ ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเป็นคนผูกโกรธ ให้รู้จักให้อภัย ทำใจให้ปลอดโปร่งจากการผูกอาฆาตจองเวร ขอให้มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยรู้จักเปรียบเทียบกับตัวข้าพเจ้าเองว่าข้าพเจ้าเองก็อาจทำผิด พูดผิด คิดผิด หรืออาจล่วงเกินผู้อื่นได้ ทั้งโดยมีเจตนาและไม่เจตนา ก็ข้าพเจ้าเองยังทำผิดได้ เมื่อผู้อื่นทำอะไรผิดพลาดล่วงเกินไปบ้าง ก็จงให้อภัยแก่เขาเสียเถิด อย่าผูกใจเจ็บหรือเก็บความรู้สึกไม่พอใจนั้นมาขังอยู่ในจิตใจให้เป็นพิษเป็นภัยแก่ตัวเองเลย

10. ขอให้ข้าพเจ้ามีความรู้ความเข้าใจและสอนใจตัวเองได้เกี่ยวกับ คำสอนของพระพุทธศาสนาทั้งทางโลกและทางธรรม กล่าวคือ พระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักสร้างความเจริญแก่ตนในทางโลก และสอนให้ประพฤติปฏิบัติยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ให้มีปัญญาเข้าใจปัญหาแห่งชีวิต เพื่อจะได้ไม่ติดไม่ยึดถือ มีจิตใจเบาสบายอันเป็นความเจริญในทางธรรม ซึ่งรวมความแล้วสอนให้เข้ากับโลกได้ดี ไม่เป็นภัยอันตรายแก่ใคร ๆ
แต่กลับเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ แต่ก็ได้สอนไปในทางธรรมให้เข้ากับธรรมได้ดี คือให้รู้จักโลก รู้เท่าโลกและขัดเกลานิสัยใจคอให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อบรรลุความดับทุกข์ ความพ้นทุกข์ ขอให้ข้าพเจ้ามีความเข้าใจทั้งทางโลกทางธรรม และปฏิบัติตนให้ถูกต้องได้ทั้งสองทาง รวมทั้งสามารถหาความสงบใจได้เองและสามารถแนะนำชักชวนเพื่อนร่วมชาติร่วมโลก ให้ได้ประสบความสุขสงบได้ตามสมควรเถิด...”

ติโต

พระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “ติโต”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ

พระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “ติโต”ทรงแปลมาจากเรื่อง “Tito”
เขียนโดย ฟิลลิส ออตี ( Phyllis Auty )
“ติโต”เป็นชีวประวัติของโยซิป โบรช (Josip Broz) ผู้ต่อสู้เพื่อชาติ
ยูโกสลาเวีย ในสงครามโลกครั้งที่ ๒
“ติโต”เป็นนามรหัสในขณะที่โยซิป โบรซ
ในปฏิบัติงานด้วยความสามารถและอุดมการณ์สูง นามนี้เป็นที่รู้จักทั่วโลก
ติโตต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคทุกวิถีทาง เพื่อสร้างเป็นไทยให้แก่ยูโกสลาเวีย
และที่น่าสนใจคือ
เขาเป็นคอมมิวนิสต์ “นอกแบบ” แตกต่างจากคอมมิวนิสต์อื่น
เขามีใจกว้างขวาง เห็นใจผู้อื่น แต่ในขณะเดียวกันก็มีใจเด็ดเดี่ยวและพร้อม
ที่จะปฏิบัติการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ สมกับที่เป็นผู้นำในช่วงวิกฤตการณ์นั้น
เขาเป็นนักการเมืองที่สามารถสร้างความปึกแผ่นของประเทศ
รวมชนชาติต่างๆในยูโกสลาเวียให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ติโตได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีของยูโก สลาเวียด้วยความเห็นชอบของชนทุกชาติ
ในยูโกสลาเวีย เขาสิ้นชีวิตไปตามอายุขัยเมื่ออายุได้ ๘๘ ปี(พ.ศ.๒๕๒๓ )
ประเทศยูโกสลาเวียก็ค่อยๆสลายลงจนกระทั่งมีสภาพแตกแยกอันยากที่จะแก้ไขได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “ติโต”จากต้นฉบับเมื่อ
พ.ศ.๒๕๑๙ เพื่อให้ ข้าราชบริพารได้ทราบถึงบุคคลที่น่าสนใจคนหนึ่งของโลก
เพราะชีวิตของติโตเป็นชีวิตที่น่าศึกษาทั้งในด้านประวัติศาสตร์และชีวิตการต่อสู้
พระราชนิพนธ์เรื่องนี้มีความยาว ๑๒๑ หน้า มากด้วยเนื้อหาและสำนวนไทยที่ใช้
ในการแปล
และทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ เรื่องย่อ “ติโต” หรือ
โยซิป โบรช (Josip Broz) เกิดเมื่อ ค.ศ. ๑๘๙๒
บิดาเป็นคนเชื้อสายโครแอต (Croat) และสโลวีน (Slovene)
มารดาเป็นชาวสลาฟใต้ เขามีความรักชาติอย่างรุนแรงมาตั้งแต่ยังเด็ก
เพราะไม่พอใจสภาพที่ต้องอยู่ใต้การปกครองของออสเตรีย-ฮังการี
ซึ่งเป็นพวกต่างเผ่าพันธุ์ ครอบครัวของติโตเป็นชาวนาซึ่งไม่ยากจนนัก
มีที่ดินของตนเองประมาณ ๒๕ ไร่ จึงนับว่าดีกว่าชาวนาโดยทั่วไป
พ่อแม่มีลูกเก้าคนติโตเป็นลูกคนที่เจ็ด
แม่ของเขาเก่งมากและถือศาสนาคาธอลิกอย่างเคร่งครัด
เขารักแม่ของเขามาก เขาทำงานหนัก ช่วยทำงานทั้งนอกบ้านและในบ้าน
การได้ใกล้ชิดแม่ทำให้เขาได้เข้าใจคาธอลิก
ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งให้เขาเข้าใจจิตใจของฝ่ายตะวันตกซึ่งคอมมูนิสต์เข้าไม่ถึง
และไม่เคยแตะต้อง
ติโตต้องทำงานหนักแบบเด็กชนบท บางครั้งประสบความอดอยาก
แต่ความงามของธรรมชาติและความอิสระของชีวิตชนบทได้หล่อหลอมให้
ติโตมีความรักในผืนแผ่นดินของตน และกลายเป็นนักสู้ที่ไม่เคยย่อท้อ
แม้ในวัยเด็กติโตค่อนข้างขี้โรค แต่ก็มีผลการเรียนดี
น่าเสียดายที่ต้องออกจากโรงเรียนเมื่ออายุได้เพียง ๑๒ ปี เมื่ออายุ ๑๕ ปี
เขาเริ่มชีวิตชาวนา เขาได้ย้ายเข้าไปอยู่ในเมืองสิสัก (Sisak)
เข้าฝึกงานช่างในอู่รถเป็นเวลาหลายปี เวลากลางวัน เขาทำงาน
และภาคกลางคืนเข้าเรียนจนสอบได้ประกาศนียบัตรช่างกล
ณ ที่นี้เขาได้สัมผัสการเมืองชนชั้นกรรมกรเป็นครั้งแรก
ติโตใช้ชีวิตเป็นช่าง และต่อมาเขาได้เป็นทหารเกณฑ์สองปีตามหน้าที่พลเมืองดี
แล้วจึงสมัครเป็นทหาร ได้มีโอกาสออกแนวหน้าในสงครามโลกครั้งที่ ๑
ขณะนั้นเขาเป็นเพียงนายสิบ เขาได้รับบาดเจ็บในการรบกับรัสเซีย
ถูกจับเป็นเชลยและนำส่งโรงพยาบาลทหารแห่งหนึ่งในรัสเซีย
แม้อาการจะสาหัสมากและเกือบไม่ได้รับการรักษาพยาบาลเลย
ติโตยังโชคดีที่รอดชีวิตและได้มีประสบการณ์ในฐานะเชลยศึกในรัสเซียเป็นเวลานาน
เมื่อเกิดการปฏิวัติบอลเชวิคใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ติโตเคยถูกฝ่ายรัฐบาลพระเจ้าซาร์จับขัง
เพราะต้องสงสัยว่าเป็นฝ่ายบอลเชวิค
เขาหลบหนีไปได้ก็ไปพบกับพวกเร็ดการ์ด (Red Guards)
พวกแนวหน้าของฝ่ายปฏิวัติ จึงทำงานในฐานะพวกเร็ดการ์ด
เมื่อพวกบอลเชวิคได้ชัยชนะแล้ว ติโตเป็นอิสระและตกลงใจกลับไปตั้งรกราก
ที่บ้านเกิดในโครแอเซียใน ค. ศ. ๑๙๒๐ พร้อมกับภรรยาชาวรัสเซีย
ซึ่งพบและรักกันในช่วงการปฏิวัติ ติโตได้ประสบสภาพใหม่
คือถูกสงสัยว่าเป็นบอลเชวิคศัตรูของชาติ
ติโตผู้เคยอยู่รัสเซียมาหลายปีได้เรียนรู้วิธีการเพื่อการอยู่รอดในสังคมที่เต็มไปด้วยศัตรู
วิธีการอยู่ร่วมกับคนทุกชนิดโดยใช้วิชาช่างกลซึ่งเป็นประโยชน์ในทุกสังคม
ได้รู้ศิลปะของการหลบหลีกเมื่อจำเป็น
การเข้าถึงจิตใจมนุษย์และเห็นความสำคัญของการพึ่งตัวเอง
แต่ในขณะที่เขากลับมาบ้านเขาไม่มีโอกาสได้ใช้ความสามารถจากประสบการณ์นั้นเลย
เพราะต้องเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายทางเศรษฐกิจและครอบครัวประสบมรสุม
อย่างหนักจักรวรรดิออสโตร-ฮังการีได้สลายตัวไปแล้ว
โครแอเซียกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรซึ่งตอนหลังเรียกว่า
ยูโกสลาเวียมีกษัตริย์ปกครอง รัฐใหม่ประกอบด้วยกลุ่มต่าง ๆ ของพวกสลาฟใต้
มีวัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนาต่าง ๆ กันถึง ๓ ศาสนา
มีกษัตริย์ราชวงศ์ชาวเซอร์บปกครอง
ด้วยความแตกต่างกันดังกล่าวแล้วจึงทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง
ติโตได้เดินทางไปเมืองหลวงของโครแอเซีย
ติโตได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพช่างเหล็ก จึงกลายเป็นสมาชิกอัตโนมัติ
ของพรรคโซเชียลเดโมแครติค (Social Democratic Party)
ซึ่งได้ผนวกเข้าไปในพรรคคอมมูนิสต์แห่งยูโกสลาเวีย
ติโตจึงกลายเป็นคอมมูนิสต์ แม้ตนเองมิได้จงใจ
เนื่องจากเขาเคยอยู่ในรัสเซียระหว่างการปฏิวัติบอล เชวิค
ติโตจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการปลุกกระดมคนงาน
ในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของประเทศยูโกสลาเวีย
ในค.ศ. ๑๙๒๐ พรรคคอมมูนิสต์ได้รับคะแนนเสียงเป็นที่สาม
แต่หนึ่งเดือนต่อมารัฐบาลก็ล้มพรรคคอมมูนิสต์
เพราะถือว่าพรรคคอมมูนิสต์เป็นพรรคผิดกฎหมาย พวกสมาชิกพรรคถูกกวาดล้าง
ติโตหลบไปใช้ชีวิตช่างเครื่องยนต์ของโรงสีในหมู่บ้านนอกเมืองซาเกร็บ
เป็นเวลาสี่ปีครึ่ง
แต่แล้วชีวิตเงียบ ๆ ของติโตเปลี่ยนไปเมื่อ สเตียปัน ซาบิช (Stjepan Sabic)
ซึ่งเคยเป็นเชลยศึกด้วยกันในรัสเซียได้มามาชักชวนให้ติโต
จัดตั้งกระบวนการของกรรมกรเพื่อปฏิวัติ
เมื่อถึงเวลาอันควร ซาบิชเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การคอมินเทอร์น (Commintern)
ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมการปฏิวัตินอกแดนรัสเซีย (คอมินเทอร์น คือองค์การคอมมูนิสต์สากล
มาจากคำว่า Communist International มีที่มาจากองค์การกรรมกรสากล
ซึ่งยุบและตั้งใหม่เป็นครั้งที่ ๓ จึงใช้ชื่อนี้ ตามความประสงค์ของเลนิน
ที่จะให้เกิดคอมมูนิสต์ทั่วโลก)
ติโตได้เป็นสมาชิกคณะกรรมการพรรคคอมมูนิสต์ใต้ดินของท้องที่
และไม่นานเขาก็ถูกจับกุม แม้ศาลจะยกฟ้อง แต่ก็ถูกตำรวจเพ่งเล็ง
ติโตทำงานตามที่พรรคสั่ง เช่น หาสมาชิกใหม่ให้พรรค
และในที่สุดก็ทำงานธรรมดาไม่ได้ จึงต้องทำงานการเมืองใต้ดินเต็มที่
เขาเคยถูกจับถูกพิพากษาจำคุก แต่สามารถหนีหายตัวไปก่อนจะถูกลงโทษ
การต่อสู้ทางการเมืองของติโตทำให้เขาเป็นที่สนใจ
ของผู้นำในองค์กรคอมมิวนิสต์รัสเซีย
เขาจึงได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากโมซา ปิยาเดและปาวเล เกรโกริด
หมอชาวโครแอตซึ่งมีความรู้และประสบการณ์สูงกว่า
ติโตถูกจับและจำคุกระหว่าง
ค.ศ. ๑๙๒๘ ถึง ๑๙๓๔
ด้วยเหตุที่เขาเคยชินอยู่ในคุก เขาได้ใช้เวลาศึกษาเรียนรู้การเมือง
ซึ่งจำเป็นในการฝึกแบบคอมมูนิสต์ โดยมีเจ้าหน้าที่คอมินเทอร์น
ลอบนำเอกสารคอมมูนิสต์เข้ามาให้ศึกษาในคุกซึ่งผู้คุมไม่เข้มงวดนัก
ในปี ๑๙๓๔ เมื่อออกจากคุกแล้ว เขาเป็นตัวเก็งที่จะ
เลื่อนฐานะในพรรค คอมินเทอร์นจัดหาเงินให้ติโตใช้
จัดที่อยู่ให้แต่ติโตต้องหาทางหลบเลี่ยงตำรวจเอาเอง
การอยู่ในยูโกสลาเวียเป็นการเสี่ยงอันตรายมาก
เมื่อเขาได้รับมอบหมายให้ไปที่กรรมการกลางพรรคอมมูนิสต์แห่งยูโกสลาเวีย
ที่เวียนนาเขาจึงได้โอกาสทองที่จะออกไปทำงานจากนอกประเทศ
เขาไปรายงานตัวที่เวียนนาอันเป็นจุดที่ไม่มีการการถอยกลับ
เขาได้รับนามรหัสหลายชื่อตลอดเวลาที่ทำงานคอมมูนิสต์อันผิดกฎหมาย
แต่รหัสที่ได้รับที่เวียนนาตอนนั้นคือ ติโต อันเป็นชื่อที่เขาเกิดชื่อเสียง
ติโตทำงานใต้ดินอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่กรรมการพรรคที่อยู่นอกประเทศที่เวียนนา
ด้วยเหตุที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในวิทยาการที่จำเป็น
ประกอบกับได้รับการสนับสนุนการเงินจากคอมินเทอร์น
แต่เมื่อพระราชาธิบดียูโกสลาเวียถูกปลงพระชนม์
ผู้สืบราชสมบัติเกรงว่าพวกคอมมูนิสต์จะฉวยโอกาส
ติโตก็อาจประสบอันตรายได้ ต้นปี ค.ศ. ๑๙๓๕
ติโตไปประจำที่มอสโคว์ มีโอกาสพบปะคอมมูนิสต์คนสำคัญ ๆ จากทั่วโลก
และได้เห็นสตาลิน (Stalin) ในโอกาสเปิดประชุมโลกครั้งที่ ๗ ของคอมินเทอร์น
ซึ่งติโตเข้าร่วมในฐานะเลขานุการของคณะยูโกสลาเวีย
การชำนาญภาษารัสเซียให้ประโยชน์แก่ติโตมาก เขาได้ทำหน้าที่ล่าม
เมื่อคณะผู้แทนเดินทางไปเยี่ยมที่ต่าง ๆไม่นานติโตได้เรียนรู้ว่า
คอมินเทอร์นเต็มไปด้วยความขัดแย้งส่วนตัวและเล่ห์กลต่าง ๆ นานา
ทั้งมีสายลับทุกหนทุกแห่งที่พร้อมจะรายงานความผิดแก่นายงานชาวรัสเซีย
ซึ่งปกครองคอมินเทอร์นอย่างไม่ปรานีและดูถูกกวดขันสมาชิกพรรคของประเทศด้อยกว่า
ซึ่งคอมินเทอร์นควรจะมีหน้าที่ช่วย เมื่อสตาลินเริ่มการกวาดล้างครั้งใหญ่
ติโตยังอยู่ที่มอสโคว์ ปรปักษ์เก่า ๆ ของสตาลินถูกจับกุมและประหารชีวิต
พวกคอมมูนิสต์ที่ไม่เป็นชาวรัสเซียก็เริ่มถูกจับกุม
เคราะห์ดีที่ติโตได้รับอนุญาตให้กลับเวียนนาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๖
เลขาธิการพรรคอมมูนิสต์ยูโกสลาเวียซึ่งยังคงเป็นคนเดิมที่ติโตไปรายงานตัว
เมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๔ นั้น ได้ถูกเรียกตัวไปมอสโคว์ใน ค.ศ. ๑๙๓๗
พรรคคอมมูนิสต์ยูโกสลาเวียได้ย้ายที่ทำการไปยังปารีส ที่นี่ติโตได้ทำงานอย่างเต็มกำลัง
“เหมือนผีเข้า” พรรคยังอยู่นอกกฎหมายและอ่อนแอมาก
ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ ติโตได้เริ่มสร้างองค์การใหม่ พยายามสร้างความแข็งแกร่ง
โดยรับสมาชิกใหม่ เขาเลือกผู้ร่วมงานอย่างระมัดระวัง
ส่วนมากเป็นผู้ที่ยังเยาว์และเขาจะสามารถฝึกได้ด้วยตนเอง การหาคนใหม่
การจัดงานใหม่คงจะประสงค์ไม่ให้คอมินเทอร์นระแวงสงสัยตัวเขาด้วย
ผู้ที่เขาเลือกมีคุณสมบัติสำคัญคือ ความภักดีต่อติโตในฐานะเลขาธิการพรรค
การยอมรับคำสั่งใช้ความฉลาดและไหวพริบในการทำตามคำสั่ง
และความสามารถที่จะทำงานเป็นชุดปฏิบัติการ
ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ ติโตได้รับแต่งตั้งเป็นทางการในตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมูนิสต์
แห่งยูโกสลาเวีย ภัยคุกคามจากฝ่ายนาซีของฮิตเลอร์ในเยอรมัน
และฝ่ายฟาสซิสต์ของมุสโสลินีในอิตาลี
เริ่มเห็นได้ชัดในช่วงปี ๑๙๓๗ –๑๙๓๙ ยูโกสลาเวียกำลังถูกคุกคาม
โดยถูกบีบอย่างหนักให้เข้ากับฝ่ายอักษะ (Axis)
และทำสนธิสัญญาระหว่างเยอรมันกับอิตาลี ซึ่งหมายถึงการเสียเอกราช
ซึ่งชาวยูโกสลาเวียยอมไม่ได้ จึงมีผู้หันมาสนับสนุน
พรรคคอมมูนิสต์ซึ่งเป็นพรรคเดียวที่ตั้งบนรากฐานเพื่อชาติยูโกสลาเวียแท้ ๆ
ในขณะที่พรรคอื่น ๆ ตั้งอยู่บนรากฐานความต้องการของภาค
เช่น พรรคประชาธิปไตยเซอร์บ (Serbian Democratic Party)
พรรคชาวนาไครแอต (Croatian Peasant Party) เป็นต้น
ในการเป็นเลขาธิการพรรคคอมมูนิสต์ ติโตต้องประสบอุปสรรคมากมาย
เนื่องจากความสัมพันธ์กับคอมินเทอร์นั้นทำให้เขาอยู่ในระหว่างอันตราย
เพราะสตาลินกำลังเพ่งเล็งคอมมูนิสต์นอกประเทศ
เขาจึงมีศัตรูทั้งในมอสโคว์และในหมู่สมาชิกพรรคในยูโกสลาเวีย
เพราะมีผู้ต้องการตำแหน่งนี้มาก ด้วยถือว่ามีเกียรติ มีชื่อเสียง
มีอำนาจและมีรายได้มาจากคอมินเทอร์น
เขาถูกฝ่ายปฏิปักษ์พยายามกำจัดหรือให้เขาถูกถอดออกจากตำแหน่ง
อย่างไรก็ดี ติโตมีเพื่อนที่มีอิทธิพลในมอสโคว์ช่วยให้เขารอดพ้น
จากการกวาดล้างของสตาลิน นอกจากนี้ เขายังมีความสามารถส่วนตัว
กล้าเผชิญผู้ที่กล่าวหาและลุกขึ้นต่อสู้เขามีภูมิหลังที่ถูกต้องในความหมายของคอมมูนิสต์
คือเขาเป็นกรรมกรที่เกิดมาจากครอบครัวชาวนาผู้ยากจน
เขารู้ภาษาที่ใช้มากในคอมินเทอร์นอย่างแตกฉาน
คือภาษาเยอรมันและรัสเซีย และเขายังมี โชคดีอย่างมหัศจรรย์
ทำให้เอาตัวรอดได้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙–๑๙๔๕)
ติโตพยายามต่อสู้เพื่อเอกราชอธิปไตยของยูโกสลาเวีย
ท่ามกลางอุปสรรคนานัปการ
ติโตเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ยูโกสลาเวียถูกคุกคามจากพวกนาซีซึ่ง
เข้าควบคุมเศรษฐกิจของประเทศเกือบทั้งหมด และได้รับการสนับสนุนทางการเมือง
อย่างหนักแน่นจากผู้นำยูโกสลาเวียบางคน แต่ติโตก็ไม่อาจช่วยประเทศของตน
ได้ในช่วงแรกของสงคราม เขาได้รับมอบหมายให้แปลประวัติของพรรคคอมมูนิสต์
ซึ่งเขียนโดยสตาลิน
จากภาษารัสเซียเป็นภาษาเซอร์โบ-โครแอต ซึ่งใช้กันในยูโกสลาเวีย
ซึ่งเป็นภาระที่ลำบากเพราะต้องถูกตรวจตรามิให้แสดงความเห็นผิดเพี้ยน
ไปจากลัทธิแม้แต่น้อยจึงเป็นงานสำคัมาก
ติโตเองทราบดีว่าการทำภารกิจให้ลุล่วงไปด้วยดีเป็นหนทางเดียว
ที่จะหลบกลับไปประเทศของตนได้ ดังนั้นในช่วง ๒ ปีแรกของสงคราม
ติโตต้องไปอยู่มอสโคว์ถึง ๑๑ เดือนเมื่อติโตเดินทางจากรัสเซียกลับสู่ยูโกสลาเวีย
ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๐ นั้น
เขาต้องเสี่ยงต่อการถูกจับมาก ต้องใช้หนังสือเดินทางและวีซ่าปลอม
และเล็ดลอดเข้ามาด้วยเส้นทางวกวน โดยได้รับความช่วยเหลือจาก
เจ้าหน้าที่คอมินเทอร์นสองคนที่เดินทางไปพร้อมกัน
ทันทีที่เขาถึงยูโกสลาเวียก็ได้คืนสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคในยูโกสลาเวีย
เป้าหมายอันสำคัญก็คือ การทำลายรัฐบาลที่มีอยู่ในเวลานั้น
และให้รัฐบาลปฏิวัติคอมมูนิสต์ยึดการปกครอง
ติโตไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ ติโตเริ่มวางแผนโดยการสร้างพรรคคอมมูนิสต์
ที่สามัคคีมีวินัย เชื่อฟังกรรมการบริหารซึ่งตัวเขาเป็นผู้นำ
ตั้งกรรมการอย่างมีระเบียบทั่วทุกภาคของประเทศและจัดหาทุนด้วยความช่วยเหลือ
จากเพื่อนชนชั้นกลางที่ร่ำรวย และเพื่อนร่วมงานที่คุ้นเคยกับพวกตระกูลสูง
เพราะปฎิบัติการภายในของพรรคมิได้รับการสนับสนุนจากคอมินเทอร์นเสียแล้ว
ติโตสามารถรวบรวมทุนดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด
คือการปฏิวัติให้ยูโกสลาเวียเป็นคอมมูนิสต์ ยูโกสลาเวียได้พยายามทำตัวเป็นกลาง
ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ในที่สุดรัฐบาลก็ถูกบังคับ
ในค.ศ. 1941 ให้ทำสนธิสัญญากับฮิตเลอร์ เพื่อร่วมกับเยอรมนีในการบุกรัสเซีย
เนื่องจากชาวยูโกสลาเวียเกลียดชังพวกนาซีมาก รัฐบาลจึงถูกกระทำรัฐประหาร
โดยกลุ่มนายทหาร มีนายพลเอก ดูซาน ซีโมวิช (Dusan Simovic)
เป็นหัวหน้ากระทำรัฐประหาร
และเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามพระราชโองการของพระเจ้าปีเตอร์
ซึ่งมีประกาศให้ทรงบรรลุนิติภาวะ การรัฐประหารครั้งนี้ทำให้ฮิตเลอร์ถือว่า
ยูโกสลาเวียเป็นศัตรูและต้องทำลายโดยเร็วที่สุด
เยอรมันเริ่มโจมตีกรุงเบลเกรดทางอากาศและบุกยูโกสลาเวียด้วยยานยนต์
และยานเกราะจากฐานในประเทศบัลแกเรีย ภายในสัปดาห์เดียว
ยุทธวิธีสงครามแบบสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg)
และอาวุธที่มีเหนือกว่าของเยอรมันก็สามารถเอาชนะกองทัพเล็ก ๆ
ของยูโกสลาเวียเมื่อฝ่ายเยอรมันได้ครอบครองส่วนใหญ่ของประเทศยูโกสลาเวีย
พระราชาธิบดีและรัฐบาลก็หนีออกนอกประเทศ นายพลกาลาฟาโตวิช (Kalafatovic)
ซึ่งสวมหน้าที่ผู้บัญชาการสูงสุดต่อจากนายพลซีโมวิช ได้ขอเจรจาหยุดยิง
ยูโกสลาเวียกำลังถูกแผนการเชือดเฉือน เพราะฮิตเลอร์ต้องการให้ประเทศยูโกสลาเวีย
ถูกลบล้างจากแผนที่ ชาวยูโกสลาเวียซึ่งแตกแยกกันอยู่แล้วได้ช่วยให้แผนนี้ง่ายขึ้น
กระบวนการอุสตาซี (Ustasi) ได้ประกาศตั้งรัฐอิสระแห่งโครแอเซีย ภายใต้ผู้นำ “หุ่น”
อันเต ปาเวลิช (Ante Pavelic) ซึ่งอยู่ใต้อำนาจของกองทหารเยอรมันในทางปฏิบัติ
นอกจากรัฐหุ่นแห่งโครแอเซีย ยูโกสลาเวียยังถูกตัดออกเป็นสิบหน่วย
อยู่ในความยึดครองของกลุ่มประเทศอักษะ ฮิตเลอร์ไม่รู้นิสัยของชาวยูโกสลาเวีย
การแบ่งแยกครั้งนี้จึงทำให้เยอรมันเสียประโยชน์
เพราะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวของชาวยูโกสลาเวียซึ่งติโตได้พยายามอยู่แล้ว
นอกจากนั้นกลุ่มประเทศอักษะที่ได้รับส่วนแบ่งก็มิได้มีความพอใจ
ในส่วนของตนจนเกิดความไม่ปรองดองกัน
ติโตจึงใช้ความสับสนจากสถานการณ์นี้เพื่อประโยชน์ของตน
เมื่อฮิตเลอร์เตรียมบุกรัสเซีย ติโตยังตั้งกองบัญชาการอยู่ที่ซาเกร็บเมืองหลวง
ของโครแอเซีย
วันก่อนที่เยอรมันโจมตีเบลเกรด
มีการลงนามสนธิสัญญามิตรภาพระหว่างยูโกสลาเวียและรัสเซีย
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่น่ายินดีมาก แต่ในที่สุดฮิตเลอร์เตรียมบุกรัสเซีย
จึงถอนกำลังรบชั้นยอดออกจากยูโกสลาเวีย
ติโตพยายามต่อสู้โดยหวังจะได้อาวุธจากรัสเซีย
แต่ถูกปฏิเสธ ติโตมิได้ย่อท้อ เขาห็นว่าความสำเร็จของฝ่ายคอมมูนิสต์ของเขาขึ้นอยู่
กับการต่อต้านการบุกรุกจากต่างประเทศ
ไม่ว่าจากที่ใด เขาจึงสั่งให้พวกคอมมูนิสต์ตั้งกลุ่มเล็ก ๆ
ในทุกเมืองทุกหมู่บ้าน สะสมอาวุธและฝึกใช้อาวุธ
ตลอดจนการเตรียมการด้านอื่น ๆ
ให้พร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งได้ทันที ก่อนที่ติโตจะย้ายกองบัญชาการไปเบลเกรด
ปาเลวิชผู้นำรัฐหุ่นโครแอเซียดำเนินนโยบายให้รัฐโครแอเซียเป็นรัฐคาธอลิค
และเป็นที่อยู่ของชาวโครแอตเท่านั้น ทั้งนี้เป็นเหตุให้ชาวเชอร์บในโครแอเซีย
ซึ่งถือศาสนาออร์ธอดอกซ (Orthodox)
จำนวนเกือบสองล้านคน (ประมาณ ๑ ใน ๓ ของพลเมืองทั้งหมด)
ถูกทหารอุสตาซีปราบปรามอย่างป่าเถื่อน
ผู้ต่อต้านอุสตาซีไม่ว่าจะเป็นชาวยิว ชาวยิปซี ชาวโครแอต นับล้าน ๆ
ถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมในปี ค.ศ. ๑๙๔๑–๑๙๔๒ คนจำนวนหลายหมื่นคน
จึงกลายเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาล และหันมาสนับสนุนติโตอย่างมาก นาซีบุกรัสเซีย
ติโตได้รับคำสั่งจากมอสโคว์ให้ปฏิบัติการอย่างสุดกำลัง
เพื่อช่วยสหภาพโซเวียตต่อสู้เยอรมันและพวก
แม้จะเป็นคำสั่งที่ติโตรอคอย แต่ติโตก็ยังประสบปัญหาหลายเรื่อง
เช่น มีกลุ่มต่อสู้ซึ่งพันเอก ดราจา มิโฮโลวิช (Colonel Draza Mihailovic)
เป็นหัวหน้า เรียกว่าพวกเชตนิก (Chetniks) ปฏิบัติการเป็นเอกเทศ
จุดหมายหลักคือ รักษาประเพณีของเซอร์เบียและของพระมหากษัตริย์
เป็นกลุ่มที่ชิงชังชาวโครแอตมาก เพราะถือว่า
ชาวโครแอตทุกคนต้องรับผิดชอบในทารุณกรรมของพวกอุสตาซี
ที่ทำให้ชาวเซอร์บต้องล้มตายลงเป็นจำนวนมากในโครแอเซียและบอสเนีย”
นอกจากนี้มิไฮโลวิชยัง “เกลียดพวกคอมมูนิสต์อย่างเข้ากระดูกดำ”
ติโตและมิโฮโลวิชเคยพบกันเพื่อเจรจาเรื่องปฏิบัติการร่วมหลายครั้ง
แต่ก็ไม่สำเร็จ ติโตได้เป็นผู้นำฝ่ายปาร์ติซาน (Partisans)
ซึ่งหมายถึงผู้ร่วมกระบวนการของประชาชนเพื่อเอกราช
ชื่อนี้คอมมูนิสต์เคยใช้เรียกพวกกองโจรตอนสงครามกลางเมืองในประเทศสเปน
ในช่วงแรกติโตเสียเปรียบมิโฮโลวิชซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลยูโกสลาเวีย
และได้เป็นรัฐมนตรีกลาโหมของรัฐบาลพลัดถิ่น
ทั้งติโตและมิโฮโลวิชต่างแข่งกันขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ
ติโตพยายามที่จะร่วมมือกับฝ่ายเชตนิก แต่ก็ไม่เป็นผล
ในที่สุดก็เกิดสงครามกลางเมือง ระหว่างเชตนิกกับปาร์ติซาน
ในระยะแรกฝ่ายเชตนิกได้เปรียบเพราะได้รับความรับรองและความช่วยเหลือจาก
ฝ่ายพันธมิตรแต่เมื่อมิโฮโลวิชไม่ยอมก่อวินาศกรรมใส่ฝ่ายเยอรมันและอิตาเลียน
และฝ่ายพันธมิตรทราบว่ามิโฮโลวิชทำงานร่วมกับฝ่ายเยอรมัน จึงเลิกช่วยเหลือในที่สุด
เนื่องจากติโตเห็นว่าทางสู่อำนาจคือการสร้างสรรค์กระบวนการ
ประกอบด้วยยูโกสลาเวียล้วนๆเพื่อต่อสู้กับฝ่ายเยอรมันและพวก
เขาจึงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทุกเชื้อชาติ
เขาเคยกล่าวในเดือนธันวาคมค.ศ. ๑๙๔๒ ว่า
การต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติบ้านเมืองต้องหมายถึงเสรีภาพของ
ชาวโครแอต สโลวีน เซอร์บ มาเซโดเนียน ซิปตาร์
มุสลิมพร้อมกันหมดและจะนำมาซึ่งอิสรภาพ เสมอภาค
และภารดรภาพสำหรับทุกชนชาติใน ยูโกสลาเวีย
ต่อมาติโตได้พบว่ารัฐบาลรัสเซียไม่ยอมส่งอาวุธมาช่วย
ซึ่งอาจเป็นเพราะเกรงใจฝ่ายสัมพันธมิตร ติโตผู้เคยได้รับการสั่งสอนให้ถือว่า
สหภาพโซเวียตเป็นผู้บันดาลทุกสิ่งอย่างได้ จึงผิดหวังและขมขื่นมาก
ดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ องค์การคอมินเทอร์นถูกสตาลินยุบไป
ติโตเคยคิดจะติดต่อกับอังกฤษแต่ก็พบกับอุปสรรคหลายอย่าง เมื่อติโตผิดหวังจากรัสเซีย
ติโตต้องนำพวกปาร์ติซานต่อสู้ตามลำพัง และถูกคุกคามอย่างหนักจากฝ่ายเยอรมัน
ต่อมาอังกฤษส่งนายทหารติดต่อมาประเมินผลของพวกเชตนิกในยูโกสลาเวีย
และได้ตระหนักว่ากระบวนการของติโตมีผลในทางตรึงกองกำลังรบของเยอรมัน
และอิตาเลียนก็เริ่มให้ความช่วยเหลือสนับสนุนติโตตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. ๑๙๔๓
ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๔๔ ติโตได้รับความช่วยเหลือทั้งจาก รัสเซียและฝ่ายสัมพันธมิตร
แต่ความช่วยเหลือของรัสเซียที่ล่าช้าและน้อยกว่าฝ่ายสัมพันธมิตร
ทำให้ติโตมีอิสระที่จะเป็นผู้ดำเนินสงครามเอง เขารับผิดชอบในการชี้ขาด
ในการปฏิบัติการทางทหารที่สำคัญทั้งหมดรวมทั้งการต่างประเทศ
จึงเป็นการสร้างรากฐานเพื่อเป็นประมุขของประเทศในอนาคต
ในระหว่างการสู้รบ ติโตไม่เคยทอดทิ้งทหารที่บาดเจ็บแม้ว่ากำลังฝ่ายเยอรมัน
จะรุกใกล้เข้ามาและการลำเลียงคนเจ็บจะทำให้เคลื่อนไหวได้ช้าลง
กองทัพปาร์ติซานได้มาบรรจบกับกองทัพแดงในยูโกสลาเวีย
ร่วมปลดปล่อยเซอร์เบียและเข้ากรุงเบลเกรดพร้อมกันในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๔
กองทัพที่ทรงพลังของติโตมีประโยชน์ในการกู้ชาติ
ต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตรและเป็นกำลังสำคัญที่สุดที่จะค้ำจุนติโต
ในการต่อสู้กับสหภาพโซเวียต(รัสเซีย)เพื่อรักษาเอกราชของยูโกสลาเวีย*
ในการเลือกตั้งหลังการยุติสงครามในค.ศ.๑๙๔๕ ติโตได้รับคะแนนสนับสนุน
อย่างท่วมท้นจากประชาชน โดยได้รับคะแนนกว่าเก้าสิบส่วนร้อยของผู้ออกเสียง
การที่ติโตถูกทอดทิ้งให้ดำเนินการต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวโดยไม่มีการแทรกแซง
จากมหาอำนาจใดๆกลับเป็นข้อสำคัญในความสำเร็จของการปฏิวัติคอมมิวนิสต์
ในยูโกสลาเวียดังนี้ ติโตจึงเป็นผู้ปั้นคอมมูนิสต์ ชาตินิยม และเอกราช
ให้เป็นรูปปฏิมากรรมที่หาที่เปรียบมิได้ รูปการณ์ทางการเมืองดังนี้
ซึ่งได้มาเรียกกันว่า“ติโตอิซึ่ม” (Titoism) จึงแข็งแกร่งจนสามารถผ่านการปะทะ
กับสหภาพโซเวียตภายหลังได้ __________________________________________________


*ยูโกสลาเวีย (Yugoslavia) เป็นชื่อเรียกของการแบ่งแยกประเทศบริเวณ
คาบสมุทรบอลข่าน ในทวีปยุโรป ในช่วงศตวรรษที่ ๒๐ ความหมายของคำว่า
ยูโกสลาเวีย คือ "ดินแดนของชาวสลาฟตอนใต้"
๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ราชอาณาจักรเซอร์บ โครแอต และสโลวีน
ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ราชอาณา จักรยูโกสลาเวีย
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ จนกระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒
ได้ถูกยึดครองโดยฝ่ายอักษะ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๘
(ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒) ภายใต้ชื่อ สหพันธรัฐประชาธิปไตยยูโกสลาเวีย
(DFY) ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น สหพันธ์สาธารณรัฐประชาชนยูโกสลาเวีย (FPRY)
และ สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย ในเวลาต่อมา
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ สหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย (FRY)
และชื่อยูโกสลาเวียได้เลิกใช้เปลี่ยนชื่อเป็น เซอร์เบียและมอนเตเนโกร
ในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖