วชิราวุธวิทยาลัย อนุสรณ์แห่งพระปรีชาองค์พระมหาธีรราชเจ้า
ที่มา :
- http://archaeology.thai-archaeology.info/index.php?option=com_content&task=view&id=442&Itemid=0 (Not Active)
- http://www.kroobannok.com/view.php?article_id=3794 (Not Active)
"... สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ข้าพเจ้าไม่เป็นห่วงการปั้นนักเรียนชั้นมัธยมให้เป็นเทวดาเหมือนกันหมดทุกคนได้คะแนนกันคนละหลายพันคะแนน เท่ากับการสร้างเด็กหนุ่มที่ขยันขันแข็งและสะอาดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เตรียมพร้อมที่จะรับภาระต่างๆ ซึ่งจะมีมาในอนาคต ข้าพเจ้าไม่ต้องการนักเรียนตัวอย่างที่สอบไล่ได้คะแนนขั้นเกียรตินิยมทุกๆ ครั้ง ข้าพเจ้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ข้าพเจ้าอยากได้ยุวชนที่เป็น สุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี ข้าพเจ้าจะไม่โศกเศร้าเลย ถ้าเจ้ามารายงานว่าเด็กคนหนึ่งเขียนหนังสือไม่คล่อง คิดเลขซ้อนไม่เป็นและไม่รู้วิชาเรขาคณิตเลย ถ้าข้าพเจ้ารู้ว่าเด็กคนนั้นได้ศึกษาพอที่จะรู้ว่าความเป็นผู้ชายคืออะไร และขี้แยคืออะไร ข้าพเจ้าไม่อยากได้ยิน "คนฉลาด" บ่นอีกว่า "ปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด" สิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง คือ ให้การศึกษา เป็นเครื่องทำให้เด็กเป็นยุวชนที่น่ารักและเป็นพลเมืองดี ไม่ใช่ทำลายบุคลิกภาพเสียหมดโดยบรรทุกหลักสูตรและระบบต่างๆ ลงไป ข้าพเจ้าต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งที่งดงามจนทำให้เด็กที่ออกไปแล้ว หวนกลับมาคิดถึงในวันข้างหน้าด้วยความภาคภูมิใจ ..."
ราม ร.
แนวคิดการก่อตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงคำแปลจากพระราชบันทึก
เป็นภาษาอังกฤษของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ราม ร.
แนวคิดการก่อตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงคำแปลจากพระราชบันทึก
เป็นภาษาอังกฤษของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากความในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
อันมีปรากฎนี้แสดงให้เห็นชัดเจนถึงพระราชประสงค์
ที่ทรงมีเป็นพิเศษต่อการสถาปนา
โรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นในปีพุทธศักราช 2453
หรือที่ปัจจุบันเรารู้จักกันในนาม โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
ซึ่งทางโรงเรียนก็ได้ดำเนินนโยบายภายใต้หลักการที่ทรงมีพระราชดำริตลอดมา
การก่อตั้งโรงเรียนในเบื้องต้นนั้นพระมหาธีรราชเจ้าได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์
ที่ตำบลสวนดุสิตให้เป็นที่ตั้งรวมทั้งพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างอาคาร
และโรงเรือนชั่วคราวขึ้นและต่อมาในปีพุทธศักราช 2458
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างอาคารโรงเรียนถาวร
มีรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยอันวิจิตรสง่างามโดย
พระสมิทธิ์เลขา (ปลั่ง)เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบการก่อสร้าง
พุทธศักราช 2459 ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้โอนโรงเรียนราชวิทยาลัยซึ่งเป็นโรงเรียนที่สร้างขึ้น
ในสมัยรัชกาลที่ 5 มาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
และโปรดเกล้าฯให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นอีกแห่งหนึ่ง
ที่จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อสิ้นรัชกาลประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจผกผันร้ายแรง
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7
จึงมีพระบรมราชโองการให้รวมโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
กรุงเทพฯ โรงเรียนราชวิทยาลัย และโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
เชียงใหม่เข้าด้วยกัน และได้พระราชทานนามโรงเรียนใหม่ว่า
"วชิราวุธวิทยาลัย" เพื่อเฉลิมพระเกียรติ
แด่องค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
แม้ว่า วชิราวุธวิทยาลัย ในสมัยก่อนจะยึดแนวทางพับลิคสกูล (Public School)
ตามแบบฉบับของอังกฤษอย่างเคร่งครัด หากยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ไทยอย่างสูง
ซึ่งเอกลักษณ์นี้ได้มาจากสองสิ่งสำคัญ คือ ขนบธรรมเนียมประเพณี
และ รูปลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย ซึ่งมิใช่เพียงความสง่างามวิจิตร
ของอาคารสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น หากยังรวมถึงการจัดวางผังบริเวณโดยรวมทั้งหมด
อาณาบริเวณของ วชิราวุธวิทยาลัย มีพื้นที่เกือบ 100 ไร่ ในเขตดุสิต
จัดแบ่งการปกครองออกเป็น "7 คณะ" คำว่า "คณะ"
หมายถึงอาคารที่พักนักเรียนและครูผู้ดูแลประจำแต่ละอาคาร
แต่ละคณะจะมีนักเรียนทุกระดับชั้นปะปนกัน ได้แก่
คณะผู้บังคับการ คณะดุสิต คณะจิตรลดา คณะพญาไท
คณะสนามจันทร์ คณะนันทอุทยาน และคณะสราญรมย์
ตัวอาคาร 4 คณะที่ก่อสร้างเป็นรุ่นแรกจัดวางผังล้อมหอประชุม
ซึ่งเป็นที่สวดมนต์ของนักเรียนไว้ลักษณะเดียวกับกุฏิสงฆ์ คือ
ตั้งอยู่ที่มุมโรงเรียนทั้งสี่มุม รูปลักษณ์และโครงสร้างสถาปัตยกรรมเป็นอาคารสองชั้น
ก่ออิฐถือปูน และวางตำแหน่งตึกกลางตามยาว
มีตึกขนาบข้างทั้งสองโดยมีทางเดินเชื่อมทั้งชั้นล่างและชั้นบน
แต่รายละเอียดงานตกแต่งแตกต่างกันออกไป
หอประชุม หรือ หอสวด ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กึ่งกลางบริเวณ ผังอาคารมีลักษณะผสมผสานกันระหว่างโบสถ์และศาลาการเปรียญของวัดไทย คือ มีแผนผังเป็นรูปไม้กางเขนทรวดทรงอาคารมีลักษณะของสถาปัตยกรรมโกธิคแฝง โดยมีลักษณะทรงสอบ สูง และมีช่องแสง
ในขณะที่มีการยกพื้นใต้ถุนสูงตามคติการก่อสร้างอาคารแบบไทย หลังคาประกอบขึ้นตามอย่างพุทธศิลป์ มีทั้งช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์หน้าบันทั้งสี่ทิศเป็นรูปแตกต่างกัน ส่วนภายในอาคารหอประชุมมีบรรยากาศโปร่งโล่งสบาย ลักษณะเหมือนโรงละคร คือ มีเนื้อที่เป็นเวทีทางด้านหน้า ส่วนด้านข้างโดยรอบมีระเบียงที่ชั้นสอง
ตึกวชิรมงกุฎ หรือ ตึกขาว เป็นอาคารที่สร้างขึ้นในยุคหลัง
พระสาโรตรัตนนิมมานก์ เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ
โดยยึดแนวคิดสถาปัตยกรรมไทยดั้งเดิม
และวางผังตัวอาคารให้ทั้งรับและเสริมความงามสง่า
ของตัวอาคารหอประชุม
รายละเอียดงานตกแต่งอาคารออกแบบโดย
หลวงวิศาลศิลปกรรม เป็นอาคารสองชั้นมีมุขด้านข้าง
สองด้านและมีระเบียงเดินหน้าห้อง
หน้าบันของตึกขาวเป็นเครื่องหมายศาสตราวุธของ
พระอินทร์อันเป็นเครื่องหมายประจำพระองค์ใน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่บันไดกลางตรงชานพักระหว่างชั้น มีซุ้มเสมาประดิษฐานรูปหล่อ
พระมนูแถลงสาร ซึ่งตามคติโบราณยกย่องว่าเป็นยอดแห่งศาสตราจารย์
รูปลักษณ์ที่โดดเด่นของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
เป็นที่กล่าวขวัญตลอดมาแต่ครั้งเริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน
เช่นเดียวกับคำยกย่องถึงประโยชน์จากแนวทางการศึกษาที่
ทรงคัดเลือกมาเป็นแบบอย่าง
24 ชั่วโมงในรั้ววชิราวุธวิทยาลัย
คือ การหล่อหลอมชีวิตของลูกผู้ชายคนหนึ่ง
ให้เป็นสุภาพบุรุษที่มีครบถ้วนทั้งวิชาความรู้ จริยธรรม
การกล่อมเกลาวิญญาณด้วยดนตรีและศิลปะ
ไปจนถึงการสร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกายและจิตใจด้วยกีฬา
โดยเฉพาะ "รักบี้" ซึ่งถือเป็นกีฬาประจำชีวิตและวิญญาณ
ของเด็กวชิราวุธทุกคน