Custom Search

Mar 2, 2020

ฟังหมอไทย ความจริงเกี่ยวกับหน้ากากอนามัย ป้องกันติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้

ไทยรัฐออนไลน์2 มี.ค. 2563 18:26 น.


ภาพจาก chiangmainews.co.th

“หน้ากากอนามัย” หนึ่งในตัวช่วยเพื่อการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อโควิด-19 ตามความเข้าใจของคนทั่วไป แต่เมื่อผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยแพทย์มหาวิทยาลัยไอโอวา ออกมาระบุคนสุขภาพดีไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากใดๆ เพราะไม่มีหลักฐานว่าหน้ากากจะช่วยปกป้องได้ และยิ่งเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อขึ้นอีก ทำเอาคนไทยที่หวาดวิตกกับเชื้อตัวนี้เกิดความสับสน

  • เพราะอะไร? การใส่หน้ากากอนามัย ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ ตามที่ผู้เชี่ยญชาญบอก เพราะหากใส่อย่างไม่ถูกต้อง จะเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้น ตราบใดที่ยังเผลอแตะต้องใบหน้าตัวเองบ่อยครั้ง สรุปว่าไม่รอด
  • อีกอย่างการที่เชื้อโควิด-19 ติดต่อผ่านทางสารคัดหลั่ง ไม่ใช่ทางอากาศ และหน้ากากอนามัยออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้สารคัดหลั่งหลุดกระเด็นจากผู้ป่วยที่ใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกจากบ้าน ไม่ให้คนอื่นติดโรค
  • หากคิดว่าการซื้ออุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจอย่างดีมาใส่ เพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 ต้องใส่ให้ถูกต้อง เพราะเชื้อโรคมีโอกาสจะรั่วไหลเข้ามา ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อ มันจะกักทุกสิ่งทุกอย่างในอากาศมาเก็บไว้ข้างใน และคนส่วนมากมักเผลอแตะใบหน้าตัวเอง
  • ที่สำคัญการใส่หน้ากากอนามัย แม้จะทำให้รู้สึกว่าปลอดภัย แต่ถ้าไม่ล้างมือก่อนและหลังจากถอดหน้ากาก ความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มขึ้นอีก จากมือที่ปนเปื้อนเชื้อโรคโดยไม่รู้ตัว แล้วเผลอแตะสัมผัสปากหรือใบหน้า ดังนั้นถ้าไม่ล้างมือ อย่าไปสัมผัสปากหรือใบหน้า
“ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ขอคำอธิบายจาก “ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และกรรมการให้คำปรึกษา "เชื้อไวรัสโควิด-19" โดยขอตอบอย่างกำปั้นทุบดิน ว่า การที่ผู้เชี่ยวชาญออกมาพูดว่าคนปกติไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัย ก็เพราะหน้ากากอนามัยไม่ได้ช่วยป้องกันจากการติดเชื้อโควิด-19 หรือประมาณว่ายิ่งใส่แล้วยิ่งติดเชื้อ เพราะใส่หน้ากากไม่ถูกต้อง และการที่หมอพยาบาลดูแลคนไข้ ต้องใส่หน้ากากถือเป็นมาตรฐาน เพื่อป้องกันละอองฝอยจากผู้ป่วยเข้ามา และถามว่าหากเราไม่ใช่หมอไม่ใช่พยาบาล ไปเดินในที่สาธารณะมีคนหนาแน่น ซึ่งอาจมีคนแพร่โรคติดเชื้อ หรือเชื้อโควิด-19 จากละอองฝอย เข้าเยื่อบุปาก จมูก และตา ดังนั้นจะไม่ให้ใส่หน้ากากอนามัยได้อย่างไร

“ถ้ามีอาการป่วยต้องใส่เลยหน้ากากอนามัย ป้องกันการแพร่เชื้อให้คนอื่น และถ้าปกติไม่ป่วยก็ต้องใส่หน้ากาก ป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ เวลาออกไปข้างนอกมีคนพลุกพล่าน หรือใส่หน้ากากผ้าแบบซักแล้วนำมาใช้ซ้ำ แค่ป้องกันละอองฝอยมาถูกตัวเรา เหมือนเราใส่หน้ากากแบบมีฝาครอบหน้า ตราบใดไม่ได้เอามือไปสัมผัสกับเยื่อบุ ไม่เอามือไปขยี้ตา เอามือไปไชจมูก จับฝีปาก หลังไปสัมผัสกับพื้นผิว ก็ไม่ติดเชื้อ ดังนั้นต้องล้างมือฆ่าเชื้อโรคทุกครั้ง หรือจะไม่ใส่หน้ากากอนามัยก็ได้ หากเดินไปสวนลุมพินี หรือไปที่ไหนแล้วมีเราคนเดียว”

สิ่งที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์บอก สรุปแล้วหน้ากากอนามัย ไม่ได้ช่วยป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ 100% ซึ่งทุกคนต้องดูแลตัวเองโดยการล้างมือบ่อยครั้ง เป็นการป้องที่ดีที่สุดในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ และยอมรับว่าชุดหมีที่แพทย์สวมใส่ป้องกันเชื้อโรค ไม่สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ จะเห็นได้จากที่ผ่านมามีแพทย์ในจีนเสียชีวิต ดังนั้นอย่าพยายามเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงในที่ชุมชน หรือในพื้นที่ที่จัดกิจกรรมมีคนเป็น 100 แม้มีเทอร์โมสแกนไม่สามารถช่วยได้ เนื่องจากอาจมีคนติดเชื้อหลายรายไม่มีไข้ ไม่แสดงอาการใดๆ ออกมา ทำให้ไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็น แต่สามารถแพร่เชื้อไปติดคนอื่นได้

พร้อมแสดงความกังวลต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แม้กระทรวงสาธารสุขมีการปรับเกณฑ์เฝ้าระวังผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนที่มีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจ 5 คนขึ้นไป ในสถานที่เดียวกันและสัปดาห์เดียวกันก็ตาม แต่กระบวนการควบคุมและวิธีการปฏิบัติควรทำอย่างไร โดยเฉพาะมีคนจำนวนมากยังใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ระบบขนส่งมวลชน โรงแรม และห้างต่างๆ ซึ่งการปรับเกณฑ์เฝ้าระวังผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนจึงยังไม่เพียงพอ หรือหากจะประกาศเข้าสู่เฟส 3 ไม่รู้ประกาศไปทำไม เพราะไม่มีประโยชน์ หากยังไม่มีวิธีปฏิบัติกับสิ่งที่คนใช้บริการร่วมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งน่ากลัวมาก.