From T2 |
หลายๆคน ตอนเด็กๆก็ไม่ค่อยรู้จักหรอกกับคำว่าถาปัด
แต่ก็จำได้ว่าอยากเรียนคณะนี้ๆ หรือบางคนมาสังเกตตัวเองก็พบว่า
เอ....เรานี่ก็ชอบดูบ้านเก๋ๆ ชอบตกแต่งห้อง
ชอบต้นไม้หรือชอบคิดอะไรใหม่ๆเจ๋งๆ
บางทีเราอาจจะเหมาะกับคณะนี้นะเนี่ย
แต่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดีว่า พี่ๆที่เรียนคณะนี้เค้าเรียนอะไรกัน
เรียนไปแล้วไปทำงานอะไร มันใช่อย่างที่เราคิดไว้มั้ย ไหนเรามาลองดูกัน
ก่อนที่จะตัดหมายเลขคณะแล้วแปะลงในใบคัดเลือก
เชื่อว่าบางคนอาจจะผ่านมรสุมจากที่บ้านมาบ้างว่า
อย่าไปเรียนเลยน่า คณะนี้ เรียนไปก็ตกงาน เรียนก็หนัก
บ้านก็ไม่ได้กลับ หรือเห็นน้องบางคนก็ได้รับฟังคำกล่าวบอกมาว่า
คณะสถาปัตย์เนี่ย คณะผู้ชายนะ เป็นผู้หญิงอย่าเรียนเลย ก็อยากจะบอกว่า
คณะนี้เรียนได้ทั้งหญิงชายนะคะ เดี๋ยวนี้เค้ามีกัน 50:50 แล้ว!!
ส่วนเรื่องงาน พอเราเรียนจบไปเนี่ย เราจะพร้อมด้วยทักษะที่ฝึกฝนมาอย่างดี
(ทั้งนี้ความพยายามและความตั้งใจส่วนตัวก็มีส่วนนะจ๊ะ)
เพราะฉะนั้น งานน่ะ ไม่ตกหรอก ต่อมาคือ เรื่องงานหนัก
อันนี้จริง จะเป็นอารมณ์ประมาณว่าอดหลับอดนอน คิดแบบ เขียนแบบ
ทำโมเดลส่ง ส่วนเรื่องบ้านไม่ได้กลับเนี่ย นานๆที
อาจจะกลับค่ำบ้างเป็นบางวัน ก็ต้องทำใจเรื่องอดนอนไว้
และก็อย่าเพิ่งท้อถ้าเข้ามาแล้วจะรู้สึกเหนื่อยบ้าง
แต่มันสนุกจริงๆ เพราะว่าเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบไง
ที่ไหนบ้างที่มีสอนคณะนี้
จุฬาฯ ม.ศิลปากร ม.เกษตร สถาบันเทคโนฯพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนฯพระจอมเกล้าธนบุรี
(บางมด-หลักสูตรอินเตอร์ด้วยนะ) สถาบันราชมงคลต่างๆ ม.เอแบค
ม.รังสิต ม.ธรรมศาสตร์
(หลักสูตร 4+2 เรียน 4 ได้ปริญญาตรี อีก 2 ปีได้ปริญญาโทด้วยเลย)
ม.นเรศวร ม.มหาสารคาม
มีภาควิชาอะไรบ้างในคณะสถาปัตย์ และเค้าเรียนอะไรกันมั่ง
จบแล้วไปทำอะไร
สถาปัตยกรรม : เรียนเกี่ยวกับการออกแบบบ้าน อาคารเล็ก-ใหญ่
ให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้า มีพื้นที่ใช้สอยเหมาะสม
ถูกต้องตามกฎหมาย โครงสร้างแข็งแรง และที่สำคัญคือ สวยงาม
จบแล้วก็ไปเป็นสถาปนิก เริ่มแรกอาจจะอยู่ในบริษัทก่อน
ถ้าต่อมาเริ่มมีประสบการณ์สั่งสมมากขึ้น มีเงินมากขึ้นก็สามารถเปิดออฟฟิศเองก็ได้
สถาปัตยกรรมภายใน : เรียนเกี่ยวกับการออกแบบภายในอาคารให้สวยงาม
น่าสนใจ มีแสงสว่างและสิ่งต่างๆที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละพื้นที่
จะทำงานในลักษณะที่ต้องลงรายละเอียดมากแบบ มากๆ จริงๆแล้ว
สถาปัตยกรรม ก็มีรายละเอียดมากนะ แต่จะเป็นคนละแบบกัน
จบไปเป็นสถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน การทำงานคล้าย ๆ สถาปนิกเลย
แต่เป็นการทำงานตกแต่งแทนที่จะออกแบบอาคาร
สถาปัตยกรรมไทย : แน่นอนว่า ต้องเรียนเกี่ยวกะบ้านไทย ศิลปะไทยเช่น
วัด อุโบสถ ลายไทย การแกะสลัก ปูนปั้น การเขียนลายต่างๆ
การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยและการบูรณะ ออกแบบวัดขึ้นใหม่ อาจจะ
ทำงานกับกรมศิลปากร แต่ภาคนี้จะรับจากการสอบตรงอย่างเดียวนะจ๊ะ
เพราะว่าคนที่จะมาเรียนด้านนี้ได้ น่าจะเป็นคนที่มีใจรักด้านนี้อย่างแท้จริงมากๆ
ภูมิสถาปัตยกรรม : เรียนเกี่ยวกับการออกแบบพื้นที่ภายนอกอาคาร
รู้จักการเลือกใช้ต้นไม้ พืชพันธุ์ที่เหมาะสมกับประเภทอาคาร
การจัดสวนทั้งในพื้นที่เล็กๆทั้งภายนอกภายใน
ไปจนถึงโครงการใหญ่ๆอย่างสนามกอล์ฟ
สวนสาธารณะและอุทยานแห่งชาติเลยทีเดียว
ออกแบบอุตสาหกรรม : เรียนการออกแบบหลายๆอย่างทั้งผลิตภัณฑ์
ก็ประมาณแพคเกจจิ้งต่างๆด้วยแหละ ออกแบบตกแต่งภายในพวกดิสเพลย์หน้าร้าน
ออกแบบสิ่งทอ ออกแบบกราฟิค และเซรามิค
โดยทุกคนจะได้เรียนหมดทุกตัว และเลือกทำทีสิส (วิทยานิพนธ์)
ในตัวที่เราชอบและถนัดเพียงตัวเดียว จบแล้ว ก็ไปทำงานได้หลายหลายมาก
ตามที่เรียนมา หรือจะรับงานฟรีแลนซ์ก็ได้ คือ
ทำงานอิสระไม่ได้ทำตรงกับบริษัทไหนเฉพาะ เป็นครีเอทีฟ
ออกแบบสิ่งพิมพ์ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกแบบลายผ้าทำเฟอร์นิเจอร์
โอยย เยอะมาก และตอนนี้ภาคนี้ก็กำลังบูมใช้ได้เลย
วางแผนภาคและผังเมือง : ภาคนี้เป็นน้องใหม่ของป.ตรีที่จุฬา
แต่เดิมเปิดสอนในระดับ ป.โท ตอนนี้รับทั้งน้องสายวิทย์ และสายศิลป์อย่างละครึ่ง
เรียนเกี่ยวกับการจัดการผังเมืองให้เป็นระบบ ทางสัญจร ระบบการบริการ
การจัดการเมืองให้เป็นส่วน มีจุดเด่นที่ดี ทำให้ภาพของเมืองเป็นภาพที่น่าดู
เป็นเมืองที่น่าอยู่ การทำงานก็ ประมาณว่า
วางผังเมืองให้กับโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
และปรับปรุงสภาพแวดล้อมของเมืองที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น
(ที่จุฬา) การเรียนในปีแรก ทุกภาคจะเรียนวิชาพื้นฐานร่วมกันก่อน
เช่นวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ พื้นฐานการออกแบบ ภาษาอังกฤษ
อาจจะมีบางวิชาที่เรียนเฉพาะภาคบ้าง ต่อมาเทอม 2 ของปีแรก
ภาคผังเมืองจะแยกไปเรียนวิชาของตัวเองแล้ว (เรียกว่า แยกไปก่อนเพื่อนเลย)
ภาคอื่นๆจะได้เริ่มออกแบบบ้านกัน ส่วน สถ.ไทย
จะเรียนวิชาการออกแบบของภาคตัวเอง
ปี 2 เทอมแรกภาคที่เหลือจะยังเรียนรวมกันอยู่ ยังคงทำบ้านกัน
ส่วนออกแบบอุตสาหกรรมจะเริ่มไปเรียนวิชาภาคกันมากขึ้น
มีการปั้นเซรามิคกันสนุกสนาน
ต่อมาเทอมหลังเพื่อนๆภูมิสถาปัตยกรรมก็จะไปเรียนวิชาออกแบบของเค้าเอง
ออกแบบบริเวณและจัดต้นไม้ สถ.ไทย ก็เรียนของตัวเองอยู่แล้ว
ส่วน สถาปัตย์ กับ สถาปัตย์ภายในก็ยังเรียนเหมือนกันอยู่
จะเริ่มทำอาคารสาธารณะเล็กๆ
ส่วนออกแบบอุตสาหกรรมก็จะแยกไปเรียนวิชาของภาคเค้าเองอย่างเต็มตัว
ทั้งกราฟิค ออกแบบภายใน และสิ่งทอ
ปี 3 ภาคสถาปัตย์กะสถาปัตย์ภายในยังเรียนด้วยกันอยู่ แต่สถาปัตย์ภายใน
จะเริ่มเรียนวิชาของภาค และจะแยกไปในตอนปี 4
ดังนั้นทุกภาคก็จะเรียนวิชาของตัวเอง ถึงตอนนั้นก็จะมีสกิลมากขึ้น
ขยันมากขึ้น รู้อะไรๆมากขึ้น และต้องเตรียมพร้อมเพื่อไปฝีกงานก่อนจะขึ้นปี 5
และในปี 5 ทุกคนก็จะได้ทำทีสิส (วิทยานิพนธ์) คนละชิ้น
ซึ่งหากผ่านไปได้ด้วยดี ก็จะเรียนจบรับปริญญามาให้พ่อแม่ได้ชื่นใจ
การปรับตัวเมื่อเข้ามาเรียนในคณะ อย่างที่สำคัญที่สุดคือ
เราต้องขยันขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคณะไหน มหาลัยไหนก็ตาม
เพราะอาจารย์ท่านจะถือว่าเราโตแล้ว ควรจะมีความรับผิดชอบต่อตัวเองได้แล้ว
อย่างที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ ถ้าเรียนคณะนี้แล้ว ควรจะรับได้กับการอดนอน
เพราะงานเราเยอะจริงๆนะ และต้องรู้จักการแบ่งเวลาให้ดี
การเรียนมหาวิทยาลัยให้ได้ผลดีนั้นจะต้องมีทั้งการเรียนที่ดี
และการทำกิจกรรมที่เหมาะสม ถ้าเรียนอย่างเดียว
เราอาจขาดทักษะทางการเข้าสังคมซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องการแน่นอน
เมื่อเราเรียนจบไปและต้องทำงานเลี้ยงครอบครัว
แต่หากทำกิจกรรมมากไปจนลืมเรื่องเรียนแล้วเนี่ยนะ.......เหอะๆ
บางทีเราอาจจะ เรียนไม่จบก็ได้เน้อ ส่วนสังคมในคณะ
พี่ๆน้องๆก็จะมีการช่วยเหลือกันอบอุ่นน่ารักดี
มีกิจกรรมให้เราได้มารวมกันอยู่เสมอ
เรียกว่าพลาดไม่ได้เลยซักงานละ
กิจกรรมอาจจะต่างกันไปในแต่ละมหาลัย แต่ก็สนุกไม่แพ้กันเลย
สุดท้ายแล้ว อยากจะบอกน้องๆที่อยากเรียนสถาปัตย์ว่า
ไม่ว่าจะเรียนที่ไหนนั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญ
แต่ที่สำคัญอยู่ที่เราตั้งใจจริงในสิ่งที่เราทำ เรามีความพยายาม มีน้ำใจ
มีคุณค่าในตัวเอง นั่นหละที่จะพาเราไปสู่ความสำเร็จ.....