รศ.ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
http://www.varakorn.com
มีข้อเขียนอยู่ชิ้นหนึ่งที่ถอดมาจากคำบรรยายเมื่อไม่นานมานี้
ในงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ 2 ของ
สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส.)
บางท่านอาจไม่ได้อ่าน จึงขอนำมาแพร่หลายต่อ
เพราะเป็นข้อเขียนที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง
เพราะให้แง่คิดที่เราอาจละเลยมองข้ามไป
คุณหมอประเวศ วะสี เป็นผู้บรรยาย ในชื่อเรื่อง
"การจัดการความรู้ :
กระบวนการปลดปล่อยมนุษย์สู่ศักยภาพ เสรีภาพ และความสุข"
การจัดการความรู้เกี่ยวพันเสรีภาพและความสุขอย่างไร
กรุณาดูข้อความที่ตัดต่อมาดังต่อไปนี้
"....สังคมปัจจุบันเชื่อมโยงกันจนหมดทุกมิติ
ข้อมูลข่าวสารตัวประชากรจะมีมากขึ้น
มีระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกัน
ระบบการเมืองที่เชื่อมโยงกัน
สามารถเคลื่อนไหวไปรอบโลกได้ด้วยความเร็วของแสงต่างๆ
เหล่านี้เกิดเป็นระบบที่ซับซ้อนที่จัดยาก
ไม่รู้เลยว่าใครเป็นมิตรเป็นศัตรู
เมื่อก่อนรู้ไปหมด
ถ้ารู้ว่าใครเป็นศัตรูก็มีหนทางที่จะต่อสู้ได้
แต่ในเชิงของความซับซ้อนเราไม่รู้ว่าเขาคิดยังไง
เกิดเป็นปัญหาทางโครงสร้าง...
....ที่ฟิลิปปินส์ได้มีการปฏิวัติไล่มาร์คอสออกไปโดยคณะร่วมปฏิวัติประชาชน
เอาอะคีโนขึ้นมาเป็นเพรสิเดนต์ คนมีกำลังใจกันมากกว่า
นี่แหละเป็นโอกาสของคนฟิลิปปินส์แล้วที่จะแก้ปัญหาที่แก้ไม่ได้ เช่น
ความยากจน ความอยุติธรรมในสังคม
เดี๋ยวนี้ฟิลิปปินส์ก็ดิ่งลงต่ำมากขึ้น
เพราะติดอยู่ในโครงสร้างที่ซับซ้อน
ยากต่อการเข้าใจ อันนี้คือกฎแห่งความทุกข์
ความบีบคั้นตนเองขนาดหนัก
ถึงแม้ว่าเรามีสมองที่มีศักยภาพสูง
แต่ถ้าเราถูกอะไรกดทับเราอยู่นั้น
ทำให้การที่คนเราอยากทำอะไรดีๆ อยากแก้ปัญหา
อยากช่วย แต่ไม่รู้จะช่วยอย่างไร
ก็ได้รู้สึกหมดหวังมาอยู่ในจิตใจของผู้คน
เรามาดูว่าสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ทางสังคมเป็นอย่างไร
เราป่วยกันหมดทั้งโครงสร้าง
จะเห็นว่าเราจะถูกซักอยู่ในโครงสร้างของชุมชนต่างๆ
องค์กร การเมือง ราชการการศึกษา ธุรกิจ และการศาสนา
ทั้งหมดนี้เป็นโครงสร้างทางดิ่ง
โครงสร้างทางดิ่งหมายถึงเน้นการใช้กฎหมาย
กฎระเบียบ และการบริหารสั่งการจากเบื้องบนลงล่าง
...ขณะที่อำนาจทุนมหึมาที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่รอบโลก
มีอยู่จำนวนมาก มีการกำหนดบทบาทหรือ
แม้กระทั่งการควบคุมสื่อ วิทยุโทรทัศน์
หรือแม้กระทั่งกำหนดให้คนกินผัก 3 ชนิด เช่น
คะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ซึ่งเป็นผักต้นเตี้ย
ซึ่งทำลายความเป็นป่า
ซึ่งถือว่าอำนาจทุนมหึมานั้นมีจำนวนมากขึ้นในสังคม
สำหรับทุนกับการเมืองก็พยายามเข้ามาในกลุ่มสื่อมวลชน
ปิดหูปิดตาสื่อ ทำให้เกิดความเครียดต่างๆ ขึ้นในสังคม
ซึ่งคนไทยจะติดอยู่ในโครงสร้างทุนมหึมาโดยไม่รู้ตัว
และครอบงำผู้คนอยู่ทั้งโลกในเวลานี้
ทางออกที่ดีคือ เราคงต้องกลับไปสู่ศีลธรรมพื้นฐานของสังคม คือ
การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนของคนทุกอย่างเท่าเทียมกัน
โดยเฉพาะของคนเล็กคนน้อย คนยากคนจน
ถ้าสังคมไม่มีศีลธรรมพื้นฐานแล้วการพัฒนาด้านต่างๆ จะบิดเบี้ยว
สิ่งที่มีคุณค่าต่างๆ เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน
สิทธิสตรี สิทธิเด็ก ความเป็นธรรมทางสังคมจะไม่มี
หากขาดศีลธรรมพื้นฐาน
คือการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคน
....ดังนั้น ที่เราขาดศีลธรรมพื้นฐาน
ประชาธิปไตยมันก็เป็นเพียงกลไกเท่านั้น
มันไม่ได้อยู่ในศีลธรรม
เมื่อมันเป็นกลไกก็กลับเป็นกลโกงได้อย่างที่เราเห็น
ประชาธิปไตยที่แท้จริงจะต้องอยู่บนศีลธรรมพื้นฐาน
ดังนั้น เรื่องศีลธรรม สิทธิสตรี สิทธิเด็ก
การพัฒนาที่เคารพคนอื่นต้องมีความเป็นธรรมในสังคม
ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก หากสังคมมีความเป็นธรรม
คนจะเรียกว่าชาติ เรียกว่าส่วนรวม
และอยากจะรักษาระบบนั้นไว้
....ระบบการศึกษาของเราทั้งหมดตั้งแต่อนุบาล
จนถึงมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ทำลายศีลธรรมพื้นฐานของสังคม
ศีลธรรมในที่นี้คือความเคารพศักดิ์ศรีของคน
โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย คนยากจน
หลายปีมาแล้วผมไปเยี่ยมโรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์
โรงเรียนวัดพนัญเชิง ซึ่งให้นักเรียนเรียนรู้จากชาวบ้าน
เรียนจากชาวสวน เรียนจากคนขายของชำ
เรียนจากช่างเสริมสวย
ซึ่งคนเหล่านั้นไม่เคยมีนักเรียนมาเรียนด้วย
เมื่อมีนักเรียนมาเรียนรู้จากเขา
เขาจะรู้สึกมีเกียรติขึ้นทันทีเดิมชาวบ้านไม่เคยมีเกียรติเลย
มีศักดิ์ศรีขึ้น และเขาสามารถสอนได้จริงๆ
ซึ่งความรู้ที่สอนก็เป็นความรู้ในตัวจากประสบการณ์ตรง
แต่ครูไม่สามารถสอนในรูปแบบนี้ได้เพราะครูสอนไม่เป็น
แต่ชาวบ้านสามารถสอนได้
เพราะมันมาจากความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน
แต่นั่นการที่ครูจะสอนจากประสบการณ์ตรง
เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงก็มีวิธีง่ายๆ นิดเดียวคือ
การสอนศีลธรรมพื้นฐานให้แก่เด็กพร้อมกับ
จัดประเภทของความรู้ในตัวคนให้ด้วย
เพราะเราแบ่งความรู้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
ความรู้ที่มีอยู่ในตัวคนกับความรู้ที่อยู่ในตำรา
ทั้งสองอย่างมีประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่
แต่ต้องวางความสัมพันธ์ให้ถูกต้อง
ที่ผ่านมาเราวางความสัมพันธ์ไม่ถูกต้อง
เพราะความรู้ที่อยู่ในตัวคนได้จากประสบการณ์
ได้จากการทำงาน เช่น เราใช้ตำราทำกับข้าวเล่มเดียวกัน
เราก็จะได้สูตรเหมือนๆ กัน
แต่เคล็ดลับความรู้ของแต่ละคนที่อยู่ในตัว
ก็อาจทำให้รสชาติอาหารแตกต่างกันไป
ซึ่งนั่นเป็นความรู้ในตัวคน
...หากเราจะเอาความรู้ที่อยู่ในตัวคนเป็นฐาน
ความรู้ในตำราประกอบ มาปรับแต่ง มาต่อยอด
ก็จะเป็นการจัดความสัมพันธ์ของความรู้ที่ส่งเสริมทุกคน
เพราะถ้าเราถือความสำคัญของความรู้ของคน
คนทุกคนจะกลายเป็นคนมีศักดิ์ศรี มีเกียรติ
แต่ถ้าเราเอาความรู้ในตำราเป็นตัวตั้ง
คนส่วนใหญ่จะไม่มีเกียรติ
เหมือนชาวบ้านไม่มีเกียรติ
ไม่มีศักดิ์ศรี เพราะมีคนจำนวนน้อยที่จะรู้คล่องแคล่วในตำรา
....เราไม่ควรปฏิเสธความรู้ทั้งสองด้าน
แต่เราควรจัดความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงให้เหมาะสม
ซึ่งจะทำให้เกิดผลในแง่บวกต่อสังคมได้ เพราะฉะนั้น
การจัดการความรู้คือรูปธรรมของการเคารพความรู้ที่มีในตัวคน
ฉะนั้น การจัดการความรู้ก็คือศีลธรรม
เป็นศีลธรรมพื้นฐานที่เราควรจะส่งเสริมให้คนทุกคนมีเกียรติ
มีศักดิ์ศรี มีความภูมิใจและมั่นใจในตัวเอง
แต่หากเราเอาความรู้ในตำราเป็นฐาน
คนจะขาดความมั่นใจ ซึ่งจุดนี้เองจะเป็นพลังทางศีลธรรม
ที่จะเข้ามาปลดปล่อยมนุษย์สู่ศักยภาพ เสรีภาพ และความสุข
การศึกษาปัจจุบันนี้ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นคนไม่เก่ง
มีคนอยู่ไม่กี่คนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนเก่ง
เพราะว่าท่องสูตรเก่ง ตอบเก่ง ได้คะแนนสูง
ก็เป็นคนเก่ง นอกนั้นเป็นคนไม่เก่ง
แต่อันที่จริงแล้วต้องถือว่าทุกคนมีความเก่ง
แต่จะเก่งในคนละด้านที่ต่างกันไป
....ความรู้ในตัวคนทุกคนมีเกียรติและศักดิ์ศรี
แต่การจัดการความรู้ช่วยไปเสริมกระบวนการธรรมชาติ
ให้มีการเรียนรู้ มีการแลกเปลี่ยน
มีการงอกงามไปตามธรรมชาติ มีการหยั่งลึก
มีการฟังอย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะทำให้เรารู้ความหมายภายในของคนคนนั้น
แต่ถ้าเป็นการฟังแบบตื้นๆ จะเป็นการรู้แบบ "รู้เปรี้ยง ทำเปรี้ยง"
อย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันในสังคม เป็นอารมณ์
เป็นเหยื่อของกิเลสเข้ามาก็ดี ซึ่งคนเยอรมันได้สร้างทฤษฎีตัวยู
คือการได้รับรู้อะไรมากอย่าเพิ่งตัดสิน
ให้แขวนความรู้นั้นไว้ก่อน และนำมาพินิจพิจารณา สงบ และมีสติ
แล้วก็จะเกิดปัญญา
เมื่อเราเกิดปัญญาแล้วจะสามารถเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน อนาคต
ทำให้เห็นอนาคต และกลับไปพิจารณาอดีตปัจจุบัน
ด้วยกระบวนการทางปัญญา
ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ใครพูดอะไรอย่าเพิ่งรับ
อย่าเพิ่งปฏิเสธ ให้แขวนไว้ก่อน หรือพิจารณาอย่างลึกซึ้ง
มีสติ ก็จะทำให้ปัญญาเกิดขึ้น
ซึ่งเป็นวิธีการทางบวกที่เรามองความสำเร็จ
ทำให้เกิดพลังเพิ่มขึ้น และไม่เริ่มต้นจากความทุกข์
เมื่อเราพูดว่าทุกข์มาก ความทุกข์ก็จะท่วม
แล้วเกิดการทะเลาะกัน เจริญธรรมะ 4 ประกา
คือการเรียนรู้ร่วมกันที่เรียกว่า interactive learning
แต่ตามปกติมนุษย์จะไม่เรียนรู้ร่วมกัน มีการเกลียดกันบ้าง
ดังนั้น การที่จะเรียนรู้ร่วมกันต้องมีความเอื้ออาทรต่อกัน
เปิดเผยต่อกัน มีความจริงใจต่อกัน และมีความไว้วางใจกันได้
ซึ่งจะมีความสุขมโหฬาร ซึ่งการเรียนรู้ร่วมกันในทางปฏิบัติ
ถือเป็นหัวใจของการจัดการความรู้ถักทอ
ไปสู่โครงสร้างใหม่ขององค์กรและสังคม
มีทั้งแบบใช้อำนาจและแบบตัวใครตัวมัน
แต่การจัดการความรู้ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายระหว่างคนกับคน
คนกับกลุ่มคน กลุ่มคนกับกลุ่มคน
ซึ่งจะทำให้เกิดโครงสร้างใหม่ขึ้นในองค์กรและสังคม
การเจริญสติในการกระทำหรือการรู้ตัว การทำอะไร
และฟังอย่างเงียบนิ่ง จะเป็นการเจริญสติ
เมื่อเข้าใจและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
จะทำให้เป็นการเจริญสติ ซึ่งพระพุทธเจ้าเรียกว่าเอกะมรรคโค
เป็นธรรมอันเอก และถ้าใครเจริญสติ
ก็จะรู้ว่ามันมีประโยชน์มากมายทุกๆ ประการ
เพราะฉะนั้น ประชาคมจัดการความรู้ควรจะสนใจตรงนี้
ว่าควรจะเจริญสติในการทำงาน
หากเราพูดถึงเสรีภาพของระบบ มันจะพูดถึงเสรีภาพของบุคคล
พูดถึงบุคคลกับจิตก็ต้องมีระบบอีก เหมือนรถยนต์ ถ้าส่วนต่างๆ
มีเสรีภาพมันก็ไม่มีเสรีภาพของรถยนต์
ฉะนั้นทุกส่วนต้องเชื่อมโยงกันอย่างถูกต้อง
ซึ่งจะทำให้ระบบทั้งหมดมีเสรีภาพและรถพุ่งไปได้ฉิว
ฉะนั้น หากเราไม่ระวังเราจะไปติดในเสรีภาพส่วนบุคคล
ทำให้เกิดการตีตรา ดังนั้น กระบวนการจัดการความรู้
เราควรจะมองทั้งหมดให้เชื่อมโยงกัน
ขณะที่การพัฒนาในโลกนี้ก็พัฒนาแบบแยกส่วนกัน
ดังนั้น จะต้องครบและเชื่อมโยงกัน บูรณาการ
มีทั้งทางกาย ทางจิต วัตถุ สังคม และปัญญา
เราพัฒนาวัตถุไปอย่างที่เราเห็น
ขาดการพัฒนาทางจิต ทางสังคม ทางปัญญา
ซึ่งด้านร่างกายและวัตถุ
ก็จะมีเรื่องสุขภาพและทักษะความสัมพันธ์กับธรรมชาติแวดล้อม
มีการเคารพคนอื่น มีเมตตา มีความมั่นใจ
มีสติ เรื่องสังคม และการดูแลศีลธรรมพื้นฐาน
ร่วมคิดร่วมทำและการปรับโครงสร้างทางสังคมแนวดิ่ง
สู่เครือข่ายไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันด้วยสันติ
มีการนึกถึงคนอื่น
การเข้าถึงธรรมชาติที่ไม่ใช้อำนาจใช้การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ
นำทั้งหมดมาบูรณาการจัดการความรู้
เพราะทุกวันนี้เราไม่มีแบบนี้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาการวิจัย เราทำกันอย่างแยกส่วน
จึงกล่าวได้ว่า การจัดการความรู้เป็นกระบวนการปลดปล่อยมนุษย์
ไปสู่ศักยภาพเสรีภาพ และความสุข และไปสู่การยกระดับ
ไปสู่จิตสำนึกใหม่ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน(transformation)
ที่นับได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะนำไปสู่การพ้นทุกข์ร่วมกันได้"