Custom Search

Dec 4, 2007

มองโลกในแง่ดี

หนุ่มเมืองจันท์
มติชนสุดสัปดาห์ 2 ธ.ค. 48

หลายครั้งในชีวิต...ไม่ใช่ใครอื่นหรือเหตุการณ์
ที่อยู่เหนือการควบคุมหรอกที่ทำให้ชีวิตคุณดูเหมือนไร้ทางออก
หากเป็นทัศนคติของคุณเองต่างหากที่เป็นตัวการใหญ่
เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงของเด็กผู้ชายคนหนึ่งในประเทศกานาครับ

วันหนึ่งในวิชาภาษาอังกฤษ ครูยกกระดาษสีขาวแผ่นใหญ่ขึ้นมา
กระดาษแผ่นนี้มีจุดสีดำเล็กๆ
อยู่จุดหนึ่งที่มุมล่างด้านขวาของกระดาษ
"เด็กๆ พวกเธอมองเห็นอะไรบ้าง"

ครูชี้ไปที่กระดาษ
"จุดสีดำ"
พวกเด็กตะโกนตอบพร้อมกัน
คุณครูยิ้ม นิ่งไปสักครู่หนึ่งก่อนตั้งคำถาม
"ทำไมไม่มีใครสักคนเห็นสีขาวของกระดาษ" เธอตั้งคำถาม
"พวกเธอมองเห็นแต่เพียงจุดสีดำเล็กๆ"

แล้วคุณครูก็สอนมุมมองใหม่ให้กับนักเรียน
"นี่คือ สิ่งที่แย่มากของธรรมชาติมนุษย์
ไม่มีใครมองเห็นด้านดีและภาพในมุมกว้างของสิ่งต่างๆ
เลยขอให้พวกเธออย่าใช้ชีวิตที่เหลือกับทัศนคติแบบนี้เป็นอันขาด"

นี่คือ บทเรียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบทหนึ่งของเด็กชายคนนี้
เป็นบทเรียนจาก "กระดาษสีขาว" และ "จุดสีดำ"
มันดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มันทำให้มุมมอง
ของเด็กชายคนหนึ่งต่อโลกใบเดิมเปลี่ยนไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง ครับ
เด็กชายคนนี้ชื่อ "โคฟี่ อานัน"เลขาธิการสหประชาชาติคนปัจจุบัน
(Kofi Atta Annan who served as the seventh Secretary
General
of the United Nations from January, 1997 to January, 2007,
serving two five-year terms.)

ในอบรมครั้งหนึ่ง พระไพศาล วิสาโล
ที่ผมชอบนำเรื่องของท่านมาหากินเป็นประจำ
ได้ตอบข้อซักถามจากผู้ที่อบรม 2 คน
คนหนึ่งเป็นคนรักสุนัขมาก รักขนาดชงโอวัลตินให้กิน
ดูแล "เจ้าเล็บงาม" เป็นอย่างดี
มุมคิดของเขาต่อหมาไม่เหมือนกับคนอื่น

เขาคิดว่าเจ้าหมาตัวนี้ชาติก่อนคงทำกรรมไว้เยอะ
จึงเกิดมาเป็นหมา ไม่เกิดมาเป็นคน
คนโชคดีอย่างเขาจึงควรจะเอื้ออาทรให้ความรักแก่มัน
และเพื่อให้ชาติหน้าเจ้าหมาตัวนี้จะได้มีโอกาสดีๆ
ในชีวิตบ้าง เขาจึงพาหมาไปฟังเทศน์เป็นประจำที่วัด
ผู้คนที่พบเห็นกลับมองว่าเขาเป็นคนมีกรรม
มีหมาเป็นเจ้ากรรมนายเวร จึงต้องรับใช้หมา

ผู้เข้าอบรมอีกคนหนึ่ง แม่ยายเป็นอัมพฤกษ์
เขาจึงรับมาอยู่ด้วยที่บ้าน ไม่นานภรรยาโชคร้าย
ประสบอุบัติเหตุรถชนจนเป็นอัมพาต
ทุกวันนี้เขาจึงต้องดูแลภรรยาและแม่ยายเป็นประจำทุกเช้าเย็น
แม้ภาระจะหนักอึ้งเมื่อเทียบกับคนทั่วไป
แต่เขาก็มีความสุขที่ได้ดูแลคนที่เขารักทั้ง 2 คน
แต่ช่วงที่ผ่านมาเขากลับได้ยินแต่เพื่อนๆ
บอกว่าเขาเป็นคนมีกรรม ต้องดูแลคนเจ็บถึง 2 คน
ชีวิตในชาตินี้คือการชดใช้กรรมในอดีต

พระไพศาลได้ฟัง 2 เรื่องนี้แล้วก็บอกกับคนแรกว่า
สิ่งที่เขาทำนั้นคือการแสดงความเมตตาต่อสัตว์
ทำดีกับสัตว์เพื่อหวังให้สัตว์ได้รับผลบุญ
เมื่อทำด้วยความเมตตา
ทำด้วยความรู้สึกที่เป็นสุข
"แล้วอย่างนี้จะเรียกว่าชดใช้กรรมได้อย่างไร"

ส่วนคนที่สอง พระไพศาลบอกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นคือการทำความดี
ดูแลคนป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ให้
มีความสุขสบายตามอัตภาพ
"ท่านมีเมตตาและได้ลงแรงยอมลำบากเหนื่อยยาก"
พระไพศาลกล่าว
"อาตมาไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเรียกการลงแรง
ทำความดีว่าการชดใช้กรรม"เป็น "คำถาม" ที่สร้าง "มุมใหม่" ให้กับหลายคน

อีกคนหนึ่งเป็นนักปั่นจักรยานทีมชาติ ชื่อ "ประจักษ์"

ผมเคยสัมภาษณ์เขาเกี่ยวกับเรื่องการต่อสู้
กับความเหนื่อยล้าของร่างกาย "ประจักษ์"
เคยไปแข่งที่ต่างประเทศ ความฮึดและอึด
ของเขาเป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ เขาเคยเป็นตะคริวที่ขา

ขณะที่ปั่นจักรยานทางไกล
รู้ไหมครับว่า "ประจักษ์" ทำอย่างไร
เมื่อแรงขาของเขาไม่มี เขาก็ใช้มือช่วยกดขา
เพื่อส่งแรงให้จักรยานเคลื่อนที่ไปข้างหน้า
ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
"ไปได้ไกลเท่าไร" ผมถาม"ไม่เท่าไรหรอกครับ"
เขาตอบ"ประมาณ 10 กว่ากิโลเอง"

เฮ้ย...10 กว่ากิโลเมตรเนี่ยนะ ขนาดขาไม่เป็นตะคริว
ไม่รู้ว่าผมจะปั่นถึงหรือเปล่า

แต่เจ้านี่ใช้มือช่วยกดขาที่เป็นตะคริว
สามารถปั่นจักรยานไปได้อีก 10 กว่ากิโลเมตร
สมควรแล้วที่พี่เพื่อนน้องจะชมนักว่าไอ้คนนี้หัวใจเกินร้อยจริงๆ

นึกดูสิครับ ยามที่เราเหนื่อยและหมดแรง
การที่จะทำให้เราฮึดสู้ได้คงมีเพียงอย่างเดียว
คือ "กำลังใจ" แต่ปัญหาคือเราจะสร้าง "กำลังใจ"
ให้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
"ประจักษ์" มีเคล็ดลับในการสร้างเสริม "กำลังใจ"

ให้เกิดแรงฮึดสู้กับความเหนื่อยล้าอย่างไรรู้ไหมครับ
ช่างง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ
"ผมมองแต่ข้างหน้า"

เป็น "คำตอบ" สั้นๆ ของ "ประจักษ์"

เขาจะไม่เหลียวกลับไปมองเส้นทางผ่านมา
สายตาจะเพ่งไปยังทางที่เหลือข้างหน้า
มองแต่อนาคตนึกแต่เป้าหมาย
และหนทางที่เหลืออยู่สร้าง "กำลังใจ"
จากระยะทางที่หดสั้นลงจากการลงแรง
แม้บางช่วงตอนที่ขึ้นเขาสูงชัน
ระยะทางจะค่อยๆลดลงไปแค่ทีละล้อ-ทีละล้อก็ตาม
ครับ...มองแต่ข้างหน้าคิดอย่างมี
"ความหวัง"และเชื่อว่าเราทำได้แค่นี้ก็ถึงเส้นชัยแล้ว