Custom Search

Sep 19, 2009

พระพุทธจริยาวัตร60ปาง ปางจงกรมแก้ว


คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ

เสฐียรพงษ์ วรรณปก

มติชน

วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552


ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก เห็นภาพวาดลายเส้น
เป็นพระพุทธรูปทรงยืน
พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมา
ประสานอยู่หน้าพระเพลา แสดงอาการก้าวเดินจงกรม
พระเนตรทอดต่ำลงมา อยู่
ในอาการสำรวม
เห็นปั๊บก็รู้ว่า "กำลังเดิน"

ความเป็นมาดังที่กล่าวไว้ในตอนก่อน
(ตอนว่าด้วยปางถวายเนตร)
พระอรรถกถาจารย์เพิ่มเข้ามาภายหลัง
เพราะในพระไตรปิฎกกล่าวว่า หลังตรัสรู้
พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุติสุขใต้ต้นโพธิ์
และต้นไม้อื่นในปริมณฑลเพียง 4 สัปดาห์
แต่อรรถกถาเพิ่มเข้ามาอีก 3 สัปดาห์
รวมเป็น 7 สัปดาห์
เหตุที่เพิ่มนั้นเราไม่ทราบ
แต่พอจะเดาได้บางเรื่องบางประเด็น (จะกล่าวถึงภายหลัง)
ก่อนอื่นขอเล่าตามที่ท่านรจนาไว้ก่อน
ใน สัปดาห์ที่ 3 หลังตรัสรู้
พระพุทธเจ้าทรงถอยจากจุดที่ทรงยืนจ้องต้นพระศรีมหาโพธิ์
เข้ามาอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างต้นพระศรีมหาโพธิ์กับอนิมิสสเจดีย์
ทรงเดินจงกรมไปมาอยู่ตลอดเจ็ดวัน
จงกรม แปลตามศัพท์ว่า
เดินธรรมดานี่แหละครับ แต่นำมาใช้เรียกการเดินช้
าๆ
และเดินกลับไปกลับมาด้วย
ถามว่าทำไมต้องเดินกลับไปกลับมา
ตอบง่าย เพราะในการฝึกสมาธิ
พระท่านจะทำสถานที่สำหรับเดินจงกรมเป็นพิเศษ
บางแห่งสร้างเป็นแท่น หรือแพลตฟอร์มเตี้ยๆ
จึงต้องกำหนดพื้นที่ที่กว้างยาวพอเหมาะแก่การนี้
การเดินจะต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร
เพื่อให้จิตเป็นสมาธิ จึงต้องเดินกลับไปกลับมาหลายเที่ยว

จุดประสงค์ของการเดินจงกรมในกรณี
ของพระพุทธองค์นั้น
เข้าใจว่าเพื่อทรงเปลี่ยนพระอิริยาบถเท่านั้นเอง
สังเกตดูพระพุทธองค์ประทับเสียส่วนมาก
ไม่ได้ทรงพระดำเนินเลย ใต้ต้นโพธิ์ก็นั่ง ใต้ต้นไทรก็นั่ง
ใต้ต้นเกดก็นั่ง ใต้ต้นจิกก็นั่ง แต่ละแห่งก็นั่ง "มาราธอน" ถึง 7 วัน
พูดด้วยภาษาสามัญก็ว่าคงต้องเมื่อยขบแหละครับ
เพิ่งจะมียืนและเดินก็ตอนนี้เอง และถ้าจะคิดลึกไปกว่านี้
การที่พระพุทธองค์ทรงทำอย่างนี้
ก็เท่ากับบอกนัยสำคัญดังนี้

1.เน้น ย้ำเรื่อง "สายกลาง" จริงอยู่
สายกลางที่ว่าคือ ข้อปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์แปด
เพื่อพ้นทุกข์ แต่ในความหมายที่ประยุกต์มาเพื่อใช้กับกรณีอื่น
คือ "ความพอดี" ถ้าหากเกณฑ์ให้พระพุทธองค์ประทับอย่างเดียว
ไม่มีการพักผ่อนพระอิริยาบถ หรือเปลี่ยนพระอิริยาบถเลย
ก็เท่ากับไม่เน้น "ความพอดี"
กลายเป็นสนับสนุนการกระทำที่
"ตึง" เกินไป ไม่รู้จัก "พักผ่อน" เสียบ้าง

2. การพักผ่อนที่ว่านี้ คือ การเปลี่ยนอิริยาบถ
มิใช่การนอนหลับ นั่งนานๆ เกิดความเมื่อยขบ
ลุกมาเดินเสียบ้าง แต่ในการเดินนั้นก็เดินอย่างสำรวม
มีสติกำกับทุกย่างก้าว
การทำเช่นนี้เป็นการ "พักผ่อนที่มิได้พักผ่อน"
หรือการ "ไม่พักผ่อนที่เป็นการพักผ่อน"

ผมว่านี้คือ "รหัสนัย" ที่พึงไขให้แจ้งชัด
พระพุทธศาสนาสอนให้เห็นความสำคัญของกาลเวลา
ไม่พึงปล่อยกาลเวลาให้ล่วงเลยไปเปล่า
โดยมิได้ทำอะไรให้เกิดประโยชน์
หายใจเข้าออกทุกวินาที
ให้ถือเอาประโยชน์จากการหายใจให้ได้
ทุกการเคลื่อนไหว ทุกอิริยาบถ
ควรจะเป็นเครื่องมือ หรือสื่อแห่งการปฏิบัติธรรม

พระพุทธองค์ทรงเดินจงกรมไปมา
หลังจากยืนจ้องต้นโพธิ์อยู่เจ็ดวัน
บางท่านอาจคิดว่าทรงทรมานพระองค์เอง
ทั้งๆ ที่ทรงเลิกละวิธีอย่างนั้นมาแล้ว
แต่แท้ที่จริง พระองค์ทรง "พักผ่อน"
แต่พักผ่อนด้วยการ "ทำงาน" อย่างอื่น
คือ เปลี่ยนพระอิริยาบถ
เคย
ถามนักปราชญ์ท่านหนึ่ง
ผู้ซึ่งตลอดชีวิตของท่านทำแต่งาน
ว่าท่านไม่พักผ่อนบ้างเลยหรือ
ท่านบอกว่า พักผ่อน ไม่พักก็แย่สิ
ท่านเปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนงานทำเป็นระยะ
เช่น เขียนหนังสือวิชาการหนักสมองไปสักระยะหนึ่ง
สมองล้าเข้า ก็หันมาเขียนเรื่องเบาสมอง
ท่านว่านี้คือการพักผ่อน "พักโดยไม่พัก"
ท่านว่าอย่างนั้น
ผมว่าท่านคงได้ "เคล็ดลับ"
จากพุทธจริยาวัตรตอนนี้นี่เอง ทั้งหมดนี้
ผมเดาเอาทั้งนั้นครับ ไม่เชื่อก็อย่าดูหมิ่น

เพราะ ฉะนั้น ในการฝึกสมาธิวิปัสสนา
นอกจากจะให้นั่งแล้ว ยังให้เดินจงกรมด้วย
ถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งการฝึกปฏิบัติ
(หลวงพ่อเทียน วัดสนามใน ท่านให้ศิษย์ "วิ่งจงกรม"
แทนเดินช้าๆ ก็ถือว่าเป็นการ "จงกรม" เหมือนกัน)

นั่งจน เหมื่อยแล้ว ลุกเดินบ้าง อย่างน้อยก็เป็นการพักผ่อน
ยืดเส้นยืดสาย แต่ในการพักผ่อนนั้น
ได้ทำงานไปในตัวอย่างต่อเนื่องด้วย
จึงไม่ต้องแปลกใจที่ทำไมบางท่านทำสมาธิกันได้ทน
ตลอดทั้งวันก็ไม่เหนื่อย
ก็จะเหนื่อยอะไรเล่า
ได้พักผ่อนอยู่ในตัวนี่ครับ

หน้า 6