มติชน
วันที่ 01 มกราคม พ.ศ. 2552
กลุ่มคนที่เจ็บปวดจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไม่ได้มีเฉพาะผู้ใช้แรงงาน
เจ้าของ SME"s ประชาชนทั่วไป ฯลฯ เท่านั้น
หากนักเศรษฐศาสตร์เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เจ็บปวด
จากการไร้ความสามารถในการพยากรณ์วิกฤตที่กล่าวกันว่า
ร้ายแรงที่สุดในประเทศพัฒนาแล้วนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
ข้อความวิจารณ์นักเศรษฐศาสตร์ในเว็บไม่ว่าจาก Blogs ใดๆ
ในระดับโลกกำลังกระหึ่มด้วยคำวิจารณ์อาชีพนี้ว่าไม่มีใครออกมาเตือนว่า
จะมีวิกฤตที่รุนแรงได้ขนาดนี้
ที่มีการเตือนกันก็เพียงผลจากฟองสบู่แตกในอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา
แต่ไม่มีใครพยากรณ์การเชื่อมต่อของผลกระทบ
จากภาคอสังหาริมทรัพย์นี้สู่สถาบันการเงิน สถาบันประกัน
จนสู่ภาคการผลิตไปทั่วโลกคำพูดสุดเจ็บปวดก็คือ
นักเศรษฐศาสตร์ควรทิ้งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้คนอื่นและตัวเอง
ไปแก้ไขวิชาการของตัวเองจะดีกว่าวิกฤตครั้งนี้เชื่อกันว่า
จะทำให้เกิดการทบทวนทิศทางของการศึกษา
และวิจัยเศรษฐศาสตร์ขึ้นครั้งใหญ่ในระดับโลก
ผู้สนใจข้อวิจารณ์นี้กรุณาดู
The Global Edition of The New York Times
อยู่ใน International Herald Tribute
ฉบับ 24-25 ธันวาคม 2008
หันมาดูปัญหาเศรษฐกิจในบ้านเรา
ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายเศรษฐกิจที่จะแก้ไขปัญหา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินเพิ่มเติมงบประมาณ
ระหว่างปี 100,000 ล้านบาท และเงินที่สมควรเร่งใช้จ่ายอีก
200,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวน 100,000 ล้านบาท
เป็นการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายกรัฐมนตรี คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เลือกที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะที่จะก่อให้เกิดการจ้างงาน
และเกิดผลกระทบด้านบวกต่อประชาชนในชนบทและคนฐานะปานกลางในเมือง
ถึงแม้ว่าจะถูกวิจารณ์ว่าเป็น "ประชานิยม" แต่ก็เป็น "ประชานิยม"
ที่สอดคล้องกับช่วงจังหวะที่ระบบเศรษฐกิจต้องการ "ยาฉีด"
เข็มใหญ่ที่อัดเข้าไปในกลุ่มคนเหล่านี้พอดีในระดับนโยบายการกระตุ้นการจ้างงาน
การส่งเสริมภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยว
การสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบ SME"s และประชาชนทั่วไป
การสนับสนุนอุตสาหกรรมส่งออก การผ่อนปรนเงื่อนไขที่รัดรึงการกู้ยืม ฯลฯ
เป็นหนทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวมที่ยากที่จะหาคนขัดแย้งอย่างไรก็ดี
The devil is in the details
หรือเรื่องยากลำบากยิ่งก็คือการลงไปในรายละเอียด
ซึ่งในเรื่องนี้ขอตีความไปในทำนองว่าเรื่องยากยิ่ง
ก็คือรายละเอียดของการปฏิบัติหรือ
การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
พูดง่ายๆ สั้นๆ ก็คือจะทำอย่างไรให้เงิน 300,000 ล้านบาท
ออกไปถึงมือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว
ตรงจุดตามที่ตั้งใจ และไม่รั่วไหลเกินกว่าที่จะรับได้
(การรั่วไหลชนิดแท่งไอติมดูดนั้น
ยากที่จะหายไปข้ามคืน
แต่ก็ไม่ควรยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย)
เงิน 300,000 ล้านบาทนี้จะไปอาละวาดไหลเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ
ก่อให้เกิดการผลิตและรายได้อีก 3-4 เท่าตัวในที่สุด
เนื่องจากรายจ่ายของคนหนึ่งจะเป็นรายได้ของอีกคนหนึ่ง
เมื่อภาครัฐจ่ายเงินออกไปเพื่อสร้างการผลิต
เงินนั้นก็จะกลายเป็นรายได้ของบางคน
และคนเหล่านี้เมื่อจ่ายรายได้ออกมาเพื่อการบริโภค
รายจ่ายนั้นก็จะกลายเป็นรายได้ของคนอื่นๆ อีกดังนี้เรื่อยไป
เมื่อนับรายได้ของทุกคนที่ได้รับเพิ่มขึ้นรวมกัน
ก็จะเป็นหลายเท่าของเงิน 300,000 ล้านบาทที่จ่ายออกไปครั้งแรก
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่รู้จักกันในนามของ multiplier effects
หัวใจของความสำเร็จ (ล้มเหลว)
ในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็คือการนำนโยบายออกไปปฏิบัติ
กล่าวคือมีการเบิกจ่ายเงินอย่างรวดเร็วโดยผู้เบิกจ่ายสามารถอนุมัติได้อย่าง
ถูกต้องตามระเบียบ ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับระบบการจัดการและ
ความร่วมมือของข้าราชการความสามารถในการทำให้
เกิดการจ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ
ก็คือสิ่งที่เรียกว่า "ฝีมือ" ในการจัดการเศรษฐกิจนั่นเอง
รัฐบาลที่แล้วมัวแต่ "รำมวย" ว่าจะใช้เงิน 100,000 ล้านบาทอย่างไร
ตกลงกันไม่ได้จนไม่มีโอกาสได้ใช้
รัฐบาลใหม่เข้ามาจึงเป็นโอกาสที่จะได้แสดง "ฝีมือ" ให้ประจักษ์
เพราะระบบเศรษฐกิจขณะนี้กำลังต้องการการอัดฉีดอย่างยิ่ง
งานนี้ไม่หมูเพราะ The devil is in the details
แต่ก็สามารถทำได้ ประเทศอื่นๆ เขาก็เผชิญปัญหาแบบเดียวกับเรา
และเขาก็ทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้เล่า
หน้า 6