Custom Search

Jun 21, 2019

ครบรอบ 28 ปีรัฐประหาร 23 ก.พ. จากพ่อสู่ลูก "คงสมพงษ์" ที่ยืนยง "ปกป้องราชบัลลังก์"

22 กุมภาพันธ์ 2019


หากดูการแต่งกายของ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์
ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
จะเห็นได้ว่าไม่แตกต่างจากบิดาของเขาผู้ล่วงลับไปตั้งแต่ปี 2542
คือ พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ หรือ "บิ๊กจ๊อด"
อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เจ้าของฉายา "นายพลเสื้อคับ" สักเท่าไร


"นายพลเสื้อคับ" ผู้นี้ คือคนเดียวกับ "พี่จ๊อด" ของ "น้อง ๆ" นายพล
ในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.
ที่ร่วมกันก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ
พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อ 23 ก.พ. 2534 หรือ 28 ปีที่แล้ว

ยึดอำนาจบนเครื่องบิน

ทหารพร้อมอาวุธครบมือ ได้รับคำสั่งจากให้เข้าจับกุมตัว พล.อ. ชาติชาย
ในขณะนำ พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก รองนายกรัฐมนตรี และ รมช. กลาโหม
ไปเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 
ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จ. เชียงใหม่ ในเวลาราว 11.00 น.

ปฏิบัติการยึดอำนาจเกิดขึ้นบนเครื่องบินซี-130 ขณะกำลังจะเคลื่อนตัวออกจากกองบิน 6 กองทัพอากาศ (ทอ.)
ทว่าเครื่องเคลื่อนไปได้ไม่ไกล ทุกคนก็รู้สึกเหมือน "นักบินแตะเบรก แล้วเลี้ยวกลับไปที่กองทัพอากาศ"
"มีทหารอากาศที่เป็นคนแปลกหน้าสำหรับพวกเรา ไม่ต่ำกว่า 4 นาย
ลุกขึ้นชักอาวุธปืนออกมาจี้ แล้วบอกให้พวกเราทุกคนอยู่ในความสงบ
ไม่มีใครเจ็บตัว เป็นการยึดเครื่องบินด้วยความสงบ
โดยมีการวางแผนให้ทุกคนยืนคุมกันเป็นจุด ๆ
เป็นลักษณะฟันปลาให้ครอบคลุมพื้นที่ภายในเครื่องได้หมด
เมื่อทุกคนอยู่ในลักษณะความสงบ เครื่องบินก็เลี้ยวเข้าไปจอด
แล้วเขาก็เริ่มแยกท่านชาติชายออกไป แล้วก็แยก พล.อ. อาทิตย์ ออกไป..."
ปานปรีย์ พหิทธานุกร หลานเขย พล.อ. ชาติชาย
ซึ่งขณะนั้นทำหน้าที่เลขานุการ พล.อ. ชาติชาย
เล่านาทีรัฐประหารปี 2534 ผ่านหนังสือ "ฉะ แฉ ฉาว นักการเมืองไทย" สำนักพิมพ์มติชน
ปานปรีย์ เป็นบุคคลที่อยู่ในเครื่องบินลำที่ถูกจี้ ก่อนที่เขาจะถูก รสช.
ส่งตัวไปดูแล พล.อ. ชาติชาย ในระหว่างที่ถูกกักตัวอยู่ในบ้านพักรับรองของ ทอ. เป็นเวลา 15 วัน
เว็บไซต์ของ สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า แม้ พล.อ. สุนทร (จปร. 1) เป็นหัวหน้า รสช.
แต่การยึดอำนาจในครั้งนี้มี พล.อ. สุจินดา คราประยูร
ผู้บัญชาการทหารบก และรองหัวหน้า รสช. เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติการ
และยังมีทหารกลุ่ม จปร. 5 อีกหลายคนมีบทบาทในการยึดอำนาจครั้งนี้
โดยภายหลังการยึดอำนาจ พล.อ. สุจินดา
เป็นผู้ที่มีบทบาทในการเข้ามาจัดการปัญหาต่าง ๆ
ในขณะที่ พล.อ. สุนทร ไม่ได้มีบทบาทที่ชัดเจนนัก
หลังจากมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี บทบาทของ พล.อ. สุนทร
แปรเปลี่ยนเป็นประธานสภาคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ
ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลด้านความมั่นคงเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีบทบาทพิเศษในการประสานงานดูแล พล.อ. ชาติชาย
และดูแลเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ จนกระทั่งเกษียณอายุราชการไปในเดือน ก.ย. 2534

สาเหตุของการยึดอำนาจ

บทความของสถาบันพระปกเกล้าระบุว่า การยึดอำนาจในครั้งนี้
มาจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและกลุ่มทหาร
โดยเฉพาะกลุ่มทหาร จปร. 5 โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย. 2533
ฝ่ายทหารได้ยึดรถโมบายยูนิตของ อ.ส.ม.ท. โดยฝ่ายทหารให้เหตุผลว่ารถคันดังกล่าว
ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ส่งมาสืบข่าวฝ่ายทหาร
ต่อมาในเดือน พ.ย. 2533 พล.อ. สุจินดา แกนนำกลุ่ม จปร. 5
ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า "ทหารเสื่อมศรัทธาในรัฐบาล"
โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีของ ร.ต.อ. เฉลิม ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ฝ่ายทหารเป็นอย่างยิ่ง
พล.อ. ชาติชาย จึงแก้ปัญหาด้วยการเชิญผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมรับประทานอาหารเช้าด้วยกัน
แต่ทั้งหมดปฏิเสธ ระหว่างนี้กระแสข่าวการยึดอำนาจปรากฏออกมาเป็นระยะ ๆ
จนกระทั่งช่วง ก.พ. 2534 ข่าวการปลด พล.อ. สุนทร และ พล.อ. สุจินดา เริ่มรุนแรงขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการแต่งตั้ง พล.อ. อาทิตย์ เป็น รมช. กลาโหม
ซึ่งถูกจับจ้องว่าเป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อปลด พล.อ. สุนทร
ทั้งหมดนี้ได้กลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดการยึดอำนาจ
ภายหลังรัฐประหาร รสช. ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจง 5 เหตุผลในการยึดอำนาจ คือ
1. รัฐบาลมีพฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง
2. ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำ
3. รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา
4. รัฐบาลมีความพยายามทำลายสถาบันทหาร
5. รัฐบาลบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์