ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(ภาพพิมพ์)พ.ศ. ๒๕๔๓
บทความ-สารคดีโดย
ศิลปบัณฑิต สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ เกียรตินิยมอันดับ 2 มหาวิทยาลัยศิลปากร
ศึกษาด้านถ่ายภาพที่ Brooke Institute of Photography
และ California State University,Los Angeles สหรัฐอเมริกา
อาจารย์มานิตย์ ภู่อารีย์ เกิดเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘
ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ ๖๕ ปี
ท่านได้รับการศึกษาทางด้านศิลปะจากวิทยาลัยเพาะช่าง
แล้วจึงสอบเข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
และได้เดินทางไปศึกษาต่อที่สถาบันวิจิตรศิลป์กรุงโรม ประเทศอิตาลี ตามลำดับ
ท่านได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม
มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อปี ๒๕๐๕
และโอนย้ายไปเป็นอาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์
ของมหาวิทยาลัยเดียวกันในเวลาต่อมา
อาจารย์มานิตย์ได้รับราชการก้าวหน้ามาตามลำดับ
โดยเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาประยุกต์ศิลป์ศึกษา คณะมัณฑศิลป์
และเกษียณอายุราชการเมื่อปี ๒๕๓๙
ในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ระดับ ๘
และผู้เชี่ยวชาญพิเศษภาควิชาประยุกต์ศิลป์ศึกษา
อาจารย์มานิตย์ ได้เริ่มทำงานสร้างสรรค์ศิลปะมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา
และได้ปฏิบัติต่อเนื่องมาโดยตลอดไม่เคยหยุดนิ่ง
ประเภทของงานศิลปะที่ท่านทำมีทั้งงานจิตรกรรม ภาพพิมพ์
และงานเครื่องเคลือบดินเผา ท่านได้สร้างผลงานอันทรงคุณค่าเอาไว้มากมาย
และได้นำผลงานเข้าประกวดจนได้รับรางวัลเกียรติยศหลายรางวัล
รางวัลสำคัญที่ท่านได้รับได้แก่
- รางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๒ เหรียญเงิน ประเภทมัณฑนศิลป์
- รางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๓ เหรียญทองแดง ประเภทจิตรกรรมและ
- รางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๓ เหรียญทองแดง ประเภทภาพพิมพ์
จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๙ เมื่อปี ๒๕๐๑
- รางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๑ เหรียญทองประเภทจิตรกรรม
จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ เมื่อปี ๒๕๐๒
- รางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๑ เหรียญทองประเภทภาพพิมพ์และ
- รางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๒ เหรียญเงิน ประเภทจิตรกรรม
จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๑๒ เมื่อปี ๒๕๐๔
- รางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๑ เหรียญทองประเภทภาพพิมพ์ และ
- รางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๒ เหรียญเงิน ประเภทจิตรกรรม
จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๑๓ เมื่อ ๒๕๐๕
จากการที่ท่านได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๑ ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ
ถึง ๓ ครั้ง ทำให้ท่านได้รับเกียรติยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมประเภทภาพพิมพ์
ซึ่งในวงการศิลปะยอมรับนับถือว่าผู้ที่ได้รับเกียรตินี้นับเป็นสุดยอดฝีมือ
ที่ควรยกย่องเอาไว้และถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบเนื่องกันมาว่าท่านเหล่านี้
จะไม่ส่งผลงานเข้าประกวด
ในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติอีก
อย่างไรก็ตาม แม้จะกว่าขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่บรรดาศิลปินน้อยใหญ่ทั้งหลายใฝ่ฝัน
ด้วยวัยเพียงไม่ถึง ๓๐ ปี
อาจารย์มานิตย์หาได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่ตรงกันข้าม
ไฟในการทำงานของท่านยังคงลุกโชนอยู่เสมอโดยจะเห็นได้
จากการที่ท่านยังคงสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
และได้นำออกแสดงในโอกาสต่างๆ นับครั้งไม่ถ้วนทั้งภายในประเทศ
และต่างประเทศอาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อิตาลี อังกฤษ
เยอรมนี บราซิล เนปาล และสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น
ผลงานศิลปะทุกประเภทของท่านเป็นที่ปรารถนาอย่างยิ่งของ
บรรดานักสะสมน้อยใหญ่ทั้งไทยและเทศ แม้จะมีราคาสูงมากก็ตาม
อาจารย์มานิตย์เคยกล่าวเล่นๆ ติดตลกเกี่ยวกับเรื่องผู้สะสมงานของท่านว่า
“หลายคนที่ซื้องานของผมไปเพื่อเก็งกำไรคงจะแช่งให้ผมตายอยู่ทุกวัน
งานที่เขาเก็บไว้จะได้ราคาขึ้นแล้วขายต่อได้แพงๆ”
อาจารย์มานิตย์ ภู่อารีย์ เป็นทั้งศิลปินอาวุโสผู้มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์
เป็นครูบาอาจารย์ผู้ให้ความรู้ทางด้านศิลปะมาเป็นเวลายาวนาน
ทั้งยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิรับเชิญให้เป็นกรรมการตัดสินงานประกวดศิลปะ
ทั้งของภาครัฐและเอกชนเสมอๆ จึงนับว่าท่านเป็นบุคลากรท่านสำคัญ
ในวงการศิลปะของประเทศไทย ผู้ได้ปฏิบัติตนในการสร้างสรรค์สังคมมาโดยตลอด
ท่านจึงได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์)
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๒
โดยส่วนตัว ผมรู้จักกับอาจารย์มานิตย์เป็นอย่างดีมาเป็นเวลาถึง ๑๙ ปีแล้ว
เพราะท่านเป็นอาจารย์สอนวิชาพื้นฐานทางศิลปะของผม
ตั้งแต่เมื่อผมเริ่มเข้าศึกษาในชั้นปีที่ ๑
ที่ คณะมัณฑศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แม้จะไม่ได้พบท่านมาเป็นเวลานาน
แต่ในความรู้สึกของผม ท่านไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของบุคลิกภาพที่เป็นคนสนุกสนานร่าเริงนั้น
ยังคงเหมือนเดิมทุกประการ
ผมยังจำได้ดีถึงความสนุกสนานเมื่อตอนที่นั่งวาดรูปในวิชาของอาจารย์มานิตย์
อยู่ที่บริเวณระเบียงของตำหนักพรรณราย อันเป็นส่วนหนึ่งของวังท่าพระ
ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เคยประทับอยู่
ซึ่งก็คือจุดเดียวกันกับบริเวณที่ผมถ่ายภาพอาจารย์มานิตย์ในภาพที่ท่านเห็นนี้นี่เอง
ในปัจจุบันบริเวณนี้ได้เปลี่ยนไปเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานหอศิลป์
ของมหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์มานิตย์เป็นคนสนุกสนานร่างเริง
และมีเอกลักษณ์ในการสอนที่พิเศษไม่แหมือนใคร
ท่านมักจะมีเรื่องเล่าที่ตลกเฮฮา ประกอบท่าทางที่เรียกเสียงหัวเราะ
จากนักศึกษาได้ตลอดเวลา
แต่ทั้งนี้หาได้หมายความว่าเรื่องที่ท่านเล่าเป็นเรื่องไร้สาระไม่
ตรงกันข้ามท่านได้สอดแทรกสาระและความรู้ที่ท่านต้องการจะสอน
ผ่านวิธีการแบบของท่าน
ได้อย่างแนบเนียน ทำให้ทุกคนได้ความรู้โดย
ไม่เกิดความเบื่อหน่ายแม้แต่น้อย
อันที่จริงผมตั้งใจจะถ่ายภาพอาจารย์มานิตย์
กับผลงานเก่าแก่ชิ้นหนึ่งของท่าน
ซึ่งเป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่ท่านเขียนภาพตัวเองสวมหมวก
โดยผมได้ไปพบภาพนั้นในหนังสือศิลปินแห่งชาติประจำปี ๒๕๔๒
ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ภาพนี้เป็นผลงานตั้งแต่ท่านยังเป็นนักศึกษาอยู่
เมื่อคิดดังนี้แล้วผมจึงติดต่อกับท่านและเรียนถึงวัตถุประสงค์ของผม
แต่น่าเสียดายว่าท่านได้ขายภาพนี้ไปเสียแล้วก่อนหน้านี้ไม่นาน
อย่างไรก็ตาม ท่านก็ได้แนะนำให้ลองไปสอบถามแกลเลอรีที่ซื้องานชิ้นนั้นไป
เผื่อว่าเขาจะยังไม่ได้ขายต่อไปให้ใคร หรือหากขายไปแล้วก็อาจตามไป
ขออนุญาตถ่ายภาพจากเจ้าของภาพได้
แต่หลังจากที่ได้พยายามติดต่อไปทางแกลเลอรีดังกล่าวหลายครั้ง
ก็ไม่ได้รับความร่วมมือช่วยเหลือแต่ประการใดทั้งสิ้น
อาจเป็นด้วยเหตุผลทางธุรกิจหรืออื่นใดก็ไม่สามารถหยั่งรู้ได้
ผมจึงยอมแพ้และยกเลิกความคิดที่จะติดตามภาพนั้นต่อไป
ทั้งที่ยังรู้สึกเสียดายแทนเจ้าของภาพว่าท่านน่าจะพึงพอใจเสียด้วยซ้ำ
ที่จะได้มีภาพศิลปินผู้สร้างผลงานชิ้นนั้นถ่ายคู่กับภาพเขียนล้ำค่าที่ท่านซื้อไป
เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงเรียนให้อาจารย์มานิตย์ทราบ
และขอถ่ายภาพท่านกับผลงานชุดอื่นของท่านแทน
บังเอิญอาจารย์มานิตย์เพิ่งจะเสร็จสิ้นการแสดงผลงานเดี่ยวชุดใหม่ของท่าน
ที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
และท่านก็ยังไม่ได้นำผลงานกลับบ้าน
ท่านจึงได้นัดให้ผมไปถ่ายภาพที่นั่น
ท่านได้อธิบายแนวความคิดในผลงานชุดนี้ว่าท่านได้นำเอาพลังจักรวาล
ที่ท่านได้ศึกษาและปฏิบัติมาเป็นเวลายาวนานเป็นแรงบันดาลใจอันสำคัญ
ในการสร้างสรรค์ผลงาน
โดยท่านเล่าว่าในการทำงานชุดนี้
ท่านทำโดยได้รับพลังจักรวาลที่วิ่งลงมาสู่กลางกระหม่อม ผ่านลำตัว
และสั่งงานให้มือเขียนภาพแต่ละภาพออกมา
งานดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นงานแบบนามธรรมที่เน้น
ในเรื่องของพลังงานสีและเส้นสายนอันเป็นสิ่งที่ท่านเห็น
ในขณะที่จิตของท่านอยู่ในสมาธิ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก
แต่ซับซ้อนเกินกว่าที่ผมจะอธิบายแทนให้ผู้อ่านเข้าใจอย่างถ่องแท้กว่านี้ได้
ผมรู้สึกดีใจที่ได้กลับมาเยี่ยมบ้านเก่าอีกครั้ง
และอดไม่ได้ที่จะนึกย้อนรำลึกถึงวันเก่าๆที่แสนจะสนุกสนานในอดีต
เมื่อผมเดินสำรวจบริเวณที่จะถ่ายจนเป็นที่พอใจ
แล้วก็คิดว่าจะลองเล่นกับการจัดวางผลงานของอาจารย์ให้ดูแปลกไปจากปกติธรรมดาบ้าง
โดยผมได้นำผลงานของท่านหลายชิ้นจัดวางในตำแหน่งต่างๆ
ของภาพตั้งแต่จุดที่อยู่ใกล้กล้อง
ไปจนถึงสุดทางเดินประหนึ่งอยู่ในงานนิทรรศการของท่าน
หากต่างกันตรงที่ว่าการจัดวางออกจะพิสดารกว่าธรรมดาสักหน่อย
ทั้งนี้ต้องการสื่อสารไปถึงความไม่ธรรมดาของเนื้อหาในงานของอาจารย์มานิตย์นั่นเอง
การถ่ายภาพภาพนี้ ผมได้ใช้การผสมผสานกันของแสงแดดตามธรรมชาติ
และแสงไฟถ่ายภาพดวงหนึ่ง เพราะหลังจากที่ลองถ่ายด้วยแสงธรรมชาติ
เพียงอย่างเดียวแล้ว
ผลออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจเพราะแสงสีดูแบน และไม่สดใส
ผมได้จัดให้ท่านยืนเท้าแขนบนกรอบรูปผลงานชิ้นหนึ่งของท่าน
โดยเปลี่ยนท่าให้ท่าน ๒ - ๓ ท่า และได้เลือกท่าที่คิดว่าเก๋ไก๋ที่สุดแล้ว
ของอาจารย์ผมมาอวดท่านนี่แหละครับ
อาจารย์สอนศิลปะบางท่าน มีความสามารถสูงในการสร้างสรรค์งานศิลปะ
ในแนวทางของตนเอง แต่ไม่สามารถถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ศิษย์ได้ดีเท่าที่ควร
ในทางกลับกัน บางท่านก็มีเทคนิคในการสอนที่ดี แต่ก็ไม่โดดเด่นนักในการทำงานศิลปะ
เป็นเรื่องยากที่จะหาผู้ที่เพียบพร้อมทั้ง ๒ ด้าน
แต่อาจารย์มานิตย์ ภู่อารีย์ ก็เป็นหนึ่งในน้อยคนผู้มีคุณสมบัติทั้ง ๒ ด้าน
นั้นอย่างครบถ้วนสมบูรณ์
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เอื้อเฟื้อข้อมูล
บริษัทโกดัก (ประเทศไทย) จำกัด
สนับสนุนผลิตภัณฑ์ถ่ายภาพ
คุณบันลือ อุตสาหจิต แห่งบริษัทศรีสยามพริ้นท์แอนด์แพคก์ จำกัด อุปถัมภ์โครงการ
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เอื้อเฟื้อข้อมูล
บริษัทโกดัก (ประเทศไทย) จำกัด
สนับสนุนผลิตภัณฑ์ถ่ายภาพ
คุณบันลือ อุตสาหจิต แห่งบริษัทศรีสยามพริ้นท์แอนด์แพคก์ จำกัด อุปถัมภ์โครงการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์มานิตย์ ภู่อารีย์ ถึงแก่กรรม
เมื่อประมาณเวลาเที่ยงวันเสาร์ ที่ 30 พฤศจิกายน 2551
ขอเชิญพี่ๆน้องๆ ที่เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ มาร่วมแสดงความอาลัย
และร่วมแสดงความกตัญญูให้อาจารย์ มานิตย์โดยพร้อมเพรียงกัน
กำหนดการรดน้ำศพ เวลา 16.00-17.00 น. วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร (วัดเงิน)
ซ.จรัญสนิทวงศ์ 35คลองบางพรหม แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กทม. ศาลา 1
ส่วนการสวดพระอภิธรรม ที่ศาลา 1 เวลา 19.00-20.00 น.
ตั้งแต่จันทร์วันที่ 1 ถึงวันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม 2551 (เวันวันที่ 5 ธันวาคม)
รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยศาสตราจารย์มานิตย์ ภู่อารีย์ ดูได้จาก
เมื่อประมาณเวลาเที่ยงวันเสาร์ ที่ 30 พฤศจิกายน 2551
ขอเชิญพี่ๆน้องๆ ที่เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ มาร่วมแสดงความอาลัย
และร่วมแสดงความกตัญญูให้อาจารย์ มานิตย์โดยพร้อมเพรียงกัน
กำหนดการรดน้ำศพ เวลา 16.00-17.00 น. วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร (วัดเงิน)
ซ.จรัญสนิทวงศ์ 35คลองบางพรหม แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กทม. ศาลา 1
ส่วนการสวดพระอภิธรรม ที่ศาลา 1 เวลา 19.00-20.00 น.
ตั้งแต่จันทร์วันที่ 1 ถึงวันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม 2551 (เวันวันที่ 5 ธันวาคม)
รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยศาสตราจารย์มานิตย์ ภู่อารีย์ ดูได้จาก