คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม
คัดจาก ธรรมะใกล้มือ ลำดับที่ 6 ของ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
มติชน
วันที่ 09 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
ภาพจาก Faithbook |
โมกขพลาราม ไชยา
6 พฤษภาคม 2531
ชาวโลกทั้งโลก รวมทั้งชาวไทยเราด้วย กำลังตกอยู่ในฐานะอย่างเดียวกันกับชนชาวกาลาม แห่งเกสปุตตนิคม ในสมัยพุทธกาล
หมู่บ้านชาวกาลามเป็นทางผ่านของศาสดาทั้งหลาย
แต่ละศาสดาต่างก็สอนลัทธิของตนๆ จนชนชาวกาลามไม่รู้ว่าจะรับเอาลัทธิใดดี
ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จผ่านมา เขาก็กราบทูลถามปัญหาข้อนี้
คือข้อที่ไม่รู้ว่าจะเชื่อศาสดาองค์ไหนดี
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสข้อความที่เรียกว่ากาลามสูตร ซึ่งจะได้พิจารณากันสืบไป.
ชาวโลกสมัยปัจจุบัน ได้ศึกษาวิชาการพัฒนาหลายรูปแบบ,
ในประเทศไทยเราก็มีคำสั่งสอนหลายรูปแบบ มีสำนักวิปัสสนาหลายสิบคณะ
มีอาจารย์หลายสำนัก จนประชาชนไม่รู้ว่าจะรับคำสอน
หรือปฏิบัติตามสำนักใดดีนี้เรียกว่าเรากำลังตกอยู่ในฐานะเช่นเดียวกับชาวกาลาม
ดังที่กล่าวแล้ว.
พระ พุทธเจ้าท่านได้ตรัสสอนให้ไม่รับเอามาเชื่อทันที โดยอาการ 10 อย่าง
เพื่อไม่ให้ตกไปเป็นทาสทางปัญญาของผู้ใด แม้แต่ของพระองค์เอง
จะได้รู้จักเลือกเอาคำสอนที่สามารถดับทุกข์ได้จริง
ดังที่ปรากฏอยู่ในหลักข้อที่สิบแห่งสูตรที่เรียกว่ากาลามสูตรนี้.
10 อย่างนั้นมีดังต่อไปนี้ :-
1.มา อนุสฺสเวน : อย่ารับเอามาเชื่อโดยการฟังบอกต่อๆ กันมา.
มันเป็นอาการของคนไร้สมอง หรือสมองขี้เลื่อย
2.มาปรมฺปราย : อย่ารับเอามาเชื่อโดยที่มีการทำตามๆ สืบๆ กันมา.
เห็นเขาทำอะไรอย่างไร ก็ทำตามๆ กันไป
ดัง นิทานเรื่องกระต่ายตื่นตูม ที่สัตว์ทั้งหลายเห็นกระต่ายวิ่งมาอย่างสุดกำลัง
ก็ชวนกันวิ่งตาม จนหกล้มคอหักตกเหวตายกันเป็นอันมาก.
วิปัสสนาที่สักว่าทำตามๆ กันมา ก็มีผลอย่างนี้.
3. มา อิติกิราย : อย่ารับเอามาเชื่อตามเสียงที่กำลังเล่าลืออยู่อย่างกระฉ่อนบ้าน
หรือกระฉ่อนโลก ซึ่งเรียกว่า "ตื่นข่าว"
มันเป็นเรื่องของคนโง่ ไม่ยอมใช้สติปัญญาของตน.
4.มา ปิฏกสมฺปทาเนน : อย่ารับเอามาเชื่อด้วยเหตุเพียงว่ามีที่อ้างในปิฎก.
คำว่า ปิฎก หมายถึงสิ่งที่ได้เขียนหรือจารึกลงไปแล้วในวัตถุสำหรับการเขียน.
ที่ยังจำๆ กันไว้ด้วยความทรงจำยังไม่เรียกว่า ปิฎก.
ปิฎก เป็นสังขารชนิดหนึ่งที่อยู่ในกำมือของมนุษย์ ทำขึ้นได้ ปรับปรุงได้
เปลี่ยนแปลงได้โดยมือของมนุษย์ จึงไม่อาจถือเอาได้ตามตัวอักษรเสมอไป
ต้องใช้วิจารณญาณให้เห็นว่า คำที่กล่าวนั้นจะใช้ในการดับทุกข์ได้อย่างไร.
นิกายพุทธศาสนาแต่ละนิกาย ก็มีปิฎกที่ไม่ตรงกัน.
5.มา ตกฺกเหตุ : อย่าเชื่อโดยเหตุที่ว่ามันถูกต้องตามเหตุผลทางตักกะ
ซึ่งเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่ง ที่ใช้เป็นเครื่องคำนวณหาความจริง.
ตักกะคือสิ่งที่เราเรียกกันว่า Logics ซึ่งมันก็ยังผิดได้ ถ้าข้อมูลมันผิด
หรือวิธีการคำนวณมันพลาด.
6.มา นยเหตุ : อย่าเชื่อโดยเหตุที่ว่ามันถูกต้องตามเหตุผลทางนยะ
ซึ่งเราเรียกกันในเวลานี้ว่า ฟิโลโซฟี่ ซึ่งได้ให้คำแปลว่าปรัชญา.
ชาว อินเดียไม่ยอมรับ เพราะมันเป็นเพียงทรรศนะหนึ่งๆ
มิใช่ปัญญาอันสูงสุดหรือเด็ดขาด
ที่ควรเรียกว่าปรัชญา. นยะ หรือนยายะ เป็นศาสตร์ชนิดหนึ่ง
ซึ่งใช้ในการคำนวณ โดยมีสมมติฐานหรือ Hypothesis, มันก็ยังผิดได้
เพราะการคำนวณ หรือการให้สมมติฐานที่ไม่เหมาะสม.
7. มา อาการปริวิตกฺเกน : อย่าเชื่อหรือรับเอามาเชื่อด้วยการตรึกตามอาการ
ที่เราเรียกกันสมัยนี้ว่าคอมม่อนเซ้นส์ ซึ่งเป็นเพียงความคิดชั่วแวบตามความเคยชิน
แต่เราก็ชอบใช้กันมากจนเป็นนิสัยไปก็มี.
นักปราชญ์ผู้อวดดีชอบใช้วิธีนี้กันมาก และถือว่าเก่ง.
8. มา ทิฏฺฐนิชฺฌานกฺขนฺติยา : อย่าเชื่อด้วยเหตุเพียงสักว่าข้อความนั้นมันทนได้
หรือเข้ากันได้ กับความเห็นของตนซึ่งมีอยู่เดิม ซึ่งมันก็ผิดได้อยู่นั่นเอง
หรือวิธีพิสูจน์และทดสอบมันไม่ถูกต้อง มันก็ไม่เข้าถึงความจริงได้.
ข้อนี้มีวิธีการคล้ายกับวิถีทางวิทยาศาสตร์ แต่มันก็เป็นวิทยาศาสตร์ไปไม่ได้
เพราะไม่มีการพิสูจน์ และทดลองที่เพียงพอ.
9. มา ภพฺพรูปตาย : อย่าเชื่อด้วยเหตุเพียงสักว่าผู้พูดมีลักษณะน่าเชื่อ.
ลักษณะภายนอกกับความรู้จริงในภายใน ไม่เป็นสิ่งเดียวกันได้
คือผู้พูดมีลักษณะน่าเชื่อ แต่พูดผิดๆ ก็มีอยู่ถมไป.
แม้สิ่งที่ เรียกกันว่าคอมพิวเตอร์สมัยนี้ ก็ระวังให้ดีๆ เพราะคนเป็นผู้ให้ข้อมูลหรือใช้มัน
อาจจะให้ผิดๆ หรือใช้มันผิดๆ ก็ได้, อย่าบูชาคอมพิวเตอร์กันนัก
มันจะผิดหลักกาลามสูตรข้อนี้.
10.มา สมโณ โน ครู-ติ : อย่าเชื่อด้วยเหตุเพียงสักว่า สมณะ (ผู้พูด)
นี้เป็นครูของเรา.
พระพุทธประสงค์อันสำคัญเกี่ยวกับข้อนี้ ก็คือไม่ต้องการให้ใคร
เป็นทาสทางปัญญาของใคร แม้แก่ของพระองค์เอง.
ทรง ย้ำบ่อยๆ ในข้อนี้ และมีสาวกเช่นพระสารีบุตรก็กล่าวยืนยันในการปฏิบัติเช่นนี้
คือไม่เชื่อทันทีที่ได้ฟังพระพุทธดำรัส แต่เชื่อเมื่อได้ใคร่ครวญด้วย
เหตุผลอันเพียงพอและได้ลองปฏิบัติดูแล้ว.
จง ดูเถิด มีศาสดาไหนในโลกที่ให้เสรีภาพแก่สาวกหรือผู้ฟังอย่างสูงสุดเช่นนี้ ดังนั้น
พุทธศาสนาจึงไม่มี Dogmatic System คือการบังคับให้เชื่อ
โดยไม่ให้สิทธิในการใช้เหตุผลของตนเอง.
นี่แหละคือความพิเศษสูงสุดของพระพุทธ-ศาสนา
ซึ่งทำให้ไม่ต้องตกเป็นทาสทางสติปัญญาของผู้ใด ดังกล่าวแล้ว.
คนไทยเรา อย่าสมัครเป็นทาสทางสติปัญญาของชาวตะวันตก
เหมือนที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันให้มากนักเลย หรือจะไม่เป็นเสียเลย
ก็จะเป็นการดีที่สุด.
กาลามสูตรทั้ง 10 ข้อนี้ เป็นหลักประกัน ความไม่เป็นตัวของตัวเอง
หรือการไม่ใช้สติปัญญาของตัวเองในการต้อนรับสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง
ที่เรียกกันในภาษาธรรมว่า ปรโตโฆสะ. เมื่อได้ยินได้ฟังอะไร
ก็ต้องกระทำโยนิโสมนสิการในสิ่งนั้นอย่างเต็มที่
มีเหตุผลที่จะเป็นประโยชน์แล้ว มีผลดับทุกข์ได้จริง
จึงค่อยเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์.
หลักกาลามสูตรนี้ ใช้สำหรับทุกคน ทุกแห่ง ทุกยุคทุกสมัย ในโลกทุกโลก
แม้แต่เทวโลก. สมัยนี้โลกแคบนิดเดียวเพราะการติดต่อคมนาคมอย่างวิเศษ
การสื่อสารทำได้ง่ายและรวดเร็ว คนในโลกสามารถได้รับความรู้ใหม่ๆ
จากทุกทิศทุกทาง ไม่รู้จะเชื่ออย่างไรดี
ตกอยู่ในฐานะอย่างเดียวกันกับชนชาวกาลามสมัยนู้น.
กาลามสูตรนี่แหละจะเป็นที่พึ่ง ขอได้สนใจศึกษาไว้ให้เป็นอย่างดีที่สุด
และถือว่าเป็นโชคดีที่สุด ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสกาลามสูตร
ไว้ในฐานะเป็นของขวัญของทุกคนในโลก. คนที่โง่เกินไปเท่านั้น
ที่ไม่อาจได้รับประโยชน์จากพระพุทธโอวาทสูตรนี้.
กาลามสูตรนี้ ให้ใช้ได้สำหรับคนทุกวัย แม้แต่วัยเด็ก เพื่อว่าจะได้เป็นเด็กของโพธิ
ไม่เป็นเด็กของอวิชชา บิดามารดาควรอบรมลูกให้รู้จัก
ทำความเข้าใจในคำพูดหรือคำสั่งที่ได้รับ ให้มองเห็นว่ามันมีเหตุผล อย่างไร
และจะได้รับผลอย่างไรตามนั้นหรือไม่. เมื่อสอนหรือสั่งอย่างไร เด็กๆ มีความเข้าใจ
หรือมองเห็นประโยชน์จากการปฏิบัติตามนั้น.
เช่นบอกว่า อย่าเสพเฮโรอีน เด็กๆ ไม่เพียงแต่เชื่อฟังเพราะความกลัว
แต่มองเห็นว่าเสพเฮโรอีนเข้าไปแล้ว มันมีผลอย่างไร แล้วก็กลัว
แล้วสมัครที่จะไม่เสพเอง. กาลามสูตรทุกข้อมิได้บ่งบอกว่า มิให้เด็กๆ ไม่เชื่อใคร ไม่ฟังใคร
แต่ให้ฟังและเชื่อหลังจากที่มองเห็นความหมายอันแท้จริง
และผลประโยชน์อันจะได้รับจากความเชื่อและการปฏิบัติตาม.
ครูสั่ง อะไรสอนอะไรเด็กก็มองเห็นเหตุผลของคำสั่งหรือคำสอนนั้นๆ
มิได้ต้องการให้เด็กดื้อ. สำหรับเด็กดื้อก็แถมพกด้วยไม้เรียว
เขาก็ไปคิดดูใหม่ได้ เด็กๆ จะเข้าใจหัวข้อของกาลามสูตรเพิ่มขึ้นๆ
ตามความเติบโตแห่งอายุ และจะครบหมดทั้ง 10 ข้อ
เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ได้เอง ถ้าเราอบรมเด็กๆ
ด้วยหลักเกณฑ์อย่างนี้.
โลกสมัยวิทยาศาสตร์อย่างสมัยนี้ ย่อมต้อนรับหลักการของกาลามสูตรได้ทั้ง 10 ข้อ
ตามวิถีทางของวิทยาศาสตร์ ด้วยความพอใจ.
มัน ไม่มีอะไรสักข้อเดียว ที่จะขัดกับหลักวิทยาศาสตร์ แม้ข้อที่แปด
ที่ว่า ไม่รับเอาด้วยการทนต่อการเพ่งพินิจของตน ก็มิได้ขัดหลักวิทยาศาสตร์
นักวิทยาศาสตร์มีการพิสูจน์และทดลองเป็นหลักสำคัญ มิใช่เอาเหตุผลของตนเป็นหลัก.
พุทธศาสนาจะเป็นที่ถูกใจ และสนองความต้องการ
ของนักวิทยาศาสตร์ได้ ก็เพราะหลักเกณฑ์แห่ง กาลามสูตรเหล่านี้.
ผู้ ถือหลักกาลามสูตร จะมีความรู้และเหตุผลของตน
สำหรับจะเข้าใจความหมายหรือความจริงที่ได้รับฟังเข้ามาใหม่.
ตัวอย่างเช่นได้ฟังว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นอันตรายหรือสิ่งเลวร้าย
ก็เข้าใจซึมซาบได้ทันที เพราะรู้จักสิ่งที่เรียกว่าความโลภความโกรธความหลงอยู่แล้ว
ว่ามันเป็นอย่างไร เขาก็เชื่อตัวเองแทนที่จะเชื่อผู้พูด.
ในกรณี อื่นๆ ก็มีวิถีทางปฏิบัติอย่างเดียวกันนี้. ถ้ามันเป็นสิ่งที่ไม่เคยรู้จัก มาก่อน
ก็จะต้องทำความเข้าใจ หรือรู้จักกันเสียก่อน แล้วจึงจะพิจารณา
ว่าจะยอมรับคำสั่งคำสอน คำแนะนำที่ได้รับใหม่. จะไม่ยอมรับ
เพราะการเชื่อผู้พูดโดยส่วนเดียว แม้จะต้องรอไปจนตาย.
กาลามสูตรสามารถป้องกันความเป็นทาสทางสติปัญญาของผู้อื่นอย่างสูงสุดเช่น นี้.
กาลามสูตรต้องการให้เรามีปัญญาก่อนที่จะมีศรัทธา. ถ้าจะเอาศรัทธามาก่อน
ก็จะเอาศรัทธาที่คลอดออกมาจากปัญญาเป็นจุดตั้งต้น, ไม่เอาศรัทธางมงาย
มาเป็นจุดตั้งต้น เช่นเดียวกับหลักอริยมรรค มีองค์แปด
เอาปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิเป็นจุดตั้งต้นแล้วให้ศรัทธาคลอดออกมาจากปัญญาหรือ
สัมมาทิฏฐินั้น ก็เป็นความปลอดภัย. ไม่หลับตาเชื่อ พอได้ยินก็เชื่อ
หรือถูกบังคับให้เชื่อเพราะความกลัว หรือสินจ้างเป็นต้น.
โลก ปัจจุบันมีการโฆษณาชวนเชื่ออย่างรุนแรงท่วมท้นไปหมด
จนชาวโลกตกเป็นทาสของการโฆษณา ที่สามารถทำให้คนควักกระเป๋าออก
ซื้อหาสิ่งที่ไม่ต้องกิน ไม่ต้องมี ไม่ต้องใช้ ดาษดื่นไปหมด
จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมอบหมายหลักกาลามสูตรให้แก่เพื่อนมนุษย์สมัยนี้
การโฆษณา ชวนเชื่อเป็นสิ่งร้ายแรงยิ่งกว่าการโฆษณาธรรมดา หรือที่เรียกว่า
ปรโตโฆสะ เพียงแต่ปรโตโฆสะก็ต้องการหลักกาลามสูตร เป็นที่พึ่งเสียแล้ว
นับประสาอะไรกับที่จะไม่ต้องใช้กับการโฆษณาชวนเชื่อ
ซึ่งเต็มไปด้วยความหลอกลวงโดยเจตนา.
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า กาลามสูตรมีประโยชน์อานิสงส์แม้ในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ.
ขอให้ท่านทั้งหลายใคร่ครวญ คำนวณ ทดสอบดูเถิด
ว่ามีเสรีภาพที่ไหนในทางจิตใจที่ยิ่งไปกว่าเสรีภาพ อันจะพึงได้รับจากกาลามสูตร.
ถ้า มีผู้กล่าวว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเสรีภาพ
ใครจะมีเหตุผลอะไรมาขัดแย้งหรือต่อต้าน. โลกที่กำลังมึนเมาเสรีภาพได้รู้จัก
หรือมีเสรีภาพตามหลักแห่งกาลามสูตรนี้กันหรือเปล่า.
เหตุที่ทำให้ไม่มีนั้น เนื่องมาจากการหลับหูหลับตาไม่รู้ไม่ชี้
ต่อพระบาลีกาลามสูตรกันหรือเปล่า. แถมยังตู่กาลามสูตรว่าสอนไม่ให้เชื่ออะไร
หรือรับฟังอะไร, และมากไปถึงว่า พระองค์ตรัสเรื่องนี้
สำหรับประชาชนชาวกาลามสมัยนั้นและที่นั้นเท่านั้นไป เสียอีก
ทำไมไม่สังเกตให้เห็นว่า คนสมัยนี้ตกเป็นทาสทางสติปัญญา
สูญเสียเสรีภาพยิ่งไปกว่าชนชาวกาลามไปเสียอีก.
เพื่อนมนุษย์ผู้ บูชาเสรีภาพทั้งหลายเอ๋ย ขอจงได้พิจารณาเนื้อความ
และความมุ่งหมายแห่งกาลามสูตร หรือพระพุทธประสงค์ในการตรัสสูตรนี้กันให้ดีๆ เถิด
ความเป็นพุทธบริษัทของท่านก็จะอ้วนขึ้นๆ แทนที่จะผอมลงๆ
และอย่าพากันงมงายด้วยความเกลียดกลัวกาลามสูตร ไปนักเลย.
คำว่า "ไท" มีความหมายแห่งเสรีภาพ แล้วท่านจะเอาเสรีภาพอย่างไหนมา
ให้แก่ความเป็นไทของพวกเรา หรือเราจะมีความเป็นไทในแบบไหนกันอีก
ซึ่งเหมาะสมแก่ความเป็นไทแบบพุทธบริษัท สาวกของพระพุทธองค์.
ในที่ สุด ก็มาถึงปัญหาเรื่องชื่อของสูตรๆ นี้. ถ้าถือเอาตามชื่อ
ของประชาชนผู้รับฟังพระพุทธโอวาทข้อนี้ ก็ต้องใช้ชื่อว่ากาลามสูตร.
แต่ถ้าเอาตามสถานที่ที่ตรัสพุทธโอวาทนี้ ก็ต้องเรียกชื่อว่า เกสปุตตสูตร.
จะใช้ชื่อไหนมันก็ยังเป็นเรื่องเดียวกันอยู่นั่นเอง.
ในสมัยที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
จัดการเผยแผ่พระไตรปิฎกด้วยหนังสือชุดที่เรียกว่าธรรมสมบัติ
สมัยนั้นนิยมใช้ชื่อกันว่า กาลามสูตร เป็นที่รู้จักกันดี
ดังนั้นจึงขอตะโกนว่า กาลามสูตร ช่วยด้วย!
สรุปความว่า กาลามสูตรไม่ได้ห้ามไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆ โดยประการทั้งปวง
หากแต่ให้เชื่อด้วยความเป็นไททางสติปัญญา.
ไม่ได้ห้ามไม่ให้รับฟังสิ่งใดๆ โดยประการ ทั้งปวง หากแต่ให้รับฟังด้วย
ความไม่เป็นทาสทางสติปัญญาเท่านั้น, แถมยังช่วยให้สามารถไตร่ตรอง
เลือกเฟ้นอย่างละเอียดสุขุม สามารถหาพบเศษทองในกองขยะขนาดใหญ่
เท่าภูเขาเลากาทีเดียว.
ดังนั้น มาเถิดกาลามสูตร, มาสิงสถิตอยู่ในหัวใจของพุทธบริษัทไทยในยุคปัจจุบัน
จงทุกคนเถิด.
กาลามสูตร ช่วยด้วย!
หน้า 20