Custom Search

Jan 11, 2020

ธรรมบารมี ร.9 และเรื่องราว..ที่ยิ่งทำให้เรารัก : พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร

เผยแพร่: 

เรื่อง : วรัญญา งามขำ, อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

ภาพ : วชิร สายจำปา


ที่มา https://mgronline.com/onlinesection/detail/9600000014783




ในความรับรู้ของนักอ่าน “พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร” คือนักเขียนฝีมือดีที่ได้รับการยอมรับจากผลงานเปี่ยมคุณภาพ แต่อีกหนึ่งด้าน นายตำรวจท่านนี้ เคยได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นหน่วยอารักขาความปลอดภัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยตำแหน่งคือนายตำรวจประจำราชสำนัก รับหน้าที่ตามเสด็จฯ พระองค์ท่าน ทุกถิ่นท่า

กับวันเวลา 11 ปี 11 เดือน ในหน้าที่ดังกล่าวอย่างเป็นทางการ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ได้รับรู้เรื่องราวมากหลาย ที่ไม่เพียงทำให้หัวใจคนไทยพองโตเพราะซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ หากแต่ยังทำให้เราได้ตระหนักว่า “รักและเทิดทูน” ที่เรามีต่อพระองค์ท่าน อาจต้องคูณด้วยจำนวนหลายๆ ล้าน เมื่อเทียบกับความรักความห่วงใยที่พระองค์ท่านมีต่อพสกนิกรชาวไทย...





• จากที่ท่านวสิษฐได้ติดตามเสด็จฯ ถวายงานอารักขาความปลอดภัยให้พระองค์ท่าน มีเหตุการณ์ไหนบ้างครับที่นับได้ว่าสร้างความตื่นเต้นให้กับท่านในฐานะผู้ดูแลความปลอดภัย
ถ้าพูดถึงเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นมีอยู่ไม่กี่ครั้ง แต่ส่วนใหญ่ที่เป็นปัญหา คือเราจะมีปัญหาเรื่องความเครียดมากกว่า ด้วยเหตุว่า การถวายความปลอดภัย เราต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า คนอื่นเป็นศัตรูหมด จะสันนิษฐานว่าเป็นเพื่อนไม่ได้เลย ผมเริ่มถวายงานในหน้าที่จริงๆ เมื่อปี พ.ศ.2513 พอขึ้นปี พ.ศ.2514 ผมหัวหงอกไปทั้งหัวเลย เพิ่งรู้ตัวว่าเครียดมาก ปีนั้นก็จึงรู้จักการย้อมผม อายุ 41 เท่านั้นเอง (หัวเราะ)
เหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นครั้งใหญ่ที่สุด เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2520 เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปที่จังหวัดยะลาเพื่อจะไปพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน แล้วก็พระราชทานรางวัลให้ครูสอนศาสนาอิสลามด้วย เพราะทางใต้มุสลิมเยอะ แล้วท่านทรงถือว่างานที่เกี่ยวกับมุสลิมเป็นงานสำคัญ พระองค์ท่านก็เสด็จไปเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2520 ถ้าผมจำไม่ผิด เขาจัดที่สนามสาธารณะกลางเมืองยะลาเลย เขาเรียกว่า “สนามช้าง” เป็นที่ที่เคยถวายช้างเผือก เลยเรียกว่าสนามช้าง
ลูกเสือชาวบ้านมาจากทุกจังหวัดในภาคใต้ เพราะฉะนั้น คนจึงเยอะมาก คนในสนามเป็นหมื่นๆ ซึ่งหลังจากพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้านเสร็จแล้ว และกำลังจะพระราชทานพระบรมราโชวาท ก็ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นหน้าพระที่นั่ง 2 ลูก อันที่จริง ก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเขาเตือนแล้วนะว่าอาจจะมีการก่อกวน เราก็กำชับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งตำรวจ ทหาร ทั้งหัวหน้าลูกเสือชาวบ้านด้วย ให้เตรียมตัว




พอเกิดระเบิดตูมขึ้น แน่นอนว่าจะต้องมีคนเจ็บ แล้วผู้คนก็คุมสติไม่อยู่ ก็ต้องวิ่ง พอตูมแรกแล้ว สักพักมีตูมที่สอง ผมอยู่บนพลับพลากับพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ และทูลกระหม่อมอีก 2 - 3 พระองค์
หน้าที่ของเราตกลงกันไว้แล้วว่าถ้าเกิดเหตุอย่างนี้ขึ้นจะต้องขึ้นไปล้อมพระองค์ไว้เลย เพราะเราไม่แน่ใจว่า นอกจากลูกระเบิด มันมีปืนด้วยหรือเปล่า ที่สำคัญก็คือต้องเชิญเสด็จออกจากตรงนั้นไปเลยทันที เพราะเราไม่แน่ใจว่ามันจะมีแผน 1 แผน 2 หรือแผน 3 ด้วยหรือเปล่า เราขึ้นไปล้อมพระองค์ไว้ แล้วสมุหราชองครักษ์ก็กราบบังคมทูลให้เชิญเสด็จออกจากที่นั่น
แต่พระองค์ท่านก็ไม่ไป ยังคงประทับเฉยๆ บนพลับพลา พร้อมกับทอดพระเนตรไปทั่วบริเวณและรับสั่งให้นำไมโครโฟนเข้ามา จากนั้น พระองค์ท่านก็ตรัสกับบรรดาผู้ที่ชุมนุมกันอยู่ว่า อย่าแตกตื่น เพราะหากมีลูกระเบิดลูกอื่น ประเดี๋ยวจะเป็นอันตราย พอพระเจ้าอยู่หัวรับสั่ง ผู้คนได้ยินเข้า เขาก็สงบลงเร็วมาก คนที่วิ่งออกไปนอกสนามช้างแล้ว ก็วิ่งกลับเข้ามาใหม่ มีคนถามว่าวิ่งกลับมาทำไม เขาก็บอกว่าพระเจ้าอยู่หัวยังอยู่ เขาเลยต้องกลับมา

นั่นคือเหตุการณ์ที่ผมรู้สึกว่าตื่นเต้นเป็นอันมาก ขณะที่พระองค์ท่านไม่ยอมเสด็จออกไปจากที่เกิดเหตุ พระองค์ท่านไม่มีแสดงอาการอะไรเลย แม้กระทั่งพระสุรเสียงเวลารับสั่งในเครื่องขยายเสียง เนื่องจากผมยืนอยู่ใกล้พระองค์ท่านมาก ถ้ามีเสียงสั่น ผมจะรู้ว่าสั่น แต่นี่ไม่มีเลย เป็นปกติหมด เพราะฉะนั้น ชาวบ้านถึงได้สงบลงเร็วเหลือเกิน




 ท่านวสิษฐคิดว่าสิ่งนี้เกิดจากอะไรครับ
ผมคิดว่าท่านไม่ใช่คนธรรมดา คือนึกไม่ถึงจริงๆ ว่าถ้าเป็นผม ผมจะคุมสติได้ขนาดนั้นได้อย่างไร และถ้าเป็นผม เมื่อเจ้าหน้าที่บอกให้ออกไปเลยเร็วๆ ผมก็คงไปกับเขาด้วย แต่นี่พระองค์ท่านไม่ยอมไป สิ่งนี้ฉายลักษณะความเป็นผู้นำที่หาไม่ได้เลยนะในประมุขหลายประเทศ แม้กระทั่งในอเมริกาที่หากเห็นว่าเกิดเหตุ เขาจะไม่ยอมอยู่กับที่เลยนะ เขานำขึ้นรถไปเลยทันที ไปโดยไม่บอกว่าไปไหนด้วย ไม่เปิดเผยด้วยเพราะเขาไม่ต้องการให้เกิดเหตุซ้ำสอง แต่สำหรับพระองค์ท่าน ไม่มีทางที่ใครจะนำออกมาได้เลย เพราะว่าท่านประทับอยู่กับที่
พอเหตุการณ์สงบลงแล้ว ก็มีการนำผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาล พระองค์ท่านเสด็จลงจากพลับพลา ออกจากสนามช้างแล้วเสด็จไปยังโรงพยาบาลเพื่อเยี่ยมคนเจ็บอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักการรักษาความปลอดภัยทั้งหมด ไม่เป็นไปตามหลักเลย เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีก แต่พระองค์ยังทรงประทับอยู่จนค่ำจนมืดเลย สองทุ่มจึงค่อยเสด็จกลับไปจังหวัดนราธิวาส
ท่านไม่กลัวเลยครับ และที่สำคัญ พระองค์ท่านจะโปรดเสด็จในที่ที่แม้ว่าเราเห็นว่าเป็นอันตราย อย่างครั้งหนึ่งที่จังหวัดน่าน เมืองน่านสมัยนั้นไม่ต่างจากสนามรบ เป็นแห่งแรกในภาคเหนือที่มีการปะทะต่อสู้กันรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ หมู่บ้านชื่อว่า “บ้านห้วยโขน” ที่อยู่ในเขตอำเภอทุ่งช้าง ซึ่งติดกับพรหมแดนลาว มีเพียงถนนลำลองที่เชื่อมระหว่างทุ่งช้างกับตัวเมืองน่าน แล้วก็ไม่ใช่ถนนต่อเนื่อง เพราะถ้าจะไปทุ่งช้าง ต้องนั่งเรือไปก่อนแล้วก็ไปขึ้นบกที่ท่าบางผาแล้วขี่ม้าไปทุ่งช้าง
ตอนที่ผมไป เขาเริ่มจะถนนเป็นแบบลำลองแล้ว แล้วอำเภอปัว เมื่อก่อนถ้าข้ามแม่น้ำปัวต้องข้ามโดยเรือ ทางหลวงแผ่นดินก็ไปสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปัว พอสะพานสร้างเสร็จ พระเจ้าอยู่หัวก็รับสั่งจะไปดูถนน ไปดูสะพาน เขาก็เตรียมจัดถวาย แต่ในคืนก่อนที่จะเสด็จไปที่อำเภอปัว ผู้ก่อการร้ายได้ยิงปืนครกเข้าไปในฐานทหารที่ตั้งอยู่เชิงสะพานข้ามแม่น้ำปัว ยิงตกลงไปในฐานเลย มีทหารได้รับบาดเจ็บ และปืนใหญ่เสียหาย พวกผมเป็นส่วนล่วงหน้าก่อนที่จะเสด็จในเช้าวันนั้น เราก็ไปก่อน ไปถึงเราก็ไปเดินตรวจที่เกิดเหตุแล้วเราก็เห็นว่าถ้าเขาเอาปืนครกยิงได้แบบนี้ มันก็จะยิงได้อีกแน่ ปืนครกเป็นปืนขนาดใหญ่ ยิงจากระยะไกล แสดงว่าไม่ใช่จ้องยิง แต่ยิงด้วยแผนที่ คำนวณยิง ถ้าทำแบบนี้ ยิงจากไหนก็ได้ ใช้แผนที่ยิงเหมือนกัน
เราจึงไปกราบบังคมทูลขอให้งดการเสด็จฯ แต่พระองค์ท่านก็ไม่งด พอตอนสายๆ ท่านก็นั่งเฮลิคอปเตอร์ไปลงที่นั่นเลย ลงไปเสร็จ ท่านก็ไปทอดพระเนตรฐานทหาร เยี่ยมทหารก่อนแล้วถึงไปเยี่ยมชาวบ้าน พอกลับมาถึงพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ผมเข้าไปกราบบังคมทูลต่อว่า ว่ากราบบังคมทูลให้งดเสด็จแล้วท่านก็ยังเสด็จ ท่านก็รับสั่งย้อนถามว่าแล้วมันมีอะไรหรือเปล่า มันไม่มีจริงๆ แล้วท่านก็รับสั่งต่อด้วยว่าคืนวันที่เขายิงกันแล้ว ท่านฟังวิทยุแล้วได้ยินว่าทหารยิงชำระพื้นที่ไปแล้วรอบฐานเลย เอาปืนใหญ่ยิง หอคอยอยู่ตรงไหนก็คงตายหมด
และที่สำคัญกว่านั้นก็คือท่านไม่ห่วงเรื่องนั้นเท่าไหร่ แต่ที่ท่านต้องไปเพราะเห็นว่าชาวบ้านที่ไปคอยเข้าเฝ้าท่านอยู่ประมาณสองหมื่นคน เขาไปจองที่ก่อนที่ท่านจะเสด็จสองคืน วันนั้น ท่านจะให้ชาวบ้านผิดหวังไม่ได้ เรื่องชาวบ้านเป็นเรื่องที่เหมือนกับว่าบังคับให้พระเจ้าอยู่หัวเสด็จ แต่ท่านก็ยอมทุกที เพราะท่านไม่อยากให้ชาวบ้านผิดหวัง ความเป็นอยู่ของประชาชนสำคัญที่สุด

บางที เราไม่อยากให้พระองค์ท่านประทับอยู่จนมืด เพราะว่ามันระวังยาก แต่ไม่เคยห้ามท่านได้เลย บางแห่งไม่กลับด้วย ประทับแรมเลยก็มี ประทับแรมในจังหวัดที่เสด็จเยี่ยม ไม่กลับ และในสมัยนั้น เครื่องบินเขาก็ไม่อยากบินกลางคืน ตอนหลังมานี้ การบินเจริญขึ้น ถึงได้บินกลางคืน ยิ่งเฮลิคอปเตอร์ เขายิ่งไม่อยากบิน เพราะบินสูงไม่ได้
ครั้งหนึ่ง พระองค์เสด็จฯ ที่จังหวัดเพชรบูรณ์แล้วก็ประทับอยู่จนค่ำ กว่าจะเสด็จไปถึง ก่อนจะเสด็จถึงเพชรบูรณ์ ท่านแวะเยี่ยมทหารที่เขาค้อก่อน แล้วจึงเสด็จจากเขาค้อ ไปถึงก็มืดพอดี คนเชิญเสด็จไปทรงยกช่อฟ้า ต้องยกช่อฟ้ากลางคืนมืดๆ เสร็จแล้วพอไปถึง เสด็จกลับ พวกเราก็กราบบังคมทูลว่าเฮลิคอปเตอร์เขาไม่อยากบินขอเชิญเสด็จพระราชดำเนินกลับทางรถ ท่านบอกว่าบินได้ ทรงวางแผนเอง บอกให้รถตำรวจทางหลวงจอดตามจุดต่างๆ จากเพชรบูรณ์ไปที่วังชมพูแล้ววกจากวังชมพูไปพิจิตร พิษณุโลกแล้วต่อจากพิษณุโลกไปเชียงใหม่ ระหว่างรถทางหลวงที่จอดอยู่ข้างล่าง ให้เปิดไฟหลังคาเป็นสัญญาณแล้วให้เฮลิคอปเตอร์ใช้สัญญาณนี้เป็นเส้นทาง ซึ่งใครจะไปนึกถึง ผมยังนึกไม่ออกเลย วันนั้นเลยได้เสด็จกลับทางนั้น ไปถึงพิษณุโลกแล้วก็ได้ขับเครื่องบินต่อไปเชียงใหม่
 กับเรื่องต่างๆ ที่เล่ามา ท่านวสิษฐมองเรื่องนี้ว่ามีที่มาอย่างไรครับ
ผมว่าเป็นเพราะพระสมาธิด้วย เนื่องจากคนที่ทำสมาธิสม่ำเสมอ จะสามารถเผชิญกับอารมณ์ต่างๆ แล้วแก้ไขตัวเองได้เร็ว ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเสียใจ แม้แต่ความยินดี คนไม่มีสมาธิมักจะปล่อยตัวไปตามอารมณ์ต่างๆ แต่พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงสมาธิประจำ เป็นพระนิสัยเลย



 ท่านวสิษฐเคยเขียนบทความไว้ชิ้นหนึ่ง ชื่อ “พระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว” อยากให้ท่านกล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยครับ
เรื่องสมาธิ ผมรู้เมื่อตอนที่ได้เข้าไปถวายงานอยู่ในวัง ก่อนหน้านั้น หน้าที่ที่ทำอยู่ ไม่ประจำ ก็เลยไม่เห็น แต่พอได้รับการแต่งตั้งเป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ ผมจึงได้เข้าไปอยู่ใกล้ชิดแล้วถึงได้เห็นว่าเห็นคนที่รับราชการอยู่ด้วยกัน ทั้งทหาร ทั้งตำรวจ ทั้งพลเรือน เวลาพ้นหน้าที่ออกเวรมา ก็จะนั่งสมาธิอยู่บนเตียงใครเตียงมัน เป็นประจำเลย ต่อมา พอลองซักไซ้ไล่เรียงดู เขาก็บอกว่า เอาอย่างพระเจ้าอยู่หัวเพราะพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงสมาธิเป็นประจำ
ผมก็เลยเริ่มสนใจตั้งแต่ตอนนั้น เริ่มจากหาหนังสือมาอ่านก่อน หนังสือที่ผมอ่านมากที่สุดเพื่อที่จะเรียนสมาธิด้วยตัวเองก็คือหนังสือของท่านอาจารย์พุทธทาสซึ่งท่านเขียนสอนวิธีการทำสมาธิแบบอานาปานสติ ซึ่ง “อานาปานสติ” คือการใช้ลมหายใจเป็นอุบาย “อานะ” คือลมหายใจออก “ปานะ” คือลมหายใจเข้า แล้วสติแปลว่าความรู้ตัว
เวลาทำสมาธิแบบอานาปานสติ คือจะนั่งนิ่งๆ แล้วก็หยุดนึกถึงเรื่องอื่น ให้นึกถึงแต่ลมหายใจตัวเองที่เข้าและออก ถ้าอยู่กับลมหายใจได้ต่อเนื่องไปนานเท่าไหร่ จิตก็จะสงบนานเท่านั้น ถ้าสามารถอยู่กับลมหายใจได้โดยที่ไม่นึกถึงเรื่องอื่น แปลว่าจิตจะได้พักเป็นครั้งแรกในชีวิต พักอยู่ที่ไหน ก็พักอยู่กับลมหายใจ ยิ่งจิตได้พักนานเท่าไหร่ จิตก็จะยิ่งแข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น เมื่อจิตแข็งแรง ก็สามารถเผชิญกับอะไรต่อมิอะไรได้อย่างพระเจ้าอยู่หัวนี่แหละครับ พอจิตแข็งแรง จะไม่ตระหนกตกใจ ไม่ตื่นเต้น ไม่เสียใจ ไม่ดีใจ คุมสติได้เร็ว เวลามีปัญหาอะไร จะเป็นคนที่แก้ปัญหาได้ก่อนคนอื่น
 ท่านวสิษฐพอจะทราบไหมครับว่า พระองค์ท่านได้ทรงเรียนเรื่องนี้หรือว่ามีครูบาอาจารย์ท่านใดบ้าง
พระเจ้าอยู่หัวมีอาจารย์เยอะครับ พระอาจารย์สำคัญๆ สมัยนั้น พระองค์ท่านทรงนิมนต์ให้เข้ามาถวายกรรมฐานในวังหลายรูปด้วยกัน เช่น ท่านเจ้าคุณพระราชพรหมยาน (วีระ ถาวะโร หรือ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) เจ้าอาวาสวัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปัณโณ ท่านอาจารย์ชา สุภัทโท จากวัดหนองป่าพง วารินชำราบ แล้วก็อาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์เหล่านี้ล้วนรับนิมนต์เข้ามาในวังทั้งนั้น และถ้าไม่มา เวลาพระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินออกไป ก็จะเสด็จไปหาครูบาร์อาจารย์เหล่านี้ อย่างหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู
นอกจากจะนิมนต์เข้าไปหรือเสด็จไปหา พระองค์ท่านยังเอาเทปบันทึกคำสอนของครูบาอาจารย์เหล่านี้มาฟังเอง ฟังเสร็จแล้ว พระองค์ท่านก็พระราชทานให้พวกเรา ทำนองเดียวกัน เวลาเราไปได้อะไรมา เราก็ถวายพระองค์ท่าน ทั้งหนังสือ ทั้งเทปแลกกันระหว่างเจ้ากับข้า
ผมจำได้ว่า ครั้งหนึ่ง ผมเดินทางไปกราบท่านอาจารย์ชาที่วัดหนองป่าพง เสร็จแล้วก็ไปขอบันทึกคำสอนของท่านแล้วก็เอามาถวาย พระองค์ท่านรับสั่งว่าเป็นเทปม้วนที่ดีที่สุดม้วนหนึ่งตั้งแต่เคยฟังมา ซึ่งวันนั้นที่ผมไปหาท่านอาจารย์ชา เพราะผมมีเรื่องส่วนตัวที่ทุกข์มาก ก็ไปกราบเรียนท่านอาจารย์ชา ตอนนั้นที่วัดหนองป่าพงกำลังมีการก่อสร้างโบสถ์ แล้วก้อนหินที่ใช้ในการก่อสร้างก็วางระเกะระกะอยู่แถวนั้น ท่านอาจารย์ชาก็ชี้ไปที่ก้อนหินก้อนใหญ่แล้วถามผมว่า ยกไหวไหมก้อนหินก้อนนี้ ผมตอบท่านไปว่าก้อนใหญ่ขนาดนี้ คงยกไม่ไหว ถ้าให้กลิ้งอาจจะพอไหว ท่านก็บอกว่า รู้ว่าหนัก ก็อย่ายก
ถ้อยคำของท่านอาจารย์ชาคำนั้น แก้ปัญหาชีวิตให้ผมเลย และเทปม้วนนั้นที่ผมนำมาถวายพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านก็ทรงบอกว่าเป็นเทปที่ดีที่สุดม้วนหนึ่ง
ในทำนองเดียวกัน พระองค์ท่านก็เอาเทปที่ท่านได้มาพระราชทานให้ ม้วนหนึ่งซึ่งผมได้รับพระราชทานมา เป็นบันทึกเทปของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ แต่ตอนนั้นท่านยังไม่ได้เป็นพระสังฆราช ท่านเทศน์พระสูตรหนึ่งชื่อว่า “ฉักกะสูตร” ผมก็เอาไปเปิดฟังได้หน่อยเดียวแล้วไม่ฟังต่อ เพราะเหตุว่า เวลาสมเด็จพระญาณสังวรฯ ท่านเทศน์ ท่านจะเทศน์เป็นห้วงๆ ท่านจะกลั่นกรองแต่ละประโยคชนิดที่ว่าสามารถเอาไปพิมพ์เป็นหนังสือฉบับสมบูรณ์ได้ เหมือนเรียงความเลย แต่ผมทนฟังไม่ได้ เพราะว่าท่านพูดแล้วหยุด พูดแล้วหยุด เปิดฟังไม่ได้ถึงครึ่งม้วน ก็เลยไม่ฟังต่อ นึกว่าพระเจ้าอยู่หัวท่านจะทรงลืมแล้ว
ปรากฏว่า พอได้เข้าเฝ้าคราวต่อมา พระองค์ท่านทรงถามว่า ได้ฟังเทปสมเด็จพระญาณสังวรฯ แล้วหรือยัง ผมก็กราบบังคมทูลไปตรงๆ ว่าไม่ได้ฟัง ฟังไปนิดเดียวแล้วเลิก พระองค์ท่านก็ถามถึงเหตุผล ผมจึงกราบบังคมทูลโดยตรงว่า ฟังแล้วรำคาญ เพราะว่าท่านเทศน์ขาดเป็นห้วงๆ พระองค์ท่านจึงตรัสว่า เพราะเราไปคิดก่อนใช่ไหมว่าสมเด็จพระญาณสังวรฯ ท่านจะพูดอย่างไร พอเวลาที่ท่านพูดออกมาแล้ว ไม่ตรงกับที่เราคิด เราก็เลยรำคาญ... ซึ่งก็เป็นความจริง ผมรู้สึกแบบนั้นจริงๆ พระองค์ท่านจึงบอกให้ผมไปฟังใหม่ แล้วคราวนี้ อย่าคิดไปก่อน สมเด็จพระญาณสังวรฯ ท่านหยุดตรงไหน ให้เราหยุดตรงนั้นด้วย คราวนี้ ผมเลยฟังได้ตลอดทั้งม้วนแล้วจึงเข้าใจ
สมเด็จพระญาณสังวรฯ เป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าอยู่หัว ถวายกรรมฐานเหมือนกัน และเนื่องจากวัดบวรนิเวศกับสวนจิตรลดาอยู่ไม่ห่างกันนัก ผมก็เลยไปฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของสมเด็จพระญาณสังวรฯ ด้วย

 ในส่วนของการปฏิบัติ...พระองค์ท่านเคยตรัสรับสั่งอย่างไรบ้างไหมครับว่า เพราะอะไรจึงต้องปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ

ไม่เลยครับ ไม่จำเป็นจะต้องพูดเลย เพราะว่าคนที่ปฏิบัติจะรู้เองว่าทำไมถึงมีประโยชน์ เพราะฉะนั้น พระองค์ท่านไม่เคยรับสั่งเรื่องควรหรือไม่ควร แล้วเราก็ขึ้นต้นด้วยอัตโนมัติ ทีแรก ผมค่อนข้างที่จะไม่อยากทำ เพราะมันทำไม่ได้ คนที่ไม่เคยทำสมาธิ ถ้าทำลุ่มๆ ดอนๆ ทำแล้วพอทำไม่ได้หรือเลิก จะทำไม่ได้เลยสักคนเดียว มันต้องทำด้วยความพากเพียรจริงๆ ต้องทำแล้วทำอีก และทำอีก
พระองค์ท่านทรงสอนด้วยว่าให้ทำบ่อยๆ พร้อมทั้งทำเป็นตัวอย่าง เสด็จที่ไหนก็ตาม ถ้าท่านประทับอยู่นิ่งๆ เงียบๆ คือท่านทำสมาธิให้ดูเลย แล้วพวกเราก็ต้องเอาอย่างท่าน พอทำบ่อยๆ จิตมันจะสงบ มันจะค่อยๆ สงบขึ้น สงบขึ้น ตอนทำใหม่ๆ ความฟุ้งซ่านมันจะทำให้เราหลุดจากลมหายใจอยู่เรื่อย แล้วเราก็มักจะท้อแท้ ไม่ทำต่อ ที่ถูกต้องคือ จะต้องทำบ่อยๆ จะฟุ้งซ่านเท่าไหร่ก็ไม่เป็นไร ถ้ารู้ตัวว่าฟุ้งซ่านดีกว่าไม่รู้ตัวเลย สติรู้ลมหายใจว่าเข้าหรือออก เพราะฉะนั้น ถ้าหมั่นทำบ่อยๆ จะค่อยๆ ดีขึ้น ดีขึ้น ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตาม มันจะทิ้งได้เร็ว กลับมากำหนดรู้ลมหายใจได้เร็วขึ้น


 ในแง่หนึ่ง เราพูดอย่างนี้ได้ไหมครับว่า การทรงปฏิบัติสมาธิของพระเจ้าอยู่หัวนั้นเป็นไปเพื่อการตระเตรียมพระองค์ในการทรงงานเพื่อประชาชน
แน่นอนเลยครับ เพราะจะสังเกตเห็นว่า เวลาที่พระองค์ท่านทรงงาน จะทรงได้ต่อเนื่องยาวนาน และไม่วอกแวก ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ การพระราชทานปริญญาบัตร คนที่เคยเฝ้าพระราชทานปริญญาบัตรทุกคนจะได้เห็น แต่อาจจะไม่ได้สังเกตใกล้ชิดเหมือนผม ผมสังเกตว่าเวลาพระองค์ท่านทรงนั่งลงแล้ว จะไม่เคยเปลี่ยนพระอิริยาบถเลย ไม่ว่าพระบาทอยู่ในตำแหน่งไหน จะอยู่ในตำแหน่งนั้นตลอด จนกว่าจะเลิก พวกเราเวลานั่ง พอเมื่อย เราก็จะขยับเปลี่ยนย้ายตำแหน่งของขา แต่ว่าพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ที่ผมตามเสด็จมา ไม่เคยเห็นเลยว่าประทับลงแล้วทรงเปลี่ยนท่านั่ง จะเคลื่อนไหวอยู่แค่พระกรกับพระหัตถ์เท่านั้น ทรงรับใบปริญญาบัตรที่เขาถวายแล้วก็พระราชทาน แค่นี้เอง 4 - 5 ชั่วโมงเต็มๆ ไม่มีพระอาการเมื่อย ไม่มีพระอาการเหนื่อย เบื่อหรือง่วง ไม่มีเลย
เสร็จจากพระราชทานปริญญาบัตร กลับไปยังพระราชวัง ยังทรงวิ่งต่อเลย เวลาวิ่งก็เหมือนกัน คนที่เห็นพระเจ้าอยู่วิ่ง จะรู้ว่าพระองค์ทรงวิ่งช้าๆ พระองค์ลอย พระบาทเหมือนจะไม่กระทบพื้น พวกเราเวลาวิ่งตาม ซอยเท้าถี่ยิบเลยนะ แล้วระยะทางวิ่งสมัยก่อนนะ จะราวๆ 3 รอบสนามฟุตบอล พวกเราที่วิ่งตาม ลิ้นห้อยเลย หอบแฮ่กเลย แต่พระเจ้าอยู่หัวไม่เคยทรงแสดงอาการหอบให้เห็นเลยขณะวิ่ง

แม้แต่เวลาเสด็จตามที่ต่างๆ อย่างที่เชียงใหม่ ผมเคยตามเสด็จ จริงๆ ที่ว่า “ตามเสด็จ” เป็นศัพท์เทคนิคนะ เพราะตามความจริงคือนำเสด็จ เนื่องจากเราต้องเดินไปก่อนพระองค์ แล้วมีอยู่ครั้งหนึ่ง พระองค์ท่านเสด็จฯ ที่ดอยแม่สา เชียงใหม่ ดอยนี้หมู่บ้านตั้งอยู่ข้างบนเขา เครื่องบินไปลงไม่ได้ เฮลิคอปเตอร์ต้องไปลงที่เชิงเขาแล้วต้องเดินขึ้นไป เขาก็สูงชันประมาณเกือบ 45 องศา ระยะทางก็สักครึ่งกิโลเมตรได้ แต่ว่าขึ้นไปไม่กี่ก้าวก็แทบจะตายละนะ
ผมเดินนำกับนายทหารอีกสองคน เดินไปได้ไม่ถึงครึ่งลูกเขาเลย จากที่เราเดินนำ กลายเป็นว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำเนินผ่านพวกเราไป พระองค์ท่านขึ้นไปถึงยอดเขาได้สักพักหนึ่ง เราเพิ่งตามขึ้นไปถึง ไปถึงแล้วท่านรับสั่ง เรายังกราบบังคมทูลไม่ได้เลย เพราะหายใจไม่ออก (หัวเราะ) ท่านรับสั่งล้อผมว่ายังพูดภาษาราชการไม่ได้หรืออย่างไร เพราะถามแล้วไม่ตอบ


 จากที่ท่านวสิษฐได้ติดตามถวายงานพระองค์ท่าน มีเรื่องไหนที่ท่านรู้สึกประทับใจกว่าเรื่องใดไหมครับ
ประทับใจทุกเรื่องเลยครับ ส่วนที่ประทับใจที่สุดก็คือความใกล้ชิดระหว่างในหลวง ร.9 กับประชาชน ดูครั้งไหนก็ไม่เบื่อ ดูเพลิน จนกระทั่งต้องคอยเตือนตัวเองว่าเราต้องถวายอารักขาให้พระองค์ท่าน
ทุกเรื่องที่ผมเห็น สะท้อนพระวิริยะอุตสาหะของพระองค์ท่าน พระเจ้าอยู่หัวเวลาท่านเสด็จฯ ออกไปข้างนอก กลับเข้ามาในวัง ไม่ใช่ว่าท่านหยุดแล้วนะ ท่านจะกลับมาทรงงานต่อ และจะไม่เคยบรรทมก่อนสองยามเลย เจ้าหน้าที่เข้าไปเฝ้าไปเย็นนี้จะต้องอยู่ถึงสว่าง เมื่อก่อนนี้ เจ้าหน้าที่ที่โปรดให้เฝ้าบ่อยๆ ก็คือพวกชลประทาน พวกการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เพราะพวกนี้เป็นพวกทำเขื่อน ทำอ่างเก็บน้ำไปให้ชาวบ้าน
เพราะฉะนั้น เวลาเสด็จพระราชดำเนินไป ชาวบ้านก็ถวายปัญหามา รับสั่งให้พวกนี้เข้าไปเฝ้า ต้องเตรียมข้อมูลไปกราบบังคมทูลและเตรียมที่จะอยู่ยันสว่าง ซึ่งอยู่ยันสว่างกันบ่อย หากไม่มีใครเฝ้าเลย พระองค์ท่านก็บรรทมดึก พอตื่นปุ๊บก็ทรงงานต่อเนื่อง ไม่มีหยุด และเพราะทรงงานหนักแบบนี้ จึงมักจะประชวรหนักทุกทีเลย แต่แม้จะทรงพระประชวร พระองค์ก็ไม่เคยหยุดที่จะทรงงาน