อรวรรณ บัณฑิตกุล
ที่มา นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2548
http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=38751
"ปกติผมดูหนังเยอะมากทั้งหนังไทย หนังฝรั่ง หนังอาร์ต ที่ลิโด้ ไม่เคยพลาด
แต่เรื่องสุดท้ายที่ดูหนังไทย คือ เรื่องวัยอลวน"
เป็นคำบอกเล่าของอมตะ หลูไพบูลย์ ชายหนุ่มวัย 36 ปี
ที่เป็นเจ้าของผลงานในโครงการ "ศิลา เอวาซอน ไอด์อะเวย์ และ Zealova"
คำอธิบายต่อมาของเขาสะท้อนไปถึงตัวตนที่ค่อนข้างเป็นคนละเอียดอ่อน
และน่าจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงชิ้นงานต่างๆ ด้วย
"ภาคแรก ตั้มกับโอ๋ เป็นสามีภรรยาวัยรุ่นที่ทันสมัยมากๆ ผมเลยอยากรู้ว่าเมื่อถึง
วันที่เขามีลูกจะรับมือและจัดการกับปัญหาของลูกๆ ในยุคนี้ได้อย่างไร
โดยแนวคิดของเรื่องมันดีมาก แต่ผิดหวังที่โดยรวมแล้วทำได้ไม่ดีเลย"
บ่ายวันนั้น "ผู้จัดการ" มีนัดกับเขาที่คอนโดมิเนียมในซอยสวนพลู ในห้องขนาด 70 ตารางเมตร
ที่ตกแต่งอย่างเรียบง่าย ด้วย เฟอร์นิเจอร์ทั้งเก่าและใหม่สอดคล้องกับคำบอกเล่าที่ว่า
"ผมมีความเป็นโมเดิร์นสูง แต่โตมาท่ามกลางของเก่า เพราะแม่ผมชอบ
ผมจึงค่อนข้าง appreciate กับของเก่า"
เครื่องเรือนบางชิ้น เช่น ภาพวาด หรือเก้าอี้
เป็นของคุณแม่พรศรี หลูไพบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ซี.พี.กรุ๊ป
ส่วนกระจกบานใหญ่เลียนแบบของโบราณ สั่งทำเอง
เช่นเดียวกับโต๊ะทำงานตัวใหญ่ที่ซื้อมาเองจากร้านขายของเก่าย่านสาทร
มีจุดเด่นอยู่ตรงที่สามารถนั่งทำงานได้ทั้ง 2 ด้าน
โซฟาตัวหนานุ่มสีขาวนำเข้าจากอิตาลี วางเด่น อยู่กลางห้อง
ราคาเป็นแสน ถูกคลุมทับด้วยเศษผ้าที่เย็บติดกันเป็นผืน
ฝีมือของชาวบ้านในอำเภอหัวหิน ราคาผืนละ 400 บาท
"มันทำให้โซฟาสวยขึ้นเป็นกองเลย" อมตะพูดด้วยเสียงหัวเราะ
ดูเหมือนว่าเขาภูมิใจอย่างมากที่สามารถเลือกใช้ข้าวของ
ที่มีทั้งถูกแพงได้อย่างกลมกลืน เขาเล่าต่อว่า
"ผมชอบอยู่คอนโด ไม่ชอบอยู่บ้าน ถ้าอยากได้บรรยากาศบ้าน
ก็ไปพักกับคุณแม่ที่บ้านเลคไซด์ นอนค้างสักคืน 2 คืน
แต่ไปที่นั่นแล้วทำงานไม่ได้
อยากนอนมากกว่า และที่สำคัญถ้าเอางานไปทำ
เดี๋ยวเสียงคุณแม่ก็จะลอยมาแล้วว่า นอนได้แล้ว ดึกแล้ว"
รูปลักษณ์ภายนอก อมตะเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีท่าทีง่ายๆ สบายๆ
แฝงไปด้วยความสุภาพ อ่อนน้อม
แต่เมื่อได้คุยลึกถึงการทำงาน เขามีวิธีคิดหลายเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว
อมตะ หลูไพบูลย์ เป็นลูกชายคนที่ 2 ของพรศรี หลูไพบูลย์
จบระดับชั้นประถม จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน
มัธยมจากโรงเรียนเตรียมอุดม
ได้ปริญญาใบแรกด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ จาก University of Washington
และได้รับปริญญาโทอีกใบด้านพัฒนาเมืองในประเทศที่กำลังพัฒนาจาก Harvard University
กลับมาก็เริ่มมาทำงานในบริษัท Metric ซึ่งก่อตั้งมานานกว่า 30 ปี
โดยส่วนใหญ่รับออกแบบงานด้านอุตสาหกรรมเป็นหลัก
8 ปีในตำแหน่งหัวหน้าทีมงานดีไซเนอร์ ในบริษัท Metric สิ่งที่เขาต้องการทำอย่างมากคือ
การออกแบบโครงการต่างๆ ที่เน้นความสวยงามมากกว่างานเทคนิค
"ผมชอบเดินทางท่องเที่ยวชอบของสวยๆ ดีไซน์เท่ๆ
เวลาไปเห็นสถานที่บางแห่ง ที่สวยมากๆ
ผมมีความรู้สึกเหมือนถูกฟาดหน้า ชาไปหมด
แล้วมีความสุขอย่างดื่มด่ำไปกับมัน อย่างงานแรกที่สมุย
ผมไปเห็นที่เก็บรังนกชาวบ้านใช้ไผ่สูงๆ พาดไปพาดมา
ดูอาร์ตมาก ผมปิ๊งเรื่องการใช้ไผ่จากตรงนั้นเลย" อมตะอธิบายถึงตัวตนของเขา
และเล่าที่มาของงานชิ้นแรก และงานชิ้นที่กำลังทำด้วยความกระตือรือร้น
โชคดีที่ทศ และภรรยา เจ้าของศิลา เอวาซอน ต้องการบริษัทสถาปนิกใหม่ๆ
เพื่องานที่ต่างออกไปจากโครงการอื่นๆ
นับว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มต้นงานด้านรีสอร์ตของเขาและทีมงาน
ถัดจากสมุย งานชิ้นใหม่เป็นรีสอร์ตเช่นกันในพื้นที่ 70 กว่าไร่บนเกาะพีพี ชื่อ Zeavola
เป็นภาษาละติน แปลว่าต้นรักทะเล ซึ่งจะเปิดตัวเร็วๆ นี้
"งานสนุกมากเลย ตรงที่เจ้าของให้เราดูงานทั้งหมด ที่ศิลา เราทำเฉพาะสถาปัตยกรรมล้วนๆ
แต่ที่นี่เราเป็นเหมือนโปรเจกต์ดีไซเนอร์
ทำให้คุมแนวคิดของงานได้ทั้งหมด"
แม้แต่การถ่ายห้องตัวอย่างเพื่อทำโบรชัวร์
เขาก็เข้าไปควบคุมด้วยตัวเอง วิธีคิดที่ให้กับช่างภาพคือ
ต้องการให้ความรู้สึกว่าโรงแรมนี้มีคนอยู่แล้วเพิ่งเดินออกไป
ดังนั้นในห้องไม่ต้องจัดเนี้ยบเหมือนโบรชัวร์ทั่วไป
ผ้าคลุมเตียงไม่ต้องตึงเป๊ะ
แต่ย่นๆ หน่อย บนโต๊ะข้างเตียงอาจมีหนังสือกางอยู่ แว่นตาวางทิ้งไว้
รองเท้าแตะหน้าห้องไม่ต้องวางชิดกันเป็นระเบียบ
แม้แต่ในห้องน้ำก็จะเห็นรอยพื้นห้องที่เปียกๆ
จบงานชิ้นนี้ อมตะได้แยกมาตั้งบริษัทใหม่ต่างหากในเครือของ Metric
ภายใต้ชื่อ Department of Architecture โดยมีทวิตีย์ วัชราภัย ที่ร่วมงานกันมานานมาช่วยด้วย
พร้อมกับทีมงานใหม่ๆ อีก 6 คน โดยเน้นการทำงานหลากหลายขึ้น สเกลเล็กลง เช่น
รีสอร์ต บ้าน ร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้า
จากงานรีสอร์ตในพื้นที่หลายสิบไร่มูลค่าหลายร้อยล้าน
วันนี้เขากำลังสนุกกับงานชิ้นที่เล็กมาก มีพื้นที่เพียง 12X12 เมตร
บริเวณท่าเตียน ตรงข้ามวัดอรุณฯ เป็นร้านอาหารจีนแบบโมเดิร์น
ของสุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม
และทำทุกอย่างหมด แม้แต่ดีไซน์ จาน ชาม หม้อไห
หรือแม้แต่รายละเอียดตามชายกางเกงของชุดเด็กเสิร์ฟ
ในร้านนี้ทุกมุมจะปิดหมด โฟกัสไปที่วัดอรุณฯ ข้างหน้าที่เดียว
พื้นห้องใช้หินเก่าๆ ใช้โทนสีเหลือง สีประจำตัวขององค์จักรพรรดิ
กับน้ำตาลเข้มที่เกือบดำ แทนสีแดง ที่อาจจะเห็นจนเจนตาตามร้านอาหารจีนทั่วไป
ในห้องน้ำก็เพนต์ผนังด้วยภาพการ์ตูนจีนแทนต้นไผ่ ต้นหลิว
อมตะยอมรับว่าโดยส่วนตัวไม่ชอบให้สัมภาษณ์กับสื่อและไม่ชอบออกงานสังคม
ทั้งๆ ที่เห็นความจำเป็นว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้รู้จักบริษัทมากขึ้น
"ทำไมผมจะไม่เข้าใจ ผมเกิดมาในครอบครัวที่มีคุณแม่เป็นนักพีอาร์ แต่คราวนี้คงต้องยอมๆ"
เขาพูดด้วยเสียงหัวเราะๆ ก่อนที่จะบอก ว่า
ตอนนี้งานในมือคือบ้านหลังใหม่ของขรรค์ ประจวบเหมาะ เรือนหอ
และห้องอัดเสียงที่ไม่เหมือนใครของนักร้องหนุ่ม นภ พรชำนิ
คุณ อมตะ หลูไพบูลย์
นักออกแบบ(ชีวิต) ‘อมตะ หลูไพบูลย์’
มากกว่าการเป็นนักออกแบบมือรางวัล คือการเป็นนักออกแบบชีวิต
ล้วง ลึกตัวตนที่มากกว่าหนังโฆษณาและโปรไฟล์สุดเริ่ด
สถาปนิกหนุ่มโสดวัย 42 โปรเจคแอมบาสเดอร์คนล่าสุด
แคมเปญระดับโลก “Keep Walking” ของจอห์นนี่ วอล์กเกอร์
อมตะ หลูไพบูลย์ ไม่ใช่แค่นักออกแบบมือรางวัล
แต่เขายังเป็นนักออกแบบชีวิตที่ชัดเจนกับเป้าหมาย
ตั้งแต่ค้นหาตัวเองเจอสมัยเรียนหนังสือ
“เป้าหมายผมคือเป็นสถาปนิกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดแรง
หรือตัวเองช้าเกินไปที่จะทำสิ่งใหม่ๆ”
อมตะบอกเช่นนั้น หลัง จากเริ่มต้นชีวิตนักศึกษาครั้งแรกที่คณะวิศวะจุฬาฯ
แต่แค่ปีแรกก็แน่ใจว่าไม่ใช่สิ่งที่รักและถนัด
เขาตัดสินใจเลือกทางเดินใหม่ที่คิดว่าใช่มากกว่า
ด้วยการเอนทรานซ์ใหม่เข้าคณะ สถาปัตย์ จุฬาฯ
แม้ว่าทางบ้านจะไม่เห็นด้วย แต่เมื่อเลือกแล้วเขามุ่งมั่นว่าต้องทำให้ดีที่สุด
หลังคว้าเกียรติ นิยมอันดับ 1 เหรียญทองของคณะ
อมตะมุ่งมั่นบินไปเรียนต่อปริญญาโทอีก 2 ใบ
ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน
และการพัฒนาเมืองในประเทศกำลังพัฒนาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
กลับมา เริ่มงานครั้งแรกที่เมืองไทยในวัย 25 ที่บริษัท Metric
ซึ่งเป็นบริษัทของพ่อที่ร่วมก่อตั้งกับหุ้นส่วน
ก่อนจะคว้าโอกาสแจ้งเกิดจากผลงานออกแบบโครงการใหญ่ชิ้นแรก
ตอนอายุ 31รีสอร์ทหรูระดับ 6 ดาว
"ศิลา เอวาซอน ไฮด์อะเวย์" (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ซิกซ์เซนส์ ไฮด์อะเวย์ สมุย)