Custom Search

Jul 31, 2009

เดอะ ไอดอล (THE IDOL) คนบันดาลใจ


สันติ เศวตวิมล
16/07/2552


ในขณะที่..ผมเบื่อหน่าย รายการเน่า..เน่า ทางโทรทัศน์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีที่มีแต่รายการ
ตลกซ้ำซาก
ประกวดร้องเพลงซ้ำ..ซ้ำ
ตลอดจนภาพยนตร์โทรทัศน์ ที่ดัดจริตเรียกผิด..ผิดเป็นละครโทรทัศน์
รวมไปทั้งรายการเกมโชว์ ที่ดียิ่งดูแล้วยิ่งโง่
ก็มีกัลยาณมิตรคนหนึ่งแนะนำผมว่า
“ ดูรายการไหม เดอะ ไอดอล คนบันดาลใจ
ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ ตอนห้าทุ่มคืนวันอาทิตย์แล้วหรือยัง ? ”


ยังครับ..เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมยังไม่ได้ดู
เพราะคืนนั้นตรงกับวันคล้ายวันเกิดของภรรยา ผมต้องมีหน้าที่ดู
และก็แลเธอเป็นพิเศษกว่าวันธรรมดา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือตอนเรียกเด็กมาเช็คบิลเก็บกะตังค์ ผมเลยไม่รู้ว่า

เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎา รายการใหม่ที่ชื่อว่า “เดอะ ไอดอล”
(THE IDOL) หรือมีชื่อไทยขยายความว่า

“ ค น บั น ด า ล ใ จ ”
เป็นรายการบันดาลใจ หรือดลใจให้คนดูอย่างไร

แต่สำหรับคนที่แนะนำผม เขาอธิบายว่า
รายการที่ว่านี้ บริษัทเดย์ โพเอทส์ จำกัด ผู้จัดทำโดยแรงบันดาลใจ

จากการที่ประสบความสำเร็จที่ออกนิตยสารหลายเล่มที่อยู่ในเครือ อันได้แก่
นิตยสารอะ เดย์ (A DAY)

นิตยสารแฮมเบอร์เกอร์ (HAMBERGER)
นิตยสารน๊อค น๊อค (KNOCK KNOCK)
รวมทั้งการทำสำนักพิมพ์ “อะ บุ๊ค (A BOOK)
และนิตยสารอะ เดย์ บูลลิติน (A DAY BULLETIN)”

บรรดานิตยสารของงานของสำนักพิมพ์ที่ว่านี้ ประสบความสำเร็จอย่างมาก..มาก
ก็เพราะนำเรื่องราวของบุคคลที่เป็นพลังขับเคลื่อนในสังคมไทย
แต่ละคนล้วนแล้วแต่เป็นทำงานเพื่อสร้างความฝันให้เป็นจริง
โดยจะต้องผ่านอุปสรรคมากมาย
แต่ละคนก็แตกต่างกันไป
แต่การดำเนินชีวิตของบุคคลเหล่านี้
เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่มีความกล้าหาญ สร้างสรรค์ สิ่งดีให้กับตัวเอง

ให้กับสังคมด้วยความสำเร็จที่ว่านี้ บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด
จึงเพิ่มงานพิมพ์มาทำรายการโทรทัศน์

แต่เป็นนำเสนอในรูปแบบใหม่ ที่คนดูจะเข้าใจได้ง่ายและเพลิดเพลินเจริญใจตาม
คนที่นำมาออกรายการล้วนแต่เป็นคนที่เรียกได้ว่าเป็น
“คนที่ชื่นชมนิยมกัน”

อย่างที่มีคำภาษาอังกฤษเรียกสั้น..สั้นว่า “ไอดอล” (IDOL)

ผมฟังคำบอกเล่าของกัลยาณมิตรที่ว่า แล้วก็สนใจ
เพราะชีวิตประจำวันของผมมันแสนจะวุ่นวาย
ไม่ค่อยได้รู้ว่าใครเป็นใครในสังคม
เฉพาะอย่างยิ่งใครบ้างที่ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจการทำงาน
และการมีชีวิตอยู่ ผมขอดูรายชื่อ “ไอดอล” ที่จะทยอยออกรายการนี้

คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี
“คุณธงไชย แมคอินไตย์” นักร้องซุปเปอร์สตาร์
“คุณอรพรรณ พานทอง” ผู้บริหารสื่อผู้ทรงอิทธิพล
“คุณโจอี้ บอย” แร็พเปอร์หนุ่มที่จุดกระแสฮิปฮอปคนแรก
“คุณยืนยง โอภากุล ... หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ...

คุณยุทธเลิศ ลิปปภาค ...
คุณพลอย จริยะเวช
คุณโชค บูลกุล .. คุณบัณทิต อึ้งรังษี
และคุณ .. คุณ .. คุณและคุณ อื่นอื่น อีกมากมาย
ผมเห็นรายชื่อว่ากันเป็นสิบ..เป็นร้อย
ด้วยแนวคิดการนำเสนอรายการโทรทัศน์แบบใหม่
เพื่อให้คนดูได้เกิดแรงบันดาลใจจากคนที่ประสบความสำเร็จในสาขาวิชาต่างๆ
ทำให้ผมรู้นึกถึงตัวเอง เมื่อสมัยค้นหาตัวเองว่า จะเป็นอะไรดี จะทำอะไรดี


ตอนนั้นผมอยากจะเป็นนักเขียน นักพูดและเศรษฐี

ผมก็มีไอดอลของตัวเองเช่นกันท่านชื่อ “เดล คาร์เนกี้” มหาเศรษฐีอเมริกัน
ผมอ่านหนังสือที่ท่านเขียนทุกเล่ม
แต่ในที่สุดผมก็พบข้อเขียนเจ๋ง !! ที่สุดของท่าน
“เดล คาร์เนกี้” ท่านเขียนประโยคสั้น..สั้นไว้ว่า
“ไอดอลของผมหรือครับ ไม่ใช่ตัวผมเอง

แต่ผมจำมาจากโสเครตีส
กวาดมาจากเชสเตอร์ฟิลด์ ขโมยมาจากพระเยซู
แล้วผมเอามาใส่สมองตัวเอง
ถ้าท่านไม่มีไอดอลที่ท่านชอบ ท่านจะทำอะไรไม่ได้แน่”


...ห้าทุ่มครึ่ง คืนวันอาทิตย์นี้ที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 โมเดิร์นไนน์
ต่อให้ภรรยาผมจัดงานฉลองคล้ายวันเกิดใหม่
...ผมก็ไม่ไปร่วมงาน จะอยู่บ้านเปิดดูรายการ “เดอะ ไอดอล”

เธอจะทำไม ?...ก็ภรรยาผมคงจะไม่จัดฉลองวันเกิดซ้ำสองติดต่อกันสองสัปดาห์
เห็นเธอว่า อยากจะดูรายการนี้เหมือนกัน..ครับ !!






Jul 29, 2009

ตายอย่างมีศักดิ์ศรี

วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552






การตายของ Sir Edward Downes วาทยกรมีชื่อเสียงคนหนึ่งของอังกฤษและภรรยา Lady Joan เมื่อเร็วๆ นี้ในสวิตเซอร์แลนด์ ท่ามกลางการเฝ้าดูของลูกชายและลูกสาว ปลุกให้มีการถกเถียงกันในเรื่องความตายขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในโลก Sir Edward มีอายุ 85 ปี ตาบอดเกือบสนิทและหูแทบไม่ได้ยิน ส่วน Lady Joan อายุ 75 ปี อยู่ในขั้นสุดท้ายของโรคมะเร็ง ทั้งสองจับมือกันและดื่มยากล่อมประสาทอย่างแรงเพื่อให้ตายตามความปรารถนา หรือที่เรียกว่า euthanasia ชนิด voluntary (สมัครใจ) euthanasia มีรากมาจากภาษากรีก คือ eu หมายถึง good, well ส่วน thanatos หมายถึง death รวมกันจึงหมายถึง good death หรือวิธีการทำให้ชีวิตจบลงอย่างไม่เจ็บปวด Sir Edward และ Lady Joan ได้แสดงความปรารถนาที่จะจากโลกนี้ไป แต่ไม่อาจทำในอังกฤษได้เพราะคนรู้เห็นอาจถูกตั้งข้อหาว่าร่วมประกอบ อาชญากรรม จึงเดินทางไปยังคลีนิคฆ่าตัวตายชื่อ Dignitas ในเมืองซูริค ซึ่งมีคนจากทั่วโลกประมาณ 100 คน ในแต่ละปีเดินทางไป และจ่ายเงินคนละ 9,300 เหรียญ (350,000 บาท) สำหรับค่าความช่วยเหลือให้ตายสมใจ กฎ หมายสวิตเซอร์แลนด์ไม่เอาผิดผู้ช่วยให้เกิดการฆ่าตัวตายตราบที่ผู้ช่วยมิได้ ผลประโยชน์จากการตายนั้น ส่วนการฆ่าตัวตายนั้นในโลกตะวันตกส่วนใหญ่ ถือว่าไม่ใช่คดีอาญา หากแต่ผิดศีลธรรมตามคำสอนของทุกศาสนาในโลก นับถึงปัจจุบัน euthanasia หรือการฆ่าเพื่อลดความเจ็บปวด ทั้งสมัครใจและไม่สมัครใจ(อยู่ในสภาพที่บุคคลอื่นเห็นว่าควรจบชีวิตลง) ในบางลักษณะถูกต้องตามกฎหมายในเบลเยียม ลักซัมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ รัฐโอเรกอน รัฐวอชิงตันในสหรัฐอเมริกา และประเทศไทย (ดูพระราชบัญญัติสาธารณสุขแห่งชาติ 2550 ซึ่งมีน้อยคนรู้และหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูด) euthanasia อาจกระทำในรูปแบบของ passive หรือ non-active หรือ active รูปแบบของ passive euthanasia นั้นกระทำกันอยู่ทุกวันในโรงพยาบาล เช่น เลิกให้ยาฆ่าเชื้อ หรือเลิก chemotherapy สำหรับคนป่วยโรคมะเร็ง หรือเลิกยาลดการปวด ฯลฯ ซึ่งรู้ว่าจะนำไปสู่การเสียชีวิต non-active euthanasia ได้แก่ การถอดการใช้เครื่องมือสนับสนุนการมีชีวิต เช่น เครื่องช่วยหายใจหรือเครื่องมือสนับสนุนชีวิตอื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมากและอื้อฉาวที่สุดว่าจะตัดสินใจ อย่างไร ใครเป็นคนตัดสินใจ เคยมีคดี Quinlan ในสหรัฐอเมริกาในยุคทศวรรษ 1970 ที่พ่อแม่ขอให้หมอถอดเครื่องช่วยหายใจออกเพราะอยู่ในสภาพ "เป็นผัก" (persistent vegetative state) และชนะคดีในศาล เมื่อถอดออกเธอก็มีชีวิตอยู่ต่อมาถึง 9 ปี ประเภทสุดท้ายของ euthanasia คือ active ซึ่งก็คือกรณีของ Sir Edward และ Lady Joan ซึ่งเป็นเรื่องของการมีผู้ช่วยทำให้ตนเองตาย (assisted suicide) ส่วนการฆ่าตัวตายนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปตามที่เกิดขึ้นกันอยู่ทุกวัน ประเด็น ของกฎหมายอังกฤษในเรื่อง euthanasia แบบตั้งใจหรือ assisted suicide อยู่ตรงที่ว่าผู้รู้เห็นและผู้ร่วมมือด้วย เช่น ลูก หรือญาติ ต้องรับโทษในคดีอาญาร่วมฆ่าคนตายหรือไม่ ตำรวจอังกฤษได้ไต่สวนคดีเช่นนี้จำนวนมากและไม่เคยส่งฟ้องใคร ถึงแม้จะร่วม เดินทางไปด้วยก็ตาม เสมือนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ รัฐสภาอังกฤษพยายามออกกฎหมายเพื่อให้บุคคลผู้รู้เห็นและติดตามเดินทางไปด้วย เหล่านี้ได้รับการยกเว้นจากการเป็นผู้ร่วมกระทำคดีอาญาอย่างชัดแจ้งเสีย แต่กฎหมายไม่ผ่านสภาขุนนาง (สภาสูง) มีผู้เสนอว่าถ้าปรารถนาจะให้ เกิด assisted suicide เขาก็ควรกระทำได้โดยประกาศว่าไม่ได้ถูกกดดันให้จบสิ้นชีวิตตนเองลง มีหมอ 2 คนยืนยันว่ามีสติสัมปชัญญะและป่วยในขั้นถึงตายแน่นอน จากนั้นก็ให้ระยะเวลาสักพักเพื่อไม่ให้เปลี่ยนใจ แล้วจึงให้มีผู้ช่วยทำให้ตายอย่างไม่เจ็บปวด ข้อถกเถียงเรื่อง euthanasia ไม่ว่าสมัครใจหรือไม่สมัครใจ มีมานานแล้วทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในปี 1828 มีการออกกฎหมายห้าม euthanasia ในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา แต่หลังสงครามกลางเมืองในทศวรรษ 1860 หมอจำนวนหนึ่งและประชาชนจำนวนไม่น้อยเริ่มคล้อยตาม เรื่อง euthanasia แบบสมัครใจจนเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเป็นลำดับ แต่ถึงกระนั้นก็ตามก็มีกฎหมายอนุญาตในไม่กี่ประเทศในโลกในปัจจุบัน ใน ปี 1995 กฎหมายสำคัญเกี่ยวกับ euthanasia อีกซีกหนึ่งของโลกก็ผ่านสภาออกใช้ใน Northern Territory (ดินแดนทางเหนือที่ยังไม่ได้เป็นรัฐ) ของออสเตรเลีย มีคนไข้ 4 คน หาประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ อย่างไรก็ดี อีก 2 ปีต่อมา Federal Parliament ของประเทศก็ให้ยกเลิกกฎหมายนี้ กฎหมายลักษณะเดียวกันมาเกิดแทนใน ยุโรป เช่น ในปี 2002 เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียมก็ออกกฎหมายผ่อนปรน ให้หมอผู้ช่วยให้เกิดการฆ่าตัวตายไม่มีโทษทาง อาญา สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ออกกฎหมายไม่เอาผิดหมอที่ช่วยให้เกิดการสิ้น ชีวิตตามความประสงค์ของคนไข้ตราบที่หมอไม่ได้ประโยชน์ตั้งแต่ ค.ศ.1937 ประชาชนในประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของโลกยังตะขิดตะขวงใจ ในเรื่อง euthanasia แม้แต่ในกรณีสมัครใจด้วยเหตุผล (ก) จะทำให้มาตรฐานการรักษาพยาบาลของบุคลากรทางการแพทย์ ลดต่ำลงโดยเฉพาะแพทย์ เนื่องจากถึงรักษาไม่ดีเต็มที่ ในที่สุดคนไข้ก็สมัครใจตายไปเองอย่างไม่ก่อ ปัญหามากมาย ซึ่งในกรณีปกติแพทย์ต้องรักษาอย่างสุดชีวิตจนนาทีสุดท้าย ดังนั้น จึงอาจตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่มากกว่า (ข) กลุ่มศาสนาบอกว่าเป็นสิ่งผิดศีลธรรมและรับไม่ได้ euthanasia ก็คือฆาตกรรม ถึงแม้สมัครใจก็คือการฆ่าตัวตายชนิดหนึ่งที่ทางศาสนารับไม่ได้ (ค) การตัดสินใจว่าจะยอมให้ชีวิตของตนเองจบลงเป็นของคนไข้ ภายใต้ความมีสติสัมปชัญญะ การประเมินว่าผู้ป่วยอยู่ในสภาพนี้หรือไม่ เป็นเรื่องยากโดยเฉพาะในยามที่ ป่วยไข้ (ง) คนไข้อาจถูกกดดันให้เกิด euthanasia แบบสมัครใจ เนื่องจากเกรงภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับครอบครัว และโรงพยาบาลเองอาจมีส่วนกดดันคนไข้เพื่อประโยชน์ด้านธุรกิจของตน euthanasia ทั้งสองลักษณะยังไม่ไปไหนในโลกปัจจุบัน ถึงแม้ว่ามีสถิติชัดเจนว่าในเวลาอัน ใกล้โลกจะเผชิญกับสภาวะ "คนแก่ล้นโลก" ก็ตาม ในเวลาจากนี้ไป 40 ปี ประเทศพัฒนาแล้วจะ มีประชาชนอายุสูงกว่า 60 ปีถึงหนึ่งในสามประเทศกำลังพัฒนา จะมีสัดส่วนนี้ร้อยละ 20 สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีประชากรวัย 60 ปีขึ้นไปอยู่ร้อยละ 12 ในเวลาอีก 25 ปี (พ.ศ.2578)สัดส่วนนี้จะพุ่งขึ้นไปถึงร้อยละ 25 โลกต้อง ตัดสินใจเร็วๆ ว่าจะทำอย่างไรกับ euthanasia ทั้ง 2 ลักษณะมีคนไม่น้อยปรารถนาจะตายอย่างมีศักดิ์ศรี ในลักษณะที่ตนเองต้องการ ไม่ต้องการตายแบบมีสายท่อระโยงระยาง รอบตัวแถมมีหน้ากากออกซิเจนปิดหน้าปิด จมูก และถึงอย่างไรอีกไม่นานก็ตายแน่ ลูกหลานก็ไม่ต้องการตัดสินใจที่ลำบาก ถ้ามีข้อกฎหมายอนุญาต euthanasia แบบสมัครใจอย่างชนิดระบุไว้ล่วงหน้า ทุกคนก็จะ win-win

หน้า 6

นูโว : NUVO


Related : Joe+J

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย



นูโว
เป็นวงดนตรีเล่นตามดิสโก้คลับโดยการรวมตัวของ
โจ จิรายุส
และ ก้อง สหรัถ
มารู้จักกับ จอห์น รัตนเวโรจน์
เต๋อ
สุ และ ใหม่ ได้ตั้งวงขึ้น ใช้ชื่อว่า วงไฮสกูล

เมื่อมีชื่อเสียงขึ้นมาแล้วได้เข้ามา
ที่บริษัทแกรมมี่เมื่อปี 2531

ชุดแรก เป็นอย่างงี้ตั้งแต่เกิดเลย
(2531)




ชุดต่อมา
บุญคุณปูดำ (2533)







สุด สุดไปเลย...ซิ (2534)











ออกซิเจน (O2) (2535)











Nouveau (2547)



และ Now 2.0 (2551)
โดยอัลบั้มชุดล่าสุดได้มาสังกัดค่าย โซนี่ บีเอ็มจี

ถ้าไม่นับอัลบั้มที่ออกในนามนูโวศิลปินในวง
ยังมีผลงานอื่นๆที่แยกตัวออกมาอีกมากมาย
- จอห์น นูโว เคยร้องเพลงประกอบละคร
เรื่องสนทนาประสาจน
เพลงชื่อรอหน่อยแล้วกัน
- โจ นูโว เคยร้องเพลงประกอบละครเรื่อง
รักหลอกๆ อย่าบอกใคร
- จอห์น รัตนเวโรจน์ อัลบั้ม solo
- จอห์น รัตนเวโรจน์ อัลบั้ม คน หุ่นยนต์ ต้นข้าว
- จิรายุส วรรธนะสิน เพลงประกอบละคร "แก้ว"
แสดงนำด้วยออกอากาศทางไอทีวี
- โจ ก้อง รวมกันเฉพาะกิจ ยังคงอยู่กับแกรมมี่
- โจ ก้อง Happening ถ้าจำไม่ผิดอยู่สังกัด ฟีลฮาร์โมนิค
- โจ ก้อง สดุดี กลับมาอยู่แกรมมี่ภายใต้สังกัด มอร์มิวสิค
- สหรัถ สังคปรีชา LOVE SCENES LOVE SONGS
รวมเพลงละครที่ก้องร้องเอาไว้
- ก้อง นูโว ได้ร้องเพลงละคร ช่อง 3 เสือ เจ้าสาวที่กลัวฝน
ผลงานของเต๋อ เรวัติ ก็ว่าจะไม่รัก
ในเพลงไกลรักของสุชาติ ชวางกูร
และละอองดาว ช่อง 5 นอกจากนั้นยังร้องเพลง
ทำดีได้ดีของวสันต์-อัสนีในอัลบั้ม
ลงเอยพี่น้องร้องเพลงอัสนี-วสันต์









สมาชิก

  • จิรายุส วรรธนะสิน (โจ)กีต้าร์ / ร้องนำ
  • สหรัถ สังคปรีชา (ก้อง) กีต้าร์ / ร้องนำ
  • นรศักดิ์ รัตนเวโรจน์ (จอห์น) คีย์บอร์ด,ซินทิไซเซอร์ / ร้องนำ
  • ปีเตอร์ แอนโทนี่ แฮมมอนด์ (เต๋อ) คีย์บอร์ด
  • สุรชัย สุนทรธาดากุล (สุ) เบส
  • ชยุต บุรกรรมโกวิท (ใหม่) กลอง

















Jul 28, 2009

ชีวิตและผลงาน ท่านพุทธทาส ภิกขุ



 
  เจาะเวลาหาอดีต


เผยวาระสุดท้ายของ “ท่านพุทธทาสภิกขุ” แพทย์พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เคยเห็นแบบนี้
ปี ๒๕๓๔ ท่านพุทธทาสภิกขุมีอาพาธหนักด้วยโรคหัวใจ ตอนนั้นท่านอายุ ๘๕ ปีแล้ว ลูกศิษย์มีความเป็น
ห่วงท่านมาก โรงพยาบาลศิริราชถึงกับส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจมารักษาท่าน เมื่อนายแพทย์
นิธิพัฒน์ เจียรกุล ได้พบท่านเป็นครั้งแรก อย่างแรกที่แปลกใจก็คือ "สีหน้าและท่าทางของท่าน
อาจารย์นั้นไม่ได้สัดส่วนกันกับอาการอาพาธที่เราตรวจพบ" คือถ้าเป็นผู้ป่วยธรรมดาและมีอายุมาก
ขนาดนี้ จะต้องมีสีหน้าและท่าทางว่าเจ็บป่วยอย่างชัดเจนกว่านี้ แต่ท่านอาจารย์กลับดูสงบ ไม่มี
อาการทุกข์ร้อน เว้นแต่น้ำเสียงเท่านั้นที่อ่อนแรงและสีหน้าที่อิดโรย...."ผมยังไม่เคยเห็นการ
แสดงออกของผู้ป่วยแบบนี้มาก่อน"
เนื่องจากอาการของท่านหนักมาก แพทย์จึงขอให้ท่านเดินทางเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่ท่าน
ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า“อาตมาอยากให้การอาพาธและการดูแลรักษานั้นเป็นไปแบบธรรมชาติ
ธรรมดาๆ เหมือนกับการอาพาธของพระสงฆ์ทั่วไปในสมัยพุทธกาล” และ ...“ขอใช้แผ่นดินนี้เป็น
โรงพยาบาล”
คณะแพทย์พยายามชี้แจงว่าอาการของท่านนั้นหนักจนสามารถทำให้ท่านมรณภาพได้ตลอดเวลาและ
อย่างทันทีทันใดหากทำการรักษาอยู่ที่วัดซึ่งขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ท่านฟังแล้วก็ยิ้มๆ หัวเราะ หึ
หึ ไม่ว่าอะไร แล้วสักครู่ก็กล่าวปฏิเสธ คณะแพทย์ไม่ละความพยายาม ต่อรองว่าหากท่านเข้าโรง
พยาบาลไม่ว่าจะเป็นที่ไหน จะไม่มีการใช้เทคโนโลยีที่เกินเลย เช่นการเจาะคอหรือใส่สายระโยง
ระยางต่าง ๆ แต่ท่านก็ยังปฏิเสธอย่างนิ่มนวลเช่นเคย ด้วยการหัวเราะหึ หึ และพูดคำว่า “ขอร้อง
ขอร้อง ขอร้อง”
“การรักษาตัวเองโดยธรรมชาติเป็นสิ่งที่เหมาะสม อาตมาถือหลักนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ให้ธรรมชาติ
รักษา ให้ธรรมะรักษา ส่วนคุณหมอก็ช่วยผดุงชีวิตให้มันโมเมๆ ไปได้ อย่าให้ตายเสียก่อน ขอให้แผ่น
ดินนี้เป็นโรงพยาบาล แล้วธรรมชาติก็จะรักษาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้เอง ได้เท่าไรก็เอาเท่านั้น
ไม่ควรจะมีอายุมากกว่าพระพุทธเจ้า ธรรมชาติจะเป็นผู้รักษา ทางการแพทย์หยูกยาต่าง ๆ ช่วย
เพียงอย่าเพิ่งตาย”
ท่านยังกล่าวอีกว่า“การเรียนรู้ชีวิตใกล้ตาย ทำให้มีปัญญาที่สมบูรณ์ขึ้น เราจะศึกษาความเจ็บ ความ
ตาย ความทุกข์ ให้มันชัดเจน ไม่สบายทุกที ก็ฉลาดขึ้นทุกทีเหมือนกัน”
ในที่สุดคณะแพทย์ก็ยอมตามความต้องการของท่าน โดยให้การรักษาท่านที่สวนโมกข์ ในที่สุดท่านก็มี
อาการดีขึ้นและสามารถเผยแผ่ธรรมได้อีกต่อไป
อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นไม่ถึงสองปี วาระสุดท้ายของท่านก็มาถึง
เผยวาระสุดท้ายของ “ท่านพุทธทาสภิกขุ” แพทย์พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เคยเห็นแบบนี้
เช้าวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ท่านตื่นตามปกติ ประมาณ ๔.๐๐ น. จากนั้นก็ลุกขึ้นมานั่ง เตรียม
งานเทศน์ ในวันเลิกอายุที่ ๒๗ พฤษภาคม แต่ทำไปได้เพียง ๑๐ นาที ท่านก็ล้มตัวลงนอน และพูดกับ
พระอุปัฏฐากคือพระสิงห์ทองว่า “ทอง วันนี้เรารู้สึกไม่สบาย” หลังจากนั้นก็ฉันยาหอมแล้วก็นอนต่อ
ประมาณ ๖.๐๐ น.ท่านบอกพระสิงห์ทอง ว่า “วันนี้ เรารู้สึกไม่ค่อยสบาย ไปตามท่านโพธิ์(เจ้า
อาวาสสวนโมกข์)มาพบที เธอไม่ต้องไป ให้คนอื่นไปตาม เพราะเราไม่สบาย” เมื่อท่านอาจารย์
โพธิ์มาถึง ท่านพูดด้วยน้ำเสียงปกติว่า “น่ากลัวอาการเดิม จะกลับมาเป็นอีกแล้ว ไปโทรศัพท์
ตาม"ยูร (นพ. ประยูร คงวิเชียรวัฒนะ) มาพบที”
ตอนนั้นท่านรู้แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับท่าน จึงพูดกับพระเลขานุการคือพระพรเทพว่า “เอากุญแจ
(กุญแจตู้เอกสารหนังสือ) ในกระเป๋านี้ไปด้วย เราไม่อยากจะตาย คากุญแจ” ตอนนั้นท่านพรเทพไม่
คิดว่า ท่านจะเป็นอะไรมาก จึงช่วยกันนวดแล้ว ให้ท่านอาจารย์นอนพัก
ประมาณ ๘.๐๐ น. ท่านก็พูดกับพระสิงห์ทองว่า “ทอง ทอง เราจะพูด ไม่ได้แล้ว ลิ้นมันแข็งไปหมด
แล้ว” ต่อจากนั้น ท่านพูดไม่ชัด เมื่อพระอาจารย์โพธิ์มาพบท่าน ท่านพยายามพูดกับอาจารย์โพธิ์
ประมาณ ๔-๕ ช่วง คล้ายจะสั่งเสีย แต่ไม่มีใครฟังออก จับความไม่ได้ ไม่รู้เรื่อง เนื่องจากเส้น
เลือดในสมองแตกทำให้สมองที่ควบคุมการพูดเสียไป
เมื่อพระแสดงปฏิกิริยาว่า รับรู้ไม่ได้ ท่านก็หยุดพูด จากนั้น ท่านก็สาธยายธรรม ซึ่งพระองค์อื่น ก็ฟัง
ไม่ออก แต่ท่านอาจารย์โพธิ์ พอจับความในช่วงที่สั้นๆว่า ยตฺถ เนว ปฐวี น อาโป น เตโช น
วาโย, ว่านี้คือ “นิพพานสูตร” ท่านอาจารย์ ท่านสาธยาย ทบทวนไป ทบทวนมา หลายครั้ง
หลังจากนั้นท่านก็ไม่รู้ตัว แพทย์จึงนำท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ และในที่สุดก็นำท่านไปที่โรง
พยาบาลศิริราช ทุกคนรู้ว่าการทำดังกล่าวเป็นการขัดความประสงค์ของท่าน แต่ก็จำยอมต้องทำเพื่อ
เชื่อว่าจะช่วยให้ท่านหายได้ แต่หลังจากใช้ความพยายามเต็มที่กว่า ๔๐ วันก็ยอมรับความล้มเหลว
ในที่สุดจึงพาท่านกลับมายังสวนโมกข์เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ไม่กี่นาทีที่ท่านถึงสวนโมกข์ ท่านก็หมดลม
พระไพศาล วิสาโล
เขียนเล่าเรื่อง

น้ำตาล คือพิษที่ร้ายแรงอันดับสี่ของมนุษยชาติ


โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

มติชน

วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552




ผู้เขียนมักเริ่มการสอนวิชาการเมืองการปกครอง
สหรัฐอเมริกาด้วยการพูดว่า

" มีคำกล่าวที่น่าเชื่อถือว่านอกจากยาเสพติด, แอลกอฮอล์
และยาสูบแล้ว น้ำตาลเป็นสารที่มนุษย์โหยหามากเป็น
อันดับสี่อันจัดเป็นอันตรายต่อร่างกาย
อย่างร้ายแรงที่สุดอย่างหนึ่ง"

น้ำตาลเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับ มนุษย์ในเชิง
โภชนาการแม้แต่น้อย แบบว่าไม่กินน้ำตาลเลยตลอดชีวิต
ก็ไม่เป็นไร เนื่องจากน้ำตาลไม่มีอะไรเลย
นอกจากคาร์โบไฮเดรต (แป้ง) เท่านั้น
แท้ที่จริงแล้วการกินน้ำตาลเข้าไปมาก
ก็จะทำให้คนกินฟันผุและอ้วนตุ๊ต๊ะ
และก็จะเป็นโรคภัยนานาชนิด อาทิ เบาหวาน
ซึ่งก็จะก่อให้เกิดต้อนานาชนิดที่ดวงตาและไตวายในที่สุด


ประวัติ ศาสตร์ของน้ำตาลนี่จริงๆ นะ เป็นเรื่องราวที่เป็นโศกนาฏกรรม
ของประวัติศาสตร์โลกแท้ๆ พอจะพูดได้ว่าหากไม่มีความต้องการน้ำตาลแล้ว
โลกมนุษย์ใบนี้ก็จะเป็นโลกที่น่าอยู่อย่างมากเลยทีเดียว


เริ่มแรกที เดียวอ้อยที่ใช้ทำน้ำตาลนั้นมีต้นตออยู่ที่บริเวณหมู่เกาะในประเทศ
อินโดนีเซียปัจจุบัน และมีการทำน้ำตาลบริโภคกันบ้างแล้ว
ตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาลโน่นและได้แพร่ไป ที่อินเดียในราว 510 ปี
ก่อนคริสตกาลจักรพรรดิ แดเรียสแห่งเปอร์เซียได้รุก
เข้าไปในอินเดียและได้มีบันทึกว่า
"มีต้นอ้อยชนิดหนึ่งที่ให้น้ำผึ้งโดยไม่มีตัวผึ้งอยู่"
อ้อยเป็นพืชเมืองร้อนนะ


กว่าชาวยุโรปจะได้รู้จักและลิ้มรสน้ำตาลจาก
อ้อยก็ตกเข้าไปในคริสต์ศตวรรษที่ 11
และหลักฐานบันทึกถึงน้ำตาลจากอ้อยในเกาะอังกฤษคือ
เมื่อ ค.ศ.1099 และหลังจากนั้นการค้าระหว่างประเทศ
ในยุโรปตะวันตกกับทวีปเอเชียก็ขยาย ตัวอย่างรวดเร็ว
มีหลักฐานบันทึกว่าในตลาดกรุงลอนดอนมีน้ำตาลขายในราคา 2 ชิลลิ่ง
ต่อน้ำตาล 1 ปอนด์ เมื่อ ค.ศ.1319 ซึ่งเป็นสินค้า
ที่ราคาแพงมากเหลือเกินในสมัยนั้น


ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 มีโรงงานน้ำตาลที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี
ซึ่งผลิตได้ปริมาณที่น้อยมาก และใน ค.ศ.1493 นี้ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส
ได้นำเอาต้นอ้อยไปทดลองปลูกในหมู่เกาะอินเดียตะวันตกของทวีปอเมริกาที่เขา
เพิ่งค้นพบ ปรากฏว่าอ้อยเจริญเติบโตเป็นอย่างดี
และอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ทำจากอ้อยของโลก
ใหม่ก็พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว


ตอนนี้แหละที่เกิดปัญหาที่เป็นโศก นาฏกรรมอันยิ่งใหญ่
ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
เพราะว่าการทำไร่อ้อย ตั้งแต่การปลูก การดูแลการตัดอ้อย
และขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงาน และกระบวนการทำน้ำตาล
จากน้ำอ้อยนั้นล้วนแล้วแต่ต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก
และเป็นงานที่หนักและเป็นอันตรายมากเช่นกัน


ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการค้าทาสมาเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมน้ำตาล
ในหมู่เกาะในทะเล แคริบเบียนนี้ และท่านผู้อ่านเชื่อไหมว่า
มีการขนส่งทาสผิวสีจากทวีปแอฟริกามายัง
ทวีปอเมริกาอย่างน้อย 10 ล้านคนในช่วง ค.ศ.1550-1835
เนื่องจากน้ำตาลเป็นสินค้าที่มีราคาสูงสร้างความมั่งคั่งให้แก่รัฐบาลและคน
ยุโรปและชาวอเมริกันผิวขาวอย่างมหาศาล
บนความทุกข์ระทมของทาสผิวสีนับล้านๆ คน
(ในประเทศไทยเราเองนี้ในช่วงต้นของทศวรรษกึ่งพุทธกาลก็มีไร่นรกหลายแห่งที่
ปลูกอ้อยทำน้ำตาลแถวจังหวัดชลบุรีจับคนไปเป็นทาสในไร่อ้อยมาแล้วเหมือนกัน)


ชาวอเมริกันที่ประกาศอิสรภาพจากอังกฤษก็เนื่องจากความขัดแย้ง
ในเรื่องการค้าน้ำตาลและค้าทาสนี่แหละ


เสรีภาพ ที่พวกอเมริกันอ้างถึงคือเสรีภาพในการค้าทาสและค้าน้ำตาล
โดยไม่ต้องเสียภาษี ให้กับรัฐบาลอังกฤษต่างหาก
หลักฐานก็ดูจากภาษีน้ำตาลที่รัฐบาลอังกฤษเก็บได้ใน ค.ศ.1781
(หลังจากที่สหรัฐอเมริกาประกาศเอกราชจากอังกฤษแล้ว 5 ปี)
เป็นเงิน 326,000 ปอนด์สเตอร์ลิง และเพิ่มขึ้นใน ค.ศ.1815
เป็นถึงสามล้านปอนด์สเตอร์ลิง ซึ่งเป็นเงินมหาศาลเมื่อ 200 ปีมาแล้ว


แรงบันดาลใจให้เขียนบทความนี้ขึ้นมาเนื่องจากได้อ่านข่าว 2 ข่าว

โดย ข่าวแรกจากศูนย์ควบคุมโลกแห่งชาติ สหรัฐอเมริการายงาน
การศึกษาผู้ป่วยจากเชื้อหวัดชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ที่เราเรียกว่าหวัด 2009
นั่นแหละ ที่มีภาวะแทรกซ้อนของระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง
ในโรงพยาบาลมิชิแกน 10 รายพบว่าผู้ป่วย 9 ราย เป็นโรคอ้วน


ซึ่งเช่นเดียวกับผู้ป่วยจากหวัด 2009 ของไทยที่มีผู้เสียชีวิต 5 ราย
จาก 26 ราย มีน้ำหนักตัวเกิน 100 กิโลกรัม
ซึ่งโรคอ้วนนั้นเกิดจากการกินน้ำตาลมากเกินไป


เลิกกินน้ำตาลเสียได้ ก็จะดี

นอกจากนี้ยังสลดใจเมื่ออ่านข่าว พบว่าประเทศไทยเรานั้นเป็น
แหล่งผ่านแหล่งใหญ่ของการค้ามนุษย์ในยุคปัจจุบัน

ซึ่งน่าอาจจริงๆ นะ


หน้า 6

''ตั้งใจ และจริงใจ จึงมีวันนี้'' ของ คีรี กาญจนพาสน์



ฐานเศรษฐกิจ
วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2551


หลังพายุสงบ ท้องฟ้าก็จะสดใส
คำเปรียบเทียบนี้
ถือว่าเหมาะสมกับเส้นทางชีวิต
ที่พลิกผันของ คีรี กาญจนพาสน์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท
ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)
หรือ บีทีเอส และประธานกรรมการบริหาร
บริษัท ธนายง จำกัด(มหาชน)
ที่แบกภาระหนี้จากธุรกิจทั้งสองบริษัท
รวมกันกว่า 1.4 แสนล้านบาท
ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2540 มาถึงวันนี้
เขากำลังนำพาธุรกิจก้าวพ้นวิกฤตและ
พร้อมที่จะเดินต่อไปด้วยความมั่นใจที่
มากกว่าเดิมอีกครั้ง

กิจการรถไฟฟ้า บีทีเอส
ที่ทำให้เขาตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน
จากภาระหนี้มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท
มานานถึง 8 ปีเต็ม
โดยไม่เคยคิดท้อแท้ หรือคิดที่จะทิ้งภาระ
และยังพยายามทำอย่างดีที่สุดจนทำให้วันนี้ได้เห็น
รอยยิ้มบนใบหน้าของคีรีจาก
ความสำเร็จอย่างน้อย 3 สิ่งที่เกิดขึ้น

หนึ่งทำให้คนไทยตื่นตัวว่า รถไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็น
ดูจากตัวเลขผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยวันละกว่า
4 แสนคน ชี้ให้เห็นแล้วว่า
สิ่งที่เขาต่อสู้มาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว
อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ได้ผิด
และสอง บีทีเอส สามารถให้บริการกับสังคมได้จุดหนึ่ง
ด้วยมาตรฐานต่างๆ
เพียงแต่นึกเสียดายที่ 8 ปีมาแล้ว
ยังไม่สามารถเพิ่มเครือข่ายบริการได้เท่าที่ควร
และสาม สามารถสร้างองค์กรที่มี
ความรัก สามัคคี และตั้งใจให้บริการกับประชาชน

เขาจึงรู้สึก ผูกพันและยอมรับว่า
นับตั้งแต่เริ่มทำงานมาตั้งแต่เด็ก
มีบริษัทนี้เท่านั้นที่เขารู้สึกภูมิใจ
และดีใจกับการให้ความร่วมมือและสามัคคีของพนักงาน
ที่มีอยู่กว่า 1,200 คน ผมถือว่าความสำเร็จนี้มีมูลค่ามหาศาล
สามารถผลิตบุคลากรออกมา
ขยายกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ซึ่งสิ่งที่ผมต้องทำต่อไปคือ
ขยายงานเพื่อเลื่อนตำแหน่งให้พนักงานเหล่านี้

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นผลที่เกิดขึ้น จากการที่เขาตัดสินใจเข้ามา
ทำระบบขนส่งมวลชนด้วยเหตุผลที่เขาย้อนอดีตให้ฟังว่า
ตอนนี้นมองเห็นถึงความต้องการ
และต้องการทำเพื่อเสริมโครงการอสังหาริมทรัพย์
ซึ่งพูดง่ายแต่ทำยาก แต่เมื่อถามว่าทำไมถึงกล้าทำ
ในชีวิตผมค่อนข้างที่จะกล้าลงทุน
เพราะมีความมั่นใจเกินตัว เลยมองอะไรง่ายไปหน่อย
ผมกล้าบอกได้เลยว่าในตระกูลกาญจนพาสน์
ไม่ใช่ตระกูลที่กล้าทำอย่างนี้
มีแต่ผมที่กล้าจะทำ

จากวันนั้นถึงวันนี้ คีรีเชื่อว่า ทั้งตัวเขาและองค์กรบีทีเอส
มีความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นใจกว่าเดิม
จากประสบการณ์ 8 ปีเต็มและแรงกดดันที่เชื่อว่า
ไม่เคยมีใครเจอมาก่อนเหมือนเขาอีกแล้ว

ย้อนไปดูเส้นทางก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ในธุรกิจของคีรี
ที่คิดและทำไม่เหมือนใครหากเทียบกับ
คนใน
ตระกูล กาญจนพาสน์ ด้วยกัน
คีรี เกิดเมื่อ 18 ตุลาคม 2493 มีชื่อภาษาจีนว่า

หว่อง ซง ซาน เริ่มเรียนประถมที่โรงเรียนกรุงเทพฯคริสเตียน
แต่ไปจบระดับมัธยมปลายที่ฮ่องกง
ตอนเด็กค่อนข้างจะเกเร เข้าสู่ชีวิตการทำงานด้วยการเป็น
พนักงานบริษัทของพ่อในฮ่องกง
เริ่มต้นทำงานจริงจังตอน 19 ปี และกลายเป็นคนมีชื่อเสียง
ตอนเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลที่มีคนดูมากที่สุด
หนังสือพิมพ์กล่าวถึงมากที่สุด

คนฮ่องกงเรียกเขาว่า ฟี ซาน แปลว่าเด็กอ้วน
และลูกทีมฟุตบอล

เรียกเขาว่าลูกพี่ซาน(ซานก่อ)
ทีมฟุตบอลมีชื่อว่า ทีมไซโก้

เพราะสมัยนั้นพ่อของคีรีเป็น
ตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาแบรนด์ดัง

ในเอเชียแปซิฟิกรวมถึงไซโก้ด้วย
เขากลับมาทำธุรกิจในไทยยุคเศรษฐกิจรุ่งเรืองพร้อมกับพี่ชาย
อนันต์
กาจนพาสน์ และนายมงคล ผู้พ่อ
โดยขยายอาณาจักรธุรกิจครอบคลุมทุกรูปแบบ
โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ จากการตั้งบริษัท ธนายง จำกัด
เปิดโครงการยักษ์ ธนาซิตี้ ถนนบางนา-ตราด
และขยายมาประมูลสัมปทานรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสกายเทรน
หรือ บีทีเอส

ครอบครัวกาญจนพาสน์ ขยายเครือข่ายอาณาจักรธุรกิจ
สร้างชื่อเสียงโด่งดัง และร่ำรวย จนติด 400
ลำดับอภิมหาเศรษฐีโลก
จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์จูนในปี 2534

คีรี กล่าวว่าสมัยเริ่มทำโครงการ บีทีเอส ว่า
ต้องเจอกับแรงกดดันจากกระแสต่อต้านทุกรูปแบบ
โดยเฉพาะช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เครียดมาก ใครไม่เครียดก็บ้าแล้ว
ก็ได้กำลังใจจากครอบครัว และก็มีเจ้าหนี้คอยเตือนทุกวันว่า
ฆ่าตัวตายจะเจอบาปหนัก รวมทั้งได้ข้อคิดที่ว่า
ภาระที่มีไม่ใช่สิ่งที่ทิ้งไปแล้วจะหมดภาระ บวกกับพลังจากทีมงาน
จนสามารถดำเนินงานมาได้ด้วยดี
มีคนเคยบอกผมหลายครั้งให้เลิกทำเสียดีกว่า
แต่ผมไม่คิดเลิก และยิ่งทำก็ยิ่งมีความรู้สึกว่า
กูไม่ยอมแพ้มึงหรอก
และก็สู้ตายจริงๆ กว่าจะพ้นมาถึงวันนี้ได้

เขายังเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความผิดพลาด
แต่เป็นเรื่องที่ใครก็คาดการณ์ไม่ได้ และถ้าพูดใหม่ในวันนี้
ยังไงก็ต้องลงทุนเพราะไม่มีใครรู้อนาคตว่าจะเป็นอย่างไร
แต่การลงทุนทำวันนี้ ต้นทุนจะสูงกว่ากันมาก

นอกจากความคิดที่ไม่ เปลี่ยนแปลงแล้ว
บุคลิกของเขาที่เป็นคนใจร้อน เสียงดังก็ยังไม่เปลี่ยนเช่นกัน
ความจริงผมเสียงดังไปอย่างนั้นเอง และไม่มีใครกลัวผมด้วย
เพราะถ้าเขาเสียงดังกลับมาผมก็เงียบ
ยิ่งที่บ้านผมกลัวเขาหมด แม้กระทั่งหลาน

คีรีย้ำว่า ไม่คิดจะเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น
แต่จะเดินหน้าทุ่มเทให้กับบีทีเอสต่อไป
หลังจากหาเงิน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาคืนหนี้แล้ว
เขาเตรียมสร้างบีทีเอส ก้าวไปสู่จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่
ด้วยความมั่นใจว่า เมื่อออกจากแผนฟื้นฟู
ในอีกสองเดือนข้างหน้าแล้ว
องค์กรบีทีเอสจะแข็งแรง และ
บุคลากรก็มีความพร้อมที่สามารถจะเดินหน้าต่อ
ทั้งแผนขยายบริการเสริมให้กับโครงข่ายบีทีเอสในไทย
และการขยายออกไปทำในต่าง ประเทศ
ซึ่งมีหลายประเทศเชิญชวนและให้เงื่อนไขที่ดี

ตอนนี้ยิ่งมี ความมั่นใจมากขึ้น และความกล้ายังมีพร้อม
อีกทั้งการได้ผ่านสิ่งต่างๆมา ทำให้ความคิดสุขุมขึ้น
และมองอะไรค่อนข้างที่จะทะลุกว่าที่ผ่านมา
เมื่อก่อนอาจจะมั่นใจในแบบว่า ชนะอยู่เสมอไม่เคยแพ้สักครั้ง
แต่ครั้งนี้เหมือนขึ้นไปตึก 3-4 ชั้นตกลงมาเจ็บเป็นบ้าเลย

โดยเฉพาะ องค์กรบีทีเอส ที่คีรีกล่าวว่าภูมิใจมากเพราะ
สามารถสร้างองค์กรบีทีเอส ก้าวมาถึงวันนี้ได้
น่าจะเป็นเพราะนิสัยที่ได้มาสมัยเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอล
ที่เน้นในเรื่องความสามัคคี ทีมเวิร์ค
และตัวเขาเองให้ความจริงใจและตั้งใจ
กับการสร้างองค์กร และพนักงานเองก็จริงใจกับบริษัท
ซึ่งผมถือเป็น asset ที่มีค่ามหาศาล

ซึ่งความคิดสร้างองค์กรนี้คีรี เชื่อว่าเขาได้แบบมาจากพ่อ
ซึ่งไม่เคยทำให้ใครผิดหวัง และ
เมื่อถามถึงข้อคิดฝากให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่
คีรี ย้ำเพียง2 คำ ความตั้งใจ และจริงใจ กับงานที่ทำอยู่
เมื่อเคารพในงานที่ทำ จะทำให้รู้ได้เองว่าต้องทำอย่างไร
แต่ถ้าหลอกตัวเอง หรือสร้างภาพขึ้นมาเพื่อจะกู้เงิน
ก็มีแต่ตายอย่างเดียว














Jul 26, 2009

ประวัติอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร


ประวัติ
ดร.สนอง วรอุไร
พ.ศ.๒๕๐๕ จบปริญญาตรีเกษตรศาสตร์บัณฑิต
จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขาโรคพืช
พ.ศ.๒๕๑๕ จบปริญญาโท เกษตรศาสตร์มหาบัณฑิตจาก
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สาขาเชื้อรา
พ.ศ.๒๕๑๘ จบปริญญาเอก สาขาไวรัสวิทยา
จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ
พ.ศ.๒๕๑๘ อุปสมบทและเรียนวิปัสสนากรรมฐาน
กับท่านเจ้าคุณโชดก (พระเทพสิทธิมุนี ป.ธ.๙)
ที่คณะ ๕ วัดมหาธาตุฯ
เวลา ๑ เดือนกับ ๑๓ วัน ที่ตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างมอบกายถวายชีวิต
ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องยอมศิโรราบต่อปัญญาของพระพุทธะ
ซึ่งได้พิสูจน์และรู้เห็นด้วยตนเองในอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์วิเศษ
แห่งธรรมและ กฎแห่งกรรม เพราะท่านได้ญาณอภิญญาต่าง ๆ
ในเวลาอันสั้น ท่านอาจารย์จึงเปลี่ยนวิถีชีวิตอุทิศ
เพื่อทดแทนคุณของพระศาสนา เผยแผ่พระธรรมแก่ทั้งฆราวาส
และพระสงฆ์ ปัจจุบันมีคณะศิษย์เผยแผ่ผลงานของท่าน
โดยก่อตั้งเป็นชมรมกัลยาณธรรมและ
เว็บไซต์กัลยาณธรรมทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ,
โดยยึดถือปฏิปทาของท่านเป็นหลักธรรม
ในการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง

สติ สมาธิ ปัญญา : ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม


ประวัติ
ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 ที่กรุงเทพมหานคร
สนใจฝึกสมาธิภาวนาตามหลักพระพุทธศาสนา
เนื่องจากอ่านหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิภาวนาแบบเซ็น
คือ เรื่องกุญแจเซ็น และปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ
เกิดความประทับใจว่าการฝึกสมาธิและการอยู่อย่างมีสติสามารถทำให ้
พ้นทุกข์ได้ จึงศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังจากพระราชวุฒาจารย์
(หลวงปู่ดูลย์อตุโล) และพระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
ค้นพบองค์ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของจิตหลักการฝึกจิตและผลของการฝึกจิต
แล้วนำมาเผยแพร่ โดยการพิมพ์และแปลหนังสือธรรมะของครูบาอาจารย์
และถ่ายทอดความรู้โดยการอบรมให้แก่ครู – อาจารย์
นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และประชาชนทั่วไป
ซึ่งเป็นแนวทางแก้ปัญหาสังคมไทย ให้พ้นภัยวิกฤติด้านต่าง ๆ ที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน


ดร.ดาราวรรณ ถือกำเนิดในครอบครัวที่นับถือศาสนาอิสลาม ประพฤติ
ปฏิบัติตามหลักของศาสนาอย่างเคร่งครัด
เป็นครอบครัวที่อบอุ่นมีบิดามารดาเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องความซื่อสัตย์
และความขยันหมั่นเพียร มีคุณปู่เป็นผู้นำศาสนาอิสลาม (อิหม่าม)
อุปนิสัยส่วนตัวชอบความสงบ ชอบพิธีกรรมทางศาสนา
โดยเฉพาะการสวดมนต์ภาวนาทางบ้านได้ส่งให้เรียนในโรงเรียนศาสนา
ในระดับชั้นประถมศึกษาและเรียนพิเศษด้านศาสนาตอนเย็นหลังเลิกเรียน
จึงมีความรู้ศาสนาอิสลามแตกฉานได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนโรงเรียน
เข้าแข่งขันตอบปัญหาและปาฐกถาธรรมทางศาสนาได้รับรางวัลชนะเลิศ
และรองชนะเลิศ


แม้จะมีความรู้และศรัทธาในศาสนาอิสลาม
แต่ก็เก็บความสงสัยในคำสอนหลายเรื่องที่หาเหตุผลไม่ได้และไม่สามารถถามผู้รู้ได้
เนื่องจากเป็นข้อห้ามของศาสนา ต่อมาได้อ่านหนังสือ
เกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิภาวนาแบบเซ็นอยู่ ๒ เล่ม คือเรื่องกุญแจเซ็น
และปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอของท่านติช นัท ฮันท์ พระภิกษุชาวเวียตนาม
แล้วเกิดความประทับใจว่า การปฏิบัติสมาธิและการอยู่อย่างมีสติสามารถทำให้พันทุกข์
เมื่อศึกษาและปฏิบัติแล้วพบว่า ถูกกับอุปนิสัย
จึงมีความเลื่อมใสศรัทธาที่พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เป็นวิทยาศาสตร์
มีเหตุผลและเน้นสอนให้เราพึ่งตนเองและเชื่อหลักธรรม


ดร.ดาราวรรณ ได้เริ่มการศึกษาและปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง
เมื่อปี พ.ศ. 2523 โดยเริ่มจากการปฏิบัติจิตภาวนา
ได้ฝึกฝนกับอุบาสิกาสะอาด เกษมสันต์ ที่วัดน้อยนพคุณ กรุงเทพฯ
จากนั้นเมื่อย้ายมารับตำแหน่งศึกษาสิเทศก์
กรมสามัญศึกษาเขตการศึกษา 11 ที่จังหวัดนครราชสีมา
ได้เข้าอบรมกรรมฐานกับคุณ

แม่สิริ กรินไชย 2 ครั้ง ๆ ละ 7 วัน

ใน ปี พ.ศ. 2523 – 2526 ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ โดยไปรายงานผลการปฏิบัติ
และซักถามปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ
แนวทางที่หลวงปู่อบรมให้เน้นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการตามดูจิต
ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกจริตมากที่สุด ปี พ.ศ. 2526 ก่อนหลวงปู่มรณภาพ
ประมาณ 2 เดือน
ท่านสั่งให้ไปสอนผู้อื่นเพราะจิตชำนาญแล้ว
นอกจากการสอนอบรมแล้วยังได้แปลธรรมะของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
เรื่อง “จิตคือพุทธะ” เป็นภาษาอังกฤษเผยแพร่ให้นักปฏิบัติต่างชาติ
โดยได้พิมพ์แจกทันงานพระราชทานเพลิงศพของปู่ดูลย์ อตุโล
ในปี พ.ศ. 2527

ช่วง ปี พ.ศ. 2523 – 2542 ได้ศึกษาและ
ปฏิบัติธรรมอย่างใกล้ชิดกับพระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา
ซึ่งท่านได้ให้คำสอนทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติอย่างละเอียดมาก
ได้รับการไว้วางใจให้จัดทำหนังสือธรรมะเผยแพร่มาตลอดปีละ 1 – 2 ครั้ง ๆ ละ
10,000 – 50,000 เล่ม ได้แก่ ธรรมวิสัชนาหลวงพ่อสอนธรรม ฐานิยปูชา
มอบธรรม นำพร เป็นต้น


การศึกษาจิต : องค์ความรู้แห่งการดับทุกข์

สิ่งที่
ดร.ดาราวรรณ ได้ค้นพบความจริงแห่งการดังทุกข์ คือ“จิต”
ซึ่งเป็นพลังแฝงอยู่ในกาย มีหน้า ที่สั่งกาย และบันทึกผลงาน
การทำ พูด คิด ไว้เป็นประจุกรรม (พลังกุศลกรรม และอกุศลกรรม)ซึ่งเป็นข้อมูล
หรือหน่วยความจำที่มีปริมาณมหาศาล จิตเป็นอมตธาตุ
เป็นธาตุที่ไม่ตาย เมื่อกายตาย จิตจะทิ้งกายไปหาที่อยู่ใหม่ (ภพภูมิ)
ตามพลังขับเคลื่อนของจิตว่าจะไปทางฝ่ายกุศลหรืออกุศล จะทำให้จิตมีสิ่งรู้
ทำสติให้มีสิ่งระลึกต้องฝึกจิตหรือการทำสมาธิภาวนา
ครูดาราวรรณได้ศึกษาและปฏิบัติตามหลวงพ่อพุทธ ฐานิโย ซึ่งแยก


สมาธิเป็น ๒ แบบ คือ

๑. สมาธิในวิธีการ หมายถึง การปฏิบัติสมาธิที่มีรูปแบบ เช่น
การนั่งกำหนดลมหายใจบริกรรมภาวนา การเดินจงกรม เป็นต้น
ซึ่งเป็นการปฏิบัติอยู่วงจำกัด เมื่อมีเวลาเป็นส่วนตัว

๒. สมาธิในชีวิตประจำวัน หรือ สมาธิสาธารณะ
เป็นการปฏิบัติสมาธิในชีวิตประจำวันด้วยการกำหนดสติอยู่กับปัจจุบัน
ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ทำได้ทุกสถานการณ์ ทุกกาลเวลา และทุกสถานที่
เมื่อฝึกจิตได้แล้ว จิตจะมีพลังสติสัปชัญญะมากจะก่อให้เกิดปัญหาในระดับต่าง ๆ
กล่าวคือ

- ปัญญาระดับสูง การรู้เท่าทันกิเลส ตัณหา อุปาทาน
จนสามารถตัด อาสวกิเลสได้

- ปัญญาระดับกลางการรู้เท่าทันจิต มีภูมิต้านทานต่อสิ่งยั่วยุ
สิ่งกระทบต่าง ๆ เมื่อมีสิ่งยั่วยุ (จากภายในหรือภายนอกก็ตาม) ให้ทำ

- ปัญญาระดับต้น เป็นความชาญฉลาดทางสติปัญญาที่ใช้
ในการเรียนการงานต่าง ๆ ทำให้ประสบผลสำเร็จสูง มีความผิดพลาดน้อย


การที่
ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม เป็นบุคคลผู้ทรงภูมิปัญญา
ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี
เป็นผู้สร้างสรรค์และสืบสานภูมิปัญญาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง
จนเป็นที่ยอมรับของสังคมและชุมชน จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ
จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
ให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาในการจัดการศึกษา
ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
ตามนัยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542


ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม อายุ ๕๑ ปี เกิดเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔
ที่กรุงเทพมหานครเป็นบุตรของ ร.ต.มุขและนาง
เกยูร เด่นอุดม
สถานภาพโสด
ที่อยู่ปัจจุบันบ้านเลขที่ 256 ถนนมิตรภาพ
ซอย 15 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 30000


การศึกษา

- ปริญญาตรี อักษรศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2512 - 2515)
- ปริญญาโท อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (251? - 2521)
- ปริญญาเอก Ph.D ภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย Grenoble ประเทศฝรั่งเศส
(252? - 2529)


เกียรติคุณที่ได้รับ
- พ.ศ. 2540 ได้รับรางวัล “เสมาธรรมจักร”
ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาสาขาส่งเสริมผู้ปฏิบัติธรรม
จากกรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการ

- พ.ศ. 2545 ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 2 ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี
จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี