หนังสือ "ด้วยดวงหฤทัย ที่ระลึก 7 รอบพระชนมายุ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์"
ผลิต โดยกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง
รวบรวมเรียบเรียงพระประวัติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะพระโสทรเชษฐภคินี
บรรยายความผูกพัน ของ "พี่ที่มีต่อน้อง"
ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จนเมื่อทรงเจริญพระชนม พรรษาแล้ว
ยังคงรู้สึกผูกพันแน่นแฟ้นไม่เสื่อมคลาย
ในพระประวัติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
กรมหลวงนรา ธิวาสราชนครินทร์ มีคำบรรยายว่า
ทรงเป็น "สมเด็จพระโสทรเชษฐภคินี" ของพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์
คือพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8
และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์รัชกาลปัจจุบัน
คำว่า "สมเด็จพระโสทรเชษฐภคินี" ที่หมายถึงพี่สาวคนโตผู้ร่วมท้องกัน
ยังปรากฏในพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้ประกาศว่า
" สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
เป็นสมเด็จพระโสทรเชษฐภคินีอันสนิทแต่พระองค์เดียว
ที่ได้ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์กันมาแต่ยังทรงพระเยาว์
ทั้งเป็นผู้ที่ทรงเคารพนับถือในฐานะที่ทรงมีอุปการคุณมาแต่หนหลัง"
ในปีที่ผ่านมา กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง
จัดพิมพ์หนังสือ "ด้วยดวงหฤทัย ที่ระลึก 7 รอบพระชนมายุ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์"
แบ่งย่อยออกเป็น 3 เล่ม แทรกเนื้อความแปลเป็นภาษาอังกฤษทุกหน้า
ในเล่มแรกชื่อ "กุลเชษฐ์แห่งพระบรมจักรีวงศ์" นั้น
เขียนชื่อเรื่อง "สม เด็จพระโสทรเชษฐภคินี"
เป็นคำภาษาอังกฤษว่า "A Loving Sister" อันหมายถึง "พี่สาวผู้เป็นที่รัก"
เนื้อหากล่าวถึงความรักความผูกพันระหว่างพี่น้อง
ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
อันมีต่อพระอนุชาทั้งสองพระองค์ ความว่า
เมื่อ ครั้งทรงพระเยาว์ ทรงช่วยสมเด็จพระบรมราชชนนี
ดูแลพระอนุชาทั้งสองพระองค์ ด้วยความรักอันบริสุทธิ์ของพี่ที่มีต่อน้อง
ทรงมีความใกล้ชิดสนิทสนมรักใคร่กลมเกลียวกัน
แม้เมื่อทรงเจริญพระชันษาแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
และพระอนุชาก็ยังคงมีความรู้สึกผูกพันอย่างแน่นแฟ้นไม่เสื่อมคลาย
ข้อความในพระนิพนธ์ "เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์"
ทรงเล่าถึงความทรงจำที่ทรงมีต่อพระอนุชาพระองค์แรกไว้ว่า
" ข้าพเจ้าเองจำเหตุการณ์สำคัญนี้ไม่ได้เลยเพราะอายุเพียง 2 ขวบ 4 เดือน
แต่คงยินดีอย่างมากที่ได้น้อง ซึ่งคงไม่เป็นเรื่องธรรมดานัก
เพราะในหลายครอบครัวลูกคนโตมักจะอิจฉาน้องที่อ่อนกว่าไม่มากนัก
เพราะพ่อแม่มักให้ความสำคัญแก่ลูกคนใหม่
แต่ทูลกระหม่อมฯ แม่ และแหนน (พระพี่เลี้ยง)
คงได้อธิบายเรื่องน้องที่จะเกิดไว้อย่างดี
ข้าพเจ้าจึงรู้สึกรักและอยากช่วยเลี้ยงน้อง"
พระฉายาลักษณ์ของเจ้านายเล็กๆ ทั้งสองพระองค์ซึ่งพระเชษฐภคินี
ทรงโอบและทอดพระเนตรพระอนุชาพระองค์แรกด้วยดวงพระเนตรสุกใส
อบอุ่นและอาทร ดังที่ปรากฏในพระนิพนธ์ "เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์"
บ่งบอกถึงความผูกพันอันลึกซึ้ง
และความรักอันบริสุทธิ์ที่ "พี่มีต่อน้อง"ได้เป็นอย่างดี
เมื่อพระอนุชาองค์ที่สองเสด็จพระราชสมภพ
ความทรงจำที่ทรงมีต่อพระอนุชาซึ่งทรงเอ่ยพระนามว่า
พระองค์เล็ก ปรากฏในพระนิพนธ์เล่มเดียวกันนี้ว่า
" ข้าพเจ้าอยาก เห็นน้องใกล้ๆ และอยากแตะต้อง
แต่ที่โรงพยาบาลเขาก็ให้ดูเพียงหลังกระจกที่กั้นห้องเด็กไว้
เมื่อกลับมาบ้านแล้วข้าพเจ้าได้ถามแหนนว่า
"น้องคนใหม่นี้พูดไทยได้หรือเปล่า"
ในที่สุดหลังจากที่ได้ไปพักผ่อนประมาณ 1 สัปดาห์
แม่และน้องก็กลับมาบ้าน คราวนี้ข้าพเจ้าก็สนุกใหญ่ แหนนจะอาบนํ้า
แต่งตัวหรือทำอะไรให้น้อง ข้าพเจ้าต้องเข้าไปยุ่งอยู่ด้วยเสมอ
จนแหนนทนไม่ไหว ต้องไปฟ้องแม่
ข้าพเจ้าเลยถูกห้ามไม่ให้เข้าไปยุ่งในเวลาเหล่านั้น"
พระฉายาลักษณ์ที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ทรงฉายพร้อมด้วยพระอนุชาครั้งทรงพระเยาว์จำนวนมาก
ที่ทรงเชิญมาลงพิมพ์ในพระนิพนธ์ "เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์"
เช่น ภาพขณะทรงอุ้มพระอนุชาพระองค์เล็ก
ด้วยความทะนุถนอมประดุจประคองเครื่องแก้ว ที่บอบบาง
ทั้งยามประทับบนพระเพลาและในอ้อมพระพาหา
หรือทรงฉายร่วมกันทั้งสามพระองค์
จะเห็นได้ว่าพระอนุชาองค์เล็กจะประทับใกล้ชิดพระเชษฐภคินีเสมอ
เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมราชชนกทรงพาครอบครัวเสด็จกลับเมืองไทยใน พ.ศ.2471 นั้น
เจ้านายเล็กๆ แห่งราชสกุลมหิดลทั้ง 3 พระองค์ได้เจริญพระชันษาขึ้นโดยลำดับ
แต่ละพระองค์ทรงแยกย้ายไปทรงศึกษาในโรงเรียนต่างๆ
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ "เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์" ว่า
" ข้าพเจ้าคงได้เข้า โรงเรียนราชินีเมื่อปลายปี 2471
หรือเดือนพฤษภาคม ปี 2472 ปีนี้น้องทั้งสองยังไม่ได้เข้าโรงเรียน
พอถึงปี 2473 พระองค์ชายก็ได้เข้าเรียนในชั้นอนุบาล 1
โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย
พระองค์เล็กถึงแม้ว่ายังไม่ได้เข้าโรงเรียน มักจะติดรถไปส่งพี่ๆ"
ถึง แม้ว่าแต่ละพระองค์จะต้องทรงแบ่งเวลาส่วนหนึ่งสำหรับการศึกษา
แต่ความผูกพันรักใคร่ระหว่าง "พี่น้อง"
ที่เคยมีมาแต่ทรงพระเยาว์ก็หาได้ลดน้อยลงไปไม่ เจ้านายเล็กๆ
"พี่น้อง" ทั้งสามพระองค์ยังคงปฏิบัติพระองค์ใกล้ชิดกันเสมอ
เช่น เมื่อทรงเข้าโรงเรียนกันหมดทุกพระองค์แล้ว
จะเสด็จไปโรงเรียนพร้อมกันโดยรถยนต์พระที่นั่งตระเวนส่งพระอนุชาองค์โตก่อน
จากนั้นจึงส่งพระองค์ที่โรงเรียนราชินี เมื่อเสด็จกลับจะไม่กลับพร้อมกัน
พระอนุชาองค์เล็กก็ติดรถไปรับด้วย
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงยกตัวอย่าง
"ไปไหนไปด้วยกัน" ไว้ในพระราชนิพนธ์เดียวกันนี้ว่า
" ทุกเช้าพี่น้องสามคนจะต้องออกไปโรงเรียนด้วยกัน
รถยนต์จะแวะส่งพระองค์เจ้า ภูมิพลฯ ที่โรงเรียนมาแตร์เดอีก่อน
แล้วจะแล่นไปที่โรงเรียนเทพศิรินทร์เพื่อส่งพระองค์เจ้าอานันทฯ
และในที่สุดก็จะพาข้าพเจ้าไปที่โรงเรียนราชินี"
เมื่อทรงว่างจากการศึกษาเล่าเรียนเจ้านายเล็กๆ
ทั้งสามพระองค์ก็จะทรงเล่นด้วยกันในหมู่พี่น้องภายในวังสระปทุม
ดังมีพระฉายาลักษณ์ทรงเล่นซนเช่น
เด็กสามัญทั่วไปด้วยความสำราญพระหฤทัย
ในพระ นิพนธ์ "เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์" เช่น ทรงเล่นรถเข็น
เล่นปั้นดินนํ้ามัน เล่นนํ้า เล่นทราย และเล่นโกนจุก
ตามที่ทรงเห็นพิธีโกนจุกที่ตำหนักของสมเด็จฯ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ซึ่งทรงจำมาเล่น เป็นต้น
ในเวลาต่อมา เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงพาพระโอรสธิดา
ไปประทับยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เจ้านายเล็กๆ
ทั้งสามพระองค์เจริญพระชันษาขึ้นโดยลำดับ
ความผูกพันใกล้ชิดจากเดิมที่เคยทรงเล่นแบบเด็กๆ
ได้เปลี่ยนมาเป็นการเล่นที่มีประโยชน์ต่อการศึกษา
ทรงเล่าถึงเรื่องนี้ไว้ว่า "พี่ น้องก็ช่วยกันหาความรู้โดยการเล่นต่างๆ
เช่น เวลารับประทานอาหารจะเล่นทายอะไรกันต่างๆ
บางพักจะเป็นเกมภูมิศาสตร์ บางพักก็จะเป็นเกมประวัติศาสตร์
แต่พระเจ้าอยู่หัวและพระอนุชาจะเล่นอะไรหลายอย่าง
ซึ่งจะนำประโยชน์มาได้ภายหลัง"
ในฐานะที่ทรงเป็นพระเชษฐภคินี จึงทรงช่วยเหลือพระอนุชาในด้านต่างๆ
ที่ยังไม่ทรงถนัด เช่น ทรงรับหน้าที่อ่านหนังสือพิมพ์
ที่มาจากเมืองไทยให้พระอนุชาฟัง
รวมทั้งทรงเป็นผู้ถวายคำแนะนำพระอนุชาให้
ทรงเขียนไปรษณียบัตรส่งไปถวาย สมเด็จฯ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ความผูกพันรักใคร่ของเจ้านายเล็กๆ แห่งราชสกุลมหิดล
จึงเป็นสิ่งที่อยู่ในดวงพระหฤทัยของทุกพระองค์
นับตั้งแต่ทรงพระเยาว์โดยไม่เสื่อมคลายตลอดมา
การเปลี่ยนแปลง ครั้งใหญ่ของครอบครัวราชสกุลมหิดล
นับตั้งแต่สูญเสียสมเด็จพระบรมราชชนก
หัวหน้าครอบครัว เมื่อ พ.ศ.2472 ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ใน พ.ศ. 2477
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล
ทรงอยู่ในลำดับแรกแห่งพระราชวงศ์ซึ่งสมควรจะทรงสืบราชสันตติวงศ์
รัฐบาล ได้กราบบังคมทูลเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล
พระอนุชาพระองค์ใหญ่ขึ้นครองราชย์
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์จึง
ดำรงพระฐานะสมเด็จพระโสทรเชษฐภคินีเพียงพระองค์เดียว
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงเล่าถึงการขึ้นครองราชย์ของพระอนุชาพระองค์แรก
ไว้ในนิตยสารพลอยแกมเพชร ปีที่ 4 ฉบับที่ 79 วันที่ 15 พ.ค. พ.ศ.2538 ว่า
" ฉันไม่รู้ เพราะฉันไม่อยู่ ฉันไปอยู่ที่ภูเขา
จำไม่ได้เลยว่าทราบได้อย่างไรว่ารัชกาลที่ 8 ได้ขึ้นครองราชย์
ฉันไม่อยู่ในเหตุการณ์ แต่ทราบทีหลังว่าเป็นอย่างไร
พี่น้องพูดกันอย่างไร แม่ทำอย่างไรที่รัฐบาลไปเฝ้า
ไปขอไปทำอะไรทุกอย่าง"
เมื่อ พระอนุชาขึ้นครองราชสมบัติ พระอิสริยยศของสมาชิก
ในราชสกุลมหิดลได้เปลี่ยนแปลงด้วย "แม่" ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น
สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ "พี่สาว" ทรงได้รับสถาปนาเป็น
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา และ "น้องชาย"
ทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช
แต่สมาชิกในครอบครัวราชสกุลมหิดลทุกพระองค์ยังคงปฏิบัติพระองค์เหมือนเดิม
ไม่เปลี่ยนแปลง ดังที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ "เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์"
ว่าได้กราบทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวว่าทรง
มีความรู้สึกอย่างไรเมื่อพระเชษฐาเสด็จขึ้นครองราชย์ มีรับสั่งว่า
" ไม่มีความรู้สึกอะไร ไม่ได้มีความตื่นเต้นอะไรเป็นพิเศษ
ทรงจำได้ว่า สององค์พี่น้องทรงเห็นว่าตลกดี
ที่ผู้ที่เข้าเฝ้าวางท่าสง่าผ่าเผยอย่างทาง การเหลือเกิน"
เมื่อพระอนุชาพระองค์ ใหญ่ทรงขึ้น ครองราชสมบัติเป็น "ยุวกษัตริย์"
และมีพระราชภารกิจในฐานะประมุขของประเทศ
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้โดย
เสด็จเคียงข้างพระอนุชาไปทรงปฏิบัติพระราชภารกิจน้อยใหญ่
โดยไม่ทรงเบื่อหน่าย แม้ว่าบางครั้งจะไม่สามารถโดยเสด็จได้
สมเด็จพระโสทรเชษฐภคินีก็จะทรงปฏิบัติด้วยความสนพระหฤทัย
ในปี พ.ศ.2481 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรก สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
สมเด็จพระบรมราชชนนี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน
ได้โดยเสด็จฯ ด้วย ทรงฟื้นความหลังในครั้งนั้นพระราชทาน
นิตยสารพลอยแกมเพชร ปีที่ 4 ฉบับที่ 79 วันที่ 15 พ.ค. พ.ศ.2538 ความว่า
" ตอนกลับมา 2 พระองค์คงมีความสุข
เพราะกลับมาด้วยเรือเดินสมุทรเดนมาร์กเล็กๆ ไปเกาะสีชัง
จากเกาะสีชังจะขึ้นเรือรบศรีอยุธยา ท่านก็สนุกกัน
แต่ที่ฉันตกใจและตื้นตันด้วยคือเมื่อขึ้นเรือรบขึ้นมาจากสันดอน
ขึ้นมาตลอดแม่นํ้าเจ้า พระยา สองฝั่งแม่น้ำคนคอยเต็มคอยดู
เพราะบ้านเมืองไม่มีพระเจ้าแผ่นดินมานานแล้ว คอยดูว่าเด็กแค่ไหน"
ตลอดเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระ ปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
ประทับทรงงานอยู่ในประเทศไทย
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ได้โดยเสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีและพระอนุชา
ไปทรงปฏิบัติพระกรณีย กิจเคียงข้างยุวกษัตริย์พระองค์น้อยเสมอ
เช่น เสด็จในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ณ พระราชอุทยานสราญรมย์
การเสด็จนิวัตพระนครครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ.2488
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์มิได้โดยเสด็จเช่นครั้งแรก
แต่ก็ทรงติดตามพระราชกรณียกิจต่างๆ จากพระราชหัตถเลขา
ที่ทรงมีไปถึงกันตลอดการเดินทาง เช่น
ก่อนที่จะเสด็จฯ ถึงประเทศไทยทรงได้รับพระราชหัตถเลขา
ที่ทรงเล่าเรื่องจากที่ต่างๆ
นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลยัง
ทรงเล่าเรื่องราวต่างๆ ในกรุงเทพฯ
ทรงอธิบายเกี่ยวกับการประทับที่พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง
พระราชหัตถเลขาลำดับท้ายๆ
ที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
ที่ทรงมีมาพระราชทานล้วนแล้วแต่
แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดและ ความไว้วาง
พระราชหฤทัยสมเด็จพระเชษฐภคินี
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงเล่าถึง
"อุปสรรคในนาทีสุดท้าย" ว่า "มีขึ้นมาได้จริงๆ ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489
เวลาใกล้ 9 นาฬิกา" คือการเสด็จสวรรคตของ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหา อานันทมหิดล พระอนุชาธิราชซึ่ง
ทรงเป็นที่รักยิ่ง การสูญเสียในครั้งนี้นำความโศกเศร้าครั้งยิ่งใหญ่
มาสู่ครอบครัวราชสกุลมหิดล อีกครั้ง
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้
ทรงพระนิพนธ์ถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า
"ยุวกษัตริย์พระองค์หนึ่งเสด็จสวรรคตไป
ยุวกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งก็เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อไป"
การที่ทรงบอกเล่าด้วยประโยคที่เรียบง่ายนี้
สะท้อนให้เห็นถึงพระหฤทัยของ
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ที่ทรงเข้มแข็งยิ่ง
เมื่อ พระอนุชาพระองค์เล็กได้สืบราชสมบัติ
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ยังคงบำเพ็ญพระกรณียกิจถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงแบ่งเบาพระราชภาระ โดยปฏิบัติวัฏฐาก
สมเด็จพระบรมราชชนนีอย่างใกล้ชิด
และรักษาพยาบาลเมื่อทรงพระประชวร
และในงานส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมราชชนนี
ที่ได้ทรงริเริ่มและดำเนินการไว้ ได้แก่
โครงการต่างๆ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของพสกนิกร
นอกจากนี้ยังทรงปฏิบัติพระราชกิจ
แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสต่างๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในพระองค์หนึ่ง
ที่ทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศ "ทรงกรม"
เป็นชั้นสูงสุดแห่งพระบรมราชวงศ์
แสดงถึงความผูกพันที่แน่นแฟ้นของสองพระองค์