วินทร์ เลียววาริณ
นายเชี่ยวชาญแจ้งเจ้านายว่าจะขอลาออกจากงานที่ทำมาสิบปี บริษัทใหม่ให้ตำแหน่งและเงินเดือนสูงกว่า เจ้านายบอก
“อย่าไปเลย ได้โปรด คุณมีค่าต่อบริษัท คุณเป็นทรัพยากรมีค่าของเรา ถ้าคุณไป บริษัทจะล้มแน่ อยู่ต่อก็แล้วกัน เดี๋ยวผมให้เงินเดือนขึ้น พลีส พลีส พลีส!”
นายเชี่ยวชาญอยู่ต่ออีกสองปี เจ้านายก็เรียกนายเชี่ยวชาญไปพบ แจ้งว่าบริษัทจะเลิกจ้างเขา
ทันใดนั้นนายเชี่ยวชาญพบว่าเขาไม่ได้เป็น ‘ทรัพยากรมีค่า’ สำหรับบริษัทนี้อีกต่อไป
เขาถูกแทนที่ได้
ความจริงคือนายเชี่ยวชาญไม่ได้โง่ลง หรือขี้เกียจขึ้น เขายังเก่งเหมือนเดิม แต่เกมเปลี่ยนไปแล้ว มีปัจจัยมากมายที่เกี่ยวข้อง บางทีเงินเดือนของเขาสูงเกินไปแล้ว
บางทีโลกทัศน์ของเขาไม่ขยายตามยุค บางทีภาษาอังกฤษที่เขารู้อาจไม่พอแล้ว บางทีประธานบริษัทคนใหม่แค่ไม่ชอบหน้าเขา ฯลฯ
และเมื่อถึงเวลาตัดสินใจขององค์กร บริษัทแทบทั้งหมดจะถือประโยชน์ขององค์กรหรือผู้มีอำนาจตัดสินเป็นที่ตั้ง
หลายคนทำงานอยู่ที่เดิมตลอดชีวิต บริษัทอื่นมาล่าตัวไปทำงานด้วย ก็ไม่ยอมไป เพราะจงรักภักดีต่อองค์กรอย่างมั่นคง
ผมรู้จักคนที่จงรักภักดีต่อองค์กร ไม่ย้ายไปที่อื่นทั้งที่ได้รับข้อเสนอดีกว่า แต่เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง เช่น วัยเริ่มอ่อนล้า ความคิดอ่านเริ่มอ่อนแรง
ความจงรักภักดีก็ไม่สามารถทำให้เขารักษาตำแหน่งและงานได้ เพราะแม้ความจงรักภักดีต่อองค์กรเป็นข้อดี แต่เมื่อถึงจุดตัดสินใจ บริษัทไม่ได้ดูที่ความจงรักภักดีเป็นหลัก
ถึงทำงานมานานปี ก็อย่ามีอีโก้ เก่งแค่ไหนก็ถูกไล่ออกได้
อย่าคิดว่าตนเองสุดยอด ไม่มีใครแทนเราได้
มีตัวอย่างมากมายนับไม่ถ้วน ‘คนเก่ง’ และ ‘ทรัพยากรมีค่า’ ถูกแทนที่ได้เสมอ
หากคุณเป็นที่ต้องการขององค์กร เวลาไปลาออก เจ้านายจะพูดว่าบริษัทขาดคุณไม่ได้ ล่มแน่ ฯลฯ ทั้งนี้เพราะเขาขี้เกียจหาคนใหม่ แต่หากจำเป็นก็หาได้เสมอ
ไม่เชื่อลองตายดู รับรองว่าเขาหาคนใหม่มาจนได้ เพราะธุรกิจต้องดำเนินต่อไป
แม้ในระดับของผู้บริหารและผู้นำองค์กร ไม่มีใครในโลกที่เป็นทรัพยากรมีค่าจนปลดออกไม่ได้ บริษัทหาคนมาแทนได้เสมอ
ผู้นำคนไหนคิดว่าตัวเองเก่งกาจสุดยอด อาจประเมินตัวเองสูงเกินไป
ในโลกธุรกิจ ไม่มีเทวดา
หลักของพุทธสอนเรื่องใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท แต่หลายคนเมื่ออยู่ที่สูงนาน ๆ สมองมักขาดออกซิเจน เห็นภาพลวงตาเป็นภาพจริง
มนุษย์เงินเดือนพึงคิดเสมอว่าเราทุกคนเป็น ‘expendable’ แปลอย่างไม่สุภาพว่า ถูกขับออกจากสำนักได้ทุกเมื่อ
ผู้ที่อยากอยู่จนเกษียณควรสร้างอำนาจต่อรองให้ตนเอง ถ้าเราเก่ง มีวิสัยทัศน์ และหาเงินเข้าบริษัทได้ ก็ยังสามารถดำรงตำแหน่ง ‘ทรัพยากรมีค่า’ ขององค์กรต่อไป
พึงวิเคราะห์และประเมินตัวเองเป็นระยะ ควรรู้ว่าตนเองยืนอยู่ตรงไหน คุณภาพและคุณสมบัติของตนเองเป็นอย่างไร ยังใช้งานได้ดีหรือไม่ ต้องอัพเกรดแล้วยัง
อย่ารอจนเบื้องบนเรียกไปบอกว่า “คุณเป็นทรัพยากรมีค่าของเรา แต่...”
การรู้เขารู้เราจะทำให้เราพบจุดแข็งของตนเอง และมันจะเป็นอำนาจต่อรองโดยเราไม่ต้องพูดสักคำ
และที่สำคัญ ในชีวิตการทำงาน ควรรู้ว่าเมื่อไรควรอยู่ต่อ เมื่อไรควรลาออก บางครั้งแม้ในเวลาที่กำลังมั่นคงที่สุด ก็ควรไป
มองที่เป้าหมาย แล้วก้าวเดินไปหาเป้านั้นโดยไม่ว่อกแว่ก ปรับแผนและจังหวะช้าเร็วตามความเหมาะสม แต่อย่าให้เป้าหมายหลุดจากสายตา
จากหนังสือ ตัวสุขอยู่ในหัวใจ วินทร์ เลียววาริณ