Custom Search

Jan 17, 2021

พระราชอารมณ์ขันในรัชกาล 9





วีดิทัศน์พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9
เมื่อวันอังคารที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๗
และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖
ซึ่งอัญเชิญความมาบางตอนในช่วงที่มีพระราชอารมณ์ขัน*
*ภาษาแบบสั้นและถูกต้อง ใช้ว่า "ทรงมีอารมณ์ขัน"


“วันนั้นเสด็จฯ ไปหมู่บ้านดอยจอมหด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ใหญ่บ้านลีซอกราบทูลชวนให้ ‘ไปแอ่วบ้านเฮา’
ก็เสด็จฯ ตามเขาเข้าไปบ้านซึ่งทำด้วยไม้ไผ่และมึงหญ้าแห้ง เขาเอาที่นอนมาปูสำหรับประทับแล้วรินเหล้าทำเอง
ใส่ถ้วยที่ไม่เคยจะได้ล้างจนมีคราบดำๆ จับ ผู้เขียนรู้สึกเป็นห่วง เพราะตามปกติไม่ทรงใช้ถ้วยมีคราบ
จึงกระซิบทูลว่า ควรจะทรงทำท่าเสวย แล้วส่งถ้วยมาพระราชทานผู้เขียนจัดการ แต่ก็ทรงดวลเองกร้อบเดียวเกลี้ยง ตอนหลังรับสั่งว่า
‘ไม่เป็นไร แอลกอฮอล์เข้มข้นเชื้อโรคตายหมด’ ”

(จาก ประทีปแห่งแผ่นดิน , มนูญ มุกข์ประดิษฐ์)
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ในฉลองพระองค์ชุดกันฝนและทรงพระมาลากันฝน ทรงนำคณะเจ้าหน้าที่บุกฝ่าเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นป่าสลับสวนยาง
ท่ามกลางเม็ดฝนขาวใสที่กระทบขอนไม้และใบหญ้าดังกรูเกรียวในสภาพที่หนาวเย็น พื้นดินเป็นโคลนตม
และสัญจรเข้าไปได้ยากเย็นยิ่งนัก เป็นระยะทางถึง 2 กิโลเมตรเศษ นี่คือสิ่งที่มิใช่สามัญธรรมดา
ในความรู้สึกของผู้คนและความไม่ธรรมดาสามัญนี้ก็ยิ่งไม่ธรรมดามากขึ้นเป็นทวีคูณเนื่องเพราะบริเวณนี้คือ
‘ดงทาก’ หรือ ‘รังทาก’ อันมีทากชุกชุมที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้

กว่าจะถึงจุดหมาย คือบริเวณพื้นที่ที่จะพิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อให้มีน้ำไว้ใช้สำหรับพื้นที่ 5, 000 ไร่
ใน 3 เขตตำบลคือ เชิงคีรี มะยูง และรือเสาะ เกือบทุกคนก็โชกฝนและโชกเลือด
แม้ทูลกระหม่อมสองพระองค์ก็มิได้รับการยกเว้น

ค่ำวันนั้น ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์
อากาศปลายฤดูฝนกำลังสบาย ดวงดาวบนท้องฟ้าเริ่มจะปรายแสง
ขบวนรถยนต์พระที่นั่งได้หยุดลงกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุบนทางหลวงที่มืดสงัดเป็นเวลาหลายนาที
ถามไถ่ได้ความภายหลังว่า ยังมีทากหลงเหลือกัดติดพระวรกายอยู่อีก
เมื่อรู้สึกพระองค์จึงได้หยุดรถพระที่นั่ง และรับสั่งให้สมเด็จพระเทพฯ
ช่วยจับทากที่ตัวเป่งด้วยพระโลหิตออกจากพระวรกาย
ทรงเรียกการทรงงานวิบากที่เชิงคีรีครั้งนี้ในภายหลังว่า ‘สงครามกับตัวยึกยือที่เชิงคีรี’ ”
(จาก ตามเสด็จ ตอน ท่องเที่ยวบรรเทาทุกข์, ม.จ.ภีศเดช รัชนี)

“บางครั้งในการที่ทรงสอบถามข้อมูลทั่วๆ ไปจากราษฎรนั้น ก็อาจมีเรื่องที่นึกไม่ถึงเกิดขึ้นจนเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟังเสมอๆ ดังเช่น
ครั้งหนึ่งได้เสด็จฯ ไปยังพื้นที่ที่สภาพดินไม่ดีนักเพราะมีกรดมาก ซึ่งเรามักเรียกกันว่า ‘ดินเปรี้ยว’ ได้ทรงถามราษฎรผู้หนึ่งว่า

‘ดินแถวนี้เปรี้ยวไหม’
ราษฎรผู้นั้นก็ทำท่าหน้าตาเฉยแล้วกราบบังคมทูลตอบพระองค์แบบซื่อสั้นๆว่า
‘ไม่รู้ ไม่เคยกิน’

พระองค์ทรงแย้มพระสรวลเล็กน้อย แล้วรับสั่งกับพวกที่ตามเสด็จว่า ‘เขามีอารมณ์ขันนะ’
และอีกครั้งหนึ่ง เมื่อคราวเสด็จฯ ทรงเยี่ยมประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ขณะนั้นเป็นเวลาค่ำแล้ว แต่พระองค์ยังคงเสด็จพระราชดำเนินตรวจสอบสภาพพื้นที่อยู่
โดยเสด็จฯ เข้าไปยังทุ่งนา ก็ได้มีราษฎรผู้หนึ่งมานั่งเฝ้าฯ รับเสด็จฯ อยู่ ณ ที่นั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชกระแสรับสั่งสอบถามชายผู้นั้น
ถึงเรื่องการทำมาหากินว่าทำนาได้ผลเป็นอย่างไรได้กี่ถังต่อไร่ ฯลฯ
และปัจจุบันนี้ยังทำอยู่หรือไม่ ซึ่งชายผู้นั้นก็ได้กราบบังคมทูลตอบว่า

‘เดี๋ยวนี้ไม่ได้ทำ เพราะแขนเจ็บ’(ชายผู้นั้นมีผ้าพันแขนไว้ข้างหนึ่ง)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงรับสั่งถามว่า ‘ไปโดนอะไรมาถึงเจ็บ’
ชายผู้นั้นก็กราบบังคมทูลว่า ‘ตกสะพาน’
และด้วยความที่ทรงห่วงใยราษฎรผู้นั้น จึงได้มีพระราชกระแสรับสั่งต่อไปว่า
‘แล้วแขนอีกข้างหนึ่งล่ะ ไม่เป็นอะไรหรือ’
ราษฎรผู้นั้นกราบบังคมทูลตอบทันทีทันใดว่า ‘แขนอีกข้างไม่ได้ตกไปด้วย’
“การไม่ถือพระองค์และการที่ทรงให้ความเป็นกันเองแก่ราษฎรทั่วไปนี่เอง ไม่ว่าพระองค์เสด็จฯไป
ณ ที่หนใด ‘รอยยิ้ม’ ของพระองค์จึงเข้าถึงใจประชาชนและครองใจคนเสมอมา
...............................................................................................
ภาพบางส่วนจาก : เว็บไซต์ WeLoveThaiKing และ เว็บไซต์ panyayan.tnews