มติชน
ภาพ/เรื่อง
วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552
ในเดือนพฤศจิกายน (จำวันที่ไม่ได้) พ.ศ.2515
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 และ
สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ
เสด็จฯไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน
ส่วนพระองค์ ที่วัดธาตุประสิทธิ์ กิ่งอำเภอนาหว้า
(เดี๋ยวนี้เป็นอำเภอ) จังหวัดนครพนม นั้น
ผมตามเสด็จฯด้วย
ในตำแหน่งและหน้าที่นายตำรวจราชสำนักประจำ
หลังจากที่ทรงถวายผ้าพระกฐินแล้ว ทั้งสองพระองค์เสด็จฯไปยัง
ที่ว่าการกิ่งอำเภอนาหว้า ทรงพระดำเนิน (เดิน)
เยี่ยมราษฎรที่คอยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่อย่างล้นหลาม
ผมเดินนำอยู่ในระยะที่ค่อนข้างใกล้ชิด จึงเห็นทันที
เมื่อสมเด็จฯทรงนั่งลงตรงหน้าหญิงคนหนึ่งที่นั่งพนมมือเฝ้าฯอยู่ริมทาง เสด็จฯ
ที่ผมนึกไม่ถึงก็คือ สมเด็จฯทรงเอื้อมพระหัตถ์ไปจับและลูบผ้านุ่งของหญิงผู้นั้น
แล้วรับสั่งถามว่า "ทำเองหรือจ๊ะ?"
หญิงผู้นั้นกราบบังคมทูลตอบด้วยสำเนียงไทยอีสานว่า "ต่ำเอง"
คำว่า "ต่ำ" แปลว่าทอ
ผม เป็นชาวอีสาน จึงรู้ว่าผ้านุ่งของหญิงผู้นั้นทออย่างประณีตด้วยไหมย้อมสีแบบมัดหมี่
และเฉพาะผืนนั้น เจ้าของจะต้องเก็บรักษาไว้เป็นของมีค่าและหวงแหนในครอบครัว
จะหยิบออกมาใช้นุ่ง ก็เฉพาะในโอกาสสำคัญ อย่างในการรับเสด็จฯวันนั้น
ผม ทราบภายหลังว่า สมเด็จฯทรงพระราชปรารภว่า ฝีมือทอผ้าของหญิงชาวอีสานนั้น
ละเอียด ประณีต หากพัฒนาสีและลายให้งดงามขึ้น แล้วขาย
ก็จะเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและนอกประเทศ
และจะเป็นอาชีพที่เป็นล่ำเป็นสัน เสริมอาชีพหลักของครอบครัวคือเกษตรกรรม
หลัง จากนั้น ทรงพระกรุณาให้เจ้าหน้าที่รับซื้อผ้าไหมพื้นเมืองจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ
ส่งเข้าไปทูลเกล้าฯถวายทอดพระเนตร ทรงพินิจพิจารณาทุกชิ้นด้วยพระองค์เอง
ในที่สุดจึงมีพระราชเสาวนีย์ให้หาผู้เชี่ยวชาญไปออกแบบลวดลายและสี
แล้วแนะนำราษฎรให้ทอผ้าโดยใช้ลายและสีตามแบบของผู้เชี่ยวชาญ
นั่นคือที่มาของพระราชดำริ "ศิลปาชีพ" ของสมเด็จฯ
อัน ที่จริง สมเด็จฯทรงสนพระราชหฤทัยอยู่แล้วในหัตถกรรมพื้นบ้าน
เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2508 ขณะที่ทรงแปรพระราชฐานประทับอยู่ที่วังไกลกังวล
อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้น บ่ายวันหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์
ไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรที่หมู่บ้านเขาเต่า สมเด็จฯทรงตามเสด็จฯ
และได้ทรงชักชวนให้หญิงชาวบ้านหัดทอผ้าฝ้ายขาย โปรดเกล้าฯ
ให้หาครูทอผ้าจากจังหวัดราชบุรีไปช่วยสอนให้ด้วย
ปรากฏว่าต่อมากิจการทอผ้าขาวม้าและผ้าซิ่นพื้นเมืองของราษฎรบ้านเขาเต่า
ดำเนินไปด้วยดี
ถือได้ว่าเป็นพระราชกรณียกิจแรกที่สมเด็จฯทรงริเริ่มขึ้น
ด้วยพระราชประสงค์ที่จะให้หัตถกรรมของราษฎรกลายเป็น "ศิลปาชีพ"
(อาชีพที่มาจากศิลปะฝีมือของชาวบ้าน)
พระราชดำริเกี่ยวกับศิลปาชีพ นั้น ต่อมามิได้จำกัดอยู่เพียงที่ผ้าฝ้ายและผ้าไหม
แต่ยังขยายออกไปยังหัตถกรรมอย่างอื่น เช่น การทำเครื่องถม เครื่องคร่ำ เครื่องเงิน
เครื่องทอง การประดิษฐ์ตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ การทอผ้าจก
การทำเครื่องจักสานด้วยย่านลิเภา และด้วยไม้ไผ่ลายขิด การแกะสลักไม้
การทำเครื่องเคลือบดินเผา การสลักหนัง การสลักหิน การปัก
และการทำดอกไม้ประดิษฐ์
ในปี พ.ศ.2520 โปรดให้ตั้งโรงฝึกศิลปาชีพขึ้นในบริเวณสวนจิตรลดา
ใกล้พระราชฐานที่ประทับ คือพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โรงฝึกศิลปาชีพนี้
เป็นที่ฝึกหัดหัตถกรรมไทยแขนงต่างๆ แก่นักเรียน
ซึ่งเป็นบุตรหลานของราษฎรที่มีฐานะยากจน
และมีหน่วยก้านดีควรสนับสนุนให้เรียนต่อให้สูงขึ้นทางด้านศิลปหัตถกรรม
นอกจากนั้น โรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดายังเป็นศูนย์กลางการติดต่อ
ประสานงานของเจ้าหน้าที่ และสมาชิกศิลปาชีพทั่วประเทศ
เป็นศูนย์กลางรับซื้อ เก็บรักษา และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพทั้งหมด
และเป็นที่ทำการของกองศิลปาชีพ สำนักราชเลขาธิการด้วย
ต่อมาจึงโปรดให้ตั้งศูนย์ฝึกศิลปาชีพขึ้นอีก หลายแห่งในต่างจังหวัด
คือ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (พ.ศ.2524)
ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม ตำบลเจริญศิลป์
อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร (พ.ศ.2526)
ศูนย์ศิลปาชีพบ้านจาร ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร (พ.ศ.2526)
ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง (พ.ศ.2527)
ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอเมือง
จังหวัดแม่ฮ่องสอน (พ.ศ.2528)
ศูนย์ศิลปาชีพเครื่องปั้นดินเผา พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์
อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส (พ.ศ.2528)
และศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง หมู่ที่ 5 ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว
อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช (พ.ศ.2537)
ในชั้นแรก ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สนับสนุนงานศิลปาชีพ
ต่อมาข้าราชบริพารและผู้มีจิตศรัทธา
จึงได้รวบรวมเงินจำนวนหนึ่งขึ้นทูลเกล้าฯ
ถวายเพื่อให้ทรงใช้จ่ายในการส่งเสริมศิลปาชีพ
และกราบบังคมทูลขอให้ทรงจัดตั้งเป็นมูลนิธิ จึงโปรดเกล้าฯ
ให้ตั้ง "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์"
ขึ้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 ทรงดำรงตำแหน่ง
เป็นประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิ ต่อมาใน พ.ศ.2531
ได้เปลี่ยนชื่อมูลนิธิเป็น "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ
ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ"
อันเป็นชื่อที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
เวลาเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ใด หากทรงทราบว่ามีราษฎรยากจน
ก็จะทรงพระกรุณารับไว้เป็นสมาชิกศิลปาชีพ
และโปรดให้ตั้งโครงการศิลปาชีพขึ้นในหมู่บ้านนั้นๆ
ประเภทของศิลปาชีพนั้น อาศัยชนิดของวัตถุดิบ
และความสามารถทางศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมของชาวบ้านเป็นหลัก
ในปัจจุบัน นอกจากศูนย์ศิลปาชีพต่างๆ แล้ว
ยังมีโครงการศิลปาชีพอีกมากกว่า 200 โครงการ
กระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศ
เพราะการฝึกศิลปาชีพตามพระราชดำริ
ราษฎรทั่วประเทศเป็นจำนวนมากจึงได้มีความรู้
สามารถพัฒนาหัตถกรรมพื้นบ้านให้มีคุณภาพสูงขึ้น
และสามารถใช้ศิลปาชีพเป็นทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม
เฉพาะที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม แห่งเดียว
ในปัจจุบันมีศูนย์หัตถกรรมผ้าทอของชาวบ้านอยู่ไม่น้อยกว่า 8 แห่ง
ผ้าไหมมัดหมี่ของไทยนั้น
บัดนี้กลายเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ทั่วโลกรู้จักและต้องการ
ศิลปาชีพ ตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
เป็นประจักษ์พยานของความรัก ความผูกพัน
และความห่วงใยอันยาวนานและต่อเนื่อง
ที่สมเด็จฯทรงมีและยังมีอยู่ ต่อคนไทย
ประจักษ์พยานที่คนไทยจะไม่มีวันลืม
ขอจงทรงพระเจริญ หน้า 6 |