Custom Search

Dec 31, 2008

ความเหนื่อย-ความเสี่ยง


หนุ่มเมืองจันท์
ฟาสฟู้ดธุรกิจ
มติชน
12 ธันวาคม 2545

อ่านนิตยสารสารคดีเล่มใหม่หรือยังครับมีบทสัมภาษณ์ดีๆ
ชิ้นหนึ่งในเล่มนี้เป็นบทสัมภาษณ์
"สุพจน์ ธีระวัฒนชัย"หนึ่งในหุ้นส่วนใหญ่ของ
โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง แฮ่ม...เพื่อนสนิทของผม...
ไม่ใช่สิ ตอนนี้ต้องเรียกว่า "เพื่อนตาย"
คือ ตอนแรกเราเป็นเพื่อนกันธรรมดาเรียนคณะเดียวกัน
ทำกิจกรรมมาด้วยกันแต่พอ "พจน์"
ประสบความสำเร็จจากโรงเบียร์ เริ่มร่ำรวยผมก็เริ่มยกระดับเขาเป็น "เพื่อนสนิท"
ประเภทที่พอใครเอ่ยถึง "โรงเบียร์"ผมก็จะมีอุทานเสริมบททันที
"โรงเบียร์ของเพื่อนสนิทของผม"...ประมาณนั้นและพอเขาลงทุนในธุรกิจใหม่
"คาราบาวแดง"ทำท่าจะร่ำรวยกว่าเดิมอีก
ผมก็เลยให้เกียรติ "พจน์" เป็น "เพื่อนตาย"โดยที่ "พจน์" ไม่รู้สึกตัวเลย
ล่าสุดมีอีกรายหนึ่งเป็นเพื่อนที่ทำกิจกรรมที่ธรรมศาสตร์
ชื่อ "ต้อย" มนตรี ฐิรไฆไท
ผมเจอกับ "ต้อย" ครั้งสุดท้ายตอนที่เขาจะทำหนังสือ
"เมคมันนี่"คุยกันตอนนั้นก็รู้ว่าประสบความสำเร็จทางธุรกิจมากทีเดียว
แต่พออ่านบทสัมภาษณ์ใน
"กรุงเทพธุรกิจ"เมื่อสัปดาห์ที่แล้วรู้ว่าเขามีหุ้นบริษัทผลิตพัดลมแห่งหนึ่ง
ประมาณ 6.8 แสนหุ้นราคาหุ้นละ 330 บาท คิดเป็นเงินประมาณ 220 ล้านบาท
โหย...ฐานะอย่างนี้เป็นเพื่อนธรรมดาไม่ได้แล้วขั้นต่ำต้องเป็น "เพื่อนสนิท"
คาดว่าถ้าได้นั่งคุยกันอีก 1-2 ครั้งน่าจะยกระดับเป็น "เพื่อนตาย" อีกคนหนึ่งได้
กลับสู่เรื่องเดิมผมอ่านบทสัมภาษณ์ "พจน์"
...แฮ่ม... "พจน์" เพื่อนตายของผมแล้วชีวิตของมัน
ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเลยแต่โรยด้วยดอกกุหลาบ
พร้อมก้านที่ยังไม่ลิดหนาม"ความสำเร็จ" ในวันนี้ คือ
ผลจากการทำงานหนักตั้งแต่เด็ก
ชอบตอนไปสัมภาษณ์งานที่ห้างเมอร์รี่คิงส์ในใบสมัคร
ให้กรอกว่ามีประสบการณ์ทำงานกี่ปี "พจน์" กรอกไปเลยแบบมั่นใจ 10 ปี
ก็ทำงานตั้งแต่อายุ 13 จนถึง 22
ประสบการณ์ทำงานก็ต้อง 10 ปีสิ
มีคำถามหนึ่งที่ทุกคนสงสัย
ทำไมถึงกล้าตั้งโรงเบียร์ขนาด 1,000
ที่นั่งในขณะที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำ (ปี 2542)
"ทำแค่ 200 ที่ คุณเหนื่อยเท่ากับขาย 1,000 ที่"
เป็นคำตอบของ "พจน์" ตามด้วยเหตุผลอื่นๆ อีก
แต่ผมสะดุดใจในประโยคนี้เพราะเคยได้ยินจากนักธุรกิจใหญ่หลายคน
ประเภทที่เคยผ่านการ "THINK BIG" มาก่อน

"งานใหญ่ งานเล็ก เหนื่อยเท่ากัน"
เป็นคำตอบเพื่อบอกว่าเมื่อจะเหนื่อยทั้งทีลงแรงก็เท่ากัน
จะทำธุรกิจเล็กๆ ไปทำไม ลงทุนขนาดใหญ่ดีกว่าเพราะได้ผลตอบแทนสูงกว่า
นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะต้องผ่านหลักคิด
แบบนี้มาอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงจังหวะที่ก้าวกระโดดคือ
คิดถึง "ความเหนื่อย" มากกว่า "ความเสี่ยง"
ลงทุนน้อยเหนื่อยเท่ากับลงทุนมาก แต่ลงทุนมาก
"เสี่ยง" มากลงทุนน้อย "เสี่ยง" น้อย ลงทุนน้อย
ถ้า "ขาดทุน"ก็อยู่ในขนาดที่ยังพอหาทางจัดการได้
แต่ถ้า "ลงทุน" มากเวลาขาดทุนจะหนักหนาสาหัส
ในช่วงที่ชีวิตยังไม่ถึงเพดานบินนักธุรกิจส่วนใหญ่จะผ่านวิธีคิดที่ให้น้ำหนักกับ
"ความเหนื่อย"มากกว่า "ความเสี่ยง"
อย่างน้อยก็ครั้งหนึ่งในชีวิตต่อให้เป็นนักธุรกิจที่ "อนุรักษนิยม"
เพียงใดก็ตามแต่ทันทีที่ถึง "เพดานบิน" คือ
ร่ำรวยมากแล้วนักธุรกิจส่วนใหญ่มักจะให้น้ำหนักกับ
"ความเหนื่อย"เท่าเทียมหรือน้อยกว่ากับ "ความเสี่ยง"
ตัวอย่างที่ดี คือ"ทักษิณ ชินวัตร" ช่วงที่ลุ่มๆ ดอนๆ
เขาจะ THINK BIG เสมอใช้กลยุทธ์ "ใหญ่กลบเล็ก"
ในการทำธุรกิจ เป็นหนี้อยู่เท่าไรจะลงทุนใหม่ใหญ่กว่าเดิม
ถ้าสำเร็จก็จะสามารถใช้ "หนี้เก่า" ได้และมี "กำไร" ด้วย
เพราะหากลงทุนครั้งใหม่ในขนาดเท่ากับการลงทุนครั้งเก่าที่ล้มเหลว
ดีที่สุดก็เพียงแค่ใช้หนี้ได้แต่ไม่มีกำไร
ในอดีต "ทักษิณ" คิดแบบนั้นแต่วันนี้หลังจาก
เป็นคนร่ำรวยที่สุดในประเทศแล้วการลงทุนของกลุ่มชิน คอร์ป
จะคิดถึง "ความเสี่ยง"มากกว่า "ความเหนื่อย" ไม่มี "ใหญ่กลบเล็ก"ให้เห็นอีกแล้ว
กลยุทธ์สู่ "ความสำเร็จ" นั้นเหมือน "เสื้อ"
"เสื้อ"ที่สวยขึ้นอยู่กับตัวเสื้อและคนใสเราจะหลงผิดทุกครั้งเวลา
ที่เห็นนางแบบหรือนายแบบใส่เสื้อผ้าตัวไหนสวยแล้ว
สรุปว่าถ้าเราใส่เสื้อตัวนี้ เราจะหล่อหรือสวยเหมือนที่เห็นในหนังสือ
ลืมไปว่าชีวิตใครชีวิตมัน รูปร่างใครรูปร่างมัน "กลยุทธ์"หรือ
"วิธีคิด" ของนักธุรกิจแต่ละคนก็เหมือนกับ "เสื้อ"ที่สวมพอดีตัวสำหรับคนคนนั้น
ถ้าใครจะเอามาใส่บ้างก็ต้องพิจารณาว่าตัวเราเหมาะสมกับ "เสื้อ" ตัวนั้นไหม
ความสำเร็จของคนอื่นมีให้ "เรียนรู้" ไม่ใช่ "บูชา"
เหมือนเห็น "เสื้อ" สวย ก็ต้องเอาความงามของ "แบบ"หรือ
"เนื้อผ้า" ของเสื้อสวยตัวนั้นมาประยุกต์ใช้กับตนเองไม่ใช่เอามาสวมแบบ
"เสื้อสำเร็จรูป"วันหนึ่งผมแวบไปโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง
ไปนั่งพิสูจน์ว่าเบียร์ยังรสชาติเหมือนเดิมหรือไม่วันนั้น
คาดว่าผมใส่นาฬิกาที่มีแต่เข็มนาทีไปจึงไม่รู้ว่ากี่โมงยาม
"คุยกับ "พจน์" อย่างเมามันฉลองตำแหน่ง "เพื่อนตาย"
ที่ผมมอบให้มารู้สึกตัวอีกทีก็ตอนที่ไฟเปิดสว่างเด็กเริ่มกวาดพื้นทำความสะอาด
พื้นโรงเบียร์นั้นเป็นไม้เก่าจึงมีร่องให้เศษอาหารเล่นซ่อนแอบ
กับคนกวาดระหว่างที่นั่งคุยกันอยู่นั้น "ตาที่สาม" ของ "พจน์" เริ่มทำงาน
"น้อง ขอไม้จิ้มฟันหน่อย" เด็กคนนั้นรีบหยิบไม้จิ้มฟันมาส่งให้
"พจน์" คงนึกว่าเศษมอลล์จากเบียร์สดติดฟัน
"พจน์" ไม่รับ แต่ชี้ไปที่พื้น
"ลองเอาไม้จิ้มฟันเขี่ยดูสิเศษอาหารมันจะออกไหม"
เห็นความละเอียดของ "พจน์"
แล้วผมได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่าความสำเร็จของคนเรา
นอกจาก THINK BIG หรือกล้าคิดการใหญ่แล้ว
บางครั้งก็ยังต้องลงรายละเอียดในเชิงปฏิบัติด้วย
อย่าลืมว่าเขื่อนใหญ่บางทีอาจพังทลายจากรูรั่วเพียงแค่รูเข็ม
ผมสะกิด"มด" เจ้าแม่โรงเบียร์ ลูกน้องของ "พจน์"
"รู้ชื่อจริงของพจน์หรือเปล่า"
"มด" ทำท่าแปลกใจกึ่งสงสัย"
เขาเป็นญาติกับ สุทธิชัย หยุ่น"
ผมทำท่ามีลับลมคมนัยชื่อจริง
"สุพจน์ ยิบ" ละเอียดยิบจริงๆ

"จอหงวน" ปราชญ์แห่งความอร่อย...จากฮ่องกงแท้ๆ (Review)

ที่มา: http://www.naewna.com/news.asp?ID=105046

“จอหงวน” ร้านอาหารจีนกวางตุ้งที่เรากล่าวถึงอยู่ภายใต้การบริหารของหนุ่มนักธุรกิจร้านอาหารมือดี สุพจน์ ธีระวัฒนชัย ที่ทำให้โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงติดอยู่ในเอลิสต์ของร้านอาหารและผับชื่อดังแห่งยุค “จอหงวน” ฉีกรูปแบบร้านอาหารจีนสไตล์กวางตุ้งในบ้านเรานอกจากจะออกแบบตกแต่งบรรยากาศในร้านให้ดูทันสมัยมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมจีนร่วมสมัยแล้ว ที่นี่ยังมีครัวเปิด 360 โชว์การทำบะหมี่สดด้วยวิธีนวดแป้งแบบโบราณให้นักชิมได้สัมผัสวัฒนธรรมการทานอาหารจีนที่ละเอียดลึกซึ้งให้ทั้งความอร่อย โภชนาการและสุขภาพไปพร้อมๆ กันนั่นเพราะอาหารกวางตุ้งมีความหลากหลายและเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจเริ่ม
ตั้งแต่การทำเส้นบะหมี่ตำรับกวางตุ้งที่แตกต่าง โดยเฉพาะวิธีนวดแป้งท่า “ขี่ม้า” ที่ใช้ไม้ไผ่ลำโตเป็นอุปกรณ์สำคัญเป็นท่านวดแป้งแบบโบราณที่ยังคงสืบทอดมาถึงทุกวันนี้
ทำให้ได้แป้งเนื้อเหนียวและแน่น เมื่อนำไปรีดเป็นเส้นบะหมี่กลมก็จะได้เส้นขนาดเล็ก เหนียวนุ่มเลยการันตีได้ว่าเส้นบะหมี่ที่ ร้าน

“จอหงวน” อร่อยไม่เหมือนใคร ไม่ต่างกับเกี๊ยวแบบกวางตุ้งมีเปลือกนอกสีขาว ห่อจีบเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว หรือที่รู้จักกันในชื่อWonton (วันดัน) ซึ่งเกาะฮ่องกงดูจะเป็นที่เดียวที่ทำเกี๊ยวชนิดนี้จนเลื่องชื่อก็มีให้ลิ้มลองที่ “จอหงวน” เช่นกัน

ทั้งบะหมี่และเกี๊ยวตำรับกวางตุ้งกลายมาเป็นเมนูเด่นของร้านเช่น บะหมี่คากิพะโล้ บะหมี่เปรี้ยวหวานเกี๊ยวฮ่องกง (ต้นตำรับ) เกี๊ยวหมูสับปวยเล้ง นอกนั้นก็เป็นเมนูใหม่ๆที่หาทานได้ยากในกรุงเทพฯ อย่างผักลวกราดซอสพิเศษจากฮ่องกงห่านย่างฮ่องกงรสเด็ด ซุปสาลี่แอปเปิ้ล โจ๊กกุ้งสดเปลือกส้ม โจ๊กสำปปั้น ก๋วยเตี๋ยวหลอดปาท่องโก๋ ไชเท้าทรงเครื่องทอด ฯลฯเป็นเมนูอาหารกวางตุ้งสุดเทรนดี้ ทานง่าย อร่อยแบบต้นตำรับที่สำคัญไม่ต้องเสียเวลาไปไกลถึงเกาะฮ่องกงลองหมุนไปสำรองที่นั่งได้ที่ 0-2631-1919