Custom Search

Oct 25, 2008

เพื่อความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับหลักกรรม (1) ความเข้าใจที่ผิดพลาดเกี่ยวกับหลักกรรม


คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก

หลักกรรมเป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา แต่น่าประหลาด
ชาวพุทธไทยเข้าใจไม่ตรงกับที่ทรงสั่งสอน จะว่าผิดโดยสิ้นเชิงก็ไม่ใช่
แต่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ ความเข้าใจไม่ค่อยถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้
ผมว่ามีอิทธิพลมาจากวรรณคดีไทยส่วนหนึ่ง
มาจากการสอนของผู้รู้
(ที่ไม่รู้จริง) อีกส่วนหนึ่งเข้าใจผิดกันอย่างไรหรือครับ ผมขอว่าเป็นข้อๆ ดังนี้
1.คนไทยส่วนมากเข้าใจว่า กรรม คือผลของความชั่วร้ายที่เราได้กระทำไว้แต่ชาติปางก่อน
2.เชื่อกันว่า กรรมเป็นกฎสำเร็จรูป ตายตัว ที่เราไม่มีโอกาสแก้ไข
หรือทำอะไรไม่ได้มีทางเดียวคือจำต้องยอมรับ
3.เชื่อว่าทำอย่างใด ต้องได้อย่างนั้น ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีเปลี่ยนแปลงยกมาแค่ 3 ข้อก็พอ
ขอแถลงเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้
(1) เรามักเข้าใจผิดว่า "กรรม" คือผลของความชั่วร้าย ที่ทำไว้แต่ชาติก่อน
บันดาลให้เราได้มาเกิด มาเป็น อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
เรื่องร้ายๆ และเรื่องใหญ่ๆ เท่านั้น
(เช่น ถูกถอดออกจากตำแหน่ง โดนฟ้องร้องติดคุก ไฟไหม้บ้าน..)
จึงเรียกว่า กรรม
เรื่องเล็กน้อย (เช่น เดินพลาดตกท่อเทศบาลขาแพลง..) ไม่เรียกว่ากรรม
ส่วนผลของความดีที่ทำไว้แต่ชาติก่อนมาบันดาลให้เป็นไป
(เช่น อยู่ ๆ ก็มีคนมาเชิญให้เป็นนายกฯ..) ไม่เรียกว่ากรรม กลับเรียก "บุญ"
จึงมักมีคำพูดว่า "บุญทำ กรรมแต่ง" หรือ "แล้วแต่บุญแต่กรรม"
นี่คือความเข้าใจผิดของคนไทยส่วนใหญ่ผิดอย่างไร ?
ผิดตรงที่คำว่า "กรรม" มิใช่ผล แต่เป็นเหตุ มิใช่เรื่องที่ล่วงไปแล้ว
แต่เป็นเรื่องปัจจุบัน
มิใช่เรื่องเลวร้ายอย่างเดียว เรื่องดีๆ ก็เป็น "กรรม" ด้วย
และมิใช่เฉพาะเรื่องใหญ่ๆอย่างเดียว เรื่องเล็กๆ ก็เป็น "กรรม" ด้วยกรรมคือ
การกระทำทางกาย วาจา และใจ ที่มีเจตนาเป็นตัวนำ เราตั้งใจทำ พูด คิดเรื่องใด สิ่งใด
ทั้งในแง่ดีและไม่ดี เรียกว่า "กรรม" เช่น- ผมกำลังพิมพ์ต้นฉบับอยู่ ยุงตัวหนึ่งมากัดผม
ผมรำคาญจึงตบให้มันตาย เรียกว่าผมทำกรรมทางกาย เป็นกรรมที่ไม่ดีเรียกว่า
"อกุศลกรรม" หรือ "บาป"- กำลังทำงานง่วนอยู่
ก็มีคนมากดกริ่งอ้างว่ามาจากมูลนิธิการกุศลแห่งหนึ่ง มาขอบริจาค
ผมโมโหด่าไปเจ็บๆ แสบๆ ไม่ให้แม้แต่บาทเดียว
เพราะคนคนนี้เคยมาขอแล้วขออีก เคยสืบได้ว่าไม่มีมูลนิธิดังกล่าวจริง
เรียกว่าผมได้ทำกรรมทางวาจา เป็นกรรมไม่ดีเรียก "อกุศลกรรม" หรือ "บาป"
- อ่านข่าวพบคนที่เป็นศัตรูได้รับตำแหน่งใหญ่โต
ผมทนไม่ได้คิดสาปแช่งให้มันพินาศฉิบหายในเร็ววัน
อย่างนี้ผมกำลังทำกรรมทางใจ เป็นกรรมไม่ดีเรียก "อกุศลกรรม" หรือ "บาป"
ตกลงวันๆ ผมอาจทำกรรมไม่ดีหลายอย่าง หรืออาจทำกรรมดีอีกหลายอย่างก็ได้
ถ้าเป็นกรรมดี ก็เรียกว่า "กุศลกรรม" หรือ "บุญ" กรรมไม่ดี ก็เรียก "อกุศลกรรม"
หรือ "บาป"เพราะฉะนั้น "บุญ" ก็คือกรรมชนิดหนึ่ง "บาป" ก็คือกรรมชนิดหนึ่ง
ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ เป็นเหตุมิใช่ผล เป็นเรื่องปัจจุบัน
มิใช่เรื่องที่ล่วงแล้ว
(2) ความเข้าใจผิดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มักจะเข้าใจว่า กรรมเป็นกฎตายตัว
ที่เราแก้ไขไม่ได้ทางเดียวที่ทำได้คือให้ยอมรับสภาพ "ปลงเสียเถอะ"
หรือ "เป็นกรรมของสัตว์" เช่น
เกิดมายากจนก็ยอมรับสภาพว่า เราทำกรรมไม่ดีไว้ มาชาตินี้จึงจน
แล้วก็ยอมรับสภาพอยู่อย่างนั้น ไม่คิดแก้ไข พัฒนาให้มันดีขึ้น มีแต่ทอดอาลัย
หรืองอมืองอเท้าความเชื่ออย่างนี้ยังไม่ถูกต้อง พุทธศาสนาสอนว่ากรรมเก่ามีจริง
จริงอยู่เราเกิดมาจน อาจเป็นเพราะผลของกรรมเก่าที่เราทำไว้
ทำให้มีผลเกิดมายากจน
แต่มิได้หมายความว่า กรรม จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้
เราเกิดมาจนเพราะกรรมเก่าส่งผล
แต่เราก็สามารถสร้างกรรมใหม่
นั่นคือ พยายามขยันหมั่นเพียรทำงานสร้างเนื้อสร้างตัวอย่างสุดกำลังสามารถ
ในที่สุดเราก็อาจเปลี่ยนฐานะจากคนยากจน กลายเป็นผู้มีอันจะกิน
หรือร่ำรวยได้พระพุทธเจ้าสอนให้ยอมรับความจริง แต่ไม่ให้ยอมรับสภาพ
ผู้ที่เข้าใจหลักกรรมถูกต้อง เมื่อรู้ว่าความจริงเป็นเช่นนี้ๆ ย่อมจะไม่ยอมรับสภาพ
หรือ "ชะงักงัน" อยู่กับที่ หากแต่พยายามแก้ไขปรับปรุง
หรือพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม
เช่น เกิดมาจน ก็รู้ว่าตนเกิดมาจน อาจเพราะทำกรรมบางอย่างมา
ทำให้เราเกิดมาจนแต่ไม่งอมืองอเท้า หรือจำยอมต่อสภาพนั้น
พยายามขวนขวายทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความวิริยะ อุตสาหะ
ในที่สุดก็อาจตั้งเนื้อตั้งตัวได้อย่างนี้จึงจะเป็นความเชื่อเรื่องกรรมที่ถูกต้อง
(3) ประการสุดท้าย คนมักเข้าใจว่า ทำกรรมอย่างใด ย่อมต้องได้รับผลเช่นนั้น
ทำกรรมดีต้องได้รับผลดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำกรรมชั่วต้องได้รับผลชั่วร้อยเปอร์เซ็นต์
ไม่มีเปลี่ยนแปลง นี่ก็เข้าใจไม่ถูกต้องเช่นกัน
หน้า 6