Custom Search

Dec 17, 2008

ต้นแบบแห่งความงดงาม

วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551

รูปภาพประวัติศาสตร์ที่สุดคลาสสิครูปหนึ่งคือภาพหญิงในวัย 40 ปี
กำลังก้าวเดินอย่างองอาจ ไม่มีทีท่าสะทกสะท้านหรือหวาดหวั่น
โดยมีตำรวจกลุ่มหนึ่งประกบอยู่ข้างหลังด้วยท่าเดินที่ต่างกับผู้ถูกจับ
ในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักรราวฟ้ากับดิน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน พ.ศ.2495 และหญิงในภาพนี้คือ
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
ภรรยาของรัฐบุรุษอาวุโส อดีตผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
และอดีตนายกรัฐมนตรี นายปรีดี พนมยงค์
หนังสือแจกในงานปลงศพของท่านเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2551
ชื่อ "หวนอาลัย"
(ในส่วนของประวัติชีวิตเขียนโดยคุณสันติสุข โสภณสิริ)
ได้บันทึกสิ่งที่ท่านได้กระทำในชีวิตเพื่อให้ลูกหลานไทยได้จดจำไว้
เป็นเยี่ยงอย่าง อย่างน่าประทับใจยิ่ง"
.......ท่านเป็นบุตรคนที่ 5 ของมหาอำมาตย์ตรี พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา
(ขำ ณ ป้อมเพชร์) กับคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตฯ (สกุลเดิม สุวรรณศร)
เกิดวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2455 ณ จวนผู้ว่าราชการ (จังหวัด) สมุทรปราการ
ริมปากแม่น้ำเจ้าพระยาเยื้องพระสมุทรเจดีย์
ขณะนั้นพระยาชัยวิชิตฯ ยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระสมุทบุรานุรักษ์
ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรปราการ ได้พาบุตรีผู้นี้ขณะมีอายุเพียงไม่กี่เดือน
เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ขณะประทับแรมที่พลับพลาในบริเวณจวนผู้ว่าฯ เพื่อขอรับพระราชทานชื่อ
ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชนามว่า "พูนศุข"
.......ในวัยเยาว์ได้ติดตามรับใช้บิดามารดาใกล้ชิดจึงได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ
พระบรม วงศานุวงศ์และได้พบขุนนางผู้ใหญ่
ทำให้ท่านผู้หญิงรับรู้จดจำเรื่องราวที่เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์หลายแผ่นดิน
ทั้งยังสามารถสาธยายความเป็นมาของสกุลใหญ่ๆ ในอดีตได้อย่างแม่นยำ
จนนายปรีดี พนมยงค์ ยกให้เป็นเอ็นไซโคลปีเดีย (Encyclopedia)
หรือสารานุกรมประวัติบุคคลประจำครอบครัว
บิดามารดาของท่านผู้หญิงพูนศุข สอนให้บุตรธิดารู้หน้าที่ ทำงานเป็น
และห่างไกลอบายมุขโดยห้ามการพนันทุกชนิดเข้าบ้าน ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
ให้ถือคติว่า "ถ้าไม่จน อยู่อย่างจนจะไม่จน ถ้าไม่รวย อยู่อย่างรวย จะไม่รวย"
นายปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง
"ชีวิตและการงาน ปรีดี-พูนศุข" ว่า.......ชะตากรรม (destiny)
ของพูนศุขภายหลังสมรสแล้วนั้น จึงพลอยเป็นไปตามชะตากรรมของปรีดี
ส่วนชะตากรรมของปรีดีนั้นก็ขึ้นอยู่กับผลกรรมแห่งการงานทาง "อภิวัฒน์"
ที่รับใช้ชาติและราษฎรไทยเพื่อที่จะก้าวหน้าไปตามทางแห่ง
การกู้อิสรภาพของมนุษย์ให้พ้นจากการถูกเบียดเบียน
และเพื่อให้ชาติไทยมีเอกราชและประชาธิปไตยสมบูรณ์"
".....ผู้หญิงคนหนึ่งผู้กำเนิดในตระกูลขุนนางชั้นผู้ใหญ่
ยิ่งได้แต่งงานกับดุษฎีบัณฑิตหนุ่มนักเรียนนอกด้วยแล้ว
ก็น่าจะคาดหมายได้ว่าเธอผู้นั้นจะมีชีวิตครอบครัวที่ราบรื่น
โรยด้วยกลีบกุหลาบ ลาภ ยศ สรรเสริญสุข แต่ในความเป็นจริง
เธอมีชีวิตคู่กับผู้ชายคนหนึ่งผู้เป็น "นักอภิวัฒน์" ใต้ดิน
กว่าจะมารู้ในอีก 4 ปีต่อมาว่า
เขาเป็น "มันสมอง" ของกลุ่มผู้ก่อการเปลี่ยนแปลง
การปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475
ชะตากรรมของเธอก็ได้หล่อหลอมเป็นชะตากรรม
เดียวกับสามีนักอภิวัฒน์ของเธอไปแล้วอย่างแยกออกจากกันไม่ได้
จนตราบชั่วชีวิต....."
".......เมื่อหัวหน้าครอบครัวเป็นคนทำงานการเมืองเพื่อประเทศชาติ
จนแทบไม่มีเวลาส่วนตัวให้แก่ครอบครัวมากนัก
แน่นอนภาระการดูแลความเป็นไปในครอบครัวและลูกๆ ทั้ง 6 คน
จึงตกอยู่บนบ่าของแม่บ้าน
ซึ่งเดิมเคยมีฐานะเป็นภรรยาข้าราชการประจำและอาจารย์สอนหนังสือ
แล้วต่อมาได้กลายสถานะเป็นภรรยาของนักการเมือง
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ซึ่งมีชีวิตผันผวนมาก
จนถึงกับบ้านแตกแต่สาแหรกไม่ขาด
เพราะผู้หญิงมีความทรหดอดทนและกล้าแกร่งที่ชื่อ "พูนศุข พนมยงค์"
.......คนทั่วไปมักตั้งข้อรังเกียจว่า
นักการเมืองที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้น
มักเกิดความโลภของสตรีหลังบ้านนักการเมืองที่ได้ฉายาว่า
คุณนายชัก 10% แต่สำหรับสตรีหลังบ้านของนายปรีดี พนมยงค์
ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับหน้าที่การงานของสามี
และไม่ยอมให้สินบนหรือผลประโยชน์อันมิชอบใดๆ
ผ่านเข้ามาทางหลังบ้านโดยเด็ดขาด
ครอบครัวของปรีดี-พูนศุข พนมยงค์
ดำรงอยู่ด้วยเงินเดือนของหัวหน้าครอบครัว
ซึ่งไม่สนใจเรื่องเงินทองแม้เมื่อรับเงินเดือนแล้ว
ก็มักลืมทิ้งไว้ที่โต๊ะทำงาน
จนเจ้าหน้าที่ต้องนำมาให้ที่บ้าน.......นางฉลบชลัยย์ พลางกูร
ภริยานายจำกัด พลางกูร เสรีไทยคนสำคัญและเป็นมิตรสนิทของครอบครัว
เขียนไว้ในหนังสือ "วันปรีดี 2535"
มีความตอนหนึ่งว่า"ท่านปรีดีไม่เคยสนใจในทรัพย์สินเงินทองเลย
ท่านรำคาญคนที่พูดเรื่องมรดก ท่านไม่เคยใช้เงิน ไม่เคยแตะต้องเงิน"
.......โชคดีสำหรับรัฐบุรุษอาวุโสที่สามารถรักษาความสมถะ
และความซื่อสัตย์สุจริตไว้ได้อย่างขาวสะอาด
เพราะมีสตรีหลังบ้านผู้มีความมักน้อยและความสุจริตทั้งไตรทวารเช่นเดียวกัน
แม้นายปรีดีไม่เคยให้ของขวัญมีค่าแก่ภรรยาเช่นสามีทั้งหลายกระทำกัน
แต่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ไม่เคยน้อยเนื้อต่ำใจแต่ประการใด
ตรงกันข้ามท่านกลับปลาบปลื้มใจ
ที่ได้รับความรักความไว้วางใจอันบริสุทธิ์ของสามี
เหนืออื่นใดคุณูปการและความดีที่รัฐบุรุษอาวุโสมอบแก่มวลราษฎรนั้นคือ
รางวัลและความภูมิใจสูงสุดที่ท่านผู้หญิงพูนศุข
ได้รับมอบจากสามีอันเป็นที่รัก
ดังข้อเขียนของท่านเรื่อง "รำลึกถึงความหลัง"
ในหนังสือ "วันปรีดี 2536" ความตอนหนึ่งว่า
"เมื่อข้าพเจ้ารำลึกถึงความหลังคราใด ก็รู้สึกซาบซึ้งที่นายปรีดี
ได้เสียสละและไม่เห็นแก่ตัว ให้ความไว้วางใจข้าพเจ้าอย่างเต็มที่
และอดภูมิใจไม่ได้ว่าเป็นภริยานักการเมือง
ที่มุ่งบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรโดยมิเคยฉ้อราษฎร์บังหลวง
และกอบโกยประโยชน์เพื่อตัวเองและครอบครัวเลย"
.......ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้กรีฑาทัพบุกรุกประเทศไทย
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484
ในวันเดียวกันนั้นเอง นายปรีดี พนมยงค์
กับมิตรสหายผู้รักชาติได้ร่วมกันก่อตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น
ซึ่งต่อมาได้ขยายเป็นขบวนการเสรีไทย
ซึ่งมีเครือข่ายปฏิบัติการทั้งภายในประเทศ สหรัฐอเมริกา
และสหราชอาณาจักรอังกฤษ มีจุดประสงค์กอบกู้เอกราชอธิปไตยของชาติ
ดำเนินการต่อต้านผู้รุกรานทุกรูปแบบ
เพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรยอมรับสถานะเดิมของประเทศไทย
ก่อนสงครามจะอุบัติขึ้นนายปรีดี พนมยงค์
เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย มีชื่อรหัสว่า "รู้ธ" (Ruth)
เมื่อญี่ปุ่นขอให้รัฐบาลไทยเชิญนายปรีดี
ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง
ไปดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8
ก็เป็นโอกาสที่ "รู้ธ" จะสามารถทำงานขบวนการใต้ดินรับใช้ชาติได้เต็มที่
โดยประสานสามัคคีกับคนไทยทุกหมู่เหล่าอย่างกว้างขวาง
ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ประชาชน ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน
เพื่อทำงานให้บรรลุเป้าหมายของขบวนการเสรีไทย
ตามปกตินายปรีดีไม่เคยปรึกษาราชการบ้านเมืองกับภรรยา
ส่วนใหญ่จะคุยกันเรื่องข่าวสารความเป็นมาของเหตุการณ์
ทั้งในและต่างประเทศ แต่เมื่อการต่อสู้เพื่อคัดค้านผู้รุกราน
เป็นหน้าที่ของราษฎรไทยทุกคน
ท่านผู้หญิงพูนศุขในฐานะผู้ใกล้ชิดที่สุดจึงได้รับความไว้วางใจ
ให้เป็นผู้ช่วย "รู้ธ" รับฟังวิทยุต่างประเทศเพื่อทราบ
ความเคลื่อนไหวของสัมพันธมิตรและข่าวสารสู้รบในสมรภูมิต่างๆ ทั่วโลก
เพื่อ "รู้ธ" จะได้นำมาเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์
และกำหนดยุทธศาสตร์
ยุทธวิธีของพลพรรคเสรีไทยในการต่อต้านผู้รุกราน
.......บางครั้งท่านผู้หญิงแห่งทำเนียบท่าช้าง
ก็ช่วยงานเขียนรหัสลับวิทยุด้วยลายมือบรรจงโดยไม่ใช้พิมพ์ดีด
ทั้งยังเป็นแม่บ้านคอยอำนวยความสะดวกแก่เสรีไทย
ที่มาปรึกษางานกับ "รู้ธ" ณ ศาลาริมน้ำ ที่ทำเนียบท่าช้าง
ซึ่งเป็นเสมือนสถานที่ทำงานของบรรดาเสรีไทย
ใต้จมูกของกองกำลังทหารญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ
นั้นเองภารกิจสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในช่วงมหาสงครามคือ
ท่านผู้หญิงพูนศุขได้ช่วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในการถวายความอารักขาแด่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี
พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์
โดยอัญเชิญเสด็จประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เพื่อให้ปลอดพ้นจากภัยทางอากาศ
จนกระทั่งสงครามสงบในปี พ.ศ.2488
และเพื่อให้เกิดความปรองดองระหว่างชนในชาติ
นายปรีดีได้ขอให้รัฐบาลปลดปล่อย พร้อมทั้งคืนฐานันดรศักดิ์
และบรรดาศักดิ์แก่บรรดาเจ้านายและขุนนางที่ถูกจับกุมคุมขัง
ในสมัยรัฐบาลก่อนด้วยคุณงามความดีที่ได้ปฏิบัติหน้าที่
ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และด้วยความจงรักภักดีต่อ
ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ
ทั้งได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในความปรีชาสามารถ
บำเพ็ญคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ
นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
ยกย่องไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส
และให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจการราชการแผ่นดิน
.......เมื่อเกิดรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490
คณะรัฐประหารมุ่งจับเป็นหรือจับตายนายปรีดี พนมยงค์
ชีวิตของรัฐบุรุษอาวุโสก็ประสบเคราะห์กรรมจากคู่ต่อสู้ทางการเมือง
และไปอยู่ต่างประเทศ จวบจนวาระสุดท้าย
ในปี พ.ศ.2529ท่านผู้หญิงพูนศุข และนายปาล พนมยงค์
บุตรชายคนโตในวัย 20 ปี ถูกจับคุมขัง
ท่านผู้หญิงพูนศุขอยู่ในห้องขัง 84 วัน อย่างองอาจ
ไม่คุกเข่าให้แก่ผู้ใด และต้องปล่อยตัวเพราะไม่มีหลักฐาน
ส่วนบุตรชายนั้นถูกคุมขังเป็นเวลา 5 ปี
ท่านผู้หญิงพูนศุขพลัดพรากจากสามีเป็นเวลา 5 ปี
ต้องดูแลลูกที่ยังเล็ก 4 คน และกังวลใจกับลูกที่ถูกคุมขังอีก 1 คน
แต่ท่านไม่เคยย่อท้อกับมรสุมชีวิต นายปรีดี พนมยงค์
เคยเขียนจดหมายอวยพรภรรยา
เนื่องในวาระครบรอบการสมรสครั้งหนึ่งว่า
"ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น น้องได้ปฏิบัติเป็นภรรยาที่ดียิ่งพร้อมด้วยความอุทิศตน
เสียสละทุกอย่างเพื่อพี่และเพื่อราษฎรไทย แม้ว่าขณะนี้น้องได้รับความลำบาก
เนื่องจากความอยุติธรรมของศัตรูที่ปองร้าย แต่วันใดวันหนึ่งในภายหน้า
คุณความดีของน้องจะต้องปรากฏขึ้นแก่มวลราษฎรไทย"
ท่านผู้หญิงได้กล่าวไว้ก่อนถึงอนิจกรรมว่า
"กว่า 90 ปีของชีวิตฉันที่ผ่านมา เหตุการณ์มากมายหลายอย่าง
ได้เข้ามาสู่ชีวิตของฉัน ล้วนสอนให้ฉันได้เข้าใจใน "สัจจะ" ของโลกอย่างแจ่มชัด
แม้ในอดีตจะมีความแปรผันที่ทำให้ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไป
และต้องผจญกับความไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่โหมกระหน่ำเข้ามา
ฉันตั้งอยู่ในเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ ยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต
อโหสิกรรมกับทุกสิ่งทุกอย่างไม่ถือโกรธเคืองแค้นใดๆ อีก
ตลอดเวลาฉันไม่เคยลืมตัวหรือรู้สึกว่าต้องสวมหัวโขน
จึงไม่เคยคิดว่าชีวิตได้มีความแปรเปลี่ยนแต่อย่างใด......."
ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นบทเรียน
แห่งความดี ความงาม และความจริง ที่ลูกหลานไทยสมควรศึกษา
ปลูกบ้านให้แข็งแรงต้องมีจุดระบุระดับความสูงเป็นจุดอ้างอิงฉันใด
คนจะเติบโตต่อไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีก็ต้องมีตัวอย่างให้เลียนแบบ
ฉันนั้นถ้าใครคิดจะเอาชีวิตลี้ภัยของตนเองและภรรยา
ไปเทียบเคียงกับวิบากกรรมในชีวิตของท่านอาจารย์ปรีดี
และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ แล้ว
กรุณาย้อนกลับไปอ่านความงดงามแห่งคุณธรรม
และจริยธรรมของชีวิตท่านทั้งสองอีกครั้ง
ท่านอาจารย์ปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข
ไม่เคยมีคดีอาญาติดตัว สาเหตุสำคัญที่ทำให้ท่านอาจารย์ไม่กลับประเทศไทย
ก็เพราะไม่มีสิ่งใดที่ท่านรักเท่าประเทศชาติ
ท่านไม่ต้องการให้บ้านเมืองวุ่นวาย เกิดปัญหาขึ้นเพราะตัวท่านเป็นสาเหตุ
จึงยอมเสียสละที่จะอยู่ในต่างประเทศจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
หน้า 6