Custom Search

Oct 17, 2009

"ว.วชิรเมธี" เริงร่าย"สุขนาฏกรรม"บนทางสายใน


คอลัมน์ ร้อยเหลี่ยมพันมุม

วีณา โดมพณานคร

มติชน

วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2552




" เราเดินทางมาถึงทะเลแล้วเมื่อได้ดำผุดดำว่ายอยู่ในทะเล
อาตมารู้แล้วว่าสดชื่นเพียงใด
ก่อนหน้านี้เราเอาแต่มองทะเลแล้วรู้สึกเอาเองว่า
แหม! ลมทะเลเย็นดีนะ
แต่หลังจากที่ลงไปดำผุดดำว่ายอยู่กับมันมาหลายปี
เราก็ได้ตระหนักรู้ว่า การลงไปว่าย
มันมีความสุขมากกว่าไปยืนรับลมอยู่ที่ชายหาดตั้งเยอะ"


ว.วชิรเมธี พระผู้ให้ปัญญาแก่สังคมในมิติที่กว้างไกลและลุ่มลึก
เอ่ยขึ้นมาระหว่างที่ได้สนทนากับท่านเมื่อไม่นานมานี้


ทะเลที่ไหนหรือที่มีเสน่ห์ชวนหลงใหลได้ปานนั้น

" ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ อาตมาตอบตัวเองได้แล้วว่าจะเลือกอะไรให้กับชีวิต
โดยเฉพาะในช่วงต้นปี 2552 ที่มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมกับท่านติช นัท ฮันห์
ที่ประเทศฝรั่งเศส ทำให้ได้คำตอบว่าเส้นทางของอาตมาหลังจากนี้ไป
ควรเป็นเส้นทางสายความสงบร่มเย็น
ควรเป็นเส้นทางแห่งการเรียนรู้ มากกว่าเส้นทางของพระนักวิชาการ


อาตมาได้คำตอบให้ตัวเองว่า การเป็นผู้ตื่นรู้สำคัญกว่าการเป็นผู้รู้
เพราะการตื่นรู้ทำให้ทำให้เรามีความสุขทุกเวลานาที
แต่ถ้าเราเป็นพระที่มีบุคลิกแบบพระนักวิชาการ
มันทำให้เราเต็มไปด้วยปัญหา เต็มไปด้วยคำถามที่ดังก้องอยู่ในหัว
ต้องแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลาไม่จบไม่สิ้น


ในเวลานี้อาตมาได้คำ ตอบแก่ตัวเองว่า ทางของการเป็นผู้ตื่นรู้อยู่ในปัจจุบัน
เป็นเส้นทางที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด
เส้นทางการเป็นพระนักวิชาการควรจะลดความสำคัญลงไป
ต่อไปนี้ฉันจะเดินทางสายใน ไม่เดินทางสายนอกอีกต่อไปแล้ว"


สิ่งที่ค้นพบก็คือว่า

" ก่อนหน้านั้นอาตมานำความรู้เข้ามาสู่ชีวิต
แต่หลังจากผ่านการวิปัสสนากรรมฐานมาตามลำดับ
จึงได้เรียนรู้ว่าการนำธรรมเข้ามาสู่ชีวิตมันต่างกัน
เอาความรู้เข้ามาสู่ชีวิตทำให้ตัวเราพอง ยิ่งกินพื้นที่
แต่ถ้าเอาความตื่นรู้เข้ามามันทำให้ตัวเราเล็กลง
แต่ความสุขกลับขยายใหญ่โตครอบจักรวาล"


ที่สำคัญก็คือ

" วันหนึ่งเมื่อเราหันมาเจริญสติ กระตุ้นตัวรู้ พัฒนาการตื่นรู้
จึงพบว่าการตื่นรู้นี้มันไม่ได้มาทำลายความรู้ที่เรามีอยู่แล้ว
ตรงกันข้ามมันกลับสามารถขยายศักยภาพ
ความรู้ของเราให้มีความลุ่มลึกมากยิ่ง ขึ้น"


การตัดสินใจเลือกเดินทางสายในมีความสัมพันธ์กับ
ความเป็นไปของชีวิตที่มีเกียรติยศ
ชื่อเสียงเกี่ยวข้องด้วยอย่างแน่นอน เพราะท่านบอกว่า


" ตัวอาตมาเองก็ไม่ต้องมองหาความสุขจากที่อื่นอีกต่อไป
ไม่ต้องแสวงหาความสุขจากการยอมรับ
แต่มีความสุขเพราะว่าอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้
ในเวลานี้อยู่แล้ว จากนี้ต่อไปคุณจะมองเห็นหรือไม่เห็นฉัน
ฉันก็ไม่สนใจแล้ว


เราควรจะอยู่กับตัวเราให้ได้ โดยที่ไม่ต้องให้ใครมารับรอง
เราสามารถอยู่รอดได้ด้วยตนเอง ในทุกสภาวะแวดล้อม
และเราก็เห็นแล้วว่ามันไม่ได้ทำให้ชีวิตของเรา
พร่องลงไปหรือพองขึ้นมา หันมาดูจิตใจของตัวเองก็รู้สึกว่า
มันสบายที่สุดเลยนะ


เราจะโล้ ชิงช้าของเกียรติคุณชื่อเสียงก็ได้
หรือจะลงจากชิงช้าแล้วเดินเข้าป่าเข้าดงไปก็ได้
ความสุขในหัวใจของเราไม่ได้ลดลงนะ เราไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย"


ที่ บอกว่าเดินเข้าป่าเข้าดงนั้น ขอขยายความให้ชัดเจนว่า
ท่านหมายถึงการไปปลีกวิเวกที่อาศรมอิสรชน จ.เชียงราย
และล่าสุดคือ วัดป่าวิมุตตยาลัย จ.ปทุมธานี ที่เพิ่งจะลงหลักปักฐาน


"อาตมามี ความสุขทุกวันและพอใจกับการเป็นพระที่เป็นอยู่มาก
ไม่ต้องมองหาอำนาจ ไม่ต้องมองว่าใครกำลังชื่นชมหรือตำหนิเรา
มีความสุขที่ขึ้นอยู่กับใจเราล้วนๆ
เลยพอมาถึงตรงนี้ได้แล้วรู้สึกคุ้มที่เกิดมา"


หากนับถอยหลังไปในอดีตจะเห็นภาพของความชัดเจน
ในแนวทางที่หนุนเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้


" อาตมาเป็นนักเรียนสายตรงของหลักสูตรการบริหารจัดการ
กิเลสมาทั้งชีวิต คือเรียนปริยัติ แล้วมาปฏิบัติ
ได้คลุกคลีกับคำสอนที่เป็นบาลี ซึ่งเป็นภาษาต้นขั้ว
เป็นเหตุให้รู้วิธีขัดเกลากิเลสมาตั้งแต่ต้น
เหมือนกับว่าอาตมาถูกขัดสีฉวีวรรณโดยตะไบที่ชื่อธรรมะ


เป็นเส้นทางสายขัดเกลา อาตมาจึงบอกเสมอว่าอาตมาเป็นชาวสวน
คือเราทำสวนมาโดยตลอด ไม่ใช่ทำตาม


ฉะนั้น อาตมาไม่ค่อยมีปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งกับกิเลสเท่าไหร่
เมื่อก่อนมีบ้างบางครั้งที่ต้องคอยประนีประนอมกัน
หลังๆ มานี่ไม่ค่อยประนีประนอมแล้ว
แต่จะใช้วิธีผ่าตัดกิเลสเลย"


จะจัดการกิเลสให้อยู่หมัดก็ต้องพูดถึงเรื่องอัตตา

" เรื่องอัตตา อาตมาคิดว่ามันถูกปะทะมาเรื่อยๆ นะ
เมื่อเรามีความรู้ทางโลก จบปริญญาตรี ปริญญาโท
หรือจบเปรียญ 9 ประโยค เราก็คิดว่าตัวเองเป็นมนุษย์พันธุ์วิเศษขึ้นมา
สปอตไลท์ที่ไหนๆ ก็ส่องมา แล้วมีบางวันที่ไฟนั้นไม่ส่องมาทางเรา
อัตตามันก็ถูกสั่นสะเทือน เขย่าหลายครั้งเข้ามันก็เกิดผลกระทบ


เมื่อเรามาเจอวิปัสสนากรรมฐาน ก็ตอบตัวเองได้ว่าไม่เห็นจะต้องทุกข์เลย
เพราะว่าอัตตามันเป็นแค่ภาพมายา มันไม่มีมาตั้งแต่ต้น
แต่เราไปคิดว่ามันมี ถ้ารู้ทันว่ามันไม่มีตั้งแต่ต้น
มันก็ไม่มี ใครจะเขย่าอะไรก็ไม่ได้ เพราะตัวตนมันไม่มี
หลังๆ มานี้ไม่ค่อยเดือดร้อนกับอะไรเลยนะ
เรื่องคนชมคนด่าอาตมาให้ราคาเท่ากัน
ไม่เคยถือเอามาเป็นนิยายอะไรในชีวิต
เพราะถือว่าชีวิตตัวเองนั้นไม่ยาว
ทำในสิ่งที่ตัวเองพิจารณาแล้วว่าดีที่สุด
แล้วทำไป อย่าไปให้ราคาเขาสูงนัก"


ลองให้ท่านช่วยนับขั้นบันไดที่นำไปสู่การลดอัตตาให้ฟัง ได้ความว่า

" วิธีการตั้งรับอาตมาฝึกมาเรื่อยๆ อย่าไปถอย อย่าไปกลัวโลกธรรม
เราอยู่ในโลกอย่าหลบลี้หนีหน้าโลกธรรม
เพียงแต่ตั้งรับมันให้ดี เราก็จะได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้
ในเชิงบวกทั้งหมดทั้งสิ้น


อาตมา เดินจงกรมทุกคืนมา 12 ปี
การฝึกเจริญสติถ้าฝึกไปเป็นปกติมันก็กลายเป็นชีวิตประจำวัน
จนมาถึงวันหนึ่งที่สามารถจัดการบริหารกับอารมณ์
ที่เคยทำให้ขุ่นมัวได้ในทุก รูปแบบ วันนั้นจะรู้เองว่าคุณพัฒนาแล้ว"


"วิธีลดอัตตาแรกเริ่มเลย อาตมาใช้วิธีเปลี่ยนฐานคิด
สมมุติว่าวันนี้เราถูกชมมากเลย แต่วันถัดมาเราถูกด่า
ถ้าเราหมกมุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านี้นะ ทั้งคำชมคำด่าจะยังตามเล่นงานเราอยู่
ฉะนั้น ถ้าการที่ตัวเราไม่ถอดถอนตัวเองออกมาจากการหมกมุ่นในความคิด
เท่ากับว่าเราไปต่อชะตาให้คำชมคำด่า


ทีนี้พอเราย้ายจิตมาอยู่กับตัว เรา เช่น หันมาเจริญสติ
หันมาเดินจงกรม ความที่จิตของเรามันทำงานทีละขณะ
พอเปลี่ยนอารมณ์ให้มันเท่านั้นมันก็ลืมแล้ว
นี่เป็นวิธีย้ายอัตตาของอาตมา มันง่ายมาก
ถ้าถามว่าทำไมมันหายก็เพราะว่าจิตมันย้ายมาอยู่ที่เท้า"


บนเส้นทางสายนี้มีความสุขรอให้เก็บเกี่ยวมากมาย
เปรียบเสมือนนาฏกรรมอันงดงาม


" จุดเปลี่ยนของชีวิต คือเวลาที่เราดำเนินชีวิตไป
เราจะค้นพบจุดเปลี่ยนของชีวิตมาโดยลำดับ
จุดเปลี่ยนหรือประสบการณ์ดีๆ ทุกครั้งที่มันเกิดขึ้นและทำให้เราเติบโต
อาตมาถือว่าเป็นนาฏกรรม คือเป็นการร่ายรำอันงดงามของชีวิต
มันทำให้ชีวิตของเราถูกขัดเกลามากขึ้น


พูดง่ายๆ ว่า ปรากฏการณ์ บุคคล เหตุการณ์ สถานที่
ที่เกิดขึ้นแล้วทำให้เราเจริญเติบโตงอกงามในด้านในนั่นคือนาฏกรรม"


นาฏกรรมที่ก่อให้เกิดความสุขนี้เรียงรายกันเข้ามาในชีวิตไม่ขาดสาย

" ครั้งหนึ่งอาตมาไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
มีญาติโยมมารอขอลายเซ็นอาตมายาวไปจนถึงประตูทางเข้า
แต่พอกลับไปบ้านที่เชียงราย เดินเข้าบ้านเงียบมาก
ที่บ้านมีหมาหลายตัว แต่ไม่มีตัวไหนส่งเสียง
หรือแสดงท่าทางว่าเห็นอาตมาเลย


ทำให้แวบ ขึ้นมาว่า นี่แหละความไร้สาระของชื่อเสียง
เราเพิ่งมาจากการห้อมล้อมของหมู่คน
แต่หมาที่บ้านไม่เหลียวแลเลย อาตมาเติบโตขึ้นในวันนั้น
รู้สึกเลยว่าหมาพวกนี้มีบุญคุณ นี่คือนาฏกรรมในชีวิต
อัตตามันละลายไปในวันนั้น ความเข้มข้นมันลดต่ำลงไป
พออัตตาถูกกระทบมันโพละเลย"


"หรือคืนหนึ่งเดินลงจากกุฏิไปเหยียบหาง แมวที่นอนอยู่
มันร้องขึ้นมาเสียงดัง รู้สึกจี๊ดเลย
คือความโกรธมันแล่นขึ้นมาทั้งเนื้อทั้งตัว
แต่พอสักพักคิดขึ้นได้ว่า กุฏิไม่ใช่ของเรา
ทั้งเราทั้งแมวต่างเป็นผู้อาศัย ไม่มีใครเป็นเจ้าของ
ตอนนั้นนึกอยากจะขอบคุณแมวเลย นี่เป็นอีกหนึ่งนาฏกรรม


อีกครั้งหนึ่ง ก่อนเดินทางไปประเทศภูฏาน มีคนกล่าวโจมตี
อาตมาก็คิดว่าไม่เห็นเป็นไรเลย สบายๆ
พอเดินทางไปถึงที่นั่น นอนคืนนั้นฝันว่า
ลุกขึ้นมาแถลงข่าวอัดผู้ให้สัมภาษณ์ว่าเราคนนั้น


ตื่นขึ้นมารู้สึก เลยว่า อัตตาเราทั้งนั้น
และรู้เลยว่ายังปฏิบัติได้ไม่ดีพอ คิดว่าตัวเองไม่โกรธ
และจิตทำงานไปตามปกติ แต่ในภวังคจิต
อัตตากำลังลุกขึ้นมาประกาศศักดา
ซึ่งแสดงว่าเรายังไปไม่ถึงไหนเลย"


การพลิกมุมได้คือเป้าหมายที่ท้าทาย

" ทุกประสบการณ์เราใช้ไปในการมองด้านในได้
ทุกครั้งที่เกิดการปะทะกันระหว่างธรรมะกับกิเลส
มันจะแตกตัวเป็นการเรียนรู้ใหม่ เป็นปัญญา
แล้วเราจะรู้เองว่า เราเติบโตหรือไม่เติบโต
จากการปะทะของกิเลสแต่ละครั้ง
จะรู้ว่ารุดหน้าหรือถอยหลัง แล้วเราจะมีทักษะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


อาตมา มองอุปสรรคพวกนี้อย่างมีความหวัง
เรื่องพวกนี้ทำให้เราหันมามองตัวเอง
รู้สึกขอบคุณทุกครั้งที่มีเรื่องมาทำให้ตื่นจากความโลภ
ความโกรธ ความหลง เหมือนเข็มที่มาทิ่มให้เกิดสติ"


บนเส้นทางสายในนี้ ท่านขอชี้ป้ายให้สังเกตกันว่า

" การเจริญสติที่แท้จริงคือการดำเนินชีวิตที่ต้องเป็นไปโดยธรรมชาติ
ไม่ใช่จะต้องอยู่ในคอร์สวิปัสสนาอย่างเดียว
อย่าไปตีความการปฏิบัติให้แคบลง
ให้เหลืออยู่แต่การเจริญสติในวัด


การเรียนธรรมกับครูอาจารย์เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรม
ส่วนการดำเนินชีวิตเป็นทั้งหมดของการปฏิบัติธรรม"


ดำเนินชีวิตสไตล์ไหนที่สะท้อนถึงเรื่องนี้

" ผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติธรรมก็คือ เรามีวิถีชีวิตใหม่
มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีวิธีอยู่ วิธีกิน วิธีบริโภคแบบใหม่
มีวิธีปฏิสัมพันธ์ใหม่ มีวิธีดำเนินชีวิตใหม่


คำว่าใหม่ หมายถึงคุณภาพ ไม่ได้หมายถึงการจัดการภายนอก
เช่น ก่อนหน้าที่จะไปปฏิบัติธรรมเรามองแบบแยกส่วน
แต่พอปฏิบัติธรรมแล้วมองแบบเชื่อมโยง
จะมีวิธีคิดแบบองค์รวมเกิดขึ้นข้างใน


การ ปฏิบัติธรรมจะเปลี่ยนวิธีที่คิด วิธีที่พูด วิธีดำเนินชีวิต
วิธีที่บริโภค วิธีที่ปฏิบัติ สิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนไปทั้งหมด
จะไม่คิดเหมือนเดิมอีก วิธีพูดของเราจะไม่ทำร้ายใครอีก
วิธีบริโภคจะไม่ขาดสติอีก การเลือกสิ่งต่างๆ
จะไม่ทำแบบลวกๆ ทุกอย่างจะกลายเป็นความประณีตไปหมด
จะคิด-พูด-ดำเนินชีวิต-บริโภคอย่างประณีต
จะปฏิบัติธรรมอย่างประณีต


คำว่าประณีตหมายความว่า จะมีสติทุกๆ ครั้งในทุกๆ อิริยาบถ
หรือพฤติกรรม ทุกอย่างกลายเป็นสิ่งที่ทำอย่างประณีต เพราะว่าอะไร


เพราะ ว่ามันอยู่ภายใต้ครรลองของความตื่นรู้
แล้วจะทำไปด้วยความเป็นธรรมชาติที่สุดเลย
คือคนภายนอกจะสัมผัสได้อย่างเป็นธรรมชาติ
คือพูดเหมือนเดิมแต่วิธีการพูดเปลี่ยนไป ยังแต่งตัวเหมือนเดิม
แต่การให้ค่าในการแต่งตัวเปลี่ยนไป พูดง่ายๆ ว่า
วิธีปฏิสัมพันธ์กับทุกสิ่งทุกอย่างในโลกคุณภาพจะเปลี่ยนไป
ภายนอกอาจแสดงให้เห็นเป็นธรรมดาทั้งหมด
อาจจะแต่งหน้าไปทำงานเหมือนเดิม แต่ให้ค่าน้อยลงแล้ว
หรือยังใช้รถยุโรปเหมือนเดิม แต่ให้ค่าน้อยลงแล้ว มันเป็นเรื่องข้างใน"


แล้วที่เกรงๆ กัน หรือเห็นๆ กันบ่อยๆ ว่าจะดูคล้ายคนไร้ชีวิตชีวา
เชื่องช้าไปเสียมากกว่าก็ไม่ใช่


" คนที่ปฏิบัติตามธรรมะจะมีความคล่องตัวในชีวิต
เพราะว่าจิตไม่ติดอยู่กับกิเลส จะได้รับความสุขที่เรียกว่า
นิรามิสสุข แปลว่าความสุขที่ไม่มีเหยื่อล่อ
สุขที่เกิดจากอิสรภาพ หรือสุขจากการไม่ถูกวางเงื่อนไข
ในขณะที่คนส่วนใหญ่จะมีความสุขก็ต้องมีเงื่อนไข
มีเหยื่อล่อ คนที่มีนิรามิสสุขอยู่ในโลกแล้วก็เหยียบโลกเล่น
สบายๆ มันมีชีวิตชีวาที่สุดเลยนะ


ใครที่ตามรู้อยู่ในปัจจุบันได้จะเป็น มนุษย์ที่มีชีวิตชีวา
ความรู้สึกจะเหมือนกับตอนอาบน้ำมาใหม่ๆ แล้วมันเบิกบาน
ไม่มีความแห้งแล้ง คนแห้งแล้งจะเหงา จะโหยหาอะไรสักอย่าง
แต่คนที่อยู่กับปัจจุบันไม่ต้องโหยหาอะไรสักอย่าง


เวลาดมดอกไม้ก็ จะหอมมากกว่าปกติ เวลาฟังเสียงนกร้อง
ก็จะเพราะกว่าปกติ เวลาอ่านหนังสือก็จะสามารถ
เสพสุนทรียรสได้มากกว่าปกติ
เพราะมันไม่ได้เคลือบแฝงด้วยอคติใดๆ ทั้งสิ้น"


ใครยังไม่เคยเปลี่ยน เส้นทางจากสายนอกเป็นสายในดูบ้าง
น่าจะฟังคำเหล่านี้ "อยากจะบอกว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพ
ที่จะพัฒนาตนให้ดีกว่าที่เป็นอยู่หลาย ร้อยหลายพันเท่า
แล้วทำไมจึงไม่พัฒนาไป แล้วคุณจะเห็นว่า
ตัวเองมีพัฒนาการที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น
หลายคนไม่กล้าลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเอง
เพราะเสียดายกิเลส อย่าเสียดายกิเลส"


หมายถึงการอาลัยอาวรณ์ต่อความสุข
เฉพาะหน้าบางอย่างที่เหมือนยาขมฉาบน้ำตาล


" เวลาเดินขึ้นบ้านอย่าเสียดายบันได
ลองเหยียบมันขึ้นไปแล้วจะรู้ว่า
ความสุขที่ได้จากการยืนรับลมอยู่บนระเบียงบ้าน
นั้นมากกว่าสุขที่ได้จากการ ยืนอยู่ข้างล่าง
ลองดูแล้วจะรู้ว่ามันคุ้มกับที่เดินขึ้นมา"


ว.วชิรเมธี ชักชวนให้เดินขึ้นไปรับลมเย็นด้วยกันที่บนระเบียง

หน้า 6