-จากบัณฑิตการประมงของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
ไปแสวงโชคเป็นลูกจ้างบริษัทใหญ่ที่ปักษ์ใต้ตามครรลอง
ของการศึกษาเพื่อสนองระบอบทุนนิยมตะวันตก
-จากผู้จัดการภาคกินเงินเดือนละ ๒ แสน
หนีกลับบ้านเกิดมาเป็นเกษตรกรบนพื้นดินลูกรังที่ไร้ค่าในสายตาใครๆ
-จากคนอมโรคทั้งโรคหัวใจ และความดันโลหิตสูงที่ยากจะรักษา
กลับมาเป็นชายวัยกลางคนที่แข็งแรงกว่าวัย
นายนฤทธิ์ คำธิศรี
เกิด 1 มกราคม 2506
ที่อยู่ 85 ม.9 ต.โพธิไพศาล อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร
คู่สมรส นางตุ้มคำ พยาบาลวิชาชีพ 7 หัวหน้าสถานีอนามัยโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์
บุตร 2 คน
การศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงจากวิทยาลัยเกษตรสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ (สาขาประมง)
ประวัติการทำงานและผลงานที่น่ายกย่อง
นายนฤทธิ์ เป็นประชากรเขตตำบลโพธิไพศาลเป็นชนเผ่า “ ไทโส้ ”
ซึ่งมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
เมื่อเรียนจบทำงานกับบริษัทเอกชนด้านการเกษตร
และเก็บออมเงินทุนไว้ประกอบอาชีพของตนเอง
ในที่สุดได้ลาออกจากบริษัทและกลับมาใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรเต็มตัว
ที่แผ่นดินเกิดบนดินลูกรังพื้นที 31 ไร่ ซึ่งได้มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของตนเองและคู่ชีวิต
นายนฤทธิ์ได้พยายามนำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด
เพื่อปรับเปลี่ยนความเชื่อที่บอกกันตลอดมาว่า “ดินลูกรัง”ปลูกอะไรก็ไม่ได้
ต้นไม้ไม่โตจากสภาพพื้นดินที่เป็นดินลูกรังซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
ขาดน้ำในฤดูแล้งการทำการเกษตรจึงต้องมีข้อมูลและมีความอดทนมากพอสมควร
ในปี2532 นายนฤทธิ์ได้เริ่มต้นศึกษาการปลูกพืชตามหลักวิชาการอย่างจริงจัง
โดยศึกษาปริมาณน้ำฝน พันธุ์พืช หลักการปรับปรุงบำรุงดิน
ศึกษาการทำการเกษตรแบบธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น
ศึกษาดูงานสวนเกษตรที่ประสบความสำเร็จทั่วประเทศ
ในปี 2535 ได้เริ่มทดลองปลูกพืช ชนิดละ 2-3 ต้น
เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตและปัญหาของพืชชนิดนั้นๆ
ขณะเดียวกันได้ปลูกพืชเป็นแนวกันลมคือปลูกไม้สักรอบพื้นที่
จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลมาตลอด 5 ปี จนมีความมั่นใจ
ปี 2537 จึงเริ่มลงมือปลูกพืช โดยใช้หลักวิชาการผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
แบ่งพื้นที่การเกษตร เป็นพื้นที่ปลูกพืชและปศุสัตว์ 20 ไร่,
บ่อเลี้ยงปลา 9 ไร่, ป่าอนุรักษ์ 4 ไร่
ประเภทของพืชที่ปลูก แบ่งเป็น
1. ผักอายุสั้น : พริก แตงไทย ฟักทอง บวบ
2. พืชอายุสั้น : กล้วย มะละกอ ฝรั่ง
3. ผลไม้ : กระท้อน ขนุน มะม่วง มะขาม มะพร้าวน้ำหอม ลำไย มะกอกน้ำ
4. ไม้เศรษฐกิจ : สัก พยุง ชิงชัน ประดู่แดง มะค่าโมง
5. พืชทดลอง : ผักหวานป่า
6. ป่าอนุรักษ์
สัตว์ที่เลี้ยงได้แก่ วัวขุน วัวฝูง เป็ด ไก่ แพะ แกะ
บ่อเลี้ยงปลา จำนวน 3 บ่อ
นายนฤทธิ์ เป็นเกษตรกรที่สามารถจัดการกับปัญหาด้านเศรษฐกิจสังคม
และสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม คือ
ด้านเศรษฐกิจ จัดการให้ได้ผลตอบแทนจากผลิตผลทุกฤดูกาลหมุนเวียน
อย่างเพียงพอตลอดปี
ปัจจุบันนายนฤทธิ์ มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท
ด้านสังคม แก้ไขการลักขโมย
ด้วยการพยายามพบปะผู้คนในชุมชนทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน
เป็นผู้นำด้านต่างๆหลายด้าน
แบ่งปันผลผลิตให้กับวัด โรงเรียน
ศูนย์เด็กช่วยเหลือคนจนและผู้ติดเลิกยาเสพติดโดยการรับเข้าทำงานในฟาร์ม
จนในที่สุดปัญหาการลักขโมยได้หมดลง
ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเกษตรกรที่ตะหนักถึงปัญหาระบบนิเวศน์และเข้าใจดีว่า
ป่าและธรรมชาติจะต้องถูกทำลายมากขึ้นในอนาคต
ได้แบ่งพื้นที่เป็นป่าอนุรักษ์เพื่อให้สัตว์และแมลงได้อาศัย
พร้อมทั้งปลูกป่าเพิ่มเติม
นับว่า นายนฤทธิ์ เป็นผู้มีความอดทน ขยันและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค
หมั่นศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาอาชีพของตน
ขณะเดียวกันก็เอื้อเฟื้อต่อส่วนรวม
และเป็นแบบอย่างให้เยาวชน
เกษตรกรทั่วไปมาเรียนรู้แนวคิดปฏิบัติ จนได้รับคัดเลือก เป็น
-เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพดีเด่น
สาขาไร่นาสวนผสมในปี ๒๕๔๘ จากสนง.เกษตรจังหวัดสกลนคร
-คนดีศรีเมืองสกลประจำปี๒๕๔๗ จากจังหวัดสกลนคร
-คนดีเมืองสกล เชิงประจักษ์ ประจำปี ๒๕๔๘ จากชมรมส่งเสริมคนดีเมืองสกล
ที่มา:
http://www.yclsakhon.com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&Category=yclsakhoncom&thispage=3&No=270837