Custom Search

Oct 31, 2009

มฟล. คว้าเทคนิคยอดเยี่ยม แข่งขันสร้างรถอัจฉริยะ ไร้คนขับ !!



ที่มา : http://intranet.mfu.ac.th/system/mfunews/prnews01.php?newsid=3536  (not active)

พัฒนาการด้านความเร็วเสมือนคนขับจริง
สามารถเรียกเสียงเชียร์ และทำให้ผู้ชมที่เกาะขอบสนามแข่ง
รถบางกอก เรซซิ่ง เซอร์กิต หลัง ซีคอน สแควร์
ร่วมลุ้นกันอย่างเต็มที่ กับการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะ
ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2552 รอบชิงชนะเลิศ
ซึ่งปีนี้ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย
และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) จัดขึ้นเป็นปีที่ 3


รศ.ดร.มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันครั้งนี้
บอกว่า ปีนี้มีผู้สนใจส่งทีมเข้าแข่งขันจำนวน 21 ทีม
จาก 15 สถาบัน ซึ่งผ่านการแข่งขันรอบคัดเลือก
เข้าสู่รอบสุดท้ายจำนวน 8ทีม
การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะไร้คนขับนั้น
ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งเป็น
เทคโนโลยีเดียวกับที่กำลังถูกค้นคว้าใช้ในห้องวิจัย

เกือบ 3 ปี ที่จัดแข่งขันขึ้นในประเทศไทย
รศ.ดร.มนูกิจ บอกว่า จะเห็นว่าเด็กไทย
ได้พัฒนาศักยภาพในการสร้าง
รถอัจฉริยะไร้คนขับอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะเรื่องของความเร็ว
ปัจจุบันสามารถทำได้ถึง 30-40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ซึ่งเทียบเท่ากับการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ในต่างประเทศ
เพื่อเพิ่มความสนุกในการแข่งขัน
จากเดิมที่ในแต่ละปีแข่งกันที่ระยะทางที่สามารถทำได้มากที่สุด
โดยแข่งครั้งละ 1 ทีม
แต่ปีนี้ในรอบชิงชนะเลิศ เน้นทั้งด้านความสามารถ
ในการบังคับรถให้ทำตามกติกา และแข่งกันที่ความเร็ว
เพื่อความสนุกในการแข่งขัน
กติกาการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ 8 ทีมสุดท้าย
ใช้วิธีจับคู่ ให้รถไร้คนขับ 2 คัน แข่งขันในสนามเดียวกัน
โดยกำหนดจุดที่ปล่อยรถห่างกัน 100 เมตร
การตัดสินทีมที่ชนะในแต่ละสาย
พิจารณาจากทีมที่วิ่งได้ระยะทางรวมไกลที่สุด
ในเวลา 20 นาที มีโบนัสครั้งละ 100 เมตร
หากหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้แม่นยำ
แต่ความมันส์อยู่ที่กติกาใหม่
หากทีมที่สอง ซึ่งจุดเริ่มต้นอยู่ถัดไป
สามารถวิ่งแซงคันหน้าหรือน็อกรอบได้ จะชนะทันที

เริ่มเปิดสนามกันตอนบ่ายโมงกว่า ๆ ท้องฟ้าค่อนข้างครึ้ม
ทำเอาน้อง ๆ ใจเสียไปพอสมควร
เพราะฝนฟ้ารวมถึงสภาพแสงแดดที่เปลี่ยนไป
มีผลสำคัญต่อความแม่นยำของอุปกรณ์
ไฮเทคที่ใช้อย่างเช่น จีพีเอส และเซ็นเซอร์
รวมถึงอาจทำให้โน้ตบุ๊ก
และกล้องที่นำมาใช้เกิดความเสียหายได้
แต่ก็สามารถผ่านไปได้ด้วยดี น้อง ๆ ทั้ง 8 ทีม
ต่างแสดงความสามารถ ขับเคี่ยวกันอย่างเต็มที่
แถมสร้างความหวาดเสียวให้กับผู้ชมที่อยู่ใกล้
เพราะวิ่งได้เร็วมาก หากไม่สังเกต
หรือไม่รู้มาก่อน คงต้องนึกว่ามีคนขับอย่างแน่นอน

ในที่สุด ก็ได้ 2 ทีมสุดท้าย คือทีมขึ้น ช่าย
จากสถาบันเอไอที กับทีมแอร์ ฟอร์ซ ทู
จากโรงเรียนนายเรืออากาศ เข้าไปแข่งขันรอบตัดเชือก
และ สุดท้าย ทีมขึ้นช่ายใช้ลีลาบุกตะลุยด้วยความเร็ว
ชนป้ายสิ่งกีดขวางอย่างไม่กลัวเจ็บเพราะเป็นรถเก๋ง
เอาชนะทีมแอร์ ฟอร์ซ ทู ที่ใช้รถกอล์ฟไฟฟ้า
เน้นวิ่งเร็ว แม่นยำ และสม่ำเสมอไปอย่างหวุดหวิด

แชมป์รถอัจฉริยะไร้คนขับปีนี้ จึงตกเป็นของ
"ทีมขึ้นช่าย" จากสถาบันเอไอที
คว้ารางวัลเงินสด 300,000 บาท
และโล่เกียรติยศ จาก ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ส่วนทีมแอร์ ฟอร์ซ ทู จากโรงเรียนนายเรืออากาศ
ได้รางวัลรองชนะเลิศ รับรางวัลเงินสด 200,000 บาท
พร้อมโล่เกียรติยศเช่นกัน

สำหรับทีม อะไรฟว์-ทู จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
คว้ารางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม
ทีมผักชี จากเอไอที คว้ารางวัลความคิดสร้างสรรค์
และ ทีมดั๊ค ไรเดอร์ส จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
พระจอมเกล้าพระนครเหนือ
คว้ารางวัลออกแบบประหยัดพลังงานยอดเยี่ยม

เมธี ศรีสุบรรณดิฐนัก ศึกษาจากภาควิชาเมคาโทรนิกส์
คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี เอไอที
หัวหน้าทีมขึ้นช่าย บอกถึงเทคนิคที่ทำให้ได้แชมป์ครั้งนี้ว่า
มีการพัฒนารถจากเดิมโดยเน้นที่ความเร็วเพิ่มขึ้นจาก
10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
รวมถึงได้เขียนโปรแกรมใหม่เพิ่มด้านความน่าเชื่อถือและเสถียรภาพ
ทำให้รถมีจุดเด่นคือสามารถวิ่งได้เร็วมาก
ค่อนข้างนิ่งและสามารถวิ่งได้เสมือนมีคนขับจริง

ทางทีมได้ปรับใช้ความรู้จากวิชาคอนโทรล
ในการควบคุมรถ ทำให้รถอยู่ในเส้นทาง
เลี้ยวหลบสิ่งกีดขวางได้
นอกจากนี้ยังมีการปรับใช้ความรู้จากวิชาอิเล็กทรอนิกส์
ในการติดตั้งและพัฒนาอุปกรณ์ต่าง ๆ
สำหรับรถอัจฉริยะไร้คนขับเช่น
มอเตอร์ เข็มทิศ และจีพีเอส

ด้านทีมแอร์ ฟอร์ซ ทู จากโรงเรียนนายเรืออากาศ
ซึ่งส่งทีมเข้าแข่งขันเป็นครั้งแรก
นักเรียนนายเรืออากาศ จักรพันธุ์ ขาวสำรวย หัวหน้าทีม
บอกว่า ทีมได้พัฒนาเรื่องความเร็วของรถ
โดยทางตรงสามารถวิ่งได้ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ส่วนทางโค้ง วิ่งได้ 15 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง
จุดเด่นในรอบชิงนี้ มีการเปลี่ยนมา
ใช้จีพีเอสความละเอียดสูงซึ่ง
เป็นจีพีเอสที่ใช้สำหรับเครื่องบิน
นอกจากนี้ยังเพิ่มกันชนหน้าหลัง
รองรับความเร็วของรถที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

เห็นพัฒนาการด้านรถอัจฉริยะไร้คนขับของเยาวชนไทยแล้ว
น่ายินดีและมีความหวังขึ้นมาว่าสักวันคนไทย
คงมีโอกาสได้ใช้บริการรถไร้คนขับ เหล่านี้
และคงไม่ช้าไปกว่าประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีอื่นๆ
หากภาครัฐและเอกชนให้
การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเช่นทุกวันนี้!!!.

ที่มา เดลินิวส์ออนไลน์ 4 สิงหาคม 2552

Credits: http://www.youtube.com/user/jull8080