Custom Search

Nov 16, 2010

คำสอนของอาจารย์สัญญา แด่ผู้พิพากษาตุลาการทั้งหลาย

http://www.coj.go.th/museum/SpPerson/sanya.html

มติชน
สมลักษณ์ จัดกระบวนพล
วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เมื่อเอ่ยชื่อ "ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์"
ไม่มีบุคคลใดในประเทศไทยโดยเฉพาะนักกฎหมายจะไม่รู้จัก
ท่าน อาจารย์เคยดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา
อันเป็นตำแหน่งสูงสุดฝ่ายตุลาการ

เคยเป็นนายกรัฐมนตรี อันเป็นตำแหน่งสูงสุดทางฝ่ายบริหาร

ทั้งยังเคยเป็นรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ
อันเป็นตำแหน่งสูงทางฝ่ายนิติบัญญัติ

นอก จากนั้นในทางวิชาการท่านเคยเป็น
อาจารย์สอนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งยังเคยเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์
และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


และ สิ่งสูงสุดในชีวิตของท่านคือการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงไว้วางพระราชหฤทัยโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี
แล้วต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี
และปฏิบัติหน้าที่แทบเบื้องพระยุคลบาทในตำแหน่งนี้ตราบจนถึงแก่อสัญกรรม

อาจารย์ สัญญาเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขตุลาการ
บิดาของท่านเป็นเนติบัณฑิต (สยาม) รุ่นแรก

และรับราชการเป็นผู้พิพากษา
เมื่ออาจารย์เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษา

ท่านเป็นตุลาการที่เป็นแบบอย่างที่ดีของตุลาการทั้งหลาย
ทั้งในด้านความรู้ความสามารถและแนวคิด


ท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความ ซื่อสัตย์สุจริตเป็นเลิศ
ปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรง อิสระ ปราศจากอคติใดๆ
ตามแนวปรัชญาที่ว่า "จงให้ความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที"

อาจารย์สัญญาเป็นผู้ริเริ่มให้มีการอบรมผู้ ช่วยผู้พิพากษา
ผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาได้จึงต้องเป็นผู้ช่วยพิพากษา
ผ่านการอบรมเสียก่อนจึงจะโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้พิพากษา เมื่อ 40 ปีมาแล้ว

ผู้เขียนผ่านการสอบคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาได้
จึงต้องเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาก่อน คือ ผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่น 13
ผู้เขียนได้พบอาจารย์สัญญา
เมื่อท่านมาให้การอบรมเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้พิพากษา

ผู้เขียนจดจำคำสอนของท่านและนำมาเป็นหลักปฏิบัติตั้งแต่
เป็นผู้พิพากษามาจน ถึงได้ปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช.
คำสอนที่อยู่ในหัวใจของผู้เขียนก็คือ

"ผู้พิพากษาต้องเป็น ผู้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมแต่ความบริสุทธิ์ยุติธรรมนั้น
ไม่ใช่เราคิดว่าตัวเรา (ผู้พิพากษา) มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม
แต่ต้องให้บุคคลทั่วไปเขาเชื่อว่าเราบริสุทธิ์ยุติธรรมจริง"

ความ ระแวงสงสัยในเรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรม
หากเกิดขึ้นแก่ผู้พิพากษาตุลาการแล้ว
ใช่จะทำให้สังคมนั้นปั่นป่วนหวั่นไหวเท่านั้น
แม้แต่ฝ่ายผู้พิพากษาตุลาการเองก็จะเกิดความลำบากในการทำหน้าที่ด้วย

เพราะ การทำหน้าที่ของผู้พิพากษาตุลาการต้องขึ้นอยู่กับความศรัทธาของบุคคล
หากเกิดความระแวงในความบริสุทธิ์ยุติธรรมเสียแล้ว
จะวินิจฉัยสั่งการอะไรออกไป ก็ไม่เกิดความศรัทธาเชื่อถือ
การทำงานของผู้พิพากษาตุลาการจะเป็นไป
โดยลำบากเป็นอย่างยิ่ง หรืออาจกล่าวได้ว่าเกิด "วิกฤตศรัทธา"

โดยขออ้างอิงข้อเท็จจริงที่ เกิดขึ้นเมื่อผู้เขียนดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา
หัวหน้าศาลจังหวัดศาลหนึ่ง มีคหบดีของจังหวัดนั้นมาเชิญผู้เขียน
และผู้พิพากษาในศาลนั้นไปร่วมงานแซยิด
ของบิดาของเขาซึ่งก็จัดขึ้นทุกปี
และในปีก่อนนั้นผู้เขียนและผู้พิพากษาก็เคยไปร่วมงาน


แต่ในปีดัง กล่าวมีเหตุการณ์ไม่ปกติ
เพราะบุตรชายของคหบดีผู้นั้นเป็นจำเลยอยู่ที่ศาลในคดีฆ่าผู้อื่น
ผู้เขียนเป็นเจ้าของสำนวนคดีนี้ ระหว่างรอฟังคำพิพากษาก็ได้รับเชิญไปร่วมงาน
ผู้เขียนต้องปฏิเสธการไปร่วมงาน แต่ก็อธิบายให้ผู้เชิญทราบว่า
ถ้าผู้เขียนและผู้พิพากษาในศาลไปร่วมงานดังกล่าว
และแม้ทั้งสองฝ่ายจะมีความบริสุทธิ์ใจเพียงใด
แต่คู่ความอีกฝ่ายตลอดจนบุคคลทั่วไป
เขาจะเชื่อหรือว่าเราบริสุทธิ์ยุติธรรมจริง
หากเห็นว่าผู้ตัดสินคดีนี้ไปนั่งรับประทานอาหารอยู่กับฝ่ายจำเลย

คหบดี ผู้นั้นก็ดีเหลือเกิน
เพราะเข้าใจและไม่ได้แสดงความไม่พอใจแม้แต่น้อย

คดีนั้นเป็นที่สนใจของประชาชนในจังหวัด ถึงกับมีผู้กล่าวกันว่า
"จะดูซิว่า คนรวยจะมีสิทธิติดคุกหรือไม่"

ขอเรียนว่าคดีดังกล่าวผู้เขียนและองค์คณะผู้พิพากษา
พิพากษาจำคุกบุตรชายของคหบดีที่มาเชิญผู้เขียน
เพราะพยานหลักฐานในสำนวนชัดเจน

อาจารย์สัญญามีคติยึดถือประจำใจว่า
"อัน งานของตุลาการนั้นอะไรจะมาสำคัญกว่าจิตใจที่บริสุทธิ์ยุติธรรมเป็นไม่มี
ความรู้ความสามารถและความละเอียดรอบคอบนั้น
เป็นความสำคัญอย่างมากจริงอยู่แต่ความบริสุทธิ์ยุติธรรมจากจิตใจเป็นความ
สำคัญอย่างยิ่ง งานตุลาการเป็นงานอิสระใครจะมาบังคับความเห็นเราไม่ได้
ฉะนั้น งานตุลาการจึงเป็นงานต้องไว้ใจตัวเองว่า
เรามีความบริสุทธิ์ยุติธรรมโดยถ่องแท้และมั่นคง และคนเรา
เมื่อไว้ใจตัวของตัวเองได้แล้ว ก็ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมใดๆ ทั้งสิ้น
ดั่งนี้เขาผู้นั้นแหละย่อมเป็นตุลาการที่สมบูรณ์"

เมื่ออาจารย์ สัญญา ได้รับเชิญเป็นวิทยากรอบรมผู้ช่วยผู้พิพากษา
ท่านเคยให้คติเตือนใจที่มีคุณค่ายิ่งแก่ผู้ช่วยพิพากษา
เพื่อยึดถือในการครองตนและประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรม
ในการอบรมครั้งหนึ่ง อาจารย์แนะนำวิธีที่จะช่วยให้ผู้พิพากษาวินิจฉัย
ชี้ขาดคดีได้อย่างถูกต้อง เป็นธรรมว่า

"ต้องทำจิตให้เป็นกลาง หมายความว่า ทำจิตใจให้ว่าง
เวลาคิดเรื่องงานหรือนั่งบัลลังก์ จิตของเราต้องประภัสสร คือแจ่มใสสว่างจ้า
ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง... แต่บางทีก็มีมารมาผจญ
ผมเองก็เคยถูกผจญเหมือนกัน ถูกเข้าแล้วก็คิดว่าเป็นอย่างไรก็เป็นไป
ถึงจะต้องออกก็ออก เมื่อเราเห็นอย่างนี้ว่ายุติธรรรม
แม้จะกระทบกับการเมือง เป็นอย่างไรก็เป็นกัน ถ้านึกได้อย่างนี้
แสดงว่าจิตว่าง การที่ผู้พิพากษามีจิตมั่นคงผ่องใส ปราศจากอคติ
และไม่รวนเรไปในทางหนึ่งทางใด จะทำให้ปฏิบัติหน้าที่อิสระ
ในการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างเป็นธรรมมากขึ้น"

นอก จากจะยึดมั่นในจริยธรรม เป็นแบบฉบับของผู้พิพากษาตุลาการ
ที่สมควรยึดถือและปฏิบัติตามแล้ว
ท่านยังเป็นปรมาจารย์วางหลักในการเรียบเรียงคำพิพากษา

เช่น ในการวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่ อาจารย์สัญญาวางหลักไว้ว่า

"การ ที่จะถือว่าบุคคลใดเป็นเจ้าพนักงานนั้น จะต้องพิจารณาโดยจำกัด
เพราะความเป็นเจ้าพนักงานนั้น มิใช่จะก่อให้เกิดหน้าที่ต้องรับผิด
เมื่อตนกระทำผิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่นอีกด้วย
กล่าวคือ เมื่อบุคคลใดกระทำการบางอย่างต่อบุคคลซึ่งถือว่า
เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เช่น ขัดคำสั่งหรือขัดขวาง
แม้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด ถ้ากระทำต่อบุคคลที่มิใช่เจ้าพนักงาน
กฎหมายทางฝ่ายอาญายังบัญญัติเอาการกระทำนั้น
เป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ต่างหากเป็นพิเศษด้วย
ซึ่งบุคคลธรรมดาสามัญจะอ้างเอาเช่นนั้นไม่ได้
ฉะนั้นการที่จะถือว่าผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่นั้น
จึงต้องมีความสำคัญที่จะต้องพิจารณาดูว่าผู้นั้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็น
เจ้าพนักงานตามกฎหมายหรือมิใช่ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า
ผู้ใดจะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย
ผู้นั้นจะต้องได้รับการแต่งตั้งโดยถูกต้องตามกฎหมายว่า
ด้วยการแต่งตั้งข้า ราชการให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่
หรือมิฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีกฎหมายระบุไว้โดย
เฉพาะเจาะจงให้ถือเป็นเจ้าหน้าที่"

คำสอนของอาจารย์สัญญานี้ สำหรับผู้เขียน
นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาแล้ว
ยังเป็นหลักที่นำมาใช้เมื่อปฏิบัติหน้าที่กรรมการ ป.ป.ช.ด้วย

ผู้เขียนเห็นว่าผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมายดียอดเยี่ยม
ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้พิพากษาตุลาการที่ดีเสมอไป
หากไม่มีความเป็นอิสระ

อาจารย์สัญญากล่าวถึงความมีอิสระของคนเป็นผู้พิพากษาตุลาการว่า

"การที่ผู้พิพากษามีจิตมั่นคง ผ่องใส ปราศจากอคติ
และไม่รวนเรไปในทางหนึ่งทางใด จะทำให้ปฏิบัติหน้าที่อิสระ
ในการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างเป็นธรรมมากขึ้น
ถ้าเรามีจิตที่แข็งแกร่งอยู่ในบังคับบัญชาของเรา เป็นเหล็กกล้า
เป็นจิตของตุลาการแล้ว อะไรๆ ก็ไม่สำคัญเลย
คนอื่นเขาจะเห็นหรือไม่เห็น ผู้บังคับบัญชาจะยกย่องหรือไม่ยกย่อง ก.ต.
ท่านจะให้ 2 ขั้นหรือไม่ให้ก็ไม่เป็นไร ความยุติธรรมไม่มีเสื่อมเสีย
ติดตัวอยู่ตลอดไป อย่างน้อยที่สุดใจเรายังเบิกบานภาคภูมิใจ
ไม่ต้องเกรงกลัวอะไรหรือผู้ใดทั้งสิ้น นี่ถือความเป็นอิสระ
ไม่ใช่อิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีเท่านั้น แต่อิสระในใจของตน
คุณลองคิดดูเป็นจริงได้ไหมหรือเพ้อฝัน ผมขอยืนยันว่าเป็นจริงได้
คุณต้องลองทำดูก่อนจึงจะเห็นจริง ถ้าจิตของคุณมั่นคงเป็นเหล็กกล้าเบิกบาน
ประภัสสร ผ่องใส ว่างและมั่นคง ทุกสิ่งทุกอย่างจะมาเอง
ทั้งความดี ทั้งโชคลาภ มีความสุขในครอบครัว
และดูคนด้วยความเต็มหน้าเต็มตา ชีวิตทั้งชีวิตจะดีไปด้วย
บรรพตุลาการของเรามีตัวอย่างให้เห็นมากมายที่ท่านทำได้อย่างนี้"

คำสอนของอาจารย์สัญญา
ที่ผู้เขียนเห็นว่าสุดยอดที่ผู้พิพากษาต้องจดจำอย่าได้

หลงลืมเป็นอันขาดก็คือ
"ศาลยุติธรรมจะอยู่ได้ด้วยการเคารพนับถือของคนทั้งหลาย

ปัจจุบันเขายังเคารพศาลอยู่ เมื่อครั้งผมเป็นรัฐบาลมีข้อกฎหมาย
ที่เขาถกเถียงกันใหญ่โต แต่ลงท้ายมีคนบอกว่า
เรื่องนี้ความจริงศาลฎีกาท่านตัดสินแล้วว่าเป็นอย่างไร
ข้อถกเถียงเงียบทันที หลายคนเขายังเคารพศาลอยู่
เพราะฉะนั้นพวกคุณจะต้องรักษาความดีอันนี้ไว้ให้ เขานับถือต่อไป
ถ้ามีเรื่องทุจริตเกิดขึ้นมาทีไร
พวกผู้พิพากษาที่เกษียณไปแล้วก็เสียอกเสียใจกันใหญ่
ไม่น่าเลยศาลจะเป็นอย่างนี้ ทำได้อย่างไร
ทำลายสถาบันป่นปี้หมด นี้แหละครับไม่ใช่ความรังเกียจจะแรง
เฉพาะเพื่อนคุณ ผู้บังคับบัญชา ครูบาอาจารย์ มันแรงไปทุกตุลาการแม้จะออกไปแล้ว"

เป็นที่น่าสังเกต ว่าคำสอนของอาจารย์สัญญา
จะกล่าวถึงตัวผู้พิพากษาตุลาการทั้งในด้านการปฏิบัติ การวางตัว
แนวความคิด และจิตวิญญาณของการเป็นผู้พิพากษาตุลาการ
หากพิจารณาคำสอนของอาจารย์ให้ดี
จะจับหลักได้ว่าเมื่อมีเหตุวิกฤตศรัทธาเกิดขึ้นแก่ผู้พิพากษาตุลาการ

ผู้พิพากษาตุลาการต้องตรวจสอบตัวเอง
ทั้งแนวความคิดและการปฏิบัติตัว
ว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร จึงทำให้สังคมเสื่อมศรัทธา

เพราะการแก้ไขตัวเราเองนั้น
น่าจะทำได้ง่ายกว่าที่จะให้บุคคลอื่นเขาแก้ไขพฤติกรรมของเขา

ยกเว้นท่านจะแน่ใจว่าได้ปฏิบัติตนถูกต้องครบถ้วน
ตามคำสอนของอาจารย์สัญญาแล้ว แต่ก็ยังมีคนกล่าวหาท่านอยู่อีก

หนังสือที่ใช้อ้างอิง: 100 ปี กระทรวงยุติธรรม

นิติศาสตร์เสวนาเรื่องคุณค่าบรรพตุลาการ