ก็แปลว่า ขาดทุน คือ เป็นการได้กำไรของเรา หรือการขาดทุนของเรา เป็นการได้กำไรของเรา ท่านนักเศรษฐกิจคงร้องว่า ไม่ใช่ แต่ว่าเป็นไปอย่างนั้น ก็เห็นว่านักเศรษฐกิจก็ยิ้้ม ยิ้ม ๆ ว่า อะไร ? พูดอย่างนี้ "การขาดทุนของเรา เป็นการได้กำไรของเรา" หรือเราได้กำไร แต่พูดภาษาอังกฤษมันสั้นกว่า งั้นก็ต้องขยายว่าภาษาอังกฤษเป็นอย่างไร ? ภาษาอังกฤษ Our หมายความว่า ของเรา Our Loss .. Loss ก็การเสียหาย, การขาดทุน Our Loss Is .. Is ก็เป็น Our Loss Is Our .. Our ก็คือของเรา "Our Loss Is Our Gain" ..Gain ก็คือกำไรหรือที่ได้ ส่วนที่เป็นรายรับ ก็ตกลงบอกกับเขาว่า "Our Loss Is Our Gain" ขาดทุนของเราเป็นกำไรของเรา หรือว่า เราขาดทุน เราก็ ได้กำไร เวลาพูดไปแล้วเขาก็บอกว่า "ขอย้ำ ขอซ้ำอีกที" ก็พูดซ้ำอีกที เขาก็นั่งเฉยไปอีก ก็หมายความว่าต้องการ การอธิบาย เราก็อธิบาย อธิบายว่า ถ้าเราทำอะไรที่เป็นการกระทำแล้วก็เราเสีย แต่ในที่สุดก็ ไอ้ที่เราเสียนั้นมันเป็น "การได้"...
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
ทรงพระราชทานไว้เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔
“ขาดทุนคือกำไร ยิ่งทำยิ่งได้ ยิ่งให้ยิ่งมี” แนวพระราชดำริ พลิกชีวิตใหม่
“ขาดทุนคือกำไร ยิ่งทำยิ่งได้ ยิ่งให้ยิ่งมี” แนวพระราชดำริ พลิกชีวิตใหม่
"ขาดทุนคือกำไร ยิ่งทำยิ่งได้ ยิ่งให้ยิ่งมี" แนวพระราชดำริ พลิกชีวิตใหม่ "ชุมพร คาบาน่า"คอลัมน์ In Trend โดยกองบรรณาธิการ วารสาร Engineering Today เมษายน 2550 บนเนื้อที่กว่า 30 ไร่ ริมหาดทุ่งวัวแล่นในจังหวัดชุมพร เป็นที่ตั้งของชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท ภายใต้การบริหารของ วริสร รักษ์พันธุ์ ผู้บริหารรุ่นที่ 2 ที่สืบทอดกิจการของครอบครัว ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการโรงแรม แก้ไขวิกฤต จนสามารถพลิกฟื้นธุรกิจให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันและการช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมระหว่างชุมชน อีกทั้งสามารถปรับปรุงและรักษาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับระบบนิเวศ โดยใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ไม่ก่อให้เกิดผลเสียทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจนถึงคนรุ่นต่อไป นับเป็นตัวอย่างของภาคธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและเป็นแบบอย่างในการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ แสงสว่างจากแนวพระราชดำริ พระบารมีที่สัมผัสได้ วริสร รักษ์พันธุ์ กรรมการผู้จัดการ ชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตกเมื่อปี พ.ศ. 2540 ทำให้ธุรกิจต้องประสบปัญหาจากพิษของค่าเงินบาทที่ลดลง ตนเองก็ได้พยายามที่จะรักษาธุรกิจให้คงอยู่ต่อไปให้ได้ จนกระทั่งวันหนึ่งได้พบกับอาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ซึ่งท่านเป็นผู้แนะนำว่าถ้าจะให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ต้องหันมาใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยยินดีรับเป็นที่ปรึกษาให้ ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนขึ้นภายในชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท "ในปี พ.ศ. 2543 จึงได้ประกาศให้พนักงานและผู้เข้าใช้บริการได้รับทราบว่า องค์กรได้ดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงเต็มรูปแบบ จากเดิมที่ได้ใช้หลายทฤษฎีมาใช้กับองค์กร แต่ไม่สามารถใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลเท่าที่ควร เนื่องจากเลือกใช้ทฤษฎีที่ไม่เหมาะสมกับคนที่มีอยู่ พนักงาน 150 คน ล้วนเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบๆ นี้เกือบทั้งหมด สิ่งที่เคยคิดว่าเข้าใจ กลับกลายเป็นเข้าใจเพียงบางส่วน แต่เมื่อปรับทฤษฎีตามแนวพระราชทานซึ่งเข้าถึงและเข้าใจพสกนิกร จึงทำให้สามารถเข้าใจวิถีชีวิตและความสุขของพนักงานซึ่งเป็นคนท้องถิ่นว่าต้องการอะไร จึงใช้วิถีแห่งการให้มาเป็นหลักชัยในการพัฒนาองค์กร" บันได 5 ขั้น สู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน อาจารย์วิวัฒน์ ยังได้แนะนำพระราชดำรัสที่เป็นแนวทางในการพึ่งพาตนเองว่ามี 5 ขั้น คือ 1. ต้องพึ่งพิงตนเองให้ได้อย่างน้อย 1 ใน 4 2. ต้องรู้จักพอประมาณ 3. ต้องรู้จักการแบ่งปัน การแจกจ่ายจะได้เพื่อนได้พวก 4. รวมตัวกันขยายงานให้เกิดความร่วมมือ เกิดกิจกรรมใหม่ จึงมาถึงขั้นสุดท้ายค่อยทำการค้า การขาย เพราะมีพื้นฐานแน่นแล้ว มีการเอื้อเฟื้อกัน พึ่งพากัน ทุกคนมีศักดิ์มีศรีเท่ากัน ทั้งชาวไร่ ชาวนา ชาวประมง นักธุรกิจ ข้าว สายใยเชื่อมโยงของทุกชีวิต อันเนื่องมาจากพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อชาวชุมพรว่า "ขอให้ชาวชุมพรอย่าลืมเรื่องการปลูกข้าวไว้บริโภค" ซึ่งพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ดีมีชื่อเสียงที่สุดของชุมพรคือ "เหลืองประทิว" ที่ในขณะนั้นกำลังจะสูญพันธุ์อาจารย์วิวัฒน์ และทางชุมพร คาบาน่า จึงเริ่มทำการรณรงค์เรื่องการปลูกข้าวแบบพึ่งตนเอง ไร้สารเคมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 นับเป็นโครงการแรกในการนำระบบเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท โดยร่วมมือกับชาวนาเริ่มตั้งแต่การปรับปรุงดินทรายให้กลายเป็นดินที่สามารถปลูกข้าวได้ โดยใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยอินทรีย์เป็นปัจจัยในการผลิต ต่อมาจึงได้นำแนวคิดในการปลูกข้าวนี้เผยแพร่ไปยังชุมชนโดยรอบ แม้จะมีการทำนาเองภายในรีสอร์ทแต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่เดิมรีสอร์ทได้ซื้อข้าวสารจากตัวเมืองชุมพร ในขณะที่รอบๆ รีสอร์ทเองก็มีข้าวเปลือกค้างอยู่ตามยุ้งอย่างมากมายเหลือจากการบริโภคของชาวบ้าน แต่ไม่สามารถขายได้ อาจจะไม่สวย มีความชื้น ตลาดไม่ต้องการ ทางรีสอร์ทจึงตั้งโรงสีข้าวขนาดเล็กขึ้นเพื่อการสีข้าวใช้ภายในโรงแรม และรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวบ้าน ซึ่งผลที่ได้รับนอกจากจะเป็นข้าวสารแล้ว ยังได้ทั้งแกลบและรำมาทำปุ๋ยหมัก นอกจากนี้ยังทำให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวโดยใช้วิธีเกษตรอินทรีย์ เพราะมีต้นทุนการผลิตลดลงและมีตลาดรองรับแน่นอน และผลประโยชน์สูงสุดก็คือ การรักษาพันธุ์ข้าวเหลืองประทิวไว้ให้คงอยู่ "อาจารย์วิวัฒน์ บอกว่า ถ้าอยากปลูกข้าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแนวคิดว่า ทำงานต้องมี 3 ค คือ คึกคัก คล่องแคล่ว และครื้นเครง ซึ่งเมื่อได้ลงมือทำจึงได้รู้ว่าเรื่องของข้าวเป็นวิถีที่มีความสุข ให้พนักงานมาทำไม่เคยได้ยินเสียงด่ากัน ทะเลาะกัน ได้ยินแต่เสียงหัวเราะเลยค่อยๆ จับได้ว่า นี่แหละคือรากของเรา เป็นสิ่งที่คนของเราคุ้นเคยที่สุด วิถีของคนใต้ผูกพันกันด้วยเรื่องข้าวอย่างเดียว ถ้าปลูกอย่างอื่นมันจะอยู่เดี่ยวๆ และไม่ยุ่งกัน โดยเฉพาะตรงชุมพรบ้านอยู่ห่างๆ กันอยู่แล้ว เป็นอาณาเขตส่วนตัว" วริสร กล่าว เปลี่ยนทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ จากกำไรคือกำไร เป็นขาดทุนคือกำไร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแนวคิดว่า "Our loss is our gain" แปลว่า ขาดทุนคือกำไร ยิ่งทำยิ่งได้ ยิ่งให้ยิ่งมี ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้องค์กรสามารถทำงานและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย "จากกำไรคือกำไร มาเป็นขาดทุนคือกำไร ตอนแรกงงมาก ขาดทุนคือขาดทุนอยู่แล้ว คนอื่นเขาเสวยสุขทางธุรกิจอยู่ภูเก็ตหรือสมุยก็ได้แต่มอง แต่ความจริงการที่ได้อยู่ในที่ที่มีธรรมชาติดี แต่นั่นคือกำไรของผมที่แท้จริง ในทางบัญชีแล้วมันอาจจะขาดทุน ไม่สัมพันธ์กัน ไม่เป็นไร เราก็พร้อมอยู่แล้ว เราก็เลยเปลี่ยนไปว่าขาดทุนคือกำไร ให้รู้จักให้ ต้องให้อย่างเต็มที่และต้องเต็มใจ" "เศรษฐกิจของพวกเรา" การพึ่งพาซึ่งกันและกัน จากการพัฒนาตามแนวคิดขาดทุนคือกำไร ที่ต้องเปลี่ยนความคิดจากการเป็นผู้ได้รับ มาเป็นผู้ที่รู้จักให้ด้วยใจที่สะอาด โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน และดูแลคนในท้องถิ่นให้มีความสุข และสามารถประกอบสัมมาอาชีพได้อย่างมีความมั่นคง ซึ่งอาชีพของคนเหล่านี้เกือบทั้งหมดอยู่ในภาคเกษตรกรรม มีทั้งสวนผสม ไร่ และนา แต่มีปัญหาในการผลิตที่ใช้เคมี ต้นทุนสูง และขายผลผลิตในระบบที่ถูกนายทุนกดราคา การเกษตรธรรมชาติจึงเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาวิธีเพาะปลูก โดยได้เริ่มรณรงค์ในพื้นที่การเกษตรของพนักงานและเครือญาติจำนวนประมาณ 900 กว่าไร่ พร้อมทั้งรับซื้อผลิตภัณฑ์ทั้งหมดกลับเข้าสู่ภาคการผลิตแปรรูปอาหารของชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท รวมไปถึงการเชื่อมโยงกับกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ภายใต้ชื่อโครงการ "เศรษฐกิจพวกเรา" ทำให้ปัจจุบันพนักงานที่มีสวนไร่นา สามารถควบคุมและลดค่าใช้จ่ายลงได้ และสามารถขายผลผลิตได้ราคาสูงกว่าท้องตลาดมาก "สำหรับวิธีดำเนินการโครงการนั้น เมื่อทางรีสอร์ทมีความต้องการพืชผัก ผลไม้ ชนิดใด หรือพนักงานมีพืชผักผลไม้ต้องการที่จะขายก็จดแจ้งไว้บนกระดานหน้าโรงครัว ทำให้อาหารของโรงแรมมีคุณภาพที่ดี และสามารถคาดเดาถึงปริมาณตามต้องการของรีสอร์ทได้ ในแต่ละวันพนักงานจะรู้ว่ารีสอร์ทต้องการอะไรบ้าง เนื่องจากปัญหาของผู้ผลิตส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตลาดต้องการอะไร จึงเป็นทฤษฎีง่ายๆ ที่ทุกคนพอใจ อีกทั้งเป็นการอุ้มชูเกษตรกรในหมู่พวกเราด้วย ทำให้เกิดความผูกพันและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารและพนักงานจึงเป็นไปในลักษณะเพื่อนไม่ใช่เกี่ยวพันเฉพาะแต่เพียงเงินเดือนเท่านั้น" ตั้ง "เพลิน" ศูนย์การเรียนรู้ เศรษฐกิจพอเพียง การปฏิบัติตามแนวพระราชทานดังกล่าว ได้รับความสนใจอย่างมาก ทางชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท จึงได้ตั้งเป็นศูนย์ "เพลิน" มาจาก Play + Learn = Plearn ตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 6 ที่ทรงต้องการให้การศึกษาอย่างเป็นสิ่งที่เพลิดเพลิน การเรียนรู้จึงไม่ควรใช้วิธีเรียนเพื่อท่องจำเท่านั้น ควรให้มีโอกาสบูรณาการทั้งกายและใจไปพร้อมๆ กัน การศึกษาควรเป็นสิ่งที่เพลิดเพลินและสนุกที่จะหาเหตุผลคำตอบว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น จึงนำมาสู่แนวคิดหลักการพัฒนาศูนย์เพลินบนพื้นที่ด้านหลังประมาณ 14 ไร่ ของรีสอร์ท ปัจจุบันศูนย์เพลินเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และกสิกรรมธรรมชาติ ที่องค์กรต่างๆ สามารถเข้ามาศึกษาดูงานการทำงานร่วมกันของระบบรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ ในระบบบูรณาการได้อย่างดี "ศูนย์เพลินประกอบด้วย การนำแนวพระราชดำริจากศูนย์การศึกษาและพัฒนาทั้ง 6 แห่ง มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ทฤษฎีการบำบัดน้ำของบึงมักกะสันและแหลมผักเบี้ย ทฤษฎีห้วยฮ่องไคร้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำโดยใช้หญ้าแฝกและฝายแม้ว ทฤษฎีการปลูกพืชบนทรายจากห้วยทราย เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานยึดหลัก 4 ด. คือ ดูได้ หมายถึงสวยงามเพลินตา ดมได้ หมายถึงต้องมีดอกไม้ล่อแมลงที่มีประโยชน์ เช่น ตัวเบียน ให้มากินศัตรูพืช ดื่มได้ หมายถึงชื่นใจ และสุดท้าย แ_กได้ หมายถึงสามารถนำมารับประทานได้" ในปัจจุบันนอกเหนือจากลูกค้าแล้ว หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้เข้ามาขอศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนความรู้ ทำให้พนักงานทุกคนมีความรู้สึกสนุกและมีคุณค่าในการทำงานขึ้นมากกว่าเดิม ขณะเดียวกันก็ได้รับความรู้ที่เป็นหลักวิชาการตามแนวพระราชดำริ และได้ศึกษากับ "พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต" ด้วย อีกทั้งพนักงานยังมีความมั่นคงในอาชีพ ชุมชนรอบๆ ชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท ก็มีความสุขในการอยู่ร่วมกันในลักษณะของการพึ่งพาอาศัยกัน จึงอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข มั่งคั่งอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นผู้นำทาง | |