Custom Search

May 18, 2010

วาณิช จรุงกิจอนันต์: มิตรภาพ ความหลัง ชะตากรรม และผองเพื่อน







Thu, 30/11/2006 - 10:01 — onopen
- ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา สัมภาษณ์ -

คัดลอกจาก http://www.onopen.com/coffee-open/06-11-30/3168 ประวัติ วาณิช จรุงกิจอนันต์
http://www.praphansarn.com/new/c_writer/detail.asp?ID=261




6 กันยายน 2548, ประมวล รุจนเสรี แก้วสรร อติโพธิ และ สนธิ ลิ้มทองกุล ขึ้นเวทีร่วมกันที่ธรรมศาสตร์ เปิดฉากอภิปรายเรื่องพระราชอำนาจ พุ่งเป้าโจมตีไปที่ตัวนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร โดยใช้สถาบันเป็นประเด็นหลัก

9 กันยายน 2548, สนธิ ลิ้มทองกุล จัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ครั้งสุดท้าย ย้ำประเด็นเดิม ก่อนรายการจะถูกสั่งปิดในเวลาต่อมา หลังจดหมายลูกแกะหลงทางถูกอ่าน และการท้าทายอย่างซึ่งๆ หน้าได้เกิดขึ้นผ่านสื่อโทรทัศน์ของรัฐ

12 กันยายน 2548, ข่าวแกรมมี่รุกซื้อมติชนและบางกอกโพสต์เริ่มเป็นที่ร่ำลือ ค่ำวันเดียวกัน ผู้บริหารมติชน นำโดย ขรรค์ชัย บุนปาน พร้อมคณะอันประกอบด้วย ฐากูร บุนปาน, ปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์ และ สมหมาย ปาริจฉัตต์ นัดพบกับผู้บริหารแกรมมี่ นำทีมโดย ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม, อรุณ วัชระสวัสดิ์ และ วาณิช จรุงกิจอนันต์

13 กันยายน 2548, ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แถลงข่าวที่ตึกแกรมมี่ โดยปราศจากเงาร่างของขรรค์ชัย ท่ามกลางนักข่าวนับร้อยและคำถามร้อนแรงถึงการเข้าซื้อกิจการอย่างไม่เป็น มิตร จนไพบูลย์ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นคนอารมณ์ดีออกอาการหงุดหงิด

14 กันยายน 2548, ข่าวการซื้อหนังสือพิมพ์สองฉบับของแกรมมี่ถูกนำไปเชื่อมโยงกับประเด็น การเมืองและการแทรกแซงสื่อ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงไปทั่วทุกวงการ นับตั้งแต่ในกองบรรณาธิการเครือมติชน ไปจนถึงหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น และเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ค่ายใหญ่อย่างมติชน เนชั่น และผู้จัดการ ซึ่งเคยห้ำหั่นในสนามธุรกิจ หันมาจับมือเป็นมิตรในยามยาก

20 กันยายน 2548, พิเชียร คุระทอง เขียนคอลัมน์ “ทวนน้ำ ขวางโลก” ในหน้า 2 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน เรื่อง “มิตรแท้-มิตรเทียม” ถึง วาณิช จรุงกิจอนันต์ ความโดยสรุปว่า วาณิชหาได้เป็นมิตรแท้ในนิยามของพุทธศาสนา หากว่าเป็นมิตรเทียม กินบนเรือน ขี้บนหลังคา และเป็นไส้สึก-หนอนบ่อนไส้ ท่ามกลางบรรยากาศการต่อต้านแกรมมี่ที่รุนแรงยิ่งขึ้น

19 ธันวาคม 2548, วาณิช จรุงกิจอนันต์ มอบหมายให้ทนายฟ้องอาญาสินไหมฐานหมิ่นประมาทต่อนายพิเชียร คุระทอง บรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์มติชน เป็นจำเลยที่ 1, นายสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน เป็นจำเลยที่ 2, และ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 3 หลังจากทอรุ้ง จรุงกิจอนันต์ ภรรยาของวาณิช ได้มีจดหมายไปยังมติชนเพื่อให้ขอโทษและมิได้รับการตอบกลับ โดยเรียกค่าเสียหาย 30 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้อง

23 ธันวาคม 2548, มติชนสุดสัปดาห์ ขึ้นปกรูป วาณิช จรุงกิจอนันต์ เต็มหน้า พร้อมพาดหัวรอง “อดีตคอลัมนิสต์มติชนฟ้องมติชน”


25 เมษายน 2549, ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง โดยให้เหตุผลประกอบว่า
แม้ว่าบทสรุปในบทความจะใช้คำว่า “กินบนเรือนขี้บนหลังคา” และ “เป็นไส้ศึกหนอนบ่อนไส้” ที่มีความหมายถึงการเนรคุณไม่สำนึกบุญคุณ แต่คำนั้นเป็นข้อความที่เลื่อนลอย ไม่ยืนยันข้อเท็จจริงให้เห็นว่าโจทก์เป็นเพื่อนที่คบหาไม่ได้อย่างใด อีกทั้งข้อความดังกล่าวไม่รุนแรงถึงขนาดทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าโจทก์เป็นคน เนรคุณหรือขาดความน่าเชื่อถือ ดังนั้นบทความดังกล่าวจึงไม่ใช่การหมิ่นประมาท คำฟ้องโจทก์ไม่มีมูล ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง ส่วนที่โจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจำเลยทั้งสามด้วยนั้น เมื่อคดีโจทก์ไม่มีมูลแล้ว จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับโจทก์ตามฟ้องอีก


27 เมษายน 2549, GM นัด พบ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ที่บ้านย่านรามคำแหง เพื่อเปิดใจเป็นครั้งแรกหลังจากผ่านมรสุมครั้งใหญ่ในชีวิต โดยเป็นการถามทุกประเด็น เพื่อให้ตอบทุกข้อสงสัย แบบตรงไปตรงมา เพื่อให้ผู้อ่านเป็นคนตัดสิน ว่าทั้งหมดนี้เป็นการเนรคุณหรือเป็นชะตากรรม ที่ชายคนหนึ่งต้องพบเผชิญเมื่ออยู่ในจุดกึ่งกลางระหว่างเพื่อนกับพี่ หรือว่านี่เป็นเพียงแค่เรื่องธุรกิจที่มิตรอาจแปรเปลี่ยนเป็นศัตรู เมื่อเข้าออกบ้านเพื่อนโดยไม่ได้เคาะประตูบอกกล่าว



..............................

หลังจากรู้แล้วว่าศาลยกฟ้อง รู้สึกอย่างไรบ้าง จะทำอย่างไรต่อ

ก็แปลกใจ ส่วนทำอะไรนั้นคงไม่ต้องทำ ทนายเขาทำ
ก็อุทธรณ์ฎีกาว่ากันไป เกมมันบังคับ









ตอนที่อ่านข้อเขียนชิ้นนั้นรู้สึกอย่างไร


ไม่ รู้ สึกอะไรเลยในตอนแรก เพียงแต่งง งงมาก ว่าเอ๊ะ ไอ้เชียร (พิเชียร คุระทอง) มึงเขียนด่ากูทำไม คือตอนนั้นเรื่องมันจบแล้ว มีการขายหุ้นคืนกันแล้ว ไอ้โต้ง (ฐากูร บุนปาน) ไอ้ถั่ว (สุเมธ ดำรงชัยธรรม) แถลงข่าวร่วมกันแล้ว มีบันทึกช่วยจำร่วมกันไปแล้ว มติชนทั้งเครือก็พิพากษาตัดสินประหารชีวิตผมไปแล้ว แล้วมึงเขียนทำไม จะแสดงอภินิหารอะไรของมึง ตั้งใจเขียนเชียวนะ ตั้งใจจะด่าผมให้เจ็บให้แรง

เลยต้องฟ้อง

มัน มีความเสียหายเกิดขึ้น และไม่ใช่แต่ผมที่เสียหาย ทั้งครอบครัวลูกเมียญาติพี่น้อง คำว่า ‘เนรคุณคน’ มันด่ากันไม่ได้ พวกไหนไม่ถือก็เรื่องของพวกนั้น พวกสุพรรณฯเขาถือ เราถูกบอกย้ำพร่ำสอนมาให้เป็นคนกตัญญูรู้คุณคน ข้าวหนึ่งคำน้ำหนึ่งขัน ลืมไม่ได้ นิสัยนักเลงเขาไม่ลืมกัน เรื่องฟ้องนี่คนที่เดือดร้อนมากคือเมียผม เขาบอกว่าเขาเป็นคนมีชาติมีตระกูล มาด่าผัวเขาอย่างนี้ได้ยังไง แล้วลูกล่ะ ลูกชายคนเล็กก็เรียนนิเทศฯ จุฬาฯ ต่อไปก็คงจะเป็นนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ แล้ววันหนึ่งมีใครสักคนมาบอกเขาว่า อ้อ พ่อมึงเป็นอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องใช่ไหม ลูกชายผมไม่ขึ้นโรงพักก็คงขึ้นศาล ขึ้นแม่งตอนนี้เลยดีกว่า

หนังสือพิมพ์ตอนนี้ไม่ได้ไปเป็นกระดาษเช็ดตูดในวันรุ่งขึ้นนี่ กดปุ่มจึ๊กๆ ก็เรียกกลับมาได้หมด

เกิดอะไรขึ้นก่อนที่เหตุการณ์จะลากยาวมาถึงปัจจุบัน

ผม เป็นกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบของบริษัทมหาชน จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ก็มีการเรียกประชุมบอร์ด มีเรื่องอื่นๆ แต่เรื่องสำคัญคือเรื่องการซื้อหุ้นลงทุนในมติชนกับบางกอกโพสต์ ตรงนี้ที่ผมไม่รู้ ไม่รู้ว่าพอประชุมบอร์ดเสร็จ การซื้อหุ้นที่ว่ามีผลทางกฎหมายหรือกฎอะไรของตลาดหลักทรัพย์

แล้วยกมือว่าอย่างไร

ไม่ได้ยกมือ เป็นการประชุมทั่วไป ไม่ได้มีการโหวตโดยการยกมือ ไม่เคยมี

เป็นการประชุมเนื่องในวาระอะไร

ไม่ รู้ เหมือนกัน จำไม่ได้ ไม่รู้ว่าเพื่อแจ้งให้ทราบหรือขอความคิดเห็น แต่ปกติเวลาประชุมบอร์ดผมไม่ได้พูดอะไรอยู่แล้ว เป็นเรื่องเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ เรื่องธุรกิจการเงิน เรื่องการค้า ซึ่งผมไม่รู้เรื่องพวกนี้ ปิดประชุมผมก็ออกมายืนคุยกับไพบูลย์ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม) ผมรู้ตรงนั้นว่าการซื้อลุล่วงแล้ว ไพบูลย์โทรศัพท์ถึงพี่ช้าง (ขรรค์ชัย บุนปาน) ก็นัดพบกันที่ห้องอาหารจีน โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ

นี่คือก่อนแถลงข่าว

ใช่ เอาเป็นว่าประชุมบอร์ดจีเอ็มเอ็ม มีเดีย เสร็จบ่ายสาม ไพบูลย์ก็โทรหาพี่ช้าง นัดกันสองทุ่ม พี่ช้างบอกไพบูลย์ว่าจะเอาไอ้โต้งไปด้วยนะ ไพบูลย์บอกว่าได้ครับ เดี๋ยวผมเอาไอ้วาณิชกับไอ้อรุณ (อรุณ วัชระสวัสดิ์) ไปด้วย

ฝั่งแกรมมี่ที่ไปมีใครบ้าง

ก็มีผม ไพบูลย์ อรุณ

แล้วทางมติชนมีใครบ้าง

มีพี่ช้าง โต้ง เป๋า (ปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์) แล้วก็หมาย (สมหมาย ปาริจฉัตต์)

เหตุการณ์คืนนั้นเป็นอย่างไร คุยอะไรกันบ้าง หลักใหญ่ใจความที่คุยกันคืออะไร

หลัก ใหญ่ใจความก็คือไพบูลย์บอกว่าจะไม่เข้าไปบริหารหรือเปลี่ยนแปลงการบริหาร พวกแกรมมี่ทำหนังสือพิมพ์ไม่เป็น มีเขาคนเดียวที่พอจะเป็น ที่ชอบ ใจจริงคืออยากจะเข้าไปช่วยต่อยอดขยับขยายทางธุรกิจ ผมจำคำอธิบายไม่ได้ทั้งหมด ไม่ได้สนใจจะจำรายละเอียด ไม่ได้พูดอะไรเลย นั่งกินอาหาร กินไวน์ ก็จบที่จะมีการนัดแถลงข่าวร่วมกันที่ชั้น 9 อาคารมติชน

คืนวันนั้นพี่ช้างตอบคุณไพบูลย์ว่าอย่างไร

พี่ช้างไม่ได้ตอบอะไร เพราะไพบูลย์ไม่ได้ถามอะไร แต่มีพูดเรื่องจะซื้อหุ้นคืน พูดผ่านๆ ไม่ได้จริงจัง

แสดงว่าพี่ช้างมีการเอ่ยปากว่าจะขอซื้อหุ้นคืน

มี ในบางส่วนของระหว่างที่คุยกัน

แล้วคุณไพบูลย์ตอบว่าอย่างไร

ไม่ได้ตอบ

ถ้าอย่างนั้นการเจรจาเดินต่อได้อย่างไร เมื่อฝ่ายหนึ่งอยากจะซื้อหุ้นคืน แต่อีกฝ่ายไม่ได้คิดจะขาย

พี่ช้างไม่ได้ยื้อ พูดผ่านๆ ไพบูลย์ไม่ตอบก็จบ ไม่ได้เจรจาต่อรองอะไรกัน

แต่ในเชิงนักเลงถือว่าขอกันไหม คุณอยู่ตรงนั้นบรรยากาศเป็นอย่างไร

ใน ความรู้สึกผม ผมไม่ได้คิดว่าพี่ช้างขอแบบจริงจัง ไม่ได้เน้น ไม่ได้ขอในภาษานักเลง ไม่ได้จ้องหน้ากัน ไม่มีบรรยากาศแบบนั้น ส่วนหนึ่งเหมือนพี่ช้างก็ยอมรับความเป็นจริงว่าเป็นอย่างนี้แล้ว เหตุการณ์จึงมาสรุปที่การนัดแถลงข่าวร่วมกัน

ในเมื่อฝ่ายหนึ่งขอ ฝ่ายหนึ่งไม่ตอบ มันมาสู่ข้อสรุปว่าจะแถลงข่าวร่วมกันได้อย่างไร

เหมือน เหตุการณ์มันสรุปได้แล้ว ในโมเมนต์นั้นเหมือนตกลงกันได้แล้ว เข้าใจกันแล้ว เป็นที่ยอมรับว่าไพบูลย์เป็นหุ้นใหญ่ แต่จะไม่เข้าไปก้าวก่ายการบริหาร ไพบูลย์บอกว่าไม่ชอบเข้าไปแล้วเกะกะ ถ้ามีอะไรจะช่วยได้ก็บอกมา จะเข้าไปช่วย ก่อนจะเลิกวงก็นัดแถลงข่าวร่วมกันที่มติชน พี่ช้างก็หันมาสั่งผมว่า “เฮ้ยวาณิช มารับไพบูลย์ด้วยนะ เขาไม่คุ้นที่คุ้นทาง” ผมก็ตอบว่า “ครับ” คืนนั้นผมพูดคำว่าครับคำเดียวนี้เอง รุ่งขึ้นตื่นมา นัดกัน 11 โมง อรุณเอารถมารับผมที่บ้าน ไปที่มติชน แต่ที่มติชนเงียบ ไม่มีอะไรเลย

ถ้า ให้อรุณเล่า เขาจะบอกว่าเป็นความโชคดีของเราสองคนที่เป็นคนสูบบุหรี่ ก่อนจะเข้าตึกก็เลยยืนสูบบุหรี่กันอยู่ข้างนอก ทะเล่อทะล่าเดินเข้าตึกขึ้นไปชั้น 9 เลยคงจะถูกจ้องแย่ ดีไม่ดีจะมีคนเดินมาจ้องหน้าเอาด้วยซ้ำ และเราก็จะไม่เข้าใจว่าเขามาจ้องหน้าเราทำไม พอเห็นว่ามันเงียบๆ ผิดปรกติที่จะมีการแถลงข่าว อรุณก็เลยโทรศัพท์ไปหาไพบูลย์ บอกว่า “เฮ้ย นัดแถลงข่าวไม่เห็นมีใครมาเลย” ไพบูลย์ก็บอกว่า “เปลี่ยนแผน มาแถลงที่แกรมมี่แทน พี่ช้างไม่สบาย”

จริงๆ แล้วผมไม่ได้คิดจะไปหรืออยากจะไปงานแถลงข่าวที่แกรมมี่ เพราะไพบูลย์ก็ไม่ได้บอกหรือสั่งให้ผมไป แต่อรุณบอกว่า “ไปเถอะ ไม่มีอะไรทำอยู่แล้วนี่หว่า ไปฟังดูว่าเป็นยังไงบ้าง” พอไปถึงแกรมมี่ก็ตกใจ ผู้สื่อข่าวรออยู่สัก 200 กว่าคน แน่นห้องเอี้ยดไปหมด ฝ่ายประชาสัมพันธ์พยายามจะให้ผมไปยืนข้างหลังไพบูลย์ แต่ผมไม่ได้เข้าไป ยืนอยู่กับอรุณที่มุมหนึ่ง

ทั้ง ผมและอรุณไม่รู้ มาก่อนเลยว่าเราเป็นตัวละครสำคัญของเหตุการณ์ ผมเริ่มผิดสังเกตตอนที่ผู้สื่อข่าวถ่ายรูปผมกับอรุณอย่างเอาจริงเอาจัง กล้องทีวีก็จับ เพื่อนคนหนึ่งเป็นเพื่อนผมกับอรุณ เห็นผมสองคนจากทีวี บอกเพื่อนอีกคนว่าไอ้เฒ่าสองตัวมันไปยืนทำไมอยู่ตรงนั้น

วันนั้นคุณไพบูลย์โดนถล่มเสียน่วมเลย

คง มีคนคิดว่าอย่างนั้น แต่ไพบูลย์ไม่ได้คิดอย่างนั้นหรอก ไพบูลย์เป็นคนเก่งในเรื่องการคุยการเจรจา การตอบคำถามคน มีไหวพริบปฏิภาณ เขาก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ แต่เขามาบอกผมทีหลังว่า “ถ้ากูรู้มันยังไม่สรุป กูไม่แถลงข่าว”

คุณจะอธิบายเหตุการณ์วันนั้นอย่างไร เพราะเมื่อคืนเพิ่งคุยกัน มาวันนี้กลับกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ผม ไม่รู้จะอธิบายอะไร ไม่รู้จะอธิบายยังไง ผมเป็นแค่น็อตตัวเล็กๆ ตัวเดียวอยู่ท่ามกลางเครื่องจักรใหญ่ นี่เป็นเรื่องของธุรกิจ เป็นเรื่องของการลงทุนทำมาค้าขาย มันเกินภาวะการรับรู้ของเรา ผมจะไปมีบทบาทอะไร ไม่มีหรอก จะให้ผมไปบอกไพบูลย์ว่า “เฮ้ย บูลย์มึงอย่าซื้อ” ไพบูลย์จะฟังผมเชื่อผมหรือ ที่จริงผมกับไพบูลย์ไม่ได้คุยอะไรกันจริงจังในเรื่องนี้ เป็นเหมือนการกินเหล้าคุยกันผ่านๆ ผมไม่รู้เรื่องจริงๆ แล้วก็ไม่อยากรู้ด้วย นี่คือนิสัยคือสันดาน ผมเป็นคนไม่นินทาคนก็เพราะนิสัยสันดานนี้ ไม่อยากรู้ อยู่วงการบันเทิงเขามีเรื่องซุบซิบนินทากัน ผมก็ไม่เคยไปซักไซ้อยากรู้

ซึ่งนี่ทำให้มติชนน้อยใจคุณหรือเปล่า ว่ารู้เรื่องนี้แล้ว ไม่เห็นบอกกันบ้าง

คง ไม่ใช่เรื่องน้อยใจ คงจะเป็นเรื่องโกรธ แต่จนเดี๋ยวนี้ผมก็ยังไม่รู้ไม่แน่ใจว่าโกรธผมเรื่องอะไร โกรธว่ารู้แล้วทำไมไม่บอก? โกรธที่ทำไมไปอยู่ตรงนั้นในคืนนั้น? โกรธว่าผมเป็นเพื่อนไพบูลย์? ไม่รู้ ไม่รู้จริงๆ

คุณรู้จริงๆ เมื่อไหร่ว่าแกรมมี่จะซื้อหุ้นมติชน

รู้ล่วงหน้านาน แต่ไม่คิดว่าเป็นเรื่องจริงจัง

รู้ก่อนการประชุมบอร์ดวันนั้น

โถ หนังสือพิมพ์มายาแชนแนลลงพาดหัวหน้าหนึ่งมานานแล้ว มติชนก็รู้ ใครๆ ก็รู้ แต่ไม่คิดว่าจะจริง ผมก็ยังคิดว่าจริงก็ดี ผมสนิทกับทั้งสองฝ่าย มาเจอกันร่วมงานกันก็ดี

ฉะนั้นก็เลยคิดว่าไม่ต้องบอกอะไร เพราะรู้กันอยู่แล้ว

ที่ ไม่ได้บอกเพราะจริงๆ แล้วมันบอกไม่ได้ ไอ้รู้ก็รู้กันอยู่แล้ว แต่จะให้ผมไปบอกพี่ช้างหรือว่า “พี่ ไอ้บูลย์มันจะซื้อหุ้นพี่นะ เป็นหุ้นใหญ่เลย” มันพูดไม่ได้ คนสุพรรณเขาไม่ทำกัน ถ้าพูดแล้วผมจะเป็นเพื่อนแบบไหนของไพบูลย์ล่ะ แล้วมันก็ผิดกฎของบริษัทด้วย

ความลำบากใจเป็นอย่างไรในสถานการณ์ที่ด้านหนึ่งก็พี่ ด้านหนึ่งก็เพื่อน

ไม่ ลำบากใจอะไรเลยในเบื้องต้น รู้สึกว่าทั้งฝ่ายก็รู้จักกันดีและนึกว่าเป็นเรื่องปกติ ประเด็นสำคัญคงเป็นเรื่อง Hostile Takeover มากกว่า เมืองนอกเขาทำกันเป็นเรื่องปกติ แต่มันค้านกับวัฒนธรรมไทย เฮ้ย อย่างนี้ต้องบอก อย่างนี้ต้องคุยกันก่อน ผมเองก็เพิ่งรู้จักคำว่า Hostile Takeover เอาคราวนี้

แต่คุณก็ไทยแท้ ก็นักเลง ฉะนั้นน่าจะเข้าใจวัฒนธรรมไทยว่าทำแบบนี้โดนถล่มแน่

ผม ไม่ได้คิดในเรื่องนักเลงหรือประเด็นเรื่องวัฒนธรรมไทย ผมคิดว่าเป็นเรื่องธุรกิจ และเมื่อมันเป็นเรื่องธุรกิจ มันไปอีกขั้นหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่ง ผมไม่รู้เรื่องด้วยแล้ว

ก่อนที่จะไปต่อ อยากทราบความสัมพันธ์ของคุณกับทั้งสองฝ่าย กับพี่ช้างเริ่มต้นมาอย่างไร

นม นานกาเล ผมเห็นพี่ช้างครั้งแรกเมื่อปี 2508 เรียนอยู่ช่างศิลป์ฯ ปี 1 อาจารย์ไขศรี ศรีอรุณ เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ วันหนึ่งพี่ช้างไปหาอาจารย์ไขศรี เพื่อนผมคนหนึ่ง บ้านมันอยู่ในเขตคณะโบราณคดี ชี้ให้ผมดูว่าคนนี้คือขรรค์ชัย บุนปาน เป็นน้องอาจารย์ไขศรี เป็นนักเขียน มาเจอกันจริงจังตอนที่ผมเข้าไปเรียนปี 1 คณะจิตรกรรมฯ ศิลปากร พี่ช้างกับพี่จิตต์ (สุจิตต์ วงษ์เทศ) เรียนอยู่คณะโบราณคดีปี 3 มีชื่อเสียงใหญ่โต สองคนเป็นนักเขียนนักกลอนมีชื่อ ผมเกรียนด้วยกันทั้งคู่ ตอนนั้นผมเขียนโคลงลงหนังสือรับน้องใหม่ พี่ช้างอ่านแล้วยังบอกเพื่อนผมที่คณะโบราณฯว่าไอ้นี่มีอนาคต อยู่ศิลปากรผมเป็นนักกลอน พี่ช้างพี่จิตต์ก็เขียนกลอน ก็รู้จักคุ้นเคยกันมาตั้งแต่สมัยนั้น

แล้วผูกพันกันต่อมาอย่างไร

ผม เรียนอยู่ปี 5 พี่ช้างกับพี่จิตต์คิดจะทำหนังสือพิมพ์รายวัน ก็ไปซื้อหัวหนังสือพิมพ์ไทยเสรี ของคุณสถิต ปรีชาศิลป์ ซึ่งผมรู้จัก เรียกแกว่าเฮียเอี๋ยว เป็นคนบ้านเดียวกัน หัวหนังสือสมัยนั้นรัฐบาลไม่ให้จดใหม่เปิดใหม่ มีแต่หัวหนังสือที่มีอยู่แล้ว ราคาเลยแพง เฮียเอี๋ยวเรียกมาล้านหรือล้านห้าก็ไม่รู้ เกินงบ ซื้อไม่ไหว เลยมาทำโรงพิมพ์พิฆเณศ อรุณคุ้นเคยรู้จักพี่จิตต์ เพราะพี่จิตต์ชวนไปเขียนการ์ตูนชุดม้าหินจอมปลวกที่สยามรัฐรายวัน ตอนพี่จิตต์ พี่ช้าง พี่เถียร (เสถียร จันทิมาธร) ถูกออกจากสยามรัฐ อรุณก็ถูกยกเลิกการ์ตูนที่เขียนอยู่ด้วย อรุณไปเป็นฝ่ายศิลป์อยู่วิทยาสารพักหนึ่ง พี่เถียร พี่ชูเกียรติ อุทกะพันธ์ ดาราวรรณ เกษทอง อยู่ตรงนั้น ผมแวะไปหาอรุณบ่อยๆ รู้จักคุ้นเคยกับคนพวกนี้ พอพี่จิตต์ พี่ช้าง เริ่มทำโรงพิมพ์พิฆเณศ อรุณก็มาเป็นฝ่ายศิลป์

ทีนี้ผมกับอรุณนั้นกิน นอนอยู่ด้วยกันที่คณะ ผมก็เลยไปสิงสู่อยู่แถวพิฆเณศ ช่วงนี้ที่ใกล้ๆ เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผมไปกินเหล้ากินข้าวที่วงพี่จิตต์ที่ร้านนามชัย อยู่ตรงข้ามประตูแพร่งสรรพศาสตร์ ตอนนั้นพี่ช้างไปทำงานที่ไทยรัฐ แต่ก็แวะมาเสมอ ต่อมาพี่จิตต์ พี่ช้าง พี่ป๋อง (พงษ์ศักดิ์ พยัคฆวิเชียร) เฮียหยุ่น (สุทธิชัย หยุ่น) เขาร่วมกันทำหนังสือพิมพ์รายวัน ประชาชาติรายวัน ผมทำงานแบงก์แล้ว แต่ก็แวะไปตลอด อรุณไปเขียนการ์ตูนที่นั่น พี่จิตต์แกชอบเพลงลูกทุ่ง ก็เขียนคอลัมน์เรื่องเพลงลูกทุ่ง แต่คุยกับผมในวงเหล้าเรื่องเพลงลูกทุ่งไม่กี่ครั้ง แกก็บอก “มึงรู้เรื่องเพลงลูกทุ่งดีนี่หว่า งั้นมึงเขียนแทนกู” ผมก็เขียน เขียนไปได้สักพักก็ไปเมืองนอก ไปอยู่เกือบๆ 4 ปี ช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พี่จิตต์กับพี่ช้างทะเลาะกัน น้ำแยกสายไผ่แยกกอ วุ่นวายไปหมด อรุณเขียนจดหมายไปเล่าให้ผมอ่านอยู่เรื่อยๆ

พอกลับ จากเมืองนอกผมก็ มาเป็นนักเขียน เขียนคอลัมน์ที่โน่นที่นี่ พี่จิตต์ทำหนังสืออะไรหรือไปช่วยใครเขาทำหนังสืออะไร ก็จะมาเรียกให้ไปเขียน เรื่องการเขียนคอลัมน์นี่ต้องบอกว่าพี่จิตต์เป็นคนแรกที่เห็นแววผม ผมไม่รู้หรอกว่าตัวเองมีแวว

แล้วเรื่องพี่ช้าง

พี่ ช้างเป็นคนอ่านหนังสือเยอะ เพราะฉะนั้นผมเขียนอะไรแกก็จะได้อ่าน ทั้งในสตรีสาร ลลนา ตอนที่เล่านี้พี่ช้างเริ่มทำมติชนแล้ว ได้เจอกันบ่อยเพราะตอนนั้นออฟฟิศลลนาอยู่ที่โรงพิมพ์กรุงสยาม แถวถนนราชบพิธ ออฟฟิศมติชนอยู่ใกล้กัน พี่ช้างจะแวะมาหาสุวรรณี สุคนธา บ่อยๆ เจอกันตลอด ไปนั่งที่ร้านมิ่งหลีพี่ช้างก็แวะไป ไปจ่ายค่าอาหาร บริการรินเหล้ารินเบียร์ให้ใครต่อใคร วันหนึ่งที่ร้านมิ่งหลีพี่ช้างก็บอกผมว่า “เฮ้ย มึงไปเขียนที่มติชน” ผมก็ไป เขียนสัพเพเหระ กลอนมั่ง อะไรมั่ง

เขียน ไปพักหนึ่ง วันหนึ่งพี่ช้างก็เรียกเข้าไปพบ ห้องทำงานพี่ช้างกับพี่ป๋องเป็นห้องเดียวกัน มีม่านแบ่งครึ่ง พี่ช้างก็บอกให้ผมนั่งแล้วก็รูดม่านปิด ก่อนม่านจะปิดพี่ช้างถามพี่ป๋องว่า “ตกลง เอามันนะ” พี่ป๋องก็บอก “เอา เอา” พี่ช้างก็บอกผมว่า “เอ็งมาเป็นที่ปรึกษา จะได้มีเงินเดือน ส่วนที่เขียนเรื่องก็ได้ค่าเรื่องต่างหาก” ผมก็ถามว่าแล้วผมจะต้องทำอะไรบ้าง พี่ช้างก็บอก “วันศุกร์เย็นๆ ก็แวะมาฟังผู้ใหญ่เขาคุยกัน”

ผู้ใหญ่คือใคร

ก็ พวกที่ปรึกษา มีพี่เส (เสนีย์ เสาวพงศ์) พี่เสริม (เสริมศรี เอกชัย) พี่วีป (ทวีป วรดิลก) ลุงอุดม (อุดม ศรีสุวรรณ) แล้วก็อามหามานิต (มานิต สังวาลย์เพชร) ผมเป็นคนที่ 6 เบบี๋ที่สุดในนั้น

พวกที่ปรึกษาเขาคุยอะไรกัน

สัพเพเหระ เป็นบรรยากาศที่ดีที่ผมมีความสุขและภูมิใจมากที่ได้อยู่ตรงนั้น การคุยกันวันศุกร์นี้ต่อเนื่องมาหลายปี

เป็นที่ปรึกษามติชนปีอะไร

ราวๆ ต้นปี 2527 ก่อนได้รางวัลซีไรต์

สมัยก่อนที่ปรึกษาเขาจ่ายเงินเดือนเท่าไหร่

ของผมเริ่มที่ 5,000 บาท

ก่อนที่จะเกิดเรื่องต้องออกมา ได้เงินเดือนเท่าไหร่

ผม ไม่รู้ว่าได้เงินเดือนเท่าไหร่ เพราะมันส่งเข้าบัญชี ค่าเรื่องได้เท่าไหร่ยังไม่รู้เลย ไม่ได้สนใจ มารู้ตอนที่ทนายซักค้านในศาล ถามผมว่ามีเงินเดือนเท่าไหร่ ผมบอกว่าไม่รู้ ทนายเขาเลยบอกว่าผมมีเงินเดือน 38,000 จากการเป็นที่ปรึกษา ที่ข่าวสดเหมาจ่ายเดือนละ 5,000 มติชนสุดสัปดาห์ให้ชิ้นละ 3,000 จำได้ว่า 2,000 อยู่นาน มาขึ้นตอนไหนผมไม่รู้ ที่มติชนรายวันเข้าใจว่าจะให้ชิ้นละ 2,000

ตัดกลับไปฟากคุณไพบูลย์บ้าง รู้จักคุณไพบูลย์ได้อย่างไร ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันหรือเปล่า

จริงๆ ก็ควรจะไล่เลี่ยกัน ตอนผมไปติดวงเหล้าวงข้าวพี่จิตต์ที่ร้านนามชัย ไพบูลย์ก็แวะไปหาพี่จิตต์ที่ร้านนามชัยเหมือนกัน ก็อาจจะเจอกันแต่ไม่รู้จักกัน ผมกลับจากอเมริกาปี 2521 พี่จิตต์ทำหนังสืออยู่กับไพบูลย์ ตอนนั้นไพบูลย์ออกจากสหพัฒน์ฯ มาทำพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งกับคุณสุวิทย์ โอสถานุเคราะห์ พี่จิตต์ดูแลในส่วนที่ทำหนังสือ มีหนังสือชื่อยาวๆ ชื่อเศรษฐกิจการเมืองและศิลปวัฒนธรรม และหนังสืออื่นๆ อีก อรุณทำอยู่ด้วย ผมแวะไปหาอรุณ พี่จิตต์ก็เลยบอก มึงมาทำงานที่นี่แล้วกัน ทำไปแล้วรู้สึกเงินเดือนมันน้อย พอดีสมภพ โรจนพันธ์ มาชวนไปทำหนังสือบ้านของการเคหะแห่งชาติ พี่ชูเกียรติ อุทกะพันธ์ เคยทำอยู่แล้วแกออกไปทำหนังสือบ้านและสวนของตัวเอง ทำไปพักหนึ่งก็เบื่อ ไม่ชอบรับผิดชอบหน้าที่บรรณาธิการ อาจารย์นิลวรรณ (คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง) ชวนให้มาช่วยงานที่สตรีสาร ผมก็มา ตอนนั้นมีคอลัมน์ประจำที่ลลนาด้วย

ช่วง นี้ผมก็เจอไพบูลย์อยู่บ่อยๆ กินข้าวกินเหล้าด้วยกัน ต่อมาไพบูลย์ไปเปิดแกรมมี่ ด้วยเหตุการณ์อะไรจำไม่ได้ โทรศัพท์คุยกัน เขาบอกว่า “เฮ้ย สรวง สันติ ตายแล้ว มึงมาแต่งเพลงดีกว่า” ผมก็ไป แกรมมี่ยังเช่าตึกวานิชอยู่ ไปเป็นนักแต่งเพลงมีเงินเดือนประจำ

ตอนนั้นแกรมมี่ให้เงินเดือนเท่าไหร่

ได้เงินเดือน 10,000 บาท ถ้าเพลงได้ทำเทปก็ได้ค่าแต่งเพลงต่างหาก น่าจะเป็นปลายๆ ปี 2527 ผมได้รางวัลซีไรต์แล้ว

ทำงานที่แกรมมี่จากจุดนั้นยาวมาจนถึงปัจจุบัน

ใช่ แต่ทำได้ไม่นานผมก็ไปเมืองนอกอีก รับทุนฟุลไบรต์ไปสอนภาษาไทยที่อเมริกา ไปอยู่หลายเดือน กลับมาก็มาทำงานที่แกรมมี่เหมือนเดิม ขอไพบูลย์ขึ้นเงินเดือนเป็น 15,000 เขาก็ให้ ตอนนั้นนึกว่าสบายแล้ว มีเงินเดือนที่มติชนด้วย เริ่มเขียนคอลัมน์ประจำในมติชนสุดสัปดาห์ มีคอลัมน์ประจำที่โน่นที่นี่ แต่การรับเงินที่แกรมมี่นั้นมันตะขิดตะขวงใจ เพราะผมรู้แล้วว่าผมแต่งเพลงไม่เป็น เขียนกลอนเก่ง แต่แต่งเพลงนี่สากกะเบือมาก ผมเลยบอกไพบูลย์ว่า “กูไม่เอา กูไม่อยู่แล้ว เกรงใจมึง” ไพบูลย์บอก “ทหารเวลาไม่มีสงครามก็ไม่ได้ทำอะไร แต่ไม่มีไว้ก็ไม่ได้ มึงก็เหมือนทหาร เวลากูบอกให้รบมึงรบก็แล้วกัน” ก็อยู่ต่อ แต่ไม่ค่อยได้ทำอะไร กินข้าวกินเหล้ากันมากกว่า

หน้าที่คือกินข้าวเป็นเพื่อนคุณไพบูลย์

ใช่ หน้าที่หลักเลย เลิกงานก็มองหาผม เฮ้ย ไปกินข้าวกัน แต่ตอนหลังแกรมมี่ย้ายมาอยู่สุขุมวิท ซอย 39 เปิดบริษัททำละครเอ็กแซกต์ขึ้นมา ผมก็รู้สึกมีงานทำที่เป็นประโยชน์ ได้เขียนพล็อต เขียนบทละครทีวี

ก๊วนกินข้าวมีใครบ้าง

ไม่ค่อยมีหรอก กินกันสองคน แต่ต่อมามีก๊วนวันพฤหัสฯ

ก๊วนวันพฤหัสฯมีใครบ้าง

ก็ เพื่อนๆ ที่คบกันมานาน เพื่อนนิเทศฯ จุฬาฯ ของไพบูลย์ อย่างมานิต โมฬีชาติ, พนา ทอง มีอาคม, ปราโมทย์ รัฐวินิต, มีผม มีอรุณ มีชัยรัตน์ เมฆศุกรีย์ พวกนี้เป็นตัวยืน มีคนอื่นๆ อีก ทั้งขาจรขาประจำอีกหลายคน แล้วแต่ใครจะมา เพื่อนเก่าสวนกุหลาบ เพื่อนนิเทศฯ ใครมีธุระจะคุยอะไรก็มาคุยกันที่นี่ แต่ตัวยืนก็จะมีอย่างที่บอก ผมก็เป็นตัวหลัก ต้องไป

เป็นเหมือนปุโรหิต?

ปุโรหิตเซ็นบิล

เป็นคนจ่ายเงิน?

ใช่ แต่เงินไพบูลย์นะ ไม่ใช่เงินผม ผมจ่ายเองก็คงต้องขายบ้านมาจ่าย มื้อหนึ่งเป็นแสน

เป็นแสนเลยหรือ

ถ้ามากันเยอะๆ ไวน์เดินดีๆ บางทีก็เกือบสองแสน

แล้วฝั่งมติชนกินกันวันไหน มีใครบ้าง

วัน ศุกร์ ก็มีเป๋า-ปิยะชาติ มี นิวัติ กองเพียร, ประยงค์ คงเมือง, ทวีศักดิ์ ใยเมือง, มีอู-สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร, สุวรรณ พันธ์ศรี ไอ้อ๊วง-พงษ์ศักดิ์ ไพรอังกูร มีขาจรอีกเยอะ ขาจรที่มาประจำคนหนึ่งคือธีรยุทธ บุญมี ก็นัดกินกันจนร้านเจ๊งมาหลายร้าน แต่ร้านล่าสุดที่กินกันคือร้านสุนทรี อยู่ริมคลองประปา

อาทิตย์หนึ่งหมดไปแล้วสองวัน วันอื่นๆ ทำอะไร

วัน อื่นๆ ก็นั่งอยู่กับบ้าน ดูทีวี กินเหล้า มีต้นฉบับต้องส่งก็ขึ้นไปเขียนหนังสือ ตอนนี้ไม่ได้เขียนมติชนแล้ว ก็ไม่ค่อยได้ขึ้นไปเขียนหนังสือ

เปรียบเทียบให้ฟังหน่อยว่าบุคลิกพี่ช้างเป็นอย่างไร บุคลิกคุณไพบูลย์เป็นอย่างไร

พี่ช้างเขานักเลงลูกทุ่ง ไพบูลย์เป็นนักธุรกิจ เป็นนักเลงเหมือนกัน นักเลงธุรกิจ

วิธีปฏิบัติต่อน้องนุ่งเพื่อนฝูง สองคนนี้ต่างกันอย่างไร

ไพบูลย์ ไม่ลงรายละเอียด จับหลักใหญ่ใจความอย่างเดียว พี่ช้างค่อนข้างจะลงรายละเอียด ชอบช่วยเหลือคน เอาใจใส่ที่จะดูแลพรรคพวกน้องนุ่ง แต่ต้องเป็นคนที่อยู่ในที่ในทางหน่อยนะ

ยกตัวอย่างความแตกต่างนี้ได้ไหม

จริงๆ พูดยาก เพราะจะพูดว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แน่นอนไม่ได้ เอาเป็นว่าพี่ช้างเป็นคนมีน้ำใจ อย่างลูกสาวผมสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ พี่ช้างให้เงินลูกสาวผม 10,000 บาท ผมขึ้นบ้านใหม่ พี่ช้างให้ทีวีเครื่องใหญ่เครื่องหนึ่ง ยังอยู่จนทุกวันนี้ แต่ไพบูลย์ไม่ทำอะไรอย่างนี้ ไพบูลย์จะดูหลักว่ากูดูแลมึงเรียบร้อยดีหรือเปล่า ดีหรือยัง ดีแล้วนะ ปลีกย่อยไม่เกี่ยว ง่ายๆ ชัดเจน รวมๆ แล้วทั้งพี่ช้างและไพบูลย์เป็นคนมีใจจะช่วยเหลือคน ดูแลคนคุ้นเคยด้วยกัน แต่ไพบูลย์จะไม่ค่อยทนเรื่องรบกวนจุ๊กจิ๊ก พี่ช้างจะทนเรื่องการถูกรบกวนจุ๊กจิ๊กได้มากกว่า

ประวัติยาวกันขนาดนี้ ย้อนกลับไปวันที่อยู่ในโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ คุณรู้สึกอย่างไร

ผม บอกไม่ถูก คือความรู้สึกเห็นใจพี่ช้างกับความรู้สึกว่าไพบูลย์ตั้งใจจะทำให้มติชน เติบโตในเชิงธุรกิจนั้นมันสับสนปนเป ใครมาเป็นผมในเวลานั้น ในสถานการณ์นั้น ก็คงจะอธิบายความรู้สึกตัวเองไม่ถูกเหมือนกัน แต่ผมก็คิดของผมอยู่อย่างหนึ่งให้ตัวเองสบายใจได้ ว่าผมทำอะไรไม่ได้เลย ทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว เป็นเรื่องของไพบูลย์กับพี่ช้าง ผมก็คิดถึงตัวผมว่าดีโว้ย กูรู้จักทั้งสองฝ่าย จอยกันขึ้นมากูก็มีหน้ามีตา นี่เป็นเพราะความไร้เดียงสา ไม่มีความคิดอื่น มองโลกในแง่ดี คิดว่ามันจะงอกงาม ไม่รู้อะไรหรือคิดอะไรอื่นเลย

หลังจากคุณไพบูลย์แถลงข่าว สถานการณ์พัฒนาไปเป็นอย่างไร

ฉิบหาย แล้วสิทีนี้ ไม่รู้แล้ว งง งงว่าเฮ้ย ตกลงมันไม่ง่าย มันไม่เป็นอย่างที่กูคิดนี่หว่า แล้วก็มีเหตุการณ์ทางฝั่งมติชน ผมไม่รู้ว่าผมถูกกระแสต่อต้านจากมติชนตอนไหน แต่รู้ทันทีว่าถูกตัดญาติขาดมิตรคือวันที่มีการแนะนำ วัฒน์ วรรลยางกูร ในข่าวสด ว่าจะมาเขียนเรื่องเพลงลูกทุ่ง ผมก็นึกว่า เอ๊ะ กูไม่เห็นรู้เรื่องเลย แสดงว่าคอลัมน์เพลงลูกทุ่งของผมในข่าวสดถูกถอด ถ้าคอลัมน์เพลงลูกทุ่งถูกถอด คอลัมน์อื่นๆ ก็คงถูกถอดหมด แต่ผมก็ยังส่งต้นฉบับมติชนสุดสัปดาห์ไป ได้ลงเป็นชิ้นสุดท้าย คอลัมน์นี้มันชื่อวาณิช จรุงกิจอนันต์ หาคนเขียนแทนไม่ได้ ก็ยังว่างมาจนทุกวันนี้ พอประกาศเอาวัฒน์มาเขียนคอลัมน์เพลงลูกทุ่ง ผมก็ไม่ส่งต้นฉบับ ไม่ส่งต้นฉบับเพลงลูกทุ่ง ไม่ส่งต้นฉบับเข้าครัวในมติชนรายวัน

เมียผมเขา เขียนคอลัมน์ครัวสุด สัปดาห์ ใช้นามปากกาว่าคุณนายติ่ง ก็ถูกถอดทันทีเหมือนกัน มีคอลัมน์เรื่องอาหารทำนองเดียวกันของผู้ใช้นามปากกาว่า กระวาน กานพลู มาสวมแทน ไม่แจ้งให้ผมหรือเมียรู้เลยว่าถอดคอลัมน์แล้ว ไม่ต้องส่งต้นฉบับไปอีก ตอนนั้นผมยังบอกกับเมียว่า “เฮ้ย เธอ เราถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แล้ว” (หัวเราะ)

แล้วก๊วนวันศุกร์ล่ะ

ผม ก็ไม่ไป ก๊วนวันศุกร์นี่คนหนึ่งที่ชอบกันกับผมมากคือเป๋า เขาเป็นผู้จัดการทั่วไป เกิดเรื่องขึ้นมาผมอยากโทรศัพท์ไปถามเรื่องราวเกี่ยวกับผมที่มติชนมาก แต่ไม่ได้โทร แต่ไม่กี่วันเป๋าก็โทรมาหาผม เขาโทรมาบอกว่า “พี่ พี่ช้างบอกว่าเรื่องพี่ให้พักไว้ก่อน ผมเซ็นหนังสือไปแล้ว” ผมรู้ว่าผมถูกให้ออกจากมติชนตอนนั้น ตอนที่ไทยรัฐพาดหัวว่า “ปลดวาณิชสังเวย” ผมยังไม่รู้ ก็ถามเป๋าว่าแล้วเป๋าเขียนว่ายังไง เป๋าก็บอกว่า เนื่องจากนายวาณิช จรุงกิจอนันต์ แจ้งความจำนงขอลาออกด้วยวาจา บริษัทเห็นควรอนุมัติ ผมก็บอก “เฮ้ยเป๋า ไม่ได้ เราไม่เคยลาออก ถ้าเป๋าเขียนอย่างนั้นมันจะเข้าทางพี่ป๋อง”

คือ ตอนเกิดเรื่องผู้สื่อข่าวไปถามพี่ป๋องว่าไล่วาณิชออกใช่ไหม พี่ป๋องบอกไม่ได้ไล่ออก วาณิชลาออกเองด้วยความละอายใจ ออกทีวีด้วยนะครับ ผมก็บอก เฮ้ย กูไม่เคยลาออก กูไม่เคยละอายใจ ไอ้ห่า พี่พูดอย่างนี้ได้ยังไงวะ ผมโกรธพี่ป๋องชิบหายเลย ตอนนั้น แต่ตอนนี้หายแล้ว แล้วไปแล้ว คิดขึ้นได้ว่า ถึงอย่างไรพี่ป๋องก็เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่เมตตาผมมาตลอด มีบุญคุณกันมา

ตอน ผมพูดกับเป๋าอย่างนั้นเป๋าเขาบอก ผมเข้าใจครับพี่ แล้วผมจะเขียนใหม่ แต่เขียนว่ายังไงผมก็ไม่รู้ ไม่เคยโทรไปถาม ไม่เคยเห็นหนังสือนั่น

ทำไมถึงคิดว่าไม่ต้องลาออก

ยังไม่ได้คิดเรื่องลาออกหรือไม่ลาออกเลย เขาไล่ออกแล้ว

จากรูปการณ์ทั้งหมด คิดไหมว่าคุณเป็นเหยื่อของสถานการณ์

ผมไม่เคยคิดถึงคำนี้มาก่อน แต่เก๋ดีนะ เป็นก็เป็น

ที่ต้องการหาใครสักคนมาเป็นแพะรับบาป

คง ไม่ถึงขนาดนั้น คงคิดแบบพิเชียรว่าเนรคุณทรยศหักหลังแบบนั้นมากกว่า ผมเองก็ไม่ได้คิดว่าตัวเป็นแพะ ส่วนหนึ่งใจผมยังคิดว่าเรื่องที่เกิดกับผมนี่มาจากเรื่องที่ผมเป็นเพื่อน ไพบูลย์ เมื่อเขาต่อต้านโกรธเคืองไพบูลย์ ก็ไม่แปลกที่จะมาลงที่ผมด้วย อย่างข่าวสดพาดหัวถึงผม ก็จะเรียกผมว่าวาณิชแกรมมี่ ตอนผมฟ้องก็เรียกวาณิชแกรมมี่ ศาลยกฟ้องก็วาณิชแกรมมี่ เฮ้ย ไหนๆ ก็ด่ากูว่าเนรคุณ ทำไมไม่เรียกวาณิชมติชน ก็ผมฟ้องมติชน อย่างนั้นถึงจะตรง

กลับมาที่คำที่คุณติดใจอยู่ คือคำว่าเนรคุณ คุณไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นการเนรคุณ

ไม่คิด เนรคุณตรงไหนกัน ผมไม่เคยเนรคุณใครในชีวิตนี้ ไม่เคยเลย

จาก ที่ซักประวัติมา คุณรับเงินเดือนมติชนจาก 5,000 จนมาเป็น 38,000 แล้ววันหนึ่งเหมือนที่คุณพิเชียรเขียน ก็คือกินบนเรือนขี้บนหลังคา เวลาเพื่อนมีภัยทำไมไม่บอก

ประเด็น ที่ไอ้เชียรเขียนด่าผม ไม่ใช่ตรงนี้ ไม่ใช่เวลาเพื่อนมีภัยทำไมไม่บอก แต่อยู่ตรงว่าผมไปกับไพบูลย์ด้วยในคืนนั้น เขาโกรธตรงนี้ ทีนี้การที่ผมไปด้วยคืนนั้นเป็นเรื่องปกติปฏิบัติของเราสองคน เวลาไพบูลย์มีนัดกินข้าวกับใคร ผู้หลักผู้ใหญ่ นายทหาร นักการเมือง ก็เป็นเรื่องปกติที่เขาจะชวนผมไปด้วย กับพี่ช้างก็เคยนัดกินข้าวกัน ผมก็ไปด้วย เอาเป็นว่าสมมติไพบูลย์นัดกินข้าวกับพี่ช้างร้อยครั้ง ผมก็จะอยู่ด้วยทั้งร้อยครั้ง

ไอ้รุณเสียอีกอาจ จะไม่ต้องไปอยู่ด้วย แต่คืนนั้นมันอยู่ด้วยใช่ไหม เลยพลอยฟ้าพลอยฝน ลูกสาวมัน (ปิยา วัชระสวัสดิ์) รับงานสำนักพิมพ์มติชน ทำปกทำภาพประกอบ ถูกระงับงานหมดเลย

มีโอกาสได้คุยกับพี่ช้างหลังเกิดเหตุการณ์ไหม

ไม่มี ไม่คิดจะคุย ไม่รู้จะไปคุยอะไร

คุณไพบูลย์ว่าอย่างไรบ้าง เพราะก็รู้ว่าคุณคบพี่ช้างและมติชนเป็นเวลานาน พอเกิดเหตุการณ์นี้โครม เพื่อนหายไปทั้งบริษัทเลย

ไม่ มี ไม่ได้ว่าอะไร ไพบูลย์ไม่ลงรายละเอียดอย่างนี้ เราไม่เคยคุยกันเรื่องนี้ ไม่จำเป็นต้องพูดอะไร รู้ใจกันอยู่ เราก็เหมือนเดิม กินข้าวกินเหล้ากันเหมือนเดิม

ไพบูลย์รู้สึกผิดต่อคุณไหม

ไม่ เกี่ยว ไพบูลย์ไม่ได้ทำความผิดอะไรกับผม เขารักผม เขาถึงชวนผมไปคืนนั้น เขารู้ว่าพี่ช้างรักผมเขาถึงชวนผมไปคืนนั้น ไม่ใช่ความผิดอะไรของใคร เป็นเรื่องของชะตากรรม

มีการสรุปบทเรียนกันไหม นั่งคุยกันไหม ว่างานนี้เราพลาดไปตรงไหน

ไม่มี แก่ป่านนี้แล้ว สรุปบทเรียนอะไร

ตัวคุณเองสรุปบทเรียนอะไรบ้างไหมจากเหตุการณ์นี้

ไม่มีอะไรต้องสรุปเลย เขาสรุปให้เสร็จหมดแล้ว ผมไม่ได้สรุปอะไรเลย

เคยมานั่งคิดนอนคิดไหมว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา

ไม่เคย รกสมอง รู้ๆ อยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา

ชีวิตประจำวันทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง

นอน ดึกตื่นสาย ดูทีวี นั่งกินเหล้า นั่งคิดเดินคิดว่าจะเขียนอะไร แต่ยังไม่ได้ลงมือ ยังขี้เกียจอยู่ ผมไม่ได้เขียนนิยายมานาน เลยไม่มั่นใจว่าจะเขียนได้ดีอย่างที่คิดหรือเปล่า ตื่นมาก็อ่านหนังสือพิมพ์ ดูหนัง ดูกีฬา ขับรถออกไปซื้ออาหารถุงอร่อยๆ มากิน หรือทำอาหารกินเอง ก็วนเวียนอยู่อย่างนี้แหละ เพื่อนนัดไปกินเหล้าก็ไป

ชีวิตสบายแบบนี้หรือเปล่าที่ทำให้งานวรรณกรรมหายไปในช่วงหลัง คุณเสียดายไหม

เรื่องความสบายก็คงมีส่วน แต่ไม่ได้รู้สึกเสียดายหรอก งานวรรณกรรมมันไม่ได้หายไปไหนหรอก เพียงแต่ยังไม่ได้ทำ

แต่งานระดับอย่างรวมเรื่องสั้นชุดซอยเดียวกัน หรือนิยายแบบแม่เบี้ย ยังไม่มี?

มีพล็อต มีโครงเรื่อง มีอะไรอยู่ เพียงแต่ว่ามันไม่กระหายที่จะเขียน

ซึ่งเป็นแบบนี้มาหลายปีแล้ว

เมื่อ ก่อนผมทำงานแถวๆ สตรีสาร กับ ลลนา หนังสือสองเล่มนี้จะลงเรื่องสั้นดีๆ ของนักเขียนเด่นๆ ผมอยากไปประกวดประชันกับเขา ก็เลยพยายามคิด พยายามเขียน เรื่องสั้นดีๆ หลายเรื่องเขียนขึ้นในช่วงนั้น พอได้ซีไรต์ก็เริ่มเฉื่อย เริ่มคิดเกินการณ์ เรื่องสั้นเล็กๆ ไม่อยากทำ อยากทำให้มันใหญ่ ให้มันแรง ให้มันเด่นกว่าเรื่องทั่วไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ผมไม่ใช่อัจฉริยะอะไร แค่คนเขียนหนังสือธรรมดา

แสดงว่าการได้ซีไรต์มีผลต่อชีวิตของคุณเหมือนกัน

อาจ จะมีหรือไม่มี ไม่แน่ใจ แต่อย่างน้อยที่สุด ผมไม่มีความคิดความอยากที่จะเขียนเพื่อให้ได้ซีไรต์อีกแล้ว ฉะนั้นก็คงจะมีส่วนอยู่ แต่หลังจากได้ซีไรต์ก็ยังเขียนเรื่องสั้นดีๆ ไว้หลายเรื่อง เพียงแต่ไม่สม่ำเสมอ

ทำไมถึงห่างจากแวดวงนักเขียน

ขี้ เกียจออกไป ขี้เกียจเจอคน งานนักเขียนแทบจะไม่เคยไปเลย งานอื่นๆ อย่างงานหนังสือ งานแสดงศิลปะ ซึ่งน่าจะไป แต่ก็ไม่ค่อยได้ไป เบื่อรถติดเบื่อหาที่จอดรถ อีกอย่าง อยู่บ้านอย่างนี้สบายกว่า มีความสุขดี

ความสุขมันทอนแรงบันดาลใจลงไปไหม

น่าจะ คงมีส่วนอยู่

แสดงว่านักเขียนจะเขียนได้ดีตอนที่ไม่มีความสุขมากเกินไปนัก

ไม่ จำเป็น แล้วแต่ นักเขียนฝรั่งรวยจะตาย ยังเขียนเรื่องดีๆ ออกมาเยอะแยะ แต่สำหรับผม อย่างหนึ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นประเด็นสำคัญคือ ความต้องการชื่อเสียงมันอิ่มตัว ไม่ได้อยาก ชื่อเสียงมีอยู่แล้ว ได้มาในชีวิตนี้พอแล้ว ไม่ได้อยากดังมากไปกว่านี้อีกแล้ว ตอนที่เขียนเรื่องสั้นเขียนนิยายบ่อยๆ นั้น มีความอยากดังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ อยากมีตัวตน อยากมีชื่อเสียง ทุกวันนี้ชื่อเสียงไม่นึกอยากได้ รำคาญด้วยซ้ำเวลาเป็นคนมีชื่อเสียง อิ่มแล้วเรื่องความอยากมีชื่อเสียง

มีความสนใจไปด้านอื่นบ้างไหม มีความคิดอยากไปทำอย่างอื่นบ้างหรือเปล่า

ไม่ มี เลย ชีวิตนี้สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดก็คือการเขียนหนังสือ ก็ยังมีสิ่งที่อยากจะเขียนอยากจะทำ เพียงแต่ขี้เกียจเท่านั้นเอง แต่อย่างน้อยก่อนตายก็น่าจะได้นิยายอีกสักสองสามเรื่อง

เยอะขนาดนั้นเลยหรือ

ก็นั่นน่ะสิ (หัวเราะ) เรื่องสั้นก็น่าจะได้อีกห้าเรื่องสิบเรื่อง มีรวมเล่มเรื่องสั้นอีกสักเล่ม

วางแผนที่จะใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างไร

ไม่มี ไม่เคยมีแผนอะไรในชีวิตเลย ก็อยู่อย่างนี้

เคยคิดอยากออกไปอยู่ไกลๆ แบบชาติ กอบจิตติ ไหม

ไม่ คิดเลย ชาติหน้าก็คงไม่คิด ขี้เกียจเดินทาง ขี้เกียจขับรถ ผมติดสังคมเมือง ดูทีวี ดูหนัง ดูกีฬา ติดเพื่อนๆ ที่คุ้นเคยสนิทสนม ดูเหมือนไม่มีแผนอะไรในอนาคต ซึ่งจริงๆ ก็ไม่มี

กรณีมติชนเหมือนเพื่อนหายไปครึ่งหนึ่งของชีวิต ส่งผลให้รู้สึกเหงาไหม

เคย ได้ยินบทกวีของอังคาร กัลยาณพงศ์ บทนี้ไหม “อนิจจาน่าเสียดาย ฉันทำชีวิตหายไปครึ่งหนึ่ง ส่วนที่สูญนั้นลึกซึ้ง มีน้ำผึ้งบุหงาลดามาลย์” ความรู้สึกผมเมื่อจากมติชนมาเหมือนบทกวีบทนี้แหละ ทุกถ้อยคำถ้อยความทุกตัวอักษร แต่เหงาไหม ไม่เหงาหรอก ก็มีเพื่อนกลุ่มอื่นๆ บ้านผมมีเพื่อนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้แวะมากินข้าวกินเหล้าไม่ได้ขาด อีกอย่างหนึ่ง ผมไม่ใช่คนขี้เหงา ยิ่งชอบกินเหล้าและชอบกินเหล้าคนเดียวก็ยิ่งไม่เหงา ลองดูสิ (หัวเราะ)

คุณวิเคราะห์ตัวเองอย่างไร ทำไมเกิดมาวาสนาดี มีคนเชิญไปเป็นที่ปรึกษาสองบริษัทใหญ่ อะไรคือจุดเด่นที่เขาอยากให้คุณไปทำงานตรงนั้น

เพราะ เป็นคนเรียบร้อย เป็นคนไม่มีปัญหา ไม่สร้างปัญหา แต่ความสามารถส่วนหนึ่งก็คงมี ว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องดวงดีวาสนาดีนั่นแหละ แต่ผมก็เป็นคนที่เพื่อนรัก น้องนับถือ ผู้ใหญ่เอ็นดูมาแต่ไหนแต่ไร

เขาใช้อะไรในตัวคุณในเชิงที่ปรึกษา

ไม่ ได้ใช้หรอก ที่ปรึกษาลักษณะเดียวกับผม ทำนองเดียวกับผมนี้ บริษัททั่วไปก็คงจะมี เขาจ้างให้มาเป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือด้วยความชอบพอกันเป็นส่วนตัว ซึ่งก็ต้องทำหน้าที่ที่ปรึกษานี้ให้ถูกต้อง อย่างที่พี่เสเคยพูดเล่นๆ ไว้ คือถ้าเขาไม่ขอคำปรึกษาก็อย่าเสือกไปให้คำปรึกษา ไพบูลย์ก็มีที่ปรึกษาแบบเดียวกับผมนี่หลายคน เป็นเพื่อนเก่าเพื่อนแก่คบกันมา พี่ช้างชอบช่วยเหลือดูแลคนเฒ่าคนแก่ที่เคารพนับถือ ก็มีที่ปรึกษาพวกนี้อยู่หลายคน ล้มหายตายจากไปมากแล้ว

อะไรที่ทำให้ผู้ชายสนิทกันได้

ไม่ มี คำอธิบายใดหรือคำตอบใดที่เป็นคำตอบแน่นอนได้หรอก แต่ละคนแต่ละเพื่อนก็แตกต่าง แต่ผมคิดว่าผมมีเพื่อนสนิทเยอะ เพราะผมเป็นคนเกรงใจเพื่อน ใส่ใจในความเป็นเพื่อน หลีกเลี่ยงที่จะเรียกร้องรบกวนเพื่อน

มี คนเคยบอกว่าผู้ชาย ที่สนิทกันบางทีไม่ใช่เพราะไปทำความดีร่วมกัน แต่เพราะทำเรื่องชั่วๆ ร้ายๆ ด้วยกันมา เช่น ตีรันฟันแทง หัวร้างข้างแตก

นั่น ก็อาจจะ มีส่วน แต่ไม่ใช่คำตอบคำอธิบายอะไรที่ถูกต้องแน่นอนว่าจะเป็นเช่นนั้น สมัยเรียนหนังสืออยู่ผมชกกับคนบ่อย คิดจะชกแทนเพื่อนก็มี เพื่อนขอให้ไปเป็นเพื่อนเพราะจะไปชกกับคนเขาก็มี เพื่อนๆ ที่ว่านี้ก็ห่างหายกันไปตามวิถีชีวิตของแต่ละคน ไม่ได้คบกันยืดเยื้อต่อเนื่องมา ผมมีเพื่อนหลายคนมาคบสนิทตอนโตแล้ว เป็นผู้ใหญ่ทำงานทำการแล้ว ก็สนิทไม่น้อยกว่าเพื่อนที่คบหากันมาตั้งแต่เด็ก

ผม มีเพื่อนหลายชุดในหน้าหนังสือของชีวิต หน้าแรกตั้งแต่เกิดจนจบมัธยมจากสุพรรณฯ ชุดหนึ่งเป็นเพื่อนในตลาด แก้ผ้าเล่นน้ำมาด้วยกัน อีกชุดหนึ่งเป็นเพื่อนเรียนมัธยมด้วยกันตอนเข้ามาเรียนหนังสือในอำเภอ เปิดหน้าต่อไปเข้ากรุงเทพฯมาเรียนช่างศิลป์ฯ 3 ปี ก็มีเพื่อนอีกชุดหนึ่ง เข้าศิลปากรเรียน 5 ปีก็มีเพื่อนอีกชุดหนึ่ง ออกไปทำงานก็มีเพื่อนอีกชุดหนึ่ง เพื่อนในแวดวงนักเขียน แวดวงมติชน แล้วก็เพื่อนที่เป็นชุดของไพบูลย์ เพื่อนทุกชุดที่ผมเอ่ยถึงนี้เจอะเจอกันอยู่เป็นประจำ รวมถึงเพื่อนที่เกี่ยวเนื่องต่อโยงมาจากที่เป็นเพื่อนของเมียอีกชุด นี่ชุดใหญ่

ปีนี้คุณอายุเท่าไหร่

57 ย่าง 58

ถ้าบอกว่าวาณิช จรุงกิจอนันต์ คือหนังสือเล่มหนึ่ง คุณคือหนังสืออะไร

สารคดีชีวิตเด็กบ้านนอกที่เข้ามาประสบความสำเร็จกับชีวิตในเมืองหลวง

ถ้าพรุ่งนี้หนังสือวาณิช จรุงกิจอนันต์ จะตีพิมพ์ คุณจะเขียนคำนำหนังสือเล่มนี้ว่าอย่างไร

ผม คงจะไม่เขียนเอง ผมคงจะขอให้สุจิตต์ วงษ์เทศ หรือขรรค์ชัย บุนปาน หรือไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม หรืออรุณ วัชระสวัสดิ์ เป็นคนเขียนให้ ถ้าไม่มีใครพวกนี้ยอมรับเขียนคำนำให้ ผมก็จะให้ทอรุ้ง จรุงกิจอนันต์ เขียน (หัวเราะ) คนนี้ต้องเขียนให้แน่ๆ

หนังสือเล่มนี้หนาไหม

ถ้า เขียนเองไม่หนาหรอก เพราะมันไม่ยอกย้อนอะไร ไม่มีอะไรโลดโผนโจนทะยาน ชีวิตดำเนินมาตามปกติ โตมายากจน ลำบากแบบเด็กบ้านนอก ไม่คิดจะเรียนต่อ แต่พี่สาวเป็นคนรักเรียน ส่งให้เรียน พี่ชายรับช่วงพี่สาวส่งเรียนต่อจนจบ พอพี่ชายไปอเมริกา อยากให้ไปด้วยก็ไป เรียนจบปริญญาโททางศิลปะกลับมาทำงานเป็นนักเขียน เลี้ยงลูกเลี้ยงเมียมา ไม่เคยลำบากยากแค้นถึงขนาดไม่มีจะกิน มีอดอยากบ้างก็นิดๆ หน่อยๆ พออายุมากขึ้นฐานะก็ดีขึ้น ให้จบเรื่องตอนนี้ก็ได้ แต่ถ้าจะเขียนต่อก็อีก 3 ปี เพราะลูกจะเรียนจบครบทุกคน จบปริญญาตรี ลูกเรียนจบก็ถือได้ว่าหมดภาระสำคัญในชีวิต ออกบวชออกธุดงค์ก็ได้แล้ว

หนังสือไม่หนานี้หนาสักกี่หน้า ถ้าขายจะตั้งราคากี่บาท

ไอ้ ความที่มีฝีมือ คิดว่ามีคนอ่าน คงตั้งราคาได้แพงพอสมควร (หัวเราะ) ไม่รู้สิ ชีวิตตัวเองถ้าจะเขียนก็มีเรื่องที่เขียนไปแล้ว คือบ้านเกิดและเพื่อนเก่า เล่าชีวิตวัยเด็ก จบตอนเข้ากรุงเทพฯ เล่มนี้สำนักพิมพ์มติชนเคยพิมพ์ กำลังจะพิมพ์หนใหม่เป็นฉบับปกแข็ง พอเกิดเรื่องก็เงียบไป ถ้าจะเขียนต่อก็เป็นเรื่องหลังจากเข้ากรุงเทพฯ เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ก็น่าจะได้อย่างน้อย 30 ตอน หลายห้วงของชีวิตเป็นเรื่องที่จะเล่าได้มีสีสันพอสมควร เขียนแล้วคงสนุก อย่างเรื่องไปเขียนบทหนังโทรทัศน์ให้คุณหรั่ง (ไพรัช สังวริบุตร) เขียนบทโทรทัศน์ให้ท่านมุ้ย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) ทำงานกับหง่าว (ยุทธนา มุกดาสนิท) ทำงานที่เอ็กแซกต์ มีเรื่องที่จะเล่าได้เยอะ แต่ยังไม่คิดจะเขียน

เพราะชีวิตยังสบายอยู่?

ใช่ ยังสบายอยู่ (หัวเราะ)

แล้วกรณีมติชน

วัน หนึ่งคงต้องเขียน มันเป็นรอยหมองของชีวิต เพราะไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้น ไม่เคยคิดว่าจะเป็นอย่างนี้ จะตัดญาติขาดมิตรกันอย่างนี้ สิ่งที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตคือการอยู่มติชน อยู่มาได้ยืดยาว เป็นสนามให้เขียน แฟนหนังสือเยอะ มีแฟนที่เหนียวแน่นจริงจัง เขียนอะไรคนก็ชอบอ่านตามอ่าน พอเกิดเรื่องขึ้นผมถึงรู้สึกว่าเป็นชะตากรรม แต่ผมเป็นคนที่ปลงได้ ไม่รู้สึกว่าเสียใจ ไม่รู้สึกว่าผิดหวังกับชีวิตหรือผิดหวังกับใคร อย่างหนึ่งอาจจะเป็นเพราะวุฒิภาวะดีแล้ว แก่แล้ว เข้าใจชีวิตเข้าใจโลกแล้ว

ผม รู้สึกว่าชีวิตผมดี นอกจากเมียดี ลูกดี ครอบครัวดีแล้ว ก็คือการที่ผมทำงานอยู่ที่มติชนและแกรมมี่ มีแวดวงพรรคพวกน้องพี่ที่ดี เป็นชีวิตการงานที่สมบูรณ์จนน่าอิจฉา อะไรกัน เป็นที่ปรึกษาทั้งมติชนและแกรมมี่ ช่วงที่เขาเจ๊งๆ กันตอนที่ฟองสบู่แตก สองบริษัทนี้ก็ยังอยู่ ชีวิตผมก็ปกติ ร่าเริงบันเทิงใจ ไม่ได้โดนลดเงินเดือน เป็นชีวิตการงานที่สมบูรณ์มาก แต่มันก็เป็นอนิจจัง ตอนนี้แทนที่จะสมบูรณ์ก็หายไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นไร เพราะที่ผ่านมาดีมากแล้ว

สิ่งที่เสียดายที่มติ ชนคือเสียดายแวดวง ที่ต้องจากมา เพราะไม่ใช่จะไปอยู่หรือไปสร้างแวดวงอย่างนั้นได้ ไม่ใช่ว่าพรุ่งนี้ไปสมัครงานที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง แล้วก็ไปอยู่ ไปมีแวดวงอย่างนี้ได้ ยิ่งอยู่แวดวงนี้มานานจนเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่กันหมด รอยหมองของชีวิตผมก็คือเรื่องนี้ แต่ไม่ได้โศกเศร้าอะไร

มีวิธีที่จะกลับไปคุยกันได้ไหม

ไม่ มี ที่มติชนจะมีสำนวนพูดติดปากอยู่อย่างหนึ่งในระดับผู้บริหารพูดว่า “แล้วแต่พี่ช้าง” ทีนี้ผมไม่ได้อยู่มติชนแล้ว ตรงนี้พูดไม่ได้ อีกอย่างก็โตๆ กันแล้ว ผมไม่รู้สึกว่าตัวเองเดือดร้อนอะไร และโดยความรู้สึก ผมรู้สึกว่าผมเป็นผู้ถูกกระทำ ถ้าผมเป็นฝ่ายกระทำก็อีกเรื่อง

กับพี่ช้าง ถ้าขอโทษแกหายไหม

หาย อะไร หายโกรธผมหรือ พี่ช้างไม่ได้โกรธผม ไม่มีเลยแม้แต่แวบเดียวแวบใดที่ผมจะรู้สึกหรือคิดว่าพี่ช้างโกรธผม ผมมีความผิดอะไร ตลกมากเลยถ้าจะเดินไปบอก “พี่ช้างผมขอโทษ” ขอโทษอะไร

และ ผมเชื่อว่าคนอย่างพี่ช้าง พี่ช้างไม่คิดว่าเป็นความผิดของผม เพียงแต่มันมีกระแสต่อต้านผม โกรธแค้นผมขึ้นมาในมติชน พี่ช้างเป็นคนเกรงใจลูกน้อง เพราะฉะนั้นในความคิดความเชื่อผม พี่ช้างก็คงแค่ เฮ้ย วาณิช มึงพักก่อน แต่ทีนี้พอมีเรื่องที่ผมฟ้องร้องก็ไปกันใหญ่ เลยเถิดไป กลายเป็นอีกเรื่องไปแล้ว กู่ไม่กลับแล้ว แต่ผมเชื่อว่าพี่ช้างยังเอ็นดูผมเหมือนเดิม เพียงแต่มันอยู่ในภาวะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเท่านั้น พี่ช้างแกใจใหญ่จะตาย เรื่องผมนี่จิ๊บจ๊อยปลีกย่อยมาก แกไม่เอามาเป็นประเด็นอะไรหรอก รู้จักเคารพคบหากันมานานขนาดนี้ 30-40 ปี มองหน้าก็รู้ว่าคิดยังไง แล้วผมก็เป็นรุ่นน้องที่พี่ช้างเอ็นดูมากที่สุดคนหนึ่ง อยู่ในที่ในทางตลอด ไม่เคยให้ต้องส่งเสียงดัง เขียนหนังสือก็นับถือฝีมือกันอยู่

เคยเจอพี่ช้างหลังเหตุการณ์บ้างไหม

ไม่ เคย ไม่รู้จะไปเจอยังไง มีคนแนะนำให้ผมไปขอโทษพี่ช้าง เฮ้ย กูจะไปขอโทษได้ยังไง เรื่องอะไร ตลก กูไม่ได้ทำอะไร ไม่มีความรู้สึกผิดที่จะต้องขอโทษใครทั้งสิ้นเลย ไม่มีแม้แต่น้อย

สิ่ง หนึ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อนหรือคิดไม่ถึงก็คือ โอ้โห ทำไมต่อต้านกูแรงนักวะ จะมาจงเกลียดจงชังล้างแค้นแก้แค้นอะไรกันถึงขนาดนี้ จดหมาย ไปรษณีย์ภัณฑ์อะไรของผม ตั้งแต่เกิดเรื่องไม่เคยส่งให้ผมเลย แต่มันเป็นกระแส พอเป็นกระแสขึ้นมา มันไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง ผู้ใดผู้หนึ่ง เราทำอะไรไม่ได้ เงียบอย่างเดียว

ที่น่าแปลก คือ เมื่อเหตุการณ์ล้างแค้นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างนี้เกิดขึ้น ผมกลับไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเดือดร้อนเท่าที่น่าจะรู้สึก แปลกใจตัวเองอยู่เหมือนกัน ไม่ได้รู้สึกว่า โอ๊ย ชีวิตกูแย่แล้ว ไม่มีแบบนั้นเลย อาจจะเป็นเพราะสถานะคงที่ ดูแลครอบครัวได้ หรือครอบครัวดูแลเราได้ เลยไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนอะไร ถ้าจะมีก็รู้สึกอย่างเดียวคือเสียดายแวดวง ไม่ได้เสียดายว่า อ้าว ตาย กูไม่ได้เขียนมติชนแล้วโว้ย ไม่มีความรู้สึกอย่างนั้น เรื่องที่เกิดมันอยู่เหนือการควบคุมและการคิดที่จะแก้ไข ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่เงียบๆ

กับพี่ช้าง เจอกันก็ต้องไหว้เหมือนเดิม
ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร GM


แด่ “วาณิช จรุงกิจอนันต์” ลับลาโลก
-->
วาณิช จรุงกิจอนันต์ ลับลาโลก

๏ เศร้าโศกแผ่ปกคลุม
คราวตื่น
วาณิช จรุงกิจอนันต์ กวีแก้ว
โยกย้าย
ไม่ถึงเวลามาด่วนตาย
เกินกล่าว
ยามโศกเยือนโศกคล้าย
ยิ่งย้ำความขม ๚
พักพิงอิงร่มไม้
โศกศัลย์
คงร่ายโคลงรำพัน
โศลกไว้
อกขมขื่นเกินบรร- เทา
หม่น-หมองนา
ขอซบนอนซมใต้ กิ่งก้านอันครึ้ม
ริมวิถี ๚
๏ เกิดมาเยือนโลกของ
มนุษย์
จากไปผุดไปเกิดเถิด
กวีกล้า
อยู่ก็สร้างแต่ความดี
ชั่วไม่เคยปรากฏ
ข้าฯขอประณตน้อมกาย คารวะ
ท่านกวี๚
แม่เบี้ย,ซอยเดียวกัน
ท่านเขียน
ผู้จุดไฟให้หลายคน
ก้าวหน้า
เวลามาพราก วาณิช ปลิดชีพ
ชีวัน
ไว้อาลัยท่านจงไปสู่
สวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ๚
พิทักษ์ นิลพงศ์-ประพันธ์


“ซอยเดียวกัน”

ณ ที่ “ซอยเดียวกัน”ของวันหนึ่ง
อาจไม่ดูลึกซึ้งน่าอ่อนไหว
มาตามหาคนบางคนซึ่งหายไป
คนที่เคยเขียนโลกไว้ด้วยถ้อยคำ
ด้วยถ้อยคำที่งดงามเปี่ยมความหมาย
เปลี่ยนถ้อยคำง่ายง่ายให้ดูขำ
ทั้ง สุข,โศก,เศร้า,ซึ้ง-ตรึงทรงจำ
ด้วยถ้อยความลึกล้ำตลอดมา
ณ ที่ “ซอยเดียวกัน”ฉันถามไถ่
“คนคิดถึงเขาจากไปสุดปลายฟ้า”
ตามคำตอบขอทะเลแห่งเวลา
ว่าพบพาพัดพรากย่อมจากกัน
จงกลับสู่ซึ่งสถานวิมานฟ้า
มิ่งขวัญหล้าเข้าสู่แคว้นเขตแดนสวรรค์
จงเปี่ยมสุขด้วยฤดีที่นิรันดร์
กลับสู่โลกที่เคยฝันนิรันดร
ขอให้“ซอยเดียวกัน”เฝ้าฝันนี้
กลอนลา (วาณิช จรุงกิจอนันต์)
เราจะลาจากกันแล้ววันนี้ ทั้งทั้งที่หวาดผวาและว้าเหว่
ฉันคือเรืออิสระล่องทะเล จะโล้เร่ร้างไกลฝั่งใจเธอ
เสียดายวันสงสารวัยความใกล้ชิด ไกลกันนิดก็ปานว่าน้ำตาเอ่อ
ละไมยิ้มพิมพ์หัวใจละไมละเมอ คงยิ้มเก้อแล้วละหนอต่อแต่นี้
โถ...รอยเท้าก้าวหรือถอยก็รอยเท้า เมื่อเราก้าวกันใกล้ในทุกที่
จะเร้นรอยให้ฝันร้ายอีกหลายปี เมื่อไม่มีรอยเท้ามาก้าวเคียง
เสียงหัวเราะเคยล้อต่อกระซิบ รินระริกดังน้ำรินก็สิ้นเสียง
เคยสำเหนียกลำนำถ้อยสำเนียง จะเหลือเพียงลำนำในสำนึก
คืนที่เคยนั่งคู่กันดูดาว จะนั่งเดียวเดี่ยวหนาวเมื่อคราวดึก
ตาสบตาบอกความหมายล้ำลึก จะรู้สึกได้อย่างไรเมื่อไกลตา
หวั่นว่าห่วงเสน่หาลับลาหาย มั่นใจหมายกลับมาเห็นเพ็ญดวงหน้า
นี่มิใช่คำมั่นแห่งสัญญา แต่ทว่า เป็นคำฝากจากหัวใจ
รักแค่เพียงคำพูดพิสูจน์ยาก แต่เมื่อจากคงพิสูจน์คำพูดได้
ใจของเราเราย่อมรู้อยู่ที่ใคร กับคนใกล้หรือคนไกลใจคงรู้
ฉันมิใช่ขุนน้ำมีตำหนัก เพียงมีแรงแห่งรักเป็นนักสู้
เธอคือคนที่จะเปิดประตู ฉันไปสู่สนามชัยในชีวิต
ขอบคุณอย่างมากจากหัวใจ ที่กล้าให้โอกาสซึ่งอาจผิด
เพราะอย่างน้อยชีวิตนี้ก็มีทิศ หมายนิมิตสิ่งซึ่งฝันถึงมัน
ไม่ต้องคิดถึงวันที่ฉันกลับ ไม่ต้องนับวันเวลารอท่าฉัน
ขอให้คิดถึงบ้างเพียงบางวัน และสวดมนต์ให้กันเท่านั้นพอ
เก็บดอกไม้แห่งกมลไว้บนทิ้ง อย่าทอดทิ้งให้เศร้าอับเฉาช่อ
ขอน้ำตาสักหนึ่งหยดรอไว้คลอ และการรอจะช่วยให้ดอกไม้บาน
ฉันลาก่อน...เขียนกลอนลาว้าเหว่นัก และกลอนรักคงจะไร้ยามไกลบ้าน
หลังการลาเริ่มการรอทรมาน ฉันเกรงการกลับมาเก้อ เมื่อเธอลืม

หนังสือพิมพ์ มติชนรายสัปดาห์

คอลัมน์ วาณิช จรุงกิจอนันต์

วันที่ 08 เมษายน พ.ศ. 2545 ปีที่ 22 ฉบับที่ 1129

ที่มา http://www.matichon.co.th/weekly