Custom Search

Oct 30, 2009

เอกชัย เจียรกุล เส้นทางที่ถางมาเองด้วยกีตาร์คลาสสิค

The Idol : เอกชัย เจียรกุล

มติชน
วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2551


ถ้าบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ถูกแปลเป็น ภาษาต่างประเทศ
เรื่องนี้ต้องเป็นเรื่อง "อำ" อันดับต้นๆ
ของวงการดนตรีคลาสสิคโลกแน่ๆ

เมื่อมือกีตาร์เด็กไทยตัวเล็กๆ คนหนึ่งไปคว้าแชมป์
International Guitar Competition In Berlin
ที่กรุงเบอร์ลินประเทศเยอรมนี ซึ่งจัดทุก 2 ปีครั้ง
โดยต้องแข่งกับมือกีตาร์ที่มีมือกีตาร์คลาสสิคระดับโลกตัวเป็นๆ เป็นครู
ในขณะที่ตัวเขาเองเรียนเอาจากซีดี
สอนกีตาร์ของมือกีตาร์คลาสสิคคนดังกล่าวอยู่กับบ้าน
ในขณะที่ที่ 2 และ 3 นั้นล้วนเป็นนักเรียน
ในสถาบันดนตรีที่มีชื่อเสียงในย ุโรปทั้งสิ้น


ฟังเหมือนเป็นเรื่องตลกแต่สำหรับ เอกชัย เจียรกุล
หนุ่มน้อยวัย 21 ปี คนนี้ มันเป็นเรื่องจริงแท้แน่นอน
และในฐานะเจ้าของรางวัลดังกล่าวมันจริงแท้อย่างยิ่ง

"พอผมชนะเขาก็ถามว่าเป็นลูกศิษย์ใคร
ผมเองยังไม่รู้จะตอบยังไงเลยจะตอบว่าฝึกเองก็อายเขา

เรามันครูพักลักจำแบบมวยวัดมาทั้งนั้น"

ตั้งแต่ครั้งแรกที่เขาเห็นรุ่นพี่ที่รู้จักเล่นบทเพลงพระราชนิพนธ์
ชะตาชีวิต ด้วยกีตาร์คลาสสิค วันนั้นชีวิตเขาก็เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
ซึ่งทำเขาหลงไหลกีตาร์คลาสสิคจนชีวิตหักเห
ทั้งๆ ที่เขาเองก็ไปเรียนกีตาร์เพื่อความสนุก

และความอยากเล่นกีตาร์คลาสสิคได้

"ผมก็คิดตามประสาเด็กๆ ว่าชื่อที่มีคำว่า คลาสสิค
มันเท่แล้วมันก็เล่นได้ ทั้งเมโลดี้ เบส และ ริธึ่ม พร้อมกัน
ซึ่งตอนนั้นผมไม่รู้จักแม้แต่ดนตรีคลาสสิคเลย
รู้เพียงอย่างเดียวว่าอยากเล่นได้แบบนั้นบ้าง"
เอกชัย หรือเบิร์ด ยิ้มจนตาหยีเมื่อเล่าถึงความหลัง


แน่นอนว่าพอรู้สึกตัวอีกทีจากการเรียนกีตาร์อาทิตย์ละครั้ง
เขากลายเป็นนักเรียน
และนักศึกษาของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

"ตอนผมเลือกเรียนต่อที่นี่ พ่อแม่ก็ไม่ยอมนะ
ผมก็ไม่รู้ว่าจบไปจะไปทำอะไรกิน
เพียงแต่ว่าผมไม่สนใจแล้ว แค่อยากจะใช้ชีวิตอยู่กับมัน
เหมือนเจอผู้หญิงที่อยากแต่งงานด้วย

ก็มุ่งหน้ามาทางนี้เลย"

แน่นอนว่าตอนนี้ความฝันของเขาคือการเป็นมือกีตาร์คลาสสิคที่ระดับโลก
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาตระเวนแข่งไปทั่วจนได้รางวัลถึง 17 รางวัล
จากที่ต่างๆ ทั่วโลกทั้ง เยอรมนี ญี่ปุ่น รัสเซีย กรีซ อิตาลี สหรัฐ ฯลฯ
ซึ่งเบิร์ดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา
เพราะว่ามือกีตาร์จากประเทศนอกสายตาอย่างไทยนั้น

ก็ต้องพยายามหาทางเพิ่มชื่อเสียงเข้าไว้
เพื่อจะก้าวสู่การเป็นมือกีตาร์ที่มีคนเชื่อถือในโลกของดนตรีคลาสสิค
ซึ่งมีมือกีตาร์คลาสสิคอยู่เป็นล้านคน

"เท่าที่ไปมาก็รู้ว่าเราพอสู้ได้ครับ เราซ้อมมาดีศึกษามาดี
ที่เรายังไม่เป็นที่ยอมรับนั้น อาจจะเป็นเพราะ
มีผมคนเดียวที่พยายามจะออกไปแข่ง
ส่วนใหญ่มือกีตาร์ไทยมักพอใจจะอยู่ในประเทศมากกว่า

เพิ่งมามีรุ่นหลังๆ ที่พยายามจะออกไปข้างนอก"

ถ้าจะถามว่า ปัญหาที่เขาและมือกีตาร์คลาสสิคไทยต้องประสบคืออะไร

เบิร์ดบอกสั้นๆ ว่าเรามีครูไม่พอกับความต้องการ

"คือเราไม่มีผู้เชี่ยวชาญในการสอนการเล่นกีต้าร์
ปัญหาคือความรู้นี่แหละครับ
อย่างผมที่มาถึงตรงนี้ได้นั้น

เพราะผมศึกษาด้วยตัวเอง
เอาเป็นว่า 90% เลยนะ จากซีดี
และนักกีตาร์ต่างประเทศ
ตามรายการที่ผมไปแข่งผมก็อาศัยถามเขา
แม้แต่คนที่ผมชนะเขาผมก็ถามนะ

ตรงนี้มันเป็นความยากอย่างเดียวของ
การเป็นมือกีตาร์คลาสสิคในเมืองไทย"

ฉะนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจถึงเรื่องว่าเรื่อง "อำ"
ที่ไม่ได้ "อำ" ข้างต้นมาจากไหน


เบิร์ดบอกว่า ด้วยความที่เขาเป็นเด็กต่างจังหวัด (อุบลราชธานี)
เขาตั้งใจย้ายเข้ากรุงเทพฯมาก็เพื่อเสาะหาครูที่จะช่วยผลักดันเขาไปต่อ
แต่พอเรียนจนจบมหาวิทยาลัยปีหนึ่ง
เขากลับตกอยู่ในสภาพ "นักดนตรีไร้ครู"
เพราะหาคนในประเทศมาสอนการเล่นกีตาร์คลาสสิค
ให้กับเขาไม่ได้อีกแล้ว
ครูที่สอนอยู่ปัจจุบันก็เหลือ

เพียงช่วยให้ความเห็นและแนะนำมากกว่า

"ที่ผมชนะมาหลายรายการไม่ใช่ว่าผมเก่งนะ
แต่ผมขยันซ้อมมากกว่าคนอื่นจะเล่นเอาเร็วขนาดไหนผมก็เล่นได้
เพราะมันเป็นเรื่องความขยันซ้อมซึ่งที่จริงการไม่มีครูก็อาจจะเป็นเรื่องดี
เพราะว่ามันทำให้เรารู้สึกไม่พออยากพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลามากกว่า
คนที่เขามีพร้อมทุกอย่างซึ่งจะทำให้ขี้เกียจ"


แต่เบิร์ดก็ว่าแน่นอนถ้ามีครูดีๆ เขามาสอนมันย่อมดีกว่าแน่ๆ
ซึ่งนั่นคือเหตุผลหลักที่เขาออกไปแข่งขันต่างประเทศ
ซึ่งเขาไม่ได้คิดการใหญ่ขนาด บัณฑิต อึ้งรังษี
ว่าจะต้องเป็นที่หนึ่งของโลก เขาคิดแค่สั้นๆ
เหมือนตอนเริ่มเล่นกีตาร์คลาสสิคเพราะคำว่า "คลาสสิค" มันเท่
คือคิดแค่ว่าว่าอยากจะไปดูคนอื่นเขาเล่นกีตาร์บ้างเท่านั้นจริงๆ

"ก็อาศัยคุยกับเพื่อนนักกีตาร์ด้วยกัน ตอนไปแข่ง

เหมือนจัดเวิร์กช็อปไปในตัว ก็คิดยังไงกับเพลงนี้
ซ้อมยังไง เราก็ เออๆ...ไม่รู้มาก่อนเว้ย เมื่อไม่นานมานี้
มีมือกีตาร์อาร์เจนตินามาเมืองไทย ผมไปเวิร์กช็อปกับเขาเมื่อ 2 วันที่แล้ว
เขาซ้อม 5 นาทีให้ผลเท่ากับผมซ้อม 2 ชม.
เราไม่เคยรู้มาก่อน ถ้าเราข้ามไปได้ตั้งแต่ต้นๆ
ระดับโลกนี่ไม่ไกลมือเราแน่นอน" เบิร์ดยิ้มร่า

เบิร์ดบอกอีกว่าเขาตั้งใจจะพยายามผลักดัน

ให้มีการชักชวนให้มีครูเก่งๆ เข้ามาสอนในเมืองไทย
เพื่อสร้างลูกศิษย์และมือกีตาร์คลาสสิคเก่งๆ ขึ้นไปกว่าเดิมสักชุด
ซึ่งเขาเชื่อมันว่า ภายใน 2 ปีนั้น
วงการกีตาร์คลาสสิคทั่วโลกจะต้องจับตาเมืองไทยอย่างแน่นอน

"แต่ก็อาจจะยาก เพราะมีปัญหาเรื่องทุนและคนไทย
ก็ยังไม่เข้าใจกีตาร์คลาสสิคดีพอ
ครูคนไทยก็ให้ความรู้ได้พอสมควร
พอมีคนอย่างผมต้องการมากกว่านั้น
แม้จะจำนวนไม่เยอะแต่คุณจะปล่อยให้คนเหล่านี้อยู่โดย
ไร้ครูได้อย่างไรถ้ามันยังสามารถไปได้ก็น่าจะมีคนสนับสนุน
ไม่ใช่ไปเรียนเมืองนอกเพื่อเอาภาษาซึ่งไม่มีประโยชน์
เพราะครูสอนภาษาในเมืองไทยก็มีเยอะเก่งด้วย
เรียนเมืองไทยก็พูดกับฝรั่งรู้เรื่อง

สู้เอาเงินปีละ 1-2 ล้านมาจ้างครูคนเดียวเข้ามา
มันถูกกว่าและได้ประโยชน์ กับคนที่จะเรียนมากกว่า"

เบิร์ดย้ำแนวคิดของเขาอย่างหนักแน่น อย่างไรก็ตาม
เขาก็ถอนหายใจก่อนจะว่า ถ้าไม่มีใครทำเขาก็คงต้องไป

เป็นครูคนนั้นเสียเองแล้ว กลับมาสอนเด็กไทยด้วยตัวเอง

เพราะอย่างไรนี่ก็คือชีวิตของเขากับกีตาร์คลาสสิคที่ เขาเลือก

รางวัลที่ได้รับ
ปี 2003

- 2nd prize of Yamaha Music festival (junior category)

-1st prize of Thailand International guitar competition (junior category)

ปี 2004

- Silver medal National Youth Music Competition

- 2nd prize of Yamaha Music festival (senior category)

ปี 2005

- Silver medal of National Youth Music Competition

-1st prize of National Yamaha (senior category)

-1st prize of National Au Music Competition

-The finalist of International Guitar Competition in Singapore

-The finalist of International Guitar Competition in Osaka Japan

-3rd prize of International Guitar Competition in Thailand

ปี 2006

- Golden medal of National Youth Music Competition

-3rd prize of International Guitar Competition in France (Ile de Re)

-The 8 finalist of International Guitar Competition in Singapore

ปี 2007

-1st prize of International Guitar Competition in Russia (Youth competition) And Best player in Russian Music

-2nd prize (no 1st prize) of International Guitar Competition in Hermoupolis Greece

-3rd prize of International Guitar Competition in Vissani Greece

-2nd prize of International Guitar Competition in Ohio USA.

ปี 2008

-3rd prize of International Guitar Competition in Magnitogorsk Russia And Best player in Russian Music

-3rd prize of International Guitar Competition in Moisycos Italy

-1st prize of International Guitar Competition in Berlin

-1st prize of Asia International Guitar Competition

-1st prize of Singapore international Guitar Competition 2008