Custom Search

Aug 28, 2024

น้ำท่วม 2567 เตรียมตัวก่อนได้เปรียบ แนะวิธีรับมือสู้ภัยพิบัติ





23 ส.ค. 67


คนไทยในพื้นที่ฝนตกหนัก ฝนตกต่อเนื่อง ระดับน้ำขึ้นสูง ต้องเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินหรือถ้าเกิดเหตุการณ์ฉับพลันก็จะได้ระวังให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด

วิกฤตน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในปี 2567 มาเร็วและหนักกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้เริ่มต้นขึ้น

ตั้งแต่ในช่วงเดือนกรกฎาคมและในเดือนสิงหาคมก็เกิดความเสียหายจากภัยน้ำท่วมแล้ว

ในพื้นที่จังหวัดของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ตาก เชียงราย น่าน แพร่ พะเยา และ สุโขทัย

โดยทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ออกมาแจ้ง 43 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง

และภาคใต้ให้เฝ้าระวังสถานการณ์ท่วมฉับพลัน

น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ดินถล่ม รวมถึงน้ำล้นอ่างเก็บน้ำและน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 24-30 ส.ค. 2567

ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมอย่างไรได้บ้าง มาดูกัน

เตรียมแผน 3 ระยะ รับมือน้ำท่วม 2567


ระยะที่ 1 เตรียมพร้อม ติดตาม เฝ้าระวังก่อนน้ำท่วม

  • ประชาชนต้องติดตามข่าวสาร พยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยอยู่เสมอ
  • ประเมินสถานการณ์ และสนใจสิ่งแวดล้อมรอบข้างที่สามารถบอกเหตุได้ เช่น ฝนตกหนักติดต่อกันหลายชั่วโมง หรือ น้ำในคลองขึ้นสูงผิดปกติ
  • เตรียมกระสอบทราย และอุปกรณ์ป้องกันน้ำ
  • มองหาสถานที่ปลอดภัยสำหรับฝากเด็ก คนชรา สัตว์เลี้ยง และยานพาหนะ

ระยะที่ 2 เมื่อได้รับประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม

  • ถอดปลั๊ก ยกเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นที่สูง
  • เก็บรวมรวมเอกสารสำคัญ ของมีค่าใส่ถุงซิปล็อก
  • ชารต์แบตเตอรีโทรศัพท์ให้เต็มอยู่เสมอ
  • บันทึกเบอร์สายด่วน เบอร์ฉุกเฉิน
  • ศึกษาเส้นทางอพยพไปสถานที่ปลอดภัย
  • เตรียมของใช้และอาหารเท่าที่จำเป็น เช่น แพ็กอาหาร เสื้อกันฝน บู๊ทกันน้ำ และอุปกรณ์ปฐมพยาบาล
  • ย้ายผู้ป่วย เด็ก คนชรา ไปยังที่ปลอดภัย
  • นำรถยนต์และพาหนะไปไว้ในพื้นที่น้ำท่วมไม่ถึง
  • อพยพสัตว์เลี้ยงพร้อมอาหารที่จำเป็นไว้ในที่ปลอดภัย
  • ตรวจสอบระบบไฟในบ้าน และปลดเมนสวิตช์เบรกเกอร์ก่อนอพยพ

ระยะที่ 3 เมื่อเกิดน้ำท่วม และต้องอพยพ

  • อพยพพร้อมนำของสำคัญที่เตรียมไว้ออกจากบ้าน
  • บ้านชั้นเดียว งดใช้ไฟฟ้าทันที และย้ายออกจากบ้าน
  • บ้านสองชั้น ปลดเมนสวิตช์เบรกเกอร์ชั้นล่างเพื่อตัดกระแสไฟฟ้า
  • ปิดเต้าเสียบไฟด้วยเทปกาว
  • ห้ามสัมผัสสวิตช์และงดใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียกหรือสัมผัสน้ำ
  • ห้ามใช้ปลั๊ก และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อยู่ใกล้ระดับน้ำ
  • ป้องกันเด็กไม่ให้เล่นน้ำในพื้นที่น้ำท่วม หรือ น้ำหลาก
  • เลี่ยงการขับรถในเส้นทางน้ำท่วม

เบอร์โทรฉุกเฉินช่วยเหลือภัยน้ำท่วม

  • โทร. 1784 สายด่วนแจ้งเตือน สาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) 
  • โทร. 1146 ศูนย์ความปลอดภัย กรมทางหลวงชนบท สอบถามเส้นทางน้ำท่วม 
  • โทร. 1460 กรมชลประทาน สอบถามข้อมูลน้ำในเขื่อน 
  • โทร. 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 
  • โทร. 1677 เครือข่ายอาสาสมัครวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน 
  • โทร. 1111 กด 5 ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) สายด่วนรับแจ้ง-เตือนภัยน้ำท่วม 
  • โทร. 1193 ตำรวจทางหลวง สอบถามเส้นทางน้ำท่วม 
  • โทร. 1182 กรมอุตุนิยมวิทยา 

ประกันภัยแบบไหน คุ้มครองน้ำท่วม

หลายคนเป็นกังวลว่าเหตุการณ์น้ำท่วมจะเกิดกับบ้านตัวเองไหม ถ้าเกิดขึ้นจะรับมืออย่างไร ?  

สำหรับประกันที่เกี่ยวกับ “น้ำท่วม” อยู่ในหมวด “การประกันภัยทรัพย์สิน” ในเรื่องของ “ประกันอัคคีภัย” ที่ไม่ได้คุ้มครองแค่ไฟไหม้ แต่ยังคุ้มครองไปถึงภัยธรรมชาติตามรายละเอียดในกรมธรรม์โดยจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ซึ่งถ้าใครกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร กฎหมายจะบังคับให้ต้องทำทุกคนอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีการเข้าใจผิดคิดว่า “ภัยเนื่องจากน้ำ” ก็คือประกันน้ำท่วม ซึ่งจะได้เงินชดเชยเต็มวงเงินประกันเลย แต่จริงๆแล้ว “ประกันอัคคีภัย” มีความคุ้มครองเรื่องน้ำท่วมอยู่แล้ว แต่จะจำกัดวงเงินอยู่แค่เพียง 20,000 บาท/ปีเท่านั้น

ประกันอัคคีภัย คุ้มครองอะไรบ้าง

1. คุ้มครองอัคคีภัย
ประกันภัยบ้านหรือประกันอัคคีภัยจะคุ้มครองครอบคลุมความเสียหายของบ้านจากอัคคีภัย 3 เหตุการณ์ ได้แก่ ไฟไหม้บ้าน ฟ้าผ่าลงกลางหลังคา และแก๊สหุงต้มรั่ว โดยคุ้มครองเฉพาะตัวบ้านไม่รวมถึงที่ดิน หากเกิดอัคคีภัยขึ้น บริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ให้กับเจ้าของบ้านโดยตรง เว้นแต่กรณีบ้านติดจำนองไว้ ธนาคารจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์แทน ส่วนเบี้ยประกันจะขึ้นอยู่กับบริษัทประกันและลักษณะอาคาร

2. คุ้มครองภัยพิบัติ
นอกจากประกันภัยบ้านจะคุ้มครองเรื่องอัคคีภัยแล้ว ยังคุ้มครองบ้านจากภัยธรรมชาติต่างๆ ด้วย ได้แก่ ภัยน้ำท่วม ภัยลมพายุ ภัยแผ่นดินไหว ภัยลูกเห็บ รวมถึงสินามิ หรือตามรายละเอียดในกรมธรรม์โดยจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขความเสียหายจากภัยธรรมชาติ

3. คุ้มครองภัยจากการถูกโจรกรรมทรัพย์สิน
ประกันบ้านหรือประกันอัคคีภัยบางบริษัทยังคุ้มครองครอบคลุมไปถึงกรณีการถูกโจรกรรมทรัพย์สินภายในบ้าน ซึ่งหมายถึง คุ้มครองทั้งในส่วนของทรัพย์สินและตัวบ้าน ที่ได้รับความเสียหายจากการโจรกรรมนั้นๆ ด้วย

ข้อมูลจาก : TQM