มติชนออนไลน์
วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
- http://teetwo.blogspot.com/2008/11/blog-post_28.html
- http://teetwo.blogspot.com/2008/12/blog-post_17.html
- http://teetwo.blogspot.com/2009/08/blog-post_2321.html
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ได้จัดงานวันปรีดี ประจำปี 2553 เมื่อวันที่ 11 พ.ค.
ช่วงเช้ามีพิธีสักการะอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์
วางพานพุ่มดอกไม้สดและพิธีกรรมทางศาสนา
โดยตัวแทนรัฐบาล นักการเมือง ศิษย์เก่า
รวมถึงคณาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ร่วมในการวางพานพุ่มดอกไม้สด
ในพิธีสักการะอนุสาวรีย์ ณ บริเวณลานปรีดี เช่น
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี
หลังจากนั้นเป็นพิธีมอบรางวัลทุนการศึกษา "ทุนปาล พนมยงค์"
พร้อมกันนี้ ยังจัดงานเสวนาในหัวข้อ
"110 ปี รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์"
โดยดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์,
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ดำเนินรายการโดย
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ ตึกโดม ชั้น 2
ผู้ดำเนินรายการถามถึงเรื่องภราดรภาพตามหลักคิดของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี นั้น
ดร.ชาญวิทย์ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เราเรียกว่าวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
เป็นแขนงหนึ่งของราชบัณฑิต
กรณีของทุนอานันทมหิดลก็มีทุนธรรมศาสตร์และการเมือง
ตนคิดว่าท่านปรีดีได้รับแรงบันดาลใจของภราดรภาพมาจากฝรั่งเศส
เพราะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบัณฑิตหรือสถาบันทางการศึกษาของฝรั่งเศส
ชื่อมหาวิทยาลัยของเรา University of Moral and Political Sciences
เป็นชื่อเก่า เหมือนประเทศไทยที่เคยชื่อ Siam
แรงบันดาลใจของท่านเป็นสากล ทั้งนี้ วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
หนีไม่พ้นฝรั่งเศสที่ติดตัวมากับเรา คำขวัญว่าด้วยประชาธิปไตย
อย่างเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ มันก้องอยู่ในธรรมศาสตร์
ที่มาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ภราดรภาพ ตอนนี้หายไปเยอะมาก
เราเกลียดกันมากกว่าที่รักกัน เราสร้างสถานีโทรทัศน์แห่งความเกลียด
เราสร้างอีเมล์ หรือ Hate Internet
จึงต้องผลักดันสืบต่อภราดรภาพ
ประเด็นที่เราถกเถียงระหว่างสีต่างๆ หรือตนเรียกว่า
เสียมโป๊ยก๊ก ที่ทะเลาะกันอยู่ ประเด็นก็คือเหล่านี้
ด้าน นพ.บัญชา กล่าวว่า ในความหมายที่เรียนรู้มาหลักภราดรภาพ
อยู่ในทุกหลักคิดของศาสนาด้านจรรยาบรรณและศีลธรรม
ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นพุทธ คิดว่าหลักพุทธจริงๆ ต้องครบ 3 อย่าง คือ
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
แต่ท่านปรีดี สากลมากกว่า
มองในมุมกว้างและบูรณาการยิ่งกว่าไประบุว่า
ภราดรภาพนั้นเป็นเรื่องของพุทธ ต้องทำให้สากลมากขึ้น
นอกจากนั้น ท่านพุทธทาสได้กล่าวในการลอยอัฐิธาตุของท่านปรีดีว่า
"ท่าน รัฐบุรุษอาวุโสต้องรับเคราะห์ด้วยการถูกขับออกจากประเทศ
เพราะเสนอลัทธิสังคมนิยม เพื่อเป็นหลักการปกครองประเทศชาติ
เมื่อเขาไม่เห็นด้วย เพราะไม่เข้าใจความหมายของคำว่า
สังคมนิยมก็เลยต้องพ่ายแพ้
ฉะนั้นข้อนี้อาตมาก็ได้รับเคราะห์อย่างเดียวกัน
คือเสนอหัวใจของสังคมนิยมว่าเป็นหัวใจของทุกศาสนา
ที่สอนลัทธิสังคมนิยมให้รักกันอย่างเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย
จนนายทุนรักกรรมกร กรรมกรรักนายทุน
คนมั่งมีรักคนยากจน คนยากจนรักคนมั่งมี
ลัทธินี้เรียกว่า ธรรมิกสังคมนิยม
อาตมายังขอยืนยันอยู่ว่าเป็นหัวใจของทุกศาสนา"
นพ.บัญชา กล่าวอีกว่า สถานการณ์ขณะนี้มีทางเดียวที่จะแก้ได้ คือ
ภราดรภาพ เรื่องการเห็นอกเห็นใจ เรื่องการแผ่เมตตา
ไม่คิดว่าเรื่องที่ท่านปรีดีคิดไกลจะเป็นเรื่องที่ทำแล้วจะไม่ได้
กลับมองว่าเป็นเรื่องท้าทายสามารถพาเราไปได้ไกล
โดยไม่จำเป็นต้องลงเอยเช่นเดียวกับท่านปรีดี
สำหรับข้อเสนอ ขณะนี้อยากให้ช่วยกันคิดและขับเคลื่อน
ลดความเหลื่อมล้ำ นำลัทธิที่เหมาะสมมาแก้ปัญหาที่ซึมลึก
อย่างในระดับชุมชนก็ควรตั้งใจทำกิจกรรม เช่น
การสร้างสถานธรรมให้แผ่วงกว้าง นอกจากนี้
ดร.อนุสรณ์ ยังตั้งข้อสังเกต เรื่องการเผยแพร่ผลงานของท่านปรีดี
แต่อำนาจรัฐไทยบางช่วงกลับมี
คำอธิบายบางอย่างที่แตกต่างจากการรับรู้ข้อเท็จ จริง
และพยายามลบความทรงจำบางอย่าง
ที่สังคมไทยมีต่อผลงานความคิดของท่าน
เป็นเพราะความคิดที่ล้ำสมัยมากเกินไปของท่านหรือ
ทำให้คนบางกลุ่มเสีย ประโยชน์
ทั้งที่วิธีการเปลี่ยนแปลงประเทศโดยอภิวัฒน์นั้นนิ่มนวลที่สุด
และยึดหลักศาสนา ดร.ชาญวิทย์ ระบุว่า
จุดเด่นในประวัติศาสตร์การเมือง อาทิ
1.บทบาทของท่านปรีดี ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475
2.บทบาทในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สองประเด็นนี้สำคัญว่า
คนเราคิดอะไรมากมาย ทำมากมาย
ถ้าเราเคลียร์ประเด็นทั้งหมดได้
ก็สามารถมองทุกอย่างทะลุปรุโปร่ง
กรณีเรื่องเสรีไทยนั้นเกือบไม่มีข้อกังขา
แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ข้อมูลถูกบิดเบือนแต่งเติม หรือไฮแจ็ค
ทำให้เป็นประวัติศาสตร์ที่พร่ามัว
มีนักวิชาการที่ทวนกระแสที่มองเห็นต่างมากๆ
ว่าประชาธิปไตยของไทยเป็นอย่างไร
ขณะที่ รศ.ดร.นครินทร์ กล่าวว่า ตนคิดว่า
ท่านปรีดีก้าวหน้าเกินไปจนคนรับไม่ได้ เช่น
ท่านต่อสู้ตลอดเวลาตั้งแต่ปี 2475-2489
ที่ต้องการให้เลือกตั้งทั้ง ส.ส.และส.ว.
จริงๆ การเลือกตั้ง ส.ว.เกิดตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2589
แต่ท่านปรีดีออกแบบไว้เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม
เช่นเดียวกับการเลือกตั้งในฝรั่งเศส
เข้าใจว่าคนไทยโดยเฉลี่ยรับไม่ได้
ตนเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50
ใน กรรมาธิการทั้งหมดมีเพียง 4 คนเท่านั้นที่
ขอให้เลือกตั้ง ส.ว. แต่ท่านปรีดีเรียกการต่อสู้นี้ว่าประชาธิปไตยสมบูรณ์
ในแนวคิดของท่าน รัฐธรรมนูญปี 2475
เป็นกึ่งประชาธิปไตยเท่านั้น
ประชาธิปไตยสมบูรณ์เกิดขึ้นเมื่อปี 2489
เลือกตั้งทั้งระบบ แต่ทุกวันนี้ก็ไม่ได้เลือกตั้งทั้งหมด
เพราะในใจเราไม่รับ นี่เป็นเหตุที่ทำให้ท่านอยู่ลำบาก
"2.การเปิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.)
เป็นตลาดวิชา เชื่อว่าข้าราชการรับไม่ได้
เพราะการเปิดตลาดวิชาสร้างความระส่ำระสายให้ระบบราชการ
เราเปิดธรรมศาสตร์บัณฑิต (ธ.บ.)
มาตั้งแต่ปี 2477 พอปี 2489/2490
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มหาดไทย
กระทรวง ทบวง กรม ตั้งกฎใหม่ว่า ใครจบธ.บ.
เข้ารับราชการเงินเดือนจะต่ำกว่าคนอื่น 1 ขั้น
เพราะคนเรียนสมัยนั้น เรียนแบบตลาดวิชาและอายุไม่เท่ากัน
นี่คือที่มาของการปิด ธ.บ.แล้วมามีมหาวิทยาลัยเปิดอีกที
ตอนตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง
นี่คือแรงกดดันทางการเมืองชนิดหนึ่ง
เพราะมองว่าตลาดวิชาสู้การเรียนในระบบปิดไม่ได้"
รศ.ดร.นครินทร์ กล่าวพร้อมทั้งเรียกร้องว่า
หากเราเป็นสานุศิษย์ปรีดี พนมยงศ์
จริงๆ ธรรมศาสตร์ต้องเป็นตลาดวิชา
รศ.ดร.นครินทร์ กล่าวอีกว่า
ท่านปรีดีเป็นคนผลักดันจัดตั้งเทศบาล
แล้วประเทศไทยต้องเป็นเทศบาลอย่างเดียว
จริงๆ แล้วฝรั่งเศสคือแม่แบบของเทศบาล
แต่เราก็รับไม่ได้ ในปี 2477
ตั้งได้นิดหน่อยในพื้นที่ ต่อมาต้องตั้งสุขาภิบาลทับเข้าไป
ท่านปรีดีเคยพูดในสภาฯ
อธิบายร่างกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปี 2476
และร่างกฎหมายเทศบาลปี 2476
ขณะนั้นท่านเป็นรมว.มหาดไทย
ที่เสนอร่างกฎหมายว่า มนุษย์มีการปกครองอยู่ 2 อย่าง
ถ้าปกครองตามธรรมชาติก็ต้องใช้การปกครองท้องที่
แบบที่มีกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
แต่เมื่อเราเป็นพลเมืองที่รู้จักสิทธิหน้าที่
ในการปกครองตนเองที่นั่นจะต้อง
มีเทศบาล อีกนัยหนึ่งคือเป็นของพลเมืองที่มีอารยชน
คนที่จบธรรมศาสตร์ยุคแรกๆ
จะทำงานเทศบาล ตอนนี้ทุกคนทิ้งหมด
เพราะมองว่าเป็นงานชั้นต่ำ
ทำให้เห็นว่าท่านปรีดีมองทุกอย่างก้าวหน้ากว่าเรา
อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นดังกล่าวถูกแย้ง
โดยดร.ชาญวิทย์ ที่ มองว่าเรื่องการเลือกตั้ง ส.ว.หรือไม่นั้น
ขึ้นอยู่ที่ กรรมาธิการยกร่างรธน.
และไม่เห็นด้วยที่บอกว่าเพราะคนไทยเป็นผู้ตัดสินใจ
ทั้งที่อ้างว่าทำแบบสอบถามแล้วนำมาตัดสินเอง
ด้านรศ.ดร.นครินทร์ ชี้แจงว่า
ตนเป็นหนึ่งในสี่เสียงที่ต่อต้าน
ทุกอย่างไม่ได้เกิดจากข้าราชการ
ชาวบ้านเองก็มีส่วนในการตัดสินใจ