มติชน
วันที่ 07 ธันวาคม พ.ศ. 2552
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา
ภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพระมหากษัตริย์
ผู้ทรงพระปรีชาสามารถในสรรพศาสตร์
ดังที่บรรดาผู้สื่อข่าวชาวต่างชาติ
ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญาว่า
"The Renaissance man"
ด้านวิทยาการเทคโนโลยีสารสนเทศ
ทรงเป็นพระผู้จุดประกาย
และนำเทคโนโลยีสารสนเทศ
มาสนับสนุนพระราชกรณียกิจ
เพื่อยังประโยชน์สุขแก่พสกนิกร
วิทยาการไอทีที่ทรงสนพระทัยคือ ภูมิสารสนเทศ
ทรงใช้สารสนเทศทางภูมิศาสตร์
และแผนที่ประกอบพระราชกรณียกิจ ด้านการเกษตร การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ
การใช้ที่ดินลุ่มน้ำ การป่าไม้ การชลประทาน การอุตุนิยมวิทยา
การสาธารณสุข การศึกษา
การคมนาคม การพัฒนาอาชีพและ
คุณภาพชีวิตของพสกนิกรในถิ่นทุรกันดาร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสน
พระราชหฤทัยในวิทยาการสำรวจทรัพยากธรรมชาติด้วยภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายจากดาวเทียมวางแผนและแก้ไข
ปัญหาการใช้ที่ดินในแหล่งต้นน้ำลำธารบนภูเขาสูง
บนพื้นที่สูงโดยเฉพาะการวางแผนการใช้ที่ดินลุ่มน้ำภาคเหนือของประเทศไทย เช่น
ภาพถ่ายจากดาวเทียม LANDSAT-5 และ NOAA-14 ของสหรัฐ
ดาวเทียม SPOT-2 ของฝรั่งเศส ดาวเทียม ERS-2 ขององค์การอวกาศแห่งยุโรป
ดาวเทียม RADARSAT-1 ขององค์การอวกาศแคนาดา
และดาวเทียม IRS-1C ของอินเดีย
7 มกราคม 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงสนพระราชหฤทัยและทรงเข้าร่วมการสัมมนา
การประยุกต์เทคโนโลยีการถ่ายทำภาพถ่ายทางอากาศและดาวเทียม
ในการวางแผนการใช้ที่ดินลุ่มน้ำภาคเหนือของประเทศไทย
จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
และสำนักงานโครงการพัฒนาสหประชาชาติ ที่เชียงใหม่
คราวที่ภาคใต้ของไทยประสบปัญหาอุทกภัยอย่างรุนแรง
ในเดือนพฤศจิกายน 2531 พระองค์ทรงแก้ไขความเดือดร้อนของพสกนิกร
โดยทรงวินิจฉัยภาพถ่ายจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากร LANDSAT-TM
บันทึกภาพเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2531 บริเวณที่เกิดอุทกภัยใน
จ.สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช
พระราชทานคำแนะนำในการวางแผนช่วยเหลือราษฎร
ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยด้วยพระองค์เอง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงสืบค้นข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
เพื่อทรงพระราชวินิจฉัยลักษณะอากาศที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทย
ดังพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย 4 ธันวาคม 2538
ความตอนหนึ่งว่า
"...บอกว่า "แอนเจลล่า" นี่เป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่น
น่ากลัวคร่าชีวิตในฟิลิปปินส์ ดูเหมือนเป็นพันกว่า
ผ่านมาแล้วมาในทะเลจีนใต้...ได้รับพยากรณ์อากาศนั้นก็บ่ายแก่ๆ มาดู
เอ๊ะ! เราจะทำอย่างไร ดูมาถึงประมาณตีหนึ่งแล้วรู้สึกว่าต้องใช้ "ไอที"
ใช้ "Information Technology" รู้สึกว่า "แอนเจลล่า" จะแพ้แรง
ต้องบอก ต้องเผยให้ทราบว่าแพ้แรง"นางมณีเมขลา"
...เลยบอกไปตอนตีหนึ่งให้บอกกรมอุตุนิยมฯ ว่า พรุ่งนี้จะกลายเป็นดีเปรสชั่น
อีกสองวันจะเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำที่จะอยู่แถวๆไหหลำ
หรือเข้าไปเมืองจีนก็ตอบข้อพิจารณาอย่างนี้ วันรุ่งขึ้นก็ดู ไอที (IT) ต่อไป
เอ๊ะ! ดีนะ ที่เราพูดนั้นนะ นับว่าถูกต้องพอสมควร..."
ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน เคยกล่าวว่า
เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2538
ขณะที่ไต้ฝุ่นแอนเจลล่า (Angela)
ทำความเสียหายให้กับประเทศฟิลิปปินส์และคาดว่า
จะเข้าสู่ประเทศไทยในเวลาต่อมา
ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเตือนชาวไทย
ให้เตรียมระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงติดตาม
ความเคลื่อนไหวของไต้ฝุ่นนี้และ
ได้พระราชทานความเห็นว่าไม่ควรตระหนก
เนื่องจากไต้ฝุ่นได้อ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนเข้าสู่ประเทศเวียดนาม
และได้แปรสภาพเป็นความกดอากาศขนาดย่อมเท่านั้น
ข่าวอันน่ายินดีสำหรับชาวไทยนี้
เป็นผลสืบเนื่องมาจากพระอัจฉริยภาพและความก้าวล้ำ
ในการทรงใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และทางกรมอุตุนิยมวิทยา
รายงานในเว็บไซต์กองทัพเรืออเมริกัน
(http://www.riversymposium.com/2006/index.php?element=06FELIZARDOJessieC)
ทราบว่าแอนเจลล่าเป็นไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุดสำหรับฟิลิปปินส์
ตั้งแต่ พ.ศ.2513-2538 มีผู้เสียชีวิตกว่า 600 คน
และสูญหายกว่า 100 คน
ความเสียหายกว่า 70 ล้านเหรียญสหรัฐราว 2,500 ล้านบาท
ส่วนไทยไม่ได้รับผลความเสียหายจาก แอนเจลล่าเลย
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณ
และพระปรีชาสามารถทางด้านภูมิสารสนเทศ
และวิทยาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
ก่อเกิดประโยชน์สุขแก่มวลพสกนิกรชาวไทยโดยแท้
หน้า 26