Custom Search

Jul 22, 2019

พลิกพาณิชย์ศิลป์แบบ “เต๋อ เรวัต” มันสมอง-ผู้ร่วมตั้ง “แกรมมี่” ปฏิวัติเพลงไทยยุคใหม่ (version 1)


เต๋อ - เรวัต พุทธินันทน์ นักร้อง นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ และผู้ร่วมตั้งบริษัท แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนท์ (ภาพจาก YouTube / GMM GRAMMY OFFICIAL) 

 http://www.facebook.com/rewat.forever

ชื่อ เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ยังอยู่ในความทรงจำของคนดนตรีและประชาชนชาวไทยเสมอ ในฐานะผู้ผลิตงานศิลปะด้านเสียงดนตรี เต๋อ เรวัต เป็นชื่อของบุคคลที่สร้างปรากฏการณ์พลิกอุตสาหกรรมเพลงและการรับรู้เกี่ยวกับโลกพาณิชย์ศิลป์เมื่อช่วงต้นยุค 2530 ซึ่งก่อนหน้านั้น ต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมเพลงและโครงสร้างของเพลง “ร่วมสมัย” ยุคนั้นยังมีไม่กี่แนวและเป็นสูตรสำเร็จ

นามสกุลพุทธินันทน์ สร้างชื่อในช่วงปลายยุค 2520 จนถึงช่วง 2530 จากผลงานของ พี่ชายใจดี ในวงการเพลงนามว่า เต๋อ เรวัต เจ้าของสัญลักษณ์หนวดงามแห่งวงการดนตรีร่วมสมัยไทยกำเนิดในกรุงเทพฯ จบการศึกษาที่เซ็นคาเบรียล ศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นคณะบัญชี แต่ย้ายไปคณะเศรษฐศาสตร์ (โดยเอกสารประชาสัมพันธ์เมื่อครั้ง ออกอัลบั้ม เต๋อ-3 ระบุว่า “เพราะไม่ต้องเข้าเรียนทุกชั่วโมง”)

ในช่วงที่เรียนหนังสือ เต๋อ เรวัต สนใจและมีความสามารถด้านดนตรีมาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเรียนจบก็ตั้งใจจะเลิกเล่นและหันไปทำงานธนาคาร แต่ชีวิตหักเหเมื่อได้รับจดหมายชวนจากวง The Impossibles ให้ไปเล่นดนตรีที่ฮาวาย ซึ่งเต๋อ เรวัต ตกลงใจด้วย ที่นั่นเองเป็นช่วงที่ใช้เวลาว่างจากการเล่นดนตรี ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เป็นจุดตั้งต้นที่ทำให้
ไทยได้มีผู้ผลิตงานเพลงชั้นยอดอีกคนหนึ่งในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมดนตรีไทย

หลังจากวง The Impossibles ประสบความสำเร็จแล้วก็ร่วมเล่นกับวง Oriental Funk ในระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจึงเริ่มทำงานโปรดิวเซอร์ ทำทั้งเพลงไทยสากล เพลงโฆษณา และเพลงประกอบภาพยนตร์ ซึ่งผลงานภายใต้การทำงานของเต๋อ เรวัต นี่เองเป็นช่วงที่งานเพลงสร้างสรรค์ออกมาแปลกใหม่ (จากผลงานในไทยในช่วงเวลานั้น)

เต๋อ เรวัต ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่สร้างงานปั้นศิลปินนักร้องให้ประสบความสำเร็จมากมาย ตั้งแต่ นันทิดา แก้วบัวสาย, แหวน ฐิติมา สุตสุนทร และนักร้องในตำนานซึ่งแจ้งเกิดตั้งแต่ช่วงปลาย 2520 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันอย่างเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์

ไม่เพียงแค่สร้างผลงานให้กับศิลปินอื่นๆ ในบริษัทแกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนท์ ผลงานเพลงของตัวเองยังสร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการเพลงด้วยเช่นกันตั้งแต่ เต๋อ-1 เมื่อพ.ศ. 2527 เต๋อ-2 เมื่อพ.ศ. 2528 จนถึงเต๋อ-3 ในช่วงปลายปีพ.ศ. 2529

แกรมมี่


ในช่วงต้นสมัย 2530 บริษัทแกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนท์ ถูกจับตาอย่างมากในฐานะบริษัทหน้าใหม่ซึ่งมีอายุเฉียด 10 ปีแต่ประสบความสำเร็จในงานด้านอุตสาหกรรมบันเทิงสายดนตรี เรียกได้ว่าเป็นยุคแรกที่งานศิลปะผสมผสานกับแนวคิดด้านการตลาดในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในไทย จากเดิมที่ประชาชนคุ้นกับแนวเพลงของสุเทพ วงศ์คำแหง, สวลี ผกาพันธ์ และธานินทร์ อินทรเทพ แม้ว่านักฟังเพลงจะได้สัมผัสกับผลงานแนวใหม่ที่แตกต่างไปจากกลุ่มข้างต้นบ้าง แต่ต้องยอมรับว่า ในเชิงพาณิชย์ งานเพลงแนวใหม่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จจนมามีบริษัทแกรมมี่

ก่อนหน้าที่จะมีบริษัทชื่อดังที่พลิกอุตสาหกรรม พิชัย ศิริจันทนันท์ แสดงความคิดเห็นในช่วงต้นบทความชื่อ "Grammy" ‘แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนท์ ศิลปะการวางกลยุทธ์ของศิลปิน” ว่า ช่วงก่อนนั้น อุตสาหกรรมดนตรีตกอยู่ในอำนาจของพ่อค้า ซึ่งมักไม่ค่อยเจนจัดในความรู้ด้านดนตรี กระทั่งมี ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม นักการตลาดจากบริษัทพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง เทรดดิ้ง คัมปะนี ค่ายโอสถสภาเต็กเฮงหยู (ผลงานที่ลือลั่นคือ พลิกโฉมน้ำส้มสายชู อสร. ที่เคยขาดทุนให้กำไรได้ในเวลาปีกว่า) นอกจากนี้ ลักษณะเฉพาะตัวของคุณไพบูลย์ คือการเป็นนักเขียน นักกวี ซึ่งพอจะทำให้เห็นว่าเขาเข้าใจเรื่องศิลป์อยู่ด้วย

ในบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่ใน “คู่แข่ง” เมื่อพ.ศ. 2532 เต๋อ เรวัต เล่าจุดเริ่มต้นของบริษัทแกรมมี่ว่า เป็นความคิดของตัวเองและคุณไพบูลย์ ในช่วงเริ่มต้น แนวคิดการทำงานเพลงของเต๋อ เรวัต เริ่มต้นขึ้นจากการดูงานที่ฝรั่งเศส กระทั่งโอกาสมาถึงในช่วงที่บุษบา ดาวเรือง คนสนิทของคุณไพบูลย์ มือครีเอทีฟโปรดักชั่นสายโปรโมชั่น แจ้งว่าอยากพบพี่เต๋อ เมื่อได้พบกันและตกลงกันเรียบร้อยจึงกลายเป็นก้าวแรกของผู้พลิกอุตสาหกรรมดนตรีในช่วง 2530

ช่วงหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ เต๋อ เรวัต เล่าแนวคิดการทำงานที่นำมาสู่ปรากฏการณ์แห่งอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ข้อความตอนหนึ่งมีว่า

“เมื่อ 6 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2526) วงการเพลงไม่มีเรื่องการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง โครงสร้างธุรกิจก็คงจะเป็นเพียงธุรกิจครอบครัวเล็กๆ…เมื่อการตลาดไม่มี ผู้ฟังก็พลอยตีบตันไปด้วย เพราะไม่มีแรงผลักดันไปหาตัว ‘แมส’ ประกอบกับเงื่อนไขทางธุรกิจในขณะนั้น มีลักษณะที่สุกงอม พอที่จะ Organized (จัดวางระบบ) ระบบธุรกิจขึ้นมาได้ เพราะพัฒนาการในการฟังเพลงของคนไทยเราพร้อมที่จะรับอะไรใหม่ๆ ได้แล้วในขณะนั้น…”

“พี่เอาความคิดที่ว่าคนไทยจำนวนมหาศาลที่ยังรอรับของใหม่อยู่มาจากการปรากฏตัวสู่โลกดนตรีของ เดอะ บีทเทิล…เดอะ บีทเทิล (สะกดตามข้อความต้นฉบับ) คือสิ่งที่คนทั้งโลกรอฟังอยู่ แต่ยังไม่มีใครทำ เมื่อมีคนเริ่มก็เกิดการตื่นตัวครั้งใหญ่…”

บริษัทแกรมมี่เริ่มต้นด้วยเต๋อ เรวัต, ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม, บุษบา ดาวเรือง และยังมีกิตติศักดิ์ ช่วงอรุณ นิเทศศาสตร์บัณฑิตที่เชี่ยวชาญด้านสื่อและงานเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ ส่วนผสมเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้บริษัทแกรมมี่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาพลิกโฉมอุตสาหกรรมดนตรีในช่วงเวลานั้น

เต๋อ เรวัต แหย่เทปชุดแรกเข้าไปในตลาดโดยเทป “พญ.พันทิวา” เป็นการทดลองตลาดอย่างแท้จริง ช่วงทดลองตลาดนี้ พี่เต๋อ เล่าว่า ใช้ 2 ชุด ก่อนที่จะตามมาด้วยการลุยตลาดกับ เต๋อ 1 เมื่อ พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นการลงสู่ตลาดอย่างจริงจัง

เต๋อ-1


เมื่อผ่านการทดลองการตลาดกับเทป 2 ชุดแรก เต๋อ 1 ถูกนิยามจากเจ้าของผลงานว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านจากยุคเก่ามาสู่ยุคใหม่ ทั้งในแง่โครงสร้างบทเพลง แนวคิดการนำเสนอ และการตลาดของผลิตภัณฑ์เปลี่ยนแปลงทั้งหมด ภายใต้แนวคิดว่า ตลาดเพลงในต่างประเทศสามารถมีหลายแนวทางได้ ในไทยก็ต้องมีได้
แนวคิดโดยรวมของผลงานยุค 2527 คือ ศิลปินที่กล้าทำในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้าทำ มั่นใจในสิ่งที่ทำลงไป แนวคิดนี้ทำให้ผู้ฟังได้สัมผัสกับสิ่งที่ไม่เคยพบจากการแสวงหามาก่อน นี่เป็น Segment (สัดส่วน) ย่อยแรกที่ลงไป นันทิดา แก้วบัวสาย จึงตามมาในแนวคิดศิลปินสไตล์เก่าที่สามารถปรับตัวกับยุคสมัย (Modernized)

“นันทิดา คือจุดที่เปลี่ยนเพลง Pop สู่คอนเซ็ปท์ใหม่ ซึ่งเป็นแนวเพลงที่มีคนรองรับเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว” พิชัย ผู้เขียนบทความเล่า

Segment ต่อมาคือ คาราบาว โดยชุดที่แกรมมี่เป็นฝ่ายโปรโมท และสามารถแจ้งเกิดได้คือ “เมดอินไทยแลนด์” เรียกได้ว่า คาราบาว เป็นตัวเปิดตลาดเพื่อชีวิตอย่างจริงจัง พิสูจน์ให้เห็นว่า Segment แต่ละจุดล้วนมีความแข็งแรงมาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากนั้นแกรมมี่ ผลิตงานที่สร้างปรากฏการณ์อีกมากมายไม่ว่าจะเป็น อัสนี-วสันต์ (Rock & Roll ไม่มีวันตาย) หรือกระบวนการสร้างนักร้องจากนักมวยอย่าง สามารถ พยัคฆ์อรุณ ทีมแกรมมี่สามารถหลอมรวมบุคลิคของสามารถที่ เหน่อ…อ่อนซ้อม…เจ็บล้วนๆ มาสู่ผลงานเพลงที่ผสมระหว่างลูกทุ่ง- ป๊อปร็อก ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายรองรับอยู่แล้ว

แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่ทำให้แกรมมี่ แจ้งเกิดได้อย่างภาคภูมิที่สุดเป็นใครไม่ได้นอกจาก เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ศิลปินแบบ สบาย…สบาย ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับแกรมมี่ยุคแรกช่วงรุ่งเรืองที่ยังมีเต๋อ เรวัต ผลิตงานและเป็นกำลังหลักในการนำเสนองานศิลปะทางดนตรี เบิร์ด ธงไชย คือนักร้อง Segment เดียวกับ นันทิดา แต่บทความจาก “คู่แข่ง” อธิบายว่า
บิร์ดมีจุดเด่นที่แตกต่างคือ “การร้องแบบนักแสดง” นั่นคือความสามารถของ “เอนเตอร์เทนเนอร์” ทำให้จับกลุ่มคนฟังได้กว้างที่สุดตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่

เป็นที่รู้กันว่า เต๋อ เรวัต ทำงานอย่างหนักในบริษัทที่ร่วมปลุกปั้นสร้างขึ้นมากับมือ ความเป็นศิลปินแบบเต๋อ เรวัต ยังเข้าใจวัฒนธรรมแบบตะวันตก และวัฒนธรรมไทย พี่ชายผู้ใจดียืนยันว่า ให้ความสำคัญกับเรื่องครอบครัวเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อไปทำงานก็พาลูกไปด้วย ให้เรียนรู้การทำงานว่าเป็นอย่างไร

เต๋อ เรวัต ให้สัมภาษณ์กับ “เส้นทางเศรษฐกิจ” เมื่อ พ.ศ. 2534 พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องมุมมองทางวัฒนธรรม และครอบครัว ใจความตอนหนึ่งมีว่า

“เรื่องที่ใครๆ ชอบพูดกันว่า วัฒนธรรมไทยดี หรือบางคนก็บอกว่าวัฒนธรรมตะวันตกดีกว่า อันนี้พี่ไม่เชื่อ เพราะจริงๆแล้ว ทุกวัฒนธรรมมันก็มีทั้งดี และไม่ดีปะปนกันไป พี่ว่ามันขึ้นอยู่ที่ว่าเราหยิบฉวยอะไรจากมัน และหยิบเอาอะไรมาใช้มากกว่า เรามีทางเลือก แล้วทำไมเราไม่เลือกเอาแต่ที่ดีๆ ล่ะ คือพี่จะมีจุดยืนของพี่เอง
เพราะฉะนั้น บางครั้งมันอาจจะดูแปลกหรือดูขวางๆ ไปจากคนอื่น แต่พี่ก็ไม่สนใจ พี่ถือว่านั่นเป็นจุดยืนของพี่คือตัวของพี่เอง ซึ่งมันเป็นความจริงซึ่งทั้งหมดนั่นมันขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นคนดีหรือเปล่า พี่ว่าสิ่งนี้สิสำคัญ…”

ช่วงเวลาเริ่มต้นก่อตัวของแกรมมี่จนถึงต้นยุค 2530 เรียกได้ว่าเป็นช่วงอุตสาหกรรมเพลงเติบโตก้าวกระโดด สะท้อนให้เห็นอัตราเร่งในเชิงสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเต๋อ เรวัต เองก็ยอมรับว่า พยายามทำพาณิชย์ศิลป์ให้เดินไปตามธรรมชาติในบริบทนั้นๆ การเดินล่วงหน้ากว่าระบบหมายถึงความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ในช่วงเวลานั้น สินค้าอย่างคาสเซ็ตต์เทปก็ไม่มีเลขตายตัว ทุกอย่างขึ้นกับอารมณ์ผู้บริโภค และสถานการณ์ ผลตอบรับของตัวเทปที่ย้อนกลับมาก็ไม่เคยเหมือนกันด้วยซ้ำ

น่าเสียดายที่หลังจากบริษัทแกรมมี่ เติบโต เต๋อ เรวัต ออกผลงานมาถึงชุดที่ 4 ใน พ.ศ. 2530 ชื่อ “ชอบก็บอกว่าชอบ” หลังจากนั้นก็เริ่มมีปัญหาสุขภาพและเสียชีวิตเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2539 ขณะอายุ 48 ปี

เมื่อเล่าประวัติ ผลงาน และมรดกทางความคิดดังที่ว่ามาแล้ว น่าจะตอกย้ำเหตุผลว่า ทำไม เต๋อ เรวัต ยังเป็นบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งในอุตสาหกรรมดนตรีในไทยมาจนถึงวันนี้



อ้างอิง:
พิชัย ศิริจันทนันท์. “Grammy ‘แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนท์’ ศิลปะการวางกลยุทธ์ของศิลปิน”. คู่แข่ง ปีที่ 2 ฉบับที่ 108 ต.ค. 2532
“โลกส่วนตัวของคนไม่ธรรมดา ครอบครัวไม่สบาย ของเรวัต พุทธินันทน์ เพื่อลูกทำไมต้องรอวันหยุด”.  เส้นทางเศรษฐกิจ. 21 มกราคม พ.ศ. 2534, น. 11-12

พี่ชายใจดี คนนี้ ที่ชื่อ…พี่เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์”. เอกสารประชาสัมพันธ์ อัลบั้ม เต๋อ 3. วันที่ในเอกสาร ส.ค. 2529