Custom Search

May 25, 2010

“อนาคตร่วมกัน”


อานันท์ ปันยารชุน

มติชนออนไลน์

วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553




ผมเชื่อมาตลอดว่า บทพิสูจน์ธาตุแท้ของแต่ละคน

คือดูว่าเขาสามารถรับมือและ

ฟันฝ่าอุปสรรคความยากลำบากไปได้อย่างไร


ผลพวงจากเหตุการณ์น่าสลดใจเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะพิสูจน์กับตัวเอง

และชาวโลกให้เห็นถึงธาตุแท้ของ คนไทยที่มีความเข้มแข็ง

มีความมุ่งมั่นที่จะได้มาซึ่งความเป็นธรรม

การส่งเสริมความปรองดองแห่งชาติ

และการสร้างสรรค์สังคมที่รวมทุกกลุ่มทุกฝ่ายเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน


ในความเป็นชาติ เราได้วนเวียนในวังวนแห่งความโกลาหล

และสับสนวุ่นวายมานาน

บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมกันหายใจลึกๆ

และเรียกสติกลับคืนมา ให้มีความสมดุลและความพอดี


ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องกลับมาเน้นและ

ส่งเสริมค่านิยมไทยที่สั่งสมมา แต่ช้านาน

ค่านิยมที่ว่านี้คือ ความอดทนอดกลั้น การยึดทางสายกลาง

และความเมตตากรุณา

ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมประจำชาติของเราทั้งสิ้น


เราควรหยุดชี้นิ้วกล่าวหากันอย่างไม่มีสติ

การโยนความผิดใส่กันอย่างที่กำลังนิยมทำกันในขณะนี้

การมีอารมณ์อกุศลเช่นความโกรธแค้นและเกลียดชังมีแต่ความหายนะ


เราจะต้องก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้และเหนือสิ่ง อื่นใดคือ

แสวงหาความจริงให้ได้ การสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างอิสระ

และน่าเชื่อถือเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

รวมทั้งการดำเนินการตามครรลองของกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา

จะต้องเกิดขึ้นอย่างจริงจังนับแต่นี้ไป


นอกจากนั้น เรายังจำเป็นต้องเร่งกำหนดแนวทางปฏิบัติ

เพื่อให้เกิดความปรองดองในชาติและ สันติภาพที่ยั่งยืน

คนไทยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาร่วมพูดคุยหารือกันโดยยอมรับและเคารพใน

จุดแตกต่าง ความสนใจ และค่านิยมของกันและกัน

การยอมรับกันและการสำนึกผิดของทุกฝ่ายสามารถนำไปสู่การให้อภัย

ซึ่งเป็นกุญแจที่แท้จริงที่นำไปสู่การเยียวยาจิตใจ

และความรู้สึกนึกคิดของคนไทยทุกคน


เราจำต้องพยายามรีบปิดช่องว่างทางสังคมที่นับวันมีแต่ลึกและกว้างขึ้นทุกที

โดยต้องมุ่งแก้ไขความยากจนในโครงสร้าง

การกีดกันทางสังคม และความไม่เท่าเทียมกัน

ไม่ว่าเราจะมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านพ้นมา

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความไม่พอใจของผู้ประท้วงจำนวนไม่น้อยมีน้ำหนัก


เราจึงต้องเร่งกำหนดมาตรการให้ครบถ้วนเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาสำคัญๆ ต่อไปนี้

(1) ความไม่สมดุลของการกระจายรายได้

(2) ความสามารถที่ถูกลิดรอน และ

(3) ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงและโอกาส


หากเราเพิกเฉย ไม่ยอมรับ ไม่แก้ไขข้อร้องเรียนเหล่านี้

บาดแผลที่กรีดลึกจากความรุนแรงในประวัติศาสตร์ไทยบทนี้

ก็จะกลายเป็นแผล เปื่อยเน่า

ซึ่งจะยิ่งทำให้ช่องว่างแห่งความแปลกแยกกลาย

เป็นหุบเหวที่กว้างขึ้นกว่าเดิมอันจะนำไปสู่

ความโกลาหลและความรุนแรงต่อไปอีก


ประเทศของเราได้สูญเสียมากมายในครั้งนี้

แต่ในขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน

ในห้วงที่สำคัญยิ่งของกระบวนการพัฒนาประเทศ

ถ้าหากในอนาคตเรามองย้อนหลังไป

ก็อาจมองว่าการที่พี่น้องที่ยากจนในชนบทได้มี

สิทธิมีเสียงทางการเมืองมากขึ้นนับเป็นก้าวที่สำคัญ

และขาดไม่ได้ในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทย


เราจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับรู้ข้อเรียกร้องที่ชอบธรรม

และรับฟังเสียงของกลุ่มสังคมเหล่านี้

ไม่ว่าในกระบวนการเลือกตั้งหรือกระบวนการตัดสินใจอื่นๆ


ในความเป็นชาติ เราได้ก้าวมาถึงจุดที่ไม่สามารถย้อนกลับไป

เหมือนเดิมได้อีกแล้ว การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

พวกเราทุกคนล้วนมีส่วนได้ส่วนเสียในอนาคตของประเทศชาติ

และต้องมีส่วนช่วยให้การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปในทางที่สร้างสรรค์


ขอให้เราจงมาร่วมกันแปรวิกฤตนี้ให้กลายเป็นโอกาส

เพื่อที่จะสร้างฉันทามติใหม่ทางการเมือง ให้มี

“วาระของประชาชน” เพื่อให้ได้มาซึ่งสังคมที่รวมทุกหมู่เหล่า

สังคมที่มีความเท่าเทียมกัน

และสังคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับคนไทยทุกคน