Custom Search

Nov 16, 2020

ย้อนเวลา “ผู้ว่าฯ กทม.” ลงพื้นที่ลุยน้ำ-ตากฝน ในความทรงจำ




เรื่อง และ ภาพ ที่มาจาก  PPTV Online

14 ต.ค.60 กลายเป็นอีกหนึ่งวันในประวัติศาสตร์ของ
“กรุงเทพมหานคร” ที่ต้องเผชิญหน้ากับน้ำท่วมครั้งใหญ่
จนทำให้ถนนหลายสายมีน้ำท่วมสูงจนรถสัญจรไม่ได้
ประชาชนต้องเดินลุยน้ำเพื่อยังจุดหมาย จนหลายคนขนานนามว่า
นี่คือ “ทะเลกรุงเทพฯ” แต่อีกสิ่งหนึ่งที่มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากเมื่อน้ำท่วมในแต่ละครั้ง
นั่นก็คือ“ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร”คือคนที่ทำน้ำท่วมกรุงเทพฯทุกครั้ง
มักจะถูกเรียกหา เพื่อแก้ปัญหาซ้ำซากของเมืองกรุงฯ ทุกครั้งไป
และภาพชินตาของทุกคนคือการที่ผู้ว่าฯ ต้องลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วม

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งหนึ่งในวันนี้ของกรุงเทพมหานคร
ในวันที่ 14 ต.ค. 60 ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา
คงกลายเป็นความทรงจำที่ถูกกล่าวขาน
ถึงผู้ว่าฯกทม. คนปัจจุบัน
อย่าง“พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง” ที่ออกมายืดอกรับว่า
น้ำท่วมครั้งนี้ “ไม่ต้องโทษใคร ให้โทษผมคนเดียว”
โดยคำพูดนี้มาจากการลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา
ถึงแม้ว่าตั้งแต่การรับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. อาจจะมีบ้างที่ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมบ้าง
แต่เชื่อว่าคงไม่มีครั้งไหนหนักเท่าวันนี้แล้ว
ย้อนเวลา “ผู้ว่าฯ กทม.” ลงพื้นที่ลุยน้ำ-ตากฝน ในความทรงจำ  
จากเหตุการณ์ในวันนี้ ทีมนิวมีเดียพีพีทีวี จะพาไปย้อนความทรงจำถึงท่านผู้ว่าฯ กทม.
ท่านก่อนๆ ว่ามีใครบ้างที่เราจะชินตากับภาพลุยตรวจน้ำท่วม
เริ่มต้นที่ “พล.ต.จำลอง ศรีเมือง” อดีตผู้ว่าฯ กทม.
ในปี พ.ศ.2528-2535 ก็เคยเผชิญหน้ากับน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ไม่น้อย
เนื่องจากเป็นผู้ว่าฯ สองสมัยติดต่อกัน และกรุงเทพฯ ก็พบเจอกับปัญหาน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ
และในปี พ.ศ.2529 ซึ่งเป็นปีที่ ผู้ว่าฯ คนปัจจุบันบอกว่าเคยมีปริมาณน้ำฝนสูงเกิน 200 มิลลิเมตรเช่นกัน
ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ส่วนใหญ่ของฝั่งกรุงเทพฯและธนบุรี
โดย พล.ต.จำลองให้สัมภาษณ์ว่าเนื่องจากฝนตกหนักที่สุดในรอบ 1,000 ปี

ย้อนเวลา “ผู้ว่าฯ กทม.” ลงพื้นที่ลุยน้ำ-ตากฝน ในความทรงจำ  
คนถัดมาคงเป็นที่คุ้นชินตา ไม่ใช่ใครที่ไหน “ดร.พิจิตต รัตตกุล” อดีตผู้ว่า กทม.
ตั้งแต่ พ.ศ.2539 – 2543 หลายคนคงติดภาพว่า มีน้ำท่วมที่ไหน มี “ดร.พิจิตต” ที่นั่น
เสื้อเชิ๊ตสีขาว กางเกงขายาว สวมรองเท้าบู๊ท กลายเป็นภาพจำของใครหลายคน
ไม่ว่าน้ำท่วมเล็ก น้ำท่วมใหญ่ ก็จะเห็นผู้ว่าฯ คนนี้ลงพื้นที่ให้เห็นกันจนชินตาเสมอ
ไม่ว่าจะลุยน้ำท่วม กวาดขยะ ล้วงท่อ เขาคนนี้ทำให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

ย้อนเวลา “ผู้ว่าฯ กทม.” ลงพื้นที่ลุยน้ำ-ตากฝน ในความทรงจำ  
ขณะที่ “สมัคร สุนทรเวช” อดีตผู้ว่าฯ กทม. ในปี พ.ศ.2543 – 2547
อาจจะไม่เข้าข่ายผู้ว่าฯ ลุยน้ำ เท่าไรนักเนื่องจากท่านนี้ไม่เหมือนผู้ว่าฯ คนไหนๆ
เพราะเคยมีท่าทีต่อการลงพื้นที่ตรวจดูน้ำท่วมของผู้ว่าฯ กทม. ว่า น้ำท่วมทำไมผู้ว่าฯ ต้องลงมาดู
ถ้ามาดูแล้วฝนจะหยุดตก และน้ำจะลดหรือ จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสมัยนั้น

ย้อนเวลา “ผู้ว่าฯ กทม.” ลงพื้นที่ลุยน้ำ-ตากฝน ในความทรงจำ  
และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ สำหรับ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” อดีตผู้ว่าฯ กทม.
ในปี พ.ศ.2552-2559 ครองตำแหน่งสองสมัยซ้อน ในหลายๆครั้งที่ฝนตกน้ำท่วม
แม้ท่านจะลงไปลุยน้ำตรวจพื้นที่ แต่ก็ยิ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์
เรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง พร้อมกันนี้ยังต้องเผชิญกับ มหาอุทกภัยในปี พ.ศ.2554 ด้วย
เรียกได้ว่า รับไปเต็มๆกว่าใครเพื่อน และที่สำคัญก็ยังมีวลีเด็ดที่หลายคนจำไม่รู้ลืม
ทั้ง “น้ำรอการระบาย” และ “หากไม่อยากน้ำท่วมให้ไปอยู่บนดอย”
จนทำให้เมื่อน้ำท่วมทีไร “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์” ก็ยังติดอันดับต้นๆ
ที่หลายคนนึกถึงเมื่อฝนตกหนักและน้ำท่วมเกือบทุกครั้งไป..


 





14 พฤศจิกายน ในปี พ.ศ. 2528 (ค.ศ. 1985)

พลตรีจำลอง ศรีเมือง หัวหน้ากลุ่มรวมพลัง ชนะการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร


การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 นับเป็นการเลือกตั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งในครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ซึ่งในครั้งนั้น เป็นนายธรรมนูญ เทียนเงิน จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งไป
การเลือกตั้งครั้งนี้มีขึ้นตามด้วยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาจากการเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งครั้งมีผู้สมัครทั้งหมด 10 ราย
ในบรรดาผู้สมัครที่โดดเด่นและเป็นที่จับตามองมากที่สุด
คือ พลตรี จำลอง ศรีเมือง อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
ลงสมัครโดยเป็นผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด หมายเลข 8
ขณะที่ผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมืองใหญ่ ได้แก่ นายชนะ รุ่งแสง จากพรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 4,
หม่อมราชวงศ์เจตจันทร์ ประวิตร จากพรรคประชากรไทย หมายเลข 7
และนายมงคล สิมะโรจน์ อดีตรองผู้ว่าฯ ในกลุ่มกรุงเทพก้าวหน้า หมายเลข 3
ผลปรากฏว่า พล.ต.จำลอง ได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย ถึง 480,232 คะแนน
คิดเป็นร้อยละ 34.65 จากทั้งหมด 24 เขตของกรุงเทพมหานคร
ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นสมัยแรก
และต่อมาก็ได้มีการจัดเลี้ยงอาหารเจที่ท้องสนามหลวง เพื่อเป็นการฉลองชัยชนะด้วย
สำหรับแนวทางการหาเสียงนั้น พล.ต.จำลอง นับว่าเป็นผู้สมัครที่โดดเด่นมาก
ด้วยการมีภาพลักษณ์ของการเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน สวมเสื้อม่อฮ่อมเป็นเอกลักษณ์
และประหยัด สมถะในการหาเสียง โดยใช้ฝาเข่งในการทำป้ายหาเสียง
และใบปลิวแนะนำตัวก็มีจำกัด ด้วยการขอร้องให้ผู้ที่ได้รับแจกช่วยอนุเคราะห์ส่งใบปลิวดังกล่าวต่อ ๆ ไปด้วย
เพราะไม่มีงบประมาณในการหาเสียง ขณะที่มีผู้ประสงค์จะบริจาคเงินให้เป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงนับล้านบาท
แต่ทาง พล.ต.จำลอง ได้ปฏิเสธ พร้อมกล่าวว่า ตนต้องการแค่คะแนนเสียงอย่างเดียว
ขณะเดียวกันก็ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ควบคู่ไปกันด้วย
ผลปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกมากที่สุด คือ 35 ที่นั่ง จาก 54 ที่นั่ง
โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้กล่าวว่า ไม่มีปัญหาใด ๆ ในการทำงานกับทางพรรคประชาธิปัตย์

พลตรีจำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ 2 สมัย
ผู้ก่อตั้ง และหัวหน้าพรรคพลังธรรมคนแรก เป็นแกนนำของผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ. 2535
มีชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "มหาจำลอง" หรือ "มหาห้าขัน"
ขณะที่ทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะเรียกว่า "ลุงจำลอง"