รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายสถาบันทางปัญญา
ผู้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนสร้างระบบการศึกษา
และเป็นอีกครั้งที่ทีมข่าวศูนย์ข้อมูลข่าวปฏิรูปประเทศไทยได้
รับเกียรตินั่งพูดคุยถึงการทำงาน
หลังจากอาจารย์วรากรณ์สวมหมวกอีกใบในฐานะรองประธานคนที่ 2
ของคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2
ถึงวันนี้ได้จุดเน้นการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 แล้วหรือยัง
รศ.ดร.วรากรณ์ : “ในภาพรวมของการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 มีกรอบวางไว้แล้ว
อาจารย์ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ได้วางไว้ของสคศ.ได้ทำไว้แล้ว ภายในปี 2556
จะพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา
และการเรียนรู้ของคนไทย เพิ่มโอกาสการเรียนรู้
และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
โดยมีกรอบการปฏิรูปอย่างเป็นระบบ 4 กรอบด้วยกัน คือ
1.พัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่
2.พัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่
3.พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ และ
4.พัฒนาการบริหารจัดการใหม่ เป็นกรอบที่ต้องดำเนินการตามนี้
เพียงแต่ว่าจะปฏิบัติอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะกรรมการต้องพิจารณาต่อไป
สำหรับแนวทางที่นายกรัฐมนตรีพูดไว้แล้ว คิดว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมาก
นายกรัฐมนตรีพูดถึงความล้มเหลวที่ผ่านมาของการปฏิรูปการศึกษา
มีความจริงที่ต้องยอมรับในการทำงานด้านการศึกษา คือ
การศึกษาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างคนเท่านั้น
ถ้าจะให้ไปข้างหน้าได้ต้องขับเคลื่อนทุกภาคส่วนในสังคมให้ไปในทิศทางเดียว กันด้วย
ภาคเอกชน ภาคสื่อสารมวลชน สื่อก็ต้องขยับเคลื่อนไปด้วยกัน
ไม่ใช่เพียงแต่กระทรวงศึกษาธิการเพียงอย่างเดียว ขณะที่หน่วยงานของราชการ
ยังผูกขาดอำนาจในเรื่องของการจัดการที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลง”
ถามถึงเป้าหมายสำคัญการปฏิรูปการศึกษารอบนี้
รศ.ดร.วรากรณ์ : “เป้าหมายของการปฏิรูปอยู่ที่เด็ก เยาวชน และลูกหลาน
ไม่ได้อยู่ที่ในความก้าวหน้าในเรื่องซีของบุคคลที่ทำงานอยู่ในวงการศึกษา
หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ลูกหลานของเรามีคุณภาพ
ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีได้พูดไว้สองข้อ ซึ่งผมเชื่อว่า
เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าเราจะมาปฏิรูปกัน
แล้วดูแต่ในเรื่องของโครงสร้างเพียงอย่างเดียว
แม้ว่าโครงสร้างจะต้องมีการปรับปรุงบ้าง แต่จุดสนใจไม่ควรไปที่เรื่องของโครงสร้าง
อยู่ที่จะทำอย่างไรให้เด็กได้รับประโยชน์มากที่สุด ควรมุ่งเน้นไปที่ตัวเด็ก
ถ้าเริ่มคิดที่จะไปจากกรอบการบริหารไปถึงโรงเรียน ขอให้คิดกลับทาง
ควรจะเริ่มต้นที่ตัวเด็กก่อน ตรงไปที่โรงเรียนแล้ว
ย้อนกลับไปว่าต้องบริหารอย่างไร เพื่อจะได้สิ่งที่เราต้องการ”
“เด็กจะดีได้ต้องมาจากครู ถามว่าแล้วครูที่ดีจะมาจากไหน
ต้องไล่ไปเรื่อยๆ แต่ถ้าไปเริ่มต้นต้องพัฒนาพื้นฐานเป็นทบวง กว่าจะไปถึงครูถึงเด็ก
ผมว่าก็หายไประหว่างทางเรียบร้อยแล้ว
แต่ถ้าคิดกลับกันเริ่มต้นจากเด็กว่าเด็กต้องการอะไรบ้าง
อะไรที่ทำให้โรงเรียนดีขึ้น อะไรที่ทำให้เด็กดีขึ้น
ก็ต้องย้อนกลับไปว่าต้องการอะไรบ้าง
สิ่งนี้อาจจะเป็นวิธีการที่จะช่วยให้การมองเห็นเรื่องนี้ชัดเจนมากขึ้น”
พูดถึง “สมัชชาปฏิรูปการรูปการศึกษา”
เหมือนหรือต่างกับสมัชชาสุขภาพ
“สมัชชาปฏิรูปการรูปการศึกษา เป็นการเชิญคนหลากหลายมาประชุมกัน
และรับฟังความคิดเห็น แล้วก็พูดกันถึงเรื่องวิธีปฏิบัติ
ลำดับความสำคัญความเห็นต่างๆ เพราะว่าเป้าหมายได้ออกมาแล้ว
ให้วิธีการปฏิบัติทั้งหลายคณะกรรมการของอาจารย์ยงยุทธ ยุทธวงศ์
ได้ออกมาแล้วก็เหลือแต่ปฏิบัติ
ทางสมัชชาฯ จะฟังความเห็นคนที่หลากหลาย เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษา
มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะการศึกษานั้นสำคัญเกินกว่า
การที่จะทิ้งไว้ในมือคนในวงการศึกษา
ต้องมอบให้กับคนที่อยู่นอกวงการศึกษาด้วย
และคงไม่เหมือนกับสมัชชาสุขภาพ
สำหรับสมัชชาการปฏิรูปการศึกษาในความเห็นส่วนตัว
คิดว่าหมายถึงการประชุม มากกว่า”
เมื่อถามถึงความไม่เป็นธรรมทางสังคม
ที่หลบซ่อนอยู่ลึกๆ ในระบบการศึกษาไทย
รศ.ดร.วรากรณ์ ได้ยกกรณีที่หลายมหาวิทยาลัย
พยายามตั้งแคมป์กวดวิชาเพื่อการสอบตรงของเด็ก
เพื่อฝึกเด็กให้เข้ามาในมหาวิทยาลัย โดยเห็นว่า
จะเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กที่มีเงินและไม่มีเงิน
“คนอื่นหรือมหาวิทยาลัยเอกชนทำคงไม่เป็นไร
แต่ประเด็นคือเป็นเรื่องเชื่อมต่อโยงกับอาจารย์คณะที่เข้ามหาวิทยาลัย
อย่างนี้ก็ไม่ค่อยดี เพราะว่าทำให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบขึ้นมา
ว่า ในการติวในการสอน ถ้ามีอาจารย์จากคณะนั้น
สถาบันนั้นมา ก็ทำให้เกิดความสงสัย
ความกริ่งเกรงว่ามีข้อได้เปรียบเสียอะไรเกิดขึ้น
(จากการเข้าแคมป์กวดวิชาของสถาบันนั้นๆ)
ก็คล้ายๆ กับโรงเรียนติวที่มีอาจารย์
จากโรงเรียนนั้นมาสอนเรื่องนี้ไม่ค่อยสวย”
“มหาวิทยาลัยต้องพิจารณา หลายคณะทำแบบนี้สมควรทำหรือไม่
ถ้าเอกชนทำก็ทำโดยที่ต้องไม่มีอะไรเกี่ยวพันกับมหาวิทยาลัยหรือคณะเลย
แต่ถ้ามีคนของคณะเข้าไปเกี่ยวทำให้สงสัยในการได้เปรียบเสียเปรียบ
เหมือนกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไปตั้งโรงเรียนกวดวิชเสียเอง ผมก็ไม่เห็นด้วย
ซึ่งทางสภามหาวิทยาลัยมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการกำกับดูแล
ฉะนั้นต้องกำกับในเรื่องนี้ว่าสมควรให้มีเหตุการณ์ลักษณะนี้หรือไม่”
จริงหรือไม่ที่รัฐลงทุนการศึกษาไปที่อุดมศึกษามากกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน
รศ.ดร.วรากรณ์ : “คงไม่จริง ถ้าการลงทุนในที่นี้หมายถึงเงินที่ลงไปนั้น
เงินส่วนใหญ่ลงไปที่การศึกษาพื้นฐานมาก
ส่วนอุดมศึกษาได้เพียง 50,000 ล้านบาทต่อปี
การศึกษาขั้นพื้นฐานได้ตั้ง 250,000 ล้านบาท
ถ้าดูในรูปงบประมาณแต่ถ้าดูในรูปความช่วยเหลืออุดมศึกษา
ได้รับการช่วยเหลือมากมีการกู้ยืมต่างๆ
ทำให้คนในอุดมศึกษาสามารถได้เรียน ได้รับทุน เรียกว่าได้มาก
เพราะคนที่เรียนในมหาวิทยาลัยไม่ได้จ่ายตามทุนจริง เช่น
คนเรียนแพทย์ต้นทุนปีละล้านกว่าบาท
วิศวกรรมศาสตร์ประมาณปีละ 800,000 กว่าบาท
ต้นทุนคนที่เรียนจ่ายเพียงปีละไม่กี่หมื่นบาท
อย่างนี้เท่ากับว่ารัฐเก็บเงิน 800,000 บาท แต่บอกว่าช่วยเหลือคนที่เรียน
โดยออกเองแค่ 50,000 บาท อีก 750,000 บาทเอาคืนไป
ถ้าถามว่าคนเหล่านี้เป็นใครก็คนมีฐานะมีการศึกษาทั้งนั้น
ที่ลูกสามารถจะไปสอบเข้าได้
คนพวกที่ไม่มีฐานะก็แพ้ตกออกตั้งแต่ม.5 ม.6 ป.4 ป.5 ป.6 แล้ว”
เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ดร.วรากรณ์ เห็นว่า แพ้คัดออกเด็กพวกนี้
ต้องได้รับการอุดหนุนช่วยเหลือด้านการศึกษาด้วย
มีการศึกษานอกระบบตามอัธยาศัยที่มีประสิทธิภาพ
"แน่นอนประเทศไทยจำเป็นต้องการคนที่มีการศึกษาทางด้านแพทย์ วิศวกร
แต่ว่าไม่ใช่ในราคาที่ต่ำ ต้องเก็บในราคาที่สูงกว่านี้
เชื่อว่าแพงกว่านี้พ่อแม่คนที่มีลูกเรียนวิศวกรรมศาสตร์ก็ยินดีที่จะจ่าย ได้
คนไหนไม่มีทุนก็ให้เรียนฟรีไป นำเงินที่ได้มากๆ
จากคนมีฐานะที่สามารถจะจ่ายได้มาเก็บไว้
แล้วนำมาเป็นทุนไว้ให้คนที่ไม่มีได้รับสิทธิตรงนี้
เราจะได้ไม่ต้องจ่ายเงิน ส่วนนี้ให้กับอุดมศึกษา
แต่ให้กับสพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) แทน”
เมื่อถามว่า สุดท้ายการศึกษาจะช่วยสร้างความสมานฉันท์
ช่วยแก้ความทุกข์ยากของแผ่นดิน ได้อย่างไรบ้าง
รศ.ดร.วรากรณ์ นั่งคิดอยู่นาน ก่อนจะยอมรับว่า
“ยังหาคำตอบเรื่องนี้ไม่ได้ กำลังคิดและทำการศึกษาเรื่องนี้อยู่”
มติชน
วันที่ 08 สิงหาคม พ.ศ. 2553
"นักการเมือง-นักวิชาการ"สับแหลกระบบการศึกษาสอนไม่เชื่อมโลกความจริง
ปั้นเด็กให้เก่งด้านเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น. เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ห้องประชุมอาคารข่าวสด
เครือมติชนได้จัดโครงการอบรม "ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง"
และมีการเสวนาพิเศษในหัวข้อ "การปฏิรูปการศึกษา"
โดยมีนายวรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
รองประธานคนที่ 2 ของคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา
และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ
สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา
นายวรากรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีโรงเรียน 31,000 โรง
ขณะที่มีครูจำนวน 430,000 คน ซึ่งกระจายในแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน
ส่วนมากกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการ
ไม่สามารถสั่งให้ครูไปในพื้นที่ต่างๆได้ ไม่เหมือนอัยการ
นอกจากนี้ครูยังเป็นองค์กรการเมืองใหญ่ที่สุด
หลายคนที่เป็นนักการเมือง ก็มีเส้นทางการเมืองมาจากครู
นอกจากนี้ อีก 10 ปีข้างหน้า ครูประมาณ 2 แสนคนจะเกษียณอายุราชการ
เราจึงต้องหาคนมีคุณภาพเติมเข้าไป ยิ่งไปกว่านั้น
อาจารย์ในคณะครุศาสตร์อีก 48% ก็จะเกษียณเช่นกัน
ส่วนจะปฏิรูปอย่างไรนั้น ทุกคนต้องมีความคิดตรงกันว่า
การศึกษาสำคัญกว่าจะทิ้งไว้ในมือของกระทรวงศึกษาธิการ
ทุกคนต้องร่วมมือกัน รวมทั้งต้องยกเครื่องบริหารจัดการครู
พัฒนาคุณภาพครู เช่น หาคนมีคุณภาพมาเป็นครู
ให้โรงเรียนมีความเป็นอิสระมากขึ้น ปรับปรุงหลักสูตรครั้งใหญ่
เพื่อให้ปฏิสัมพันธ์กับความเป็นจริง
"ถ้าทำให้การศึกษาเป็นเรื่องธรรมดา
เป็นธรรมชาติของเราเอง ทุกคนก็จะมีส่วนร่วมแก้ไข"
นายวรากรณ์ กล่าว
ด้านนายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษา คือ
1.ความเหลื่อมล้ำ ทุกคนอยากอยู่ในเขตการศึกษา1 ไม่มีใครอยากไปอยู่บ้านนอก
2.ความยืดหยุ่น ต่างประเทศบางแห่งให้นักเรียนข้ามไปเรียนบางวิชากับโรงเรียนแห่งอื่นได้
หากคิดว่าตลาดวิชาในโรงเรียนไม่มีวิชาที่ตัวเองสนใจ เรียกว่า Cross Education
แต่เมืองไทยยังไม่มีแบบนี้ ทางออกคือต้องเชื่อมหลักสูตรเข้าหากันให้มากที่สุด
"เรื่องของการไม่เชื่อมชีวิตจริงกับเข้าชีวิต ในโรงเรียน
ลูกผมอยู่ป.2 เพิ่งสอบมิดเทอม ถามว่าวันนี้สอบอะไร
เขาก็ตอบกลับมาว่าวันนี้ข้อสอบถามว่า สิทธิกับเสรีภาพต่างกันอย่างไร
ผมยังตอบไม่ค่อยได้ คำถามก็คือว่าเขาเอาความรู้ที่มันเหมาะกับช่วงวัย
ความรู้ที่เหมาะจะไปใช้ชีวิตของเขามากน้อยแค่ไหน
เป็นการท่องอย่างเดียวหรือเปล่า เราจะเอาระบบข้าราชการไปแก้ปัญหานี้ไม่ได้
ต้อง ทำให้โรงเรียนรับความช่วยเหลือจากผู้มีประสบการณ์ในระบบการทำงาน
คนจากโรงงาน คนจากออฟฟิศต่างๆ หน่วยต่างๆ
ช่วยกันให้คำแนะนำให้ความรู้กับเด็ก เพราะคนนั้นจะรู้ดีกว่า"
ขณะที่นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การเรียนแบบ "อะไร" และ "ทำอย่างไร"
ดูเหมือนไม่พอ เพราะจะได้ผลชั่วคราว แต่ควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า "ทำไม" เช่น
นักเรียนจีนเรียนวิชาภาษาอังกฤษ พวกเขารู้ว่าเรียนแล้วจะสามารถเปิดโลกทัศน์ได้
นำไปสู่ความรู้อื่นๆได้ เขาก็ตื่นตัวและรู้ว่าเรียนทำไม
จากนั้นจะตะเกียกตะกายไปหาสิ่งนั้นอย่างสนุกสนาน ไม่ใช่แค่เรียนให้สอบผ่าน
"มีโรงเรียนบางโรงเรียนอ้าง วิชาการดีเลิศ ดนตรีดีเยี่ยม กีฬาเด่น
แต่ที่จริงพบว่ามีเด็กกลุ่มหนึ่งวิชาการอย่างเดียว
รูปร่างอ้วนท้วนใส่แว่นหนาเตอะ กีฬาไม่เล่น ดนตรีไม่รู้จัก
และในโรงเรียนเดียวกัน นักเรียนเล่นกีฬาอย่างเดียว เป็นช้างเผือก
แข่งขันตลอดเวลา เวลาเข้าเรียนแทบไม่มี อ่านหนังสือแทบไม่ออก
แต่ว่าเป็นนักกีฬาทีมชาติในชนิดนั้น
โรงเรียนเดียวกันอีกมีวงโยธวาทิตที่ส่งไปแข่งขันระดับนานาชาติได้
เชิดหน้าชูตาสถาบัน เด็กเหล่านั้นกีฬาไม่เล่น
วิชาการก็ไม่เคยแตะ เพราะซ้อมอยู่ตลอด คำถามคือ
อย่างนี้หรือคือสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นในเด็กคนหนึ่ง
ซึ่งกำลังจะออกมาเป็นคนที่มีความสามารถในสังคม
เราแค่ต้องการให้มีนักเรียนที่ถึงพร้อมด้วยวิชาการพอสมควร
เข้าใจเรื่องกีฬา รู้จักแพ้รู้จักชนะ
เข้าใจเรื่องของดนตรีที่มีส่วนทำให้เกิดสมาธิ
เข้าใจศิลปวัฒนธรรมที่นำไปสู่ความงดงามของโลกอื่นๆ"
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า มีกลุ่มโรงเรียนจำนวน หนึ่ง เรียกว่า"โรงเรียนทางเลือก"
บางโรงเรียนอยู่กลางท้องนา อยู่ต่างจังหวัด และอยู่ฝั่งธนบุรี
ได้จัดการเรียนการสอนแบบใหม่ ทำให้เด็กขวนขวาย
หิวกระหายอยากได้ความรู้ เรียนรู้ร่วมกันไปกับโรงเรียน
ซึ่งเป็นความหวังของกระบวนการศึกษา
เราต้องคิดว่าทำอย่างไรที่จะทำให้โรงเรียนทางหลักเหล่านั้น
กลายเป็นโรงเรียนทางเก่า ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงสักที