Custom Search

Jul 18, 2009

ตบะ


คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก

มติชน

วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2552



ตโป แปลกันว่า ตบะ แปลก็เหมือนไม่ได้แปล
เพราะยังเป็นคำพระคำเจ้าอยู่ดี
ถ้าจะแปลไทยเป็นไทยอีกทีก็น่าจะได้แก่
สิ่งขจัดความชั่วออกจากใจนั่นแหละครับ


ความชั่วของคนมีมากมายเรียกรวมๆ ว่า "กิเลส" (ความเศร้าหมองใจ)
หรือ "อาสวะ" (สิ่งหมักดองใจ) ถึงจะมีมากมายอย่างไร
ก็สรุปลงได้ 3 ประเภท คือ
กิเลสฝ่ายโลภ (คิดแต่จะได้จะเอาไม่รู้จักพอ)
กิเลสฝ่ายโกรธ (ขุ่นเคือง เคียดแค้น พยาบาท)
และกิเลสฝ่ายหลง (งมงาย หมกมุ่น ตกเป็นทาสของโลกและชีวิต)
พูดให้ทันสมัยก็ว่าสังกัดอยู่พรรคใหญ่ๆ 3 พรรค คือ
พรรคโลภ มี ฯพณฯ งกเป็นหัวหน้า
พรรคโกรธ มี ฯพณฯ ขี้ยัวะ เป็นหัวหน้า
และพรรคหลง มี ฯพณฯ ซื่อบื้อ เป็นหัวหน้า

สิ่งกำจัดโลภ โกรธ หลง ให้หมดไปหรืออย่างน้อยก็เบาบางลงไป
เรียกว่าตบะทั้งนั้น เช่น
ขันติ (ความอดทน)
ศีล (การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย)
การรักษาอุโบสถศีล
การตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระพุทธวจนะแล้ว
ปฏิบัติตามการถือธุดงค์
การสำรวมอินทรีย์ (คือสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
และวิริยะ (ความพากเพียร) ทั้งหมดนี้
พระอรรถกถาจารย์ท่านว่า เป็นตบะ เครื่องเผากิเลส
หรือเครื่องขจัดกิเลสทั้งนั้น


แต่ในที่นี้ ดูเหมือนท่านจะมุ่งเอาความพากเพียรมากกว่าอื่น
ความเพียรชนิดที่เรียกว่า "ปธานะ"
(ความตั้งมั่น บากบั่นไม่ท้อถอย) 4 ลักษณะ คือ
เพียรระวังมิให้ความชั่วน้อยใหญ่เกิดขึ้นมามีอิทธิพลเหนือจิตใจ,
เพียร ลด ละ เลิก ความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว,
เพียรบำเพ็ญความดีที่ยังไม่มีและเพียรรักษาความดีที่มีอยู่แล้ว
ให้คงอยู่และพัฒนาต่อไป
ใครมีความเพียรครบ 4 ประการนี้รับประกันได้ว่า
ชีวิตประสบความสำเร็จก้าวหน้าแน่นอน


สรรพกิจย่อมเสร็จด้วย ความเพียร

ไป่เกลื่อนกล่นอาเกียรณ์ ทอดไว้

กิจหลายไป่เสถียร ด้วยสัก นึกฤๅ

นึกบ่ทำบ่ได้ เสร็จสิ้นสมประสงค์


พูดง่ายๆ อยากได้อะไร อยากให้อะไรสำเร็จก็ต้องพากเพียรทำเอาเอง
มิใช่นั่งนึกเอา พระพุทธเจ้าของเราบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
อันได้แสนยาก ก็ด้วยความพากเพียรบำเพ็ญบารมี
มาตลอดระยะเวลายาวนานจนนับไม่ถ้วน
ท้ายที่สุดทรงตั้งปณิธานแน่วแน่ว่า
ถ้าไม่บรรลุจะไม่ยอมลุกจากที่นั่ง แม้ว่าเลือดเนื้อจะเหือดแห้ง
เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ตาม แล้วก็ได้บรรลุจริงๆ
นี่แหละครับ ผลแห่งความพากเพียร ไม่ท้อถอยเลิกรา


นิทานเล่าว่า สองคนเพื่อนกันได้รับพยากรณ์จากหมอดูว่า
คนหนึ่งจะสบายนั่งกินนอนกิน อีกคนจะลำบาก
คนที่หมอบอกว่าจะสบายก็เกิดความประมาท ไม่ทำงานทำการ
นึกว่ายังไงๆ ดวงก็ดีอยู่แล้ว ในที่สุดก็ได้ "นั่งกินนอนกิน"
จริงๆ คือ กลายเป็นขอทานนั่งกินนอนกินข้างถนน
ส่วนอีกคนกลัวชีวิตจะลำบาก ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินด้วย
ความพากเพียรจนกลายเป็นเศรษฐี
ชีวิตเขาลำบากจริงตามที่หมอว่า
เพราะต้องทำงานไม่ค่อยได้หยุด


ท่านเล่าครับ จะเลือกแบบไหน
นั่งกินนอนกินแบบขอทาน หรือลำบากอย่างเศรษฐี


พระพุทธศาสนาเน้นมากคือ ความเป็นคนขยัน
ไม่เคยสอนให้คนขี้เกียจ ส่วนที่ใครมักพูดว่าพุทธศาสนา
สอนความมักน้อยสันโดษ สอนอนัตตา ความไม่มีตัวไม่มีตนแล้ว
คนมันจะสร้างจะสรรค์อะไร หรือไอ้นั่นก็ไม่ใช่ของเรา
ไอ้นี่ก็ไม่ใช่ของเรา ทุกอย่างล้วนอนิจจังไม่เที่ยงทั้งนั้น
แล้วจะมาสร้างมาทำทำไมให้เมื่อย ปล่อยเลยตามเลยไม่ดีกว่าหรือ
ว่าแล้วก็ไม่ทำอะไร ขี้เกียจตัวเป็นขน


นั่นเป็นความเข้าใจผิดขอรับ สันโดษมิได้แปลว่า มักแต่น้อย
ไม่สร้างสรรค์ สันโดษหมายถึงความพากเพียร
พยายามทำจนเต็มที่ได้ผลสำเร็จมาแล้ว
ภาคภูมิใจในผลงานของตนแล้วก็เป็นเหตุให้สร้างสรรค์อีกต่อไป


ส่วนสอนอนัตตา ก็เพื่อให้เข้าใจความจริงแท้ว่า
ทุกอย่างจริงๆ แล้วมันเป็นไปตามกฎธรรมดา
มีเกิด มีดับสลาย หาตัวตนที่แท้จริงมิได้
เมื่อรู้ความจริงอย่างนี้แล้ว จะได้ไม่ยึดมั่นเกินกว่าเหตุ
ไม่ตกเป็นทาสของโลกและชีวิต
จุดมุ่งหมายของการสอนอนัตตาอยู่ตรงนี้ขอรับ


ความพากเพียร ท่านสอนไว้ตั้งแต่ระดับแรกเลย
คนจะตั้งเนื้อตั้งตัวได้ต้องมีคุณสมบัติ 4 ประการ
ประการแรกสุดคือ ความขยันหมั่นเพียร
ขยันทำงานทำมาหาเลี้ยงชีพ สู้อุปสรรคน้อยใหญ่
ไม่ท้อถอย หาเงินหาทองด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
หามาได้แล้วก็รู้จักเก็บออมไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย
แค่นั้นยังไม่พอ ต้องรู้จักคบหาสมาคมกับคนดีที่เอื้อต่ออาชีพของตน
คนทำงานถ้าริคบหาสมาคมนักเลงการพนัน
ถึงหาได้วันละแสนก็เป็นหนี้วันละล้าน หายนะอย่างเดียวไม่มีทางเจริญ
นอกจากนี้ ยังต้องรู้จักดำรงชีวิตพอเหมาะพอสม
กับสถานภาพความเป็นอยู่ของตนอีกด้วย
ทำได้ตามนี้รับรองตั้งเนื้อตั้งตัวได้ ต่อให้คุณยากจนเพียงใดในขณะเริ่มต้น
ไม่ช้าไม่นาน ก็จะกลายเป็นผู้มีอันจะกินและมีมากจนกินไม่หมดแน่นอน


เห็นไหมครับ เพียงแต่คุณมี "ความขยัน"
เป็นจุดเริ่มตัวเดียวก็จะชักนำคุณเดินเข้าสู่ถนนแห่งความสำเร็จอย่างมั่นใจ


สูงขึ้นไปกว่านั้น การจะบรรลุมรรคผลพ้นทุกข์ได้ก็ต้องเริ่มที่ความขยันเหมือนกัน
บวชมาแล้วถ้า "ฉันเช้าแล้วเอน ฉันเพลแล้วนอน
ตอนเย็นพักผ่อน ตอนค่ำจำวัด"
ไม่มีทางบรรลุอะไรได้ นอกจากบรรลุ "ความขี้เกียจ"
เป็นเครื่องหมายแห่งความอัปยศ


พระพุทธองค์ตรัสว่า ศาสนาของพระองค์
เป็นศาสนาของคนขยัน พระองค์จะขนาบแล้วขนาบอีก
ทุบแล้วทุบอีก กระตุ้นเตือนให้สาวกของพระองค์พากเพียรฝึกฝนตน
ดุจช่างหม้อทุบดินเหนียวแล้วๆ เล่าๆ เพื่อให้ได้รูปทรงหม้อที่งดงาม
พระองค์มิได้สรรเสริญการนิ่งอยู่กับที่
หากแต่ทรงสรรเสริญการพัฒนาตนให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมุ่งมั่น
คนเกียจคร้านอ่อนแอไม่แน่จริง
อยู่ในศาสนาของพระองค์ไม่ได้ ถึงอยู่ได้ก็เป็น "กาฝาก"
คอยบ่อนไชสร้างความหมองมัวแก่พระศาสนา
ดังที่ได้เห็นได้ยินเป็นที่แสลงตาแสลงหูเป็นครั้งคราว


ก่อนจบขอฝากพุทธวจนะเป็นคติเตือนใจว่า
"เราไม่มองเห็นธรรมอะไร ที่สามารถบันดาลให้บุคคลสมหวัง
ในสิ่งที่ต้องการได้เท่ากับความพากเพียรไม่ท้อถอย"
อีกบทหนึ่งว่า "เมื่อได้เพียรพยายามแล้วถึงตาย
ก็ได้ชื่อว่าตายอย่างไม่เป็นหนี้ใคร"


ใครมีความสุขกับการเป็นหนี้จนชาติหน้าก็ใช้ไม่หมด
ก็จงเป็นคนขี้เกียจไปเถอะครับ


หน้า 6