คุณจาตุรนต์เริ่มฉายแววความเป็นอัจฉริยะทางดนตรีตั้งแต่วัยเด็ก
โดยการใช้นิ้วมือหมุนแผ่นเสียงพร้อมกับร้องเพลงเอง
ตอนอายุเพียงสองขวบ
เมื่อเข้ารับการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก
คุณจาตุรนต์สามารถทำคะแนนได้ดีเลิศ สอบได้ที่หนึ่ง และได้พาสชั้น
ช่วงเรียนชั้นมัธยม คุณจาตุรนต์ได้ร่วมกับพี่ๆและเพื่อนๆรุ่นพี่
เล่นดนตรีในนาม "วงดานิโก้ (Dhanico)" ในตำแหน่งนักร้องนำ
และมือแทมโบรีน และได้เข้าร่วมการประกวดวงดนตรีจน
ชนะเลิศรางวัลกีต้าร์ทองคำ จากนั้นก็หันมาร่วมกับ
คุณดนู ฮันตระกูล และเพื่อนอีกสองคน ก่อตั้ง
"วงเทเบิ้ลแอนด์แชร์ (Table And Chair)" รับตำแหน่งมือกีตาร์
เมื่อศึกษาในระดับชั้นมัธยมปลาย
คุณจาตุรนต์ได้ก้าวเข้าสู่การเป็นนักดนตรีอาชีพ
สามารถหารายได้เลี้ยงตนเองโดยไม่ต้องรบกวนพ่อแม่
ทั้งยังแบ่งเวลาช่วยกิจกรรมของโรงเรียนอัสสัมชัญ
ในตำแหน่งประธานเชียร์ในงานแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตร
ซึ่งต้องใช้ทั้งความสามารถในด้านการเอนเตอร์เทน
และความสามารถในการเป็นผู้นำของคนจำนวนมาก
อีกทั้งยังเป็นผู้ทำภาพโค้ดแปลอักษรที่ได้รับเลือกขึ้นแสดงบน
อัฒจันทร์เชียร์ด้วย ในขณะที่ผลการเรียนของคุณจาตุรนต์
ก็ยังอยู่ในระดับแนวหน้า
เมื่อจบชั้นมัธยม คุณจาตุรนต์ได้สอบเข้าศึกษาต่อที่
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และได้ร่วมกับคุณเรวัต พุทธินันทน์ และคุณอุกฤษณ์ พลางกูร
เพื่อนรุ่นพี่ซึ่งเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน เล่นดนตรีในนาม
"วงเยลโล่เรด (Yellow - Red)"
โดยคุณจาตุรนต์เป็นมือกีตาร์ พร้อมๆกันนั้นเองก็ได้ร่วมกับ
เพื่อนฝูงคนอื่นๆ เล่นดนตรีในนาม "วงไดนามิค ( Dynamic)"
งานนี้คุณจาตุรนต์เป็นมือกลอง
คุณจาตุรนต์สามารถเล่นเครื่องดนตรีได้หลายชนิด
ทั้งกีตาร์, เบส, กลอง, เมาท์ออร์แกน, เพอร์คัชชัน,
คีย์บอร์ด และอื่นๆ รวมถึงการเป็นนักร้อง
ประกอบกับความเป็นผู้มีอัธยาศัยดี เป็นที่รักใคร่
ทำให้มีเพื่อนฝูงชักชวนไปเล่นในวงต่างๆอย่างไม่ขาดสาย
นี่ยังไม่รวมถึงการเล่นดนตรีแบบร้องเอง บรรเลงคนเดียว
แต่คนดูแน่นขนัด
ในวัยเพียงยี่สิบเศษ คุณจาตุรนต์ได้รับการชักชวนจาก
คุณจิรพรรณ อังศวานนท์ ให้เข้าเล่นดนตรีกับ
"วงแฟนตาซี (Fantasy)" ในตำแหน่งกีตาร์โซโล่
และได้เดินทางไปเล่นดนตรีที่ประเทศเยอรมนี,
สวิสเซอร์แลนด์, ออสเตรีย และประเทศอื่นๆในทวีปยุโรป
หลังจากเดินทางกลับประเทศไทย
คุณจาตุรนต์ได้มาเล่นกีต้าร์ให้กับวงอิสซึ่น
ก่อนผันตัวไปเป็นอาจารย์สอนทฤษฎีดนตรีที่
"โรงเรียนดนตรีศศิลิยะ" โดยการชักชวนของคุณดนู ฮันตระกูล
และคุณเขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ พร้อมๆไปกับการร่วมงานกับ
"กลุ่มบัตเตอร์ฟลาย (Butterfly)"
ผลิตผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์และ
เพลงโฆษณาที่โด่งดังในยุคนั้นในวัยสามสิบต้นๆ คุณจาตุรนต์ได้รับการชักชวนจาก
คุณเรวัต พุทธินันทน์ เข้าทำงานเป็นนักแต่งเพลงรุ่นบุกเบิกของ
"บริษัทแกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนท์ หรือ GMM Grammy"
ในปัจจุบัน เพียงไม่นาน คุณจาตุรนต์ก็ทำให้
"เพลง บทเพลงเพื่อเด็ก" ที่ขับร้องโดยคุณเรวัต พุทธินันทน์
ได้รับรางวัลบทเพลงเพื่อเยาวชนยอดเยี่ยมแห่งประเทศไทย
และต่อมา "เพลง ความรักสีดำ" ที่ขับร้องโดย
คุณนันทิดา แก้วบัวสาย ก็ได้รับรางวัลบทเพลงสร้างสรรค์
แห่งอาเซียน จนได้รับเชิญไปร่วมพิธีมอบรางวัลซึ่งจัดขึ้น
ที่ประเทศฟิลิปปินส์ นอกจากนั้นคุณจาตุรนต์ยังได้
ร่วมเล่นริธึ่มกีตาร์ในการแสดง "คอนเสิร์ต ปึ้กกก...!"
คอนเสิร์ตที่ยิ่งใหญ่ของคุณเรวัต พุทธินันทน์
ในยุคต้นๆของแกรมมี่ฯอีกด้วย
คุณจาตุรนต์ได้แต่งเพลงให้กับบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เรื่อยมา
จนมีผลงานเพลงโด่งดังนับไม่ถ้วน และทำให้ตนเองมีชื่อเสียง
เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีแก่นักฟังเพลงข้ามยุคข้ามสมัยมาเนิ่นนาน
หลายสิบปี ทั้งแนวเพลงป๊อปๆ หวานๆ ซึ้งๆ
ตลอดจนถึงแนวเพลงร็อคๆ เท่ๆ มันๆ ไม่ใช่แค่ทำดนตรี
แต่คุณจาตุรนต์ยังสามารถเขียนเนื้อเพลงได้เฉียบขาดบาดอารมณ์
และเป็นโปรดิวเซอร์ผู้สร้างสไตล์ใหม่, แปลก, แตกต่าง
สร้างให้ศิลปินมีชื่อเสียงมาประดับวงการเพลงไทยมากมาย
ในวัยห้าสิบปลายๆ คุณจาตุรนต์เริ่มรู้สึกต้องการ
ใช้ความสามารถทางดนตรีสร้างสรรค์บทเพลงในแนวทางเสรี
จึงริเริ่มก่อตั้งสตูดิโอเล็กๆกับภรรยา ใช้ชื่อว่า "สุวรนต์ สตูดิโอ"
ซึ่งคุณจาตุรนต์ทำเองทุกหน้าที่ ทั้งโปรดิวซ์, แต่ง, ร้อง, บรรเลง,
ทำโปรแกรม, มิกซ์เสียง จนกระทั่งตรวจสอบคำผิด
จนสำเร็จเป็นผลงานซีดีเพลง หลายแนว หลายอัลบั้ม
ด้วยความเป็นผู้มีพลังทางดนตรีอย่างแรงกล้า
ที่เวลาไม่อาจลดทอนมันลงได้ ทำให้คุณจาตุรนต์ เอมซ์บุตร
เป็นผู้ที่เกิด, เติบโต,
ใช้ชีวิต และสิ้นสุดลมหายใจ โดยมีดนตรีอยู่ในทุกอณู
ของเลือดเนื้อและจิตวิญญาณ
แม้ในวินาทีสุดท้ายที่ทุกอย่างหยุดนิ่ง นิ่งจนน่าใจหาย
มันก็คือจังหวะหยุดที่ยิ่งใหญ่ ที่สะเทือนใจผู้ได้ชม
คอนเสิร์ตหนึ่งวินาทีนั้นของคุณจาตุรนต์ เอมซ์บุตร
จะถูกบันทึกแนบแน่นอยู่ในโลกใบนี้ตลอดไป
เขียนโดย สุวนิตย์ ชลศึกษ์
(2:30 น. 26 เมษายน 2567 คืนที่สองของการจากไป)
จากพี่ตั๋ม จาตุรนต์ เอมซ์บุตร ถึงพี่ป้อม ดนู ฮันตระกูล
พี่ตั๋มเล่าให้ฟังอยู่เสมอว่าเล่นดนตรีกับพี่ป้อมมาตั้งแต่ยังเด็ก
สมัยยังเรียนอยู่ที่อัสสัมชัญ พี่ตั๋มเรียนอยู่อัสสัมชัญ บางรัก
ส่วนพี่ป้อมอยู่อัสสัมชัญ ศรีราชา
ช่วงวันหยุดที่พี่ป้อมเดินทางมาร่วมซ้อมกับวง หรือมาต่อเพลงกัน
พี่ตั๋มรู้สึกทึ่งมากเมื่อได้เห็นว่าพี่ป้อมจดมันลงเป็นตัวโน้ต
เพื่อนำกลับไปซ้อมต่อ และก็ยังมีเรื่องน่าทึ่งอื่นๆอีกมากมาย
ที่ทำให้พี่ตั๋มนับถือในความเก่งของพี่ป้อม
ไม่ว่าพี่ตั๋มจะสงสัยอะไรในทางดนตรี
พี่ป้อมก็จะมีคำตอบให้อยู่เสมอ
พี่ตั๋มไม่รู้ว่าพี่ป้อมมีความรู้ทางดนตรีเยอะแยะขนาดนั้น
มาจากที่ไหน หรือตั้งแต่เมื่อไร พี่ตั๋มรู้แต่เพียงว่า
พี่ตั๋มได้รับความรู้ทางดนตรีมากมายจากพี่ป้อม
แบบเพื่อนสอนเพื่อน ตลอดเวลาที่รู้จักกัน
และมันก็เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้พี่ตั๋มเปิดประตูเข้าสู่
ถนนสายดนตรีได้อย่างมั่นใจ
และพัฒนามาจนเป็นพี่ตั๋มอย่างที่ทุกคนรู้จัก
พี่ตั๋มบอกเสมอว่าพี่ป้อมเป็นอาจารย์สอนดนตรีคนแรกของพี่ตั๋ม
และเป็นเพื่อนคนเดียวที่พี่ตั๋มสามารถก้มลงกราบเท้า
ได้อย่างภาคภูมิใจ และพี่ตั๋มก็หาโอกาสที่จะทำเช่นนั้นเสมอ
แต่ยังไม่เคยมีโอกาส
ขอกราบเท้าขอบคุณพี่ป้อมแทนพี่ตั๋มค่ะ
สุวนิตย์ ชลศึกษ์
(1 พฤษภาคม 2567 หนึ่งสัปดาห์ของการจากไป)