Custom Search

Sep 12, 2009

พระพุทธจริยาวัตร60ปาง ปางถวายเนตร


คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ

เสฐียรพงษ์ วรรณปก

มติชน

วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2552



พระพุทธรูปปางนี้ไม่ค่อยเห็นบ่อยนัก
แต่ผู้ที่สนใจในเรื่องพระพุทธรูปประจำวันคงจะทราบ
และบางท่านก็คงจะนำไปเป็นพระบูชาประจำวันเกิด
เพราะถือกันว่าเป็นพระประจำวันอาทิตย์

พระพุทธรูปปางถวายเนตร ท่าทรงยืน
ลืมพระเนตรทั้งสองเต็มที่ ทอดพระเนตรต้นโพธิ์
พระหัตถ์ทั้งสองข้างห้อยลงมา ประสานกันหน้าพระเพลา
พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย ในอิริยาบถสำรวม

ถามว่า พระพุทธองค์ทรงทำอะไร ตอบแบบสามัญก็ว่า
ทรงยืนจ้องต้นโพธิ์ ถามต่อไปว่า ทรงจ้องทำไม
นั่นสิครับ น่าจะมีเหตุผลอธิบาย เหตุว่าอย่างไร
ผมยังไม่เคยอ่านที่ไหน จึงจำต้องเดา
ก่อนจะเดาก็ขอเวลานอกสักเล็กน้อย

เวลา นอกที่ขอมาก็เพื่อตั้งข้อสังเกตว่า ในพระไตรปิฎก
พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลา 4 สัปดาห์ หลังจากตรัสรู้
ในการเสวยวิมุติสุขใต้ต้นโพธิ์ และต้นไม้อื่นๆ
ในปริมณฑล 4 สัปดาห์ก็ 28 วัน แต่ในคัมภีร์รุ่นหลัง
ท่านเติมเข้ามาอีก 3 สัปดาห์ รวมเป็น 7 สัปดาห์ (49 วัน)

สัปดาห์ที่เพิ่มมาก็คือ สัปดาห์ที่ 2 ทรงจ้องต้นโพธิ์
สัปดาห์ที่ 3 ทรงเสด็จเดินจงกรม สัปดาห์ที่ 4
ทรงประทับเรือนแก้ว พิจารณาอภิธรรม

ตั้งข้อสังเกตไว้แค่นี้ก่อน แล้วค่อยหาเหตุผลมาอธิบายกันต่อไป
หาไม่ได้ก็ใช้วิธีสันนิษฐาน หรือเดาเอาแหละครับ ไม่มีวิธีอื่น

ตำนาน ท่านเล่าเรื่องปางถวายเนตรว่า หลังจากตรัสรู้แล้ว
ในสัปดาห์ที่ 2 พระพุทธองค์เสด็จออกจากบริเวณใต้ต้นโพธิ์ ไปประทับยืน
(หรือเรียกให้ถูก "ทรงยืน" เพราะ "ประทับ" แปลว่านั่ง ประทับยืน
ก็ต้องแปลว่า นั่งยืน นั่งยืนทำอย่างไรไม่เคยเห็น)
ณ ทางทิศอีสานของต้นโพธิ์
จ้องพระเนตรดูต้นโพธิ์โดยไม่กะพริบ ตลอดเวลา 7 วัน

7 วันเต็มๆ เชียวนะครับ สถานที่ทรงยืนจ้องต้นโพธิ์ตลอด 7 วันนี้
เรียกชื่อว่า อนิมิสสเจดีย์ แปลว่า เจดีย์ที่สร้าง
ณ สถานที่พระพุทธเจ้าไม่กะพริบพระเนตร

ผู้ แต่งพุทธประวัติก็ดี แต่งหนังสือตำนานพระพุทธรูปปางต่างๆ ก็ดี
มิได้บอกเหตุผลว่า ทำไมพระพุทธองค์จึงทรงจ้องต้นโพธิ์ตลอด 7 วัน
ถ้าจะเดาก็ต้องเดาว่าพระองค์ทรงกระทำเช่นนี้
เพื่อเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง

ดังที่ทราบอยู่แล้วว่า พระจริยาวัตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์
เพื่อความสุขของชาวโลกทั้งมวล การกระทำใดๆ
ย่อมเป็นไปเพื่อการนี้ทั้งนั้น นี่คือหลักการใหญ่

ต้นโพธิ์ เป็นต้นไม้ที่พระพุทธองค์ทรงอาศัยนั่งใต้โคนต้น
บำเพ็ญวิปัสสนาตลอดทั้งคืน จนได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ
ความปรารถนาที่ทรงตั้งไว้ตลอดกาลเวลาอันยาวนาน
ได้บรรลุผลสำเร็จ ณ รุ่งเช้าของวันเพ็ญเดือนหก และ ณ โคนต้นโพธิ์ต้นนี้

ต้นโพธิ์ต้นนี้ จึงมีบุญคุณต่อพระพุทธองค์
(นี่พูดโดยภาษาสามัญชนนะครับ)
พระพุทธองค์ทรงต้องการจะแสดงความขอบคุณต่อต้นโพธิ์
จึงทรงจ้องต้นโพธิ์ด้วยความซาบซึ้งและขอบคุณ

การรู้บุญคุณของผู้ที่ มีบุญคุณ เป็นคุณธรรมที่ดีงามอย่างหนึ่ง
เรียกว่า กตัญญู (เรียกให้ถูกว่า กตัญญุตา)
และเมื่อรู้ในบุญคุณนั้นแล้วก็ตอบแทน เรียกว่า กตเวที (หรือ กตเวทิตา)

ขอบเขตของกตัญญูกตเวทีมิใช่อยู่เพียงบุคคล
หากรวมถึงสัตว์ สิ่งของด้วย รู้คุณบุคคลที่มีคุณ
ก็เป็นกตัญญู รู้คุณต่อสัตว์ที่มีคุณ มีประโยชน์
ก็เป็นกตัญญู รู้คุณหรือรู้ค่าของสภาพแวดล้อม
เช่น ต้นไม้ ภูเขา ลำธาร ฯลฯ ก็เป็นกตัญญู ในเรื่องกตเวทีก็เช่นเดียวกัน

การที่พระพุทธเจ้าทรงจ้องต้นโพธิ์นี้
จะตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ (หรือได้ แต่ตอนนี้ผมยังตีความไม่ออก)
นอกจากเพื่อขอบคุณหรือแสดงความกตัญญูกตเวที
ต่อต้นไม้ที่มีบุญคุณต่อพระองค์ นั้นแล

มองให้ลึก พระพุทธองค์ไม่ได้ทำอย่างนี้เพื่อพระองค์เอง
หากทรงทำให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนในภายหลัง
อนุชนในภายหลังจะได้มีจิตสำนึกในเรื่องนี้
ใครหรืออะไรที่มีบุญคุณต่อตนเองอย่าได้ละเลย
ให้รู้สำนึกในบุญคุณนั้น และตอบแทนเท่าที่จะทำได้

คุณธรรมสองข้อนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็น "พื้นฐาน" ของคนดี
คนดีจะต้องเริ่มจากพื้นฐานนี้

ภูมิ เว สปฺปุริสานํ กตญฺญูกตเวทิตา

ความรู้คุณ และตอบแทนคุณ เป็นพื้นฐานของคนดี

พระ พุทธจริยาวัตรนี้เอง ทำให้ชาวพุทธไทย
ถือเอาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต
จนกล่าวได้ว่าคนไทยเป็นคนมีคุณธรรมข้อกตัญญูกตเวทีสูงมาก
ตั้งแต่โบราณกาลผู้เฒ่าผู้แก่พร่ำสอนลูกหลานว่า
ให้รู้จักบุญคุณคน ใครให้ข้าวให้น้ำกินแม้ครั้งเดียวก็อย่าลืม
หรือแม้ไปนั่งหลบร้อนใต้ต้นไม้ใดแม้เพียงชั่วครู่
ก็ให้รู้บุญคุณ อย่าได้เด็ดกิ่งใบ หรือทำลายต้นไม้เป็นอันขาด
หาไม่จะถูกตราหน้าว่า เนรคุณ

พูด ถึงการไม่รู้บุญคุณ นึกถึงการกระทำอย่างหนึ่งในสังคมไทย
คือ โรงเรียนที่อาศัยที่วัดอยู่ และได้รับการอนุเคราะห์จากวัดนั้นๆ ด้วย
แต่ก่อนตั้งชื่อโรงเรียนมีคำว่า "วัด" อยู่ด้วย
เช่น โรงเรียนวัดโคกขี้แร้ง (สมมุติ)
ต่อมาได้เอาคำว่าวัดออก เหลือแต่ "โรงเรียนโคกขี้แร้ง"
นี้คือตัวอย่างของการไม่รู้บุญคุณ
ใครเป็นต้นเหตุให้เกิดการกระทำที่ไม่รู้บุญคุณ
นี้สืบเอาก็แล้วกัน

เพื่อนผมคนหนึ่งพูดทีตลกว่า ถึงจะเอาคำว่าวัดออกก็ดูดี
แต่มีอยู่โรงเรียนหนึ่งห้ามเอาออกเด็ดขาด
เอาออกแล้วจะเสียหายใหญ่โตทีเดียว

เมื่อถามว่า โรงเรียนอะไรหรือ

"โรงเรียนวัดสังเวช" ฮิฮิ


หน้า 6