Custom Search

Sep 4, 2009

ถนนคนเดินทาง -ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เจริญ วรรธนะสิน


Related:
ที่มา : อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ 43 ฉบับที่ 1 เดือนสิงหาคม 2545
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เจริญ วรรธนะสิน - ความทรงจำในอดีต
วิบากกรรมที่ไม่ลืม
ดวง ชะตาชีวิตของผม ตั้งแต่เป็นเด็ก จนเติบใหญ่
มีหน้าที่การงานมากมายหนีไม่พ้นการเดินทาง
ตกดวงของยูลิซิสในเทพปกรณัมของกรีก
ถูกเจ้าแม่ไซคีสาปให้ต้องเดินทางระเหเร่ร่อน นานถึง 15 ปี
แต่ผมต้องคำสาปที่หนักกว่ายูลิซิส
เพราะอาถรรพ์ของคำสาปนั้น แผ่ซ่านเข้ามา
มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตที่นานกว่า 60 ปีของผมเอง
ในวัยเด็กเป็นช่วงที่มหาสงครามเอเชียบูรพากำลังดุเดือดและแหลมคม
ครอบครัวของบุพการีต้องยกโขยงจากบ้านเกิดเมืองนอนที่เชียงใหม่
ย้ายรากฐานของชีวิตเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร
ด้วยคำสั่งกับวิสัยทัศน์ที่เลวร้ายของรัฐบาลผู้ปกครองบ้านเมืองในยุคนั้น
ให้บรรดาผู้ถือใบต่างด้าวต้องอพยพเข้าไปอยู่ในบางกอก
โดยเหตุที่คุณแม่กับบรรดาคุณอากับคุณน้า ๆ ของผม
รวมทั้งตัวผมเองด้วย เกิดข้างแม่น้ำปิง
พวกเราจึงเป็นลูกแม่ระมิงค์โดยกำเนิด
เราได้ยินชาวบ้านเต้นแร้งเต้นกาดีใจ
“ไอ้พวกเจ๊กมันไปแล้ว ต่อจากนี้ไปพวกเราจะทำมาหากินได้สะดวกเต็มที่...”

ใน ช่วงนั้นคนต่างด้าวที่ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน
เป็นชาวจีนรุ่นแรกที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
จนแตกหน่อแพร่พันธุ์ออกมาเป็นรุ่นที่สองและรุ่นที่สาม
เมื่อรัฐบาลไทยเกิดมีนโยบายกีดกันคนต่างด้วยที่เป็นรุ่นที่หนึ่ง
โดยวัฒนธรรมของชาวตะวันออก เมื่อบุพการีเดือดร้อน
ลูกหลานก็ต้องออกเดินทางร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับปู่ย่าตาทวดของตนด้วย
เพียงเวลาไม่ถึงเดือน หลังจากที่ครบกำหนดเส้นตาย
ควบคุมต่างด้าวของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ในต่างจังหวัดทั่วไป
คนจีนรุ่นแรก First Generation
ต่างหอบลูกจูงหลาน ขายทรัพย์สิน
ถอนรกรากออกไปจนเกือบหมด
ภาย ในเดือนเดียวกัน รัฐบาลไทยยุคนั้น
ก็เริ่มรู้ตัวว่าปฏิบัติการที่มาจากความคิดกับวิสัยทัศน์
ที่ฝรั่งเรียกว่า Political Myopia นั้น
ไม่เพียงแต่จะไม่ได้ผลเท่านั้น แต่ยังกลับ
ส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจและโครงสร้างของบ้านเมืองอย่างเห็นทันตา
เพราะว่าปรากฏว่าเศรษฐกิจตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ถึงกับยุคชะงัก
บรรดาโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ
ที่ชาวบ้านแห่ไปเซ้งหรือซื้อไว้ในราคาไม่แพงนัก ธุรกิจที่
ทุกคนคาดหวังว่าจะคึกคักทำเงินอย่างที่เคยเห็น
ทุกอย่างกลับเงียบเหงาวังเวงปราศจากผู้คน
บริเวณสี่แยกท่าแพที่เชียงใหม่ ตลาดสบตุ๋ยที่ลำปาง
หรือตามโรงมหรสพแถบนั้น
วิเวกวังเวงกลายเป็น Ghost Town
เมืองร้างไปโดยปริยาย จนชาวบ้านต่างตกใจกันไปหมด
ภายในสองเดือนเศษ ๆ
รัฐบาลไทยได้ออกคำสั่งผ่อนผันให้
ชาวต่างด้าวที่ลงทะเบียนแล้ว
อยู่ทำมาหากินในส่วนภูมิภาคได้อย่างเดิม

แต่กว่าที่ทุกอย่างจะกลับคืนสู่สภาพปรกติ
เศรษฐกิจภายในประเทศยุคนั้น
ก็เกิดความเสียหายเหลือคณานับ
บรรดาชาวจีนที่ขายทรัพย์สินส่วนใหญ่
ไม่ได้หวนกลับคืนสู่ส่วนภูมิภาค
ไปตั้งรกรากในเมืองหลวงให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย
บางรายที่ใจแข็งพรากลูกพรากเมียไม่ยอมขายทรัพย์สิน
ก็ต้องหอบลูกจูงหลานเดินทางกลับไปที่ตั้งเดิม
บ้านเมืองสับสนอลหม่านกันไปหมดในช่วงนั้น
ตอนเป็นเด็กผมไม่รู้เรื่องการ เมืองอะไรกับเขามากนัก
แต่เดินผ่านวงสนทนาของผู้ใหญ่
ได้ยินเขาก่นด่าผู้นำรัฐบาลในยุคนั้นอย่างหยาบคาย
และลึก ๆ ในจิตใจของชาวจีน
ยังจดจำความขมขื่นที่ถูกนักการเมืองสมองกลวงข่มเหง
พฤติกรรมเหมือนเยอรมันปฏิบัติต่อพวกยิวอย่างใดก็อย่างนั้น

ผม เรียนอนุบาลที่โรงเรียนเรจินาเชลี
จำได้ว่าเรียนอยู่ได้ไม่นาน
ก็ต้องเดินทางตามบุพการีไปกรุงเทพฯ
ด้วยสาเหตุการเมืองที่มาจากเชื้อชาติที่กล่าวไว้ข้างต้น
เห็นคุณพ่อไปซื้อบ้านอยู่ในซอยวัดแขก ถนนสีลม
เป็นบังกะโลปลูกสองชั้น บ้านด้านนอกเป็นสีฟ้า
มีบริเวณสนามหญ้าให้วิ่งเล่น แลดูสวยงาม
จากสิ่งแวดล้อมในวัยเด็กที่เคยอยู่แต่ห้องแถวบน
ถนนวิชยานนท์ในเชียงใหม่ ใกล้กับ “กาดหลวง”
หรือตลาดวโรรส ผมเดินทางไปกรุงเทพฯ
ได้อยู่บ้านแบบบังกะโล
อยู่แบบไฮโซชนเขากันอยู่
ทำให้ชีวิตในวัยเด็กของผมช่วงนั้น
เกิดความตื่นเต้นอย่างประหลาด
ทั้ง ๆ ที่บรรดาผู้ใหญ่ต่างเครียด
กับนโยบายของรัฐบาลที่สะเทือนขวัญ กำลังใจ
และเสถียรภาพแห่งชีวิตของทุกคนกำลังร้อนระอุ
ไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้รัฐบาล
จะมีประกาศอะไรออกมาบีบคนจีนอีก
ย่าน สีลมยุคนั้นยังไม่พลุกพล่าน
มีคลองตลอดแนวจากศาลาแดงไปถึงบางรัก
มีรถรางวิ่งขนานบนริมฝั่งคลอง
ทุกวันจะได้ยินเสียงระฆัง
รถรางดังแก๊ง ๆ พร้อมกับเสียงครืด ๆ
จากการบดขยี้ของรางเหล็กกับล้อเหล็ก
บางครั้งส่งเสียงแก๊ก ๆ แหลม ๆ
ตอนที่รถสองขบวนสับรางรอหลีก
นั่นคือเสน่ห์ของสีลมในสมัยนั้น

ทุก วันอาทิตย์ คุณตากับคุณยายจะจูงมือผมขึ้นรถราง
จากบางรักไปลงแถวโอเดียน
แล้วเดินลัดเลาะไปนมัสการที่
โบสถ์คริสตจักรวงเวียน 22 กรกฎา
พอเลิกจากโบสถ์ก็ไปหา
อาหารรับประทานกันที่ห้าแยกพลับพลาชัย
มีร้านอาหารที่ส่วนมากเป็นชาวกวางตุ้ง
ร้องสั่งอาหารกันโหวกเหวก ๆ
ขากลับผมเห็นหาบเร่ที่ขายผลไม้ ฝรั่งดอง มันแกว
จำได้ว่าคุณปู่ดึงแขนผมให้ออกห่างจากหาบเร่นั้น
พร้อมกับกระซิบบอก
“หลานเอ๋ย อย่าซื้อกินเลย ตอนนี้อาหาร
กับขนมนอกบ้านทุกอย่างไม่ปลอดภัย...”


เด็กอายุ 5-6 ขวบ ไม่มีวันเข้าใจคำเตือน
ของคุณปู่มารู้ความตอนที่โตแล้ว
คนไทยในยุคนี้คงลืมเลือนกันไปหมดแล้ว
รัฐบาลไทยในยุคนั้นคงอยาก
เจริญรอยตามแนวนโยบายของฮิตเลอร์กับมุสโสลินี
ถึงยังจำได้ก็คงจะจำได้แบบเลือน ๆ
ประวัติศาสตร์ถ้าไม่มีการบิดเบือน
ก็จะต้องบันทึกไว้ว่า
ครั้งหนึ่งในยุคของรัฐบาลไทยเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย
นอกจากจะรังแก Persecute
ชาวจีนในไทยแล้ว ยังออกกฏหมายบังคับ
ให้คนไทยเลิกเคี้ยวหมาก
ออกคำสั่งให้ผู้หญิงไทยออกจากบ้าน
ต้องสวมหมวกแบบแหม่มฝรั่ง
ในยุคนั้นจึงเกิดขบวนการที่
คนไทยรู้จักกันในนามของ “ อั้งยี่”
ขึ้นมาในบ้านเมือง มีการทำร้ายผู้คน
มีการจับตัวเรียกค่าไถ่ มีการเรียกเงินค่าคุ้มครอง
ทำทุกอย่างเพื่อย้อนศรกับคำสั่งของรัฐบาล
เพื่อเยอะเย้ยถ้าถางความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย
แม้แต่กล้วยหอม หรือมันแกว
ยังถูกมือมืดยัดแทงเข็มหมุดหรือสิ่งเจือปนอื่น ๆ ในนั้น
หวังเพียงเพื่อทำให้การซื้อขายระดับล่างชะลอหยุดชะงัก
สร้างความปั่นป่วนให้บ้านเมืองถึงระดับรากหญ้า
เมื่อเศรษฐกิจฝืดเคืองมากขึ้น
ได้เกิดกลุ่มโจรธรรมดาที่แฝงเร้น เป็น “อั้งยี่” ระบาดหนัก
อุดมการณ์เบี่ยงเบน มุ่งแต่สร้างอาชญากรรม
ทางการต้องใช้มาตรการเด็ดขาดในการปราบปรามกว่าจะสงบ

ความผันผวนในชีวิต ทำให้ผมในวัย 7 ขวบ
ต้องระเห็จตามคุณพ่อคุณแม่ไปอยู่ถึงจังหวัดยะลา
เพราะเป็นช่วงเวลาที่สงครามโลกครั้งที่สอง
กำลังดุเดือด กรุงเทพฯ ถูกญี่ปุ่นยึดครอง
ฝูงบินพันธมิตรบินฉวัดเฉวียนโจมตี
ที่ตั้งของทหารญี่ปุ่นในเมืองหลวงกับหัว
เมืองใหญ่ ๆ ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์
ทางทหารกันไม่เว้นแต่ละวัน
ยะลาจึงเป็นจังหวัดที่อยู่ห่างไกล
จากการโจมตี แต่เพียงไม่ถึงสองปี
พวกเราก็ต้องเดินทางจากยะลากลับเชียงใหม่
เนื่องจากคุณพ่อที่เป็นหัวหน้าครอบครัว
ถึงแก่กรรมด้วยโรคมาลาเรีย
จำได้ว่านั่งรถไฟจากจังหวัดยะลามากรุงเทพฯ
ต้องใช้เวลา 3 วัน
จากกรุงเทพฯ ต้องนั่งเรือกลไฟไปขึ้นรถไฟที่พิษณุโลก
และจากพิษณุโลกถึงจะมีขบวนรถไฟแล่นไป
ยังจังหวัดต่าง ๆทางภาคเหนืออีกต่อหนึ่ง

เมื่อพูดถึงขบวนรถไฟในตอนนั้น
อย่าเพิ่งวาดจินตนาการว่าจะเป็นเหมือนรถไฟสมัยนี้
คุณแม่กับผมและน้อง ๆ ต้องนั่งขดตัวกัน
เป็นกลุ่มอยู่มุมหนึ่งของตู้บรรทุกสินค้า
ไม่มีตู้โบกีที่มีเก้าอี้ตั้งฉาก หรือบุหนังเทียม
มีตู้รถปรับอากาศ ให้เรานั่งเหมือนในยุคนี้
ภายในตู้แออัดด้วยผู้คนส่งเสียงล้งเล้ง
ตลอดแข่งขันเสียงการเสียดสีของล้อ
รถไฟกับรางเหล็ก ในท่ามกลางความมืด
บางครั้งมันจะส่งแสงประกายไฟวูบวาบออกมาให้เห็น
เห็นภาพยนตร์ที่เยอรมันส่งพวกยิวขึ้นขบวน
ไปค่ายแกตซ์วิชต์ ก็ยังคิดว่าพวกเราโชคดี
กว่าชาวยิวในสมัยนั้นหลายร้อยเท่า

ขบวนรถไฟต้องแล่นในเวลากลางคืน
เพราะถ้าวิ่งในเวลากลางวันอาจจะตก
เป็นเป้าการโจมตีของฝูงบินพันธมิตร
พอถึงสะพานบ้านดารา
ทุกคนต้องลงจากขบวนรถไฟ
หอบข้าวของจูงลูกหลานเดินข้ามสะพาน
เขาเอาไม้กระดานมาปูทาบลงบนไม้ขนอน
เพื่อปิดบังความสูงให้พ้นไปจากสายตาคนเดิน
แต่ถ้าเหลียวมองไปด้านข้าง ก็จะรู้ตัวอยู่ดีว่า
พวกเรากำลังเดินอยู่บนเหวที่สูงหลายสิบเมตร
ผมแอบเอาก้อนกรวดที่ซ่อนไว้ในกระเป๋า
โยนลงไปด้านล่าง กว่ามันจะตกถึงพื้นเหว
เบื้องล่างต้องใช้เวลาหลายอึดใจ

จากสะพานบ้านดารา ขบวนรถพาพวกเราไปถึงถ้ำขุนตาล
เราต้องหลบตัวอยู่ในนั้นเกือบสองวัน
เพราะมีการโจมตีกันทางอากาศ
อีกทั้งยังมีปัญหากับหัวรถจักร
ต้องรอคันใหม่มาดึงขบวนรถไปให้ถึงเชียงใหม่
อันเป็นจุดหมายปลายทาง ที่เลวร้ายที่สุดคือ
ทุกคนในขบวนรถนั้น ต้องอดอาหารอยู่ถึง 2 วัน
มีชาวบ้านนำเอาผลไม้ กล้วย มะละกอ น้อยหน่า ฯลฯ
มาขาย ก็ถูกแย่งซื้อกันไปหมด
คนที่พกเงินติดตัวมามากก็มีมาก
แต่เงินตราในยามนั้นไม่มีประโยชน์
ไร้ค่าเหมือนเศษกระดาษเพราะถึงมีเงิน
ก็หาซื้อข้าวของและอาหารไม่ได้

จำได้ว่าข้าวห่อในใบตองกับ
ซุปเป็ดตุ๋นมะนาวดองใส่ในชามอ่างกะละมัง
กับช้อนสังกะสีที่อ่อนยวบเวลาใช้นิ้วดัด
ที่อดีตลูกจ้างคนหนึ่งของคุณพ่อหอบ
เอามาให้พวกเราในตู้รถบรรทุกรถไฟ
เป็นอาหารมื้อที่อร่อยวิเศษสุดของคุณแม่ ผมและน้อง ๆ
ผมไม่เคยลืมรสชาติของอาหารที่ได้รับในยามทุกข์ยากมื้อนั้น
และ การเดินทางอันแสนจะยาวนานของผมในครั้งนั้น
ทำให้การเดินทางของผมในเวลาต่อ ๆ
มากลายเป็นสิ่งที่ผมสามารถแยกแยะว่า
สวรรค์กับนรก มันแตกต่างกันอย่างไร

ประวัตินักเขียน
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เจริญ วรรธนะสิน
ได้รับทุนพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.๙
ไปศึกษาและสำเร็จวิชาการบริหารธุรกิจ
จากวิทยาลัยการพาณิชย์ ซิตี ออฟ ลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ
รับราชการเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษา
เป็นนักวิชาการ และนักแบดมินตันทีมชาติ ฯลฯ ทางด้านครอบครัว
ได้รับเลือกเป็นครอบครัวประชาธิปไตยจากรัฐบาลในปี พ.ศ. 2539
ปัจจุบัน เป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัทซี.เอส.เอ มาร์เก็ตติ้ง
อินเตอร์เนชั่นแนล คอนซัลติ้ง จำกัด
และ บริษัทอื่น ๆ อีกมากแห่ง และ
เป็นรองประธานสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติไอบีเอฟ

ผลงานเขียนที่โดดเด่นคือ
การแปลและตีความงานของ “นอสตราดามุส”
เขียนบทและบรรยายภาพยนต์ “สามก๊ก ฉบับนักบริหาร”
เขียนหนังสือ “ฤาจะถึงกาลสิ้นฤดู”
เขียน “Badminton-A Simple Way” เป็นภาษาอังกฤษ
ได้รับการแปลเป็นภาษาสเปน อิตาเลียน รัสเซีย ฯลฯ
เขียน “มีลูกเก่ง มีลูกดัง”
และแปล “The Firm”
หรือ “องค์การซ่อนเงื่อน” ของจอห์น กริแซม