Custom Search

Jun 21, 2018

โรจ ควันธรรม เอกลักษณ์แห่งความร่วมสมัย



ที่มา http://www.jr-rsu.net/article/1229

ภาพจาก http://www.megazy.com

ขณะยืนอยู่หน้าเตาไฟ มีกระทะอยู่หนึ่งใบ พร้อมเครื่องปรุงเต็มโต๊ะ เกลือป่น ซอส ซีอิ้ว น้ำปลา ผัก เนื้อ เป็นคุณจะใส่อะไรก่อน
ถ้าไล่ให้ไปถามพวกกุ๊กทำกับข้าว ผักหรือเนื้อสัตว์ บางอย่างต้องใส่ก่อน ถ้าใส่หลังไม่อร่อยเลยว่ะ หรือผักบางอย่างต้องใส่ลงไปผัดทีหลัง มันถึงจะเขียวหน้ากิน หรือบางอย่างต้องผัดให้สุกเลย บางอย่างอย่าสุกมาก เช่นเดียวกับการเป็นดีเจของ ‘หมึก’ ดีเจ 70s หรือ โรจ ควันธรรม ที่คลุกคลีกับการปรุงเพลงมานาน

“ตอนเราจัดรายการ เรากำลังปรุง แผ่นเสียง ดนตรีมีหลากหลายอารมณ์ทั้งโฆษณา ซิงเกิล ทั้งหมดนี้ เราจะเรียงคิวอย่างไรให้ชั่วโมงของรายการมีจุดพีคเพื่อส่งอารมณ์เพลงถึงคนฟัง”

ใกล้เคียงที่สุดแล้วเหมือนกับการทำกับข้าว คุณจะใส่น้ำปลาตอนไหน ซึ่งวิธีการทำเพลงคือการปรุง เพลงเสพด้วยหู กับข้าวเสพด้วยลิ้น มันคือการเสพความสุขเช่นเดียวกัน เรากำลังปรุงความสุขส่งให้กับคนฟัง คนฟังคือลูกค้าเราที่จะมานั่งกินอาหาร เราใช้ใจเรา เสพไปพร้อมๆ กับคนฟัง

ก่อนเข้ามาในวงการเพลง ประมาณปี พ.ศ.2526 ดูเหมือนเขาจะใช้ชีวิตโลดโผนในหมู่วัยรุ่นเพราะช่วงยุคสมัย 60s เกือบ 70s จะนิยมจัดปาร์ตี้กันตามบ้านเพื่อน ซึ่งในยุคนั้น ยังไม่ค่อยมีไนท์คลับสักเท่าไร ก็จะมีแต่วงดนตรีที่นักเรียนเล่นกันเอง นอกเหนือจากการปาร์ตี้กันในบ้านแล้ว เขามักออกมาแฮงเอาท์กับเพื่อนๆ ในย่านสยามสแควร์อยู่บ่อยครั้ง ก่อนที่จะมีแมวมองจาก
ไนท์สปอตโปรดักชั่นโทรเข้ามาเพราะเห็นว่าเขาชอบเล่นดนตรี เขาตอบตกลงทันทีเพราะมีไอดอลเป็นเจ้าของรายการไนท์สปอต และนี่ก็เป็นจุดเริ่มของดีเจแถวหน้า แห่งยุค 70s

สิ่งที่ประสบความสำเร็จมากๆ คือการที่เขาเอาเพลงจากอังกฤษมาเปิด ในช่วงนั้น บอกได้เลยว่ากระแสเพลงเต้นรำครองเมือง เพลงเต้นรำก็คือเพลงที่มีจังหวะสม่ำเสมอ แปะ แปะ แปะ (พี่หมึกตบมือ) วงดนตรีที่ไม่เคยทำในจังหวะแบบนี้  ออกมาทำกัน เพราะถือว่าเป็นจุดขาย จนเรียกได้ว่าเป็นปีของวงดังในยุค 70s และยุค 80s  Come Back Year

“หลายคนเข้าใจผิดกันว่า เพลงเต้นรำคือเพลงดิสโก้ แต่จริงๆแล้วมันไม่ใช่ เพลงเต้นรำมันคือ แดนซ์ คนที่ไม่เข้าใจ จะเหมาเอาว่า เพลงที่เล่นในดิสโก้เทคเนี่ย คือ เพลงดิสโก้  แต่ในความเป็นจริงเป็นได้ทั้ง ร๊อค พังค์ โซล ดิสโก้  ป็อป”

มีสิ่งหนึ่งที่เขายึดถือตลอดเวลาคือ ไม่ชอบทำอะไรที่เหมือนใคร เขาเป็นคนที่ทำการบ้านก่อนทำงานเสมอและต้องคิดก่อนทำ เวลาฟังเพลงก็จะหาประเด็นของเพลงที่เล่น ทุกครั้งที่จัดรายการวิทยุ เวลาเล่นเพลงออกไป กำลังใส่หูฟังหรือทำอะไรอยู่ก็แล้วแต่ เขาจะทำจนกระทั่งเกิดความอัตโนมัติขึ้นกับตัวเอง โดยนำความรู้สึกของเพลงจากการจัดเพลงในแต่ละวันมาบอกต่อคนฟัง จากรายการวิทยุสู่รายการทีวี เป็นเสียงพากย์รายการ เสียงพากย์โฆษณาในทีวีกับวิทยุ หรือพิธีกรในงานดนตรีต่างๆ คนจึงเห็นเขาจากการได้ยินเสียง

“เราต้องบอกตัวเองว่าอะไรควรวางที่ไหน ตรงไหนวางผิดจังหวะอารมณ์โดดนี่เจ๊งเลย คล้ายกับเรากำลังดีไซน์จัดบ้าน อย่าทำให้บ้านรกเท่านั้นเอง การจัดเพลงก็เหมือนกัน เมื่อจัดรายการแบบเนิบๆ หมอนถามหา ง่วงแน่นอน ผมไม่ชอบแจกหมอนเครื่องดนตรี ซาวด์ดนตรี เสียงของกีตาร์ มันต้องมีเปลี่ยนบ้าง มันต้องมีอะไรใหม่ขึ้นมาบ้าง  เปลี่ยนซาวด์บ้างเล็กน้อย คือเรายอมรับว่าเพลงที่เปิดมามันไพเราะ แต่พอเกิน 5 เพลงขึ้นไป มันต้องขยับนิดนึงแล้ว ขยับเดี๋ยวค่อยกลับมาจึกๆ ก๊อกๆ ใหม่ได้”

นับวันครีเอทีฟยิ่งสำคัญที่สุด แม้กระทั่งการขายก๋วยเตี๋ยว ไม่รู้อร่อยหรือเปล่า หากหน้าร้านมีอะไรประหลาดไม่เหมือนคนอื่น คนจะต้องสนใจว่ามันคิดขึ้นมาได้อย่างไร หลังจากนั้นเรื่องรสชาติค่อยว่ากันอีกที ว่าจะครั้งเดียวผ่าน หรือจะกลับมาอีก เพราะฉะนั้นเรื่องครีเอทีฟเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่พี่หมึกฝากไว้ งานทุกชิ้นทุกอย่างขอแค่คิดต่าง กล้าคิด ว่าจะเริ่มจากจังหวะไหน จะเล่นซาวด์แบบไหน แล้วต่อด้วยอะไร เอาความพอดีเป็นตัวตั้ง แล้ววางบีทไว้ในใจ ผมเล่นเพลงสมัยเปิดแผ่น ตอนนั้นใช้แผ่นไวนิลเปิดแผ่นนี้เสร็จ หยิบอีกแผ่นวางเตรียมไว้ ใส่หูฟังไว้ตลอด

“นักจัดรายการสมัยก่อนมือเร็ว สันแผ่นเสียงแต่ละแผ่นจำได้หมด ลุกขึ้นไปหยิบได้ทันทีอย่างไม่มีพลาด ฉะนั้นแผ่นที่กำลังจะจบเหลือไม่ถึง 50 วินาทีเราฟังอยู่ถ้าแผ่นต่อไปไม่ใช่เพลงที่ต้องการ ก็ต้องรีบลุกขึ้นหยิบใหม่ ใจเราต้องอยู่กับงานที่เราทำ มันคือเรื่องของครีเอทีฟ”

ฉายาพี่หมึกดีเจ 70

“คือเราเกิดจากยุค 70 อยู่ในเหตุการณ์ ทำงานมากับมือ มาถึงยุค 2000 เห็นได้ทันทีว่า มันมีความแตกต่างกันมาก แต่คนชอบถามว่ายุคไหนดีกว่ากัน คำถามนี้ผมไม่ชอบเลยจริงๆ เพราะแต่ละยุคแต่ละสมัยมันเปรียบกันไม่ได้เลย การเสพของคนไม่เหมือนกันต่างคนต่างชอบคนละแบบเราสามารถบอกได้ว่า การทำงานในยุคนั้น มันเป็นแบบนี้นะ สมัยนี้มันเป็นแบบนี้นะ ยุคปัจจุบัน ดนตรีมันเปลี่ยนอารมณ์ไปเพราะมีการกดปุ่มโปรแกรม ทุกอย่างมีเครื่องช่วยหมด มันไม่เหมือนสมัยก่อนเวลานักดนตรีจะแกะเพลง ต้องเปิดเทปคาสเซ็ทฟัง กดกรอไปกรอมา สมัยนี้ทุกอย่างใช้อินเตอร์เน็ตกดเสิร์ชหาข้อมูลมา คนมันรีบเร่งไปหมด เพราะฉะนั้น ความละเอียดย่อมจะหายไป”

ชีวิตอิสระที่นอกเหนือจากการเป็นดีเจ
“ผมชอบดีไซน์การแต่งตัว เดินแหล่งวัยรุ่นดูเสื้อผ้า มีคนยุให้ทำเสื้อผ้า ผมสนใจอยู่เหมือนกันครับ แล้วก็มีเล่นดนตรีกับเพื่อนๆ”

เพลย์ลิสต์ที่ชอบตลอดกาล

ผมชอบวงดนตรียุคเก่าที่ยังมีผลงานถึงปัจจุบัน โพลิซ บลอนดีย์ ยูทู ส่วนวงฟังชิลล์ๆ ที่ชอบมากเลยก็คือ Lighthouse family  กับ Daft Punk  ซึ่ง Daft Punk ถือเป็นวงรุ่นใหม่ที่ได้รับอิทธิพลของเก่ามาผสมกับใหม่มาจนกลายเป็นคำโมเดิร์นคลาสสิคที่เอามาแมทช์กันจนลงตัว

“ความหล่อของเสียงและหน้าตายังคงเดิมไม่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา แม้จะชอบเพลงใหม่ๆ แต่ไอเดียของเพลงต้องมีกลิ่นอายของเพลงยุคเก่า นี่เป็นสไตล์การฟังเพลงของพี่หมึกเลย”

ผมจะชอบนักดนตรีรุ่นใหม่ที่ทำเพลงแนววินเทจ ผมสนใจเพลงใหม่ๆ ที่เขาได้ ไอเดียจากเพลงยุคเก่ามาทำเพลงจังหวะเคลื่อนไหว เพลงพวกนี้เป็นเพลงที่ผมเปิดบ่อยมาก จุดที่น่าสนใจคือ ดนตรีจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ซาวด์ แต่กีตาร์สด กลองสด เอามาผสมกัน เวลานี้ทำให้กระแสของเพลงเก่าและศิลปินเก่ากลับมากันเยอะมาก

“การทำเพลงที่ดีสักเพลงหนึ่งเหมือนกับว่าเราต้องใช้ใจ ใช้รายละเอียดทุกอย่างในชีวิตทำออกมา ไม่ใช่แค่ต้องการให้ได้ผลตอบรับที่ดี แต่เพลงที่ดี มันจะเดินทางไปถึงหูฟังเอง”

จริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่ผมอยากจะบอก มันคือความคลาสสิกที่อยู่ได้นาน แต่คนที่จะรับไปปฏิบัติจะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการประยุกต์ของเขา คนรุ่นใหม่ที่ทำเพลงออกมาย่อมต้องการให้งานเพลงเป็นที่รู้จักเร็ว แต่คนที่รักดนตรีจริงๆ จะไม่คำนึงว่า เมื่อไหร่จะมีคนชื่นชอบงานของตนเอง เพลงเพราะของแท้ทิ้งวางไว้ก็ไม่มีวันเสื่อมสลาย  เพราะฉะนั้นคำพูดคำนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ฟังหรือใครจะเป็นผู้เอาไปตีความ มันไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก บางคนอาจจะแย้งว่า ทำงานเพลงก็ต้องการให้มีฟีดแบคกลับมา แต่ผมไม่สนใจ ผมถือว่างานของผม ต้องมีคนชอบแน่นอน เพราะมันมีคุณภาพในตัวมันเอง