Custom Search

Oct 30, 2009

พระพุทธจริยาวัตร 60 ปาง ปางมหาพรหมอัญเชิญแสดงธรรม


คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ

เสฐียรพงษ์ วรรณปก

มติชน

วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552



มี ธรรมเนียมในหมู่ชาวพุทธ เวลาพระจะเทศน์
พิธีกรจะกล่าวอาราธนาธรรม คือ
อาราธนาให้พระธรรมกถึกแสดงธรรม
ขึ้นต้นด้วยคำว่า พฺรหฺมา จะ โลกาธิปตี
สะหัมปะติ... ธรรมเนียมนี้มีที่มาดังนี้

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออก จากโคนต้นราชยตนะ
ในสัปดาห์ที่ 7 หลังตรัสรู้
(พระไตรปิฎกว่าสัปดาห์ที่ 4)
ก็เสด็จไปยังต้นอชปาลนิโครธอีกครั้ง

คราวนั้น พระองค์ทรงพิจารณาธรรมะที่ตรัสรู้แล้วว่า
เป็นสภาวะที่ละเอียด ประณีต ลึกซึ้ง
แม้เหตุผลทางตรรกะก็หยั่งไม่ถึง รู้ตามได้ยาก
มีพระหฤทัยน้อมไปในความเป็นผู้ขวนขวายน้อย
(นี้เป็นสำนวนพระ ความหมายก็คือ
ไม่คิดแสดงธรรม คิดจะอยู่เฉยๆ)

ขณะนั้นท้าวสหัมบดีพรหม ทราบพระปริวิตก
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จึงเข้ามานมัสการกราบทูลอัญเชิญให้
พระองค์เสด็จไปประกาศพระธรรม
โดยกล่าวว่า สัตว์ที่มีธุลีในดวงตาน้อยยังมีอยู่
สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมจากประโยชน์ที่พึงได้
เพราะมิได้ฟังธรรมจากพระองค์

ความหมายในที่นี้ก็คือ "ผู้ที่มีพื้นความรู้พอจะเข้าใจยังมีอยู่
ขอให้พระองค์เสด็จไปแสดงธรรมเถิด"

พระ พุทธเจ้าหลังจากทรงพิจารณาสัตว์โลกเปรียบเทียบ
กับดอกบัวหลายเหล่าที่เจริญ งอกงามในสระแล้ว
ก็ทรงรับคำอาราธนาของสหัมบดีพรหม
ด้วยเหตุนี้แหละเมื่อเราจะอาราธนาให้พระภิกษุแสดงธรรม
เราจึงกล่าวคำอาราธนา อ้างชื่อสหัมบดีพรหมว่า
"พฺรหฺมา จะ โลกาธิปะตี สะหัมปะติ..." ดังที่ทราบกันดีแล้ว

พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาสัตว์โลกดุจดอกบัว 3 เหล่า
(คือ ดอกอุบล, ดอกปทุม, ดอกบุณฑริก)
อันเกิดและเจริญในสระ 3 ระดับ คือ

ระดับที่หนึ่ง ดอกบัวพ้นน้ำ เปรียบเสมือนคนผู้ฉลาดมาก
สามารถเข้าใจธรรมทันทีที่ฟังโดยสังเขป

ระดับที่สอง ดอกบัวเสมอผิวน้ำ เปรียบเหมือนคนที่ฉลาด
พอฟังโดยพิสดารก็เข้าใจ

ระดับที่สาม ดอกบัวอยู่กลางท้องน้ำ
เปรียบเหมือนคนผู้พอฝึกฝนอบรมได้
ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งจึงจะเข้าใจ

คำ ว่า "เข้าใจ" หมายถึงตรัสรู้ธรรม
ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 4 ข้อที่ 9 หน้า 11
กล่าวถึงดอกบัว 3 ระดับเท่านั้น ไม่มีระดับที่ 4
ซึ่งเติมมาภายหลัง เพื่อให้เข้าคู่กับบุคคล 4 จำพวก
ถ้าไม่พูดเสียตรงนี้ก็จะไม่เข้าใจกันแจ่มแจ้ง
ขอขยายเลยนะครับ

1.พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาสัตว์เปรียบกับ
ดอกบัว 3 เหล่า 3 ระดับ ไม่เกี่ยวกับบุคคล 4 ประเภท

2. ส่วนการแบ่งบุคคลออกเป็นหลายประเภทนั้น ตรัสไว้ในที่อื่น
เช่น สองประเภท สามประเภท สี่ประเภท ห้าประเภท ฯลฯ
ไม่เกี่ยวกับการตรวจตราดูสัตว์โลก

3.เฉพาะบุคคล 4 ประเภท ก็มีหลายหมวด
หนึ่งในหลายหมวดนั้น ทรงแบ่งดังนี้

(1) อุคฆติตัญญู ผู้ตรัสรู้ฉับพลัน เพียงฟังหัวข้อธรรมก็ตรัสรู้

(2) วิปัญจิตัญญู ผู้ตรัสรู้เร็ว เพียงฟังธรรมโดยพิสดารก็ตรัสรู้
(ต้นฉบับเดิมเขียน วิปัญจิตญญู มิใช่ วิปัจจิตัญญู)

(3) เนยยะ ผู้พึงฝึกฝนอบรมได้ ต้องใกล้ชิดสัตบุรุษ
ฟังธรรมจากท่านเหล่านั้น ฝึกฝนอบรมสักระยะหนึ่ง จึงตรัสรู้

(4) ปทปรมะ ผู้เป็นพหูสูต จำได้มาก กล่าวได้มาก
แต่ไม่สามารถตรัสรู้ในชาตินี้

นี้ คือคำจำกัดความของบุคคล 4 ประเภท หรือ 4 ระดับ
เฉพาะประเภทท้าย (ปทปรมะ) มิได้หมายถึงคนโง่
หากหมายถึงผู้รู้ทฤษฎีมาก เป็นพหูสูต
คนพวกนี้เป็นผู้ "มากบท มากเรื่อง"
ยากจะตรัสรู้ได้ในชาตินี้ พระอรรถกถาจารย์คงเห็นว่าเข้าท่าดี
จึงนำเอาบุคคล 4 ประเภท มาจับคู่กับดอกบัว 3 ระดับ

พอมาถึงประเภทที่ 4 จึงเติมดอกบัว
ระดับที่ 4 เข้ามาเพื่อเข้าคู่กัน
แล้วให้คำนิยามใหม่ว่า "บัวจมโคลนเลน
มีแต่จะเป็นภักษาของปลาและเต่า
เปรียบเสมือนคนประเภทปทปรมะ
คือ คนโง่เขลา ไม่มีทางตรัสรู้ได้"

เรื่องราวมันเป็นมาอย่างนี้แล จึงมี "ดอกบัว ๔ เหล่า"
ดังที่เราเรียนกันในโรงเรียน
บังเอิญผมมีโอกาสเป็นกรรมการร่างหลักสูตร
วิชาพระพุทธศาสนาด้วยผู้หนึ่งและได้เขียนตำราเรียน
จึงได้แก้ไขตรงนี้ จากดอกบัว ๔ เหล่า
เป็นดอกบัว 3 เหล่า 3 ระดับ ให้ตรงกับพระบาลีพระไตรปิฎก
ก็ไม่เห็นมีใครทักท้วงนี่ครับ ถ้าทักมา
จะได้ยกหลักฐานมายืนยัน
เมื่อรู้ว่าผิดมาแล้ว ก็น่าจะแก้ไขให้ถูกต้อง

มีข้อสังเกตที่อยากฝาก ไว้ตรงนี้สักเล็กน้อย
ถ้าพินิจตามความในพระไตรปิฎก
พระพุทธเจ้าทรงมองว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพทัดเทียมกัน
ทุกคนโปรดได้ ไม่มีใครที่โปรดไม่ขึ้น
หรือพูดให้ชัดว่า ไม่มีประเภทปทปรมะ
ในความหมายว่าโง่เง่าเต่าตุ่น โปรดไม่ขึ้น
ดุจดอกบัวจมโคลนเลน

ข้อสังเกตที่สองก็คือ พระพรหมที่มาอัญเชิญ
ไม่จำต้องแปลตามตัวอักษรว่าเป็นพรหมจริงๆ ก็ได้
อาจเป็นสัญลักษณ์หมายถึง พรหมวิหารธรรม
อันมีกรุณาเป็นตัวจักรสำคัญ พูดง่ายๆ
พรหมก็คือพระมหากรุณาของพระพุทธองค์นั้นเอง
พระองค์ทรงสงสารสัตว์โลกที่ตกอยู่ในความทุกข์ในสังสารวัฏ
จึงทรงอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องเคลื่อนไหวออกไปเทศน์โปรด
การที่ทรงเคลื่อนไหวออกไปเทศน์โปรดสัตว์โลกนี้
เป็นการเคลื่อนไหวอันยิ่งใหญ่พอๆ กับพระพรหม
(ที่คนสมัยนั้นนับถือมาก) มาอัญเชิญทีเดียว


หน้า 6