Custom Search

Apr 24, 2024

ข้อดีของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย?



บทความให้ข้อคิดที่น่าสนใจ

ของอาจารย์วรัชญ์ ครุจิต

อ่านพบจาก facebook

ขออนุญาตแชร์ต่อครับ


ข้อดีของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย? 


ผมเห็นคนแชร์ภาพนี้เยอะพอสมควร ตั้งแต่ ver 1 ละ 

จริงๆผมก็ตามเพจนี้ และแชร์โพสต์เพจนี้บ่อยๆ 

ตอนแรกที่ผมเห็น ผมก็คิดจะแชร์เหมือนกัน แต่อีก 2 วินาทีต่อมา ก็คิดว่า ไม่แชร์ดีกว่า แต่ถ้าเป็น 10 ปีที่แล้ว ผมคงแชร์แล้วก็แซวกัดจิกอาชีพตัวเองแบบแสบๆ จนคนอ่านคงต้องรู้สึกเห็นใจอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างผม 


ผมเห็นภาพนี้แล้วก็ยิ้มขำๆเหมือนกัน และก็ไม่ได้เถียงว่ามันไม่จริง 


มันจริงครับ ... แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า มันจริงทั้งหมด กับทุกคนที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย 


ไม่ใช่ว่าทุกคนที่เข้ามาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจะต้องเจอกับสิ่งเหล่านี้ 


แล้วจะว่าไป สิ่งต่างๆเหล่านี้ มันก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้ายอะไรนะผมว่า แทบทุกอย่างก็เป็นหน้าที่ที่อาจารย์ควรจะทำ ทั้งการดูแลนักศึกษา (ไม่ว่าจะป่วยโรคอะไรก็ตาม) การทำตำแหน่งวิชาการ (เพื่อพัฒนาตนเองและองค์กร) การขอทุนวิจัย (นี่ก็รายได้หลักอีกทาง) การคุมซ้อมรับปริญญา ก็เป็นหน้าที่ (หรือจะให้แม่บ้านทำให้?) หรือการร่วมกิจกรรมสถาบันใดๆ มันก็เป็นสิ่งที่สมาชิกองค์กรใดๆก็ควรทำใช่ไหม หรือแม้แต่สิ่งที่ดูขัดแย้งกับการเป็นอาจารย์ คือการหานักศึกษา แต่มันก็เป็นความจำเป็นที่ปฏิเสธไม่ได้ในทุกๆอาชีพเหมือนกัน แม้แต่วัดยังต้องจัดกิจกรรมดึงดูดให้คนมาทำบุญเลย!  


เอาเป็นว่า ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาประมาณ 20 ปี ทำงานมา 2 ที่ ม.เอกชน แล้วก็มา ม.รัฐ ผมไม่เคยเก็บสถิติจริงจัง แต่ผมเชื่อว่า ผมเห็นคนที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นอาจารย์กันจนเกษียณจำนวนมากกว่าคนที่ลาออกกลางคันไปทำงานอย่างอื่นนะครับ โดยเฉพาะอาจารย์ ม.รัฐ 


ดังนั้นอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย มันจะต้องมีดีอะไรเยอะพอสมควรแหละ ทั้งที่รายได้ก็ดูจะไม่ได้มากเหมือนผู้บริหารองค์กรเอกชนในอายุเท่าๆกัน 


ผมจะลองลิสต์ข้อดีของอาจารย์มหาวิทยาลัยดูบ้าง


เหนือภูเขาน้ำแข็ง (สิ่งที่คนทั่วไปเห็น)


- ได้รับการนับถือประมาณหนึ่ง (ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงและความสามารถส่วนตัว) 


- ได้การเรียกชื่อว่า "อาจารย์" ซึ่งสำหรับผม เป็นคำยกย่องที่สูงและน่าภูมิใจมากที่สุดคำหนึ่ง (สำหรับผมมันมากที่สุดแล้ว)


- ได้โอกาสในการไปรับจ๊อบโน่นนี่นั่นที่เขาเชิญไป เป็นที่ปรึกษาบ้าง กรรมการบ้าง ให้สัมภาษณ์สื่อบ้าง โดยอาศัยชื่อเสียงและโควต้าการเป็น "นักวิชาการ" (ทั้งที่จริงๆอาจจะไม่ได้เก่งอะไรมากหรอก 55)   


ใต้ภูเขาน้ำแข็ง (สิ่งที่คนที่ไม่ใช่อาจารย์อาจจะไม่รู้)


- เป็นอาชีพที่ค่อนข้างมั่นคง แม้ว่าปัจจุบันจะมีการต่อสัญญา แต่ถ้าคุณไม่ทำตัวเหลวไหลจริงๆ มันค่อนข้างยากที่จะโดนไล่ออก ไม่ต้องกังวลอนาคตเท่าไหร่ (ม.เอกชน อาจจะมีโอกาสถูกบีบบ้าง แต่ก็ไม่น่าเท่าบริษัทเอกชน) และโอกาสที่ ม.รัฐจะยุบนั้นไม่มี ม.เอกชนก็ยาก


- ข้อนี้ก็สำคัญ คืออาชีพอาจารย์ น่าจะเป็นอาชีพประจำที่เวลาเข้างานยืดหยุ่นที่สุดแล้วมั้ง แทบจะเหมือน freelance เลย โดยเฉพาะ อ.ม.รัฐ เข้าเฉพาะจำเป็นต้องเข้าก็ได้ ไม่ต้องตอกบัตร เซ็นชื่อ รับผิดชอบตัวเองเรื่องการสอน การประชุม (อ.โดดสอนก็ได้ยินบ่อย ในระดับ ป.ตรี) ดังนั้นสามารถลาไปเที่ยวแบบยาวๆได้สะดวกกว่าทำงาน บ.เอกชนมาก  


- พอเวลาเข้างานยืดหยุ่น แถมคนเชิญไปทำโน่นนี่ ก็เลยมีโอกาสหารายได้เพิ่มเติม ทั้งจากการวิจัย ประชุม เป็นกรรมการโน่นนี่ ชดเชยกับรายได้ที่น้อยกว่าเอกชน จนรวมๆแล้วก็ไม่น่าจะน้อยเหมือนกันถ้าขยัน และยังมีค่าตอบแทนของต้นสังกัดในการเขียนบทความ ทำตำแหน่งวิชาการ รีวิวบทความ และงานพิเศษอื่นๆอีก


- ได้รับสิทธิในการพูดให้คนอื่นฟัง ให้เป็นคนเดียวในห้องที่ถือไมค์ ไม่ว่าจะพูดอะไร คนในห้องก็ต้องฟัง เรื่องนี้ดูเหมือนติงต๊อง แต่ถ้าใครเคยมีโอกาสสอนหนังสือ จะรู้ว่า บางทีมันก็เป็นเรื่องที่สร้างความมั่นใจ และฝึกทักษะการพูดของตัวเองด้วย 


- เป็นหนึ่งในไม่กี่อาชีพมั้ง ที่มีโอกาสให้พัฒนาตัวเองตลอดเวลา (จนพัฒนากันไม่ไหวเลย) โดยไม่ได้หวังต้องทำกลับมาทำกำไรให้องค์กร (อาจยกเว้น ม.เอกชนบางที่) ทั้งการสอน การทำวิจัย การไปอบรม คือไอเดียว่า ถ้าอาจารย์เก่งขึ้น ก็น่าจะสอนนศ.ได้ดีขึ้นไปด้วย ทำให้เราได้กระตุ้นเซลสมองตลอดเวลา ถึงจะเหนื่อยที่ต้องไล่ตามความรู้ใหม่ๆ แต่ก็เป็นการบังคับให้เรา "ต้องฉลาดขึ้น" ตลอดเวลา ซึ่งผมว่ามันก็คงเป็นเรื่องดีใช่ไหม 


- งานอาจารย์นั้นจะว่าไปแล้วไม่น่าเบื่อ ไม่ซ้ำซากจำเจ โอเค บางคนอาจจะสอนหลายกลุ่ม พูดเรื่องเดิมๆ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับตัวเอง ในการออกแบบการสอน หรือทำกิจกรรมต่างๆให้ไม่เหมือนเดิม รวมทั้งงานอื่นๆก็มีหลายแบบ ทั้งทางวิชาการ การสอน การพรีเซนต์งานวิจัย (การทำวิจัยก็ได้ไปลงพื้นที่ก็คลายเครียดได้ดี) การดูแล นศ. กิจกรรมต่างๆที่ดูเหมือนเป็นภาระนั่นแหละ แต่ก็ทำให้มีความหลากหลายเหมือนกัน คือเป็นการราชการที่ไม่ routine


- จากประสบการณ์ของผม อาชีพอาจารย์ เป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยจะ toxic มากนะ ไม่ค่อยเสี่ยงที่จะโดนด่าเหมือนโดนจากลูกค้า หรือผู้จ้างโรคจิต เพื่อนร่วมงานส่วนมากก็มีการศึกษา (แม้ไม่ใช่จะดีไปหมด แต่ก็ยังมีขอบเขตในการแสดงออกบ้าง) และงานก็เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เพื่อการพยายามหากำไรสูงสุด มองแต่ยอดขายหรือราคาหุ้น ความกดดันและความเครียดก็น่าจะถือว่าน้อยกว่ามาตรฐานอาชีพเอกชนทั่วไป


- แล้วก็เป็นหนึ่งในไม่กี่อาชีพ ที่ทำให้มีโอกาสไปต่างประเทศได้บ่อยๆ แม้จะไม่ได้ร่ำรวยอะไร อย่างน้อยก็ปีละครั้งถ้าขยันทำวิจัย เพราะสามารถเบิกได้ในการไปนำเสนอผลงานวิจัย และก็อาจจะรวมถึงการไปดูงานอื่นๆอีกด้วย 


- และข้อที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด ก็คือ การเป็นอาจารย์ ทำให้มีลูกศิษย์ มีความผูกพัน เหมือนเลี้ยงลูก เรารู้สึกเหมือนค่อยๆปั้นคนขึ้นมา และเห็นพวกเขาประสบความสำเร็จ ได้ดิบได้ดี มันทำให้ใจฟูนะ เออ CEO คนนั้นเคยเป็นลูกศิษย์เรา หรือไม่ต้องประสบความสำเร็จ แต่ถ้าทำช่วยส่งถึงฝั่ง เรียนจบได้ หรือเรามีส่วนช่วยแก้ปัญหาชีวิตของคนๆหนึ่งได้ มันเป็นความรู้สึกที่ดีนะ และตราบใดที่เป็นอาจารย์ ก็จะมีโอกาสแบบนี้ทุกวัน ในทุกข้อความที่สื่อสารกัน และการรู้ว่ามีคนมองเราด้วยความชื่นชม หรือสิ่งที่เราทำไปมันมีประโยชน์ มันทำให้ชีวิตแต่ละวันมีความหมาย ซึ่งสิ่งนี้เอาเงินซื้อไม่ได้ (แม้ปัจจุบัน นศ. จะคาดหวังมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเคารพเราทุกคน แต่ส่วนใหญ่เมื่อแลกกันแล้วก็ยังคุ้มค่าอยู่ดี) และนศ. หลายๆคนที่จบออกไป ก็ยังจำเราได้ คิดถึงเรา และกลายเป็นเพื่อน ยังทักทายมาในโอกาสต่างๆ นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลายๆคน ยังรักการเป็นอาจารย์ แม้ว่าจะต้องทำสิ่งต่างๆในรูป ที่มากกว่าการสอน แต่ทั้งหมดก็ช่วยประกอบให้เราเป็น "อาจารย์" ได้อย่างเต็มตัว ที่ไม่ใช่มีหน้าที่สอนอย่างเดียว