Thammasat University Library
สองเราเท่ากัน: เรวัต พุทธินันทน์และเพลงเกี่ยวกับช้างไม่มีเท้า
เรื่องและภาพประกอบ: ปัณณธร ตังเซ่งกี้
หากเธอคิดพบรักที่ชื่นฉ่ำ
อย่ามัวทำตัวเองมืดมน
อย่ากลัวฝนเพราะฝนนั้นเย็นฉ่ำ
อย่ามัวทำตามความคิดเดิม
ลองคิดดู ลองหาทางสู้กับฝน
.
ท่อนฮุคติดหูจากเพลง “เจ้าสาวที่กลัวฝน” เป็นสิ่งแรกที่พาผมไปรู้จัก “เรวัต พุทธินันทน์” น้าหนวด ผู้ปฏิวัติวงการเพลงไทย หรือที่หลายคนเรียก “เต๋อ เรวัต”, “พี่เต๋อ”, “อาเต๋อ” กระทั่ง “พ่อเต๋อ” ก็มี สำหรับผมเรียก “น้าเต๋อ” ตามประสาคนไทย ที่เรียกทุกคนอย่างญาติสนิท ซึ่งแน่นอนว่าผมไม่ได้รู้จักน้าเต๋อเป็นการส่วนตัว แค่นับถือท่านมากเหมือนน้าแท้ๆ
.
ส่วนเหตุที่ทำให้ผมศรัทธาท่านได้ขนาดนั้น มาจากความเป็นคนจริงของท่าน ทั้งจริงจังและจริงใจ น้าเต๋อทำงานอุทิศชีวิตให้ดนตรีที่รักอย่างเข้มข้นจนสุดทาง เพื่อล้างภาพนักดนตรีของบ้านเราในฐานะ “อาชีพเต้นกินรำกิน” ซึ่งที่สุดก็ทำได้จริง ดูได้จากความสำเร็จของ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ที่ท่านเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และถึงงานที่ทำจะหนักหนาและต้องทุ่มเทเวลามากแค่ไหน น้าเต๋อกลับไม่เคยลืมความสัมพันธ์ใกล้ตัว ทำหน้าที่ในทุกบทบาทของชีวิตได้ดีอยู่เสมอ เป็นซุปเปอร์แฟมิลี่แมน เป็นพี่ชายใจดี จมูกโต หนวดดก ของน้องๆ เป็นคนรักงานและรักเพื่อนมนุษย์ ซึ่งผมถูกใจและหลงใหลคนประเภทนี้มาก
.
โดยนอกจากแง่ความเป็นมนุษย์ของน้าเต๋อแล้ว ในแง่ศิลปิน ผลงานน้าเต๋อเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ผมรักชายคนนี้แบบถอนตัวไม่ขึ้น น้าเต๋อเป็นผู้แหวกขนบ “ร้อยเนื้อทำนองเดียว” ของวงการเพลงไทยสากลสมัยนั้น ด้วยการนำเนื้อร้องที่มีภาษาตรงไปตรงมาแต่แฝงปรัชญา มาเรียบเรียงเข้ากับทำนองแบบสากลที่แต่งขึ้นใหม่ได้อย่างลงตัว เกิดเป็นเพลงแนว “เต๋อ” ที่มีเอกลักษณ์แปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร ซึ่งถูกใจวัยรุ่นไทยยุคนั้นที่กำลังนิยมเพลงสากล จะพูดว่า น้าเต๋อเป็นหนึ่งใน “Trendsetter” ของวงการเพลงไทยยุค 80’s ก็คงไม่ผิดนัก และด้วยความล้ำยุคนี้เอง ทั้งในด้านเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอ จึงทำให้ทุกวันนี้ งานเพลงของน้าเต๋อยังคงร่วมสมัย เข้าถึงใจคนฟังได้ทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่ อาทิ “ดอกไม้พลาสติก” ที่จิกกัดความงามแต่เพียงเปลือกมาแล้วกว่า 40 ปี “เจ้าสาวที่กลัวฝน” ที่คอยสอนคนทุกยุคไม่ให้กลัวความรัก “เมืองใหญ่เมืองนี้” ที่ยังเล่าถึงมหานครเดิมที่คนไม่ค่อยเป็นคน และอีกหลากหลายบทเพลงที่มีเนื้อหามาก่อนกาล
.
หนึ่งในนั้น คือ “สองเราเท่ากัน” ที่เขียนจากบริบทภายในครอบครัวของท่านเอง หลังฟังจบครั้งแรก ผมยิ่งรักชายธรรมดาแสนพิเศษคนนี้มากขึ้น ถ้าเกิดทันคงมีเทป “เต๋อ” เก็บไว้ทุกชุด รับบทแฟนตัวยง ความมาก่อนกาลของ “สองเราเท่ากัน” คือการพูดถึงประเด็น “ช้างเท้าหน้า ช้างเท้าหลัง” หรือว่าให้ง่ายก็คือ “ความเท่าเทียมทางเพศ” ซึ่งขณะนั้นที่เพลงเพิ่งปล่อย (2529) ค่านิยมที่ว่า “ผู้ชายต้องเป็นผู้นำครอบครัว (ช้างเท้าหน้า) และผู้หญิงต้องคอยซัพพอร์ตอยู่เบื้องหลัง ห้ามเกินหน้าเกินตา (ช้างเท้าหลัง)” ยังเป็นที่นิยมแพร่หลายกันอยู่ ผิดกับปัจจุบันที่สังคมมองว่า “ในครอบครัวไม่มีใครนำใครแล้ว ผู้นำและผู้ตามเป็นบทบาทที่สมาชิกทุกคนสามารถเป็นได้ ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละบ้าน ” ซึ่งชุดความคิดในลักษณะนี้ น้าเต๋อท่านเคยเล่าไว้ผ่าน “สองเราเท่ากัน”
.
หลายหลายคนคิดว่า
ผู้ชายควรจะเป็นช้างเท้าหน้า
ส่วนผู้หญิงควรจะเป็นช้างเท้าหลัง
แต่สำหรับผมแล้ว
ผมคิดว่าเราน่าจะเดินไปพร้อมพร้อมกัน
เดินไปอย่างเท่าเทียมกัน
.
ท่อนพูดก่อนร้องของ “สองเราเท่ากัน” เป็นส่วนที่นำเสนอความหัวก้าวหน้าของน้าเต๋อในประเด็นนี้ได้เด่นชัดที่สุด
.
สำหรับผม “น้าเต๋อเป็นสุภาพบุรุษตัวจริง” และเป็นคนน่ารักที่สุดคนหนึ่งในชีวิตที่เคยรู้จัก
.
ผู้อ่านลองคิดจินตนาการว่า หากท่านถามเพื่อนสักคนว่า “อยากเห็นอะไรเป็นจริงมากที่สุด”
แล้วเขาตอบว่า “ผมอยากเห็นคุณมีความสุขอย่างที่ผมมีอยู่ตอนนี้”
ท่านจะไม่รักคนแบบนี้ได้จริงหรือ?
.
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายเรวัต พุทธินันทน์
https://digital.library.tu.ac.th/.../Info/item/dc:181076
.
"เรวัต พุทธินันทน์ : ‘เต๋อ’ ผู้ปฏิวัติวงการเพลงไทย" จาก ยอดมนุษย์..คนธรรมดา (The Normal Hero)
https://www.thenormalhero.co/rewat-buddhinan/
https://digital.library.tu.ac.th/.../Info/item/dc:181076
.
"เรวัต พุทธินันทน์ : ‘เต๋อ’ ผู้ปฏิวัติวงการเพลงไทย" จาก ยอดมนุษย์..คนธรรมดา (The Normal Hero)
https://www.thenormalhero.co/rewat-buddhinan/