Custom Search

Nov 19, 2010

5 มุมมอง “พอเพียง” ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย



ศ. น.พ. เกษม วัฒนชัย
องคมนตรี
ได้ถ่ายทอดมุมมอง สะท้อนความเข้าใจของคำว่า
“ปรัชญาความพอเพียง”
ซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริงในการดำเนินชีวิต
การทำธุรกิจ และการนำไปใช้ในพัฒนาประเทศ
โดยได้ตอบคำถาม กับนิตยสาร “POSITIONING”
ในประเด็นที่น่าสนใจ ในช่วงปาฐกถาพิเศษใน
งานสัมมนาสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2549
ซึ่งจัดขึ้นในหัวข้อ “เศรษฐกิจพอเพียง สู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุข”

การดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ควรเริ่มต้นอย่างไร

ถ้าเป็นตนเองแล้ว เราต้องมีศรัทธาความเชื่อก่อน
เริ่มต้นต้องคิดให้เป็นก่อน เมื่อเข้าใจแก่นแท้ของความพอเพียง
แต่ละคนจะสามารถนำไปปรับใช้ได้เอง อยู่ที่ว่า
แต่ละคนนำไปใช้อย่างไร ปรัชญาพอเพียงสอนให้เรา
พึ่งตนเองให้ได้ก่อน ไม่รอความช่วยเหลือ
มีเหตุมีผลในการมีสติว่าเราทำอะไรอยู่ เช่น
เรามีเงินเดือน 20,000 บาท แต่ไปซื้อรถราคา 8-9 แสนบาท
ถือว่า เราไม่พอเพียง ทำเกินกำลัง แต่เราซื้อคันละ 5 แสน
ไม่เป็นหนี้มาก ก็พอไหว แสดงว่า เรามีสติ
แค่นี้เราก็ใช้ความพอเพียงในการดำเนินชีวิตแล้ว

ในส่วนองค์กรเอง เริ่มนำไปปรับใช้ได้ เช่น
การจัดกิจกรรมปรับพื้นฐานจิตใจของคนในองค์กรอย่างต่อเนื่อง
หรือแม้แต่ในโรงเรียนก็ใช้เป็นแบบเรียน
ฝึกให้เด็กพอเพียงด้วยการจดบันทึกว่า แต่ละวัน
แต่ละสัปดาห์ใช้ความพอเพียงอย่างไรบ้าง
เพื่อปลูกฝังเขาตั้งแต่เด็ก

เศรษฐกิจพอเพียง จำเป็นต้องปฏิเสธ
กระแสโลกาภิวัตน์ภายนอกด้วยใช่หรือไม่

พระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งชัดเจน
ให้เราติดตามกระแสความเปลี่ยนแปลงจากโลกภานอกอย่างใกล้ชิด
ท่านไม่ได้บอกว่า ให้เราต่อต้านโลกภายนอก
ทุนนิยมภายนอกประเทศ แต่เป้าประสงค์ของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น
เพื่อให้การดำรงชีวิตและการพัฒนาประเทศเป็นไป อย่างพอเพียง
และก้าวทันโลกาภิวัตน์ ไม่ใช่การวิ่งหนี ปฏิเสธโลกภายนอก
ต้องนำเอากระแสภายนอกมาปรับใช้อย่างมีสติ
มีเหตุมีผล เหมาะกับวิถีชีวิต และสังคมไทย
เมื่อทำได้ ความพอเพียงจะทำให้เกิดความสมดุลชีวิต
สมดุลองค์กร จากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

เศรษฐกิจพอเพียง ขัดต่อหลักการธุรกิจ ที่เน้นการหากำไรหรือไม่

ไม่ขัดต่อการแสวงหากำไรขององค์กรธุรกิจเลยแม่แต่น้อย
การใช้ปรัชญานี้ไม่ได้บอกว่าไม่ให้รวย แต่ให้รวยได้แต่อย่าขี้โกง
รวยได้โดยใช้หลักธรรมะ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เช่น
ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ สินค้าที่ผลิตออกมา
ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค เพราะบางบริษัทผลิตสินค้า
โดยลดต้นทุนแต่เพิ่มราคาสินค้า เพราะต้องการกำไรเพิ่มขึ้น
อย่างนี้ถือว่าไม่มีคุณธรรม

แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
มีความแตกต่างจากแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอย่างไร

เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เป็นเรื่องของทุนนิยมเสรี
เชื่อว่าคนต้องพัฒนาสูงสุดตั้งแต่การเลี้ยงดูที่ดี
มีระบบการศึกษาที่สร้างรากฐานให้คนก้าวหน้า
มีระบบสาธารณสุขที่สมบูรณ์ เป็นเศรษศาสตร์ที่เชื่อในศักยภาพของคน
การขับเคลื่อนด้วยกระแสทุนนิยมที่ผ่านมาหลายๆ
ประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย ทำให้มีโมเดลเหมือนกัน คือ
เป็นรูปสามเหลี่ยมหัวกลับ ในกรณีของประเทศไทย
คนรวยที่มีอยู่ 20% ของประชากรทั้งหมด
ครอบครองทรัพย์สินถึง 58% ถัดลงมาคือ
ชนชั้นกลางที่มีจำนวน 60% ของประชากรทั้งหมด
ครอบครองทรัพย์สิน 38%
สำหรับคนจนที่มีจำนวน 20% ของประชากร
ครอบครองทรัพย์สินเพียง 3.9% เท่านั้น

ดังนั้นทุนนิยมเสรีที่ดีนั้น ต้องถูกกำกับด้วย
ธรรมมาภิบาล หมายถึง คนที่จะนำพาประเทศไปให้ดีนั้น
ต้องมีหลักคุณธรรม เช่น ความมีเหตุมีผล
ความรู้จักพอประมาณ ไม่โลภ ไม่สุดโต่ง
อยู่ในกลไกการทำงานด้วย
จึงจะทำให้เศรษฐศาสตร์กระแสหลักขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รูปสามเหลี่ยมหัวกลับที่เกิดขึ้น วันหนึ่งอาจจะกลายเป็น
รูปสี่เหลี่ยมคางหมู คนจนจะมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
กับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง

ปรัชญาของความพอเพียงจะเกิดผลอย่างไร
หากนโยบายนี้ดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง


โมเดลที่จะเกิดขึ้น คือ บุคคลพอเพียง
– ครอบครัวพอเพียง – หมู่บ้านพอเพียง – ตำบลพอเพียง
– อำเภอพอเพียง – จังหวัดพอเพียง – ประเทศพอเพียง
ซึ่งเราคาดหวังว่าในอนาคตจะเกิดขึ้น
ซึ่งจะนำมาสู่ความเข้มแข็ง โดยต้องเริ่มจาคนในประเทศก่อน
เมื่อคนรู้จักแก่นแท้ของความพอเพียง
คนในประเทศจะมีภูมิคุ้มกัน
หรือวัคซีนป้องกันกับปัญหาต่างๆ เช่น
วัคซีนป้องกันวัตถุนิยม บริโภคนิยม และเมื่อคนเข้มแข็ง
จะเป็นจุดเริ่มต้นให้สังคมแข็งแรง
และขยายสู่รากฐานอันแข็งแรงของประเทศต่อไป



มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
( http://www.utcc.ac.th )

จัดพิธีประสาทปริญญาบัตรแก่
ผู้สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา 2552
โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี
เป็นประธานในพิธีประสาทปริญญาบัตร ในวันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2553
ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งในปีนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งสิ้น 4,345 คน
โดยแยกเป็นระดับบัณฑิต 3,843 คน และระดับมหาบัณฑิต 502 คน





รศ.ดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ อธิการบดี กล่าวว่า
“ต้องขอแสดงความยินดี กับบัณฑิตและมหาบัณฑิตทุกท่าน
การที่ท่านทั้งหลายสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ซึ่งเป็นสถาบัน การศึกษาชั้นนำด้านธุรกิจ นับเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า
บัดนี้ท่านพร้อมที่จะก้าวสู่โลกธุรกิจอย่างเต็มภาคภูมิ
ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นหรือการมุ่งประกอบสัมมาอาชีพ
ผมมั่นใจว่าคุณภาพวิชาการที่มีความเป็นเลิศในระดับสากล
ประกอบกับ
ระบบการ เรียนการสอนที่นี่
จะทำให้ท่านเป็นผู้ที่ถึงพร้อมทั้งความรู้ ทักษะ ตลอดจนจริยธรรมได้เป็นอย่างดี”