Custom Search

Jul 13, 2019

จุดเริ่มต้นวง “คาราบาว” ตำนานบทเพลงเพื่อชีวิตไทยสุดอมตะ





PPTV
เผยแพร่ 25 ม.ค. 2561 
‘คาราบาว’ เมื่อพูดถึงชื่อนี้ คนไทยทุกคนต่างก็รู้จักในนามวงดนตรีที่เล่นแนวเพลงเพื่อชีวิต
ที่มีชื่อเสียงอย่างกว้างขวางจวบจนปัจจุบัน วันนี้ทีมข่าวนิวมีเดียพีพีทีวี
จะพาย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของวงอมตะนี้
ที่ได้สร้างสรรค์บทเพลงจนติดตราตรึงอยู่ในใจของคนไทยเกือบทั้งประเทศ

ยุคเริ่มต้น “คาราบาว” 
คำว่า คาราบาว เป็นภาษาตากาล็อก (ภาษาพื้นเมืองของฟิลิปปินส์) มีความหมายว่า ควาย และ คนใช้แรงงาน
ซึ่งทางฟิลิปปินส์ถือเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นเกษตร ขณะที่สมาชิกรุ่นก่อตั้งวงมีจำนวน 3 คน
ประกอบด้วย ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด ,
กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร หรือ เขียว และ
สานิตย์ ลิ่มศิลา หรือ ไข่
ต่อมาทั้ง 3 คนจึงร่วมกันตั้งวงดนตรีขึ้นมา ชื่อว่า คาราบาว
เพื่อใช้ในการแสดงบนเวทีในงานของมหาวิทยาลัยในตอนที่กำลังเป็นนักเรียนอยู่ประเทศฟิลิปปินส์
โดยเล่นดนตรีแนวโฟล์คที่มีเนื้อหาสะท้อนสภาพปัญหา และความเป็นจริงของสังคม
ทั้งนี้ต่อมา เมื่อกลับมาเมืองไทย ไข่ ได้ลาออกจากวง
และแอ๊ดกับเขียวจึงได้ออกอัลบั้มด้วยกันชุดแรกในปี 2524
ชื่อ ขี้เมา ต่อมาได้ ปรีชา ชนะภัย หรือ เล็ก จากวงเพรสซิเดนท์
เป็นสมาชิกใหม่เพิ่มเข้ามา
และได้ออกอัลบั้มชุดที่ 2 ในชื่อชุด แป๊ะขายขวด
โดยเล็กได้ชักชวนมือเบสวงเพรสซิเดนท์ อย่าง
อ๊อด อนุพงษ์ ประถมปัทมะ
ให้มาเล่นเป็นแบ็คอัพของทั้ง 3 คน
แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอีกครั้ง
แต่วง คาราบาว มาเป็นที่รู้จักจริงๆ
ตอนออกอัลบั้มชุดที่ 3 ชื่อว่า วณิพก ในปี 2526
เป็นเพลงที่เป็นทำนองแบบไทยๆ ผสมตะวันตก
มีจังหวะสนุกสนาน และในปลายปีเดียวกัน
ก็ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 4 ชื่อ ท.ทหารอดทน
แต่กลับเป็นอัลบั้มแรกของวงที่ถูก
คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หรือ กบว.
สั่งห้ามนำไปเผยแพร่ออกอากาศตามสื่อต่าง ๆ ก็คือ เพลง ท.ทหารอดทน และ ทินเนอร์
แต่ถึงอย่างไรยอดขายก็ยังประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี

“คาราบาว” สู่จุดสูงสุด
ในยุครุ่งเรืองของวง คาราบาว เกิดขึ้นในปี 2527 เป็นการออกอัลบั้มชุดที่ 5
ชื่อว่า เมด อิน ไทยแลนด์ หลังออกวางจำหน่าย ก็ทำยอดขายได้สูงที่สุดในประเทศไทย
ที่ยังไม่มีใครสามารถทำลายสถิตินี้ รวมถึงเป็นความสำเร็จสูงสุดของวงด้วย
และในการจัดคอนเสิร์ตครั้งแรก ก็มียอดผู้เข้าชมถึง 60,000 คน
แต่เกิดมีผู้ชมตีกันกลางคอนเสิร์ต จนกลายเป็นนิยามที่ว่า คาราบาวเล่นที่ไหนก็มีแต่คนตีกัน
โดยสมาชิกในช่วงยุคทองของวง คาราบาว มี 7 คน ประกอบด้วย ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด
ทำหน้าที่เป็นนักร้องนำ มือกีตาร์ และหัวหน้าวง ,
ปรีชา ชนะภัย หรือ เล็ก ทำหน้าที่เป็นมือกีตาร์และขับร้อง ,
เธียรี่ เมฆวัฒนา หรือ รี่ ทำหน้าที่เป็นมือกีตาร์ มือเบส และขับร้อง ,
กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร หรือ เขียว ร้องประสานเสียง และเพอร์คัสชั่น ,
อนุพงษ์ ประถมปัทมะ หรือ อ๊อด ทำหน้าที่เป็นมือเบส ,
ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี หรือ เล็ก ทำหน้าที่ประสานเสียง มือขลุ่ย แซกโซโฟน และ คีย์บอร์ด ,
อำนาจ ลูกจันทร์ หรือ เป้า ทำหน้าที่มือกลอง และ เพอร์คัสซั่น
นอกจากนี้ ในช่วงปี 2527 - 2533 หลังจากออกอัลบั้มออกมาทั้งหมด 5 ชุด นั้น
โดยทุกชุดประสบความสำเร็จทั้งหมด และยังได้เล่นคอนเสิร์ตที่สหรัฐอเมริกา และในทวีปยุโรปหลายครั้ง

สมาชิกแยกวง และ การกลับมาอีกครั้งของ “คาราบาว”
อย่างไรก็ตาม ปี 2532 สมาชิกวงคาราบาวยุคคลาสสิก
แต่ละคนได้แยกย้ายกันไปทำอัลบั้มเดี่ยวของตนเองจนกระทั่งเมื่อปี 2538
คาราบาวจึงได้ออกอัลบั้มชุดพิเศษ เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปีคาราบาว
เป็นการรวมตัวกันอีกครั้งของสมาชิกในยุคทองทั้ง 7 คน ในชื่อชุด
หากหัวใจยังรักควาย โดยออกมาถึง 2 ชุดด้วยกัน และมีการจัดคอนเสิร์ตชื่อ ปิดทองหลังพระ ในปี 2539
แต่หลังจากคอนเสิร์ตนี้ชื่อเสียงและความนิยมของวงคาราบาวเริ่มถึงขาลง
เนื่องจากกระแสดนตรีที่เปลี่ยนไป

ในปี 2541 เล็ก และ เทียรี่ ที่เคยแยกตัวออกไปได้กลับมาร่วมวงอีกครั้งในอัลบั้ม อเมริกันอันธพาล
และปี 2541 จนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีเพลงดังอยู่บ้างในช่วงขาลง เช่น บางระจันวันเพ็ญ
ในอัลบั้มชุด เซียมหล่อตือ หมูสยาม และต่อมาทางวงก็ได้รับสมาชิกใหม่คือ ธนะสิทธิ์ พันธุ์พงษ์ไทย หรือ อ้วน
ตำแหน่งมือกลอง ขลุ่ย และ แซกโซโฟนได้ร่วมเล่นกับ
วงตั้งแต่อัลบั้มชุด สาวเบียร์ช้าง ในปี 2544 จนถึงปัจจุบัน
หลังจากนั้นปี 2550 ทางวงได้วางจำหน่ายอัลบั้ม ชื่อ ลูกลุงขี้เมา
เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 25 ปี ของวง และได้มีการปรับสมาชิก
เนื่องจาก ศยาพร สิงห์ทอง หรือ น้อง ปัญหาเรื่องสุขภาพจึงได้ขอลาออกจากวง และเสียชีวิตลง
เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2557 ส่วนทางวงก็มีผลงานต่อมาอีก 3 ชุด
โดยอัลบั้มชุดล่าสุดที่ออกจำหน่าย คือ สวัสดีประเทศไทย วางจำหน่ายในปี  2557

วงตำนานในยุคปัจจุบัน
โดยปัจจุบันวง คาราบาว มีสมาชิกทั้งสิ้น 9 คน นำโดย ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด ,
ปรีชา ชนะภัย หรือ เล็ก , เทียรี่ เมฆวัฒนา หรือ รี่ , เกริกกำพล ประถมปัทมะ หรือ อ๊อด ,
ลือชัย งามสม หรือ ดุก , ขจรศักดิ์ หุตะวัฒนะ หรือ หมี , ชูชาติ หนูด้วง หรือ โก้ และ
ธนะสิทธิ์ พันธุ์พงษ์ไทย หรือ อ้วน ซึ่งอัลบั้มที่ออกมามีทั้งหมด 28 ชุด
ไม่นับรวมถึงอัลบั้มพิเศษของทางวง หรือของสมาชิกในวง หรือบทเพลงในโอกาสพิเศษต่าง ๆ
เพราะถ้าหากนับรวมกันคงมีไม่ต่ำกว่า 100 ชุด และมีเพลงไม่ต่ำกว่า 1,000 เพลง อย่างแน่นอน