Custom Search

Jul 17, 2020

“ย. โย่ง” สอนเรา

โพสโดย somsak เมื่อ 1 เมษายน 2539 00:00

ข้อมูลสื่อ


216-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 216
เมษายน 2539
บทความพิเศษ
การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของ “ย.โย่ง” (คุณเอกชัย นพจินดา) เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2540
ได้นำความเศร้าเสียใจและความเสียดายมาสู่วงการกีฬาไทยและคนไทยเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะแฟนฟุตบอลทางจอแก้ว เพราะ  “ย.โย่ง”
เป็นผู้ประกาศข่าวกีฬาและนักพากย์กีฬาทางจอแก้วที่มีชื่อเสียงมากในวงการสื่อสารมวลชนไทย
ดังนั้น การมรณกรรมของ  “ย.โย่ง” นอกจากจะนำความเศร้าเสียใจมาสู่ครอบครัวและคนทั่วไปแล้ว
ยังนำความตื่นกลัว (ตื่นตกใจ) มาสู่คนจำนวนมากด้วย เนื่องจากกลัวว่าตนอาจจะประสบชะตากรรมแบบเดียวกัน
เพราะคนทั่วไปเห็นว่า  “ย.โย่ง” เป็นนักกีฬา มีนิสัยร่าเริง ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่
และมีความสำเร็จในชีวิตและกิจการงานเป็นอย่างดี แถมยังมีประวัติว่าเคยไปตรวจ(เช็ก)สุขภาพแล้วปรากฏว่าสุขภาพดี
ไม่มีโรคหัวใจที่ต้องกินยาหรือใช้ยาใดๆ

แต่แล้วเมื่อประมาณ 19.30 น.ก็เกิดอาการแน่นหน้าอกและหายใจไม่ออกขณะเล่นเทนนิสที่สนามกีฬาภายในสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี
จนต้องหยุดเล่น แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น ผู้ร่วมงานจึงพาไปโรงพยาบาล ขณะไปถึงโรงพยาบาลเมื่อประมาณ 2o.oo น.
“ย.โย่ง” ยังรู้สึกตัวดีอยู่ และบ่นแน่นหน้าอกมากตลอดเวลา
แพทย์ให้ยาไนไตกลีเซอรีนอมใต้ลิ้นอาการก็ไม่ดีขึ้น ระหว่างการรักษา จู่ ๆ “ย.โย่ง”
ก็เกิดอาการเกร็งและหมดสติเนื่องจากหัวใจหยุดเต้น แพทย์พยายาม “ปั๊ม”หัวใจและช่วยชีวิต
แต่ก็ไม่ประสบผล “ย.โย่ง”จึงสิ้นใจเมื่อเวลาประมาณ 21.45 น.  หรือประมาณ 2-3 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ 


แพทย์ผู้รักษาเล่าว่า “ย.โย่ง” เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายตายเฉียบพลันจากการขาดเลือดแต่แพทย์ไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดได้เพราะ “ย.โย่ง” มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร

เนื่องจาก “ย.โย่ง” เป็นโรคกระเพาะอาหารอยู่ จึงไม่สามารถช่วยชีวิต “ย.โย่ง” ไว้ได้ (ตามข่าวที่แพร่สะพัดในสื่อมวลชนต่างๆ)

คนไทยจำนวนไม่น้อยจึงเกิดความตระหนกตกใจ บางคนถึงขั้นที่อาจเรียกว่า “ตื่นกลัวจนเกินกว่าเหตุ”

โดยกลัวว่าตนอาจจะประสบชะตากรรมเช่นนั้นได้ อันที่จริง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ที่ทำให้เกิด
โรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งถ้าขาดเลือดมากๆก็จะทำให้เกิด

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันนั้น เกือบทั้งหมดเป็นโรคที่ค่อยๆเกิดหรือเกิดขึ้นอย่างช้าๆ
ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างปุบปับ
แต่อาการอาจเกิดขึ้นอย่างปุบปัปได้ แม้ว่าส่วนใหญ่จะมีอาการเล็กๆน้อยๆ เตือนมาก่อนล่วงหน้า เป็นวัน เป็นเดือน
หรือเป็นปีก็ตาม
โดยคนบางคนอาจคิดว่าอาการเล็กๆน้อยๆเหล่านั้นเป็นสิ่งปกติก็ได้




















โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (coronary atherosclerosis) 
ส่วนใหญ่หรือส่วนหนึ่งอาจจะเริ่มเป็น
(หรือมีแนวโน้มว่าจะเป็น) ตั้งแต่เกิดมาใหม่ๆ

ถ้าได้รับเชื้อพันธุ์(พันธุกรรม)ของโรคนี้มาจากพ่อและ/หรือแม่ที่มีเชื้อพันธุ์ของโรคนี้อยู่
โดยที่พ่อและแม่ไม่มีอาการของโรคนี้ในขณะที่มีลูก
และถึงจะไปตรวจร่างกายก็จะตรวจไม่พบ

เพราะความผิดปกติที่หลอดเลือดหัวใจยังมีน้อยมาก
จนต้องตรวจโดยการตัดหลอดเลือดหัวใจ
มาตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์
จึงจะเห็นความผิดปกตินั้นได้
ซึ่งไม่มีใครเขาทำกันในขณะที่คนๆนั้นยังมีชีวิตอยู่
ที่เราเรียนรู้ได้จึงเป็นการตรวจจากศพเด็กที่ตายหลังเกิดใหม่
หรือศพของทหารหนุ่มๆที่ตายจากกระสุนปืนหรือระเบิดในสนามรบเท่านั้น
เมื่อคนที่มีเชื้อพันธุ์โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเจริญเติบโตขึ้น
ผนังของหลอดเลือดหัวใจจะค่อยๆหนาตัวขึ้นในอัตราที่สูงกว่า
คนที่ไม่มีเชื้อพันธุ์นี้ และเมื่อมีปัจจัยภายนอกมาผสมโรง
เช่น โรคเบาหวาน ความอ้วน ความเครียด การขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่หรือดื่มสุรารวมทั้งไวน์เป็นประจำ 
การกินอาหารไขมันมากโดยเฉพาะไขมันสัตว์
ก็ยิ่งจะทำให้ผนังหลอดเลือดหัวใจหนาตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
จนในที่สุดหลอดเลือดหัวใจจะตีบ(รูที่เลือดไหลผ่านจะตีบแคบลงเรื่อยๆ) ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่พอเพียง
จึงเกิดเป็น “โรคหัวใจขาดเลือด” (ischemic heart disease)
ซึ่งถ้าขาดเลือดมากเพราะออกกำลังมากหรือเครียดมาก

หรือมีสาเหตุ(ชนวน)อื่นๆ ก็จะเกิด
“ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน” (acute myocardial infarction) ซึ่งอาจจะทำให้

1. ตายทันที นั่นคือในขณะที่กำลังเล่นกีฬา สรวลเสเฮฮากับเพื่อนๆ ขับรถ ทำงาน หรืออื่นๆ โดยไม่มีอาการอะไร อยู่ดีๆ หรือจู่ๆ ก็หมดสติฟุบลง ล้มลง แล้วก็หยุดหายใจ และเสียชีวิตทันทีหรือเกือบจะทันทีเนื่องจากหัวใจหยุดเต้น ผู้ที่อยู่ใกล้(มักจะเป็นเพื่อนหรือผู้ร่วมงานหรือญาติมิตร)จะต้องรีบช่วยหายใจและ “ปั๊มหัวใจ” ทันที แล้วตามรถพยาบาล(“รถหวอ”) ที่มีแพทย์และพยาบาลมาช่วยผู้ป่วยทันที ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ทันและไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้

2. เกิดอาการเจ็บแน่นในอกอย่างมาก รู้สึกหายใจไม่ออก เหงื่อแตกเต็มตัว หอบเหนื่อย มือเท้าซีดเย็น หน้าซีด มีอาการเหมือนคนที่กำลังจะขาดใจตาย ให้รีบช่วยตนเองโดยการนั่งพักหรือครึ่งนั่งครึ่งนอน (นั่งพิง) ในท่าที่สบายที่สุด และถ้ามียาอมใต้ลิ้นหรือยาพ่นจำพวกไนโตรกลีเซอรีน (Nitroglycerine) หรือไอโซซอร์ไบด์ (Isosorbide) ให้รีบอมหรือพ่นยาทันที ถ้าภายใน 3-5 นาทีอาการยังไม่ดีขึ้น ให้อมยาหรือพ่นยาต่อไปเรื่อยๆ ทุกๆ 5-10 นาที จนอาการดีขึ้น หรือเกิดอาการปวดศีรษะมาก จึงหยุดอมหรือพ่นยา ในขณะเดียวกัน ควรเตรียมรถเพื่อนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และถ้ามียาฉีดจำพวกมอร์ฟีนอยู่ ให้ฉีดเข้าเส้นทันทีเพื่อลดอาการปวดลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ฉีดยามอร์ฟีนเข้าเส้น(เข้าหลอดเลือดดำ) 1 มิลลิกรัมต่อนาที จนผู้ป่วยหายเจ็บหน้าอกหรือหลับ หรือหายใจช้าลงมากและไม่สม่ำเสมอจึงหยุดฉีดยามอร์ฟีน การฉีดยามอร์ฟีนจนผู้ป่วยหายเจ็บแน่นอก มีความสำคัญมากที่สุดในระยะแรกของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บแน่นอกมาก การไม่ฉีดยานี้หรือฉีดไม่พอ (ผู้ป่วยยังเจ็บแน่นอกอยู่) มักจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น หัวใจเต้นผิดปกติหรือหยุดเต้นกล้ามเนื้อหัวใจตายลุกลามออกไปมากขึ้น เพราะในขณะที่เจ็บแน่นหรือปวดมาก ร่างกายและหัวใจจะใช้พลังงาน(ใช้เลือดและออกซิเจน) มากขึ้นทำให้กล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือดมากๆอยู่แล้ว ยิ่งขาดเลือดมากขึ้น จึงเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น

3. เกิดอาการเหนื่อยหรือแน่นอกตั้งแต่ปานกลางลงไปจนถึงอาการเพียงเล็กน้อย จนคนที่มีอาการอาจคิดว่าเป็นอาการเหนื่อยหรือแน่นตามธรรมดา ที่เกิดจากการทำงานหรือการออกกำลัง หรือในบางคนอาจจะไม่รู้สึกว่ามีอาการอะไรเลยก็ได้ แต่ต่อมาในภายหลังจึงตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อไปตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG หรือ electrocardiogram) หรืออื่นๆ ในกรณีเช่นนี้แพทย์จะให้กินยาป้องกันการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดและป้องกันการเกิดภาวะ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันในครั้งใหม่(ครั้งต่อไป) และให้ผู้ป่วยพกยาอมหรือยาพ่นไว้ใช้ในทันทีในกรณีที่มีอาการเหนื่อยหรือแน่นหน้าอก กรณีของ “ย.โย่ง” จะเข้าได้กับอาการในข้อที่สอง และต่อมาเกิดอาการแทรกซ้อนจากหัวใจเต้นผิดปกติและหัวใจหยุดเต้นที่ไม่ตอบสนองต่อ “การฟื้นชีวิต” (CPR หรือ cardiopulmonary resuscitation) และ ”การกระตุก” (ช็อต) หัวใจด้วยไฟฟ้า (electro-cardioversion) ส่วนเรื่องการมีเลือดออกในกระเพาะอาหารจนทำให้ใช้สารละลายลิ่มเลือด (thrombolytic agents) ไม่ได้ ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ “ย.โย่ง” เสียชีวิต เพราะการใช้สารละลายลิ่มเลือดในภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จะสามารถลดการตายลงได้เพียง 1-3 คน ใน 1oo คนเท่านั้น (โดยทั่วไปคนที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแล้วสามารถไปถึงโรงพยาบาลในสภาพที่ยังรู้สึกตัวดีอยู่ จะเสียชีวิตประมาณ 1o-/5 คน ใน 1oo คน เท่านั้น) อันที่จริง คนที่กลัวว่าจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดหรือเป็นอยู่แล้ว

และกลัวว่าจะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจะสามารถป้องกันภาวะดังกล่าวได้โดย

1. พกยาอมใต้ลิ้นสัก 4-5 เม็ด หรือยาพ่นจำพวกไนโตรกลีเซอรีน หรือไอโซซอร์ไบด์ติดตัวไว้ตลอดเวลา เมื่อมีอาการเหนื่อยหรือแน่นอกหรือหายใจไม่ออก ให้รีบอมยาหรือพ่นยาทันที ถ้าอาการหายไปภายใน 3-5 นาที อาการเหนื่อยหรือแน่นนั้นอาจจะเกิดจากภาวะหัวใจขาดเลือด และเมื่ออาการเหนื่อยหรือแน่นจากภาวะหัวใจขาดเลือดหายไป ก็จะไม่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้

2. ไปพบแพทย์ ถ้ามีอาการเหนื่อยหรือแน่นอกบ่อยๆโดยเฉพาะเวลาออกกำลัง และเมื่อหยุดพักแล้วหายหรืออมยาพ่นแล้วหาย เพื่อแพทย์จะได้ตรวจดูว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดหรือไม่ ถ้าเป็นจะได้ให้ยาเพื่อป้องกันไม่ให้เหนื่อยหรือแน่นอกจากภาวะหัวใจขาดเลือดและป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันด้วย

3. ดูแลรักษาตนเอง เช่น
3.1 ลดความเครียดลง เช่น อย่าทำงานหามรุ่งหามค่ำ อย่าทำงานหนักเกินไป อย่าทำอะไรที่ฉุกละหุกหรือเร่าร้อนเกินไป อย่าทะเลาะกับใคร อย่ามีอารมณ์รุนแรง(แม้แต่การตื่นเต้นดีใจจนเกินไปก็เป็นอันตราย) อย่ากลัวจนเกินเหตุ เป็นต้น
3.2 ลดน้ำหนักตัวเองถ้าอ้วน
3.3 ออกกำลังให้พอดี อย่าขี้เกียจออกกำลัง แต่ก็อย่าออกกำลังจนเหนื่อยเกินไป หรือเกิดอาการแน่นอก อย่าออกกำลังแบบต้องการเอาชนะ อย่าออกกำลังแบบเบ่ง (เช่น ยกน้ำหนัก หรืออื่นๆ ที่ต้องกลั้นหายใจแล้วเบ่ง) เป็นต้น
3.4 พักผ่อนตามสมควร
3.5 เลิกบุหรี่และสุรารวมทั้งไวน์ แต่สำหรับผู้ติดสุราอาจจะดื่มสุราได้ไม่เกินวันละ 1-2 ก๊ง หรือถ้าผสมน้ำหรือโซดาก็ไม่ควรเกิน 2 แก้วบางๆ(ผสมบางๆ) หรือเบียร์ไม่เกินวันละ 1 ขวดเล็ก หรือ 1 กระป๋อง หรือไวน์ไม่เกินวันละ 2-3 อึก เป็นต้น
3.6 รักษาโรคที่เป็นอยู่ให้ดี ถ้ามีโรคอยู่ เช่น ถ้ามีโรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง โรคไขมันในเลือดสูง หรืออื่นๆ ต้องรักษาโรคดังกล่าวให้อยู่ในระดับปกติด้วย จะช่วยป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือดและภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ด้วย เป็นต้น

ส่วนการตรวจ(เช็ก)ร่างกายเพื่อให้แน่ใจว่าตนไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั้น ในปัจจุบัน วิธีการตรวจที่แน่นอนที่สุดคือ
การสวนหัวใจและการฉีดสีเข้าในหลอดเลือดหัวใจเท่านั้น
ซึ่งเป็นวิธีตรวจที่มีอันตรายและอาจทำให้เสียชีวิตหรือเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายระหว่างทำหรือหลังทำได้
จึงควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น ส่วนการตรวจแบบอื่นๆ เช่น

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG หรือ electrocardiogram)
“การวิ่งสายพาน” (EST หรือ exercise stmeass test)
การตรวจเสียงสะท้อนหัวใจ (Echo. หรือ echocardiogram)
การตรวจธัลเลี่ยม (thallium 201 radio-nuclide cardiac imaging) หรืออื่นๆ
ยังเป็นการตรวจที่ให้ผลไม่แน่นอน
เพราะถ้านำมาตรวจในคนทั่วไป
คนที่ปกติอาจถูกวินิจฉัยว่าผิดปกติ
(false positive หรือผิดปกติปลอม)
และคนที่ผิดปกติ อาจถูกวินิจฉัยว่าปกติ
(false negative หรือปกติปลอม)
ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงหรือสูงมาก
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเรื่อง “เจ็บหัวใจ”
ใน“มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 185-194
หรือในหนังสือ “เจ็บหัวใจ” โดยสำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน)

สรุป กรณีของ “ย.โย่ง”
ได้กระตุ้นคนไทยให้ตื่นตัวศึกษาถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
และการป้องกันรักษาภาวะหัวใจขาดเลือดและภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
นอกจากนั้นยังสอนให้เราจะระลึกถึงสัจธรรมอันยิ่งใหญ่คือ
“ไตรลักษณธรรม” อันได้แก่ “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา”
และการปฏิบัติทางสายกลาง คือ “มัชฌิมาปฏิปทา”
หรือการทำอะไรแต่พอดี กินแต่พอดี อยู่แต่พอดี
ทำงานแต่พอดี จึงจะมีชีวิตที่สงบสุข และมีชีวิตที่ยืนยาวได้