วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
มติชนออนไลน์
วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553
ประเทศมอนเตนิโกร (Montenegro)
ที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร
ได้สัญชาติมานั้น เป็นที่รู้จักกันพอควรในบ้านเรา
และเป็นที่รู้จักกันดีในโลกยิ่งขึ้น
หลังจากหนังสือพิมพ์International Herald Tribune
ได้ตีพิมพ์เรื่องของประเทศนี้
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา
ความเป็นมาของประเทศนี้พอสรุปได้ว่า
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของดุล
อำนาจในยุโรปตะวันออกที่มีสหภาพโซเวียต
เป็นพี่ใหญ่ในปี 1989 อันเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงมากมาย
หลายอย่างนับตั้งแต่การพังทลายของกำแพง เบอร์ลิน
การดิ้นรนเป็นอิสระของนานาประเทศ เช่น
การเติบโตของ Solidarity ในโปแลนด์/ Velvet Revolution
ในประเทศเช็กโกสโลวาเกีย ฯลฯ
มอนเตนิโกรเป็นดินแดนเก่าแก่แห่งหนึ่ง
มีรัฐธรรมนูญเป็นของตนเองใน ค.ศ.1855 ในปี 1904
ประเทศนี้ก็หาญกล้าประกาศสงครามกับญี่ปุ่นที่ทำสงครามกับรัสเซีย
มอนเตนิโกรเป็นอาณาจักรอย่างแท้จริงใน ค.ศ.1910
และใน ค.ศ.1918 ถูกบังคับโดยมหาอำนาจ
เมื่อถูกบุกยึดครองโดย Austria-Hungary
ให้ไปรวมกับ Serbia และในที่สุดก็กลาย
เป็นส่วนหนึ่งของ Kingdom of Yugoslavia ในปี ค.ศ.1929
อาณาจักร Yugoslavia ก่อนปี 1992 ซึ่งมีชื่อว่า
The Socialist Federal Republic of Yugoslavia (SFRY)
ประกอบด้วย 6 สาธารณรัฐย่อย
(Slovenia, Croatia, Bosnia and Herzegovina,
Macedonia, Montenegro และ Serbia
และ 2 เขตปกครองพิเศษ Kosovo และ Vojvodina
โดยแบ่งพื้นที่การปกครองหยาบๆ ตามชาติพันธุ์
เมื่อปัญหาเศรษฐกิจภายใน SFRY ซึ่งคุกรุ่นมานานถูกกระหน่ำ
โดยคลื่นการดิ้นรนแยกออกเป็นเอกราชของหลายประเทศ
ตามชาติพันธุ์ในยุโรปตะวันออกหลังการเปลี่ยนแปลงในปี 1989
ก็เกิดสงครามขึ้นระหว่างชาติพันธุ์เหล่านี้
หลายคู่ซัดกันนัวระหว่างปี 1991-1995 ในหลายพื้นที่
โดยเฉพาะในบริเวณที่ไม่มีความแน่ชัดในการเป็นเจ้าของ
เช่นใน Bosnia/ Croatia/ Serbia ฯลฯ
สงครามชาติพันธุ์คร่าวๆ ก็คือระหว่างชาว Serbia
กับชาว Croatia (โดยมีชาว Bosnia เป็นพวก
และระหว่างชาว Bosnia กับชาว Croatia ใน Bosnia อีกต่างหาก
(กลุ่มย่อยของชาว Bosnia ใน Bosnia ก็ฆ่าฟันกันอีก)
ชาวมอนเตนิโกรโดยทั่วไปอยู่ข้างพวก Serbia
และพวก Slovenia อยู่ข้างพวก Croatia และ Bosnia
สงครามฆ่ากันใน Yugoslavia ครั้งนั้นถือว่าดุเดือด
และโหดร้ายที่สุดนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
เพราะเล่นกันแบบล้างเผ่าพันธุ์ เมื่อ UN เข้าแทรกแซง
ก็จบลงได้ในที่สุดโดยแตกแยกออกเป็นประเทศต่างๆ
และมอนเตนิโกรก็เป็นหนึ่งในนั้น
ปัจจุบันมอนเตนิโกรมีประชากรประมาณ 670,000 คน
มีพื้นที่ประมาณ 13,812 ตารางกิโลเมตร
(1.8 เท่าของกรุงเทพฯและปริมณฑล)
ตั้งอยู่ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป
โดยติดทะเล Adriatic มี Podgorica
เมืองใหญ่ที่สุดเป็นเมืองหลวง ปกครองในระบอบประชาธิปไตย
โดยเลือกตั้งประธานาธิบดีทุก 5 ปี
สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงคะแนนเลือก
นายกรัฐมนตรีซึ่งเสนอชื่อโดยประธานาธิบดี
มอนเตนิโกรเป็นประเทศที่มีภูเขาสูงติดทะเล
จึงมีความงดงามที่สุดแห่งหนึ่งจน
ทำให้นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือนาย Milo Djukanovic
ฝันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเศรษฐียุโรปและอาหรับ
เขาต้องการพัฒนาให้ Tivat เป็นเมืองท่าจอดเรือยอชต์
ของเหล่าเศรษฐีเช่นเดียวกับ Porto Mantenegro
ล่าสุดเขาได้ประกาศว่าใครก็ตามที่ลงทุนระหว่าง 500,000-645,000 ยูโร
หรือ 20-25.8 ล้านบาท ก็จะได้สัญชาติของมอนเตนิโกร
ซึ่งคุณทักษิณได้ไปก่อนหน้านี้แล้ว
ถึงแม้การเปิดให้คนทั่วไปมาลงทุนและใจถึงให้สัญชาติแบบนี้จะถูก
วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการ "ขายประเทศ"
โดย MANS หรือกลุ่มเฝ้าดูคอร์รัปชั่น
(ซึ่งเป็นเครือข่ายกับ Transparency International
กลุ่มเฝ้าติดตามคอร์รัปชั่นในระดับโลก)
เพราะเป็นการเปิดช่องให้ผู้คนหลากหลายประเภทมาเป็นพลเมือง
แต่เขาก็ไม่สะทกสะท้านเพราะมีฐานการเมืองในประเทศหนุนอย่างมั่นคง
Djukanovic เป็นนักการเมืองหน้าเก่าที่เป็นคนสำคัญ
ของประเทศมานานพอควรถึงแม้ว่าจะมี
อายุในปัจจุบันเพียง 48 ปีก็ตาม
เขาเป็นประธานาธิบดีมา 7 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีมา 8 ปี
ล่าสุดพรรคเขาได้รับเลือกตั้งในต้นปี 2009
ด้วยจำนวนที่นั่งเกินกว่าครึ่งจนได้อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ซึ่งทั้งหมดรวมกันแล้วเขามีอำนาจอยู่รวม 6 สมัยด้วยกัน
Djukanovic เป็นคนอื้อฉาวพอควร
เมื่อก่อนเป็นสมัครพรรคพวกใกล้ชิดกับนาย Slobodan Milosevic
ผู้ร้ายฆาตกรของโลกชาว Serbia
แต่ต่อมาในปี 1996 ก็โดดหนี
และทิ้งระยะห่างของมอนเตนิโกรจาก Serbia
เขาถูกกล่าวหาว่าในทศวรรษ 1990
เป็นหัวเรือใหญ่ในการค้าบุหรี่เถื่อนระหว่างสงคราม
และมีเอี่ยวในธุรกิจหลายประการในชื่อของคนอื่น
ถึงแม้จะมีเงินเดือนเพียง 1,256 ยูโรต่อเดือน (50,000 บาท)
แต่เขาก็มีเงินลงทุนในบริษัทหลายแห่ง
(คำชี้แจงก็คือในช่วงปี 2006 ที่ไม่ได้มีตำแหน่งใด
เขาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จนรวยจึงมีเงินลงทุนได้)
Djukanovic ผู้มีความสูงถึง 1.9 เมตร
ถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือนาย Stanko Subotic ชาว Serb
ผู้เกี่ยวพันกับการลักลอบนำบุหรี่หนีภาษี
ให้มาทำธุรกิจในประเทศอย่างเปิดเผย
นอกจากนี้รัฐบาลช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคาร First Bank ของประเทศ
ซึ่งน้องชายของเขาถือหุ้นร้อยละ 46 และตัวเขาถือร้อยละ 2.8
โดยเป็นธนาคารเดียวเท่านั้นที่ได้รับเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน
44 ล้านยูโร (1,760 ล้านบาท) จากรัฐบาล
การกระทำของนาย Djukanovic
ในเรื่องการต้อนรับคนมีเงินให้ไปลงทุนอย่างไม่สนใจประวัติ
ตลอดจนความอื้อฉาวในเรื่องคอร์รัปชั่น
ทำให้สั่นคลอนสถานภาพของมอนเตนิโกรใน
การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ EU
นอกจากนี้การลดภาษี VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม)
จากร้อยละ 17 เป็น 7 เป็นการพิเศษให้แก่การลงทุนในโครงการสร้าง Tivat
ก็ทำให้ EU ไม่พอใจเนื่องจากถือว่า
เป็นการกระทำที่ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขัน
มีนักลงทุนคนสำคัญเช่นเจ้าของบริษัทเหมืองทองใหญ่ที่สุดใน
โลกชาวแคนาดา และนักลงทุนใหญ่อื่นๆ
สนใจลงทุนในโครงการท่าเรือและการท่องเที่ยวต่างๆ
แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับผลตอบแทนสูง
ดังที่ตั้งใจกันไว้จนถอนสมอกันไปหลายราย
ปัจจุบันมอนเตนิโกรมีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ
เช่นประเทศยุโรปทั้งหลาย
ผลผลิตอะลูมิเนียมและเหล็กสร้างรายได้จากการส่งออกอย่างสำคัญ
แต่ที่สำคัญก็คือภาคการท่องเที่ยว
ในปี 2008 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 1 ล้านคน
จนรายได้จากการท่องเที่ยวควบคู่กับเงินลงทุน
จากต่างประเทศเป็นตัวขับเคลื่อน สำคัญของเศรษฐกิจ
ความจำเป็นในการอยู่รอดและการพยายามรักษา
ความกินดีอยู่ดีของประชาชน
ให้อยู่ในระดับเดียวกับคนยุโรปอื่นๆ
(รายได้ต่อหัวเป็นเพียงร้อยละ 47 ของรายได้ต่อหัวเฉลี่ยของ EU)
และแข่งขันได้กับประเทศที่เคยเป็นสมาชิกของยูโกสลาเวียมาด้วยกัน
ทำให้ประเทศเล็กอย่างมอนเตนิโกร
ต้องใช้กลยุทธ์ในการระดมทุนที่เสี่ยง
ต่อชื่อเสียงของประเทศและตัวนายกรัฐมนตรีเอง
ถึงแม้ Milo Djukanovic ในวัย 48 ปี
จะเก๋าเกมส์การเมืองเพียงใด
เช่นเดียวกับผู้นำประเทศในวัย 40 ปี คนอื่นๆ เช่น
ประธานาธิบดี Obama และ
Julia Galliard นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียวัยเดียวกัน คือ 49 ปี
นาย David Cameron นายกรัฐมนตรีอังกฤษวัย 44 ปี
แต่ทั้งหมดก็ไม่เคยผ่านประสบการณ์
ที่น่าตื่นเต้นเท่านายกรัฐมนตรีวัย 46 ปีของไทย
ผู้ซึ่งถูกรุมไล่ทุบรถ ฝ่าฟันความเป็นความตาย
เลือดเทหน้าบ้าน ต้องตัดสินใจยามวิกฤต
หน้าสิ่วหน้าขวานหลายครั้งหลายหน
ถูกปองร้าย และที่สำคัญ.....ถูกเอาอึปาบ้านถึง สองครั้ง
มีประเทศไหนบ้างครับที่นายกรัฐมนตรีต้องเผชิญกับอะไรขนาดนี้