ที่มา http://sakulthaionline.com/magazine/reader/2478
สีสันความสนุกในเกมกีฬา นอกจากผู้เล่นที่มีวิธีการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามได้ชาญฉลาด คนเชียร์ที่ต่างคอยส่งเสียงให้ผู้ที่ตนชื่นชอบเป็นกำลังสำคัญ อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไปเสียไม่ได้ก็คือ นักพากย์ที่มีความรอบรู้ในเกมกีฬาตรงหน้าและพูดด้วยลีลาที่สนุกสนานเร้าใจให้ติดตามไปจนจบรายการ
“มืออาชีพ” ฉบับนี้ขอพาไปพบกับผู้คร่ำหวอดในวงการนักพากย์กีฬาคนหนึ่งของเมืองไทย แม้คนที่ไม่เคยติดตามหรือเล่นกีฬาจริงจัง ก็เชื่อว่า ต้องเคยได้ยินชื่อของชายไว้หนวดสวมแว่นตาคนนี้อย่างแน่นอน... บิ๊กจ๊ะ-สาธิต กรีกุล
ก่อนจะมาเป็นนักพากย์กีฬาชื่อดังทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งที่ผ่านมาในอดีตของบิ๊กจ๊ะซึ่งส่งผลดีต่ออาชีพการงานทุกวันนี้ก็คือ การเป็นนักอ่าน โดยเฉพาะหนังสือกีฬา
“ตอนเด็กๆ สมัยประถม นอกจากชอบเล่นกีฬาแล้ว ผมจะชอบอ่านหนังสือกีฬาโดยเฉพาะสยามกีฬา เพราะสนใจเกี่ยวกับข้อมูลสถิติต่างๆ จำได้ว่า คุณพ่อเคยนำหนังสือมาวางไว้ที่หัวเตียงในวันเกิดปีหนึ่งเป็นของขวัญที่ท่านซื้อให้ครับ หลังจากนั้นผมก็จะซื้อมาตลอด ซื้อมาตั้งแต่ยังเป็นรายเดือนจนออกมาเป็นรายปักษ์ รายสัปดาห์ และรายวันครับ... อ่านมาเรื่อยจนกระทั่งเรียนจบจากคณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด ปี ๒๕๒๕ ก็ไปสมัครงานที่บริษัทสยามสปอร์ต จำกัด ช่วงแรกเขาก็ให้ทำเป็นนักข่าว ทำสกู๊ปกีฬา ผมทำอยู่ในส่วนของข่าวกีฬาต่างประเทศ ก็จะมีแปลข่าว เขียนคอลัมน์ด้วย...
หลังจากนั้น ทางสยามสปอร์ตมีรายการ Hotline Star Soccer ที่ออกอากาศทางช่อง ๓ เลยเป็นจุดเชื่อมที่ให้ได้มาทำงานกับทางช่อง ๓ และได้มีโอกาสพากย์การแข่งขันฟุตบอลโลกปี ๑๙๘๖ เป็นงานพากษ์ออกทางโทรทัศน์ครั้งแรกเลยครับจนกระทั่งได้รับการติดต่อจากทางช่อง ๓ ให้พากย์กีฬาด้วย หลังจากทำงานอยู่ ๘ ปี ก็ถูกส่งไปเป็นนักข่าวกีฬาประจำอยู่ที่อังกฤษ ๒ ปี ทำข่าวฟุตบอลเป็นหลัก เดินเข้าออกสนามบอลเพื่อรายงานข่าว เป็นช่วงแรกที่มีการส่งผู้สื่อข่าวคนไทยออกไปทำข่าวต่างประเทศ...
พอกลับมาเมืองไทย ก็มีหลายช่องติดต่อให้ไปทำงานด้วย แต่ก็เลือกมาช่อง ๓ เพราะผมเคยพากย์ที่นี่มาก่อนแล้ว อีกอย่างคือเหมือนเรามาบุกเบิกเสริมทีมพากย์กีฬาให้ช่องด้วย เป็นงานที่ท้าทาย ทำให้มีโอกาสเต็มที่กับงานนี้มากครับ จนถึงวันนี้ก็ทำมาครบ ๓ ทศวรรษพอดีสำหรับการพากย์และครบ ๒๐ ปี สำหรับการเป็นผู้ประกาศข่าวกีฬา” (ยิ้ม)
พากย์กีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลมาหลายปีจนเป็นที่รู้จัก แต่หลายคนอาจนึกไม่ออกว่า ในการทำงานขณะนั้นต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง บรรยากาศเป็นเช่นไร กูรูคนนี้มีคำตอบ
“จริงๆไม่มีอะไรมากครับ เราเข้าไปนั่งในห้องพากย์เสียง ตรวจเช็คอุปกรณ์เบื้องต้น แต่สำคัญที่สุดคือ เราต้องเตรียมข้อมูลไว้ก่อน เป็นไปไม่ได้ที่เราจะจำทุกอย่างในสมอง แต่สิ่งที่อยู่ในสมอง ผมคิดว่ามันคืออาวุธเด็ดที่แต่ละคนมีและแตกต่างกันไป เวลาเราอยากพูดถึงนักกีฬาคนนี้ตอนนี้ เราก็หยิบขึ้นมาพูดได้เลย รายชื่อนักฟุตบอลมีกี่คน ชื่ออะไร มีลูกเล่นอย่างไร ตรงจุดนี้ถือเป็นความสามารถเฉพาะตัวของนักพากย์ ต้องจำตัวผู้เล่นให้ได้มากที่สุด สังเกตจากลักษณะท่าวิ่ง ตำแหน่งที่เล่น บุคลิกลักษณะท่าทางของผู้เล่น แต่ก็มีที่พากย์ยากคือ ตัวผู้เล่นเป็นที่รู้จักน้อยกับชื่อผู้เล่นออกเสียงยาก นอกจากนี้เวลาพากย์ก็ต้องถ่ายทอดออกมาให้ผสมผสานพอดี ไม่ใช่นั่งอ่าน ถ้าการแข่งขันยังไม่สนุกเท่าไรก็อาจจะต้องสอดแทรกข้อมูลที่เตรียมไว้ แต่ถ้ามีอะไรตื่นเต้นเราก็อิงไปกับเกมด้วย จะเรียกว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ผสมรวมกันก็คงได้ครับ”
นักกีฬาย่อมมีเทคนิคการเล่นของตัวเอง เฉกเช่นเดียวกับนักพากย์กีฬาก็ต้องมีกลเม็ดการทำงานที่มีลูกเล่นลีลาแพรวพราวไม่ต่างกัน
“การพากย์กีฬาฟุตบอล คนดูหวังจะเห็นความสนุกตื่นเต้น ไฮไลท์ที่สุดอยู่ที่การทำประตู แต่นอกเหนือจากการทำประตูแล้ว ก็ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นลูกหวาดเสียว ขณะที่บางคู่จบลงด้วยคะแนน ๐-๐ แต่ในระหว่าง ๙๐ นาทีนั้นมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่า น่าตื่นเต้นมาก ซึ่งจะทำให้คนดูสนุกลุ้นไปด้วยหรือไม่นั้นก็อยู่ที่เราพากย์ให้เป็นไปตามเกมนั้นได้หรือเปล่า คือ เกมสนุกเราก็ต้องสนุกไปด้วย เหมือนเป็นผู้ดูที่ต้องเป็นผู้บรรยายไปพร้อมกัน ถ้าเกมฟุตบอลสนุกอยู่แล้ว เราก็ต้องพากย์ให้สนุกตามไปด้วย แต่ก็มีบางครั้งหรือบ่อยครั้งที่เกมไม่สนุก แต่จะทำอย่างไรให้คนดูไม่รู้สึกเบื่อ บางครั้งก็ต้องงัดมุกตลกขำๆมาสอดแทรก หรือดึงข้อมูลที่น่าสนใจมาดึงคนดู อาจต้องพยายามพูดให้เห็นว่า คู่นี้นะ ถ้าใครยิงได้จะเข้ารอบ ใครพลาดก็ตกรอบ ทำให้คนดูลุ้นว่าเดี๋ยวจะต้องมีการยิงประตูแน่ หรือยกตัวอย่างว่า ทีมเอเจอกับทีมบีมาสิบครั้งแล้วแพ้มาตลอดทั้งสิบ แต่เกมนี้ยังไม่แพ้หรือกลายเป็นทีมนำ ก็ต้องพูดให้คนดูรู้สึกว่า เดี๋ยวจะทำลายอาถรรพ์ที่จะต้องแพ้หรือไม่ ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือเปล่า...
เดี๋ยวนี้มีพากย์เป็นคู่ด้วย ซึ่งมีข้อดีคือ พอผมพากย์นำ อีกคนก็จะเป็นผู้วิเคราะห์เกม เพิ่มเติมข้อมูลเข้าไป ตัวเราเองก็เหนื่อยน้อยลง ถ้าทำงานคู่กันไปสักพัก คุ้นเคยกันแล้วก็จะไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร จะรู้จังหวะกันและจะเข้าใจยอมรับบทบาทกับเนื้อหาของแต่ละคนกันดี...
ส่วนเรื่องน้ำเสียง โทนเสียงก็มีส่วนสำคัญ จังหวะจะโคนในการพูด การมีอารมณ์ร่วมไปด้วย ช่วงตรงไหนที่ตื่นเต้น สนุกก็ต้องเสียงสนุกตื่นเต้น ตรงไหนเศร้าก็ต้องเสียงนิ่ง ต้องเป็นไปตามที่เห็น ที่ลืมไม่ได้คือ การออกเสียง อักขระคำควบกล้ำเป็นสิ่งสำคัญเวลาเราพูดภาษาไทย ถ้าปล่อยปละละเลยจะไม่เป็นผลดี แต่ก็ใช่ว่าเวลาพากย์จะต้องออกเสียงชัดที่สุด แต่ก็ต้องพูดให้มีออกเสียงควบกล้ำให้ถูก คำไหน ร.เรือ คำไหน ล.ลิง อย่างน้อยที่สุด ก็ฟังดูดีกว่าการพูดไม่มีคำควบกล้ำเลย ซึ่งผมมองว่า ภาษาไทยสละสลวย ต้องพยายามช่วยกันรักษาไว้ ทุกคนควรใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องในงานของตนเองถ้ามีโอกาสถ่ายทอดออกมา”
บิ๊กจ๊ะบอกว่า ปัญหาที่เกิดจากการพากย์นั้นถือว่ามีเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับการเป็นผู้ประกาศข่าวที่อยู่หน้ากล้องสดๆ
“เมื่อก่อน การพากย์จะไม่มีบท พากย์ไปตามที่เราเห็น ตามข้อมูลที่เรามี แต่ก็ต้องให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพด้วยนะครับ แต่การพากย์ในปัจจุบัน จะมีการเข้าช่วงผู้พากย์พูดหน้ากล้องก่อนเริ่มพากย์ ตรงนั้นเราก็ต้องมีข้อมูล รับผิดชอบตัวเองเต็มที่ทั้งสีหน้าและคำพูด บางทีคิวอาจจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นก็ต้องปรับสีหน้า หรือเวลาอ่านข่าวต้องอ่านตาม script บางครั้งภาพที่ออกหน้าจอสั้นกว่าบทที่เขียน ทำให้ไม่ทันกัน หรือข้อมูลนั้นผิด คนดูมองออก แต่ที่เขาไม่รู้ว่าเป็นเพราะ script ผิดมาตั้งแต่ต้นแล้ว ซึ่งคนอ่านข่าวทุกคนกลัวตรงจุดนี้กันมาก โดยส่วนตัวผมแล้วจะขอตรวจทานแก้ไขถ้ามีตรงไหนไม่ถูกต้อง”
นักพากย์หนวดงามกล่าวว่า ในชีวิตการทำงานของตนแล้ว มีอยู่ครั้งเดียวที่ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่เจ้าตัวให้คำจำกัดความไว้ว่า “หลุดโลก” และไม่เคยปรากฏอีกเลย
“เกมนั้นเป็นเกมที่ทีมชาติไทยแข่งกับทีมเกาหลีใต้ในฟุตบอลเอเชียนเกมส์ปี ๑๙๙๘ ไทยเราเป็นเจ้าภาพ แข่งกันที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ไทยเราเหลือผู้เล่นแค่ ๙ คน แล้วสมัยนั้นมีกฎ Golden Gold คือ ใครยิงเข้าก็ชนะไปเลย นัดนั้นผมเป็นผู้พากย์คนเดียวครับ พากย์ในสนามฟุตบอลเลย ปรากฏว่าหลังจาก ดุสิต เฉลิมแสน เขี่ยบอลให้ ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล ยิงเข้าประตู ซึ่งเป็นลูกที่สวยงามมาก ทำให้เราชนะไป ๒ ต่อ ๑ แฟนบอลทุกคนกระโดดดีใจจนตัวลอย ผมเองขนาดใส่ Head Phone ก็กระโดดขึ้นมาทั้งอย่างนั้น มีอารมณ์ร่วมไปกับกองเชียร์ด้วย เรียกว่าตื่นเต้นดีใจเสียงหลงกันเลยครับ”
การทำงานทุกชนิด หากไม่มีใจรักเสียแล้ว ก็ยากนักที่ผลของงานนั้นจะบรรลุไปได้ดังหวัง บิ๊กจ๊ะระบุว่า งานที่ทำจากใจย่อมให้คุณค่าสูงต่อชีวิต
“การพากย์กีฬา เราต้องมีใจรักและสนใจในเรื่องนี้ก่อน อย่างผมพากย์ฟุตบอล ก็เพราะมีใจรักและสนใจฟุตบอล ตอนเด็กผมเคยเป็นนักฟุตบอลมาก่อนด้วยไงครับ ก็ทำให้เรามีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเล่นกีฬาชนิดนี้ และอย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับผู้เล่น กฎ กติกาการเล่น ยิ่งรู้เยอะมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นผลดีครับ ถ้าเป็นการพากย์ที่ออกมาในลักษณะที่เรารู้จริง เสียงที่ออกมาก็จะฟังดูเป็นธรรมชาติ มีเท่าไรก็เตรียมมาให้พร้อม แต่สิ่งสำคัญคือ จะถ่ายทอดออกมาอย่างไร บางคนรู้เยอะแต่พูดไม่เก่งก็มี แต่ก็อย่างที่หลายคนพูดกันว่า อาจจะต้องมีทั้งพรสวรรค์และพรแสวง บางคนมีพรสวรรค์มากก็โชคดีไป แต่ผู้ที่มีน้อยก็ต้องอาศัยความพยายามพัฒนาตนเอง เรียนรู้ข้อมูลต่างๆในสิ่งที่จะทำครับ...
ทุกวันนี้ เวลาจะพูดอะไรออกไป ต้องระมัดระวัง สมองเราต้องกลั่นกรองทุกคำพูดที่พูดออกไปและต้องรับผิดชอบไปด้วย นี่คือสิ่งสำคัญ สิ่งที่พูดไปอาจไม่ตรงใจคนทั้งหมด แต่ผมต้องมั่นใจก่อนว่า ภาพที่เราเห็นแล้วพูดออกไปกับสิ่งที่คนดูทางหน้าจอซึ่งส่วนใหญ่มีไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๐ ต้องคิดเหมือนเรา ซึ่งถ้าพวกเขาเข้าใจยอมรับสิ่งที่เราพูดไว้ ผมถือว่างานนั้นบรรลุเป้าหมายแล้วครับ”
ลีลาการเล่นที่สนุกสนานตื่นเต้นบนสนามใหญ่ กองเชียร์หลากสีสัน ยังคงเป็นบรรยากาศอันน่าจดจำของผู้ชม เช่นเดียวกับเสียงบรรยายที่เร้าใจ มีข้อมูลและรู้ทิศทาง บ่งบอกถึงการเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีของผู้ทำหน้าที่ “นักพากย์กีฬา”
“สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้ของการพากย์ คือ การออกเสียงคำควบกล้ำอักขระ ต้องพูดให้ชัดเจน ภาษาไทยเป็นภาษาที่สละสลวย ทุกคนควรใช้ให้ถูกต้องในงานที่ทำ”
(ตีพิมพ์เมื่อ ๒๔ กรกฎาคม ๒๐๑๒)
เกิด 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2502
พื้นเพเป็นชาวจังหวัดภูเก็ต
มีนามปากกา ว่า “บิ๊กจ๊ะ”
จบการศึกษาระดับมัธยมจาก โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
จากนั้นเข้าเรียนที่
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
ทว่าต่อมาย้ายไปศึกษา
ในภาควิชาการตลาด
คณะบริหารธุรกิจ
ของวิทยาลัยกรุงเทพ
(ปัจจุบัน คือมหาวิทยาลัย
กรุงเทพ)
เป็นรุ่นที่ 16 เนื่องจากบิดาเป็น
นักธุรกิจ จึงสนับสนุน
ให้ศึกษาในสายนี้
เมื่อจบการศึกษาในปีพ.ศ. 2525
ก็เริ่มงานกับแผนกการค้าระหว่างประเทศ
ธนาคารไทยพาณิชย์
อยู่ระยะหนึ่ง
จากนั้นจึงเข้าทำงานกับ
บริษัท สยามสปอร์ต
ซินดิเคท จำกัด
ด้วยความที่รู้จักกับ ย.โย่ง เอกชัย นพจินดา และ
น้องหนู ธราวุธ นพจินดา
โดยเริ่มจากการเป็นผู้สื่อข่าว นักแปลและคอลัมนิสต์ก่อน
ในปี พ.ศ. 2525
ต่อมาเริ่มงานพากย์กีฬาครั้งแรก คู่กับจักรพันธุ์ ยมจินดา
ในศึกฟุตบอลโลก 1986
ที่เม็กซิโก คู่ระหว่างเยอรมนีตะวันตก กับอุรุกวัย
สาธิตชื่นชอบฟุตบอลมาตั้งแต่เด็กๆ
โดยทีมที่ชอบมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม
คือแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เอกลักษณ์ประจำตัวของเขาคือ
ไว้หนวดเหนือริมฝีปากมาจนปัจจุบันนี้
โดยได้รับอิทธิพลมาจาก จอร์จ เบสต์ อดีตกองกลาง
ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด,
อัล ปาชิโน ดาราฮอลลีวูด และแบร์รี กิบบ์ นักร้องวงบีจีส์
ทั้งนี้ เขาเคยโกนหนวดมาครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2542
หลังจากประกาศไว้หากแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด
สามารถชนะเลิศฟุตบอล 3 รายการใหญ่ คือพรีเมียร์ลีก,
เอฟเอ คัพ และยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก
นอกจากนั้นยังประกาศอีกว่าจะโกนหนวดออกตลอดชีวิต
หากทีมชาติไทย ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลโลก
ปัจจุบันสาธิตเป็นผู้ประกาศข่าวกีฬา
และผู้บรรยายกีฬาทางช่อง 3 (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534),
ผู้บรรยายกีฬาทางซีทีเอชและทรูวิชันส์
รวมถึงเป็นพิธีกรประจำรายการ บิ๊กจ๊ะ เจาะกีฬา
ซึ่งออกอากาศสด ในทุกคืนวันจันทร์ เวลา
21:00 - 22:00 น. ทางช่องสยามสปอร์ตนิวส์
ทรูวิชันส์ช่อง 114
และปัจจุบันรายการนี้ได้ออกอากาศเป็นบันทึกเทป
ในทุกคืนวันจันทร์ เวลา 20:30 - 21:00 น.
ทางช่องทีสปอร์ตส์ แชนแนล